นักเรียนเลว (น.ร.ล.)

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
รุ่นแก้ไขเมื่อ 14:25, 16 มีนาคม 2566 โดย Trikao (คุย | ส่วนร่วม)
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)

ผู้เรียบเรียง : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ศุทธิกานต์ มีจั่น

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : ดร.สติธร ธนานิธิโชติ

 

          นักเรียนเลว” (น.ร.ล.) เป็นกลุ่มนักเรียนที่ออกมาเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชนในสถานศึกษา เป็นการรวมกลุ่มของนักเรียนที่มองเห็นถึงปัญหาอันเกิดจากการได้รับผลกระทบต่าง ๆ ในฐานะผลผลิตที่ผิดพลาดจากระบบการศึกษา โดยมีการใช้ทวิตเตอร์ในชื่อ @BadStudent_ เป็นการเคลื่อนไหวและนำเสนอประเด็นปัญหาต่าง ๆ ที่เน้นให้ตระหนักถึงสภาวะแห่งความเป็นเผด็จการที่กดทับในระบบการศึกษาที่เกิดขึ้นทั้งกับครูและนักเรียน ซึ่งก่อนหน้าจะมีการรวมกลุ่มในชื่อนี้ คำว่า “นักเรียนเลวในระบบการศึกษา​แส​นดี”​ เป็นชื่อหนังสือขายดีที่บอกเล่าประสบการณ์​ของนักเรียนคนหนึ่​ง เขียนโดย นายเนติ​วิทย์​ โชติ​ภัทร​์​ไพศาล​ พิมพ์โดยสำนักพิมพ์เจ้าซ้ายน้อย ตีพิมพ์ครั้งแรกในเดือนกันยายน พ.ศ. 2559

          กิจกรรมของกลุ่มนักเรียนเลวที่สำคัญ คือ การรวมตัวกันชุมนุมเพื่อนำเสนอข้อเรียกร้องต่อกระทรวงศึกษาธิการ โดยการชุมนุมครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ.2563 บริเวณถนนราชดำเนินกลาง ในการจัดกิจกรรมเดินขบวน Pride นักเรียน ภายใต้แฮชแท็ก #เราไม่ใช่ตัวประหลาด และเดินขบวนเพื่อไปยื่นข้อเรียกร้องต่อกระทรวงศึกษาธิการใน 4 ประเด็น ของนักเรียนที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ) ประกอบไปด้วย เรื่องทรงผม เครื่องแต่งกาย ความเข้าใจที่ถูกต้องและการเลือกปฏิบัติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเนื้อหาในหนังสือเรียนวิชาสุขศึกษา ที่มีความล้าสมัยซึ่งยังให้ความรู้เรื่องเพศสภาพและเพศวิถีแบบที่ไม่เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกสมัยใหม่

          ต่อมาได้มีการจัดชุมนุมครั้งที่ 2 ซึ่งเป็นการร่วมกับภาคีเครือข่ายในการจัดชุมนุมนักเรียนระดับมัธยมศึกษาจาก 50 โรงเรียนทั่วประเทศหน้ากระทรวงศึกษาธิการ เมื่อวันที่ 5 กันยายน พ.ศ.2563 โดยการชุมนุมครั้งนี้ใช้ชื่อว่า "หนูรู้หนูมันเลว" ได้ประกาศ 3 ข้อเรียกร้อง ได้แก่ 

          (1) หยุดคุกคามนักเรียนเพื่อให้โรงเรียนเป็นสถานที่ปลอดภัยโดยไม่ปล่อยให้นักเรียนถูกคุกคามจากบุคคลากรทางการศึกษา ครู และตำรวจ ที่ไม่ได้หมายถึงการคุกคามอันเกิดจากการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ทางการเมืองเท่านั้น แต่หมายความรวมถึงการตีและทำร้ายนักเรียนอย่างไม่สมเหตุสมผล การคุกคามทางเพศในโรงเรียน ตลอดจนการคุกคามเหยียดเพศสภาพของนักเรียน โดยกระทรวงศึกษาธิการต้องปกป้องนักเรียนจากการถูกคุกคามทั้งจากหน่วยงานภายในและภายนอกกระทรวง

