การจี้นายควง 6 เมษายน 2491

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ผู้เรียบเรียง ณัฐพล ใจจริง


ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองศาสตราจารย์นรนิติ เศรษฐบุตร และ รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต


เหตุการณ์ภายหลังการรัฐประหาร 2490

ภายหลังการรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490 แล้ว “คณะรัฐประหาร” สนับสนุนให้นายควง อภัยวงศ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี เนื่องจากเหตุผล คือ ขณะนั้น สหรัฐฯ อังกฤษและจีน ซึ่งเป็นมหาอำนาจสำคัญยังไม่รับรองรัฐบาลภายหลังการรัฐประหารที่เกิดขึ้น อีกทั้ง ภาพลักษณ์ของจอมพล ป. หัวหน้าคณะรัฐประหาร ไม่เป็นที่ยอมรับในนานาชาติเนื่องจากเขาเคยประกาศสงครามกับฝ่ายสัมพันธมิตร


เมื่อนายควงได้ก้าวขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในวันที่ 10 พฤศจิกายน สองวันภายหลังรัฐประหาร จอมพล ป. พิบูลสงคราม ในฐานะ "ผู้บัญชาการทหารแห่งประเทศไทย” และหัวหน้า “คณะรัฐประหาร” ได้ทำหนังสือมอบอำนาจให้กับนายควง ความว่า


ที่ 281/ 2490

กองบัญชาการทหารแห่งประเทศไทย
วันที่ 13 พฤศจิกายน 2490


เรื่อง ขอมอบอำนาจของคณะทหารแก่รัฐบาล

จาก ผู้บัญชาการทหารแห่งประเทศไทย

ถึง นายกรัฐมนตรี


ขอได้โปรดนำข้อความดังต่อไปนี้ เสนอต่อคณะรัฐมนตรีด้วย จะขอบคุณยิ่ง คือ การที่คณะทหาร ตำรวจและพลเรือน ได้ทำการรัฐประหารนั้นก็โดยเห็นว่า ประเทศไทยในปัจจุบันนี้ตกอยู่ในภาวะอันเสื่อมโทรมอย่างน่าสลดใจ ประชาชนส่วนใหญ่รับความทุกข์ทรมานในการครองชีพเป็นอย่างยิ่ง คนทุจริตคิดมิชอบตลอดจนบรรดาโจรผู้ร้ายก็เกิดขึ้นอย่างชุกชุม และไม่อาจแก้ไขให้บรรเทาเบาบางลงได้เป็นเหตุให้เกิดความเดือนร้อนทั่วไป บรรดาข้าราชการฝ่ายทหาร ตำรวจพลเรือน และประชาชนผู้รักชาติทั้งหลายจึงพร้อมใจกันทำรัฐประหารเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 โดยได้เข้ายึดอำนาจการปกครองของรัฐบาลไว้ด้วยความมุ่งหมายที่จะแก้ไขสถานะการณ์ให้กลับฟื้นฟูคืนสู่ความสมบูรณ์พูนสุขต่อไป


บัดนี้ การจัดการปกครองได้สำเร็จลง และประเทศไทยกำลังจะคืนเข้าสู่สภาพปกติแล้ว กล่าวคือ ได้มีกระแสพระบรมราชโองการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับชั่วคราว ได้มีประกาศพระบรมราชโองการตั้งอภิรัฐมนตรีและประกาศตั้งรัฐบาลแล้ว และเนื่องจากคณะรัฐบาลได้เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท และเข้าประจำการตามกระทรวงโดยเรียบร้อยแล้ว พร้อมที่จะดำเนินการบริหารราชการแผ่นดินตามรัฐธรรมนูญปัจุบันต่อไป


ในโอกาสนี้คณะทหาร ตำรวจ และพลเรือน จึงยินดีที่จะมอบอำนาจการปกครองแผ่นดินตามที่คณะทหาร ตำรวจ และพลเรือนยึดไว้โดยทำการรัฐประหารเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 เป็นลำดับมา และปฏิบัติอยู่ในขณะนี้ให้แก่รัฐบาลชุดปัจจุบันดำเนินการบริหารราชการแผ่นดินแทนต่อไป ตามรัฐธรรมนูญชั่วคราวเพื่อประโยชน์สุขของบรรดาข้าราชการ สมณะชีพราหมณ์ พ่อค้า ประชาชนและพสกนิกรอื่นๆ ทั้งปวงของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวให้บังเกิดสุขเสรี และจำเริญวัฒนาถาวรสืบต่อไปเป็นสำคัญ

