16 กันยายน พ.ศ. 2500
ผู้เรียบเรียง ศาสตราจารย์พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต
วันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2500 เป็นวันที่จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ นำคณะทหารเข้าล้มรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม ผู้เป็นนายเก่า แต่ก็ไม่ได้ล้มเลิกรัฐธรรมนูญที่ใช้อยู่ในขณะนั้น
วันนั้นเป็นวันที่ขุนทหารชื่อ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้บัญชาการทหารบกได้นำทัพทหารเข้ายึดอำนาจล้มรัฐบาล จอมพล ป.พิบูลสงคราม ผู้เป็นนายกรัฐมนตรี
ความขัดแย้งระหว่างสองจอมพลของกองทัพไทยที่เคยเป็นนายกและลูกน้องเก่ากันมาก่อนนั้นมีเหตุมาจากการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2500 ซึ่งเป็นการเลือกตั้งที่ผู้คนในกรุงเทพฯ จำนวนมากประท้วงว่าเป็นการเลือกตั้งสกปรก
เมื่อมีผู้คนประท้วงมาก ๆ ต่อรัฐบาลใหม่ของจอมพล ป.พิบูลสงคราม ที่ตั้งขึ้นภายหลังการเลือกตั้ง จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ กับลูกน้องฝ่ายทหารก็ตีตนออกห่างจากรัฐบาลและนายเก่า โดยพากันลาออกจากพรรคการเมืองรัฐบาลคือ พรรคเสรีมนังคศิลา ทั้งยังประชุมนายทหารที่คุมกำลังยื่นคำขาดให้รัฐบาลและสมาชิกสภาลาออกและให้ผู้สนับสนุนรัฐบาลคนสำคัญ คือ พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ ผู้เป็นอธิบดีกรมตำรวจและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยลาออกและเดินทางไปอยู่ต่างประเทศ
ปรากฎว่าท่ามกลางความตึงเครียดทางการเมืองในกลางเดือนกันยายนปีนั้น คณะทหารที่นำโดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก็ได้ออกมาปฏิบัติการยึดอำนาจรัฐในเวลาห้าทุ่มของวันที่ 16 กันยายน
แต่เป็นการยึดอำนาจที่ล้มรัฐบาลและล้มสมาชิกรัฐสภา โดยไม่ได้ยกเลิกรัฐธรรมนูญที่ใช้อยู่ในขณะนั้น คือรัฐธรรมนุญฉบับ พ.ศ. 2475 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2495 แม้รัฐธรรมนูญจะยังคงใช้อยู่โดยไม่ถูกฉีก ก็ยังมีเงื่อนไขว่า
“ให้สมาชิกภาพแห่งสภาผู้แทนราษฎรของสมาชิกประเภทที่ 1 และประเภทที่ 2 สิ้นสุดลงในวันประกาศพระบรมราชโองการนี้”
นายกรัฐมนตรีตอนนั้นคือ จอมพล ป.พิบูลสงคราม ไม่ได้ลาออก แต่ได้หนีออกนอกประเทศไปทางเขมรโดยผ่านจังหวดตราด
ประเทศไทยจึงต้องหานายกรัฐมนตรีคนใหม่ ซึ่งก็ต้องเลือกเอาคนที่ต่างประเทศพอจะไว้อกไว้ใจ จะเอาทหารก็คงไม่ดี เพราะไม่มีสภาแล้ว
จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ จึงเตรียมหาตัวนายกรัฐมนตรี โดยในขั้นแรกก็ต้องจัดให้มีสภาเสียก่อน
ในวันที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2500 หลังการยึดอำนาจเพียง 2 วัน จึงได้แต่งตั้ง “สมาชิกประเภทที่ 2” จำนวน 121 คน ทำหน้าที่รัฐสภาไปก่อนที่จะมีการเลือกตั้งได้สมาชิกประเภทที่ 1 เข้ามาร่วม ถึงวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2500 ก็มีบันทึกของประเสริฐ ปัทมะสุคนธ์ เขียนเอาไว้ว่า
“...ประธานสภาได้เชิญสมาชิกสภาไปประชุมเพื่อหารือ เป็นการภายใน เพื่อเลือกสรรผู้ที่สมควรจะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ณ หอประชุมกองทัพบก ประธานสภาได้แจ้งต่อที่ประชุมว่า ผู้ที่ควรจะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีนั้น เห็นว่าควรจะเป็น นายพจน์ สารสิน ซึ่งไม่มีสมาชิกเห็นเป็นอย่างอื่น”
ประธานสภาตอนนั้นคือ พลเอกสุทธิ์ สุทธิสารรณกร
การที่ประธานสภาเห็นควรว่า นายกรัฐมนตรีต้องเป็นนายพจน์ สารสิน ก็เพราะนายพจน์ สารสิน นั้นเป็นนักการทูตเก่าเคยเป็นทูตไทยประจำสหรัฐอเมริกามาก่อน ทั้งในตอนนั้นยังเป็นเลขาธิการองค์การ สปอ. หรือซีโต้ ที่เป็นองค์กรความร่วมมือของประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กับมหาอำนาจ มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงเทพฯ จึงถือว่าเป็นบุคคลที่ต่างประเทศจะรู้จักดี ขอเอามาเป็นนายกรัฐมนตรีชั่วคราว จัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 1 เสียหน่อย
การเลือกตั้งที่กำหนดว่าจะต้องมีขึ้นภายในเวลาเก้าสิบวันจึงเกิดขึ้นในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2500 จึงเป็นว่าปี พ.ศ. 2500 มีการเลือกตั้งทั่วไปสองครั้ง คือตอนต้นปีกับปลายปี
แต่ก็เป็นการเลือกตั้งที่ผู้สมัครเข้ารับเลือกตั้งจะสังกัดพรรคการเมืองหรือไม่ก็ได้ จึงมีผู้ลงสมัครโดยไม่ต้องไปสังกัดพรรคการเมืองให้ลำบากอยู่หลายราย และผู้สมัครที่ไม่สังกัดพรรคการเมืองก็ชนะเลือกตั้งมาด้วย
พอเลือกตั้งเสร็จ นายพจน์ สารสิน นายกรัฐมนตรี ก็ขอกลับไปทำหน้าที่เป็นเลขาธิการองค์การ สปอ. ตามเดิม การเมืองนั้นก็ปล่อยให้ทหารกับนักการเมืองตกลงกันเอง และก็ได้พลโทถนอม กิตติขจร เข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีตั้งรัฐบาลสืบมา
การยึดอำนาจวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2500 นั้นมิใช่การยึดอำนาจครั้งสุดท้ายของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์