กรอบความตกลงว่าด้วยการค้าบริการของอาเซียน

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
รุ่นแก้ไขเมื่อ 13:41, 26 ธันวาคม 2557 โดย Apirom (คุย | ส่วนร่วม)
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)

ผู้เรียบเรียง พัชร์ นิยมศิลป


ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ ศาสตราจารย์ ดร. ไชยวัฒน์ ค้ำชู



ในปลายยุคทศวรรษที่ 1990 อาเซียนได้หันมาให้ความสำคัญกับการส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจและได้มีความพยายามในการรวมกลุ่มด้านเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง หนึ่งในความพยายามในยุคนั้นก็คือกรอบความตกลงว่าด้วยการค้าบริการอาเซียน (ASEAN Framework Agreement on Services: AFAS) โดยกรอบความตกลงนี้เป็นกรอบความตกลงที่ส่งเสริมในด้านบริการของประเทศสมาชิกอาเซียนเป็นสำคัญ เพื่อให้ประเทศสมาชิกต่างๆมีประสิทธิภาพและศักยภาพในการแข่งขันด้านการค้าบริการมากขึ้นทั้งภายในและภายนอกภูมิภาค รวมถึงการลดข้อจำกัดต่างๆที่จะเป็นอุปสรรคต่อการค้าบริการระหว่างประเทศสมาชิก นอกจากนั้น AFAS ยังสอดคล้องกับข้อตกลง GATS ภายใต้กรอบการค้าขององค์การการค้าโลก (WTO) อีกด้วย ทั้งนี้ ความตกลง AFAS นั้น ถือว่าเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งที่จะทำให้บรรลุวัตถุประสงค์ของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในปี ค.ศ.2015ที่ได้ถูกกำหนดไว้ในปฏิญญาว่าด้วยความร่วมมืออาเซียนฉบับที่ 2 (Declaration of ASEAN Concord II: Bali Concord II)

ประวัติความเป็นมา

เมื่อกระแสความร่วมมือระหว่างประเทศได้หันมาให้ความสำคัญกับการการสร้างความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจ การแข่งขันด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศก็ขยายวงกว้างและทวีความสำคัญมากขึ้น จนเกิดกระแสการรวมตัวทางเศรษฐกิจทั้งในระดับโลกและระดับภูมิภาค อาทิ WTO EU NAFTA MERCOSUR APEC เป็นต้น ทั้งนี้นอกจากการรวมตัวทางเศรษฐกิจจะเพิ่มศักยภาพทางการค้าให้กับประเทศตนแล้ว การรวมตัวทางเศรษฐกิจยังเป็นเครื่องมือในการถ่วงดุลการค้ากับประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ เช่นประเทศสหรัฐอเมริกาด้วย ดังนี้อาเซียนจึงริเริ่ม[[การรวมตัวทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ผ่านความตกลงอัตราภาษีศุลกากรที่เท่ากัน]] (Common Effective Preferential Tariff: CEPT) ซึ่งนำไปสู่ การตกลงให้จัดตั้งเขตการค้าเสรีอาเซียน (ASEAN Free Trade Area: AFTA) ในการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 4 เมื่อวันที่ 27-29 มกราคม ค.ศ.1992 ที่ประเทศสิงคโปร์ โดยเป้าหมายของ AFTA คือการทำให้การค้าขายสินค้าในอาเซียนเป็นไปอย่างเสรี มีการคิดอัตราภาษีระหว่างกันในระดับที่ต่ำ และปราศจากข้อกำหนดทางการค้า อันจะส่งผลให้ประเทศสมาชิกจะมีต้นทุนการผลิตสินค้าที่ลดลง อีกทั้งเป็นการเพิ่มปริมาณทางด้านการค้าในภูมิภาคให้มีมากขึ้น ทำให้อาเซียนเป็นภูมิภาคที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วและมั่นคง

