โชว์เล่น “กระตั้วแทงเสือ”

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
รุ่นแก้ไขเมื่อ 15:30, 9 พฤศจิกายน 2558 โดย Apirom (คุย | ส่วนร่วม) (หน้าที่ถูกสร้างด้วย ''''ผู้เรียบเรียง''' ฐิติกร สังข์แก้ว และดร.อรรถสิทธิ...')
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)

ผู้เรียบเรียง ฐิติกร สังข์แก้ว และดร.อรรถสิทธิ์ พานแก้ว


ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ ศาสตราจารย์ นรนิติ เศรษฐบุตร


ความหมาย

โชว์เล่น “กระตั้วแทงเสือ” เป็นคำกล่าวของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ภายหลังจากที่มีนักศึกษา “กลุ่มดาวดิน” แสดงอากัปกิริยา “ชูสามนิ้ว” พร้อมข้อความสกรีนบนเสื้อเรียงต่อกันว่า “ไม่-เอา-รัฐ-ประ-หาร” เพื่อต่อต้านการยึดอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ขณะที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา กำลังเป็นประธานกล่าวเปิดโครงการ “คืนความสุขให้คนไทย รวมใจสู้ภัยแล้ง” เพื่อติดตามการดำเนินงานช่วยเหลือภัยแล้งและการดำเนินงานของศูนย์ดำรงธรรมที่จังหวัดขอนแก่น ในวันที่ 19 พฤศจิกายน 2557 นักศึกษากลุ่มดาวดิน 5 คน จึงถูกเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยควบคุมตัวไปปรับทัศนคติ โดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา กล่าวต่อมาว่า "เมื่อกี้ผมนึกว่ามีการแสดงมารับผม จริงๆ นะ เพราะปกติจะต้องมีการแสดง ไอ้นี่มาใหม่เว้ย ทำไมมันใส่ชุดดำ นึกว่ามาเต้นกระตั้วแทงเสือ" จึงก่อให้เกิดข้อสงสัยแก่สื่อมวลชนและประชาชนจำนวนมากถึงเจตนาและความหมายที่แท้จริง


ประเด็นสำคัญของเหตุการณ์

การละเล่น “กระตั้วแทงเสือ”

“กระตั้วแทงเสือ” ตามพจนานุกรมศัพท์วรรณกรรมไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน อธิบายว่า เป็นการละเล่นของภาคกลางที่ดัดแปลงมาจากการละเล่น "กระอั้วแทงควาย" ซึ่งเป็นการละเล่นหลวงอันตกทอดมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ราษฎรจึงดัดแปลงให้ใกล้เคียงกับวิถีชีวิต ตัวละครประกอบด้วยบ้องตัน (มีหอกเป็นอาวุธ) เจ้าจุก (มีขวานเป็นอาวุธ) เจ้าแกละ (มีมีดอีโต้เป็นอาวุธ) นางเมียของบ้องตัน และเสืออย่างน้อย 11 ตัว เครื่องดนตรีประกอบการแสดง ได้แก่ ฆ้องโหม่ง ฉาบ โทน ฉิ่ง และกลองชาตรี การดำเนินเรื่องเป็นฉากที่บ้องตันรู้ข่าวว่าเจ้าเมืองประกาศหาผู้มีความสามารถไปปราบเสือสมิงที่ออกอาละวาดทำร้ายชาวบ้านจนบาดเจ็บล้มตาย โดยจะได้รับการตกรางวัลจำนวนมาก บ้องตันและพวกจึงอาสาปราบเสือสมิงจนสำเร็จลุล่วง และสามารถนำหัวเสือกลับมาถวายเจ้าเมืองได้ สำหรับรูปแบบการละเล่นเน้นความตื่นเต้นอันตรายซึ่งแฝงด้วยความสนุกสนาน เช่น การหลอกล้อ หลบหนี การกรีดร้อง และทำท่าทางตกใจ เป็นต้น ปัจจุบันนิยมเล่นในงานบุญ ขบวนแห่ และมีการแสดงในภาคกลางเป็นส่วนใหญ่โดยเฉพาะในเขตธนบุรี โดยคณะแสดงหลายคณะ เช่น คณะศิษย์วัดสิงห์ คณะศิษย์หลวงพ่อขาว คณะศิษย์วัดสังข์กระจาย เป็นต้น