ส่วนคณะทหาร ตำรวจ และพลเรือน จะยังทำการแต่ในด้านรักษาความสงบเรียบร้อยและเป็นกำลังอันมั่นคงของประเทศชาติอยู่ต่อไปชั่วคราวเพียงเท่านั้นที่จำเป็น โดยจะพยายามดำเนินกิจการทั้งปวงนี้ให้เข้าสู่สภาพปกติให้เร็วที่สุด

อนึ่ง สำหรับส่วนตัวข้าพเจ้านั้นขอเรียนว่า ข้าพเจ้าได้มีเจตนาอันแรงกล้าที่ใคร่จะถวายบังคมลาออกจากหน้าที่ไปพักผ่อนตามเยี่ยงพลเมืองที่ดีทั้งหลาย เพราะคิดว่า ถ้ายังรับราชการสนองพระเดชพระคุณประเทศต่อไป ก็จะเป็นช่องทางให้คนทั้งหลายเห็นได้ว่า ทำรัฐประหารร่วมกับพวกพ้องในครั้งนี้ก็เพื่อแสวงหาประโยชน์ส่วนตัวเป็นสำคัญ เป็นการขัดต่อเจตนาเดิมที่มุ่งหวังต่อประเทศชาติเท่านั้น ฉะนั้นเพื่อยืนยันความคิดเห็นดังกล่าว ข้าพเจ้าจึงจะได้กราบถวายบังคมลาออกจากหน้าที่โดยเร็วที่สุด เพื่อความสงบสุขของประเทศชาติบ้านเมืองบังเกิดขึ้น และประชาชนคลายความอดอยากลงทั่วกันแล้ว พร้อมทั้งเป็นความเห็นชอบของคณะรัฐบาลที่ทำการปกครองบ้านเมืองอยู่ในขณะนี้ด้วย


ในที่สุดนี้ ข้าพเจ้าในนามของคณะทหาร ตำรวจ และพลเรือน ขออาราธนาคุณพระศรีรัตนไตรและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายในสากลโลก ได้โปรดประสิทธิ์ประสาทความเกษมสุขศิริสวัสดิ์พัฒนมงคลแด่ประชาชนชาวไทยทั้งมวล และขอให้คณะรัฐบาลได้พูลเพิ่มด้วยเกียรติอันสูงส่ง เป็นที่นิยมและรักใคร่ผูกมิตรสนิทสนมของบรรดานานาประเทศใหญ่น้อยทั้งปวง ณ บัดนี้ เป็นต้นไป

ขอแสดงความนับถือ
(ลงชื่อ) จอมพล ป. พิบูลสงคราม




จากนั้น นายควง ในฐานะนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ได้กล่าวตอบการรับมอบอำนาจจาก”คณะรัฐประหาร” ผ่านวิทยุกระจายเสียงความว่า รัฐบาลขอบคุณ”คณะรัฐประหาร”ที่ไม่ยึดอำนาจไว้ และให้ความไว้วางใจให้บริหารประเทศ และประกาศว่า รัฐบาลเป็นอิสระจาก”คณะรัฐประหาร” จอมพล ป.และ”คณะรัฐประหาร” ไม่ต้องการเข้ามาเกี่ยวข้องในการบริหาร โดยมอบอิสระในการจัดตั้งคณะรัฐมนตรี


สำหรับคณะรัฐมนตรีชุดที่ตั้งขึ้นใหม่ภายหลังการรัฐประหาร 2490 ประกอบด้วย เหล่าเชื้อพระวงศ์ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีหลายคน เช่น หม่อมเจ้าวิวัฒน์ไชย ไชยันต์ หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช [หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช]] และ หม่อมหลวงเดช สนิทวงศ์ ส่วนขุนนางในระบอบเก่า เช่น พระยาศรีวิสารวาจา(เทียนเลี้ยง ฮุนตระกูล) รวมทั้งอดีตนักโทษการเมือง เช่น หม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร พระยาศราภัยพิพัฒน์(เลื่อน ศราภัยวานิช) เป็นต้น โดยคณะรัฐมนตรีชุดนี้ประกอบด้วยเชื้อพระวงศ์ ขุนนางระบอบเก่า และอดีตนักโทษการเมืองที่ก่อกบฎมากอย่างไม่เคยมีมาก่อน


