กรณีพิพาทอินโดจีน
กรณีพิพาทอินโดจีน
ผู้เรียบเรียง : สุเทพ เอี่ยมคง
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : นายจเร พันธุ์เปรื่อง
ความหมาย
กรณีพิพาทอินโดจีน เป็นความขัดแย้งระหว่างราชอาณาจักรสยามกับสาธารณรัฐฝรั่งเศส ในปี พ.ศ.2436โดยถือเป็นเหตุการณ์ความขัดแย้งที่รุนแรงถึงขั้นวิกฤตที่ส่งผลกระทบต่อเอกราชและอธิปไตยของชาติ และความขัดแย้งได้ส่งผ่านช่วงเวลานับเนื่องต่อนี้ไปอีกกว่าห้าสิบปีจนกระทั่งสิ้นสุดสงครามโลกครั้ง ครั้งที่ 2 ต้นสายปลายเหตุเริ่มจากความพิพาทแนวชายแดนด้านตะวันออกของสยามกับพื้นที่ในครอบครองของฝรั่งเศสบนคาบสมุทร อินโดจีนซึ่งเป็นพื้นที่ของประเทศลาวในปัจจุบัน และได้ขยายผลสู่การสู้รบที่ปากน้ำเจ้าพระยา การสู้รบทางทะเล และการปิดอ่าวสยาม ยังความเดือดร้อนในวงกว้างที่มิใช่เฉพาะสยามเท่านั้น แต่ยังได้เป็นชนวนให้มหาอำนาจทางทะเลอย่างอังกฤษ และสหรัฐอเมริกาต้องเข้ามาเกี่ยวข้องกับกรณีดังกล่าวด้วย ทั้งเพื่อปกป้องมหามิตรและพิทักษ์ผลประโยชน์ของตนบนแผ่นดินสยาม
ความสัมพันธ์สยาม-ฝรั่งเศส
ความสัมพันธ์ระหว่างราชอาณาสยามกับฝรั่งเศสมีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ทั้งในมิติด้านการค้าพานิชย์และด้านการทหาร มีชาวฝรั่งเศสหลายคนเข้ามารับราชการในราชสำนัก และเป็นที่ไว้วางใจให้มีตำแหน่งทางราชการที่สำคัญ เช่น คอนสแตนติน ฟอลคอล หรือ ออกญาวิชาเยนทร์ ผู้ซึ่งมีบทบาทสำคัญทางการทหารในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช มีการแต่งตั้งราชทูตแลกเปลี่ยนการเยือนระหว่างกันเพื่อเจริญความสัมพันธ์อย่างที่ไม่เคยปรากฎมาก่อน แต่ยุคทองด้านการต่างประเทศได้ลดระดับลงหลังสิ้นรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช อีกทั้งต้นกรุงรัตนโกสินทร์มีนโยบายไม่พึ่งพาตะวันตก และ “ไม่คบฝรั่ง” ทำให้บทบาทของชาวต่างประเทศใน ราชสำนักสยามหมดความสำคัญลง ในขณะที่มหาอำนาจตะวันตกต่างเข้ามามีอิทธิพลเหนือดินแดนอุษาคเนย์ จนกระทั่งรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ฝรั่งเศสได้ส่งเมอซิเออร์ เดอ มองติญี (Monsieur de Montigny) เป็นราชทูตเข้ามาเจรจาทำสัญญาทางพระราชไมตรีและการค้ากับสยาม โดยยึดถือแนวทางการทำสัญญาเช่นเดียวกับอังกฤษ ที่ได้ทำไว้กับสยามเมื่อปี พ.ศ.2398 ในนามสนธิสัญญาเบาว์ริ่ง ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.2401 ได้ตั้งกงสุลฝรั่งเศสประจำพระนคร ขณะเดียวกันสยามได้ส่งพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ (วร บุนนาค) ไปกรุงปารีสเพื่อตกลงเรื่องเมืองเขมร ตามสัญญาฉบับนี้สยามยอมรับรู้ว่าเขมรอยู่ใต้ความคุ้มครองของฝรั่งเศส ส่วนเมือง พระตะบองและเสียมราฐนั้น ฝรั่งเศสยอมให้สยามปกครองตามเดิม ต่อมาสยามกับฝรั่งเศสเริ่มแบ่งเขตแดนสยามกับเขมรบริเวณทะเลสาบกับแม่น้ำโขง