          (2) ยกเลิกประกาศ กฎ ระเบียบ หรือข้อบังคับที่มีเนื้อหาล้าหลังที่ไม่สอดรับกับหลักสิทธิมนุษยชนสากลในปัจจุบัน ที่กลายเป็นฐานอำนาจให้ครูและบุคคลากรทางการศึกษาในการละเมิดสิทธิและเสรีภาพ ทั้งยังลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์ในตัวนักเรียนมาโดยตลอด อาทิ เรื่องทรงผมของนักเรียนและเครื่องแบบนักเรียน ทั้งยังต้องมีมาตรการที่สามารถประกันสิทธิและเสรีภาพของนักเรียนไม่ให้ถูกละเมิดต่อไปในอนาคต

          (3) ปฏิรูปการศึกษาไทยทั้งระบบ เพื่อขจัดปัญหาต่าง ๆ ที่ส่งผลต่อตัวผู้เรียน เช่น ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ปัญหาการเข้าไม่ถึงการศึกษา ปัญหาหลักสูตรที่ไม่มีคุณภาพ ปัญหาภาระงานครู ปัญหาพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของครู เป็นต้น ทั้งนี้ต้องให้นักเรียนมีส่วนร่วมในการปฏิรูปการศึกษาร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการด้วยเพื่อร่วมกันผลักดันการศึกษาไทยให้ก้าวหน้าได้อย่างเข้มแข็ง

          ทั้งนี้ ผู้ชุมนุมได้เสนอเงื่อนไข คือ หากข้อเรียกร้องดังกล่าวไม่สามารถทำได้ขอให้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการลาออกจากตำแหน่ง ซึ่งหนึ่งในกิจกรรมสำคัญที่เกิดขึ้นคือการประชันความเห็นระหว่าง นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กับนายลภนพัฒน์ หวังไพสิ นักเรียนชั้น มัธยมศึกษาปีที่ 6 และเลขาธิการกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไทในประเด็น “แสดงพลังปฏิรูปการศึกษาให้ดีขึ้น เพื่ออนาคตของพวกเรา” รวมทั้งร่วมกับแนวร่วมจัดการชุมนุมอย่างน้อย 48 องค์กรวางพวงหรีดข้างกำแพงกระทรวงศึกษาธิการและให้นักเรียนได้เขียนข้อความเรียกร้องต่าง ๆ  รวมทั้งได้มีการตั้งโต๊ะเชิญชวนนักเรียนที่อายุ 18 ปี ขึ้นไป เข้าชื่อ 50,000 ชื่อ ในกิจกรรม “ร่วมรื้อ ร่วมสร้าง ร่วมร่างรัฐธรรมนูญ”

 

ภาพ การชุมนุมของกลุ่มนักเรียนเลว เมื่อวันที่ 5 กันยายน พ.ศ.2563

BadStudent 1.png
BadStudent 1.png
BadStudent 2.png
BadStudent 2.png

ที่มา : “แกนนำกลุ่ม "นักเรียนเลว" ประกาศยุติการชุมนุม ท่ามกลางกำลังตำรวจที่มาคอยดูแล”. สืบค้นจาก https://siamrath.co.th/n/180216https://www.bbc.com/thai/thailand-54038953 (30 กันยายน 2563).

 