ภายหลังจัดตั้งคณะรัฐมนตรีแล้ว รัฐบาลนายควงได้จัดการเลือกตั้งในวันที่ 29 มกราคม 2491 ขึ้น ตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2490 ผลการเลือกตั้งปรากฏว่า พรรคประชาธิปัตย์ได้รับการเลือกตั้งมากที่สุด คือ 54 คน จากจำนวน 99 คน ส่งผลให้พรรคประชาธิปัตย์เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล อย่างไรก็ตาม การบริหารงานของพรรคประชาธิปัตย์สร้างความไม่พอใจให้กับสมาชิกพรรค ทำให้เกิดความขัดแย้งภายในพรรค ดังกรณี การแบ่งสรรตำแหน่งรัฐมนตรี และได้เกิดความขัดแย้งในการแย่งชิงตำแหน่งรัฐมนตรี อันเนื่องมาจากการทุจริตในการลงคะแนนเสียงหาบุคคลที่เหมาะสมระหว่างนายชวลิต อภัยวงศ์ กับ นายกิจจา วัฒนสินธุ์ ผลการลงคะแนนปรากฏว่า นายชวลิตเป็นฝ่ายชนะ จากนั้น นายกิจจาขอลาออกจากพรรคฯ นอกจากนี้ ในเวลาต่อมา สมาชิกพรรคฯจำนวนหนึ่งที่ไม่พอใจการบริหารงานของพรรคประชาธิปัตย์ที่ได้เคยแยกตัวออกจากพรรคฯ ก่อนหน้านั้น ได้ไปรวมตัวกับพรรคประชาชนที่นำโดยนายเลียง ไชยกาล ไม่สนับสนุนนายควง เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป

จากนั้นต่อมาในปลายเดือนมกราคม 2491 รัฐบาลนายควงได้จัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญเพื่อดำเนินการฉบับใหม่เพื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับ 2492 ขึ้น ซึ่งประกอบด้วย สมาชิกที่รัฐบาลตั้งจากวุฒิสภา จำนวน 10 คน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 10 คน และจากผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสภาร่างรัฐธรรมนูญ จำนวน 20 คน โดยคณะผู้ร่างรัฐธรรมนูญนี้ประกอบด้วยสมาชิก 9 คน คือ เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ พระยาศรีวิสารวาจา พระยาเทพวิทุรพหุลศรุตาบดี พระยาอรรถการียนิพนธ์ หลวงประกอบนิติสาร หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช นายสุวิชช์ พันธเศรษฐ และนายเพียร ราชธรรมนิเทศ โดยคณะผู้ร่างรัฐธรรมนูญส่วนใหญ่เป็นขุนนางในระบอบเก่าและนักกฎหมายอนุรักษ์-กษัตริย์นิยม

ก่อนการร่างรัฐธรรมนูญใหม่จะเกิดขึ้นได้เกิดกระแสการต่อต้านรัฐบาลนายควงขึ้น ในวันที่ 13 มกราคม 2491 ได้มีการแจกจ่ายใบปลิวไปตามสถานที่ราชการ และที่สาธารณะโดยลงชื่อว่า“คณะทหาร” ภายในใบปลิวมีข้อความโจมตีนายควงต้องการทำลายจอมพล ป.ด้วยการพยายามทำให้พ้นจากตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก

ในระหว่างการร่างรัฐธรรมนูญใหม่และการจัดตั้งรัฐบาลของนายควงภายหลังการเลือกตั้ง ได้มีการแจกจ่ายใบปลิวของ “หนุ่มไทย” “คณะชาติ” และ “ทหารกองหนุน” เรียกร้องให้ประชาชนมาร่วมชุมนุมเพื่อสนับสนุนจอมพล ป. พิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรีและจัดตั้งรัฐบาลแทนพรรคประชาธิปัตย์ วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2491 การชุมนุมของประชาชนได้เกิดขึ้น การชุมนุมดังกล่าวประกอบด้วย กรรมกรท่าเรือ กรรมกรถนนตก กรรมกรมักกะสัน กรรมกรวัดพระยาไกรและยุวชนไทยได้รวมตัวกันเรียกร้องให้จอมพล ป.กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง และจัดตั้งรัฐบาลใหม่แทนพรรคประชาธิปัตย์ โดยพวกเขาได้เดินขบวนจากสนามหลวงไปยังสวนลุมพินี จากนั้นเดินต่อไปยังวังของกรมพระยาชัยนาทนเรนทร-ผู้สำเร็จราชการแต่ทรงไม่อยู่ จึงเดินต่อไปยังวังของกรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร(พระองค์เจ้าธานี)-องคมนตรีเพื่อขอให้ทรงไม่ตั้งนายควงเป็นนายกรัฐมนตรี อย่างไรก็ตาม 25 กุมภาพันธ์ 2491นายควงสามารถจัดตั้งรัฐบาลสำเร็จ ภายใต้กระแสการต่อต้านและการเรียกร้องให้จอมพลป.กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีที่ก่อตัวขึ้นอย่างชัดเจน

ปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2491 มีการรวมกลุ่มกันของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จำนวน 66 คนจากจำนวน 99 คน รวมตัวกันเป็นกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า “คณะประชาธิปไตย” ประกาศสนับสนุนจอมพล ป. เป็นนายกรัฐมนตรีแทนนายควง และแถลงนโยบายว่าจะสนับสนุนจอมพล ป. พิบูลสงครามตลอดกาล

การจี้นายควง 6 เมษายน 2491

ภายหลังการเลือกตั้งเมื่อปลายเดือนมกราคม 2491 เสร็จสิ้นลง และได้มีการจัดตั้งรัฐบาลนายควง พร้อมกับดำเนินการร่างรัฐธรรมนูญใหม่อยู่ ตลอดจนประเทศมหาอำนาจได้ให้การรับรองรัฐบาลแล้ว “คณะรัฐประหาร”ได้ดำเนินการกดดันให้นายควงลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในวันที่ 6 เมษายน 2491 ดังมีรายละเอียดต่อไปนี้

9.00 น. นายทหารบก จำนวน 4 คน ประกอบด้วย

1. พันโท ก้าน จำนงภูมิเวท

2. พันเอก ศิลป์ ศิลปศรชัย รัตนวราหะ

3. พลตรี สวัสดิ์ สวัสดิ์เกียรติ

4. พันโท ละม้าย อุทยานานนท์ มาพบนายควงที่บ้านยื่นคำขาดให้นายควง ลาออกภายใน 24 ชั่วโมง

ต่อมานายควง ส่ง พันโท รวย อภัยวงศ์ นายทหารติดต่อประจำนายกรัฐมนตรีถือจดหมายไปหาพันโท ก้าน ที่วังสวนกุหลาบ แต่ไม่พบ ต่อมาพบว่าพันโท ก้าน ไปประชุมอยู่ที่บ้านของจอมพล ป. จึงนำจดหมายไปส่ง

14.00 น. พลโท ผิน ชุนหะวัณ และพลโท กาจ กาจสงคราม ได้มาพบนายควง ยืนยันความต้องการของ “คณะรัฐประหาร” ที่ต้องการให้นายควงลาออก อย่างไรก็ตาม คำขาดของ “คณะรัฐประหาร” มิได้ทำให้นายควงยินยอมทำตามโดยทันที แต่เขาได้แสวงหาการสนับสนุนรัฐบาลจากทหารกลุ่มอื่น ด้วยการติดต่อไปยังพลเรือเอกสินธุ์ กมลนาวิน ผู้บัญชาการทหารเรือ แต่ติดต่อไม่ได้ จึงติดต่อไปยังพลอากาศเอก หลวงเทวฤทธิ์พันลึก ผู้บัญชาการทหารอากาศ แต่ไม่ได้รับการตอบรับเนื่องจากผู้บัญชการทหารอากาศจะอุปสมบท

18.00 น. นายควงเรียกประชุมคณะรัฐมนตรีเป็นการด่วนที่บ้านพัก ในการประชุมครั้งนั้นคณะรัฐมนตรีของเขา มีความเห็นเป็น 2 ทาง คือ ยอมลาออก และต่อสู้ โดยรัฐมนตรีที่สนับสนุนให้ลาออก คือ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช(รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง)ให้เหตุผลยอมรับว่า รัฐบาลไม่สามารถแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจเป็นไปดังที่”คณะรัฐประหาร”กล่าวหา ส่วนฝ่ายที่สนับสนุนให้ต่อสู้ คือ นายบุญเท่ง ทองสวัสดิ์(รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย)ให้เหตุผลว่า การกระทำของ “คณะรัฐประหาร” เป็นกบฏ แต่ท้ายสุดแล้ว นายควงเลือกการลาออกตามคำขาดของ “คณะรัฐประหาร”

