คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ผู้เรียบเรียง ชนิดา จรรโลงศิริชัย

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร จเร พันธุ์เปรื่อง


รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มีเจตนารมณ์หลักที่สำคัญประการหนึ่งคือ การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ โดยบัญญัติให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญที่มีอิสระมีอำนาจหน้าที่ตรวจสอบการยื่นบัญชีรายการทรัพย์สินและหนี้สินของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หากปรากฏว่าผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองผู้ใดจงใจไม่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ หรือจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบด้วยข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ ให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติเสนอเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชี้ขาด

ประวัติและความเป็นมา[1]

การป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการของประเทศไทยมีมาตั้งแต่อดีต โดยเริ่มจากมีการตรากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและปราบปรามการทุจริตคือ กฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ. 127 พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการตุลาการ พ.ศ. 2471 พระราชบัญญัติคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2476 [[พระราชกฤษฎีกาวิธีพิจารณาลงโทษข้าราชการและพนักงานเทศบาลผู้กระทำผิดหน้าที่หรือหย่อนความสามารถ พ.ศ. 2490]] พระราชบัญญัติเรื่องราวร้องทุกข์ พ.ศ. 2492

ต่อมาในปี พ.ศ. 2494 ได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการปฏิบัติราชการตามมติประชาชน (ก.ป.ช.) เพื่อรับเรื่องราวร้องทุกข์และพัฒนามาเป็นกรมตรวจราชการแผ่นดินในปี พ.ศ. 2496 แต่ได้ถูกยุบเลิกไปในปี พ.ศ. 2503 และมีการแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบเกี่ยวกับภาษีอากร (ก.ต.ภ.) ขึ้นตามพระราชบัญญัติตรวจสอบการปฏิบัติเกี่ยวกับภาษีอากรและรายได้อื่นของรัฐ พ.ศ. 2503

ภายหลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2514 ได้มีการปรับปรุงระเบียบบริหารราชการแผ่นดินใหม่ เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการบริหาร ลดการทำงานที่ซ้ำซ้อนโดยรวมงานของ คณะกรรมการตรวจสอบเกี่ยวกับภาษีอากร (ก.ต.ภ.) สำนักงานคณะกรรมการเรื่องราวร้องทุกข์และงานของผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี เข้าด้วยกันแล้วจัดตั้งเป็นสำนักงานคณะกรรมการตรวจและติดตามผลการปฏิบัติราชการ (ก.ต.ป.) ตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 314 ลงวันที่ 13 ธันวาคม 2515 มีหน้าที่ตรวจและติดตามการปฏิบัติงานตามกฎหมาย ระเบียบ แบบแผน และนโยบายของรัฐบาลรวมทั้งการสืบสวนสอบสวนเกี่ยวกับการทุจริตและประพฤติมิชอบ แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์เรียกร้องประชาธิปไตยในวันที่ 14 ตุลาคม 2516 เป็นผลให้สำนักงานคณะกรรมการตรวจและติดตามผลการปฏิบัติราชการ (ก.ต.ป.) ต้องถูกยุบเลิกไป

คณะรัฐมนตรีที่มีนายสัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี แสดงเจตจำนงที่จะป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการให้หมดสิ้นไป จึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการขึ้นโดยอาศัยอำนาจตามความใน ข้อ 9(6) แห่งประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 218 ลงวันที่ 29 กันยายน 2515 มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ แต่ไม่ทันได้เริ่มดำเนินการ นายสัญญา ธรรมศักดิ์ได้ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเสียก่อน หลังจากนั้นเมื่อได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม แต่งตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งก็ได้ปรับปรุงคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบขึ้นใหม่ จนกระทั่งได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ พ.ศ. 2518 เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2518 และตราพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 216 ลงวันที่ 29 กันยายน 2515 (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2518 จัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรีขึ้น

เมื่อได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ได้มีการกำหนดองค์กรอิสระขึ้น หนึ่งในจำนวนนั้นมีองค์กรที่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามการทุจริต เรียกว่าคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ มีสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติเป็นหน่วยธุรการที่เป็นอิสระในการบริหารงานบุคคล การงบประมาณและการดำเนินการอื่น

ต่อมาในวันที่ 17 พฤศจิกายน 2542 ได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2542 เป็นผลให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบได้ถูกยุบเลิกไป และได้มีการจัดตั้งเป็นสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติที่เรียกโดยย่อว่า “สำนักงาน ป.ป.ช.” มีชื่อภาษาอังกฤษว่า The National Counter Corruption Commission

องค์ประกอบปัจจุบัน

คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช พ.ศ. 2550 เป็นคณะบุคคลซึ่งประกอบด้วยประธานกรรมการคนหนึ่งและกรรมการอื่นอีก 8 คน[2] ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามคำแนะนำของวุฒิสภา ซึ่งผู้ได้รับการเสนอชื่อและได้รับเลือกเป็นกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติต้องเป็นผู้ซึ่งมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม

การสรรหา

การสรรหาและการเลือกกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติจะต้องคัดสรรโดยให้มีคณะกรรมการสรรหาจำนวน 5 คนประกอบด้วยประธานศาลฎีกา ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานศาลปกครองสูงสุด ประธานสภาผู้แทนราษฎร และผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ให้ประธานวุฒิสภาลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ

วาระการดำรงตำแหน่ง

กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติมีวาระการดำรงตำแหน่ง 9 ปีนับแต่วันที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งและให้ดำรงตำแหน่งได้เพียงวาระเดียว[3] กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระ ต้องปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่ากรรมการซึ่งได้รับแต่งตั้งใหม่จะเข้ารับหน้าที่

อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ[4]

อำนาจหน้าที่ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 สรุปได้ดังต่อไปนี้

(1) ไต่สวนข้อเท็จจริงและสรุปสำนวนพร้อมทั้งทำความเห็นเสนอต่อวุฒิสภา

(2) ไต่สวนข้อเท็จจริงและสรุปสำนวนพร้อมทั้งทำความเห็นเพื่อส่งไปยังอัยการสูงสุดเพื่อฟ้องคดีต่อ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

(3) ไต่สวนและวินิจฉัยว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐร่ำรวยผิดปกติ กระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำ ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการหรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม

(4) ตรวจสอบความถูกต้องและความมีอยู่จริงของทรัพย์สินและหนี้สินของเจ้าหน้าที่ของรัฐรวมทั้ง ตรวจสอบความเปลี่ยนแปลงของทรัพย์สินและหนี้สินของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

(5) กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการกำหนดตำแหน่งและชั้นหรือระดับของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่จะต้องยื่น บัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน

(6) กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของเจ้าหน้าที่ของรัฐและการ เปิดเผยบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี

(7) รายงานผลการตรวจสอบและผลการปฏิบัติหน้าที่พร้อมข้อสังเกตต่อคณะรัฐมนตรี สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา ทุกปี และนำรายงานนั้นออกพิมพ์เผยแพร่ต่อไป

(8) เสนอมาตรการ ความเห็น หรือข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรี รัฐสภา ศาล หรือคณะกรรมการตรวจ เงินแผ่นดิน เพื่อให้มีการปรับปรุงการปฏิบัติราชการ หรือวางแผนงานโครงการของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือ หน่วยงานของรัฐ เพื่อป้องกันหรือปราบปรามการทุจริตต่อหน้าที่การกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือการกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม

(9) ดำเนินการส่งเรื่องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งหรือคำพิพากษาให้ยกเลิกหรือ เพิกถอนสิทธิหรือเอกสารสิทธิที่เจ้าหน้าที่ของรัฐได้อนุมัติหรืออนุญาตให้สิทธิประโยชน์หรือออกเอกสารสิทธิแก่ บุคคลใดไปโดยมิชอบด้วยกฎหมายหรือระเบียบของทางราชการอันเป็นเหตุให้เสียหายแก่ทางราชการ

(10) ดำเนินการเพื่อป้องกันการทุจริตและเสริมสร้างทัศนคติและค่านิยมเกี่ยวกับความซื่อสัตย์สุจริต รวมทั้งดำเนินการให้ประชาชนหรือกลุ่มบุคคลมีส่วนร่วมในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต

(11) ให้ความเห็นชอบในการแต่งตั้งเลขาธิการ

(12) แต่งตั้งบุคคลหรือคณะบุคคลเพื่อปฏิบัติหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมาย

(13) ดำเนินการอื่นตามที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้บัญญัติหรือกฎหมายอื่นกำหนดให้เป็น อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ

คณะกรรมการชุดปัจจุบัน

ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 299 วรรคสองได้บัญญัติว่า “ให้...กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ...ซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ คงดำรงตำแหน่งต่อไปจนกว่าจะสิ้นสุดวาระ โดยให้เริ่มนับวาระตั้งแต่วันที่ได้รับแต่งตั้ง” [5] ทั้งนี้ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติชุดปัจจุบันประกอบด้วย ประธานกรรมการ คือ นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ และกรรมการจำนวน 8 คน คือ นายกล้านรงค์ จันทิก, นายใจเด็ด พรไชยา, นายประสาท พงษ์ศิวาภัย, ศาสตราจารย์ภักดี โพธิศิริ, ศาสตราจารย์เมธี ครองแก้ว, นายวิชา มหาคุณ, นายวิชัย วิวิตเสวี และนางสาวสมลักษณ์ จัดกระบวนพล[6]