          อย่างไรก็ดี ในเวลาต่อมาภายใต้ผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา หรือโควิด- 19 ที่นักเรียนไม่สามารถไปโรงเรียนได้ตามปกติเป็นระยะเวลานานกว่า 1 ปีที่รัฐบาลประกาศเลื่อนเปิดเทอม และให้เรียนออนไลน์อย่างต่อเนื่องโดยไม่มีมาตรการช่วยเหลือและเยียวยาอย่างประสิทธิภาพ ที่ผลักภาระค่าใช้จ่ายและความรับผิดชอบทั้งหมดให้กับนักเรียนและผู้ปกครอง กลุ่มนักเรียนเลวได้ประกาศแคมเปญของกลุ่มนักเรียนเลวเพื่อหยุดเรียนออนไลน์ ประท้วงการเรียนการสอนที่ล้มเหลวของกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมกับเรียกร้องให้เหล่านักเรียนทั้งหลายร่วมตะโกนเสียงร้องให้รัฐบาลและกระทรวงศึกษาธิการรับรู้และแก้ไขปัญหาการเรียนออนไลน์ ระหว่างวันที่ 6-10 กันยายน พ.ศ. 2564 นอกจากนี้ ยังได้มีการทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ที่ได้รับความสนใจอย่างมาก คือ การที่มีผู้หญิงใส่ชุดนักเรียนมัธยม ผูกเชือกและห้อยตัวเองหย่อนลงมาบริเวณสกายวอล์กสี่แยกอโศก คล้ายกับการแขวนคอพร้อมกับป้ายไวนิลขนาดใหญ่ที่มีใจความว่า ‘เด็ก 1.8 ล้านคน กำลังหลุดออกจากระบบการศึกษา เพราะการเรียนออนไลน์ไม่เห็นหัวเด็ก’ เพื่อแสดงให้เห็นถึงการล้มเหลวของระบบการศึกษาที่เป็นเรื่องคอขาดบาดตาย คือชีวิตและอนาคตของเด็กคนหนึ่ง รวมทั้งการรวมตัวกันนั่งกราบป้ายกระทรวงศึกษาธิการ เมื่อวันที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2564 โดยได้ยื่นหนังสือถึง นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ผ่านนายวีระ แข็งกสิการ รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ โดยมีข้อเรียกร้อง 5 ข้อ ประกอบด้วย

          (1) กระทรวงศึกษาธิการ ต้องออกคำสั่งปรับลดตัวชี้วัด ชั่วโมงการเรียน ภาระงานของครูและนักเรียนให้ชัดเจน ปรับหลักสูตรการศึกษาให้เหมาะสมกับสถานการณ์การเรียนออนไลน์ในปัจจุบันโดยทันที

          (2) จัดให้มีผู้เชี่ยวชาญในการช่วยเหลือและเยียวยาสภาพจิตใจนักเรียนจากการเรียนออนไลน์ที่มีความเคร่งเครียดมากกว่าปกติ จัดให้มีช่องทางการรายงานปัญหาต่าง ๆ เพื่อตรวจสอบและหาทางแก้

          (3) ในกรณีที่สถานศึกษายังไม่สามารถเปิดทำการเรียนการสอนได้ กระทรวงศึกษาธิการต้องจัดหาอุปกรณ์การเรียนออนไลน์ และเยียวยาค่าใช้จ่ายตามความเป็นจริงอย่างเร่งด่วนและทั่วถึง

          (4) เร่งทำให้การศึกษามีคุณภาพอย่างทั่วถึงโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ โดยอาจมีการลดหย่อนค่าธรรมเนียมการศึกษา พักชำระหนี้การศึกษา ฯลฯ เพื่อป้องกันไม่ให้มีนักเรียนหลุดออกจากระบบการศึกษาไปมากกว่านี้

          (5) รัฐบาลต้องนำวัคซีนโควิด-19 ที่มีประสิทธิภาพสูงมาฉีดให้นักเรียน นักศึกษา บุคลากรทางการศึกษา และประชาชนทั่วไป โดยต้องมีการเปิดเผยข้อมูล สัญญา และรายละเอียดเกี่ยวกับการจัดซื้อวัคซีนอย่างโปร่งใส

 

ภาพ กิจกรรมสะท้อนปัญหาการเรียนออนไลน์ผ่านกิจกรรม “เรียนออนไลน์เราจะตายกันหมด” ของกลุ่มนักเรียนเลว

BadStudent 3.png
BadStudent 3.png
BadStudent 4.png
BadStudent 4.png
BadStudent 5.png
BadStudent 5.png

ที่มา : “กลุ่มนักเรียนเลว สะท้อนปัญหา รัฐบีบเรียนออนไลน์ แต่ไม่สนับสนุนค่าใช้จ่ายอย่างเพียงพอ”. สืบค้นจาก https://www.voicetv.co.th/read/fIKXgR0r1 (20 ธันวาคม 2564).