ภายหลังนายควงได้ทำหนังสือลาออกเสนอต่อ กรมขุนชัยนาทนเรนทร ประธานผู้สำเร็จราชการฯ ด้วยความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างนายควง พรรคประชาธิปัตย์และกรมขุนชัยนาทนเรนทร ตั้งแต่หลังการรัฐประหาร 2490 นั้น ทรงได้ตอบกลับการลาออกของรัฐบาลนายควง ด้วยความอาลัยว่า

  1. if:
{{#if:|
border: 1px solid #AAAAAA;

}}" class="cquote"

width="20" valign="top" style="color:#B2B7F2;font-size:{{#switch: 10px=20px 30px=60px 40px=80px 50px=100px 60px=120px พระที่นั่งราชกรัณยสภา

วันที่ 8 เมษายน 2491 ถึงนายควง อภัยวงศ์

ตามหนังสือของท่านลงวันที่ 6 เมษายน 2491 บรรยายพฤติการณ์และความสัมพันธ์ที่มีมากับคณะรัฐประหาร และว่าตามพฤติการณ์ที่ได้เป็นมา รัฐบาลของท่านต้องยอมรับในข้อเท็จจริงที่ว่า รัฐบาลไม่อยู่ในฐานะที่จะควบคุมสถานการณ์ให้เป็นไปตามปกติได้สมดั่งที่ได้วางพระราชหฤทัย และด้วยเหตุนี้ จึ่งขอพระราชทานกรายถวายบังคมลาออกจากตำแหน่งทั้งคณะ ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นไป นั้น

คณะผู้สำเร็จฯได้พิจารณาแล้ว มีความเห็นอกเห็นใจในความลำบากของท่านที่มีอุปสรรคอยู่นานัปการ แต่เมื่อตามพฤติการณ์ที่เป็นอยู่ ณ บัดนี้ ทางฝ่ายรัฐบาลไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้แล้ว หากจะคงฝืนใจร้องขอให้บริหารประเทศต่อไป ก็รังแต่จะเกิดความยุ่งยากแก่บ้านเมืองยิ่งขึ้น ฉะนั้น ในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึ่งจำต้องรับใบลาของท่าน ในระหว่างที่ยังมิได้ตั้งคณะรัฐบาลขึ้นใหม่ ให้ท่านและคณะรัฐมนตรีบริหารราชการไปจนกว่าคณะรัฐมนตรีที่จะตั้งขึ้นใหม่ได้รับหน้าที่ตามความในมาตรา 78 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว

ในโอกาสเดียวกันนี้ คณะผู้สำเร็จฯ ในพระปรมาภิไธย ขอแสดงความขอบใจท่านและคณะที่ได้รับภาระเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติมาแต่หนหลัง

ลงชื่อ (รังสิต)

ประธานคณะผู้สำเร็จฯ

width="20" valign="bottom" style="color:#B2B7F2;font-size:{{#switch: 10px=20px 30px=60px 40px=80px 50px=100px 60px=120px
{{#if:|

—{{{4}}}{{#if:|, {{{5}}}}}

}}

}}



จากนั้นนายควงได้ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ว่า “บ้านเมืองไม่ใช่ของข้าพเจ้าแต่คนเดียว เมื่อมีคนดีมาเชิญ ข้าพเจ้าขอกราบลา…”

อย่างไรก็ตาม แม้นายควงจะลาออกแล้วก็ตาม แต่การดำเนินการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ที่เพิ่มอำนาจพระมหากษัตริย์ในทางการเมืองและการกีดกัน “คณะรัฐประหาร” ออกไปจากการเมืองจะคงดำเนินต่อไปได้ เนื่องจาก “คณะรัฐประหาร” มิได้ล้มเลิกรัฐธรรมนูญฉบับ 2490 ล้มเลิกรัฐสภา และด้วยสาระในรัฐธรรมนูญฉบับที่กำลังร่างขึ้นใหม่นี้ สร้างความพอให้ให้กับกลุ่มอนุรักษ์-กษัตริย์นิยมที่พึงพอใจกับโอกาสใหม่ทางการเมืองที่เกิดขึ้นมาก

