บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
รุ่นแก้ไขเมื่อ 14:34, 20 ตุลาคม 2563 โดย Apirom (คุย | ส่วนร่วม)
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)

ผู้เรียบเรียง รองศาสตราจารย์ ดร.อรรถสิทธิ์ พานแก้ว

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย


           บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือ “บัตรคนจน” ภายใต้โครงการประชารัฐสวัสดิการ เป็นมาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย ซึ่งขึ้นทะเบียนไว้กับกระทรวงการคลัง ประมาณ 14.6 ล้านคน ในสมัยรัฐบาล ที่มีพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โครงการฯ เริ่มต้นดำเนินการตั้งแต่เดือนตุลาคม 2560 เป็นต้นมา ทั้งนี้ บัตรสวัสดิการแห่งรัฐมีเป้าหมายเพื่อช่วยเหลือค่าครองชีพแก่ผู้มีรายได้น้อยให้พ้นจากความยากจน ในรูปแบบการให้ผู้ถือสิทธิตามบัตร สามารถใช้เพื่อลดหย่อนค่าสินค้าอุปโภคบริโภค บริการ และค่าเดินทาง อย่างไรก็ตาม เมื่อ มาตราการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ได้รับการตรวจสอบจากสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ในปี 2563 กลับพบว่าทำให้สูญเสียงบประมาณแผ่นดินจำนวนมากโดยไม่ก่อให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง ทั้งยังถูกกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็น “นโยบายประชานิยม” ที่รัฐบาลยุค คสช. ต้องการดึงคะแนนความนิยมจากประชาชนเพื่อเตรียมการ “สืบทอดอำนาจ” ก่อนที่จะจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป หลังจากว่างเว้นมาเป็นระยะเวลาเกือบ 5 ปี

 

 “บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ” แก้โจทย์ความยากจน

 

บัตรนี้มีประโยชน์ เพราะช่วยคนยากไร้ คนแก่ เราดูแลไม่ให้มีการรั่วไหล มีการตรวจสอบคุณสมบัติของคนที่มีบัตร ว่ายากไร้จริงหรือไม่ ไม่มีใครเขาเรียกบัตรคนจน ...หาข้อมูลหน่อยนะครับ ทำการบ้านหน่อยนะ ถ้าจะทำ ก็พยายามทำให้ดีกว่าบัตรสวัสดิการแห่งรัฐด้วย[1]

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์

รองนายกรัฐมนตรี

17 ตุลาคม 2561

 

           ความยากจน (poverty) และความเหลื่อมล้ำ (inequality) เป็นปัญหาเรื้อรังของประเทศกำลังพัฒนาทั่วโลก ไม่เว้นแม้แต่ประเทศไทยความยากจนและความเหลื่อมล้ำเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมมาอย่างยาวนาน ถึงแม้ว่า รายงานประจำปี 2559 ของสำนักงานคณะกรรมการสภาการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จะระบุว่า ตลอดสามทศวรรษที่ผ่านมา ภาพรวมความยากจนในภายประเทศไทยมีแนวโน้มที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องจากร้อยละ 65.17 ในปี 2531 เหลือร้อยละ 8.6 ในปี 2559 หรือคิดเป็นประชากรยากจนจำนวน 5.81 ล้านคน และเมื่อรวมกับ "คนเกือบจน" พบว่ามีจำนวนทั้งสิ้น 11.6 ล้านคน หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 17.2 ของประชากรประเทศ ทว่าในจำนวนนี้ยังมีประชากรยากจนเรื้อรัง (chronic poverty) (คิดเป็นร้อยละ 2.88) อันเป็นกลุ่มที่มีโอกาสหลุดพ้นจากความยากจนได้ยากที่สุด จึงมีความจำเป็นต้องดำเนินการแก้ไขปัญหาให้เกิดการเข้าถึงสวัสดิการและบริการพื้นฐานของรัฐให้ครอบคลุมทั่วถึง ทั้งยังเปิดโอกาสให้เกิดการกระจายรายได้อย่างเท่าเทียมมากยิ่งขึ้นเพื่อลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำได้อย่างเกิดประสิทธิผล[2]

