พลร่ม

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ผู้เรียบเรียง โอฬาร ถิ่นบางเตียว และ รศ.ดร.นครินทร์ เมฆไตรรัตน์


ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองศาสตราจารย์นรนิติ เศรษฐบุตร และ รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต


พลร่ม หมายถึง รูปแบบการทุจริตการเลือกตั้งโดยผู้ไม่มีสิทธิเลือกตั้งในหน่วยเลือกตั้งมาใช้สิทธิเลือกตั้งในหน่วยที่ผู้สัมครรับเลือกตั้งจัดวางไว้ ด้วยกรรมวิธีการย้ายประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งข้ามเขตเลือกตั้ง การทุจริตด้วยวธีการนี้จะดำเนินการก่อนการเลือกตั้งพอสมควร โดยอาศัยความร่วมมือของกลไกราชการและข้าราชการฝ่ายปกครองในการย้ายทะเบียนบ้านผู้มีสิทธิเลือกตั้งร่วมมือกับผู้สมัครรับเลือกตั้ง โดยมากการทุจริตการเลือกตั้งด้วยวิธีการนี้มักจะกระทำกันในหน่วยเลือกตั้งขนาดใหญ่เป็นชุมชนเมืองที่ผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งไม่ค่อยรู้จักกัน การย้ายประชาชนจากหน่วยเลือกตั้งอื่นจึงกระทำได้ง่าย


ในบางกรณีผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้ประกอบการภาคธุรกิจเอกชนขนาดใหญ่ หรืออาศัยความร่วมมือกับผู้ประกอบการภาคธุรกิจเอกชน มีคำสั่งหรือเงื่อนไขในการจ้างงานโดยให้พนักงานในสถานประกอบการย้ายทะเบียนบ้านจากภูมิลำเนาของตนเอง เข้ามายังบ้านเลขที่ของของสถานประกอบการทั้งหมด เมื่อถึงเวลาไปใช้สิทธิเลือกตั้งผู้สมัครรับเลือกตั้งให้พนักงานในสถานประกอบการของตนเองหรือพันธมิตรที่ร่วมมือกับตนเองให้ลงคะแนนให้แก่ผู้สมัครรับเลือกตั้ง ทั้งนี้อาจจะมีสัญญาแลกเปลี่ยนกันระหว่างผู้สมัครรับเลือกตั้งและผู้ประกอบการรวมไปถึงตัวผู้ใช้สิทธิเลือกตั้ง


สำหรับหน่วยงานราชการ เช่น กองทัพ ค่ายทหาร โรงพยาบาล โรงเรียน สถานีตำรวจ หรือ สถานที่ราชการประจำภูมิภาคขนาดใหญ่ ก็สามารถใช้วิธีการดังกล่าวได้ขึ้นกับความสัมพันธ์และอิทธิพล บารมีของผู้รับสมัครเลือกตั้งกับข้าราชการระดับผู้บังคับบัญชาในส่วนงานนั้นๆ ที่จะให้การสนับสนุนผู้สมัครรับเลือกตั้งมากน้อยแค่ไหน


พฤติกรรมการทุจริตการเลือกตั้งโดยวิธีการนี้เกิดขึ้นครั้งแรกในสมัยรัฐบาลจอมพล แปลก พิบูลสงคราม|จอมพล ป. พิบูลสงคราม ในการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2500 การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นการแข่งขันกัน 2 พรรคใหญ่ คือ พรรคเสรีมนังคศิลากับพรรคประชาธิปัตย์


พรรคเสรีมนังคศิลาเป็นพรรครัฐบาล มีจอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี เป็นหัวหน้าพรรค และพลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ อธิบดีกรมตำรวจ เป็นเลขาธิการพรรค ในขณะที่พรรคประชาธิปัตย์เป็นฝ่ายค้าน มีนายควง อภัยวงศ์ เป็นหัวหน้าพรรค


การเลือกตั้งทั่วไปวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2500 นับเป็นการเลือกตั้งที่สกปรกมากที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย เพราะจอมพล ป. พิบูลสงคราม หัวหน้าพรรคและพลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ เลขาธิการ ใช้อำนาจและอิทธิพลของทหารและตำรวจบีบบังคับข้าราชการทหาร ตำรวจ และพลเรือนให้ช่วยพรรคเสรีมนังคศิลาอย่างเต็มที่


