ศาลโลกพิพากษาให้ปราสาทพระวิหารเป็นของกัมพูชา

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ผู้เรียบเรียง จุฬาพร เอื้อรักสกุล


ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองศาสตราจารย์นรนิติ เศรษฐบุตร และ รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต


ศาลโลกพิพากษาให้ปราสาทพระวิหารเป็นของกัมพูชา

เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2505 ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ศาลโลก) ได้มีคำพิพากษาในคดีปราสาทพระวิหารระหว่างประเทศกัมพูชากับประเทศไทย โดยให้ปราสาทพระวิหารตั้งอยู่ในอาณาเขตภายใต้อธิปไตยของกัมพูชาตามคำฟ้องของกัมพูชา การฟ้องร้องในครั้งนี้เป็นผลสืบเนื่องจากกรณีพิพาทที่มียาวนานก่อนหน้านั้นระหว่างไทยกับกัมพูชาซึ่งต่างอ้างกรรมสิทธิ์เหนือโบราณสถานแห่งนี้

ปราสาทพระวิหารสร้างขึ้นในสมัยพุทธศตวรรษที่ 15-16 ปัจจุบันอยู่ในจังหวัดเปรียะวิเฮียร (Preah Vihear) ประเทศกัมพูชา ปราสาทตั้งอยู่บนยอดเขาพระวิหารซึ่งเป็นยอดเขาหนึ่งของเทือกเขาพนมดงรักที่เป็นแนวพรมแดนระหว่างไทยกับกัมพูชา เขาพระวิหารเป็นภูเขาที่ประกอบด้วยหน้าผาสูงชันตั้งชันขึ้นไปจากที่ราบของกัมพูชา ปราสาทพระวิหารที่ตั้งอยู่บนยอดเขานี้มีลักษณะพื้นที่รูปสามเหลี่ยมคล้ายปลายหอกที่ชะโงกยื่นออกไปยังที่ราบเบื้องล่างซึ่งเป็นดินแดนกัมพูชา[1]

ก่อน พ.ศ. 2439 พื้นที่ประเทศกัมพูชาขณะนี้บางส่วนอยู่ภายใต้การปกครองของสยาม เมื่อฝรั่งเศสแผ่อำนาจมายังบริเวณอินโดจีน สยามได้เสียดินแดนกัมพูชาแก่ฝรั่งเศสหลายครั้ง คือ ใน พ.ศ. 2410 สยามทำข้อตกลงให้ฝรั่งเศสเป็นผู้อารักขา (Protectorate) ดินแดนกัมพูชายกเว้นเสียมเรียบ พระตะบอง ศรีโสภณ ใน พ.ศ. 2439 ได้เกิดวิกฤตการณ์ปากน้ำหรือวิกฤตการณ์ ร.ศ.112 สยามเสียดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงหรือดินแดนลาวกับกัมพูชาแก่ฝรั่งเศส ต่อมาใน พ.ศ. 2404 สยามทำสนธิสัญญายกหลวงพระบางกับดินแดนทางใต้ของเทือกเขาพนมดงรักแก่ฝรั่งเศสเพื่อแลกกับจันทบุรี ใน พ.ศ. 2450 สยามทำสนธิสัญญายกเสียมเรียบ พระตะบอง ศรีโสภณแก่ฝรั่งเศสเพื่อแลกกับตราดและดินแดนอีกหลายแห่งคืน สนธิสัญญาฉบับนี้เป็นที่มาของคณะกรรมการปักปันเขตแดนที่ทำแผนที่ที่กำหนดให้บริเวณที่ตั้งปราสาทพระวิหารอยู่ในด้านกัมพูชาและเป็นแผนที่ที่กัมพูชาใช้อ้างในการฟ้องคดีว่าปราสาทพระวิหารและเขาพระวิหารอยู่ในดินแดนภายใต้อธิปไตยกัมพูชา