กลุ่มดาวดิน

กลุ่มดาวดิน หรือชื่ออย่างเป็นทางการว่า “กลุ่มเผยแพร่กฎหมายสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคม” มีสมาชิกประมาณ 20 คน ส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และส่วนหนึ่งจากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม โดยมีกิจกรรมหลักในรูปแบบอาสาสมัครและการออกค่ายเรียนรู้สังคมในประเด็นสิทธิมนุษยชนและสิทธิชุมชน ผลิตสื่อสิ่งพิมพ์ของกลุ่มใช้ชื่อว่า วารสารดาวดิน เพื่อเป็นช่องทางสื่อสารกับสังคมจึงเป็นที่มาของชื่อเรียก “กลุ่มดาวดิน” เคยมีบทบาทร่วมเคลื่อนไหวกับประชาชนที่ประสบปัญหาจากโครงการภาครัฐและเอกชนในหลายพื้นที่ของภาคอีสาน เช่น การเคลื่อนไหวคัดค้านเหมืองแร่โปแตชในจังหวัดอุดรธานี การคัดค้านโรงงานผลิตแป้งมันสำปะหลังที่จังหวัดขอนแก่น รวมถึงศึกษาการสร้างโรงงานไฟฟ้าในจังหวัดกาฬสินธุ์ และการเข้าขัดขวางไม่ให้เจ้าหน้าที่ปะทะกับประชาชนที่ร่วมคัดค้านกิจการเหมืองแร่ทองคำ จังหวัดเลย รวมถึงการยื่นฟ้องผู้ตรวจการแผ่นดิน ต่อศาลปกครอง กรณีที่ผู้ตรวจการแผ่นดินเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาให้การเลือกตั้งวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและขอให้เพิกถอนการเลือกตั้งดังกล่าว เนื่องจากผู้ตรวจการแผ่นดินไม่มีอำนาจหน้าที่ในการนำเรื่องเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยและศาลรัฐธรรมนูญก็ไม่มีอำนาจในการรับพิจารณาในเรื่องดังกล่าวเช่นกัน

การเคลื่อนไหวเพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์เพื่อต่อต้านการยึดอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่เกิดขึ้นโดยกลุ่มดาวดิน เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2557 เป็นการเคลื่อนไหวสืบเนื่องจากกรณีที่ คสช. ได้มอบหมายให้หน่วยทหารในพื้นที่เมืองเลย เข้าดูแลกรณีเหมืองทองคำ จนนำไปสู่การแต่งตั้ง "คณะกรรมการแก้ไขปัญหาเหมืองทองคำจังหวัดเลย" 4 ชุด โดยกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด (ซึ่งเคลื่อนไหวคัดค้านเหมืองแร่ทองคำ ร่วมกับกลุ่มดาวดินมาโดยตลอด) ได้ยื่นจดหมายถึงพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เพื่อคัดค้านการแต่งตั้งและผลการดำเนินงานคณะกรรมการแก้ไขปัญหาเหมืองทองคำจังหวัดเลยทั้ง 4 ชุด จนกระทั่งระหว่างวันที่ 24-27 พฤษภาคม 2557 ทหารได้เรียกแกนนำกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดและกลุ่มดาวดิน ไปรายงานตัวเพื่อปรับทัศนคติ แต่การเจรจาที่ไม่บรรลุผลทำให้มีการนำกฎอัยการศึกเข้ามาบังคับใช้ และห้ามไม่ให้คนนอกเข้าพื้นที่จนกว่าปัญหาจะยุติอย่างเด็ดขาด แรงกดดันดังกล่าวจึงปรากฏออกมาในรูปการต่อต้านเชิงสัญลักษณ์ ที่ถูกนายกรัฐมนตรีเรียกว่า “โชว์กระตั้วแทงเสือ”

ผลสืบเนื่องจากเหตุการณ์วันที่ 19 พฤศจิกายน 2557

ปฏิกิริยาของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และบุคคลในรัฐบาล