สาระสำคัญในรัฐธรรมนูญใหม่หรือฉบับ 2492 มีการกำหนดกติกาและระบอบการเมืองที่เพิ่มอำนาจให้พระมหากษัตริย์ในทางการเมือง และกีดกัน “คณะรัฐประหาร” ออกไปจาการเมือง และได้ประดิษฐ์ระบอบการเมืองที่ต้องการขึ้น ด้วยการใช้คำว่า “ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตย มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข”(มาตรา 2) ขึ้น นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองการปกครองไทย นอกจากนี้ คณะผู้ร่างฯมีวัตถุประสงค์ถวายพระราชอำนาจให้เป็น“ส่วนพระองค์โดยแท้”จึงการบัญญัติข้อความในหลายมมาตราที่เพิ่มอำนาจพระมหากษัตริย์ เช่น กำหนดให้การกระทำของกษัตริย์มีอิสระตามพระราชอัธยาศัย เช่น การทรงเลือกและแต่งตั้งประธานองคมนตรีและองคมนตรีตามพระราชอัธยาศัยและให้พ้นตำแหน่งไปตามพระราชอัธยาศัย (มาตรา13,14) ให้ทรงมีอำนาจในการทรงเลือกและแต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภาจำนวน 100 คนหรือตำแหน่งทางการเมือง โดยมีเพียงประธานองคมนตรีเป็นผู้สนองพระบรมราชโองการ (มาตรา 82 ) เนื่องจากคณะผู้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว ต้องการให้วุฒิสภาเป็นตัวแทนพระมหากษัตริย์มิใช่ตัวแทนประชาชน และการบัญญัติให้พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งอำนาจในทางการเมืองเช่นนี้ ทำให้เกิดข้อถกเถียงถึงอำนาจของพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตย ภายใต้หลักการ The King Can Do No Wrong หรือ การกระทำของพระมหากษัตริย์ต้องมีผู้ลงนามสนองพระบรมราชโองการ เนื่องจาก ที่มาของประธานองคมนตรีมิได้รับผิดชอบต่อรัฐสภาแต่กลับมามีอำนาจลงนามสนองพระราชโองการในการแต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภา ซึ่งขัดแย้งต่อหลักในการปกครองระบอบประชาธิปไตย เป็นต้น

นอกจากนี้ ในบทเฉพาะกาลรัฐธรรมนูญฉบับกษัตริย์นิยมปี 2492 นี้อนุญาตให้ วุฒิสภาชุดที่กษัตริย์แต่งตั้งตามรัฐธรรมนูญฉบับก่อนหน้า(2490)สามารถดำรงตำแหน่งต่อมาได้ตามรัฐธรรมนูญฉบับ 2492 ในขณะที่กำหนดให้การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนฯเป็นไปอย่างช้าๆ มีผลทำให้วุฒิสภาคงมีจำนวนมากกว่าสมาชิกสภาผู้แทนฯ และสามารถครอบงำการใช้อำนาจของรัฐสภาได้เป็นต้น กล่าวโดยสรุป นับแต่รัฐธรรมนูญ ฉบับ 2490 และ 2492 นั้น ได้มีการบัญญัติมาตราที่เกี่ยวกับอภิรัฐมนตรี ต่อมากลายเป็นองคมนตรีซึ่งบัญญัติให้เป็นอำนาจของพระมหากษัตริย์ในการเลือกและแต่งตั้งองคมนตรีอย่างอิสระ ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญทั้งสองฉบับมีเนื้อหาสาระที่กล่าวได้ว่าเป็น “รัฐธรรมนูญกษัตริย์นิยม” เหมือนกัน ต่างแต่เพียงรัฐธรรมนูญฉบับหลังจัดรูปแบบของการใช้อำนาจของพระมหากษัตริย์ให้ลงตัวมากขึ้นเท่านั้น

ด้วยสาระที่เพิ่มอำนาจให้กับพระมหากษัตริย์ในทางการเมืองนี้ ไม่แต่เพียงถูกท้วงติงจากนักวิชาการทางรัฐศาสตร์และนักนิติศาสตร์เท่านั้น แต่ในการประชุมรัฐสภาเพื่อพิจารณารับรัฐธรรมนูญนั้น สมาชิกสภาผู้แทนฯบางท่านได้อภิปรายวิจารณ์“ระบอบซ่อนเร้น”ที่ให้อำนาจกษัตริย์มีอำนาจในทางการเมืองว่า “ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ไม่ใช่ประชาธิปไตยอันแท้จริง แต่มีลัทธิการปกครองแปลกประหลาดแทรกซ่อนอยู่ ลัทธินี้ คือ ลัทธินิยมกษัตริย์” และ “ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เขียนไว้โดยปรารถนาจะเหนี่ยวรั้งพระมหากษัตริย์ เข้ามาพัวพันกับการเมืองมากเกินไป โดยการถวายอำนาจมากกว่าเดิม … ยังงี้ไม่ใช่รัฐธรรมนูญประชาธิปไตย มันเป็นรัฐธรรมนูญพระมหากษัตริย์อย่างชัดๆทีเดียว ”