           รัฐบาลจึงมีแนวคิดเบื้องต้นในอันที่จะโอนเงินสวัสดิการของรัฐเข้าสู่บัญชีผู้มีรายได้น้อยผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ แต่ก็ต้องเผชิญกับข้อจำกัดด้านข้อมูลที่ซ้ำซ้อนและไม่ทันสมัย กระทรวงการคลังจึงเริ่มเปิดให้มีการลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อยครั้งแรกในปี 2559 ซึ่งพบว่ามีผู้มาลงทะเบียนประมาณ 8 ล้านคน ต่อมาเมื่อถึงกลางปี 2560 มีการเปิดลงทะเบียนเพิ่มเติมระหว่างวันที่ 3 เมษายน - 15 พฤษภาคม 2560 เพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลในการจัดสวัสดิการสังคมและบริการภาครัฐ จนเพิ่มขึ้นเป็น 14 ล้านคน แต่เมื่อตรวจสอบคุณสมบัติแล้วพบว่ามีผู้ที่ผ่านเกณฑ์คุณสมบัติทั้งหมด 11.4 ล้านคน[3] สำหรับเกณฑ์คุณสมบัติที่กระทรวงการคลังใช้ในการพิจารณาผู้ลงทะเบียนนั้น ได้แบ่งประชากรออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มประชากรอยากจน ซึ่งมีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาทต่อปี หรือมีรายได้ประมาณ 2,000 กว่าบาทต่อเดือน และกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ซึ่งมีรายได้ต่ำกว่า 100,000 บาทต่อปี หรือมีรายได้ 6,000-7,000 บาทต่อเดือน ทั้งนี้ นายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะรองโฆษกกระทรวงการคลัง ได้สัมภาษณ์ว่า “บัตรสวัสดิการแห่งรัฐจึงเกิดขึ้นมารองรับกับข้อมูลปัจจุบัน และยังเป็นการแสดงตัวตนได้ด้วยว่าเป็นตัวจริง เป็นผู้ที่ผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติมาแล้ว เพื่อที่การโอนเงินสวัสดิการจะได้มีประสิทธิภาพ คือจ่ายตรงให้กับผู้ที่มีสิทธิจริงๆ ทำให้ต้องมีการจัดลงทะเบียนเกิดขึ้น”[4]

           สำหรับมาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยระยะแรกนั้น รัฐบาลได้ใส่เงินเข้าไปในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โดยผู้มีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาทต่อปี จะได้รับเงิน 300 บาทต่อเดือน ขณะที่ผู้มีรายได้ 30,001-100,000 บาทต่อปี จะได้รับเงิน 200 บาทต่อเดือน เพื่อนำไปซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นที่ร้าน "ธงฟ้าประชารัฐ" หรือร้านค้าอื่นๆ ที่กระทรวงพาณิชย์กำหนด ทั้งสองกลุ่มจะได้รับส่วนลดค่าซื้อแก๊สหุงต้มคนละ 45 บาทต่อ 3 เดือน ทั้งยังได้รับส่วนลดค่าเดินทางในขนส่งมวลชนสาธารณะ ได้แก่ ค่ารถเมล์รถไฟฟ้า เดือนละ 500 บาท ค่าไฟ เดือนละ 500 บาท และค่ารถ บขส. เดือนละ 500 บาท[5] ต่อมาวันที่ 9 มกราคม 2561 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ได้มีมติเห็นชอบมาตรการช่วยเหลือระยะที่ 2 (มีนาคม ถึง ธันวาคม 2561) เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตแก่ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนางานและทักษะอาชีพ ทั้งนี้ รัฐบาลจึงได้พัฒนาระบบที่เรียกว่า "ผู้ดูแลผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ" (Account Officer: AO) ซึ่งมีคณะทำงานพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐประจำอำเภอ หรือ "ทีมหมอประชารัฐสุขใจ" คอยเก็บรวบรวมข้อมูลผู้ประสงค์จะฝึกฝนทักษะอาชีพและจัดสรรตำแหน่งงานให้ตรงกับความสนใจของผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ พร้อมกับเพิ่มเงินในบัตรจาก 300 บาท เป็น 500 บาท แก่ผู้มีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาทต่อปี และจาก 200 บาท เป็น 300 บาท สำหรับผู้มีรายได้ 30,001-100,000 บาทต่อปี หากไม่ทำตามสัญญาก็จะยุติการเพิ่มเงินผ่านบัตร และจะหักเงินส่วนที่เพิ่มไปแล้วจากยอดที่ได้รับปกติ[6]

           กระทั่งปลายปี 2561 ซึ่งเกิดกระแสเรียกร้องกดดันรัฐบาล คสช. ให้มีการจัดการเลือกตั้งขึ้นภายหลังจากว่างเว้นมาเกือบ 5 ปี ในช่วงเวลานี้เองที่รัฐบาลได้ประกาศมาตรการขยายสิทธิผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐให้แก่กลุ่มผู้พิการ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง ที่ไม่สามารถเดินทางมาลงทะเบียนในครั้งแรกได้ ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐจึงเพิ่มขึ้นจาก  11.4 ล้านคน เป็น 14.5 ล้านคน พร้อมทั้งเพิ่มการช่วยเหลือในหลายประการผ่านการใช้สิทธิใน 2 ประเภท อันได้แก่ 1) สิทธิในกระเป๋าวงเงิน ซึ่งเป็นวงเงินสำหรับอุปโภคบริโภค เงินส่วนลดแก๊สหุงต้ม และเงินค่าเดินทางขนส่งสาธารณะในวงเงินเท่ากับที่เคยดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2560 และ 2) สิทธิในกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Money) ซึ่งมีตั้งแต่การมอบเงินสนับสนุนค่าใช้จ่ายช่วงปีใหม่ 2562 คนละ 500 บาท (จ่ายครั้งเดียว) เงินช่วยเหลือภาระค่าไฟฟ้าไม่เกิน 230 บาท/ครัวเรือน/เดือน และค่าน้ำประปาไม่เกิน 100 บาทต่อครัวเรือนต่อเดือน สำหรับผู้สูงอายุนั้น ผู้มีสิทธิจะได้รับเงินสงเคราะห์เพื่อยังชีพ เงินช่วยเหลือด้านค่าเช่าบ้าน เงินช่วยเหลือค่าเดินทางไปรับการรักษาพยาบาลและค่าใช้จ่ายอื่นเกี่ยวกับสุขภาพ เป็นต้น[7]

 

 “ประชานิยมแบบทหาร” กับการติดตามตรวจสอบ “บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ”

          การก่อตั้งพรรค พลังประชารัฐเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2561 ถือเป็นการส่งสัญญาณว่ากำลังจะมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในเวลาอันใกล้ ไม่เพียงเพราะว่าพรรคพลังประชารัฐถูกมองในฐานะที่เป็นพรรคการเมืองสืบทอดอำนาจของรัฐบาล คสช. เท่านั้น หากยังเกิดปรากฏการณ์ “เลือดไหล” หรือ สมาชิกของพรรคการเมืองที่ต่อต้านรัฐบาล โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทย ได้ย้ายขั้วไปสังกัดพรรคพลังประชารัฐอย่างต่อเนื่อง[8] เมื่อถึงช่วงปลายปี 2561 ซึ่งรัฐบาล คสช. ได้ทุ่มวงเงินอนุมัติดำเนินโครงการลงไปในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐประมาณ 81,979 ล้านบาท จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจแต่อย่างใดที่พรรคการเมืองและกลุ่มการเมืองฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลจะมองว่านี่คือแผนการ “ประชานิยมแบบทหาร” ซึ่งอาศัยกลไกของรัฐเอาใจประชาชนผู้มีรายได้น้อยและหวังที่จะแปลเปลี่ยนให้เป็นคะแนนเสียงเมื่อถึงเวลาจะให้มีการเลือกตั้ง นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ขณะนั้น ได้วิจารณ์นโยบายนี้อย่างตรงไปตรงมาว่า