การต้านต้าน คสช. ด้วยการ “ชูสามนิ้ว” และเผยให้เห็นข้อความที่สกรีนบนเสื้อว่า “ไม่-เอา-รัฐ-ประ-หาร” เกิดขึ้นขณะที่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา กำลังกล่าวเปิดงาน “คืนความสุขให้คนไทย รวมใจสู้ภัยแล้ง” โดยไม่ได้มีปฏิกิริยาโกรธเคืองแต่อย่างใด เพียงแต่หยุดนิ่งและมองไปที่นักศึกษากลุ่มดังกล่าว พร้อมกับหัวเราะในลำคอ และชี้ให้เห็นว่าการประท้วงไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์และไม่มีผลต่อรัฐบาลทั้งสิ้น เพราะประชาชนส่วนใหญ่ต่างเข้าใจการทำหน้าที่ของ คสช. และรัฐบาลเป็นอย่างดี การต่อต้านของกลุ่มดาวดินเป็นเพียงความคิดเห็นที่แตกต่างกัน ซึ่งต้องเร่งหาข้อยุติให้ได้ตามเจตนารมณ์ของ คสช. ทั้งนี้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา กล่าวว่า

อย่างเหตุการณ์เมื่อสักครู่ ก็น่าจะส่งไปยังศูนย์ดำรงธรรม ถ้ามาอย่างนี้มันไม่ได้ประโยชน์ เมื่อกี้ผมนึกว่ามีการเอาการแสดงมารับผม จริงๆนะ เพราะปกติจะต้องมีการแสดงไอ้นี่มาใหม่เว้ย ทำไมมันใส่ชุดดำ นึกว่ามาเต้นกระตั้วแทงเสือ นึกว่าพี่น้องมาแสดงกัน ไม่เป็นไรไม่โกรธแค้นกัน พี่น้องทั้งนั้นคนไทยทั้งสิ้น คนไทยไม่รักคนไทยด้วยกันแล้วใครจะมารักเรา ถ้าเราไม่ร่วมมือกันแล้วใครจะมาทำให้เรา ถ้ารัฐบาลไม่ช่วยและดูแลประชาชนใครจะดู ขอฝากไปถึงพี่น้องซึ่งไม่ได้มาด้วย ขอให้กำลังใจกับข้าราชการที่ทำงาน อะไรที่เป็นเรื่องการทุจริตคอร์รัปชั่น ก็ขอให้เลิก ใครจะมาอ้างผมเรื่องผลประโยชน์ยืนยันว่าไม่มี ผมไม่ต้องการผลประโยชน์สลึงเดียวก็ไม่เอา (เน้นโดยผู้เรียบเรียง)

ขณะที่ พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม และผู้บัญชาการทหารบก กล่าวถึงเหตุการณ์ว่าเป็นการฉวยโอกาสแฝงตัวเข้าไปพร้อมกับประชาชนที่ต้องการแสดงการต้อนรับนายกรัฐมนตรี ในระหว่างที่ผู้นำรัฐบาลมีความห่วงใยไปตรวจตราพื้นที่เยี่ยมเยียนและช่วยเหลือประชาชน จึงถือเป็นเรื่องไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง หากต้องการแสดงออกก็มีเวทีให้แสดงความคิดเห็นหรือส่งข้อมูลต่างๆ เข้าไปยังสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ขณะที่การเคลื่อนไหวของกล่มดาวดินก็ถูกกระแสสังคมรวมถึงบุคคลในรัฐบาลวิพากษ์วิจารณ์ถึงเบื้องหลังการปฏิบัติการดังกล่าวว่ามีกลุ่มการเมืองบางกลุ่มให้การสนับสนุน พล.ท.กัมปนาท รุดดิษฐ์ แม่ทัพภาคที่ 1 ในฐานะผู้บัญชาการกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย (ผบ.กกล.รส.) ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2557 ว่ากลุ่มนักศึกษาถูกว่าจ้างมาเพื่อต้องการแย่งชิงพื้นที่สื่อของนายกรัฐมนตรี โดยได้รับการว่าจ้างมาจำนวน 50,000 บาท จากนักการเมืองในพื้นที่