นอกจากนี้ คณะผู้ร่างฯรัฐธรรมนูญซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มอนุรักษ์-กษัตริย์นิยมและพรรคประชาธิปัตย์ได้พยายามจำกัดอำนาจของ “คณะรัฐประหาร” ที่ได้เคยร่วมมือในการรัฐประหาร 2490 ออกไปจากการเมือง ด้วยการกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญว่า ห้ามข้าราชการประจำเป็นสมาชิกวุฒิสภาและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(มาตรา79 ) และ ข้าราชการประจำเป็นรัฐมนตรีมิได้จะเป็น(มาตรา 142) ส่งผลให้นายทหารใน “คณะรัฐประหาร” ถูกกลุ่มอนุรักษ์-กษัตริย์นิยมกีดกันออกไปจากการเมือง

ด้วยเหตุนี้ รัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มอนุรักษ์-กษัตริย์นิยมที่มีอิทธิพลในวุฒิสภาและพรรคประชาธิปัตย์ที่ครองเสียงจำนวนมากในสภาผู้แทนราษฎร ได้ร่วมกันถูกผลักดันให้รัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวประกาศใช้สำเร็จในวันที่ 23 มีนาคม 2492 แม้รัฐบาลนายควงจะถูกบังคับให้ลาออกไปก่อนหน้าแล้วก็ตาม

ดังนั้น การก้าวขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีต่อมาจากรัฐบาลนายควงของจอมพล ป.-นายกรัฐมนตรีที่เคยมีบทบาทสำคัญในการปฏิวัติ 2475 ต้องเผชิญหน้ากับระบอบการเมืองภายใต้รัฐธรรมนูญ 2492 ที่เกิดขึ้นจากความร่วมมืออย่างใกล้ชิดระหว่างกลุ่มอนุรักษ์-กษัตริย์นิยมและพรรคประชาธิปัตย์ต่อไป

ในขณะที่กรมหมื่นพิทยาลาภพฤฒิยากร(พระองค์เจ้าธานี) ซึ่งต่อมาเป็นภายหลังได้รับโปรดเกล้าฯแต่งตั้งเป็นองค์มนตรี ได้ทรงเปรียบเทียบเหตุการณ์การปฏิวัติ 2475 และการรัฐประหาร 2490 ว่า เหตุการณ์แรกนำมาซึ่งความมืดมนอนธการ ในขณะที่เหตุการณ์หลังนั้นนำมาซึ่ง รุ่งอรุณแห่ง “แสงเงินแสงทอง” และพระองค์ทรงเรียกขานสภาวะการเมืองหลังการรัฐประหาร 2490 ที่เปิดโอกาสให้กับการกลับมามีอำนาจของกลุ่มอนุรักษ์-กษัตริย์นิยมว่า “วันใหม่ของชาติ”

ผลกระทบจากเหตุการณ์

การดำเนินงานที่ใกล้ชิดระหว่างกลุ่มอนุรักษ์-กษัตริย์นิยมและพรรคประชาธิปัตย์ ในการสถาปนารัฐธรรมนูญฉบับ 2492 นี้ ถือเป็นความต่อเนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับ 2490 ที่พยายามเพิ่มอำนาจทางการเมืองให้พระมหากษัตริย์ และจุดเริ่มต้นของการกำหนดให้วุฒิสภามิได้มาจากการเลือกตั้ง แต่มาจากการเลือกและแต่งตั้งโดยพระมหากษัตริย์ เป็นต้น อีกทั้งมีสร้างคำใหม่ในการเรียกระบอบประชาธิปไตยของไทยว่า“ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตย มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” ตลอดจนการรักษาองค์กรอภิรัฐมนตรีซึ่งเป็นองค์กรตามระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชต่อมา แต่เปลี่ยนชื่อเป็นองคมนตรี ซึ่งยังได้รับการสืบต่อ และปรากฏในรัฐธรรมนูญฉบับลายลักษณ์อักษรจนถึงปัจจุบัน

หนังสือแนะนำให้อ่านต่อ

“ทหารเก่า”(สละ ลิขิตกุล) (2521) เบื้องหน้า-เบื้องหลัง พรรคประชาธิปัตย์(ลับเฉพาะ-ไม่เคยมีการเปิดเผย).กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์การะเวก.

