พันตรีควง อภัยวงศ์

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
รุ่นแก้ไขเมื่อ 16:35, 6 พฤษภาคม 2563 โดย Apirom (คุย | ส่วนร่วม) (Apirom ย้ายหน้า ควง อภัยวงศ์ (บุญเกียรติ การะเวกพันธุ์) ไปยัง พันตรีควง อภัยวงศ์ โดยไม่สร้าง...)
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)

ผู้เรียบเรียง : ดร.บุญเกียรติ การะเวกพันธุ์

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ :  ศ.นรนิติ เศรษฐบุตร


         

         พันตรีควง อภัยวงศ์ สมาชิกคณะราษฎร อดีตนายกรัฐมนตรีและเคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงธรรมการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตราธิการ และเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนแรก

 

ประวัติ

          พันตรีควงเกิดเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ.2445 ที่เมืองพระตะบอง เป็นบุตรเจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ (ชุ่ม อภัยวงศ์)และคุณหญิงรอด อภัยวงศ์ พ.ศ.2450 ได้รับการศึกษาขั้นต้นที่โรงเรียนเทพศิรินทร์เมื่อสอบไล่ได้มูล 4 ได้เข้าศึกษาที่โรงเรียนอัสสัมชัญ สอบไล่ได้ชั้น 3 แผนกฝรั่งเศส พ.ศ.2462 สอบเข้าศึกษาที่ Ecole Centrale de Lyon และสำเร็จการศึกษาวิชาวิศวกรรมโยธาใน พ.ศ.2470 พันตรีควงได้แต่งงานกับคุณหญิงเลขา อภัยวงศ์ มีบุตรธิดา 3 คน[1]

          พันตรีควงถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันที่ 15 มีนาคม พ.ศ.2511

 

เหตุการณ์สำคัญ

          ในระหว่างศึกษาที่ประเทศฝรั่งเศส พันตรีควงได้เป็นกรรมการและปฏิคมของสมาคมนักเรียนไทยในประเทศฝรั่งเศส และได้พบกับนายปรีดี_พนมยงค์ ร้อยโทแปลก ขีตตะสังคะ[2]ที่มาศึกษาในประเทศฝรั่งเศส และอยู่ในเหตุการณ์ความขัดแย้งระหว่างพระวรวงศ์เธอ_พระองค์เจ้าจรูญศักดิ์กฤดากร อัครราชทูตสยาม ณ กรุงปารีสกับนักเรียนทุนรัฐบาลในเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนอันเนื่องมาจากเงินแฟรงก์ฝรั่งเศสตกต่ำ และอัครราชทูตมีโทรเลขด่วนกราบบังคมทูลให้เรียกตัวนักเรียนทุนรัฐบาลที่มีปัญหาความขัดแย้งกลับทันที แต่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชวินิจฉัยให้อยู่ต่อจนสำเร็จการศึกษา แม้พันตรีควงจะเป็นนักเรียนทุนส่วนตัวแต่ก็แสดงความเห็นอกเห็นใจนักเรียนทุนรัฐบาลที่มีปัญหา โดยพันตรีควงเขียนบันทึกไว้ว่า “แต่ผมนั้นไม่เกี่ยวด้วยเพราะผมป็นนักเรียนทุนส่วนตัว แต่เรามันมีนิสัยเป็นคนอดอยู่ไม่ได้ เห็นว่าอะไรไม่ยุติธรรมเราก็ไปช่วยเขา”[3] หลังจากนายปรีดี พนมยงค์สำเร็จการศึกษาพันตรีควงยังมีบทบาทในการเรี่ยรายเงินในการซื้อตั๋วโดยสารเรือชั้น 1 ให้กับนายปรีดีเมื่อจะเดินทางกลับกรุงเทพฯแทนตั๋วเรือชั้น 3 ที่ทางสถานอัครราชทูตจัดให้

          เมื่อสำเร็จการศึกษาพันตรีควงตั้งใจจะรับราชการในกรมรถไฟหลวงแต่ไม่มีตำแหน่งว่าง จึงเข้ารับราชการในตำแหน่งนายช่างผู้ช่วย กองช่างโทรเลข กรมไปรษณีย์โทรเลขในเดือนมิถุนายน พ.ศ.2471 เลื่อนตำแหน่งเป็นผู้ช่วยนายช่างในพ.ศ.2472