ในปลาย พ.ศ. 2484 ได้เกิดการรบระหว่างไทยกับฝรั่งเศสและญี่ปุ่นเป็นผู้ไกล่เกลี่ยให้สงบศึก กรณีพิพาทนี้ยุติลงโดยไทยได้ดินแดนที่เคยเสียให้ฝรั่งคืนทั้งหมด แต่ไทยต้องคืนดินแดนเหล่านี้แก่กัมพูชาใน พ.ศ. 2496

ใน พ.ศ. 2492 ไทยได้เข้าครอบครองปราสาทพระวิหาร ฝรั่งเศสในฐานะประเทศที่ปกครองกัมพูชาได้ส่งหนังสือประท้วงลงวันที่ 9/2/49 ต่อทางการไทย หลังจากนั้นยังได้ส่งหนังสือทักท้วงมาอีก 3 ฉบับ ในฉบับที่ 3 ที่ส่งมาในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2496 ฝรั่งเศสอ้างว่าปราสาทพระวิหารอยู่ในเขตแดนกัมพูชาและขอให้ไทยถอนผู้ดูแลปราสาทออกไป แต่ไม่ได้รับคำตอบจากรัฐบาลไทย เมื่อกัมพูชาได้รับเอกราชสมบูรณ์ใน พ.ศ. 2496 ก็ได้ส่งผู้ดูแลไปปราสาทพระวิหารและได้พบผู้ดูแลที่เป็นคนไทยซึ่งประจำอยู่ก่อนแล้วจึงถอยออกไป รัฐบาลกัมพูชาได้มีหนังสือในเดือนมกราคม พ.ศ. 2497 เพื่อขอทราบเรื่องนี้ และอีกฉบับในมีนาคม พ.ศ. 2496 ซึ่งอ้างสิทธิของกัมพูชาตามที่ปรากฏในหนังสือของฝรั่งเศสฉบับเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2492 ทั้งหมดนี้ไม่ได้รับคำตอบจากรัฐบาลไทย อย่างไรก็ตามกัมพูชามิได้ส่งทหารเข้าไปดูและปราสาทโดยอ้างว่าไม่ต้องการให้สถานการณ์เลวร้ายลง[2]

การเจรจาระหว่างไทยกับกัมพูชาเพื่อแก้ไขปัญหาปราสาทพระวิหารมีขึ้นในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2501 โดยเป็นการเจรจาที่รวมปัญหาชายแดนและประเด็นอื่นด้วย การเจรจายุติในวันที่ 4 กันยายนต่อมาโดยบรรลุความสำเร็จในเรื่องอื่น แต่ล้มเหลวในเรื่องเขตแดนไทยกับกัมพูชาที่รวมพื้นที่เขาพระวิหารด้วย ภายหลังจากนั้น ประชาชนไทยจำนวนมากได้ชุมนุมกันที่บริเวณสนามหลวงในวันที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2501 มีการปราศรัยโจมตีรัฐบาลกัมพูชาและเคลื่อนขบวนไปสถานทูตกัมพูชาจนเกิดการปะทะกับตำรวจ ทำให้มีผู้บาดเจ็บและทรัพย์สินเสียหายและนับเป็นการชุมนุมครั้งรุนแรงที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ไทย

ความสัมพันธ์ที่ตึงเครียดนี้ทำให้กัมพูชาตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกับไทยในวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2501 แต่ได้คืนดีกันในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2502 ภายหลังจากการไกล่เกลี่ยของผู้แทนเลขาธิการสหประชาชาติ อย่างไรก็ตาม ทั้ง 2 ฝ่ายยังคงกระทบกระทั่งกันต่อมาจนวันที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2502 เมื่อกัมพูชายื่นฟ้องไทยต่อศาลโลกเพื่อให้ศาลสั่งประเทศไทยถอนทหารออกจากปราสาทพระวิหารและวินิจฉัยว่าอำนาจอธิปไตยเหนือปราสาทพระวิหารเป็นของกัมพูชา[3]

