ปรีดี พนมยงค์
ผู้เรียบเรียง ปรียวรรณ สุวรรณสูนย์
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร จเร พันธุ์เปรื่อง
ความผันผวนทางการเมือง ส่งผลให้บุคคลสำคัญทางการเมืองในขณะนั้น มักจะอยู่ในประเทศไม่ได้ ต้องลี้ภัยไปต่างแดนและมีไม่น้อย ไม่มีโอกาสกลับมาตุภูมิตลอดชีวิต ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดในเรื่องนี้คือ นายปรีดี พนมยงค์ นายกรัฐมนตรี คนที่ 7 ของประเทศไทย ที่เผชิญมรสุมชีวิตจนต้องลี้ภัยไปอยู่ประเทศฝรั่งเศส จนกระทั่งถึงแก่อสัญกรรม ทั้งที่ท่านเป็นผู้มีคุณูปการ แต่ต้องประสบชะตากรรมร้ายแรงเป็นสิ่งตอบแทน
นายปรีดี พนมยงค์ เกิดเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2443 ณ เรือนแพ หน้าวัดพนมยงค์ ตำบลท่าวาสุกรี อำเภอกรุงเก่า จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นบุตรคนที่ 2 ของนายเสียง กับนางลูกจันทร์ พนมยงค์ มีพี่น้องทั้งหมด 8 คน สมรสกับท่านผู้หญิงพูนศุข (ณ ป้อมเพชร) พนมยงค์ ในวันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2471 มีบุตร ธิดา รวม 6 คน นายปรีดี พนมยงค์ สำเร็จการศึกษาในระดับประถมที่โรงเรียนวัดศาลาปูน อำเภอกรุงเก่า ได้เข้าศึกษาต่อชั้นมัธยมต้น ณ โรงเรียนมัธยมวัดเบญจมบพิตร มัธยมปลาย ณ โรงเรียนตัวอย่างประจำมณฑลกรุงเก่า หรือปัจจุบันคือโรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย จนสอบไล่ได้ชั้นมัธยม 6 แล้วไปศึกษาต่อในกรุงเทพฯ ณ โรงเรียนสวนกุหลาบอีก 6 เดือน จากนั้นกลับมาช่วยบิดาทำนาเป็นเวลาหนึ่งปี และจึงได้เข้าศึกษาที่โรงเรียนกฎหมาย กระทรวงยุติธรรม เมื่อปี พ.ศ. 2460 ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2462 สอบไล่วิชากฎหมายชั้นเนติบัณฑิตได้ เมื่ออายุ 19 ปี และเมื่ออายุ 20 ปี ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกเนิตบัณฑิตยสภา ได้รับทุนจากกระทรวงยุติธรรม ให้ศึกษาต่อด้านกฎหมายที่ประเทศฝรั่งเศสที่มหาวิทยาลัยกอง (University de Caen) จากนั้นศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยปารีส ได้ดุษฎีบัณฑิตทางกฎหมาย (Docteur en Droit) ฝ่ายเนติศาสตร์ และประกาศนียบัตรชั้นสูงทางเศรษฐศาสตร์ นับเป็นคนไทยคนแรกที่ได้ศึกษาต่อจนจบดุษฎีบัณฑิตด้านกฎหมายจากมหาวิทยาลัยปารีส[1]
ในระหว่างศึกษาอยู่ที่ประเทศฝรั่งเศส ในช่วงปี พ.ศ. 2466 – 2467 ได้ร่วมกับนักเรียนไทยในฝรั่งเศสกับสวิตเซอร์แลนด์ และนักเรียนไทยในประเทศอื่น ๆ ตั้งสมาคมอันหนึ่งอันเดียวกัน เรียกชื่อว่า “สามัคยานุเคราะห์สมาคม” ได้มีการพบปะพูดคุยกับนักเรียนไทยหัวก้าวหน้า จนเกิดแนวความคิดเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นประชาธิปไตยโดยคณะราษฎรในที่สุด[2]
การรับราชการ