ผลกระทบต่อสมาชิกกลุ่มดาวดิน

ภายหลังการเคลื่อนไหวเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2557 ของสมาชิกกลุ่มดาวดิน เพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ถึงการต่อต้านรัฐประหาร ต่อหน้าพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. นักศึกษากลุ่มดาวดิน 5 คน ประกอบด้วย นายเจตน์สฤษฏิ์ นามโคตร นายวิชาญ อนุชน นายจตุภัทร บุญภัทรรักษา นายพายุ บุญโสภณ และนายวสันต์ เสกสิทธิ์ ถูกควบคุมตัว ณ ค่ายศรีพัชรินทร์ เพื่อปรับทัศนคติ ต่อมาจึงปล่อยตัวนักศึกษาทั้งหมดโดยไม่มีการแจ้งข้อหาใดๆ อย่างไรก็ตามวันที่ 20 พฤศจิกายน 2557 เจ้าหน้าที่ได้เรียกผู้ปกครองของนักศึกษาเพื่อรับฟังการปรับทัศนคติ และให้นักศึกษาแสดงความยินยอมตามเงื่อนไขไม่เคลื่อนไหวทางการเมือง โดยมีเพียงนายเจตน์สฤษฏิ์ นามโคตร และนายพายุ บุญโสภณ เท่านั้นที่ยินยอมลงนาม ส่วนอีกสามคนยืนยันที่จะไม่ลงนามยินยอมรับเงื่อนไข

ทั้งนี้วันที่ 22 พฤศจิกายน 2557 นักศึกษากลุ่มดาวดินออก "จดหมายจากบ้านดาวดิน ฉบับที่ 1" เปิดเผยว่าภายหลังสมาชิกกลุ่มทั้ง 5 คน ถูกปล่อยตัวจากค่ายศรีพัชรินทร์ ก็รู้สึกได้ถึงความไม่ปลอกภัยเพราะสังเกตเห็นรถหลายคันเฝ้าติดตามบริเวณหน้าบ้าน และหวาดกลัวว่าสมาชิกอีก 3 คนที่ไม่ยินยอมลงนามตามเงื่อนไขไม่เคลื่อนไหวทางการเมืองจะได้รับความไม่ปลอดภัยจึงตัดสินใจแยกย้ายไปอยู่ในที่ปลอดภัย แม้แต่หนึ่งในสองคนที่ยินยอมลงชื่อตามเงื่อนไขแล้วก็รายงานว่ามีทหารนอกเครื่องแบบไปพบผู้ใหญ่บ้านเพื่อนำไปถ่ายรูปบ้านพักของนักศึกษา วันที่ 27 พฤศจิกายน 2557 สมาชิกกลุ่มดาวดิน 2 คน จึงขอเข้าพบเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสำนักข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ เพื่อให้ข้อมูลและรายงานสถานการณ์การคุกคามสิทธิมนุษยชน หลังจากถูกตั้งข้อสงสัยว่าการเคลื่อนไหวของกลุ่มมีนักการเมืองอยู่เบื้องหลังและได้รับเงินจากกลุ่มการเมืองบางกลุ่ม วันที่ 3 ธันวาคม 2557 ตัวแทนกลุ่มดาวดิน ประกอบด้วย นายพายุ บุญโสภณ นายธีรยุทธ สิมหลวง นายจิรวิชญ์ ฉิมมานุกุล และนายเจตน์สฤษฎิ์ นามโครต พร้อมกับ นางสาวศิริพร ฉายเพ็ชร เจ้าหน้าที่มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนต่อ นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ ประธานคณะอนุกรรมการด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ในกรณีที่พล.ท.กัมปนาท รุดดิษฐ์ กล่าวปรักปรำการเคลื่อนไหวของกลุ่มดาวดิน เพราะเป็นการทำให้กลุ่มดาวดินได้รับความเสียหายและถูกสังคมมองไปในเชิงลบ โดยเจตนาที่แท้จริงของกลุ่มก็คือการมีจิตสำนึกพลเมืองในระบอบประชาธิปไตยในการไม่ยอมรับรัฐประหาร ทั้งการประกาศกฎอัยการศึกก็เป็นเหตุให้กลุ่มไม่สามารถลงพื้นที่เคลื่อนไหวช่วยเหลือประชาชนได้อีกด้วย ขณะเดียวกันการกล่าวหาว่ารับเงินจากนนักการเมืองบางกลุ่มมานั้นก็ไม่มีมูลความจริง ขณะเดียวกัน นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ ก็ยืนยันว่าคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติกับการกลุ่มเดียวดินมีบันทึกความเข้าใจร่วมกัน (MOU) ทำให้ทราบว่าเป็นกลุ่มที่มีแนวคิดการเมืองภาคประชาชน แต่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการแย่งชิงผลประโยชน์ของนักการเมืองและไม่ได้รับเงินจากนักการเมืองแต่อย่างใด