ต่อมาหลังจากได้กำหนดให้มีการจัดตั้ง AFTA ประเทศต่างๆ ในอาเซียนก็มีพัฒนาการทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้นในระดับหนึ่ง ทำให้อาเซียนได้วางแนวทางในการพัฒนาขั้นต่อไปอีก โดยขยายความร่วมมือไปสู่ภาคการบริการและการลงทุนซึ่งจะช่วยส่งเสริมให้การพัฒนาเศรษฐกิจของภูมิภาคเป็นไปอย่างรอบด้านมากขึ้น ประเทศสมาชิกจึงได้ขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจอีกสองโครงการ ประกอบด้วย 1.โครงการการเปิดเสรีด้านการค้าบริการ ภายใต้ ASEAN Framework Agreement on Services (AFAS) และ 2.โครงการเขตการลงทุนอาเซียน (AIA) ทั้งนี้ ในการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 5 ณ กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย ระหว่างวันที่ 14-15 ธันวาคม ค.ศ.1995 รัฐมนตรีเศรษฐกิจของอาเซียนทั้งเจ็ดประเทศ ซึ่งได้แก่ ประเทศอินโดนีเซีย ประเทศมาเลเซีย ประเทศฟิลิปปินส์ ประเทศเวียดนาม ประเทศสิงคโปร์ ประเทศบรูไนดารุสซาลาม และประเทศไทย ก็ได้ลงนามในกรอบความตกลงว่าด้วยการค้าบริการของอาเซียน (AFAS) อันทำให้ความตกลงดังกล่าวเริ่มมีผลใช้บังคับในปีถัดมา

เป้าหมายและวัตถุประสงค์

กรอบความตกลง AFAS นั้น ได้จัดทำขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ ส่งเสริมความร่วมมือในด้านการค้าบริการของประเทศต่างๆในอาเซียน โดยคาดหมายว่าความตกลงนี้จะทำให้การค้าบริการประสิทธิภาพมากขึ้นและความสามารถในการแข่งขันด้านบริการของอาเซียนนั้นเพิ่มขึ้น นอกจากนั้นยังมุ่งกระจายศักยภาพด้านการผลิตและการบริการของอาเซียนไปยังผู้บริโภคทั้งหลาย ทั้งภายในและภายนอกภูมิภาค รวมถึงการขจัดอุปสรรคด้านการค้าบริการต่างๆ ในประเทศสมาชิกอาเซียน

อนึ่งแม้กรอบความตกลง AFAS มีระเบียบข้อบังคับที่สอดคล้องกับระเบียบข้อบังคับของความตกลงว่าด้วยการค้าบริการภายใต้องค์การการค้าโลก (GATS) แต่ก็ยังมีข้อแตกต่างคือ กรอบความตกลง AFAS นั้นได้กำหนด แนวทางเพิ่มเติมฝ่านการขยายขอบเขตและความลึกของการเปิดเสรีการค้าบริการ ให้มีมากกว่าความตกลง GATS อีกด้วย (อาจเรียกได้ว่าเป็นความตกลง GATS Plus ตามนัยยะของ WTO) ความตกลง AFAS นั้นได้วางเป้าหมายไว้ว่าจะต้องมีการเปิดเสรีทางการค้าบริการอย่างเต็มที่ ใน 12 สาขา ในปี ค.ศ. 2015

เนื้อหาสาระ

ตลาดบริการ (Service Marketing) นั้น ถือได้ว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งต่อความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ เนื่องจากเป็นการเพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจของประเทศหรือกลุ่มประเทศต่างๆมากขึ้น กรอบความตกลง AFAS จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการก้าวไปสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) โดยกรอบความตกลงดังกล่าว ได้วางแนวทางไว้คือ ในช่วงปี ค.ศ.1996- ค.ศ.2001 จะมุ่งเน้นการเปิดเสรีในสาขาบริการ 7 ประเทศคือ สาขาการเงิน สาขาการขนส่งทางทะเล สาขาการขนส่งทางอากาศ สาขาการสื่อสารโทรคมนาคม สาขาการท่องเที่ยว สาขาการก่อสร้าง และสาขาบริการธุรกิจ ต่อมาในช่วงปี ค.ศ.2002-ค.ศ.2006 ได้มุ่งเน้นไปที่การเปิดเสรีในสาขาบริการ 5 ประเภท ได้แก่ สาขาโทรคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศ สาขาสุขภาพ สาขาการท่องเที่ยว สาขาการบิน และสาขาบริการโลจิสติกส์ อันเป็นการเตรียมความพร้อมต่อการเป็นประชาคมอาเซียนในปี ค.ศ.2015

ทั้งนี้กรอบความตกลง AFAS นั้นได้กำหนดว่า ประเทศสมาชิกทุกประเทศ จะต้องเข้าร่วมการเจรจาทุก 2 ปี ซึ่งจะมีการเจรจาไปเรื่อยๆ จนกว่าจะบรรลุถึงเป้าหมายของการเปิดตลาดการค้าและบริการในปี ค.ศ.2015 โดยรูปแบบการให้บริการนั้นจะประกอบด้วยสี่รูปแบบ ดังนี้