เมื่อสำเร็จการศึกษาและเดินทางกลับประเทศไทย ขณะมีอายุได้ 26 ปี นายปรีดี พนมยงค์ ได้เข้ารับราชการเป็นผู้พิพากษาในกระทรวงยุติธรรม เมื่อปี พ.ศ. 2470 แล้ว ย้ายไปเป็นเลขานุการกรมร่างกฎหมาย และเป็นอาจารย์สอนกฎหมายปกครองในโรงเรียนกฎหมาย จนกระทั่งได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น “อำมาตย์ตรีหลวงประดิษฐ์มนูธรรม” เมื่อปี พ.ศ. 2472 ต่อมาในสมัยรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้มีการยกเลิกบรรดาศักดิ์ จึงลาออกจากบรรดาศักดิ์ และใช้นามปรีดี พนมยงค์ นับแต่นั้นมา[3]
ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี สมัยที่ 1
นายปรีดี พนมยงค์ ได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีภายหลังที่พันตรี ควง อภัยวงศ์ นายกรัฐมนตรี เกิดแพ้มติในเรื่อง “พระราชบัญญัติคุ้มครองค่าใช้จ่ายของประชาชนในภาวะคับขัน” ซึ่งรัฐบาลไม่รับ แต่สภาฯ มีมติให้รับด้วยคะแนน 65 ต่อ 63 ดังนั้น รัฐมนตรีทั้งคณะจึงกราบถวายบังคมลาออกจากตำแหน่ง เมื่อวันที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2489 ด้วยเหตุนี้ ประธานสภาผู้แทนราษฎรจึงได้แจ้งมติของที่ประชุมสภาฯ ว่าต้องการให้นายปรีดี พนมยงค์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ตามประกาศพระบรมราชโองการ วันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2489 หลังการเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแล้ว ก็ได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2489 โดยเนื้อหาสาระของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้มีการกำหนดให้สมาชิกพฤฒสภามาจากการเลือกตั้งแทนการแต่งตั้ง ภายหลังการดำเนินการเลือกตั้งสมาชิกพฤฒสภาตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญแล้ว ก็ได้มีการเปิดประชุมสภาทั้งสอง ต่อจากนั้นเพื่อจะได้ดำเนินการเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีต่อไป คณะรัฐมนตรีชุดเก่าจึงต้องออกไปตามวิถีทางแห่งรัฐธรรมนูญและมารยาททางการเมืองตามมาตรา 95 แห่งรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2489 ว่าให้คณะรัฐมนตรีซึ่งบริหารราชการแผ่นดินอยู่ก่อนวันใช้รัฐธรรมนูญนี้อยู่ในตำแหน่งเพื่อดำเนินการไปจนกว่าจะได้ตั้งคณะรัฐมนตรีขึ้นใหม่ ดังนั้น นายปรีดี พนมยงค์ พร้อมคณะรัฐมนตรีจึงได้กราบถวายบังคมลาออกตามระเบียบ เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2489 ถือเป็นการสิ้นสุดตำแหน่งนายกรัฐมนตรี[4]
ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี สมัยที่ 2