          พันตรีควงมีแนวความคิดว่าคนไทยควรมีสิทธิเสียงในการปกครองตัวเอง[4] จึงได้เข้าร่วมกับคณะราษฎร โดยในวันเปลี่ยนแปลงการปกครองได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ตัดสายโทรศัพท์และสายโทรเลขในเช้าตรู่ของวันเปลี่ยนแปลงการปกครอง[5]

          หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองพันตรีควงได้รั้งตำแหน่งนายช่างอำนวยการโทรเลขและได้รับการแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภท_2 แม้พันตรีควงจะบอกว่า “ความจริงผมไม่ได้คิดจะเป็นนักการเมืองผมชอบงานอินยิเนียร์มากกว่า”[6]แต่ก็ได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีครั้งแรกในพ.ศ.2478

          21 ธันวาคม พ.ศ.2480 ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีสั่งราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงธรรมการ

          19 สิงหาคม พ.ศ.2484 ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม

          8 กันยายน พ.ศ.2485 ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์

          ปลายเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2487 ในช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่_2 รัฐบาลของจอมพล_ป.พิบูลสงครามเผชิญกับวิกฤติการณ์ทางการเมืองโดยรัฐบาลแพ้เสียงในสภาผู้แทนราษฎรเมื่อร่างพระราชกำหนดที่รัฐบาลเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรเพื่ออนุมัติเป็นพระราชบัญญัติไม่ผ่านความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรถึง 2 ฉบับในเวลาที่ห่างกันเพียง 2 วันคือวันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ.2487[7] สภาผู้แทนราษฎรไม่อนุมัติพระราชกำหนดระเบียบราชการบริหารนครบาลเพชรบูรณ์ฯ พ.ศ. 2487 และวันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ.2487[8] ไม่อนุมัติพระราชกำหนดจัดสร้างพุทธมณฑล พ.ศ. 2487 จอมพล ป.พิบูลสงครามจึงขอลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ.2487และสภาผู้แทนราษฎรมีมติเลือกพันตรีควง อภัยวงศ์เป็นนายกรัฐมนตรี[9] พันตรีควงบันทึกถึงเหตุการณ์ในครั้งนั้นว่า “ความจริงทางสภาผู้แทนฯหรือพวกผู้คิดการเรื่องนี้เดิมตั้งใจจะเลือก พลเอกพระยาพหลพลพยุหเสนาเป็นนายกรัฐมนตรีแต่ท่านไม่ยอมรับ”[10] พันตรีควง อภัยวงศ์จึงดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 4 พร้อมดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

          การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในขณะที่สงครามโลกครั้งที่สองยังไม่สิ้นสุดและความขัดแย้งทางการเมืองในประเทศยังดำรงอยู่ ทำให้การบริหารงานของพันตรีควงเป็นไปโดยความยากลำบาก ตั้งแต่การคัดเลือกผู้มาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ดังที่พันตรีควงบันทึกไว้ว่า “พล.ต.อ.อดุลย์_อดุลย์เดชจรัสบอกว่าได้โทรศัพท์ไปจริง เพื่อต้องการเตือนว่าบางคนที่นายควงตั้งใจว่าจะขอให้มาร่วมในคณะรัฐบาลนั้น เขาจะไม่ยอมร่วมด้วยและก็เป็นความจริง บุคคลที่นายควงตั้งใจจะขอร้องให้ร่วมคณะรัฐบาลด้วย 3-4 ท่านต่างพากันปฏิเสธบางคนกำหนดไว้ด้วยว่า ถ้านายควงไปหาที่บ้านจะไล่เลย เฉพาะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมนั้นไม่มีใครกล้ารับ”[11] นอกจากนี้ จอมพล ป.พิบูลสงครามที่ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรียังคงมีอำนาจโดยดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุด พันตรีควงต้องไปขอร้องให้จอมพล ป.ลาออกแต่จอมพล ป.ไม่ยอมลาออกเพราะเกรงว่าจะเป็นการทอดทิ้งทหารที่ยังภักดีกับท่านอยู่พันตรีควงจึงต้องเสนอพระบรมราชโองการยุบตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุด[12]

