ดำรงไทย (พ.ศ. 2538)

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
รุ่นแก้ไขเมื่อ 22:05, 23 มิถุนายน 2553 โดย Teeraphan (คุย | ส่วนร่วม)
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองศาสตราจารย์นรนิติ เศรษฐบุตร และ รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต



พรรคดำรงไทย (2538)

พรรคดำรงไทยได้ยื่นขอจดทะเบียนพรรคการเมืองเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2538[1] โดยมีนายประพนธ์ จันทร์กล่ำ[2] ดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้าพรรค ต่อมาเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2538 พรรคได้มีการจัดประชุมใหญ่วิสามัญเพื่อเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารชุดใหม่ ซึ่งหัวหน้าพรรคคนใหม่ได้แก่ นายวีระ มุกสิกพงศ์[3] แต่เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2539 ศาลฎีกาได้มีคำสั่งยุบเลิกพรรคดำรงไทย[4] เนื่องจากไม่มีสมาชิกได้รับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

ในส่วนของการเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองของพรรคดำรงไทยนั้น ในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อ วันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2538 พรรคได้ส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ทั่วประเทศจำนวน 122 คน แต่มิได้รับการเลือกเลยแม้แต่คนเดียวดังนั้นจึงเป็นเหตุให้ศาลฎีกาตัดสินยุบเลิกพรรคดำรงไทยในเวลาต่อมา

รายละเอียดเกี่ยวกับนโยบายและการดำเนินการที่สำคัญมีดังต่อไปนี้คือ


ด้านการเมือง

1.ยึดมั่นและมุ่งพัฒนาการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข

2.มุ่งเสริมสร้างศรัทธาและความเชื่อมั่นในสถาบันรัฐสภาให้เกิดแก่มวลชนทุกหมู่เหล่า

3.มุ่งกระจายอำนาจการปกครองออกสู่ท้องถิ่น


ด้านการบริหาร

1.เร่งปรับปรุงกลไกการบริหารของหน่วยงานราชการ และรัฐวิสาหกิจ

2.ส่งเสริมนักการเมืองให้มีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล มีความรู้และประสบการณ์สูงในการบริหาร

3.ประสานและร่วมมือกับภาคเอกชนในการวางแผนเศรษฐกิจและสังคม


นโยบายต่างประเทศและความมั่นคง

1.มุ่งมั่นรักษาเอกราช อธิปไตยและความมั่นคงของประเทศด้วยการกระชับความสัมพันธ์กับนานาประเทศ

2.ร่วมมือกับประเทศต่างๆ ที่มีอุดมการณ์ร่วมกัน

3.เคารพและปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศ


นโยบายด้านเศรษฐกิจ

1.ธำรงความเติบโตทางเศรษฐกิจในอัตราสูงอย่างต่อเนื่องและให้มีการขยายตัวทุกแขนง

2.สนับสนุนการวิจัยค้นคว้าวิทยาการต่างๆ เพื่อลดต้นทุนการผลิต

3.ส่งเสริมการออม


นโยบายด้านสังคม

1.พัฒนาสังคมให้สอดคล้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจ ส่งเสริมคุณธรรมและการสร้างวินัยในสังคม

2.ส่งเสริมความเป็นธรรมในสังคม พิทักษ์ปกป้องดูแลชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนด้วยการบังคับใช้กฎหมายอย่างเป็นธรรม

3.เพิ่มศักยภาพในการพัฒนาตนเองของประชาชน และจัดสวัสดิการทางสังคมให้เพียงพอกับความต้องการของประชาชน


นโยบายด้านการศึกษา

1.มุ่งส่งเสริมและสร้างโอกาสให้แก่เยาวชนและประชาชนในชาติให้ได้รับการศึกษาอบรมอย่างถูกต้อง

2.กระจายการศึกษาไปสู่ท้องถิ่น และสนับสนุนให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา

3.มุ่งพัฒนาและยกระดับคุณภาพในการจัดการศึกษาทุกระดับ


อ้างอิง

  1. ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 112 ตอนพิเศษ 5ง หน้า 24
  2. ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 112 ตอนพิเศษ 5ง หน้า 24
  3. ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 112 ตอนที่ 50ง หน้า 9
  4. ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 114 ตอนที่ 54ง หน้า 11