เดิมนายปรีดี พนมยงค์ ได้รับการสนับสนุนให้กลับเข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นสมัยที่ 2 เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2489 แต่ในวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489 ยังไม่ทันได้ตั้งรัฐบาลเข้ามาบริหารประเทศได้เกิดเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์คือ การเสด็จสวรรคตของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ด้วยพระแสงปืน ณ พระที่นั่งบรมพิมาน ภายในพระบรมมหาราชวัง นายปรีดี พนมยงค์ จึงแสดงความรับผิดชอบด้วยการกราบถวายบังคมลาออกจากตำแหน่ง ภายหลังการเสด็จขึ้นครองราชย์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช โดยที่ทรงเห็นว่า นายปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้สมควรไว้วางพระราชหฤทัย จึงได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง ในวันที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2489 จากกรณีที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลสวรรคตด้วยพระแสงปืน รัฐบาลจึงถูกโจมตีอย่างหนัก โดยถูกกล่าวหาว่าพยายามปิดบังและอำพรางความจริงในกรณีสวรรคต รวมทั้งไม่สามารถหาข้อเท็จจริงในการสวรรคตมาแจ้งให้ประชาชนทราบ จนเป็นที่พอใจได้ และมีการสร้างสถานการณ์ใส่ร้ายจากฝ่ายตรงข้ามโดยการอ้างคนไปตะโกนในโรงภาพยนตร์เฉลิมกรุงด้วยคำกล่าวร้ายต่อนายกรัฐมนตรีว่า “ปรีดีฆ่าในหลวง” สถานการณ์ได้รุนแรงขึ้นทุกขณะ รัฐบาลจึงได้ประกาศภาวะฉุกเฉินในวันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2489 ในที่สุดนายปรีดี พนมยงค์ จึงลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในวันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2489 ด้วยเหตุผลตรากตรำทำงานฉลองคุณประเทศชาติมาเป็นเวลาพอสมควร รู้สึกว่าสุขภาพอนามัยเสื่อมโทรมจนไม่สามารถปฏิบัติภารกิจได้เต็มที่ รวมระยะเวลาในตำแหน่ง 2 สมัย 4 เดือน 27 วัน[5]
ผลงานสำคัญ[6]
1) ด้านนิติบัญญัติและการวางรูปแบบการปกครองในระบอบประชาธิปไตย
นายปรีดี พนมยงค์ ได้รับสมญาว่าเป็นมันสมองของคณะราษฎร เป็นผู้ร่างคำประกาศในวันก่อการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง เป็นผู้ร่างหลัก 6 ประการของคณะราษฎร ท่านเป็นผู้ให้กำเนิดรัฐธรรมนูญฉบับแรกของประเทศ โดยเป็นผู้ร่างพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พ.ศ. 2475 และรัฐธรรมนูญฉบับ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 อันเป็นรัฐธรรมนูญถาวรฉบับแรกของสยาม ที่ใช้เป็นบรรทัดฐานของการปกครองในระบอบใหม่ ในขณะเดียวกัน ท่านก็ได้รับแต่งตั้งจากสภาผู้แทนราษฎรให้เป็นเลขาธิการคนแรกของสภาผู้แทนราษฎรสยาม ด้วยตำแหน่งดังกล่าวทำให้ได้วางบทบัญญัติหลักสิทธิเสรีภาพและความเสมอภาคให้แก่ราษฎร โดยเป็นผู้ยกร่างพระราชบัญญัติการเลือกตั้งฉบับแรกและเป็นผู้ริเริ่มให้สตรีมีสิทธิ์ในการออกเสียงเลือกตั้ง และสมัครรับเลือกตั้งผู้แทนราษฎรได้เช่นเดียวกับเพศชาย ยังได้สนับสนุนแนวคิดเรื่องศาลปกครองและเป็นผู้นำเอาวิชา “กฎหมายปกครอง” มาสอนเป็นคนแรก ณ โรงเรียนกฎหมายกระทรวงยุติธรรม แนวคิดดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงความต้องการให้ราษฎรสามารถตรวจสอบฝ่ายปกครองได้ มีสิทธิในทางการเมืองเท่าเทียมกับข้าราชการอย่างแท้จริง และเมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้วจึงผลักดันให้รัฐบาลยกฐานะกรมร่างกฎหมาย เพื่อสถาปนาขึ้นเป็น “คณะกรรมการกฤษฎีกา” ทำหน้าที่ยกร่างกฎหมายและเป็นที่ปรึกษากฎหมายของแผ่นดิน