          เมื่อญี่ปุ่นประกาศยอมแพ้แก่ฝ่ายสัมพันธมิตรในวันที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2488 อีก 2 วันต่อมาพันตรีควง อภัยวงศ์ ก็ประกาศสันติภาพในวันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2488และขอลาออกจากตำแหน่งในวันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ.2488 เพื่อให้นายทวี_บุณยเกตุ เข้ามารับหน้าที่เป็นนายกรัฐมนตรี ตั้งรัฐบาลระยะสั้นรอ หม่อมราชวงศ์เสนีย์_ปราโมช หัวหน้าขบวนการเสรีไทยในประเทศสหรัฐอเมริกาที่จะเดินทางกลับมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเพื่อทำหน้าที่เจรจากับประเทศผู้ชนะสงครามต่อไป

          เมื่อการเจรจาเสร็จเรียบร้อยลงหม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช ได้ยุบสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2488แล้วจัดให้มีการเลือกตั้งในวันที่ 6_มกราคม_พ.ศ.2489 หลังการเลือกตั้งพันตรีควงได้รับการเลือกให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นครั้งที่ 2 แต่อยู่ในตำแหน่งเพียง 46 วัน เมื่อสภาผู้แทนราษฎรผ่านร่างพระราชบัญญัติ คุ้มครองค่าใช้จ่ายของประชาชนในภาวะคับขันที่เสนอโดย ส.ส. พรรคฝ่ายค้านโดยที่รัฐบาลไม่เห็นด้วย พันตรีควงจึงขอลาออกจากตำแหน่ง

          พ.ศ.2489 หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์_ปราโมช ได้นำพรรคก้าวหน้ามารวมกับพรรคประชาธิปไตยของ ดร.โชติ_คุ้มพันธ์ตั้งเป็นพรรคประชาธิปัตย์แล้วมาเชิญพันตรีควง อภัยวงศ์เป็นหัวหน้าพรรคคนแรก[13]

          วันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ.2490 จอมพลผิน_ชุณหะวัณได้ทำรัฐประหาร และได้เชิญพันตรีควงเป็นนายกรัฐมนตรีเพื่อจัดการการเลือกตั้ง โดยดำรงตำแหน่งระหว่างวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 - 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2491

          หลังการเลือกตั้งพรรคประชาธิปัตย์ได้รับการเลือกตั้งด้วยเสียงข้างมาก พันตรีควง อภัยวงศ์ได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีครั้งที่ 4 โดยดำรงตำแหน่งระหว่าง 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2491 - 8 เมษายน พ.ศ. 2491 โดยสาเหตุที่ลาออกพันตรีควงบันทึกไว้ว่า “วันหนึ่งในต้นเดือนเมษายน พ.ศ.2491 มีสมาชิกคณะรัฐประหาร 4 นายคือ พล.ต.สวัสดิ์_สวัสดิเกียรติ พันเอกศิลป์_ศิลป์ศรชัย_รัตนวราหะ พันโทก้าน_จำนงภูมิเวทและพันโทละม้าย_อุทยานนท์ มาพบนายควงที่บ้าน บอกว่าคณะรัฐประหารไม่พอใจในการบริหารงานของรัฐบาล เช่นไม่สามารถแก้ปัญหาการครองชีพสูงได้ จึงขอให้ลาออก”[14]

 

เหตุการณ์สำคัญอื่นๆ

          บิดาของพันตรีควงคือ มหาเสวกโทเจ้าพระยาอภัยภูเบศร (ชุ่ม อภัยวงศ์)เคยเป็นเจ้าเมืองพระตะบอง และเป็นสมุหเทศาภิบาล สำเร็จราชการมณฑลบูรพา ในพ.ศ. 2450 เมื่อเกิดข้อพิพาทอินโดจีนกับฝรั่งเศสและต้องแลกมณฑลบูรพากับเมืองตราดให้แก่ฝรั่งเศส เจ้าพระยาอภัยภูเบศร์เป็นผู้อัญเชิญธงชาติกลับสู่ประเทศไทย ภายหลังสงครามอินโดจีนในพ.ศ.2484 รัฐบาลได้แต่งตั้งให้นายควงเป็นประธานกรรมการรับมอบดินแดนจากรัฐบาลอินโดจีนฝรั่งเศส ก่อนที่จะเดินทางไปรับมอบดินแดนคืนจอมพล ป.พิบูลสงครามได้กล่าวว่า “โดยเฉพาะพันตรีควง อภัยวงศ์รัฐมนตรีและประธานกรรมการรับโอนดินแดนด้านบูรพานั้น เมื่อ 34 ปีมาแล้ว ท่านเจ้าคุณบิดาได้เป็นผู้อัญเชิญธงไทยกลับสู่ประเทศไทยด้วยอาการอันนองน้ำตา และในวาระนี้ท่านผู้เป็นบุตรได้มีโอกาสเชิญธงไทยกลับไปสู่ที่เดิม เป็นการสนองเกียรติประเทศชาติและรัฐบาล ทั้งเป็นการสนองความปรารถนาอันแรงกล้วของท่านเจ้าคุณบิดาอีกด้วย”[15]

 

หนังสือแนะนำ

กัลยา โสภณพนิช, (2546),100 ปี ควง อภัยวงศ์,กรุงเทพฯ : ไม่ปรากฎที่พิมพ์.

ควง อภัยวงศ์, (2511),อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพพันตรีควง อภัยวงศ์, กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ไทยสัมพันธ์.

 

บรรณานุกรม

ควง อภัยวงศ์, อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพพันตรีควงอภัยวงศ์ , (กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ไทสัมพันธ์,2511).

นรนิติ เศรษฐบุตร, 1 สิงหาคม พ.ศ.2487, เข้าถึงจาก http://wiki.kpi.ac.th/index.php?title= =1_สิงหาคม_พ.ศ._2488 .

นรนิติ เศรษฐบุตร, 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2487, เข้าถึงจาก http://wiki.kpi.ac.th/index.php?title= 22_กรกฎาคม_พ.ศ._2487 .

วิศัลย์ โฆษิตานนท์, “นครบาลเพชรบูรณ์” เมืองหลวงประเทศไทย พ.ศ. 2486-2487???, เข้าถึงจาก https://wisonk.wordpress.com/2011/03/27/“นครบาลเพชรบูรณ์”-เมือง/.

 

อ้างอิง

[1] ควง อภัยวงศ์, อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพพันตรีควงอภัยวงศ์ , (กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ไทยสัมพันธ์,2511), หน้า 13.

[2] ควง อภัยวงศ์, อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพพันตรีควงอภัยวงศ์ , (กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ไทยสัมพันธ์,2511), หน้า 112.

[3] ควง อภัยวงศ์, อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพพันตรีควงอภัยวงศ์ , (กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ไทยสัมพันธ์,2511), หน้า 113.

[4] ควง อภัยวงศ์, อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพพันตรีควงอภัยวงศ์ , (กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ไทยสัมพันธ์,2511), หน้า 116.

[5] ควง อภัยวงศ์, อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพพันตรีควงอภัยวงศ์ , (กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ไทยสัมพันธ์,2511), หน้า 118.

[6] ควง อภัยวงศ์, อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพพันตรีควงอภัยวงศ์ , (กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ไทยสัมพันธ์,2511), หน้า 115.

[7] วิศัลย์ โฆษิตานนท์, “นครบาลเพชรบูรณ์” เมืองหลวงประเทศไทย พ.ศ. 2486-2487???, เข้าถึงจาก https://wisonk.wordpress.com/2011/03/27/“นครบาลเพชรบูรณ์”-เมือง/ เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2559.

[8] นรนิติ เศรษฐบุตร, 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2487, เข้าถึงจาก http://wiki.kpi.ac.th/index.php?title= 22_กรกฎาคม_พ.ศ._2487 เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2559.

[9] นรนิติ เศรษฐบุตร, 1 สิงหาคม พ.ศ.2487, เข้าถึงจาก http://wiki.kpi.ac.th/index.php?title= =1_สิงหาคม_พ.ศ._2488 เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2559.

[10] ควง อภัยวงศ์, อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพพันตรีควงอภัยวงศ์ , (กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ไทยสัมพันธ์,2511),  หน้า 61.

[11] ควง อภัยวงศ์, อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพพันตรีควงอภัยวงศ์ , (กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ไทยสัมพันธ์,2511), หน้า 62.

[12] ควง อภัยวงศ์, อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพพันตรีควงอภัยวงศ์ , (กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ไทยสัมพันธ์,2511),  หน้า 65.

[13] ควง อภัยวงศ์, อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพพันตรีควงอภัยวงศ์ , (กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ไทยสัมพันธ์,2511), หน้า 82.

[14] ควง อภัยวงศ์, อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพพันตรีควงอภัยวงศ์ , (กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ไทยสัมพันธ์,2511),  หน้า 88.

[15] ควง อภัยวงศ์, อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพพันตรีควงอภัยวงศ์ , (กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ไทยสัมพันธ์,2511), หน้า 53.