พลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ผู้แต่ง : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อรรถสิทธิ์ พานแก้ว

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต


พลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์

“ผมนอนคอยปฏิวัติอยู่ ทำไมไม่เห็นมีอะไรเกิดขึ้น”[1]


หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์

 

          “รัฐมนตรีลิ้นทอง” หรือ “นายกลิ้นทอง” เป็นฉายาของพลเรือตรีถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 8 ของไทย ที่เริ่มต้นเส้นทางการเมืองจากการเป็นหนึ่งในกลุ่มแกนนำของผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎรใน พ.ศ. 2475 ในขณะที่มียศเป็นนายเรือเอกแห่งกองทัพเรือ หลังจากนั้นจึงได้มาเข้าร่วมเป็นรัฐมนตรีของหลายรัฐบาล ก่อนจะก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในท้ายที่สุดหลังจากนายปรีดี พนมยงค์ ลาออกจากตำแหน่ง เมื่อ พ.ศ. 2489 และสิ้นสุดตำแหน่งทางการเมืองเมื่อเกิดการรัฐประหารใน พ.ศ. 2490[2]

 

ประวัติการศึกษาและชีวิตครอบครัว[3]

          พลเรือตรีถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ เดิมชื่อ ถวัลย์ ธารีสวัสดิ์ เกิดเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2444 ที่ตำบลหัวรอ อำเภอรอบกรุง หรือพระนครศรีอยุธยาในปัจจุบัน เป็นบุตรคนที่สองของนายอู๋ กับนางเงิน ธารีสวัสดิ์

          หลวงธำรงฯ เริ่มการศึกษาที่โรงเรียนตัวอย่างประจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมื่อ พ.ศ. 2453 จนจบการศึกษาชั้นต้น จากนั้นจึงเดินทางเข้ามาศึกษาที่พระนคร ที่โรงเรียนวัดเทพศิรินทร์ ใน พ.ศ. 2460 ต่อมาในพ.ศ. 2461 เข้าโรงเรียนฝึกหัดครู เรียนอยู่ได้ระยะหนึ่ง เมื่อรู้ว่าไม่ชอบจึงเปลี่ยนมาสมัครสอบเข้าโรงเรียนนายเรือในปี พ.ศ. 2463 จนจบการศึกษาใน พ.ศ. 2467

          หลังจบการศึกษาจากโรงเรียนนายเรือ ได้เข้ารับราชการที่กรมเสนาธิการทหารเรือ จนเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2464 จึงได้รับยศเป็นนักเรียนนายเรือ ต่อมาใน พ.ศ. 2466 ได้ติดยศสัญญาบัตรเป็นนายเรือตรี ก่อนจะเลื่อนเป็นนายเรือโท จนกระทั่งเป็นนายเรือเอกใน พ.ศ. 2472 และได้รับพระราชทานทินนามเป็นหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ ใน พ.ศ. 2475

          ในช่วงรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม เมื่อ พ.ศ. 2484 มีการประกาศยกเลิกบรรดาศักดิ์ หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์จึงขอลาออกจากบรรดาศักดิ์ แต่ขอพระราชทานราชทินนามมาเป็นนามสกุล จึงใช้นามสกุลธำรงนาวาสวัสดิ์ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

 

หน้าที่การงานและตำแหน่งทางการเมืองที่สำคัญ[4]

          หลังจากเข้าร่วมเป็นแกนนำสำคัญในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ทำให้หลวงธำรงฯ มีชีวิตและหน้าที่การงานทั้งในด้านราชการและด้านการเมืองที่ค่อนข้างก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว โดยชีวิตราชการได้รับพระราชทานยศนาวาตรีใน พ.ศ. 2477 และอีกสี่ปีต่อมาคือใน พ.ศ. 2481 ได้ยศเป็นนาวาเอก และ พ.ศ. 2486 ครองยศเป็นพลเรือตรี

          ในด้านตำแหน่งทางการเมือง หลวงธำรงฯ มีความก้าวหน้าอย่างรวดเร็วเช่นกัน โดยได้รับการแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทสองหรือเทียบเท่ากับวุฒิสมาชิกในปัจจุบัน หลังจากพระยาพหลพลพยุหเสนาได้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี และจัดตั้งรัฐบาลใน พ.ศ. 2476 หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ก็ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีและยังดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะรัฐมนตรีในปีดังกล่าวอีกด้วย จากนั้นได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2478