ในปี พ.ศ. 2476 ได้เสนอเค้าโครงเศรษฐกิจต่อรัฐบาลเพื่อใช้เป็นนโยบายเศรษฐกิจของประเทศตามเจตนารมณ์หลัก 6 ประการของคณะราษฎร โดยดำเนินเศรษฐกิจแบบสหกรณ์ แต่ไม่ทำลายกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินของเอกชน นอกจากนี้ยังได้วางหลักการประกันสังคมคือ ให้การประกันแก่ราษฎรตั้งแต่เกิดจนตายว่า เมื่อราษฎรผู้ใดไม่ว่าจะเป็นเด็ก ผู้เจ็บป่วย พิการ หรือชรา ไม่สามารถทำงานได้ ก็จะได้รับความเลี้ยงดูจากรัฐบาล ซึ่งระบุไว้อย่างชัดเจนในหมวดที่ 3 แห่งเค้าโครงการเศรษฐกิจในชื่อร่าง พ.ร.บ. “ว่าด้วยการประกันความสุขสมบูรณ์ของราษฎร” แต่น่าเสียดายที่ความคิดดังกล่าวถูกกล่าวหาจากกลุ่มพลังเก่าของสังคมสยามในยุคนั้นว่าเป็นคอมมิวนิสต์ กว่าประเทศไทยจะยอมรับให้มีนโยบายประกันสังคมก็เป็นเวลาอีก 60 ปีต่อมา
2) ด้านการกระจายอำนาจการปกครอง
นายปรีดี พนมยงค์ สมัยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม ได้มีบทบาทสำคัญในการร่างพระราชบัญญัติระเบียบราชการบริหารแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. 2476 เพื่อให้รูปแบบและระเบียบการบริหารราชการแผ่นดินดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ มีการกระจายอำนาจการปกครองสู่ท้องถิ่นและท้องที่ คือได้ริเริ่มให้มีการจัดตั้งเทศบาลทั่วราชอาณาจักรสยาม ตาม พ.ร.บ. เทศบาล โดยมุ่งหวังในการปกครองท้องถิ่นเป็นรากฐานสำคัญของระบอบประชาธิปไตย และได้กวดขันให้มีการเลือกตั้งผู้ใหญ่บ้าน และกำนันตาม พ.ร.บ. ปกครองท้องที่ ซึ่งการปกครองแบบเทศบาลตาม พ.ร.บ. เทศบาลที่นายปรีดี พนมยงค์ ร่างขึ้นนั้น ได้ยกเทศบาลตำบลให้มีฐานะเป็นทบวงการเมือง ซึ่งมีสภาพเป็นนิติบุคคล โดยเทศบาลตำบลได้จัดระเบียบการปกครองเป็น 2 ส่วนคือ
1) สภาเทศบาลตำบลเป็นองค์การนิติบัญญัติ มีอำนาจหน้าที่ตราเทศบัญญัติ
2) คณะมนตรีตำบลเป็นองค์การบริหาร มีอำนาจหน้าที่บริหารราชการให้เป็นไปตามนโยบาย ซึ่งสภาตำบลรับรองแล้ว
อีกทั้งได้จัดตั้งกรมโยธาเทศบาลเพื่อสอดคล้องกับการปกครองเทศบาล สร้างทางในท้องที่หลายจังหวัด สร้างโรงพยาบาลแหลายแห่ง รวมทั้งจัดให้มีเรือพยาบาลตามลำน้ำโขง สร้างฝายและผนังหลายแห่งเพื่อช่วยชาวนาและเกษตรกร สร้างทัณฑนิคมเพื่อให้ผู้พ้นโทษแล้วมีที่ดินของตนเอง ฯลฯ
3) ด้านการศึกษา