คำขอท้ายฟ้องของกัมพูชาซึ่งศาลโลกใช้เป็นฐานพิพากษามี 5 ข้อที่ขอให้ศาลพิพากษาและชี้ขาดว่า

1. แผนที่ตอนเขาดงรักถูกจัดทำในนามของคณะกรรมการปักปันเขตแดนผสมที่ตั้งขึ้นโดยสนธิสัญญาลงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2447 ด้วยความตกลงและการปฏิบัติต่อมาของภาคีในสัญญา แผนที่นี้จึงมีลักษณะเป็นสนธิสัญญาอย่างหนึ่ง

2. เส้นเขตแดนกัมพูชากับไทยในบริเวณปราสาทพระวิหารเป็นเส้นเขตแดนที่ลากไว้บนแผนที่ที่จัดทำโดยคณะกรรมการเขตแดนที่อ้างในข้อ 1.

3. ปราสาทพระวิหารตั้งอยู่ในดินแดนที่อยู่ใต้อำนาจอธิปไตยของกัมพูชา

4. ไทยต้องถอนทหารออกจากบริเวณสิ่งหักพังของปราสาทพระวิหารตั้งแต่พ.ศ. 2497

5. วัตถุต่างๆที่ไทยโยกย้ายจากปราสาทพระวิหารตั้งแต่ พ.ศ. 2497 ต้องส่งคืนแก่กัมพูชา

รัฐบาลไทยได้ตั้งทนายผู้แทนไทยที่มี มจ.วงษ์มหิป ชยางกูร เป็นตัวแทนรัฐบาลฝ่ายไทยต่อสู้คดีในขั้นแรกว่าศาลโลกไม่มีอำนาจพิจารณาคดีนี้เพราะไทยไม่เคยยอมรับอำนาจศาลใหม่ตามกฎบัตรสหประชาชาติและตามธรรมนูญศาลโลก แม้ว่าไทยเคยยอมรับเขตอำนาจศาลประจำยุติธรรมระหว่างประเทศของสันนิบาตชาติในปี พ.ศ. 2472 แต่ศาลนั้นถูกยุบเลิกไปพร้อมกับสันนิบาตชาติแล้ว ในประเด็นนี้ ศาลโลกพิพากษาโดยมติเอกฉันท์ยกคำคัดค้านของไทยและพิพากษาว่าศาลมีเขตอำนาจพิพากษาคดีนี้ได้เพราะประเทศไทยได้ทำคำประกาศรับรองเขตอำนาจศาลยุติธรรมระหว่างประเทศอย่างชัดแจ้งในวันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2493 ซึ่งเป็นการประกาศหลังจากที่ศาลประจำยุติธรรมระหว่างประเทศถูกยุบไปแล้ว

ส่วนประเด็นอื่น ฝ่ายไทยได้ต่อสู้คดีดังนี้

1. ไม่มีหลักฐานยืนยันว่า แผนที่ที่กัมพูชาอ้างถึงในคำขอท้ายฟ้องข้อที่ 1. เป็นเอกสารที่ผูกพันคู่กรณีไม่ว่าจะโดยผลของสนธิสัญญาหรือด้วยเหตุอื่นใด และไทยกับกัมพูชาไม่เคยถือว่าเป็นเส้นเขตแดนที่ลากในแผนที่นี้เป็นเส้นเขตแดนระหว่างประเทศทั้ง 2 ในบริเวณเขาดงรักเลย

2. สันปันน้ำในบริเวณดังกล่าวตรงกับขอบหน้าผารอบๆ พระวิหารเป็นส่วนใหญ่ และประกอบเป็นเส้นเขตแดนตามสนธิสัญญาในบริเวณดังกล่าวตามที่กำหนดในสนธิสัญญา พ.ศ. 2447

3. ตลอดระยะเวลาที่มีความสำคัญแก่คดีนี้ ประเทศไทยได้ใช้อำนาจอธิปไตยโดยสมบูรณ์ในบริเวณปราสาทพระวิหารแต่ผู้เดียว โดยกัมพูชาไม่มีส่วนเกี่ยวข้องด้วยเลย