...เป็นบัตรที่ทำให้ประชาชนสับสนและเอื้อประโยชน์ให้กับบางพรรคการเมืองนี่สะท้อนให้เห็นอะไรหลายอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความต้องการจะเอาชนะของผู้มีอำนาจรัฐ ทำทุกวิถีทางไม่ให้เกิดการเสียของเหมือนเมื่อครั้งรัฐประหาร '19 กันยาฯ พอกลับมาเลือกตั้งแล้วก็ยังพ่ายแพ้ พรรคอนาคตใหม่มีความกังวลว่านี่อาจเป็นการเลือกตั้งที่สกปรกที่สุดในประวัติศาสตร์[9]

 

           นอกจากนั้นแล้ว มาตรการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ยังถูก วิพากษ์วิจารณ์ว่า ก่อให้เกิดการสูญเสียงบประมาณมหาศาล โดยไม่ก่อให้เกิดความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจของประเทศอย่างแท้จริง เพราะแม้ดูเหมือน ว่าเม็ดเงินที่ใส่ลงไปในบัตรจะถูกกระจายไปสู่ประชาชนผู้มีรายได้น้อยซึ่งต้องนำไปจับจ่ายใช้สอยอย่างร้านค้าของผู้ประกอบการรายย่อยก็ตาม แต่ท้ายที่สุดแล้วเม็ดเงินจำนวนมหาศาลก็จะไปกระจุกตัวอยู่ที่นายทุนรายใหญ่ไม่กี่ราย จึงเท่ากับเป็นการช่วย “เจ้าสัว” มากกว่าที่จะช่วยคนจน ตามเป้าหมายการดำเนินการของโครงการที่ได้ชี้แจงไว้แก่สาธารณชน[10] อย่างไรก็ตาม ภายหลังการเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 และพรรคพลังประชารัฐเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล โดยมีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ได้มีการแถลงยืนยันว่ามาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ยังคงเป็นนโยบายหลักของรัฐบาล[11]

          ทั้งนี้ คำวิจารณ์ที่มีต่อความไม่คุ้มค่าของบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการประชารัฐสวัสดิการ ภายใต้การดำเนินงานของรัฐบาล คสช. นั้น สอดคล้องกับผลการตรวจสอบของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่ได้เปิดเผยเมื่อต้นปี 2563 โดยมีประเด็น ดังนี้[12]

         ประการแรก การจัดทำฐานข้อมูลกลุ่มเป้าหมาย (ซึ่งก็คือ ผู้มีรายได้น้อย) ยังไม่ครอบคลุมกว้างขวางเพียงพอ ทั้งยังมีความคลาดเคลื่อนและไม่เป็นปัจจุบัน ส่งผลให้ผู้ที่ไม่ได้มีรายได้น้อยกลับได้รับความช่วยเหลือ ทำให้การใช้จ่ายงบประมาณเกิดความไม่คุ้มค่าไปไม่น้อยกว่า 2,000 ล้านบาท ขณะเดียวกัน ผู้ที่มีรายได้น้อย หรือ คนที่อยู่ในสภาวะยากจน กลับต้องเสียโอกาสที่จะได้รับความช่วยเหลือ จึงแสดงให้เห็นว่าโครงการฯ ไม่ได้บรรลุผลสำเร็จตามเจตนารมณ์ที่ตั้งไว้