ในขณะที่นายปรีดี พนมยงค์ ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยนั้น ได้สถาปนา “มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง” (มธก.) ขึ้นเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2477 ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ประศาสน์การ ตั้งแต่ พ.ศ. 2477 – 2490 คนแรกและคนเดียวของมหาวิทยาลัย เพื่อสนองเจตนารมณ์ข้อสุดท้ายของหลัก 6 ประการที่ว่า “จะต้องให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร” ด้วยเห็นว่าในขณะนั้น สถาบันการศึกษาในระดับอุดมศึกษาที่มีอยู่มิได้เปิดกว้างเพื่อคนส่วนใหญ่ ดังนั้น มหาวิทยาลัยแห่งนี้ตามแนวคิดของท่านจึงเป็นมหาวิทยาลัยที่เปิดกว้างเพื่อราษฎรให้ทุกคนมีสิทธิเสรีภาพในการศึกษาเล่าเรียนเท่าเทียมกัน ผลิตผลของมหาวิทยาลัยแห่งนี้ได้เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาระบอบประชาธิปไตยของไทย ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีบทบาทสำคัญในการต่อต้านสงคราม และต่อสู้เพื่อสันติภาพในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 มหาวิทยาลัยเป็นที่ตั้งศูนย์บัญชาการใหญ่ขององค์การต่อต้านญี่ปุ่นหรือต่อมาเรียกว่า ขบวนการเสรีไทย
4) ด้านการต่างประเทศ
เมื่อภารกิจด้านการปกครองในกระทรวงมหาดไทยเข้ารูปเข้ารอยแล้ว นายปรีดี พนมยงค์ ได้ก้าวเข้าดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ (พ.ศ. 2478 – 2481) ในเวลานั้นสยามยังอยู่ภายใต้บังคับของสนธิสัญญาระหว่างประเทศอันไม่เป็นธรรม ที่รัฐบาลสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ได้ทำไว้กับประเทศต่าง ๆ ถึง 13 ประเทศ ในนามของสนธิสัญญาทางไมตรีพาณิชย์และการเดินเรือ โดยเป็นผู้นำในการทวงอำนาจอธิปไตยของประเทศกลับคืนมา โดยยึดหลักเอกราชทั้งในทางการเมือง การศาลและเศรษฐกิจ ท่านได้ใช้ความพยายามทางการทูตเจรจาแก้ไขสนธิสัญญาไม่เสมอภาคที่สยามได้ทำไว้กับประเทศมหาอำนาจ 12 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ อังกฤษ สเปน โปรตุเกส เดนมาร์ก สวีเดน อิตาลี เบลเยี่ยม และนอร์เวย์ ซึ่งประเด็นหลักในการแก้ไขสนธิสัญญาไม่เสมอภาคมีอยู่ 2 ประเด็นคือ
1) สิทธิสภาพนอกอาณาเขต (Extra – territorialiry) คือ สิทธิพิเศษที่ชาวต่างประเทศไม่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายของประเทศที่ตนไปพำนักอยู่ แต่ปฏิบัติตามกฎหมายของประเทศที่ตนสังกัด ดังนั้น จึงไม่ขึ้นต่อศาลสยาม ทำให้สยามสูญสิ้นเอกราชในทางศาล
2) ภาษีร้อยชักสาม คือรัฐบาลสยามสามารถเรียกเก็บภาษีศุลกากรขาเข้าได้เพียงไม่เกินร้อยละ 3 เท่านั้น ทำให้สยามขาดรายได้เข้าประเทศเท่าที่ควรจะได้ นับเป็นการสูญเสียเอกราชในทางเศรษฐกิจ
ท่านได้ใช้ยุทธวิธีบอกเลิกสนธิสัญญาไม่เสมอภาคกับประเทศคู่สัญญาเหล่านั้น และได้ยื่นร่างสนธิสัญญาฉบับใหม่โดยอาศัยหลักดุลยภาพแห่งอำนาจ จนสามารถยกเลิกสนธิสัญญาดังกล่าวได้สำเร็จ ทำให้สยามได้เอกราชทางศาลและทางเศรษฐกิจกลับคืนมา มีสิทธิเสมอภาคกับนานาประเทศทุกประการ
5) ด้านการคลัง