ศาลโลกมีความเห็นและคำพิพากษาดังนี้

1. ศาลเห็นว่าเส้นเขตแดนระหว่างสยามกับกัมพูชาในเขตภูเขาดงรักได้ถูกกำหนดแล้วระหว่างฝรั่งเศสกับสยาม และโดยจำเพาะอำนาจอธิปไตยเหนือพระวิหารขึ้นอยู่กับสนธิสัญญาปักปันเขตแดนลงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2447 สนธิสัญญาฉบับนี้ได้นำมาซึ่งการตั้งคณะกรรมการผสมฝรั่งเศส-สยามที่มีหน้าที่ที่ระบุไว้ชัดเจนคือ การปักปัน “เขตแดน”ระหว่างสยามกับอินโดจีนฝรั่งเศส ต่อมาได้มีการทำสนธิสัญญาอีกฉบับลงวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2450 เพื่อ “ปักปันเขตแดนใหม่” และระบุด้วยว่าจะปักปันเขตแดนทั้งหมดซึ่งรวมถึงทิวเขาดงรักทั้งหมด เมื่อการปักปันเขตแดนเสร็จสิ้นแล้ว รัฐบาลสยามได้ร้องขอเป็นทางการให้ฝรั่งเศสทำแผนที่อาณาบริเวณเขตแดนนี้ขึ้น ฝรั่งเศสได้ดำเนินการและต่อมาได้ส่งแผนที่ 11 ฉบับให้รัฐบาลสยามๆได้ส่งแผนที่นี้ไปยังสถานอัครราชทูตไทยในต่างประเทศและวงการอื่นหลายแห่งในต่างประเทศ (ในแผนที่นี้ บริเวณพระวิหารทั้งหมดรวมทั้งเขตปราสาทอยู่ด้านกัมพูชา และเป็นแผนที่ที่กัมพูชายึดถือในการฟ้องคดีนี้)

ดังนั้น ศาลจึงไม่ยอมรับข้อต่อสู้ของไทยว่าแผนที่ฉบับนี้มีความผิดพลาด คือ มิได้ใช้เส้นสันปันน้ำที่แท้จริง และประเทศไทยมิได้เคยยอมรับรองแผนที่ฉบับนี้ หรือเส้นเขตแดนที่ปรากฏบนแผนที่นี้ แต่ศาลเห็นว่า การกระทำของรัฐบาลสยามดังกล่าวข้างต้นถือว่าเป็นการตอบรับทางพฤตินัยอย่างแน่ชัด ยิ่งกว่านั้น รัฐบาลสยามก็ไม่เคยคัดค้านแผนที่นี้จนถึง พ.ศ. 2501 จึงถือได้ว่า“ได้ให้ความยินยอมโดยการนิ่งเฉยแล้ว”

2. ศาลได้ตีความพฤติกรรมอื่นของไทยที่ส่งผลทางกฎหมายที่ชัดเจนคือการอ้างถึงการเสด็จเยี่ยมปราสาทพระวิหารใน พ.ศ. 2473 ของกรมพระยาดำรงราชานุภาพซึ่งดำรงตำแหน่งนายก ราชบัณฑิตสถานแห่งประเทศสยามและทรงรับหน้าที่เกี่ยวกับโบราณสถาน การเสด็จนี้ได้รับ พระบรมราชานุญาตจากพระมหากษัตริย์สยาม จึงเห็นว่ามีลักษณะกึ่งราชการ พระองค์ได้รับการต้อนรับอย่างเป็นทางการจากข้าหลวงฝรั่งเศสและมีธงชาติฝรั่งเศสชักไว้ ศาลเห็นว่า การรับเสด็จนี้เป็นการยืนยันสิทธิเหนือปราสาทพระวิหารซึ่งฝ่ายไทยมิได้ทักท้วง ทั้งเมื่อเสด็จกลับแล้วยังได้ประทานรูปถ่ายแก่ข้าหลวงฝรั่งเศสและทรงใช้ภาษาที่ดูเหมือนยอมรับการทำตนเป็นเจ้าภาพของข้าหลวงฝรั่งเศส

คำพิพากษาศาลที่ไทยต้องปฏิบัติมีดังนี้

1. โดยคะแนนเสียง 9 ต่อ 3 ให้ปราสาทพระวิหารตั้งอยู่ในอาณาเขตภายใต้อธิปไตยของกัมพูชา และประเทศไทยมีพันธะต้องถอนทหารหรือตำรวจหรือผู้ดูแลอื่นใดออกจากปราสาทหรือในบริเวณใกล้เคียงบนอาณาเขตของกัมพูชา

2. โดยคะแนนเสียง 7 ต่อ 5 ให้ประเทศไทยต้องคืนแก่กัมพูชาวัตถุที่ไทยอาจได้โยกย้ายจากปราสาทหรือบริเวณพระวิหาร

3. ในส่วนคำขอท้ายฟ้องข้อ 1 และข้อ 2 ของกัมพูชา ศาลพิพากษาว่า “จะรับฟังได้ก็แต่เพียงในฐานที่เป็นการแสดงเหตุผล และมิใช่เป็นข้อเรียกร้องที่ต้องกล่าวถึงในบทปฏิบัติการของ คำพิพากษา” จึงหมายความว่าศาลตัดสินเฉพาะตัวปราสาทพระวิหารเท่านั้น ไม่ใช่พื้นที่โดยรวมและไม่ได้ตัดสินเรื่องเส้นเขตแดนระหว่างไทยกับกัมพูชา

ในวันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2505 รัฐบาลไทยได้ส่งหนังสือประท้วงต่อนายอู ถั่น รักษาการเลขาธิการสหประชาชาติแจ้งว่าไทยจะปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาล แต่ได้ตั้งข้อสงวน “เกี่ยวกับสิทธิใดๆ ที่ประเทศไทยมีหรืออาจมีในอนาคต เพื่อเอาปราสาทพระวิหารกลับคืนมา โดยอาศัยกระบวนการกฎหมายที่มีอยู่หรือที่จะพึงนำมาใช้ได้ในภายหลัง และตั้งข้อประท้วงต่อคำพิพากษาของศาลฯ ที่ตัดสินให้ปราสาทพระวิหารเป็นของกัมพูชา”

ในส่วนการกำหนดเขตบริเวณปราสาทพระวิหาร คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2505 ให้กำหนดเป็นรูปพื้นที่สี่เหลี่ยมผืนผ้ารอบปราสาทซึ่งเป็นเนื้อที่บริเวณปราสาท ¼ ตารางกิโลเมตร กับให้ทำป้ายไม้แสดงเขตไทย-กัมพูชาและทำรั้วลวดหนาม ในวันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2505 เวลา 12.00 น. ไทยได้ทำการรื้อถอนและเคลื่อนย้ายสิ่งของของไทยจากบริเวณปราสาท ส่วนการเคลื่อนย้ายธงชาตินั้นได้ใช้วิธีชะลอเสาธงพร้อมธงชาติไทยลงมาพร้อมกัน