ผลกระทบด้านอื่นๆ

เหตุการณ์ที่นักศึกษากลุ่มดาวดินแสดงออกเชิงสัญลักษณ์เพื่อต่อค้านคัดค้านพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา แสดงให้เห็นความบกพร่องในการปฏิบัติหน้าที่ของทีมอารักขาบุคคลสำคัญ วันที่ 24 พฤศจิกายน 2557 พล.ต.ท.บุญเลิศ ใจประดิษฐ ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 4 จึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนเพื่อหาข้อเท็จจริงในการปฏิบัติหน้าที่ พร้อมทั้งมีคำสั่งย้ายนายตำรวจ 5 นาย ให้ไปปฏิบัติหน้าที่ประจำศูนย์ปฏิบัติการภาค 4 ประกอบด้วย พ.ต.อ.สุภากร คำสิงห์นอก รองผบก.ภ.จ.ขอนแก่น รักษาราชการแทน ผกก.เมืองขอนแก่น พ.ต.อ.พงศ์ฤทธิ์ คงศิริสมบัติ ผกก.สส.ภ.จ.ขอนแก่น พ.ต.ท.อนุศักดิ์ ศักดาวัชรานนท์ รอง ผกก.ป.สภ.เมืองขอนแก่น พ.ต.ต.จีรัชติกุล จรัสกมลพงษ์ สวป.เมืองขอนแก่น และ พ.ต.ต.ชาติชาย ทิมินกุล สว.สส.เมืองขอนแก่น สำหรับการปฏิบัติงานอารักขาบุคคลสำคัญในครั้งนี้ตำรวจได้ประสานกับกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ฝ่ายปกครอง ทหาร สันติบาล และหน่วยงานที่รับผิดชอบ โดยกำหนดให้พื้นที่รอบนอกตัวงานเป็นพื้นที่รับผิดชอบของตำรวจ ซึ่งมีการคัดกรองทั้งอาวุธปืน ตัวบุคคลที่จะเข้าไปในงาน ส่วนพื้นที่ภายในบริเวณตัวงานเป็นพื้นที่ความรับผิดชอบฝ่ายทหาร อย่างไรก็ตาม หนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน (ฉบับวันที่ 25 พฤศจิกายน 2557) ตั้งข้อสังเกตว่า คำสั่งย้ายนายตำรวจ 5 นาย ในจังหวัดขอนแก่นนี้เกิดขึ้นในช่วงการแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจประจำปี ดังนั้นหากเกิดสถานการณ์การต่อต้าน คสช. ขึ้นในจังหวัดใด ตำรวจท้องที่ก็อาจกลายเป็น “แพะรับบาป” เพราะหากพิจารณาจากคำสั่งย้ายดังกล่าวแล้วไม่ปรากฏชื่อ พล.ต.ต.จิตรจรูญ ศรีวนิชย์ ผบก.จ.ขอนแก่น ในฐานะหัวหน้าหน่วยแต่อย่างใด อาจเนื่องมาจากเป็นนักเรียนนายร้อยตำรวจ รุ่น 36 ซึ่งขณะนี้กำลังมีบทบาทอย่างสูงในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ปัญหาที่เกิดขึ้นจึงส่งผลต่อขวัญกำลังของแวดวงตำรวจในทุกระดับ

