พระราชพิธีโสกันต์สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ฯ
ผู้เรียบเรียง : ฉัตรบงกช ศรีวัฒนสาร
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รองศาสตราจารย์ ดร.สนธิ เตชานันท์
ความหมายของโสกันต์ เกศากันต์ และการโกนจุก
ตามราชประเพณีโบราณ พระราชโอรสหรือพระราชธิดาของพระมหากษัตริย์ และเจ้านายทั้งหลายมักไว้พระเมาฬีเมื่อยังเยาว์พระชันษาเช่นเดียวกันกับที่บุตรธิดาของสามัญชนไว้จุก หากเป็นเจ้านายระดับพระองค์เจ้าขึ้นไปจนถึงเจ้าฟ้าเรียกว่า “พระราชพิธีโสกันต์” เจ้านายระดับหม่อมเจ้า เรียกว่า “พิธีเกศากันต์” และเด็กชายหญิงสามัญชน เรียกว่า “การโกนจุก” โดยที่พระราชโอรสจะโสกันต์เมื่อพระชนมายุ ๑๑-๑๓ พรรษา และพระราชธิดาตั้งแต่ ๑๑ พรรษาขึ้นไป ดังนั้นความหมายของ โสกันต์ เกศากันต์ และการโกนจุกจึงมีความหมายเป็นการก้าวผ่านจากวัยเด็กไปสู่ความเป็นผู้ใหญ่ประการหนึ่ง [1]
พระราชพิธีโสกันต์ : ความเป็นมาในสยาม
ในประเทศสยามนั้นพระราชพิธีโสกันต์ พิธีเกศากันต์และประเพณีการโกนจุกเป็นธรรมเนียมประเพณีที่มีมาตั้งแต่สมัยโบราณ แต่ไม่ปรากฏหลักฐานเรื่องราวชัดเจน พระราชหัตถเลขาชุมนุมพระราชาธิบายในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หมวดโบราณคดี ว่าด้วยราชประเพณีโบราณเรื่องประเพณีลงสรงโสกันต์ ระบุว่า “ธรรมเนียมลงสรงโสกันต์เป็นพิธีสำหรับราชตระกูลในแผ่นดินสยามสืบมาในต้นแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก และจัดในเดือนสี่ร่วมกับพระราชพิธีสัมพัจฉรฉินท์ หรือพิธีตรุษไทย (คือ พิธีสิ้นปี หรือพิธีตรุษสุดปี) [2] ต่อมาได้เลื่อนเข้ามาประกอบร่วมกับพระราชพิธีเดือนยี่ ได้แก่ พระราชพิธีตรียัมปวาย หรือ พระราชพิธีโล้ชิงช้า
ในบริบททางสังคม พิธีโกนจุกมีความสืบเนื่องมาจากประเพณีการโกนผมไฟ พระยาอนุมานราชธน (ยง เสฐียรโกเศศ) อธิบายเพิ่มเติมในหนังสือ “ประเพณีการเกี่ยวกับการเกิดของคนไทย” ว่า “...เมื่อเด็กมีอายุครบได้เดือนกับวัน (เห็นจะให้แน่ว่าครบเดือนโดยบริบูรณ์จึงเติมเข้าอีกวันหนึ่ง) เป็นอันว่าล่วงพ้นอันตรายจากภัยไข้เจ็บซึ่งเข้าใจว่าผีเป็นผู้กระทำ ก็จัดการโกนผมไฟและทำขวัญเป็นพิธีใหญ่ออกหน้าออกตา บางทีก็มีตั้งชื่อเด็กในตอนนี้ เป็นเรื่องรับรองเด็กที่เกิดใหม่ขึ้นทะเบียนเป็นสมาชิกของสกุล การโกนผมไฟนั้น ต้องทำบัตรพลีสังเวยพระภูมิเจ้าที่ตามธรรมเนียม ผมที่โกนให้เหลือไว้ที่ขม่อมหย่อมหนึ่ง ว่ากันว่าขม่อมยังบางอยู่...” ผมที่เหลือไว้หย่อมหนึ่งที่กลางขม่อมนั้น เมื่อเด็กเติบโตขึ้นพร้อมกับผมที่ยาวขึ้นตามวัย ผู้ใหญ่จึงจัดการรวบผมที่กลางขม่อมนั้นให้เป็นจุก และคงให้เด็กนั้นไว้จุกต่อมาจนเด็กผู้ชายมีอายุได้ ๑๓ ปี และเด็กหญิงมีอายุครบ ๑๑ ปี จึงจะจัดให้มีการโกนจุกหรือโสกันต์ในกรณีที่เป็นเจ้านาย