สาเหตุความขัดแย้ง
จากความสัมพันธ์อันดีที่มีมาช้านาน ได้เริ่มเห็นความขัดแย้งในปี พ.ศ.2428 เมื่อกองกำลังสยามยกทัพไปปราบฮ่อที่หัวพันทั้งห้าทั้งหก และเมืองพวน โดยมีเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรีเป็นแม่ทัพ ฝรั่งเศสได้กล่าวหาสยามว่าถือโอกาสรุกล้ำเข้าไปในดินแดนลาว ซึ่งอยู่ในอำนาจของญวน ซึ่งฝรั่งเศสกำลังจัดการปกครองเมืองญวนอยู่ ต่อมาสยามกับฝรั่งเศสได้ตกลงทำอนุสัญญาเมืองหลวงพระบาง โดยมี Auguste Pavie เป็นไวซ์กงสุล (Viee Consul) ประจำเมืองหลวงพระบาง เพื่อดูแลผลประโยชน์ของฝรั่งเศสบนคาบสมุทรอินโดจีน และติดตามความเคลื่อนไหวของอำนาจเก่าอย่างสยามในดินแดนที่เป็นประเทศลาว และเขมร
ความขัดแย้งได้ยุติลงเมื่อพันตรี เปนเนอแกง ผู้บังคับการทหารฝรั่งเศสในแคว้นสิบสองปันนา ได้ลงนามในสัญญากับพระยาสุรศักดิ์มนตรี เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2431 สรุปความได้ว่าในระหว่างที่รัฐบาลทั้งสองฝ่ายยังไม่ได้ข้อตกลงกัน ทหารฝรั่งเศสจะตั้งอยู่ในสิบสองจุไท ทหารสยามจะตั้งอยู่ในหัวพันทั้งห้าทั้งหก และเมืองพวน ต่างฝ่ายต่างจะไม่ล่วงเข้าไปในเขตซึ่งกันและกัน ส่วนที่เมืองแถงนั้นทหารสยามและทหารฝรั่งเศส จะตั้งรักษาอยู่ด้วยกันจนกว่ารัฐบาลทั้งสองฝ่ายจะตกลงกัน รวมทั้งจะช่วยกันปราบฮ่อที่เป็นโจรผู้ร้ายอยู่ตามแนวชายแดนให้สงบ
ในการปราบฮ่อครั้งนี้ฝ่ายสยามเห็นเป็นโอกาสอันดีที่จะได้มีแผนที่เขตแดนอย่างชัดเจน จึงมอบหมายให้แมคคาร์ธี ที่ปรึกษาชาวอังกฤษ ซึ่งต่อมาได้รับราชการในราชสำนักสยามมีบรรดาศักดิ์เป็นพระวิภาคภูวดล ทำแผนที่ชายแดนทางภาคเหนือ จนถึงสิบสองจุไท แต่ยังไม่ได้ปักปันเขตแดน เพราะยังตกลงกับฝรั่งเศสที่มีอำนาจเหนือดินแดนแห่งนี้ไม่ได้
ฝรั่งเศสมีท่าทีเรื่องเขตแดนพิพาทแข็งกร้าวมากขึ้น และข่มขู่มิให้มหาอำนาจอย่างอังกฤษเข้ามาเกี่ยวข้อง อีกทั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของฝรั่งเศสได้นำปัญหาข้อพิพาทระหว่างสยามกับฝรั่งเศสเสนอเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2435 โดยหยิบยกกรณีที่ ม.มาสซี เจ้าหน้าที่สถานกงสุลฝรั่งเศสเมืองหลวงพระบาง ถึงแก่กรรมโดยการฆ่าตัวตายเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2435 ที่เมืองจัมปาศักดิ์ ว่าเกิดจากการคุกคามและข่มขู่จากกองทัพสยาม มาใช้ประโยชน์ต่อกรณีพิพาทดังกล่าว ข้อเสนอนี้ได้รับการยอมรับจากรัฐสภาลงมติอนุมัติให้ดำเนินการโดยทันที โดยมีเงื่อนไขว่า ให้ใช้วิธีการที่ดีที่สุด สำเร็จโดยเร็ว โดยเสียเงินและเลือดเนื้อน้อยที่สุด