หลังการเลือกตั้งพรรคเสรีมนังคศิลาชนะพรรคประชาธิปัตย์ แต่หนังสือพิมพ์ สื่อมวลชนทุกแขนงต่างประโคมข่าวการทุจริตการเลือกตั้งอย่างขนานใหญ่ของพรรคเสรีมนังคศิลา ประชาชนและขบวนการนิสิตนักศึกษาต่างโจมตีการเลือกตั้งสกปรกครั้งนี้ เพราะมีการทุจริตการเลือกตั้งโดยใช้วิธีการ พลร่ม ไพ่ไฟ การเวียนเทียน การบีบบังคับข้าราชการประจำและมีการทุจริตเลือกตั้งในรูปแบบต่างๆ กันถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นในการทุจริตการเลือกตั้งที่ใช้ต่อๆกันมา


พฤติกรรมการอำนาจของรัฐบาลในการทุจริตการเลือกตั้ง สร้างความไม่พอใจให้กลุ่มนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รวมตัวกันประมาณ 2,000 คน ก็ได้ตัดสินใจเด็ดขาดที่จะต่อต้านรัฐบาล นิสิตเหล่านี้ลดธงชาติลงครึ่งเสาซึ่งเป็นการแสดงการไว้อาลัยประชาธิปไตยที่ตายไป ประชาชนได้เดินขบวนคัดค้านการเลือกตั้งสกปรกพรรคประชาธิปัตย์ไม่ยอมรับผลการเลือกตั้ง ถึงแม้ตัวจอมพล ป. พิบูลสงคราม หัวหน้าพรรคเสรีมนังคศิลาและรักษาการนายกรัฐมนตรี ได้พยายามทุกวิถีทางที่จะทำความเข้าใจกับสื่อมวลชน ประชาชน และนิสิตนักศึกษา แต่ความไม่พอใจในตัวจอมพล ป. พิบูลสงคราม กลับเพิ่มมากขึ้น วันที่ 2 มีนาคม พ.ศ.2500 หรือ 1 สัปดาห์หลังการเลือกตั้ง


นิสิตเหล่านี้เดินขบวนไปที่กระทรวงมหาดไทยโสยการแนะนำของจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออกและให้มีการเลือกตั้งใหม่ โดยที่มีคณะกรรมการประกอบด้วยนิสิตในการควบคุมการลงคะแนน นายกรัฐมนตรีกล่าวตอบว่า การเลือกตั้งจะเป็นโมฆะก็ต่อเมื่อศาลสั่ง นิสิตสลายตัวเมื่อจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ขอให้สลายตัว และสฤษดิ์ได้กล่าวคำคมในประวัติศาสตร์ไว้ที่สะพานมัฆวานว่า “พบกันใหม่เมื่อชาติต้องการ”


จอมพล ป. พิบูลสงคราม รักษาการนายกรัฐมนตรี ตัดสินใจประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองแต่กลับเพิ่มดีกรีของความรุนแรงให้มากยิ่งขึ้น การเดินขบวนประท้วงของประชาชนและนิสิตนักศึกษามุ่งหน้าจากท้องสนามหลวงสู่ทำเนียบรัฐบาล และในวันเดียวกันนี้ได้มีประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีแต่งตั้งให้จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นผู้รักษาความสงบเรียบร้อยตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินและมีอำนาจบังคับบัญชาทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศ และตำรวจได้ทั่วราชอาณาจักร


หลังการเลือกตั้งเดือนกุมภาพันธ์และหลังการรณรงค์คัดค้านการเลือกตั้งที่สกปรก คะแนนนิยมและฐานะของจอมพล ป. พิบูลสงคราม เสื่อมลงอย่างรวดเร็ว พวกที่คัดค้านรัฐบาล และความเป็นเผด็จการและการใช้อำนาจผิด ๆ ของพลตำรวจเอกเผ่าก็ยิ่งเพิ่มขึ้น จนถึงวันที่ 16 เดือนกันยายน พ.ศ.2500 จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ จึงทำรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม