สปก. 4-01

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

บทความนี้อยู่ในระหว่างการดำเนินการตรวจสอบความถูกต้องเรียบร้อยโดยผู้ืทรงคุณวุฒิ

ผู้เรียบเรียง วีระศักดิ์ กีรติวรนันท์


ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองศาสตราจารย์นรนิติ เศรษฐบุตร และ รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต


นโยบายของรัฐบาลนายชวน หลีกภัย ที่แถลงต่อรัฐสภา เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2535 ในนโยบายเศรษฐกิจด้านการเกษตร ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาความยากจนของเกษตรกรอย่างเร่งด่วน มีนโยบายจะยกระดับรายได้ของเกษตรกรให้สูงขึ้น ประการหนึ่งคือการเร่งรัดการปฏิรูปที่ดินและการออกเอกสารสิทธิ เพื่อกระจายสิทธิการถือครองที่ดินให้กับราษฎรผู้ยากไร้และเกษตรกรที่ครอบครองที่ดินของรัฐประเภทต่างๆ ให้ได้เฉลี่ยปีละ 4 ล้านไร่

วันอาทิตย์ที่ 20 พฤศจิกายน 2537 นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบกำกับดูแลเรื่องการปฏิรูปที่ดิน ได้เป็นประธานในพิธีมอบเอกสารสิทธิ์ สปก. 4-01 ให้กับราษฎรในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตจำนวน 486 ราย พื้นที่ทั้งหมด 10,536 ไร่ 2 งาน 95 ตารางวา โดยมีคนในตระกูลเศรษฐีมีชื่อเสียงของจังหวัดภูเก็ตรวมอยู่ด้วยจำนวน 10 ราย ได้กลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ของสื่อมวลชน นักวิชาการ และประชาชนทั่วไป

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงมีคำสั่งที่ 658/2537 ลงวันที่ 29 พฤศจิกายน 2537 แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบเอกสารสิทธิ์ สปก. 4-01ที่ออกให้กับราษฎรที่จังหวัดภูเก็ต โดยคณะกรรมการฯ เดินทางไปตรวจสอบการออกเอกสารสิทธิ์ดังกล่าวที่จังหวัดภูเก็ตในวันที่ 2-4 ธันวาคม 2537 ได้ทำการตรวจสอบแบบสอบสวนสิทธิ์ สปก. 4-24ก (1) และแบบตรวจสอบระยะเวลาการถือครองที่ดิน (เพิ่มเติม) สปก. 4-24ก (2) จำนวน 73 ราย โดยวิธีการสุ่มตัวอย่างจากจำนวนทั้งหมด 480 ราย ที่สำนักงานปฏิรูปที่ดินจังหวัดภูเก็ต นอกจากนี้คณะกรรมการฯ ได้ตรวจสอบแบบสอบสวนสิทธิของบุคคลที่มีชื่อปรากฏทางสื่อมวลชนด้วย และออกสำรวจสภาพพื้นที่ทางอากาศและภาคพื้นดิน

ผลการตรวจสอบของคณะกรรมการพบว่าจากการสุ่มตัวอย่าง 73 รายพบว่ายังมีตระกูลที่มีชื่อเสียงอื่นอีกที่มีที่ดิน สปก. 4-01 แต่ไม่ได้ปรากฏชื่อทางสื่อมวลชน แต่ไม่ได้สอบสวนต่อไปเนื่องจากไม่มีเวลาเพียงพอ สำหรับตระกูลดังที่เป็นข่าวจำนวน 15 ตระกูลนั้น มี 6 ตระกูลมีที่ดิน สปก. 4-01 เกินกว่า 100 ไร่ การสรุปผลการตรวจสอบการออกเอกสารสิทธิ สปก. 4-01 จังหวัดภูเก็ต พบว่ามีปัญหา 2 ประการคือ ประการแรก พื้นที่บางจุดเป็นป่าค่อนข้างสมบูรณ์ กับประการที่สองคือ พบปัญหาในการพิจารณาการปฏิบัติ ตามระเบียบคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการคัดเลือกเกษตรกรซึ่งจะมีสิทธิ์ได้รับที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พงศ.2535 ในข้อ 6 (6) และข้อ 8 (1) รวมทั้งความหมายของคำว่า “เกษตรกร”

ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการออกเอกสารสิทธิ์ สปก. 4-01 จังหวัดภูเก็ตคือ กลุ่มการเมืองชื่อ กลุ่ม 16 ซึ่งประกอบไปด้วยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) บางส่วนจากพรรคชาติพัฒนา ซึ่งเป็นพรรคร่วมรัฐบาล กับพรรคชาติชาติไทย ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้าน ได้กล่าวหารัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ได้นำที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติ จังหวัดภูเก็ต ไปแจกจ่ายให้กับประชาชนที่มิใช่เกษตรกรอย่างไม่โปร่งใส เนื่องจากที่ดินบางส่วนเหมาะสมสำหรับทำเป็นที่พักตากอากาศมากกว่าทำเกษตรกรรม ในช่วงปลายปี 2537 พรรคร่วมฝ่ายค้านที่มีพรรคชาติไทยเป็นแกนนำได้ยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลคือ นายนิพนธ์ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กับนายสุเทพเทือกสุบรรณ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

นายสุเทพ ได้ลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการฯ ในวันที่ 7 ธันวาคม 2537 และนายนิพนธ์ ได้ลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการฯ ในวันที่ 17 ธันวาคม 2537 จึงไม่มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจในญัตติดังกล่าว อย่างไรก็ตามพรรคร่วมฝ่ายค้านได้ยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจคณะรัฐมนตรีทั้งคณะอีกครั้งหนึ่ง ในวันที่ 17-18 พฤษภาคม 2538 เพื่อจะลงมติในวันที่ 19 พฤษถาคม 2538 ต่อไป แต่หลังการอภิปรายเสร็จสิ้นลง พรรคพลังธรรม ซึ่งเป็นพรรคร่วมรัฐบาลในขณะนั้นได้เรียกประชุมพรรคเป็นการด่วน แล้วมีมติงดออกเสียง โดยรัฐมนตรีของพรรคทุกคนจะลาออกจากตำแหน่ง ด้วยเหตุผลว่ารัฐบาลไม่สามารถชี้แจงข้อกล่าวหาของพรรคฝ่ายค้านให้ชัดเจนได้ ประกอบกับสมาชิกพรรคร่วมรัฐบาล ที่เป็นสมาชิกกลุ่ม 16 ได้ประกาศจะไม่ยกมือให้ฝ่ายรัฐบาล นายชวน หลีกภัย จึงตัดสินใจประกาศยุบสภาผู้แทนราษฎร ในเวลา 12.00 น. ก่อนเวลาลงมติเพียง 1 ชั่วโมง

พ.ศ. 2552 ศาลฎีกาพิพากษาคดีที่ดิน สปก. 4-01 ที่สำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดภูเก็ต เป็นโจทก์ฟ้องขับไล่ นายทศพร เทพบุตร ซึ่งครองครองที่ดิน 99 ไร่ ออกจากพื้นที่ เนื่องจากเป็นผู้ไม่มีคุณสมบัติตามที่ พ.ร.บ.ปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมกำหนด (ซึ่งคดีนี้เป็นหนึ่งในหลายร้อยรายนับตั้งแต่เกิดกรณี สปก. 4-01) สำหรับคดีนี้นายทศพรเป็นฝ่ายชนะในศาลชั้นต้น แต่เป็นฝ่ายแพ้ในศาลอุธรณ์และศาลฎีกา สำหรับในคดี สปก. 4-01 ในจังหวัดภูเก็ต ศาลฎีกาได้ตัดสินยืนตามศาลอุธรณ์ไปแล้ว 3 คดีคือ คดีแรก นายทศพร เทพบุตร สามีของนางอัญชลี วานิข เทพบุตร นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ภูเก็ต ปัจจุบันเป็น ส.ส.แบบแบ่งเขต จังหวัดภูเก็ต พรรคประชาธิปัตย์ คดีที่สองคือ นายเจริญ ถาวรว่องวงศ์ ทายาทเศรษฐีดัง เจ้าของโรงแรมระดับห้าดาว คดีที่สามคือ นายบันลือ ตันติวิท อดีตนายก อบจ. ภูเก็ต โดยนางอรุรรัตน์ สวัสดิ์ทอง ทายาท ผู้เข้าเป็นคู่ความแทนจำเลย เนื่องจากจำเลยถึงแก่กรรมระหว่างพิจารณาคดี


ที่มา

มงคล วิเชียรชิต. (2537). การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม: ศึกษาเฉพาะกรณีการออกเอกสารสิทธิ์ สปก. 4 – 01 ที่จังหวัดภูเก็ต. รายงานประกอบวิชา ร.707, ร.708 การศึกษาเฉพาะเรื่องทางการบริหารรัฐกิจ 1, 2 หลักสูตรโครงการปริญญาโทสำหรับนักบริหาร สาขาบริหารรัฐกิจ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

http://www.alro.go.th/alro/alro_prov/template/newspaper_... (สืบค้นเมื่อ 17 ธันวาคม 2552)

http://www’news.mediathai.net/detail_news.php?newsid=24921 (สืบค้นเมื่อ 17 ธันวาคม 2552)

http://www.thaipoliticsgovernment.org/wiki/... (สืบค้นเมื่อ 21 ธันวาคม 2552)