เมื่อรัฐบาลฝรั่งเศสได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาแล้ว จึงมีคำสั่งไปยังผู้สำเร็จราชการอินโดจีน ให้ดำเนิน การขับไล่กองกำลังสยามให้พ้นเขตแดนที่กำลังพิพาทกันอยู่ จึงเกิดการสู้รบกันขึ้น พร้อมทั้งกล่าวหาว่าสยามไม่รักษาคำมั่นตามข้อตกลงเรื่องการรักษาสถานะเดิม คือการตกลงให้ต่างฝ่ายต่างคงอยู่ในเขตแดนเดิม และจะไม่รุกล้ำเข้าไปในแดนเขตของอีกฝ่ายหนึ่ง เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นสยามต้องเป็นผู้รับผิดชอบ และให้ปล่อยตัวทหาร และคนในบังคับของฝรั่งเศส ที่ถูกสยามควบคุมตัวไว้ด้วย
วันที่ 21 มีนาคม 2435 ฝรั่งเศสได้ส่งเรือลูแตง (Lutin) เข้ามาจอดทอดสมออยู่หน้าสถานทูตฝรั่งเศส ในพระนคร เพื่อแสดงแสนยานุภาพ โดยมีผู้บัญชาการสถานีทหารเรือเมืองไซ่ง่อนเข้ามาเจรจาและร้องขอให้สยามยอมรับเขตแดนญวนว่าจรดถึงฝั่งซ้ายลำน้ำโขง แต่สยามคัดค้านคำร้องขอนี้ พร้อมทั้งได้ดำเนินการทางการทูตกับอังกฤษเรื่องตั้งอนุญาโตตุลาการตัดสินปัญหาความขัดแย้ง และเชิญสหรัฐอเมริกาเข้ามาไกล่เกลี่ยข้อพิพาท แต่ฝรั่งเศสปฏิเสธไม่ยอมรับตามที่เสนอ สยามจึงเตรียมการป้องกันปากน้ำเจ้าพระยา
ลำดับเหตุการณ์สำคัญ
เมื่อเห็นว่าฝรั่งเศสดำเนินการทางทหารเช่นนี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพิจารณาเห็นว่าจะต้องเตรียมการด้านการทหารและความมั่นคงเพื่อความปลอดภัยของราชอาณาจักร จึงโปรดเกล้า ฯ แต่งตั้งกรรมการปรึกษาการป้องกันพระราชอาณาเขต จำนวน 8 ท่าน ประกอบด้วย
1. เจ้าฟ้ากรมพระภาณุพันธุวงศ์วรเดช ผู้บัญชาการกรมยุทธนาธิการ
2. กรมหลวงเทวะวงศ์วโรปการ เสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศ
3. เจ้าฟ้ากรมขุนนริศรานุวัติวงศ์ เสนาบดีกระทรวงการคลัง
4. กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิธาดา เสนาบดีกระทรวงมุรธาธร
5. กรมหมื่นดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย
6. เจ้าพระยาพลเทพ (พุ่ม ศรีไชยยันต์) เสนาบดีกระทรวงกลาโหม
7. นายพลเรือโท พระองค์เจ้าจรัสวงศ์ ผู้บัญชาการทหารเรือ
8. พระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม - แสงชูโต) เสนาบดีกระทรวงเกษตรพานิชการ
วันที่ 10 กรกฎาคม 2436 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีลายพระหัตถ์เลขาถึงพระยาชลยุทธโยธินทร์ แจ้งกำหนดเรือรบฝรั่งเศสจะเข้าพระนครในวันที่ 13 กรกฎาคม 2436 เวลาเย็น โดยให้พระยาชลยุทธโยธินทร์ เตรียมการวางตอร์ปิโดให้เต็มช่องยิง และมีพระบรมราชานุญาตให้ทำการยิงตอบโต้ได้
วันที่ 11 กรกฎาคม 2436 กรมหลวงเทวะวงศ์วโรปการ เสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศได้มีโทรเลขไปยังอัครราชทูตสยามประจำกรุงปารีส แจ้งเรื่องเรือรบฝรั่งเศสที่จะเข้ามาแสดงแสนยานุภาพข่มขู่สยาม ให้นำความไปเรียนต่อ ม.เดอ แวลล์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศฝรั่งเศส และได้รับคำชี้แจงจากฝรั่งเศสว่าที่ฝ่ายทหารกระทำการลงไปนั้นไม่ได้มุ่งหมายจะให้เรือรบเข้าไปในพระนครเพื่อข่มขู่สยามแต่ประการใด ฝรั่งเศสมีความประสงค์อย่างเดียวกับอังกฤษที่ส่งเรือรบเข้ามาก่อนหน้านี้แล้วเท่านั้น และรับรองว่าจะถอนคำสั่งเดิมเสีย