1.รูปแบบการบริการข้ามพรมแดน (mode1) : เป็นกรณีที่ให้บริการจากพรมแดนของประเทศหนึ่งไปยังอีกประเทศหนึ่ง โดยให้ผู้ให้บริการไม่ต้องเดินทางไปในประเทศของลูกค้า อาทิ การให้คำปรึกษาผ่านสื่อออนไลน์ การบริการการศึกษาผ่านทางไกล เป็นต้น

2.รูปแบบการบริโภคในต่างประเทศ (mode2) : เป็นกรณีการให้บริการในดินแดนของผู้ให้บริการเป็นหลัก โดยผู้บริโภคนั้นจะต้องมีการเคลื่อนย้ายไปยังประเทศผู้ให้บริการ เช่น การให้บริการด้านการท่องเที่ยว

3.รูปแบบ การจัดตั้งธุรกิจเพื่อให้บริการ (mode3) : เป็นกรณี การดำเนินธุรกิจโดยเข้าไปลงทุนจัดตั้ง ธุรกิจบริการต่างๆในประเทศลูกค้า เช่น การจัดตั้งสำนักงานสาขา การเข้าไปจัดตั้งบริษัท เป็นต้น

4.การให้บริการโดยบุคคลธรรมดา (mode4) : เป็นกรณีการเข้าไปประกอบอาชีพด้านบริการต่างๆในประเทศของลูกค้า เป็นการชั่วคราว เช่น การใช้บริการด้านกฎหมาย การให้บริการสอนภาษาภายในประเทศลูกค้า เป็นต้น นอกจากนี้ กรอบความตกลง AFAS ยัง ได้กำหนดถึงการยกเลิกข้อจำกัดที่เป็นอุปสรรคในด้านการค้าบริการด้วยคือ

:::1.ข้อจำกัดในการเข้าสู่ตลาด : กล่าวคือยกเลิก กฎหรือระเบียบต่างๆที่ประเทศสมาชิกทั้งหลายได้กำหนดขึ้น อันเป็นอุปสรรค ต่อการ เข้ามาประกอบธุรกิจและให้บริการของต่างชาติ

:::2.ข้อจำกัดในการให้การปฏิบัติเยี่ยงคนชาติ : กล่าวคือประเทศสมาชิกจะต้องปฏิบัติต่อคนต่างชาติที่เช้ามาให้บริการในประเทศตน เฉกเช่นเดียวกับคนชาติของตน โดยมีมาตรฐานเดียวกัน

บทส่งท้าย

กรอบความตกลง AFAS นั้น เป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น อย่างไรก็ดีข้อที่น่ากังวลคือวิธีการจะดำเนินการเพื่อให้บรรลุถึงเป้าหมายของกรอบความตกลง AFAS นั้น ยังไม่ชัดเจน นอกจากนั้นระดับการพัฒนาในด้านการค้าบริการของประเทศสมาชิกอาเซียนยังมีความแตกต่างกันอยู่มาก ส่งผลให้บางประเทศยังมีอุปสรรคต่างๆมากมายเป็นตัวขัดขวางในการดำเนินการดังกล่าว ยกตัวอย่างเช่น ข้อจำกัดในการเคลื่อนย้ายแรงงานฝีมือในภูมิภาค การขอวีซ่า และข้อกำหนดในเรื่องของการศึกษาและประสบการณ์ในการทำงานขั้นต่ำที่แต่ละประเทศกำหนดไว้ ซึ่งแต่ละประเทศนั้นมีมาตรฐานที่ไม่เท่ากัน หรือในเรื่องของการขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการเปิดเสรีด้านการค้าบริการที่เสมอกันระหว่างหมู่ประเทศสมาชิก ดังนั้นหากประเทศสมาชิกไม่สามารถแก้ไขอุปสรรคเหล่านี้ได้ กรอบความตกลง AFAS นั้น ก็จะไม่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพเท่าที่ควร อันจะส่งผลกระทบต่อโดยตรงต่อความแข็งแรงของเสาประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ที่จะมีขึ้นในปี ค.ศ.2015 อย่างเลี่ยงไม่ได้

เอกสารอ้างอิง

กรมอาเซียน กระทรวงการต่างประเทศ. ASEAN Mini book . กรุงเทพฯ : กรมอาเซียน กระทรวงการต่างประเทศ,2556.

กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ . 2555 . ความตกลงการค้าของอาเซียน. www.dpim.go.th/service/download?articleid=3291&F=5083 (accessed July 21 ,2014).

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ .2556. กรอบการเจรจาความตกลงการค้าบริการอาเซียน. www.thaifta.com/ThaiFTA/Portals/0/asservice_framework.pdf (accessed July 26 ,2014).

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ.2557. “AEC and Beyond.” ร่วมสร้างประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน .http://www.sc.mahidol.ac.th/ic/ASEAN/AEC%20FOCUS/จุลสารปีที่%202%20ฉบับที่%2017.pdf (accessed July 24 ,2014).

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ .AEC FACT BOOK. กรุงเทพฯ : สำนักการพิมพ์ กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ.,2554

ธัญลักษณ์ ทองร่มโพธิ์.วิเคราะห์ความตกลงว่าด้วยการลงทุนอาเซียน ค.ศ.2009 ศึกษาพัฒนาการเรื่องการเปิดเสรีการลงทุนของอาเซียนและความพร้อมของประเทศไทยในการเข้าเป็นภาคี.วิทยานิพนธ์ หลักสูตรนิติศาสตร์มหาบัณฑิต,คณะนิติศาสตร์,มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.,2554.

พัชราวลัย วงศ์บุญสิน .อาเซียนใหม่. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.,2541.

วิภานันทน์ ประสมปลื้ม . 2556. “อาเซียน : ข้อผูกพันเปิดตลาดการค้าบริการชุดที่ 8 (2).”การเมือง:ทัศนะวิจารณ์. http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/politics/opinion/wipanan/20130424/501874/อาเซียน-:-ข้อผูกพันเปิดตลาดการค้าบริการชุดที่-8-(2).html (accessed July 26 ,2014).

สมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว.2557.”สถานการณ์ปัจจุบันของการเปิดเสรีภาคบริการสาขาการท่องเที่ยว.” www.atta.or.th/Upload/News/228/Chapter_2.pdf (accessed July 22 ,2014).

สุรางค์รัตน์ แสงศรี และ ชิติพัทธ์ ชิตสกุล .2556. “ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน:มุมมองด้านการตลาดและการบัญชี.” วารสารวิชาการ วารสารเซนต์จอห์น. http://sju.ac.th/sju.journal/wp-content/uploads/2013/01/Year15Issue17Y2555section11.pdf (accessed July 22 ,2014).

สำนักกฎหมายต่างประเทศ และ สำนักงานกฤษฎีกา .2556.ความตกลงว่าด้วยการค้าบริการของอาเซียน http://asean2.zerodns2.com/index.php/blog/2013/08/aticalnew (accessed July 23 ,2014).

สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม . 2557 . ประชาคมอาเซียน. http://www.alro.go.th/alro/project/ASEAN/asean_page.html (accessed July 24 ,2014).

สำนักมาตรการทางการค้า กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ . 2557. จากเขตการค้าเสรีอาเซียนสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน. https://www.google.co.th/url?sa=t&rct=j&q=&esrc=s&source=web&cd=7&cad=rja&uact=8&ved=0CEEQFjAG&url=http%3A%2F%2Fwww.thaifranchisecenter.com%2Fdownload_file%2Fdownloading.php%3Fid%3D3699&ei=QtOnU6aTO4y0uATUt4G4BQ&usg=AFQjCNFB2-jB-j5wW7YYhe74nI0dVf0Z_Q&bvm=bv.69411363,d.c2E (accessed July 22 ,2014).

สำนักงานวิเทศสัมพันธ์ กรมโยธาธิการและผังเมือง.2555. “เขตการค้าเสรีอาเซียน.”สาระน่ารู้เกี่ยวกับอาเซียน. eservices.dpt.go.th/eservice_6/ejournal/39/39-07.pdf?journal_edition=39 (accessed July 22 ,2014).

สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร .การก้าวสู่ประชาคมอาเซียน. กรุงเทพฯ : สำนักการพิมพ์ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร.,2555.

สำนักเจรจาการค้าบริการและการลงทุน กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ . 2556. ข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับ AFAS. www.tradelogistics.go.th/download/file/204ada93.pdf (accessed July 24 ,2014).

Asian Knowledge Institute.2557.อนาคตประเทศไทยกับ TPP และ RCEP (ASEAN+6). http://www.akiedu.org/aki_talk_19122012_more.php (accessed July 25 ,2014).

Tourism Knoeledge Managament Center.2557.กรอบความตกลงอาเซียนด้านบริการ. http://www.tourismkm-asean.org/ยุทธศาสตร์ท่องเที่ยว/แผนท่องเที่ยวอาเซียน/กรอบความตกลงด้านบริการ.html (accessed July 23 ,2014).