36 อรหันต์ทองคำ
ผู้เรียบเรียง : ดร.อรรถสิทธิ์ พานแก้ว
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : ศ.นรนิติ เศรษฐบุตร
ความหมาย
หลังจากที่ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ยึดอำนาจการปกครองประเทศ เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 และได้ประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 โดยให้คงใช้บังคับอยู่เฉพาะหมวด 2 พระมหากษัตริย์ โดยต่อมาได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ซึ่งมีบทบัญญัติส่วนหนึ่งเกี่ยวกับการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่ระบุถึงเป้าหมายในการวางกติกาทางการเมืองให้รัดกุม เหมาะสม ป้องกันและปราบปรามการทุจริต สามารถตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวดเร็ว และเป็นธรรม คำว่า “36 อรหันต์ทองคำ” เป็นคำที่สื่อมวลชนใช้เรียกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ จำนวน 36 คน ซึ่งมาจากในกระบวนการของการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่จะต้องประกอบไปด้วยคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ จำนวน 36 คน ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการดำเนินการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญรายมาตรา ก่อนส่งต่อให้สภาปฏิรูปแห่งชาติพิจารณาให้ความเห็นชอบก่อนประกาศใช้บังคับต่อไป
สาระสำคัญตามรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557
“...คณะกรรมาธิการยกร่างฯ จะร่างอย่างไรก็ตาม แต่ต้องคำนึงถึงหลัก 3 ประการ คือ 1. การรับฟังกรอบหรือขอบเขตตามที่สภาปฏิรูปฯ มอบหมาย 2. การต้องบรรจุหลักสำคัญบางเรื่องตามที่รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวกำหนดเอาไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และ 3. การรับฟังความคิดเห็นของประชาชน...” วิษณุ เครืองาม
ตามรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 มาตรา 35 ได้บัญญัติให้ คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญต้องจัดทำร่างรัฐธรรมนูญให้ครอบคลุมเรื่องดังต่อไปนี้ 1) การรับรองความเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียวจะแบ่งแยกมิได้ 2) การให้มีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขที่เหมาะสมกับสภาพสังคมของไทย 3) กลไกที่มีประสิทธิภาพในการป้องกัน ตรวจสอบ และขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน รวมทั้งกลไกในการกำกับและควบคุมให้การใช้อำนาจรัฐเป็นไปเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติและประชาชน 4) กลไกที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันและตรวจสอบมิให้ผู้เคยต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายว่ากระทำการทุจริตหรือประพฤติมิชอบ หรือเคยกระทำการอันทำให้การเลือกตั้งไม่สุจริตหรือเที่ยงธรรม เข้าดำรงตำแหน่งทางการเมืองอย่างเด็ดขาด 5) กลไกที่มีประสิทธิภาพที่ทำให้เจ้าหน้าที่ของรัฐโดยเฉพาะผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและพรรคการเมือง สามารถปฏิบัติหน้าที่หรือดำเนินกิจกรรมได้โดยอิสระ ปราศจากการครอบงำหรือชี้นำโดยบุคคลหรือคณะบุคคลใด ๆ โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย 6) กลไกที่มีประสิทธิภาพในการสร้างเสริมความเข้มแข็งของหลักนิติธรรม และการสร้างเสริมคุณธรรม จริยธรรม และธรรมาภิบาลในทุกภาคส่วนและทุกระดับ 7) กลไกที่มีประสิทธิภาพในการปรับโครงสร้างและขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจและสังคมเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมอย่างยั่งยืน และป้องกันการบริหารราชการแผ่นดินที่มุ่งสร้างความนิยมทางการเมืองที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศและประชาชนในระยะยาว 8) กลไกที่มีประสิทธิภาพในการใช้จ่ายเงินของรัฐให้เป็นไปอย่างคุ้มค่าและตอบสนองต่อประโยชน์ส่วนรวมของประชาชนโดยสอดคล้องกับสถานะทางการเงินการคลังของประเทศ และกลไกการตรวจสอบและเปิดเผยการใช้จ่ายเงินของรัฐที่มีประสิทธิภาพ 9) กลไกที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันมิให้มีการทำลายหลักการสำคัญที่รัฐธรรมนูญจะได้วางไว้ 10) กลไกที่จะผลักดันให้มีการปฏิรูปเรื่องสำคัญต่าง ๆ ให้สมบูรณ์ต่อไป อีกทั้ง ให้คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญพิจารณาถึงความจำเป็นและความคุ้มค่าที่ต้องมีองค์กรตามรัฐธรรมนูญหรือองค์กรที่ก่อตั้งขึ้นโดยอาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญ ในกรณีที่จำเป็นต้องมี ให้พิจารณามาตรการที่จะให้การดำเนินงานขององค์กรดังกล่าวเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลด้วย
รายชื่อและประวัติการทำงานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ
รัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 มาตรา 32 กำหนดให้มีคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญขึ้นคณะหนึ่งเพื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ ประกอบด้วยกรรมาธิการจำนวน 36 คน ซึ่งประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติแต่งตั้งจากบุคคลดังต่อไปนี้ 1) ประธานกรรมาธิการตามที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติเสนอ 2) ผู้ซึ่งสภาปฏิรูปแห่งชาติเสนอ จำนวน 20 คน 3) ผู้ซึ่งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ คณะรัฐมนตรี และคณะรักษาความสงบแห่งชาติเสนอฝ่ายละ 5 คน โดยมีรายชื่อคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญจำนวน 36 คน ตามประกาศสภาปฏิรูปแห่งชาติ เรื่อง การแต่งตั้งคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ดังนี้
สัดส่วนของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จำนวน 6 คน รายชื่อ รายละเอียด 1. นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ รองประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) คนที่ 1 เป็นประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ อดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ พ.ศ. 2549 อดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) พ.ศ. 2539 อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อดีตเลขาธิการคณะรัฐมนตรี อดีตเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า ปัจจุบันดำรงตำแหน่งอุปนายกราชบัณฑิตยสถานคนที่ 1 2. นายสุจิต บุญบงการ อดีตประธานสภาพัฒนาการเมืองและอดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ อดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) พ.ศ. 2539 อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 3. นายจรูญ อินทจาร อดีตประธานศาลรัฐธรรมนูญ 4. นายบรรเจิด สิงคเนติ อดีตกรรมการพิจารณาแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตามข้อเสนอของคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมืองและศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และอดีตคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ปัจจุบันเป็นคณบดีคณะนิติศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) 5. นายประสพสุข บุญเดช กรรมการกฤษฎีกาและอดีตประธานวุฒิสภา อดีตประธานศาลอุทธรณ์ 6. นายกฤต ไกรจิตติ อดีตเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย และอดีตอธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ
สัดส่วนของคณะรัฐมนตรี (ครม.) จำนวน 5 คน รายชื่อ รายละเอียด 1. นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ อดีตกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 2. นายเจษฏ์ โทณวนิก คณบดีคณะนิติศาสตร์ปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ 3. นายปกรณ์ ปรียากร อดีตกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 อดีตคณบดีคณะรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) 4. นพ.กระแส ชนะวงศ์ อดีตหัวหน้าพรรคพลังใหม่ อดีตรองหัวหน้าพรรคพลังธรรม อดีตรองหัวหน้าพรรคความหวังใหม่ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหลายสมัย และอดีตรัฐมนตรีหลายรัฐบาล 5. นายวิชัย ทิตตะภักดี สมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ อดีตกงสุลกิตติมศักดิ์สถานกงสุลสาธารณรัฐคองโกประจำประเทศไทย
สัดส่วนของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) จำนวน 20 คน 1. นายมานิจ สุขสมจิตร สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ ด้านสื่อมวลชน อดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ปี 2550 2. นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ ด้านการเมือง อดีตหัวหน้าพรรคมหาชน และอดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปัจจุบันเป็นคณบดีวิทยาลัยบริหารรัฐกิจและรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต 3. นายไพบูลย์ นิติตะวัน สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ ด้านการเมือง อดีตสมาชิกวุฒิสภา 4. นพ.ชูชัย ศุภวงศ์ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ อดีตรองประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 5. นางถวิลวดี บุรีกุล สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ ด้านการบริหารราชการแผ่นดิน และผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนา สถาบันพระปกเกล้า 6. นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ ด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม อดีตสมาชิกวุฒิสภา 7. นายจรัส สุวรรณมาลา สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ ด้านการปกครองท้องถิ่น อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และอดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ปี 2550 8. นายวุฒิสาร ตันไชย สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ ด้านการปกครองท้องถิ่น และอดีตกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า 9. นางทิชา ณ นคร สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ ด้านการศึกษา นักวิชาการด้านสิทธิเด็ก ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนชาย บ้านกาญจนาภิเษก 10. นายมีชัย วีระไวทยะ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ ด้านการศึกษา อดีต รมต. ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สมัยรัฐบาล นายอานันท์ ปันยารชุน อดีต รมช. อุตสาหกรรม สมัยรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ 11. นางนรีวรรณ จินตกานนท์ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ ด้านเศรษฐกิจ อดีตสมาชิกวุฒิสภา อดีตรองอธิการบดี สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) 12. พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวาณิช สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ ด้านพลังงาน อดีตผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก อดีต ผอ.วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร และอดีตสมาชิกวุฒิสภา 13. นายบัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ ด้านสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม ผู้อำนวยการสถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม อดีตผู้ชำนาญการในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ 14. น.ส.สุภัทรา นาคะผิว สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ ด้านสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม ผู้อำนวยการมูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ FAR และโฆษกกลุ่มคนรักประกันสุขภาพ 15. น.ส.สมสุข บุญญะบัญชา สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ ด้านสังคม อดีตผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) 16. พล.ท.นาวิน ดำริกาญจน์ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ ด้านอื่น ๆ อดีตผู้อำนวยการสำนักวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกลาโหม หัวหน้านายทหารประสานภารกิจทางทหารกับสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ ผู้ช่วยฝ่ายเสนาธิการ ประจำ รมว. กลาโหม 17. นายจุมพล สุขมั่น สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ เชียงราย อดีต กกต. จังหวัดลำปาง อดีตผู้อำนวยการสำนักงานบังคับคดี จ.เชียงราย 18. นายเชิดชัย วงศ์เสรี สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ ภูเก็ต อดีตผู้สมัครสมาชิกวุฒิสภาภูเก็ต 19. พล.ท.นคร สุขประเสริฐ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ ร้อยเอ็ด อดีตผู้บังคับการจังหวัดทหารบกร้อยเอ็ดและอดีต ผบ. กองกำลังรักษาความสงบภายใน จ. ร้อยเอ็ด 20. นายประชา เตรัตน์ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ ชลบุรี อดีตรองปลัดกระทรวงมหาดไทย อดีตผู้ว่าราชการจังหวัด
แทนตำแหน่งที่ว่างลงของนางทิชา ณ นคร นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินและตลาดทุน ปัจจุบันผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ และผู้ช่วยผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
สัดส่วนของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จำนวน 5 คน รายชื่อ รายละเอียด 1. นายดิสทัต โหตระกิตย์ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา 2. นางกาญจนารัตน์ ลีวิโรจน์ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ กรรมการกฤษฎีกา ที่ปรึกษาสำนักงานศาลปกครองและอดีตกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2550 3. นายปรีชา วัชราภัย สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และเลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) 4. นายวุฒิศักดิ์ ลาภเจริญทรัพย์ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ปัจจุบันดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง 5. พล.อ.ยอดยุทธ บุญญาธิการ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และอดีต ผบ. หน่วยบัญชาการป้องกันภัยทางอากาศ กองทัพบก
บรรณานุกรม
"กอบศักดิ์" ฉลุย นั่ง กมธ.ยกร่างฯ," เดลินิวส์ออนไลน์, (3 มีนาคม 2558), เข้าถึงจาก <http://www.dailynews.co.th/Content/politics/304983>. สืบค้นเมื่อ 22 มีนาคม 2558. “เปิดประวัติ ’36 อรหันต์’ ยกร่างรธน.,” สยามรัฐ, (5 พฤศจิกายน 2557), 2. “ประกาศสภาปฏิรูปแห่งชาติ เรื่อง การแต่งตั้งคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ,” ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 131 ตอนพิเศษ 222 ง (4 พฤศจิกายน 2557). “รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557,” ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 131 ตอนที่ 55 ก (22 กรกฎาคม 2557). “วิษณุ เครืองาม, “รัฐธรรมนูญฉบับที่ 19” เดลินิวส์ออนไลน์, (25 กรกฎาคม 2557), เข้าถึงจาก <http://m.dailynews.co.th/Article.do?contentId=254552>. สืบค้นเมื่อ 19 มีนาคม 2558. “ออกทุกตำแหน่ง! "ทิชา ณ นคร" ยื่นไขก๊อกสปช.-กมธ.ยกร่างฯ มีผล 1 มี.ค.58 นี้," มติชนออนไลน์, (28 กุมภาพันธ์ 2558), เข้าถึงจาก <http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1425094022>. สืบค้นเมื่อ 19 มีนาคม 2558.