วันที่ 13 กรกฎาคม 2436 ม.เดอแวลล์ ได้มีโทรเลขถึง Auguste Pavie ราชทูตฝรั่งเศสประจำกรุงเทพ ฯ ถึงเรื่องที่กองทัพสยามได้วางลูกตอร์ปิโดไว้ในร่องน้ำ ให้แจ้งแก่กองเรือฝรั่งเศสทราบว่า รัฐบาลฝรั่งเศสตกลงจะยับยั้งไม่ให้เรือลำใดข้ามสันดอนเข้าไปก่อนเวลานี้ โทรเลขฉบับนี้มาถึงม.ปาวี เวลาเช้าของวันที่ 13 กรกฎาคม 2436 แต่ยังมิได้ดำเนินการทางการทูตเพื่อยับยั้งความขัดแย้ง ได้เกิดการปะทะกันบริเวณปากแม่น้ำเจ้าพระยาขึ้นเสียก่อน และตอนเย็นถึงค่ำการสู้รบยิ่งทวีความรุนแรงท่ามกลางที่ฝนตกลงมาอย่างหนัก เมื่อเรือรบฝรั่งเศส 2 ลำ และเรือนำร่องก็แล่นเข้ามาในปากน้ำเจ้าพระยา ทหารที่ประจำป้อมพระจุลจอมเกล้า ทำการยิงด้วยดินเปล่าเป็นสัญญาณเตือน 3 นัดให้ถอยเรือกลับไป แต่กองเรือฝรั่งเศสยังคงรุกล้ำเข้ามา ทหารบนฝั่งจึงยิงด้วยกระสุนจริง แต่ตั้งเป้าให้ลูกปืนตกคล่อมหัวเรือไป ในการปะทะนี้ทหารเรือไทย เสียชีวิต 8 นาย สามารถยิงให้เรือนำร่องเยเบเซท้องทะลุ ต้องแล่นไปเกยตื้น และฝรั่งเศสตาย 3 นาย แต่เรือฝรั่งเศสอีกสองลำยังคงแล่นทวนน้ำเข้าพระนครต่อไป
วันที่ 14 กรกฎาคม 2436 ซึ่งเป็นวันชาติของฝรั่งเศส ทั้งสองฝ่ายยุติการสู้รบและการปะทะตามจุดต่างๆ เพื่อเป็นการให้ความเคารพ “เรือธง” ของฝรั่งเศส การเจรจาเพื่อหาข้อยุติจึงเริ่มขึ้น
บทบาทของอังกฤษ สหรัฐอเมริกาต่อกรณีความขัดแย้ง
อังกฤษ ในนามของบริเตนใหญ่ ได้เข้ามามีบทบาทในภูมิภาคนี้ในลักษณะถ่วงดุลอำนาจกับฝรั่งเศสเมื่อเห็นว่าความขัดแย้งระหว่างสยามกับฝรั่งเศสอาจขยายเป็นการทำสงคราม วันที่ 22 มีนาคม 2436 กัปตันโยนส์ ราชทูตอังกฤษได้ส่งโทรเลขไปยัง ลอร์ดโรสเบอรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อขออนุญาตส่งเรือรบสวิฟท์ (Swiff ) เข้าไปคุ้มครองทรัพย์สมบัติของอังกฤษ และรักษาความสงบเรียบร้อย ในกรณีที่อาจเกิดสงครามขึ้นในพระนคร เมื่อได้รับอนุญาตแล้ว วันที่ 20 เมษายน 2436 ราชนาวีอังกฤษได้ส่งเรือสวิฟท์ เข้ามาทอดสมอหน้าสถานทูตอังกฤษ
อังกฤษทราบว่าฝรั่งเศสได้สั่งเคลื่อนกำลังทางเรือให้มารวมกันอยู่ที่ไซ่ง่อน และสืบทราบว่าฝรั่งเศสจะส่งกองเรือเข้ามารุกรานสยาม ในขณะที่ฝ่ายสยามเองได้เตรียมการป้องกันปากแม่น้ำเจ้าพระยา โดยได้เอาเรือมาจมขวางไว้ที่ปากน้ำ เมื่อข่าวนี้แพร่ออกไปก็ทำให้เกิดความวิตกกังวลในวงการค้าทั่วไป อังกฤษจึงคิดจะส่งเรือรบเข้ามาในสยามอีกเพื่อคุมเชิงฝรั่งเศส และเพื่อคุ้มครองชีวิตและทรัพย์สินของชนชาติอังกฤษ แต่การดำเนินการของอังกฤษ กลับสร้างความตรึงเครียดขึ้นบริเวณอ่าวสยาม เมื่อฝรั่งเศสได้ทราบว่าอังกฤษได้จัดส่งเรือรบเข้ามาเพิ่มเติม และรู้สึกว่ามีทีท่าในทางส่งเสริมให้กำลังใจฝ่ายสยาม และอาจเป็นการคุกคามฝรั่งเศส จึงส่งเรือรบเข้ามาเพิ่มเติมอีกสองลำชื่อว่า โคแมต (Comete) และแองกองสตังค์ (Inconstang ) เดินทางเข้าสู่ปากน้ำเจ้าพระยา เพื่อกดดันฝ่ายสยาม