นายปรีดี พนมยงค์ ได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (พ.ศ. 2481 – 2484) ท่านตั้งปณิธานที่จะใช้เครื่องมือทางการคลังสร้างความมั่นคงให้แก่ชาติ สร้างความเป็นธรรมและความสุขสมบูรณ์แก่ราษฎร โดยแถลงต่อรัฐสภาว่าจะปรับปรุงระบบการเก็บภาษีให้เป็นธรรมแก่สังคม และได้บรรลุภารกิจในด้านการจัดเก็บภาษีอากรที่สำคัญ ดังนี้
1) ช่วยเหลือราษฎรที่ต้องแยกรับภาษีที่ไม่เป็นธรรม ด้วยการยกเลิกเงินภาษีรัชชูปการ และอากรค่านา (เงินส่วย) ซึ่งชาวนาต้องเสียแก่เจ้าศักดินา เป็นต้น
2) จัดระบบเก็บภาษีอากรที่เป็นธรรมในระบอบประชาธิปไตย โดยสถาปนา “ประมวลรัษฎากร” (Revenue Code) เป็นแบบฉบับครั้งแรกในประเทศไทย ซึ่งรวมบทบัญญัติเกี่ยวกับภาษีอากรทางตรง
3) ออกพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ ซึ่งเป็นภาษีก้าวหน้า กล่าวคือ ผู้ใดมีรายได้มากก็เสียภาษีมาก หากมีรายได้น้อยก็เสียภาษีน้อย และผู้ใดบริโภคเครื่องบริโภคที่ไม่จำเป็นแก่การดำรงชีพก็ต้องเสียภาษีอากรมากตามลำดับ
เมื่อได้ปรับปรุงระบบภาษีอากรให้เกิดความเป็นธรรมแก่สังคมขึ้นในระดับหนึ่งแล้ว อีกทั้งระบบการเงินของประเทศก็มีความมั่นคงด้วยทุนสำรองเงินตราอันประกอบด้วยทองคำและเงินตราต่างประเทศ นายปรีดี พนมยงค์ จึงได้รื้อฟื้นเรื่องการจัดตั้งธนาคารกลางหรือธนาคารแห่งชาติ ในปี พ.ศ. 2483 หรือต่อมารู้จักกันในนาม “ธนาคารแห่งประเทศไทย” เพื่อทำหน้าที่เป็นธนาคารชาติของรัฐโดยสมบูรณ์
6) บทบาทในช่วงสงครามโลก ครั้งที่ 2
ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 จะอุบัติขึ้น นายปรีดี พนมยงค์ เล็งเห็นว่าสิทธิเผด็จการทหารกำลังจะจุดชนวนให้เกิดสงครามโลก จึงอำนายการสร้างภาพยนตร์เรื่อง พระเจ้าช้างเผือก (The King of the White Elephant) ในปี พ.ศ. 2482 เพื่อสื่อทัศนะสันติภาพและคัดค้านการทำสงครามผ่านไปยังนานาประเทศ ยิ่งไปกว่านั้น ท่านยังสื่อให้เห็นว่าชาวสยามพร้อมที่จะต่อสู้เพื่อต่อต้านสงครามรุกรานอย่างมีศักดิ์ศรี
ปลายปี พ.ศ. 2484 กองทัพญี่ปุ่นเปิดแนวรบในสงครามมหาเอเชียบูรพาเพื่อครอบความเป็นมหาอำนาจในเอเซีย มีการส่งกองกำลังภาคพื้นดินบุกเข้าประเทศไทย รัฐบาลไทยภายใต้การนำของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ตกลงทำสัญญาเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่นและร่วมประกาศสงครามกับฝ่ายสัมพันธมิตรอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2485 ฝ่ายประเทศอังกฤษจึงประกาศสงครามกับไทยเพื่อเป็นการตอบโต้ อย่างไรก็ตาม นายปรีดี พนมยงค์ ในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในรัชกาลที่ 8 ไม่เห็นด้วยกับการให้ญี่ปุ่นละเมิดอธิปไตย จึงได้มีการจัดตั้งองค์การต่อต้านญี่ปุ่น หรือเรียกว่า “ขบวนการเสรีไทย” ดังนั้น ท่านในฐานะหัวหน้าเสรีไทย ในรหัสนามว่า “รูธ” (Ruth) ต้องทำงานในลักษณะใต้ดินที่ปิดเป็นความลับตลอดเวลา 3 ปีกว่าของสงครามมหาเอเชียบูรพา ทั้งนี้ เพื่อให้ภารกิจของเสรีไทยบรรลุเป้าหมาย คือ