การเมืองเชิงสัญลักษณ์: อ่านหนังสือ-กินแซนวิช-ชูสามนิ้ว กับ กระตั้วแทงเสือ

การต่อต้านการยึดอำนาจของ คสช. เกิดขึ้นทันทีหลังคณะรัฐประหารซึ่งนำโดย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 แต่ส่วนใหญ่แล้วอาศัยยุทธวิธีการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ตามแนวทางสันติวิธีสัญลักษณ์ที่ผู้ต่อต้านใช้สื่อแสดงมีตั้งแต่การจับกลุ่มรวมตัวกันอ่านหนังสือนวนิยายชื่อดังอย่าง หนึ่ง-เก้า-แปด-สี่ (1984) ของ จอร์จ ออร์เวลล์ (George Orwell) ซึ่งฉายภาพไปถึงบรรยากาศที่เผด็จการเบ็ดเสร็จเรืองอำนาจจนกระทั่งการคิด การพูด การแสดงความคิด และการใช้ชีวิตประจำวันของประชาชนต่างถูกตรวจสอบควบคุมในทุกมิติของชีวิตภายใต้วลีที่ว่า “พี่เบิ่มกำลังมองคุณอยู่” (Big Bother is Watching You) นอกจากนั้นผู้ต่อต้านการรัฐประหารของ คสช. ยังใช้ “แซนวิช” ในการแสดงออกถึงความไม่เห็นด้วย ซึ่งไม่เพียงเป็นการจับกลุ่มกันเพื่อท้าทายต่อกฎอัยการศึกที่ห้ามมิให้ชุมนุมทางการเมืองกันเกิน 5 คน เท่านั้น แต่การแจกแซนวิช/กินแซสวิช ซึ่งเป็นอาหารในชีวิตประจำวันยังเป็นสัญลักษณ์ว่าการดำเนินวิถีชีวิตปกติภายใต้การปกครองของ คสช. เป็นไปได้อย่างยากยิ่ง เช่นเดียวกับการ “ชูสามนิ้ว” (นิ้วชี้-นิ้วกลาง-นิ้วนาง) ก็เริ่มปรากฏให้เห็นอย่างแพร่หลายตั้งแต่ช่วงเดือนมิถุนายน 2557 จากภาพยนตร์เรื่อง The Hunger Games ซึ่งสร้างจากนิยายขายดีของซูซาน คอลลินส์ (Suzanne Collins) แม้สัญลักษณ์การชูสามนิ้วในภาพยนตร์และนิยายจะมีความหมายถึง “การขอบคุณ-การชื่นชม-การบอกลาคนที่รัก” แต่กระนั้นความหมายทางวัฒนธรรมก็สามารถสลับซับเปลี่ยนไปตามความมุ่งหมายของผู้ใช้ได้เสมอ ในแง่นี้การชูสามนิ้วจึงหมายถึงการต่อต้านแข็งขืนต่ออำนาจรัฐที่กระทำต่อประชาชนไปโดยปริยาย

อย่างไรก็ตามเมื่อการอ่าน หนึ่ง-เก้า-แปด-สี่ (1984), การกินแซนวิช, และการชูสามนิ้ว ถูกแปรสภาพเป็นสัญลักษณ์ของการต่อต้านแข็งขืนอำนาจรัฐ การที่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้ความหมายการกระทำของกลุ่มดาวดินที่จังหวัดขอนแก่น เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2557 ว่า “กระตั้วแทงเสือ” ก็ย่อมแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ของการยืนยันในความชอบธรรมในอำนาจของผู้ที่เหนือกว่าได้เช่นกัน ศรีศักร วัลลิโภดม ตั้งข้อสังเกตว่า เนื้อเรื่องของการแสดงกระตั้วแทงเสือ แม้ไม่มีความหมายทางการเมืองใดๆ แฝงอยู่เลย นอกจากเพื่อความบันเทิงเท่านั้น แต่หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งต้องการนำไปเปรียบเทียบเพื่อประชดประชันก็สามารถทำได้ เพราะการชูสามนิ้วที่ถูกเปรียบเทียบเป็นการแสดงกระตั้วแทงเสือ ถือเป็นการดูถูกนายกรัฐมนตรี เสมือนเป็นแค่คนป่าเถื่อนที่ริจะแทงเสือ ขณะที่ พลเอกเอกชัย ศีวิลาส ผู้อำนวยการสำนักสันติวิธี สถาบันพระปกเกล้า และรองประธานคณะกรรมาธิการปฏิรูปการเมือง ของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ให้ทัศนะที่น่าสนใจยิ่งว่า การแสดงออกของนักศึกษาสะท้อนความตึงแย้ง (tension) ของผู้คนในสังคมที่ดำรงอยู่ จึงแสดงความไม่พอใจออกมา ทั้งการไม่มีพื้นให้คนที่ไม่เห็นด้วยได้แสดงออก “การแสดงออกของนักศึกษา เสมือนกระจกที่สะท้อนความเป็นจริงของสังคมออกมา ทางแก้ไขต้องไม่ใช่การไปทุบกระจกให้แตก แต่ต้องช่วยกันขัดกระจกให้สะอาด เพื่อที่เราจะได้เห็นภาพสะท้อน ของแต่ละฝ่ายได้ดียิ่งขึ้น”

บรรณานุกรม

“กลุ่มดาวดินแต่งคนป่าฟ้องศาลปกครอง ยัน 'ผู้ตรวจการฯ' ไม่มีอำนาจยื่นเลือกตั้งโมฆะ.” ประชาไท. (24 มีนาคม 2557). เข้าถึงจาก <http://prachatai.org/journal/2014/03/52427>. เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2558.

“การเมือง“สัญลักษณ์” ปมปริศนา-โจทย์การเมือง.” บ้านเมือง. (23 พฤศจิกายน 2557). 3.

จอร์จ ออร์เวลล์. (2555). หนึ่ง-เก้า-แปด-สี่. แปลโดย รัศมี เผ่าเหลืองทอง และ อำนวยชัย ปฏิพัทธ์เผ่าพงศ์. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ: สมมติ.

“แฉนศ.ชู3นิ้วถูกจ้างป่วนนายกฯ.” เดลินิวส์. (1 ธันวาคม 2557). 9.

“‘ดาวดิน' พบสำนักข้าหลวงใหญ่สิทธิ UN ให้ข้อมูลคุกคามสิทธิ.” ประชาไท. (27 พฤศจิกายน 2557). เข้าถึงจาก <http://www.prachatai.com/journal/2014/11/56725>. เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2558.

“‘ดาวดิน' ร้อง กสม. สอบ มทภ.1.” ไทยรัฐ. (4 ธันวาคม 2557). 16.

“ดาวดินระบุถูกคุกคามต่อเนื่อง แต่ยังปลอดภัยดี.” ประชาไท. (22 พฤศจิกายน 2557). เข้าถึงจาก <http://www.prachatai.com/journal/2014/11/56638>. เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2558.

“ต้องแสวงความมือ.” คม ชัด ลึก. (24 พฤศจิกายน 2557). 4.

“‘ทหาร' ไม่เอาผิด ปล่อยตัว 5 นศ.กลุ่มดาวดิน.” ไทยรัฐ. (21 พฤศจิกายน 2557). 16.

“‘บิ๊กโด่ง' ชี้ น.ศ. ประท้วงไม่เหมาะ.” มติชน. (20 พฤศจิกายน 2557). 13.

“บิ๊กตู่ เทียบ นศ.ชู3นิ้ว นึกว่ามาเต้น "กระตั้วแทงเสือ" ว่าแต่ใครรู้บ้างมันคืออะไร?.” มติชนออนไลน์. (19 พฤศจิกายน 2557). เข้าถึงจาก <http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1416389380>. เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2558.

ประชา บูรพาวิถี. “ระเบิด "ดาวดิน" จากเหมืองทอง.” ประชาชาติธุรกิจ. (21 พฤศจิกายน 2557). เข้าถึงจาก <http://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/618838>. เมื่อวันที่ 14 เมษายน 2558.

“ย้าย 5 ตำรวจขอนแก่น สังเวย “กระตั้วแทงเสือ”." ผู้จัดการรายวัน. (25 พฤศจิกายน 2557). 11.

“รู้จัก 'กระตั้วแทงเสือ' คำพูดติดตลกของ "บิ๊กตู่' กรณีนศ.ชู 3 นิ้ว." ผู้จัดการรายวัน. (19 พฤศจิกายน 2557).

ศิริวรรณ ป้องคำสิงห์. (2553). "การพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษา สาระนาฏศิลป์ หน่วยการเรียนรู้ เรื่องกระตั้วแทงเสือ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 สำนักงานเขตธนบุรี กรุงเทพมหานคร." (วิทยานิพนธ์ครุศาสตรมหาบัณฑิต สาขาหลักสูตรและการสอน มหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี). สิทธิชัย นครวิลัย. "ถอดรหัส‘กระตั้วแทงเสือ’." คม ชัด ลึก. (21 พฤศจิกายน 2557). 3.

“สมาชิกกลุ่มดาวดิน.” เดลินิวส์. (20 พฤศจิกายน 2557). 2.

“เส้นทางการเคลื่อนไหวของนศ.กลุ่มดาวดิน." มติชนออนไลน์. (24 พฤศจิกายน 2557). เข้าถึงจาก <http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1416823130>. เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2558.

อ้างอิง