สอย

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
รุ่นแก้ไขเมื่อ 18:01, 20 สิงหาคม 2553 โดย Teeraphan (คุย | ส่วนร่วม)
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)

“สอย”

“การสอย” คือการที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ใช้อำนาจสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่โดยมติเอกฉันท์ ภายหลังจากการที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประกาศผลการเลือกตั้งแล้วว่า ผู้ใดได้รับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภา อันมีผลทำให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาต้องพ้นจากสมาชิกภาพไป หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า ผู้นั้นถูก “สอย” จากตำแหน่ง ส.ส. หรือ ส.ว. ซึ่งสาเหตุการสอยอันเนื่องมาจาก

(1)มีการร้องคัดค้านการเลือกตั้งโดยผู้มีสิทธิเลือกตั้ง หรือผู้สมัครในการเลือกตั้ง พรรคการเมืองที่มีสมาชิกสมัครรับเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งนั้น หรือพรรคการเมืองที่เสนอบัญชีผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ เห็นว่าการเลือกตั้งของหน่วยเลือกตั้งใดในเขตเลือกตั้งนั้นมิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม และได้ยื่นคำร้องคัดค้านต่อ กกต. ภายใน 30 วันนับแต่วันประกาศผลการเลือกตั้ง แต่ถ้าจะคัดค้านเรื่องการใช้จ่ายเงินเกินกว่าที่ กกต. กำหนด ก็มีสิทธิยื่นคำร้องคัดค้านต่อ กกต. ได้ภายใน 180 วัน นับแต่วันประกาศผลการเลือกตั้ง

(2)ข้อเท็จจริงปรากฏแก่ กกต. ว่า การเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งใดมิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม และ กกต. มีมติเอกฉันท์ให้มีการเลือกตั้งใหม่ได้ (ex officio) ตามมาตรา 147 (2) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540

กกต.อาจสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่อย่างเดียว หรือสั่งเลือกตั้งใหม่และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้ถูกคัดค้านด้วยก็ได้ ในกรณีที่ กกต.มีความเห็นว่าจะเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้ถูกคัดค้าน จะต้องส่งให้คณะกรรมการตรวจสอบ หรือที่เรียกว่า การให้ “ใบแดง” ซึ่งจะต้องกระทำภายใน 1 ปี นับแต่วันประกาศผลการเลือกตั้ง

การสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ภายหลังการประกาศผลการเลือกตั้ง จะต้องตราเป็นพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้ง คือมีการเปิดรับสมัครใหม่เหมือนการเลือกตั้งทั่วไป เรียกว่า การเลือกตั้งซ่อม


รศ.ดร.กมลชัย รัตนสกาววงศ์