1) ต่อสู้กับญี่ปุ่นผู้รุกราน
2) ปฏิบัติการให้ฝ่ายสัมพันธมิตรรับรองเจตนารมณ์ที่แท้จริงของราษฎรไทย
3) ให้สัมพันธมิตรรับรองว่าประเทศไทยไม่ตกเป็นฝ่ายแพ้สงครามร่วมกับญี่ปุ่น
ภายหลังที่ญี่ปุ่นยอมแพ้สงครามอย่างไม่มีเงื่อนไข ฝ่ายสัมพันธมิตรจึงได้แจ้งให้นายปรีดี พนมยงค์ว่า สัมพันธมิตรไม่ถือว่าประเทศไทยเป็นผู้แพ้สงคราม ไม่ต้องถูกยึดครอง ท่านจึงได้แถลงการณ์ปฏิเสธการประกาศสงครามระหว่างไทยกับสัมพันธมิตร เพื่อลบล้างข้อผูกพันที่รัฐบาลไทยได้เคยทำไว้กับญี่ปุ่น ส่งผลให้ประเทศไทยสามารถแก้ไขสถานะผู้แพ้สงครามได้สำเร็จอย่างละมุนละม่อม ทั้งยังเข้าเป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติได้อย่างเต็มภาคภูมิ
ด้วยคุณูปการที่เป็นผู้นำในการกอบกู้บ้านเมืองในยามคับขัน ทำงานอันเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติ ทั้งในทางการเมือง การปกครอง การต่างประเทศ การเศรษฐกิจ และการศึกษา ฯลฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ยกย่องนายปรีดี พนมยงค์ ไว้ในฐานะ “รัฐบุรุษอาวุโส” ถือเป็นรัฐบุรุษอาวุโสคนแรกของประเทศไทย อันเป็นเกียรติยศที่ทางราชการมอบให้ เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2488
การลี้ภัยทางการเมือง
ภายหลังที่นายปรีดี พนมยงค์ ได้ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี หลังจากเหตุการณ์สวรรคต รัชกาลที่ 8 พลเรือตรีถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ จึงได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มนายปรีดี ให้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีแทน ต่อมาในวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 ได้เกิดการรัฐประหารโดยการนำของพลโทผิณ ชุณหะวัณ ทำการยุดอำนาจการปกครองประเทศ และคณะรัฐประหารได้พยายามจับกุมนายปรีดี พนมยงค์กับครอบครัว แต่ทว่าสามารถหลบหนีทันแล้วเดินทางออกนอกประเทศไปยังประเทศสิงคโปร์ประมาณ 2 ปี จากนั้นได้ลี้ภัยต่อไปที่สาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นเวลาประมาณ 21 ปี (พ.ศ. 2492 – 2513) และได้ไปใช้ชีวิตในวัยชราที่ประเทศฝรั่งเศสตั้งแต่ปี พ.ศ. 2513 เป็นต้นมา นายปรีดี พนมยงค์ ได้ถึงแก่อสัญกรรมด้วยโรคหัวใจวาย เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2526 รวมอายุได้ 83 ปี [7]
ถึงแม้ว่าท่านจะเป็นบุคคลที่การเมืองไทยไม่ต้องการ แต่ในสายตาประชาคมโลกแล้ว นายปรีดี พนมยงค์ นับเป็นบุคคลสำคัญคนหนึ่ง จากบทบาทต่าง ๆ ที่ทำให้โลกรู้จัก ไม่ว่าจะการเป็นหัวหน้าคณะราษฎรสายพลเรือนในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง การเป็นหัวหน้าขบวนการเสรีไทยในสงครามโลกครั้งที่ 2 การเป็นนายกรัฐมนตรี นอกจากนั้น ภายหลังจากการลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อปี พ.ศ. 2489 ท่านได้เดินทางไปต่างประเทศหลายประเทศในฐานะทูตสันถวไมตรีของประเทศ รวมทั้งไปเยือนองค์การสหประชาชาติ ทำให้ชื่อเสียงของนายปรีดี พนมยงค์เป็นที่รู้จักทั่วไปในสังคมโลก
ท่านเคยกล่าวประโยคที่สรุปจากบทเรียนชีวิตของตัวเองเป็นวาจาอมตะว่า “เมื่อข้าพเจ้ามีอำนาจ ก็ไม่มีความเจนจัด แต่เมื่อข้าพเจ้ามีความเจนจัด ก็ไม่มีอำนาจ” และในโอกาสครบรอบ 100 ปี ชาตกาล องค์การยูเนสโกได้ประกาศให้นายปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโสแห่งประเทศไทย เป็นบุคคลสำคัญของโลก เมื่อปี พ.ศ. 2543[8]
อ้างอิง
- ↑ วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี. “ปรีดี พนมยงค์”. (ระบบออนไลน์) http://th.wikipedif.org/wiki/ปรีดี_พนมยงค์ (สืบค้น ณ วันที่ 25 กรกฎาคม 2552)
- ↑ ธนากิต (นามแฝง). “ประวัตินายกรัฐมนตรีไทย”. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ปิรามิด, 2545, หน้า 172.
- ↑ เรื่องเดียวกัน หน้า 173 – 174.
- ↑ เรื่องเดียวกัน หน้า 183 – 188.
- ↑ เรื่องเดียวกัน หน้า 189 – 191.
- ↑ วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี. “เรื่องเดิม”. (ระบบออนไลน์) http://th.wikipedia.org/
- ↑ สถาบันปรีดี พนมยงค์. “ปฏิทินชีวิตนายปรีดี พนมยงค์”. (ระบบออนไลน์) http://www.pridiinstitute.com/autopage/print.php?h=49&s_id=page=3 (สิบค้น ณ วันที่ 3 สิงหาคม 2552)
- ↑ วีรชาติ ชุ่มสนิท. “24 นายกรัฐมนตรีไทย”. กรุงเทพฯ : ออลบุ๊คส์พับลิชชิ่ง, 2549, หน้า 62 – 63.
หนังสือแนะนำให้อ่านต่อ
เฉลิมเกียรติ ผิวนวล, (2527) “ความคิดทางการเมืองของปรีดี พนมยงค์”. กรุงเทพฯ : สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
ทิพวรรณ เจียมธีรสกุล, (2531) “ปฐมทัศน์ทางการเมืองของปรีดี พนมยงค์”. กรุงเทพฯ : อักษรสาส์น.
จรัล กิษฐาอภิชัย, (2543) “ปรีดี พนมยงค์ กับมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง”. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
นาวี รังสิวรารักษ์, (2544) “รัฐบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ ปรีดี พนมยงค์”. กรุงเทพฯ : ดับเบิ้ลนายน์.
พัชรินทร์ สิรสุนทร, (2543) “รัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์”. กรุงเทพฯ : สุขภาพใจ.
มรกต เจงจินดา, (2543) “ภาพลักษณ์ปรีดี พนมยงค์ กับการเมืองไทย พ.ศ. 2475 – 2526”. กรุงเทพฯ : โครงการหอจดหมายเหตุธรรมศาสตร์
ไสว สุทธิพิทักษ์, (2526) “ดร.ปรีดี พนมยงค์”. กรุงเทพฯ : บพิธการพิมพ์.
อรุณ เวชสุวรรณ, (2526) “รัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ : บิดาแห่งระบอบประชาธิปไตยของไทย”. กรุงเทพฯ : อรุณวิทยา.
บรรณานุกรม
ธนากิต (นามแฝง), (2545) “ประวัตินายกรัฐมนตรีไทย”. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ปิรามิด.
วีรชาติ ชุ่มสนิท, (2549) “24 นายกรัฐมนตรีไทย”. กรุงเทพฯ : ออลบุ๊คส์พับลิชชิ่ง.