ผลการดำเนินงาน

คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ชุดปัจจุบันเข้าปฏิบัติหน้าที่เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2549 ในขณะนั้นมีเรื่องกล่าวหาเจ้าหน้าที่ของรัฐ กระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการหรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรมและร่ำรวยผิดปกติค้างการดำเนินการเป็นจำนวนมาก แต่ด้วยเจตนาและความมุ่งมั่นในการแก้ไขปัญหาของชาติบ้านเมือง คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติจึงได้กำหนดนโยบายเร่งด่วนเพื่อเป็นมาตรการและแนวทางในการแก้ไขปัญหาเรื่องที่ค้างดำเนินการดังกล่าว รวมทั้งได้กำหนดให้การปฏิบัติงานในส่วนต่าง ๆ สามารถบูรณาการข้อมูล เพื่อนำไปใช้ในการปฏิบัติหน้าที่ ตลอดจนพัฒนาและนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่มีประสิทธิภาพสูงมาสนับสนุนการปฏิบัติงานตามภารกิจของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ปรากฏเป็นผลงานด้านต่าง ๆ เช่น ผลงานด้านปราบปรามทุจริต, ผลงานด้านตรวจสอบทรัพย์สิน, ผลงานด้านป้องกันการทุจริตและผลงานอื่น ๆ อีกมากมาย

จะเห็นได้ว่า คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติเป็นองค์กรอิสระที่ถือเป็นองค์กรสำคัญในการตรวจสอบและบังคับใช้กฎหมายให้เป็นไปตามบรรทัดฐานเพื่อสร้างระบบการตรวจสอบที่ได้ผล สนับสนุนให้กระบวนการทางการเมืองและการบริหารจัดการภาครัฐดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้เกิดการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี อำนวยประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนต่อไป


อ้างอิง

  1. สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ, (ข้อมูลออนไลน์) สืบค้นจาก http://www.nccc.thaigov.net/nccc/1.php วันที่ 21 พฤษภาคม 2552 เวลา 10.00 นาฬิกา.
  2. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550, (ข้อมูลออนไลน์)สืบค้นจาก http://www.boraiwit.ac.th/social/nccc.htm วันที่ 21 พฤษภาคม 2552 เวลา 11.00 นาฬิกา.
  3. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550, (ข้อมูลออนไลน์)สืบค้นจาก http://www.boraiwit.ac.th/social/nccc.htm วันที่ 21 พฤษภาคม 2552 เวลา 11.00 นาฬิกา.
  4. สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ, (ข้อมูลออนไลน์) สืบค้นจาก http://www.nccc.thaigov.net/nccc/1.php วันที่ 21 พฤษภาคม 2552 เวลา 10.00 นาฬิกา.
  5. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550, (ข้อมูลออนไลน์)สืบค้นจาก http://www.boraiwit.ac.th/social/nccc.htm วันที่ 21 พฤษภาคม 2552 เวลา 11.00 นาฬิกา.
  6. สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ, (ข้อมูลออนไลน์) สืบค้นจาก http://www.nccc.thaigov.net/nccc/1.php วันที่ 21 พฤษภาคม 2552 เวลา 10.00 นาฬิกา.

หนังสือแนะนำให้อ่านต่อ

สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550. กรุงเทพฯ : สำนักการพิมพ์, 2550.

วรรณรัตน์ ศรีสุขใสและคณะ. คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (คณะกรรมการ ป.ป.ช ). มหาวิทยาลัยรามคำแหง , กรุงเทพฯ , ม.ป.ป.

บรรณานุกรม

คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติกับการตรวจสอบทรัพย์สินและหนี้สินของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 295, (ข้อมูลออนไลน์) สืบค้นจาก http:/www.senate.go.th/web-senate/research48/f006.htm วันที่ 25 พฤษภาคม 2552 เวลา 13.30 นาฬิกา

บาว นาคร, บทบาทองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ 2550, (ข้อมูลออนไลน์) สืบค้นจาก http://www.oknation.net/blog/print.php?id=363791 วันที่ 25 พฤษภาคม 2552 เวลา 14.00 นาฬิกา

พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542, (ข้อมูลออนไลน์) สืบค้นจาก http://www.rd.go.th/publish/28955.0.html วันที่ 21 พฤษภาคม 2552 เวลา 14.00 นาฬิกา.

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550, (ข้อมูลออนไลน์) สืบค้นจาก http://www.boraiwit.ac.th/social/nccc.htm วันที่ 21 พฤษภาคม 2552 เวลา 11.00 นาฬิกา.

สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ, (ข้อมูลออนไลน์) สืบค้นจาก http://www.nccc.thaigov.net/nccc/1.php วันที่ 21 พฤษภาคม 2552 เวลา 10.00 นาฬิกา.

สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา, (2550) พัฒนาการองค์กรอิสระในประเทศไทย กรณีคณะกรรมการ ป.ป.ช. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์สำนักงานวุฒิสภา.

องค์กรอิสระที่เข้าทำหน้าที่รักษาการตามกฎหมายไทยว่าด้วยสิทธิมนุษยชน, (ข้อมูลออนไลน์) สืบค้นจาก http://learners.in.th/blog/rights/260924 วันที่ 26 พฤษภาคม 2552 เวลา 15.00 นาฬิกา