          ประการที่สอง การพัฒนาคุณภาพชีวิตประชากรยากจนโดยมีแรงจูงใจในการเพิ่มวงเงินนั้น กลุ่มเป้าหมายไม่ได้เข้าฝึกอบรมพัฒนาทักษะอาชีพภายในระยะเวลาที่กำหนด (ธันวาคม 2561) ทำให้การจัดอบรมสำหรับผู้ที่ต้องการจะเข้าร่วมอย่างแท้จริงต้องชะลอออกไป และยังปรากฏผู้ที่ไม่อยู่ในกลุ่มเป้าหมายแต่ต้องการเข้าร่วมอบรมจำนวนมาก ในแง่นี้ รัฐจึงต้องจ่ายงบประมาณอย่างไม่คุ้มค่าไปไม่น้อยกว่า 32,000 ล้านบาท ที่สำคัญ ก็คือ รัฐไม่สามารถใช้ข้อมูลที่มีอยู่เพื่อลดความเหลื่อมล้ำได้ตามวัตถุประสงค์ของโครงการ

          ประการที่สาม การช่วยเหลือผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐบางรายการยังไม่ก่อให้เกิดประโยชน์และยังเพิ่มความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงด้วย เช่น การเข้าถึงไฟฟ้า ประปา รถไฟ และรถ บขส. เป็นต้น นี่ยังไม่กล่าวถึง สินค้าอุปโภคบริโภคในร้านค้าธงฟ้าประชารัฐ ซึ่งมีราคาไม่แตกต่างจากท้องตลาด จึงไม่สามารถลดค่าครองชีพของประชาชนกลุ่มเป้าหมายได้

           ด้วยเหตุนี้ สตง. จึงเสนอให้มีการปรับปรุงระบบจัดเก็บข้อมูลเชิงลึกให้ถูกต้องถ้วนและเป็นปัจจุบัน มีระบบอุทธรณ์สิทธิ์ให้แก่ประชาชนและผู้มีข้อจำกัดในการเข้าถึงกระบวนการของรัฐ ทำการประชาสัมพันธ์ให้แก่หน่วยงานประชาชนและสังคมวงกว้าง พร้อมทั้งมีการทบทวนติดตามการดำเนินงานให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผล[13]

 

นัยสำคัญต่อการเมืองไทย : ความท้าทายของนโยบายสาธารณะ

           การออกนโยบายสาธารณะจำเป็นต้องคำนึงถึงความคุ้มค่าทั้งในทางเศรษฐกิจและทางสังคมควบคู่กันไป เนื่องจากการจัดทำนโยบายและการนำนโยบายไปปฏิบัตินั้นวางอยู่บนพื้นฐานของการใช้งบประมาณสาธารณะซึ่งส่วนใหญ่แล้วมาจากภาษีของประชาชน ทั้งนี้ ความแตกต่างระหว่างนโยบายที่ให้ประโยชน์กับประชาชนกับ “นโยบายประชานิยม” (populist policy) อยู่ที่ นโยบายอย่างแรกมีเป้าหมายหลักก็เพื่อต้องการแก้ไขปัญหาหรือพัฒนายกระดับคุณภาพชีวิตของประชากรของประเทศโดยคำนึงถึงความคุ้มค่าและผลกระทบเชิงลบอย่างรอบด้านให้อยู่ในระดับที่ไม่ส่งผลเสียต่อการบริหารราชการ วินัยทางการคลัง และงบประมาณโดยรวม ขณะที่นโยบายอย่างหลังในความสำคัญไปที่การเอาใจประชาชนและมุ่งหวังที่จะแปลเปลี่ยนความพึงพอใจดังกล่าวเป็นคะแนนนิยมในการเลือกตั้ง โดยละเลยการพิจารณาประเด็นอื่นๆ อย่างรอบด้าน หรือกล่าวได้ว่า “นโยบายประชานิยม” ให้ความสำคัญความเป็นการเมืองมากกว่าผลประโยชน์ที่ตกอยู่กับประชาชนและประเทศชาติโดยรวม