หม่อมเจ้าหญิง พูนพิศมัย ดิศกุล ทรงบรรยายในหนังสือประเพณีพิธีไทยว่า “เมื่อเด็กมีอายุย่างเข้าเขตวัยหนุ่มสาวจึงมีการพิธีจึงมีการพิธีเพื่อบอกแก่ญาติและเพื่อนฝูงอีกครั้งหนึ่ง คือ การโกนจุก การโกนจุกนี้ มักจะหาโอกาสทำรวมกับพิธีมงคลอื่นๆ เพราะนับเป็นงานมงคลเช่นเดียวกัน มีสวดมนต์เย็นวัน ๑ รุ่งขึ้นเลี้ยงพระแล้วก็ตัดจุกเด็กตามเวลาฤกษ์ ตอนบ่ายมีเวียนเทียนสมโภชทำขวัญเด็กตามพิธีพราหมณ์ ถ้าเจ้าของงานเป็นผู้มั่งคั่ง ก็มีการเลี้ยงดูเพื่อนฝูงต่อไปตามต้องการ เช่น เลี้ยงน้ำชา หรือ ข้าวเย็น ข้าวกลางวันและมีโขน ละคร การเล่นต่างๆ ตามเวลาและความพอใจ ส่วนของขวัญนั้น ผู้ใดจะให้เด็กอย่างไร ก็นำมามอบให้เด็กหน้าผู้ใหญ่ หรือ จะส่งมาให้ภายหลังงานก็ได้” [3]
พระราชพิธีโสกันต์ในสมัยรัตนโกสินทร์เริ่มมาแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช จนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวโดยมีทั้งพิธีสงฆ์และพิธีพราหมณ์ พิธีสงฆ์นั้นจัดที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ช่วงบ่ายก่อนวันพระราชพิธีเป็นเวลา ๓ วัน รวมทั้งตอนเช้าของวันพระราชพิธี ในระหว่างนี้เจ้านายที่จะโสกันต์จะเสด็จไปฟังสวดโดยกระบวนแห่ ส่วนพิธีพราหมณ์จะจัดขึ้นตามวิธีไสยศาสตร์ รวม ๔ วัน ณ หอเวทวิทยาคม สถานที่ประกอบพระราชพิธีโสกันต์มีลักษณะดังนี้ เจ้านายที่เป็นพระเจ้าลูกยาเธอชั้นเจ้าฟ้า พระเจ้าลูกเธอชั้นเจ้าฟ้าหรือเทียบเท่าจะทำพิธีสรงน้ำบนเขาไกรลาสจำลอง สำหรับเจ้านายที่เป็นพระเจ้าลูกยาเธอ พระเจ้าลูกเธอที่ไม่ได้ดำรงพระยศเจ้าฟ้า รวมถึงพระเจ้าหลานเธอและบุตรธิดาของพระอนุวงศ์ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ร่วมโสกันต์ จะสร้างพระแท่นสรงน้ำบนลานมุมพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท เมื่อถึงวันโสกันต์เจ้านายที่เข้าพิธีโสกันต์จะแต่งพระองค์เต็มยศ โกนพระเกศารอบจุก เกล้าจุกปักปิ่น สวมมาลัยหรือสวมพระเกี้ยวตามแต่ชั้นยศ เสด็จประทับพระราชยานหรือพระเสลี่ยงเข้ากระบวนแห่ไปประกอบพระราชพิธี โดยโหรจะเป็นผู้ถวายพระฤกษ์ จรดพระกรร บิดพระกรรไกร เมื่อได้ฤกษ์ชาวภูษามาลาจะถอดพระเกี้ยว แล้วแบ่งพระเกศาออกเป็น ๓ ปอยโดยใช้พานเงิน พานทอง และพายนาค แล้วเอาลวดทอง ลวดเงิน ลวดนาค และสายสิญจน์ผูกปลายพระเกศาแต่ละปอยกับแหวนนพรัตน์ และใบมะตูม ปอยแรกให้ประธานในพระราชพิธีตัด ปอยที่สองให้ผู้เป็นใหญ่ในตระกูลตัด และปอยที่สามให้บิดาตัดแล้วจึงโกนพระเกศาให้เรียบร้อย ขณะประกอบพิธีตัดปอยพระเกศาโหรจะลั่นฆ้องไชย เป่าสังข์ แตร ประโคมปี่พาทย์
หลังจากการโสกันต์แล้วพระเจ้าอยู่หัวไปถวายภัตตาหารเพลแด่พระสงฆ์ ถวายเครื่องไทยทานแล้วเสด็จไปสรงน้ำที่เขาไกรลาส โดยมีเสนาบดีคอยรับเสด็จสี่คน สมมุติเป็นท้าวจตุโลกบาลเดินเคียงเสลี่ยงไปสรงน้ำ ณ พระแท่นเชิงเขาไกรลาส พราหมณ์ถวายน้ำกลศ (น้ำเทพมนต์) น้ำสังข์ แล้วเสด็จเข้าไปในพลับพลาเปลื้องเครื่องเพื่อผลัดพระภูษา จากนั้นเสด็จขึ้นบนยอดเขาไกรลาสเพื่อเฝ้าพระอิศวรขอประทานพร โดยสมมุติพระบรมวงศ์ใหญ่เป็นพระอิศวรประทับบนพระแท่นบุษบก เสร็จแล้วเสด็จโดยพระราชยานหรือพระเสลี่ยงเข้ากระบวนแห่เวียนรอบเขาไกรลาสจากซ้ายไปขวา ๓ รอบ แล้วจึงเสด็จกลับ ในช่วงบ่ายจะประกอบพิธีเวียนเทียนสมโภช วันรุ่งขึ้นพนักงานจะเชิญพระเกศาไปลอยแม่น้ำ เป็นอันเสร็จสิ้นพระราชพิธีโสกันต์
พระราชพิธีโสกันต์ครั้งสำคัญที่จัดเต็มตามตำราโบราณ คือ พระราชพิธีโสกันต์สมเด็จฯ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ฯ (สมัยรัชกาลที่ ๔) และต่อมา ด้วยในแผ่นดินของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ทรงมีพระราชโอรส พระราชธิดาทั้งที่ดำรงพระอิสริยยศชั้นเจ้าฟ้า และพระองค์เจ้าหลายพระองค์ รวมทั้งพระราชพิธีโสกันต์สมเด็จเจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ (สมัยรัชกาลที่ ๕) จึงมีแบบแผนที่ชัดเจนและจึงมีลักษณะที่ไม่แตกต่างกันมากนัก
พระราชพิธีโสกันต์สมเด็จฯ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ กรมขุนศุโขไทยธรรมราชา
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงจัดงานพระราชพิธีโสกันต์เมื่อสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ฯทรงมีพระชนมายุ ๑๒ พรรษา ปรากฏหลักฐานในหนังสือราชกิจจานุเบกษาฉบับวันที่ ๑๑ มีนาคม รัตนโกสินทรศก ๑๒๔ (พ.ศ. ๒๔๔๘) [4] ระบุถึงรายละเอียดและลำดับการพระราชพิธีโสกันต์สมเด็จฯเจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ฯ ดังนี้
สมเด็จฯเจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ฯทรงฉลองพระองค์ ฟังสวดในพระราชพิธีโสกันต์ เกล้าพระเมาฬีประดับพระเกี้ยวยอด ฉลองพระองค์ผ้าตาดแขนยาว ทรงกรองพระศอ ฉลองพระองค์ผ้าตาดขาว ทรงกรองพระศอประดับนพพระอังสารูปหงส์คาบหยาดเพชร ทรงพระสังวาล ทรงพาหุรัด ข้อพระกรสวมปะวะหล่ำ กำไล แหวนรอบและลูกไม้ปลายมือ ทรงพระภูษาโจงหางหงส์ทับสนับเพลาเชิงงอนปักประดับอัญมณี ทรงสายคาดรัดพระองค์ พระปั้นเหน่งเพชร สวมพระธำมรงค์ ๙ นิ้วพระหัตถ์ ทรงชายไหวชายแครง ปักและประดับด้วยชายครุย รอบข้อพระบาทสวมทองพระบาทหัวนาคปะวะหล่ำ แหวนรอบและลูกไม้ข้อพระบาท ทรงถุงพระบาทยาว ฉลองพระบาทปักหุ้มส้น
พระราชพิธีโสกันต์สมเด็จฯเจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ฯ จัดขึ้นระหว่างวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ – ๗ มีนาคม รศ. ๑๒๔ นับเป็นคราวที่ ๕๒ ในรัชกาลที่ ๕ และเป็นลำดับที่ ๓๑๒ คราวเดียวกันกับพระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าอุรุพงศ์รัชสมโภช เป็นลำดับที่ ๓๑๓ จัดเป็นพิธีโสกันต์ใหญ่มีการจัดเตรียมพระแท่นมณฑลที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทในวันที่ ๔ มีนาคม รศ. ๑๒๔ [5]
การเฉลิมพระนามสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ เป็นเจ้าฟ้าต่างกรมมีพระนามจารึกในพระสุพรรณบัฎว่า สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ ฯลฯ เจ้าฟ้ากรมขุนศุโขไทยธรรมราชาฯ แล้ว พระสงฆ์สวดชยันโต พราหมณ์เป่าสังข์ และประโคมขับอย่างเวลาโสกันต์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงหลั่งน้ำพระมหาสังข์และทรงเจิมพระราชทาน โปรดเกล้าฯพระราชทานพระสุพรรณบัฏ และทรงสวมสังวาลย์จักรีบรมวงศ์พระราชทานพร้อมด้วยใบประกาศเฉลิมพระนามและเครื่องยศ คือ พระมาลาหุ้มตาดเครื่องลงยาราชาวดี ๑ ฉลองพระองค์ทรงประพาศ ๑ เจียรบาด ๑ ประคำทองคำ ๑๐๘ เม็ด สายทองคำ ๑ สาย พระดิ่ง ๕ มีสายทองคำ ๑ สาย พระตะกรุดลงยาประดับเพชรสายทองคำ ๑ สาย พานหมากเสวยทองคำลงยามีเครื่องพร้อม ๑ หีบหมากเสวยทองคำลงยาพระเกี้ยว๑ พระเต้าน้ำพานรองทองคำลงยา ๑ บ้วนพระโอษฐ์ทองคำลงยา ๑ กากระบอกถาดรองทองคำ ๑ ถาดชาป้านจานรองและจุ๊นรองถ้วย ศิลาทองคำ๑ พระแสงนาค ๓ เศียรฝักทองคำลงยา ๑ พระแสงญี่ปุ่นฝักทองคำลงยา ๑ เสร็จแล้ว สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนศุโขไทยธรรมราชาได้ทูลเกล้าถวายต้นไม้ทองเงิน และดอกไม้ธูปเทียนแด่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระราชพิธีโสกันต์ในสมัยรัชกาลที่ ๗
ต่อมาเมื่อสมเด็จฯเจ้าฟ้าประชาธิปกฯ กรมหลวงสุโขทัยธรรมราชาขึ้นครองราชสมบัติเป็นพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ เจ้านายที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานโสกันต์คือ พระองค์เจ้าจิรศักดิ์สุประภาต เมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๑ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอินทุรัตนา เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๔ และครั้งสุดท้ายในพ.ศ. ๒๔๗๕ พระราชทานแก่พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าหญิงสุทธสิริโสภา พระธิดาในสมเด็จเจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก กรมหลวงเพ็ชรบูรณ์อินทราชัย ก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครองเพียงเล็กน้อย
ภายหลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบรัฐธรรมนูญใน พ.ศ. ๒๔๗๕ ราชประเพณีโบราณนี้เป็นอันสุดสิ้นลง พระราชพิธีโสกันต์ไม่มีการจัดอีก เพราะเจ้านายไว้ผมจุกเริ่มมีน้อย เปลี่ยนเป็นไว้ผมยาวเป็นปกติ แต่สมัยนี้พบว่ามีประชาชนบางกลุ่มยังคงสืบทอดประเพณีโกนจุกกุลบุตรกุลธิดาที่โบสถ์พราหมณ์ (เสาชิงช้า) ในทุกปีช่วงเดือนมกราคม
บรรณานุกรม
จอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. ๒๕๔๗. ชุมนุมพระราชาธิบายและประชุมพระราชนิพนธ์ ภาคปกิณกะพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ.๒๕๓๘. โคลงดั้นเรื่องโสกันต์ : บาญชีตัดจุก รายพระ นามแลนาม ผู้ซึ่งพระบาทสมเด็จฯพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตัดจุก.กรุงเทพฯ :สำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ.
จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ.๒๕๓๘.พระราชพิธีสิบสองเดือน(ปกแข็ง)๒๕๕๒. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ศิลปาบรรณาคาร.
ชาญวิทย์ เกษตรศิริ (บรรณาธิการ). ๒๕๔๘. “ประกาศการพระราชพิธีลงสรงโสกันต์พระเจ้าลูกเธอ ณ วันพุธเดือนยี่ ขึ้น ๔ ค่ำ ปีจอ จัตวาศก”, ประชุมประกาศรัชกาลที่ ๔, กรุงเทพฯ : มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์
นิพัทธพงศ์ พุมมา (เรียบเรียง). ๒๕๕๔. พัฒนาการของการโกนจุกในสัคมไทย พิษณุโลก: ดาวเงิน การพิมพ์.
พูนพิศมัย ดิศกุล, หม่อมเจ้าหญิง. ๒๕๑๗. ประเพณีพิธีไทย. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์และทำปกเจริญ ผล.
หนังสือราชกิจจานุเบกษา เล่ม๒๒ วันที่ ๑๑ มีนาคม รัตนโกสินทรศก ๑๒๔ เรี่อง “พระ ราชพิธีมหามงคลการโสกันต์และพระราชทานพระสุพรรณบัฏเฉลิมพระนามสมเด็จ พระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ และโสกันต์พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าอุรุพงษ์รัชสมโภช.
ราชบัณฑิตยสถาน พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๒๕ Bradley Dan Beach, Dr. อักขราภิธานศรับท์ ค.ศ. ๑๘๗๓.
อ้างอิง
- ↑ พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๒๕, หน้า ๘๕๘ กล่าวว่า “โสกันต์” เป็นคำกริยา แปลว่า “โกนจุก ใช้แก่พระองค์เจ้าขึ้นไป” และ หนังสืออักขราภิธานศรับท์หมอบรัดเลย์(Dr. Danbeach Bradley) ฉบับพิมพ์ ค.ศ.๑๘๗๓ ( พ.ศ.๒๔๑๖ ) หน้า ๖๙๓ อธิบายว่า “ โสกันต์ คือ โกนผม ตัดผม, เขาพูดเปนคำสูงสำหรับเจ้าเปนต้น, ตัดผมจุก ว่า โสกันต์”
- ↑ จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว,พระบาทสมเด็จพระ. พระราชพิธีสิบสองเดือน (ปกแข็ง) ,กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ศิลปาบรรณาคาร , ๒๕๕๒.
- ↑ หม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย ดิศกุล, ประเพณีพิธีไทย. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์และทำปกเจริญผล, ๒๕๑๗, หน้า ๑๔-๑๘.
- ↑ หนังสือราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๒๒ , หน้า ๑๑๔๐-๑๑๔๘.
- ↑ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, คณะอนุกรรมการจัดทำเอกสารและบทความสดุดีบุคคลสำคัญในคณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี จัดพิมพ์เรื่อง โคลงดั้นเรื่องโสกันต์ พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๕ และบาญชีตัดจุก รายพระนามแลนามผู้ซึ่งพระบาทสมเด็จฯพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตัดจุก. กรุงเทพฯ : รุ่งศิลป์การพิมพ์ พ.ศ. ๒๕๓๘, หน้า ๘๒.