 

          นอกจากกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ดังกล่าวแล้ว กลุ่ม ‘นักเรียนเลว’ ยังดำเนินกิจกรรมและเคลื่อนไหวในการเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสิทธิขั้นพื้นฐานที่นักเรียนทุกคนมี เช่น การจัดทำและแจกจ่าย “คู่มือเอาตัวรอดในโรงเรียน” เป็นหนังสือเล่มเล็กที่รวบรวมความรู้ วิธีการพิทักษ์สิทธิในเบื้องต้น การใช้กลไกทางกฎหมายในการร้องเรียนเมื่อถูกละเมิดสิทธิ ซึ่งแนวทางของกลุ่มนั้นมุ่งเน้นให้เกิดการรวมกลุ่มเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงในระยะยาว เพื่อให้เยาวชนไทยตระหนักถึงสิทธิที่ตนเองมี และสร้างกลุ่มนักปกป้องสิทธิรุ่นใหม่ เป็นต้น

 

อ้างอิง

“กลุ่มนักเรียนเลว เรียกร้อง 5 ข้อ ก่อนเยาวชนหลุดระบบการศึกษาไปมากกว่านี้”. สืบค้นจาก https://www.thairath.co.th/news/politic/2190493(20 ธันวาคม 2564).

“กลุ่ม 'นักเรียนเลว' ทยอยร่วมชุมนุมใหญ่หน้ากระทรวงศึกษาธิการ”. สืบค้นจาก https://prachatai.com/journal/2020/09/89388 (30 กันยายน 2563).

“คอลัมน์หน้า 3 : น้อมใจ ศึกษา เรียนรู้ จาก นักเรียนเลว ผ่าน แถลงการณ์”. สืบค้นจาก https://www.matichon.co.th/article/news_2337780 (30 กันยายน 2563).

“คุยกับ ‘นักเรียนเลว’ ทำไมต้องหยุดเรียน และทำไมต้อง ‘ไม่ทน’ กับระบบการศึกษาที่ล้มเหลว”. สืบค้นจาก https://themomentum.co/students-strike/

“‘นักเรียนเลว’ เดินขบวน บุกกระทรวงศึกษาธิการ ยื่น 4 ข้อเสนอเพื่อกลุ่มนักเรียน LGBTQ”. สืบค้นจาก https://thestandard.co/we-are-not-freaks-students-march-for-lgbt-equality/ (30 กันยายน 2563).

“นักเรียนเลว : ณัฏฐพลรับมอบ “นกหวีด” หลังจบดีเบตปมคุกคามนักเรียน”. สืบค้นจาก https://www.bbc.com/thai/thailand-54038953 (30 กันยายน 2563).

“นักเรียนเลว แจกคู่มือ ‘เอาตัวรอดในโรงเรียน’ หน้าโรงเรียนสตรีวิทยา หลังเปิดแคมเปญยอดขอรับทะลุ 1.7 หมื่น”. สืบค้นจาก https://thestandard.co/badstudent-handbook-at-satri-witthaya-school/(20 ธันวาคม 2564).

“เปิด 10 ข้อ "กลุ่มนักเรียนเลว" จะไม่ทน”. สืบค้นจาก https://www.komchadluek.net/news/edu- health/442574 (30 กันยายน 2563).

“มาตามนัด! กลุ่ม'นักเรียนเลว'บุกดีเบต-วางพวงหรีดหน้าศธ.'ช่อ'โผล่โหนม็อบเด็ก”. สืบค้นจาก https://www.naewna.com/politic/516371 (30 กันยายน 2563).

“อ่านแถลงการณ์ ของนักเรียนเลว ปัญหาของโรงเรียน ของประเทศ”. สืบค้นจาก https://www.matichon.co.th/article/news_2337780 (30 กันยายน 2563).