ส่วนทางด้านสหรัฐอเมริกา ที่มีอิทธิพลเหนือมหาสมุทรแปซิฟิกคาบเกี่ยวกับฟิลิปปินส์ ได้รับการติดต่อจากสยามให้เข้ามาเป็นคนกลางไกล่เกลี่ยข้อพิพาท และเข้าร่วมเป็นอนุญาโตตุลาการ ซึ่งเห็นว่าจะเป็นหนทางที่แก้ไขความขัดแย้งโดยสันติ จึงยินดีเข้าร่วม แต่ได้รับการคัดค้านจากฝรั่งเศสเพราะฝรั่งเศสเห็นว่าท่าทีของสหรัฐอเมริกานั้นไม่แตกต่างจากอังกฤษ กล่าวคือสนับสนุนสยาม อีกทั้งนโยบายการต่างประเทศของสหรัฐอเมริกาคือไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับความขัดแย้งใดๆ ถือนโยบายโดดเดี่ยว (Isolation) เมื่อฝรั่งเศสไม่เห็นด้วยจึงถอนตัวออกไป
การดำเนินการเพื่อยุติความขัดแย้ง
เมื่อเกิดการสู้รบกันขึ้นที่ปากน้ำเจ้าพระยาในตอนเย็นวันที่ 13 กรกฎาคม 2436 แล้ว Auguste Pavie ได้รายงานเหตุการณ์ไปยังกรุงปารีสโดยทันที และในวันที่ 14 กรกฎาคม 2436 ม.เดอ แวลล์ รัฐมนตรีว่าการต่างประเทศฝรั่งเศสได้โทรเลขแจ้งให้ Auguste Pavie ขอคำอธิบายจากเสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศของสยามโดยทันที และแจ้งด้วยว่าได้สั่งการไปยังนายพลเรือ ฮูมานน์ ให้เรือหยุดอยู่ที่สันดอนปากน้ำเจ้าพระยา พร้อมทั้งทูลให้พระองค์เจ้าวัฒนานุวงศ์ทรงทราบว่าสยามจะต้องรับผิดชอบในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้
ขณะที่ทางพระนคร เหตุการณ์ตึงเครียด ได้พยายามทำความเข้าใจกันทั้งสองฝ่ายเพื่อมิให้เกิดการสู้รบกันขึ้นอีก ขณะฝ่ายฝรั่งเศสคงยืนยัน และบีบบังคับให้สยามตกลงยินยอมตามคำเรียกร้องของตน โดยมีเรือรบลอยลำอยู่ในพระนคร และยังมีกองเรือในบังคับบัญชาของนายพลเรือ ฮูมานน์ เป็นกำลังคอยสนับสนุนอยู่ในทะเลอีกด้วย เป็นการแสดงกำลังเพื่อเพิ่มน้ำหนักในการเจรจาทางการทูตให้แก่ฝรั่งเศส พร้อมกันนี้ รัฐสภาของฝรั่งเศสได้พิจารณาเรื่องนี้เป็นเรื่องด่วน เพื่อกำหนดท่าทีให้รัฐบาลดำเนินอย่างแข็งกร้าวต่อสยาม
วันที่ 18 กรกฎาคม 2436 รัฐสภาฝรั่งเศสได้ประชุมพิจารณาและลงมติมอบอำนาจให้รัฐบาลดำเนินการให้รัฐบาลสยามรับรองและเคารพสิทธิของฝรั่งเศส และรับผิดชอบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น พร้อมทั้งยื่นข้อเรียกร้องให้สยามดำเนินการดังนี้
1. เคารพสิทธิของญวน และเขมร เหนือดินแดนบนฝั่งซ้ายลำน้ำโขง และเกาะต่าง ๆ ในลำน้ำนี้
2. ถอนทหารสยามที่ตั้งอยู่บนฝั่งซ้ายของลำน้ำโขงให้เสร็จสิ้นภายในเวลาไม่เกินหนึ่งเดือน
