แนวร่วมสังคมนิยม (พ.ศ. 2517)

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
รุ่นแก้ไขเมื่อ 13:41, 29 กรกฎาคม 2553 โดย Apirom (คุย | ส่วนร่วม)
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)

ผู้เรียบเรียง ชาย ไชยชิต


ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองศาสตราจารย์นรนิติ เศรษฐบุตร และ รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต


พรรคแนวร่วมสังคมนิยม

พรรคแนวร่วมสังคมนิยมจดทะเบียนพรรคการเมืองเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2517[1] โดยมีนายแคล้ว นรปติ เป็นหัวหน้าพรรค พรรคแนวร่วมสังคมนิยมได้ส่งผู้สมัครลงแข่งขันเลือกตั้งผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2518 จำนวน 74 คน ได้รับการเลือกตั้งเข้ามาเป็นจำนวน 10 คน ซึ่งทั้งหมดเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือทั้งหมด ในส่วนสมาชิกพรรคแนวร่วมสังคมนิยมที่ได้รับเลือกตั้งเมื่อวันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2519 มีจำนวน 1 คนลดลงจากเดิม 9 ที่นั่ง จากจำนวนผู้สมัครทั้งหมดของพรรคจำนวน 37 คน[2] ได้แก่ นายแคล้ว นรปติ จากจังหวัดขอนแก่น

ในช่วงที่พรรคแนวร่วมสังคมนิยมมีบทบาทในทางการเมืองนั้น พรรคดังกล่าวมิได้มีบทบาทในฐานะเป็นพรรคร่วมรัฐบาลแม้แต่เพียงครั้งเดียว กล่าวคือเป็นการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองในฐานะฝ่ายค้านทั้งในสมัยหม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช และหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช[3] นั่นเอง

ในช่วงระหว่างปี 2522- 2524 สมาชิกพรรคแนวร่วมสังคมนิยมได้เข้ารวมตัวกับสมาชิกพรรคสังคมนิยมและจัดตั้งกลุ่มทางการเมืองที่เรียกตัวเองว่ากลุ่มสังคมประชาธิปไตยเพราะในช่วงระยะเวลาดังกล่าวยังไม่มีกฎหมายพรรคการเมือง จึงไม่มีการจดทะเบียนพรรค ต่อมาเมื่อมีพระราชบัญญัติพรรคการเมืองเกิดขึ้น กลุ่มดังกล่าวจึงได้ยื่นเรื่องจดทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้น เมื่อวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2525 โดยใช้ชื่อว่าพรรคสังคมประชาธิปไตย

อนึ่ง ชื่อพรรคแนวร่วมสังคมนิยมนั้น เคยได้ถูกนำมาใช้เรียกการรวมตัวกันในลักษณะของแนวร่วม เมื่อเดือนกันยายน ปี 2499 ซึ่งประกอบด้วยพรรคเศรษฐกร พรรคขบวนการไฮด์ปาร์ค พรรคสังคมประชาธิปไตย พรรคเสรีประชาธิปไตย โดยมีนายเทพ โชตินุชิต เป็นหัวหน้ากลุ่มดังกล่าว ต่อมาการรวมกลุ่มดังกล่าวก็ต้องถูกยกเลิกไปเมื่อเกิดการรัฐประหาร 20ตุลาคม พ.ศ. 2501 ที่นำโดยจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัตน์ ได้สั่งให้ยกเลิกพรรคการเมือง


แนวนโยบายและการดำเนินการ[4]


ด้านการเมือง ทางพรรคมีนโยบายในการสนับสนุนการปกครองในระบอบประชาธิปไตยโดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ให้เสรีภาพในการพูด เขียน โฆษณา นับถือลัทธิทางการเมืองศาสนาและต้องการขจัดอิทธิพลของต่างชาติ


ด้านการปกครอง

1.จัดระบบการบริหารการเมืองในแบบประชาธิปไตยแต่ในด้านเศรษฐกิจจะเป็นไปในรูปแบบสังคมนิยม

2.สร้างการมีส่วนทางการเมืองของประชาชนโดยจัดให้มีการเลือกตั้งในทุกระดับ

3.ไม่สนับสนุนการจัดกำลังทหารเพื่อเตรียมการทำสงคราม


ด้านเศรษฐกิจ

1.สถาบันทางการเงินต่างๆต้องดำเนินการภายใต้การนำของรัฐ สนับสนุนให้เอกชนมีการรวมตัวกันในรูปแบบสหกรณ์

2.รัฐต้องจัดสรรทรัพยากรต่างๆให้ประชาชนอย่างเหมาะสม

3.ส่งเสริมสหกรณ์การพาณิชย์

4.สนับสนุนการค้าระหว่างประเทศที่กระทำโดยรัฐหรือสหกรณ์


ด้านเกษตรกรรม รัฐต้องจัดสรรที่ดินให้เกษตรกรมีที่ดินเป็นของตนเอง ปลดเปลื้องหนี้สินของเกษตรกรอย่างเป็นธรรม ส่งเสริมการผลิตและแรงงานการผลิตทางการเกษตรให้มีประสิทธิภาพ


ด้านอุตสาหกรรมและหัตกรรม รัฐต้องเป็นผู้ดำเนินการอุตสาหกรรมขั้นพื้นฐาน เร่งพัฒนาอุตสาหกรรมที่ส่งเสริมการเกษตร ไม่รับการลงทุนของต่างประเทศที่มีลักษณะเอารัดเอาเปรียบ สร้างความเป็นธรรมให้กับแรงงานในภาคอุตสาหกรรม


ด้านแรงงาน

1.ประกันสวัสดิภาพ สวัสดิการโดยเท่าเทียมกัน

2.ส่งเสริมการตั้งสหภาพแรงงาน

3.กำหนดค่าแรงค่าจ้างให้ผู้ใช้แรงงานทุกประเภท

4.ดูแลผู้ใช้แรงงานเมื่อถึงวัยชราหรือทุพพลภาพ

5.คุ้มครองแรงงานสตรีและเยาวชน


ด้านการศึกษา

1.ส่งเสริมการศึกษาให้แก่ประชาชนโดยไม่คิดมูลค่า

2.ส่งเสริมการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ ประชาธิปไตย ภาษาทั้งของชนชาติส่วนน้อยและภาษาไทย


ด้านสาธารณสุข

1.ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์อย่างทั่วถึง

2.จัดหาเวชภัณฑ์แบบให้เปล่าสำหรับผู้มีรายได้น้อย

3.ผลิตแพทย์ให้เพียงพอต่อความต้องการของประชาชน

4.สนับสนุน ส่งเสริมและพัฒนาแพทย์แผนโบราณ


ด้านต่างประเทศ เป็นมิตรกับทุกประเทศ ไม่แทรกแซงทางการเมือง เศรษฐกิจและการทหาร ไม่ยอมรับความช่วยเหลือจากต่างประเทศที่มีพันธะ

อ้างอิง

  1. ราชกิจจานุเบกษา ฉบับพิเศษ เล่มที่ 92 ตอนที่ 193 น. 251
  2. สยามจดหมายเหตุ ปีที่ 1 ฉบับที่ 8 พ.ศ. 2519 น.171
  3. ดูหนึ่งในแถลงการณ์คัดค้านการกระทำของรัฐบาลได้ใน สยามจดหมายเหตุ ปีที่ 1 ฉบับที่3 น.60
  4. ราชกิจจานุเบกษา ฉบับพิเศษ เล่มที่ 92 ตอนที่ 193 น. 252-260