          เมื่อพิจารณาถึงนโยบาย “บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ” ของรัฐบาล คสช. แล้ว บางช่วงเวลาที่นโยบายนี้ออกมา (ตุลาคม 2561) ความรัดกุมในการนำไปปฏิบัติจำนวนเม็ดเงินงบประมาณที่อัดฉีดเข้าไปในโครงการ รวมถึงท่าทีทางการเมืองของผู้นำรัฐบาล ก็มีความโน้มเอียงไปในทาง “ นโยบายประชานิยม” มากกว่านโยบายเพื่อประชาชน  อย่างไรก็ตาม การจำกัดผลกระทบเชิงลบย่อมสามารถทำได้ด้วยการคัดกรองผู้ลงทะเบียนที่มีรายได้น้อยอย่างแท้จริง ตลอดจนการคำนึงถึงสัมฤทธิ์ผลเชิงนโยบายที่ต้องการยกระดับคุณภาพชีวิตของบรรดาผู้มีรายได้น้อยให้พ้นจากเส้นความยากจน สำหรับการเมืองไทยแล้ว นับตั้งแต่กลางทศวรรษ 2530 ซึ่งการเลือกตั้งได้กลายเป็นที่ยอมรับมากขึ้นในหมู่ชนชั้นนำว่าเป็นหนทางในการขึ้นสู่อำนาจ ทุกรัฐบาล (ไม่ว่าจะมาจากการเลือกตั้งหรือไม่ก็ตาม) ล้วนมีนโยบายที่เข้าข่ายประชานิยมด้วยกันทั้งสิ้น หากแต่นโยบายนั้นจะดำเนินการอย่างโปร่งใส ตรวจสอบได้ และเกิดประโยชน์กับประชาชนอย่างแท้จริงมากน้อยเพียงใดเหล่านี้ล้วนเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้นโยบายและรัฐบาลนั้นๆ มีความชอบธรรมทางการเมือง

 

บรรณานุกรม

 “แจกบัตรคนจนเพิ่มอีก 3 ล้านใบเริ่มใช้สิทธิต้นปีหน้า." มติชนออนไลน์ (18 ธันวาคม 2561). เข้าถึงจาก <https://www.matichon.co.th/news-monitor/news_1278014>. เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2563.

“บัตรคนจน ทีเด็ดเลือกตั้ง ประชานิยมฉบับทหาร." สยามรัฐ (16 ธันวาคม 2561). เข้าถึงจาก <https://siamrath.co.th/n/57105>. เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2563.

""บิ๊กตู่" แถลงนโยบายชู12นโยบายหลัก-12นโยบายเร่งด่วน." โพสต์ทูเดย์ (25 กรกฎาคม 2562). เข้าถึงจาก <https://www.posttoday.com/politic/news/595852>. เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2563.

 ““เพื่อไทย" เลือดไหลหนัก ไม่ต่ำกว่า 30 คน ซบ "พลังประชารัฐ"." ไทยรัฐออนไลน์ (27 พฤศจิกายน 2561). เข้าถึงจาก <https://www.thairath.co.th/news/politic/1431398>. เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2563.

“ละลายงบ 2พันล.! ฉบับเต็ม สตง.สอบโครงการประชารัฐสวัสดิการ ยุค คสช. ลดความเหลื่อมล้ำไม่ได้." สำนักข่าวอิศรา (5 มีนาคม 2563). เข้าถึงจาก <https://www.isranews.org/isranews-scoop/86176-report-86176.html>. เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2563.

“‘สมคิด'โต้'เจ๊หน่อย'เจ็บ! ทำการบ้านก่อนวิจารณ์ด้วย 'บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ'ไม่ใช่'บัตรคนจน'." แนวหน้าออนไลน์ (17 ตุลาคม 2561). เข้าถึงจาก <https://www.naewna.com/politic/370918?fb_comment_id= 1609429355827982_1609470565823861>. เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2563.

สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี. (2561). วารสารไทยคู่ฟ้า (เมษายน – มิถุนายน).

สำนักพัฒนาฐานข้อมูลและตัวชี้วัดภาวะสังคม. 2560. "รายงานการวิเคราะห์สถานการณ์ความยากจนและความเหลื่อมล้ำในประเทศไทย ปี 2559." กรุงเทพฯ : สำนักงานคณะกรรมการสภาการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ.

อ้างอิง

[1] "'สมคิด'โต้'เจ๊หน่อย'เจ็บ! ทำการบ้านก่อนวิจารณ์ด้วย 'บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ'ไม่ใช่'บัตรคนจน'," แนวหน้าออนไลน์ (17 ตุลาคม 2561), เข้าถึงจาก<https://www.naewna.com/politic/370918?fb_comment_id
=1609429355827982_1609470565823861>. เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2563.

[2] โปรดดูรายละเอียดใน สำนักพัฒนาฐานข้อมูลและตัวชี้วัดภาวะสังคม, "รายงานการวิเคราะห์สถานการณ์ความยากจนและความเหลื่อมล้ำในประเทศไทย ปี 2559," (กรุงเทพฯ: สำนักงานคณะกรรมการสภาการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, 2560).

[3] สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี, วารสารไทยคู่ฟ้า (เมษายน - มิถุนายน, 2561): 9.

[4] สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี, วารสารไทยคู่ฟ้า, 11.

[5] สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี, วารสารไทยคู่ฟ้า, 7.

[6] สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี, วารสารไทยคู่ฟ้า, 13.

[7] "แจกบัตรคนจนเพิ่มอีก 3 ล้านใบเริ่มใช้สิทธิต้นปีหน้า," มติชนออนไลน์ (18 ธันวาคม 2561), เข้าถึงจาก <https://www.matichon.co.th/news-monitor/news_1278014>. เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2563.

[8] ""เพื่อไทย" เลือดไหลหนัก ไม่ต่ำกว่า 30 คน ซบ "พลังประชารัฐ"," ไทยรัฐออนไลน์ (27 พฤศจิกายน 2561), เข้าถึงจาก <https://www.thairath.co.th/news/politic/1431398>. เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2563.

[9] "บัตรคนจน ทีเด็ดเลือกตั้ง ประชานิยมฉบับทหาร," สยามรัฐ (16 ธันวาคม 2561), เข้าถึงจาก <https://siamrath.co.th/n/57105>. เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2563.

[10] "บัตรคนจน ทีเด็ดเลือกตั้ง ประชานิยมฉบับทหาร," สยามรัฐ (16 ธันวาคม 2561), เข้าถึงจาก <https://siamrath.co.th/n/57105>. เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2563.

[11] ""บิ๊กตู่" แถลงนโยบายชู12นโยบายหลัก-12นโยบายเร่งด่วน," โพสต์ทูเดย์ (25 กรกฎาคม 2562), เข้าถึงจาก <https://www.posttoday.com/politic/news/595852>. เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2563.

[12] "ละลายงบ 2พันล.! ฉบับเต็ม สตง.สอบโครงการประชารัฐสวัสดิการ ยุค คสช. ลดความเหลื่อมล้ำไม่ได้," สำนักข่าวอิศรา (5 มีนาคม 2563), เข้าถึงจาก <https://www.isranews.org/isranews-scoop/86176-report-86176.html>. เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2563.

[13] "ละลายงบ 2พันล.! ฉบับเต็ม สตง.สอบโครงการประชารัฐสวัสดิการ ยุค คสช. ลดความเหลื่อมล้ำไม่ได้," สำนักข่าวอิศรา (5 มีนาคม 2563), เข้าถึงจาก <https://www.isranews.org/isranews-scoop/86176-report-86176.html>. เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2563.