3. เสียค่าปรับไหมให้แก่ฝรั่งเศสในเหตุการณ์ที่ทุ่งเชียงคำ และที่คำม่วน และความเสียหายแก่เรือและทหารประจำเรือฝรั่งเศสที่ปากน้ำเจ้าพระยา
4. ลงโทษผู้กระทำความผิดและเสียเงินค่าทำขวัญแก่ครอบครัวของผู้ที่เสียชีวิตชาวฝรั่งเศสและคนในบังคับฝรั่งเศส
5. เสียเงิน 2,000,000 ฟรังค์ เป็นค่าปรับไหมในความเสียหายต่าง ๆ ที่เกิดแก่ฝรั่งเศส
6. จ่ายเงิน 3,000,000 ฟรังค์ ชำระทันที เป็นการมัดจำการจะชดใช้ค่าเสียหายต่าง ๆ และเงินค่าทำขวัญ หรือถ้าไม่สามารถจ่ายได้ จำต้องยอมให้รัฐบาลฝรั่งเศสมีสิทธิเก็บภาษีอากรในเมืองพระตะบอง และเสียมราฐ ทั้งนี้ เร่งรัดให้รัฐบาลสยามตอบภายใน 48 ชั่วโมง
เมื่อได้รับแจ้งดังนี้แล้ว วันที่ 22 กรกฎาคม 2436 รัฐบาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แจ้งให้ Auguste Pavie ทราบ ดังนี้
1. รัฐบาลสยามยังไม่ได้รับคำอธิบายอย่างแจ้งชัดเรื่องสิทธิของญวน และเขมรเหนือดินแดนบนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง และเกาะต่าง ๆ ในข้อนี้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงตั้งพระราชหฤทัยว่า จะยอมโอนกรรมสิทธิเหนือดินแดนส่วนใด ๆ ให้ ถ้าหากฝรั่งเศสแสดงให้เห็นโดยเด่นชัดว่าญวนและเขมรมีสิทธิโดยชอบอยู่ เหนือดินแดนนั้นอย่างไร ตลอดเวลา 5 เดือนที่รัฐบาลสยามขอร้องให้นำกรณีพิพาทนี้ขึ้นสู่อนุญาโตตุลาการ ด้วยความมุ่งหมายที่จะให้สันติภาพเกิดแก่อาณาประชาราษฎร์ และให้เกิดความปลอดภัยแก่ผลประโยชน์ทางการค้าพาณิชย์ การที่ต่างประเทศที่มีกิจการได้กระทำอยู่ในประเทศสยาม แต่หาได้รับความร่วมมือจากฝรั่งเศสไม่
2. กองทหารสยามที่ตั้งอยู่ในดินแดนที่ระบุไว้ในข้อ 1 จะได้ถอยกลับมาสิ้นภายใน 1 เดือน
3. พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขอแสดงความเสียพระราชหฤทัย ในกรณีอันนำมาซึ่งความเสียหายร่วมกันแก่ฝ่ายสยามและฝรั่งเศสที่ทุ่งเชียงคำ และที่คำม่วน (แก่งเจ๊ก) และทั้งที่ได้เกิดกระทบกระทั่งกันที่ปากน้ำเจ้าพระยาด้วย และปฏิบัติตามคำเรียกร้องของรัฐบาลฝรั่งเศสอื่น ๆ ด้วย ถ้าเห็นว่าจำเป็น โดยอนุโลมตามลักษณะแห่งความยุติธรรม และตามความเป็นเอกราชของประเทศสยาม ซึ่งรัฐบาลฝรั่งเศสว่าจะเคารพนั้น
4. บุคคลใดที่ต้องหาว่าได้ทำการย่ำยีชนชาติฝรั่งเศสเป็นการส่วนตัวในคดีใดก็ดี อันปรากฏว่าละเมิดต่อกฎหมายบ้านเมือง หรือกฎหมายระหว่างประเทศ ก็จะลงโทษตามรูปคดีนั้น ๆ หรือหากว่าสมควรจะชดใช้เป็นค่าทำขวัญ ก็จะได้ชำระให้ครอบครัวของผู้เสียชีวิตนั้นให้เสร็จสิ้นไป
5. รัฐบาลฝรั่งเศสกับรัฐบาลสยามได้โต้แย้งกันมาเป็นเวลานานในเรื่องเกี่ยวกับชนชาติฝรั่งเศสที่ได้รับความเสียหาย โดยขอเรียกร้องให้ชำระเงินที่ตนต้องได้รับความเสียหาย เพราะข้าราชการสยามดำเนินการผิดนั้น ข้อนี้ในนามแห่งรัฐบาลสยามขอปฏิเสธว่า ไม่ใช่ความผิดของข้าราชการนั้น ๆ อย่างไรก็ตาม พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเห็นว่าไม่ควรยึดหลักอันใดมาคัดค้านข้อเรียกร้องดังกล่าว จึงยินยอมชำระเงิน 2,000,000 ฟรังค์ ให้แก่รัฐบาลฝรั่งเศส แต่ทรงมีพระราชดำริว่าควรที่จะจัดตั้งคณะกรรมาธิการผสมพิจารณาเงินค่าทำขวัญในกรณีที่ได้อ้างมาในข้อ 4 นั้นด้วย
6. ที่จะให้จ่ายเงินจำนวน 3,000,000 ฟรังค์ เป็นเงินเหรียญโดยทันทีที่เพื่อมัดจำในการที่จะต้องชดใช้ค่าทำขวัญ และค่าปรับไหม ดังนั้น ถ้าได้พิจารณาให้ละเอียดเป็นราย ๆ ตามสมควรแก่การแล้ว รัฐบาลสยามเชื่อในความยุติธรรมของรัฐบาลฝรั่งเศสว่า จะได้รับเงินจำนวนที่เหลือคืนจากที่ได้จ่ายไปจริง เท่าที่ได้เรียกร้องในกรณีทั้งปวงโดยครบถ้วน
จากคำตอบที่ได้รับ ฝรั่งเศสเห็นว่ามิได้เป็นไปตามข้อเสนอจึงตัดสัมพันธ์ทางการฑูต และสั่งการให้นาวาเอก เรอกุลุซ์ ผู้บังคับการเรือลาดตระเวนฟอร์แฟต์ ซึ่งออกเดินทางจากไซ่ง่อนติดตามเรือแองคองสตังต์ และเรือโคแมต ได้จอดคุมเชิงอยู่ภายนอกสันดอน ตั้งแต่วันที่ 14 กรกฎาคม 2436 และได้ส่งทหารจำนวนหนึ่งขึ้นยึดเกาะสีชัง แล้วออกประกาศปิดอ่าวสยาม สั่งการให้บรรดาเรือของชาติที่เป็นไมตรีกับสยามให้เวลาอีกสามวัน เพื่อถอยออกไปจากอ่าวสยาม หากเรือลำใดที่พยายามฝ่าฝืนเข้ามาจะได้รับการตอบโต้ตามอำนาจที่ฝรั่งเศสพึงมี
เมื่อสถานการณ์บีบบังคับเช่นนี้ สยามไม่มีทางเลือกอื่นจำต้องยอมรับคำขาด พระองค์เจ้าวัฒนานุวงศ์ อัครราชทูตสยามประจำกรุงปารีส ได้นำหนังสือในนามรัฐบาลสยามไปยื่นแก่ ม.เดอแวลล์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศฝรั่งเศส ด้วยเหตุผลว่า เพื่อระงับและขจัดเหตุความวุ่นวายในพระนครอันจะนำมาซึ่งสันติสุขของพลเมือง สันติภาพของภูมิภาค รักษาผลประโยชน์ทางการค้าพาณิชย์ระหว่างสยามกับฝรั่งเศสคงเป็นอยู่ดังเดิม
เมื่อได้รับคำตอบและได้ผลเป็นที่พอใจแล้ว รัฐบาลฝรั่งเศสยอมสงบศึกและสั่งการให้นายพลเรือ ฮูมานน์ยกเลิกการปิดอ่าวสยามตั้งแต่เวลา 12.00 นาฬิกา ของวันที่ 3 สิงหาคม 2436 เป็นต้นไป
ผลที่เกิดขึ้นหลังจากกรณีพิพาท
หลังจากที่ทั้งสองฝ่ายเจรจาตกลงกันได้แล้ว ได้มีการทำสัญญาสงบศึกระหว่างรัฐบาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศสลงวันที่ 3 ตุลาคม 2436 ซึ่งสาระสำคัญเป็นข้อกำหนดที่ฝรั่งเศสตั้งขึ้นเอง เช่น ให้สยามยอมสละข้ออ้างทั้งปวงว่า มีกรรมสิทธิอยู่เหนือดินแดนทั่วไปทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง และบรรดาเกาะทั้งหลายในแม่น้ำนั้น ห้ามมิให้มีเรือติดอาวุธไว้ใช้ หรือเดินไปมาในน่านน้ำของทะเลสาบ และของแม่น้ำโขง และลำน้ำที่แยกจากแม่น้ำโขง ไม่สร้างค่ายหรือที่ตั้งกองทหารไว้ในเมืองพระตะบอง และเมืองนครเสียมราฐ และบนฝั่งขวาแม่น้ำโขงในรัศมี 25 กิโลเมตร โดยให้บุคคลสัญชาติฝรั่งเศสก็ดี บุคคลในบังคับหรือในปกครองฝรั่งเศสก็ดี จะไปมาหรือค้าขายได้โดยเสรี ขออารักขาเมืองจันทบุรี ให้ลงโทษบุคคลที่เป็นต้นเหตุแห่งการสูญเสียชีวิตของทหารฝรั่งเศสในคำม่วนโดยมีคนของฝรั่งเศสเข้าร่วมพิจารณาตัดสินด้วย และที่สำคัญ ในกรณีเกิดความยุ่งยากในการตีความหมายของสัญญานี้ให้ใช้ฉบับภาษาฝรั่งเศสเท่านั้น