          เมื่อพระยาพหลพลพยุหเสนาลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ซึ่งในขณะนั้นครองยศนาวาเอก ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในสมัยรัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงคราม เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2481 และยังร่วมรัฐบาลของ จอมพล ป. ไปจนถึง พ.ศ. 2487 และหลังจากจอมพล ป. พิบูลสงครามลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี นาวาเอกธำรงนาวาสวัสดิ์ก็ต้องพ้นจากการเป็นรัฐมนตรีไปเช่นกัน

          เนื่องด้วยหลวงธำรงฯ ค่อนข้างมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับนายปรีดี พนมยงค์ แกนนำคนสำคัญของคณะราษฎรสายพลเรือน เมื่อพ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีหลังสิ้นสุดรัฐบาลของ จอมพล ป. แล้ว หลวงธำรงฯ ก็หันมาจัดตั้งพรรคแนวรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นพรรคการเมืองที่สนับสนุนนายปรีดี พนมยงค์อย่างเต็มที่ โดยหลวงธำรงฯ ดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้าพรรคและมีสมาชิกในสังกัดพรรคเป็นจำนวนมาก ต่อมาเมื่อนายปรีดี พนมยงค์เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 24_มีนาคม_พ.ศ._2489 หลวงธำรงฯก็ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม จนกระทั่งนายปรีดีลาออกจากตำแหน่งเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2489 หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ ซึ่งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมในรัฐบาลของนายปรีดี ก็ได้รับความไว้วางใจจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรให้ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 8 ของประเทศไทย เมื่อวันที่ 23_สิงหาคม_พ.ศ._2489

          ต่อมาเมื่อเผชิญหน้ากับวิกฤตทางการเมืองจนนำไปสู่การอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลของหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์อย่างรุนแรงโดยพรรคประชาธิปัตย์ ถึงแม้ผลการลงมติรัฐบาลจะเป็นฝ่ายชนะ แต่เมื่อประชาชนดูจะมีแนวโน้มเชื่อข้อกล่าวหาของฝ่ายค้าน ทำให้หลวงธำรงฯแสดงมารยาททางการเมืองด้วยการลาออกจากตำแหน่งในวันที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2490 ซึ่งสภาผู้แทนราษฎรก็มีมติให้กลับเข้ามาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง ในวันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2490

          แต่ถึงแม้จะได้มีโอกาสกลับเข้ามาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นสมัยที่สอง แต่รัฐบาลของหลวงธำรงฯ ก็ยังประสบกับปัญหาด้านการบริหารอย่างหนักหน่วงต่อเนื่อง บรรยากาศทางการเมืองในช่วงเวลาดังกล่าวเต็มไปด้วยข่าวลือเรื่องการทำรัฐประหารจากกลุ่มอำนาจเก่าหรือจากทหารกลุ่มอื่น ๆ จนในที่สุดเมื่อถึงคืนวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 ก็เกิดการทำรัฐประหารโค่นล้มรัฐบาลของหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ในที่สุด การรัฐประหารครั้งนั้นนำโดยจอมพลผิน ชุณหะวัณ พันเอกกาจ กาจสงคราม พันเอกสฤษดิ์ ธนะรัชต์ พันเอกเผ่า ศรียานนท์ พันโทถนอม กิตติขจร พันโทประภาส จารุเสถียร ร้อยเอกชาติชาย ชุณหะวัณ โดนมี จอมพล ป. พิบูลสงครามเป็นผู้นำอยู่เบื้องหลัง

          หลังจากที่การทำรัฐประหารประสบผลสำเร็จ หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ไปหลบซ่อนตัวอยู่ที่สถานทูตแห่งหนึ่ง และหลังจากนั้นเดินทางลี้ภัยไปอาศัยอยู่ที่เกาะฮ่องกง แต่หลังจากเหตุการณ์สงบก็สามารถเดินทางกลับมายังประเทศไทยได้ ซึ่งแตกต่างจากนักการเมืองคนอื่น ๆ เช่น นายปรีดี พนมยงค์ ที่เมื่อลี้ภัยไปอาศัยอยู่ในต่างประเทศแล้วก็ไม่มีโอกาสได้กลับมายังประเทศไทยอีกจนเสียชีวิต

         

ผลงานที่สำคัญในทางการเมือง[5]

          หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์มีบทบาทสำคัญในทางการเมืองของไทย คือการเข้าร่วมในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ต่อมาเมื่อทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองสำเร็จ หลวงธำรงฯ จึงเข้าไปดำรงตำแหน่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนประเภทสอง และได้เข้าร่วมในคณะรัฐมนตรีเป็นครั้งแรกในสมัยรัฐบาลของนายพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา ด้วยการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และต่อมาในสมัยรัฐบาลของนายปรีดี พนมยงค์ จึงได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กระทั่งใน พ.ศ. 2489 ก็ได้ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 8 ของประเทศไทย ต่อจากนายปรีดี พนมยงค์ เมื่อวันที่ ๒๓ สิงหาคม พ.ศ. 2489 ต่อมาต้องลงจากตำแหน่งเนื่องจากถูกทำรัฐประหารโดยการนำของจอมพล ผิน ชุณหะวัณ ซึ่งการสิ้นสุดอำนาจของหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์นั้นนับได้ว่ามีความสำคัญยิ่ง เพราะนับเป็นการสิ้นสุดลงของอำนาจฝ่ายคณะราษฎร และหลังจากนั้นอำนาจทางการเมืองก็ตกไปอยู่ในมือของเผด็จการทหารอย่างยาวนาน

          ผลงานที่สำคัญในด้านอื่น ๆ ของหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ก็เช่นการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประเทศที่กำลังทรุดหนักในช่วงเวลาดังกล่าว ด้วยการจัดตั้ง “องค์การสรรพาหาร” ขึ้น โดยการซื้อของแพงมาขายในราคาถูกให้แก่ประชาชนเพื่อตรึงราคาไม่ให้สูงมากจนเกินไป นอกจากนี้ยังมีการออกนโยบายเรียกเก็บธนบัตรที่ฝ่ายสัมพันธมิตรนำเข้ามาใช้จากประชาชนด้วยการออกธนบัตรใหม่ให้แลก รวมทั้งนำเอาทองคำซึ่งเป็นทุนสำรองของชาติออกมาขายให้แก่ประชาชน

          ส่วนฉายาของหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ที่ว่า “รัฐมนตรีลิ้นทอง” หรือ “นายกลิ้นทอง” นั้นมีสาเหตุมาจากการอภิปรายในสภา ซึ่งตัวของหลวงธำรงฯ เองมีความสามารถในการอภิปรายประเด็นต่าง ๆ ในสภาได้อย่างมีวาทศิลป์ เฉียบคม และสามารถยกประเด็นขึ้นมาอธิบายหรือหักล้างข้อกล่าวหาของสมาชิกที่ไม่เห็นด้วยหรือพรรคฝ่ายค้านได้เสมอ ตั้งแต่สมัยที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีในกระทรวงต่างๆ จนถึงตอนที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

          หลังจากที่หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ลี้ภัยจากการทำรัฐประหารไปอาศัยอยู่ในต่างประเทศได้ระยะหนึ่ง ก็กลับมาอาศัยอยู่ที่เมืองไทยกับครอบครัว จนกระทั่งถึงแก่อสัญกรรม เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2531 ด้วยวัย 87 ปี ปิดตำนานนายกรัฐมนตรีฉายานายกลิ้นทองผู้ที่มีวาทศิลป์เป็นเลิศ และเป็นนักการเมืองคนสำคัญของฝ่ายคณะราษฎรลง

 

บรรณานุกรม

สงบ สุริยินทร์, ประวัตินายกรัฐมนตรี, (กรุงเทพฯ: ประจักษ์วิทยา, ไม่ปรากฎปีที่พิมพ์)

วีรชาติ ชุ่มสนิท, 24 นายกรัฐมนตรีไทย, (กรุงเทพฯ: ออลบุ๊คส์พับลิชชิ่ง, 2549)

         

อ้างอิง

[1] วีรชาติ ชุ่มสนิท, 24 นายกรัฐมนตรีไทย, (กรุงเทพฯ: ออลบุ๊คส์พับลิชชิ่ง, 2549), น. 72. 

[2] วีรชาติ ชุ่มสนิท, 24 นายกรัฐมนตรีไทย, (กรุงเทพฯ: ออลบุ๊คส์พับลิชชิ่ง, 2549), น. 68.

[3] วีรชาติ ชุ่มสนิท, 24 นายกรัฐมนตรีไทย, (กรุงเทพฯ: ออลบุ๊คส์พับลิชชิ่ง, 2549),น. 68.

[4] วีรชาติ ชุ่มสนิท, 24 นายกรัฐมนตรีไทย, (กรุงเทพฯ: ออลบุ๊คส์พับลิชชิ่ง, 2549),น. 69-72.

[5] วีรชาติ ชุ่มสนิท, 24 นายกรัฐมนตรีไทย, (กรุงเทพฯ: ออลบุ๊คส์พับลิชชิ่ง, 2549), น. 66.