แถมสุข นุ่มนนท์ (2539) รายงานการวิจัย เรื่อง 50 ปี พรรคประชาธิปัตย์กับการเมืองไทย

สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ (2550) แผนชิงชาติไทย : ว่าด้วยรัฐและการต่อต้านรัฐสมัยจอมพล ป. พิบูล สงคราม ครั้งที่ 2 (พ.ศ.2491-2500). กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ 6 ตุลารำลึก.

สิริรัตน์ เรืองวงษ์วาร (2521) “บทบาททางการเมืองของนายควง อภัยวงศ์ ตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 - 2491”, วิทยานิพนธ์อักษรศาสตร์มหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย .


บรรณานุกรม

ดิเรก ชัยนาม (2510) ไทยกับสงครามโลกครั้งที่ 2 , พระนคร : แพร่พิทยา.

ดิเรก ชัยนาม(2493) กฎหมายรัฐธรรมนูญและการเลือกตั้งพิสดาร : คำสอนชั้นปริญญาโท พุทธศักราช 2491-2492. พระนคร:มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง,หน้า 31-32.

“ทหารเก่า”(สละ ลิขิตกุล) (2521) เบื้องหน้า-เบื้องหลัง พรรคประชาธิปัตย์(ลับเฉพาะ-ไม่เคยมีการเปิดเผย).กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์การะเวก.

ณัฐวุฒิ สุทธิสงคราม (ม.ป.ป.) นายควง อภัยวงศ์ กับพรรคประชาธิปัตย์.กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์เรืองศิลป์.

ณัฐพล ใจจริง (2551) , “ คว่ำปฏิวัติ-โค่นคณะราษฎร : การก่อตัวของ ‘ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข’ ” , ฟ้าเดียวกัน ปีที่ 6 ฉบับที่ 1 (มกราคม-มีนาคม ), หน้า 104-146.

นรนิติ เศรษฐบุตร (2530) พรรคประชาธิปัตย์ : ความสำเร็จหรือล้มเหลว , กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

สุชิน ตันติกุล (2515) รัฐประหาร พ.ศ.2490 นครหลวง : สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย.

สุชิน ตันติกุล (2517) “ผลสะท้อนทางการเมืองของรัฐประหาร พ.ศ.2490”, วิทยานิพนธ์รัฐศาสตร์ มหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

หยุด แสงอุทัย (2495) คำอธิบายรัฐธรรมนูญ พุทธศักราช 2475-2495 , พระนคร : โรงพิมพ์ชูสิน .

แถมสุข นุ่มนนท์ (2539) รายงานการวิจัย เรื่อง 50 ปี พรรคประชาธิปัตย์กับการเมืองไทย ,

มุกดา เอนกลาภากิจ (2542) “ รัฐธรรมนูญและสถาบันทางการเมือง : ศึกษารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2492” วิทยานิพนธ์นิติศาสตรมหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย .

ธงชัย วินิจจะกูล (2548) ข้ามให้พ้นประชาธิปไตยแบบหลัง 14 ตุลาคม ,กรุงเทพฯ : มูลนิธิ 14 ตุลา อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา .

พิทยลาภพฤฒิยากร,กรมหมื่น(2512) เจ็ดรอบอายุกรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร พระนคร : พระจันทร์.

ไพโรจน์ ชัยนาม (2495) คำอธิบายกฎหมายรัฐธรรมนูญเปรียบเทียบ (โดยสังเขป) เล่ม 2 กฎหมายรัฐธรรมนูญของประเทศไทย ตอนที่ 1 ,พระนคร : โรงพิมพ์อักษรนิติ .

สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ (2550) แผนชิงชาติไทย : ว่าด้วยรัฐและการต่อต้านรัฐสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ครั้งที่ 2 (พ.ศ.2491-2500). กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ 6 ตุลารำลึก.

สิริรัตน์ เรืองวงษ์วาร (2521) “บทบาททางการเมืองของนายควง อภัยวงศ์ ตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 - 2491”, วิทยานิพนธ์อักษรศาสตร์มหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย .

อนันต์ พิบูลสงคราม , พลตรี (2540) จอมพล ป. พิบูลสงคราม 2 เล่ม . กรุงเทพฯ : ตระกูลพิบูลสงคราม.

ดูเพิ่ิมเติม