คำพิพากษาศาลโลกยังส่งผลสำคัญสืบเนื่องต่อมาคือ

ประการแรก ผู้นำและคนไทยทั่วไปส่วนหนึ่งมีทัศนะว่า ปราสาทพระวิหารถูกแย่งชิงไปอย่างไม่เป็นธรรม เพราะแผนที่ที่กำหนดเส้นเขตแดนบริเวณนั้นถูกกำหนดโดยฝรั่งเศสซึ่งมีความได้เปรียบทั้งเพราะความเป็นมหาอำนาจและความรู้เรื่องแผนที่ ทั้งนี้ ปรากฏจากเหตุการณ์หลัง คำพิพากษาที่มีการชุมนุมของคนไทยทั่วประเทศเพื่อประท้วงคำพิพากษา อีกทั้งผู้นำไทยก็แสดงความไม่พอใจและแสดงอารมณ์อย่างรุนแรง อาทิ นายกรัฐมนตรีจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ได้กล่าวปราศรัยทางวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยเมื่อคำวันที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2505 ตอนหนึ่งว่า “...ประชาชนชาวไทยจะระลึกอยู่เสมอว่าปราสาทพระวิหารของไทยถูกปล้นเอาไปด้วยอุปเท่ห์เล่ห์กลของคนที่ไม่รักเกียรติและไม่รักความชอบธรรม... เหตุการณ์นี้เป็นรอยจารึกอยู่ในประวัติศาสตร์ของชาติไทยตลอดไป เสมือนหนึ่งแผลเป็นที่ใจของคนไทยทั้งชาติ” และ “ข้าพเจ้ามาพูดกับท่านด้วยน้ำตา แต่น้ำตาของข้าพเจ้าเป็นน้ำตาของลูกผู้ชายของเลือดของความคั่งแค้นและการผูกใจเจ็บไปชั่วชีวิตทั้งชาตินี้และชาติหน้า...”[4]

ทัศนะและอารมณ์ดังกล่าวจะยังคงหลงเหลือต่อมาเมื่อมีปัญหาที่เกี่ยวข้องกับเรื่องปราสาทพระวิหารหรือแม้แต่ในความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชาโดยทั่วไป

ประการที่สอง มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2505 ให้ปฏิบัติตามคำพิพากษาด้วยการคืนเฉพาะตัวปราสาท โดยรัฐบาลไทยขณะนั้นและในเวลาต่อมายึดถือว่าคำพิพากษานี้มิได้ชี้ขาดในเรื่องแนวเส้นเขตแดนในบริเวณดังกล่าว แต่รัฐบาลกัมพูชาหลังจากนั้นยึดว่าศาลโลกได้พิพากษากำหนดเส้นเขตแดนบริเวณนั้นแล้ว (ตามแผนที่คณะกรรมการปักปันเขตแดนสยาม-ฝรั่งเศสที่กัมพูชาใช้ในการฟ้องคดี) การตีความคำพิพากษาต่างกันนี้ทำให้ทั้ง 2 ประเทศอ้างสิทธิในพื้นที่บริเวณใกล้ตัวปราสาททับซ้อนกัน 4.6 ตารางกิโลเมตร ซึ่งเป็นพื้นที่บริเวณเนินหรือเชิงเขาด้านทิศเหนือและทิศตะวันตกของตัวปราสาท ปัญหาเส้นเขตแดนบริเวณนี้จะส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ไทยกับกัมพูชาสืบต่อมา


อ้างอิง

  1. ศรีศักร วัลลิโภดม, “เขาพระวิหาร : ระเบิดเวลาจากยุคอาณานิคม” ใน ศรีศักร วัลลิโภดม และคณะ, เขาพระวิหาร : ระเบิดเวลาจากยุคอาณานิคม, (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มติชน, 2551), หน้า 2 – 34.
  2. ดูความเป็นมาของกรณีพิพาทได้ใน บวรศักดิ์ อุวรรณโณ, แฉเอกสาร “ลับที่สุด” ปราสาทพระวิหาร พ.ศ. 2505 – 2551, (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มติชน, 2551), หน้า 14 – 26.
  3. ดูคำฟ้องของกัมพูชาและคำพิพากษาศาลยุติธรรมระหว่างประเทศใน บวรศักดิ์ อุวรรณโณ, อ้างแล้ว, หน้า 71 – 237.
  4. ดูแถลงการณ์ของนายกรัฐมนตรี จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ใน บุญร่วม เทียมจันทร์ และคณะ, ไทยแพ้คดีเสียดินแดนให้เขมรคดีเขาพระวิหาร, (กรุงเทพฯ: บริษัทอนิเมทกรุ๊ปจำกัด, 2537), หน้า 205 – 214.