ผลของสัญญาสงบศึก นอกจากชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ฝรั่งเศสเป็นเงินจำนวนสามล้านฟรังก์แล้ว ได้ผูกพันให้สยามต้องเสียอธิปไตยบริเวณแม่น้ำโขงในเวลาต่อมา เป็นพื้นที่ประมาณ 143,000 ตารางกิโลเมตร และฝรั่งเศสได้ยึดเมืองจันทบุรีไว้ในอารักขานานกว่าสิบปี (ระหว่างปี 2436-2447) จนกว่าสยามจะชดใช้ค่าเสียหายจนครบ
ทั้งนี้ กรณีพิพาทนี้ได้กลายเป็นชนวนสงครามความขัดแย้งขึ้นอีกครั้งบนคาบสมุทรอินโดจีนระหว่างไทยกับฝรั่งเศสในระหว่างสงครามโลก ครั้งที่ 2 โดยมีจักรวรรดิ์ญี่ปุ่นเข้าร่วมวงศ์ไพบูลย์ด้วยซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสงครามมหาเอเซียบูรพา.
บรรณานุกรม
1.ไกรฤกษ์ นานา. (2553). สมุดภาพเหตุการณ์ ร.ศ. 112. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ทวีวัฒน์ จำกัด.
2. ไกรฤกษ์ นานา, วิกฤตการณ์ ร.ศ. 112, สารคดีปีที่ 26 ฉบับที่ 308 ตุลาคม 2553ฃ
3. เกริกฤทธิ์ ไทคูนธนภพ. (2555). สยาม ร.ศ. 112 วิกฤตแผ่นดิน พิพาทฝรั่งเศสและเสียดินแดน.
พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์สยามความรู้.
4. จิราภรณ์ สถาปนะวรรธนะ (2542) “รศ.112: จุดวิกฤติของการคุกคามของจักรวรรดินิยม,” วารสาร
มนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ (มหาวิทยาลัยนเรศวร) ปีที่ 7 ฉบับที่ 2 (2542)
5. พีรพล สงนุ้ย. (2545) กรณีพิพาทไทย - ฝรั่งเศส ร.ศ. 112 ตามหลักฐานฝรั่งเศส. พิมพ์ครั้งที่ 1กรุงเทพฯ :
สำนักพิมพ์มติชน.
6. วิกฤติการณ์ ร.ศ. 112. [ข้อมูลออนไลน์]. สืบค้นจาก http://www.sarakadee.com/2012/07/04/112-
crisis/ [31 สิงหาคม 2557]
7. วุฒิชัย มูลศิลป์. (2554). วิกฤติการณ์ ร.ศ. 112 ป้อมพระจุลจอมเกล้ากับการรักษาเอกราชของชาติ.
พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ : ชมรมเด็ก.
8. สมบัติ ธำรงธัญวงศ์. (2547). การเมืองการปกครองไทย พ.ศ. 1762 - 2500. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ :
สำนักพิมพ์เสมาธรรม.
9. สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงกลาโหม. กรณีพิพาท ระหว่างไทยกับฝรั่งเศส เมื่อ ร.ศ. 112
[ข้อมูลออนไลน์]. สืบค้นจากhttp://www1.mod.go.th/heritage/nation/event112/ event112_1.htm [31 สิงหาคม 2557]
อ่านเพิ่มเติม
1. วิกฤตการณ์สยาม ร.ศ. 112 : การเสียดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง