ยกกระบัตร

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
รุ่นแก้ไขเมื่อ 13:28, 18 ธันวาคม 2560 โดย Apirom (คุย | ส่วนร่วม)
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)

เรียบเรียงโดย : ดร.ชาติชาย มุกสง และ นายภาณุพงศ์ สิทธิสาร

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รศ.ดร.นิยม รัฐอมฤต


ยกกระบัตร

          ยกกระบัตร ยกระบัตร ยกบัตร ยุกกระบัตร ยุกระบัตร หรือยุกรบัตร คือ ตำแหน่งข้าราชการสังกัดกระทรวงวัง มีหน้าที่ออกไปประจำอยู่ตามหัวเมืองเพื่อสอดส่องอรรถคดี [1] เป็นตำแหน่งราชการที่มีความสำคัญทางการปกครองมาแต่โบราณ คุณสมบัติของผู้ที่จะดำรงตำแหน่งยกกระบัตรในอดีตนั้น ต้องถึงพร้อมด้วยชาติวุฒิ เป็นผู้ดีมีตระกูล และคุณวุฒิ เป็นผู้มีความรอบรู้ทั้งด้านนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ ตลอดจนขนบธรรมเนียมปฏิบัติทางราชการเป็นอย่างดี [2] ทั้งนี้ ตำแหน่งยกกระบัตรเทียบได้กับตำแหน่งอัยการในปัจจุบัน

ความเป็นมาและความสำคัญ

          การรักษาความยุติธรรมในอดีต พระมหากษัตริย์ทรงไม่อาจรับพระราชภาระชำระคดีความต่าง ๆ ได้ครอบคลุมทั่วทั้งพระราชอาณาจักรเพียงพระองค์เดียว จึงทรงแบ่งพระราชอำนาจให้ผู้อื่นช่วยในการรักษาความยุติธรรม ด้วยเหตุนี้ เสนาบดีกระทรวงวัง จึงมีหน้าที่ตั้งยกกระบัตรออกไปอยู่ตามหัวเมือง เมืองละคน สำหรับบอกรายงานการรักษาความยุติธรรมในเมืองนั้น ๆ เข้ามาถวายให้พระมหากษัตริย์ทรงทราบ [3]

          นอกจากยกกระบัตรจะทำหน้าที่ดูแลความยุติธรรมประหนึ่งเป็นหัวหน้าศาลในหัวเมืองแล้ว ยังมีหน้าที่ไม่ต่างจากรองเจ้าเมือง ด้วยเป็นผู้ที่กรมวังตั้งออกไป เคยได้ฟังได้เห็นการปฏิบัติราชการใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาท ได้ฟังใบบอกพระราชดำรัสตัดสินคดีต่าง ๆ จึงเป็นผู้รู้นโยบายจากทางเมืองหลวง [4] เมื่อออกไปรับตำแหน่งหน้าที่ตามหัวเมือง จึงเปรียบเสมือนผู้แทนต่างพระเนตรพระกรรณ คอยสอดส่องดูแลทั้งกระบวนการยุติธรรมและความประพฤติของกรมการเมืองอีกด้วย

          ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ตามพระอัยการครั้งแผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ (ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ.1991 – 2031) ระบุไว้ว่า หัวเมืองเอก เมืองนครศรีธรรมราช ยกกระบัตร ศักดินา 1,600 ที่พระภักดีราช เมืองโท ยกกระบัตร ศักดินา 1,000 เมืองตรี ยกกระบัตร ศักดินา 600 และเมืองจัตวา ยกกระบัตร ศักดินา 500 [5]

บทบาทหน้าที่ของยกกระบัตร

          อำนาจและหน้าที่ของยกกระบัตรที่ระบุไว้ในกฎหมายตราสามดวง สามารถจัดแบ่งหมวดหมู่ได้ ดังนี้ [6]

          ด้านการบริหารและการปกครอง

  • คอยสอดส่องดูแลความประพฤติของเจ้าเมืองและกรมการเมือง
  • จัดทำรายงานกิจการความเป็นไปในหัวเมืองนั้น ๆ ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระมหากษัตริย์ อนึ่ง ยกกระบัตรจะมาเข้าเฝ้าพระมหากษัตริย์เมื่อใดก็ได้ เจ้าเมืองไม่มีสิทธิ์ห้าม
  • ยกกระบัตรต้องรู้จำนวนไพร่พลภายในหัวเมือง เพื่อสามารถกะเกณฑ์จำนวนคนที่มีทะเบียนมาใช้ในราชการงานของหลวงได้ หากไม่รู้ถือว่ามีโทษ [7]

          ด้านการทหาร

  • หน้าที่เกี่ยวกับการรณรงค์สงคราม เช่น ติดตามเจ้าเมืองไปในราชการสงคราม หรือจัดหาเครื่องใช้ของทหาร

          ด้านการยุติธรรม

  • คอยสอดส่องอรรถคดีความในหัวเมือง เช่น ศาลมหาดไทย เจ้าเมืองจะออกว่าความตัดสินคดีแต่เพียงผู้เดียวไม่ได้ ต้องมียกกระบัตรนั่งคู่ด้วย  

          ด้านการเศรษฐกิจและพิธีการ

  • หน้าที่ดูแลเกี่ยวกับทรัพยากรอันมีค่าทางเศรษฐกิจ เช่น ไม้ฝาง ให้เข้าสู่ท้องพระคลังอย่างปลอดภัย หากยกกระบัตรทุจริตเสียเอง จะได้รับโทษอย่างร้ายแรงถึงประหารชีวิตและริบราชบาตร [8]
  • หน้าที่เกี่ยวกับการพระราชพิธี เช่น การจัดให้ข้าราชการและผู้เป็นยกกระบัตรเข้าถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา หรือเจ้าเมืองจะประกอบพิธีการใด ๆ ยกกระบัตรต้องรู้เห็นด้วย

          ตามบันทึกทางประวัติศาสตร์ โดยมากไม่ปรากฏประวัติที่ชัดเจนของผู้ที่เคยรับตำแหน่งยกกระบัตร อย่างไรก็ตาม บุคคลสำคัญที่เคยรับตำแหน่งหน้าที่ดังกล่าว คือ นายทองด้วง บุตรพระอักษรสุนทรศาสตร์ กับนางหยก รับราชการเป็นหลวงยกกระบัตรเมืองราชบุรี [9] กระทั่งสิ้นสุดสมัยกรุงศรีอยุธยาเมื่อ พ.ศ.2310 นายทองด้วงยังคงรับราชการต่อมาในสมัยกรุงธนบุรี ก่อนที่จะปราบดาภิเษกขึ้นเป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี ปรากฏพระนามคือ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่_1

การยกเลิกตำแหน่งยกกระบัตร

          เมื่อ พ.ศ.2436 ตรงกับรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้มีการก่อตั้งกรมอัยการ สังกัดกระทรวงมหาดไทย ตำแหน่งยกกระบัตรยังคงมีอยู่ในทุกหัวเมืองมณฑล โดยเรียกว่า ยกกระบัตรเมือง และยกกระบัตรมณฑล ครั้นถึงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่_6 เมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ.2459 ทรงมีพระราชดำริเห็นว่า ยกกระบัตรนั้นเป็นคำที่มีมาแต่โบราณ ความหมายและการใช้งานย่อมเปลี่ยนแปลงไปมาก ด้วยเหตุนี้ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รวมพนักงานอัยการซึ่งแยกกันอยู่หลายกระทรวง เข้ามาอยู่รวมกันในกรมอัยการ สังกัดกระทรวงยุติธรรม และประกาศให้ยกเลิกตำแหน่งยกกระบัตร ให้เรียกว่าอัยการ โดยที่พนักงานอัยการมีไว้สำหรับเป็นทนายแผ่นดิน [10]

 

บรรณานุกรม

จุลจักรพงษ์, พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า,  เจ้าชีวิต,  พิมพ์ครั้งที่ 6,  กรุงเทพฯ: ริเวอร์ บุ๊คส์,  2554.

ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จฯ กรมพระ,  ลักษณะการปกครองประเทศไทยแต่โบราณ,  พระนคร:         ธนาคารออมสิน,  2498.

เทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี, สมเด็จพระ,  บันทึกเรื่องการปกครองของไทยสมัยอยุธยา        และต้นรัตนโกสินทร์,  กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,  2549.

ยืนหยัด ใจสมุทร,  ต้นตระกูลอัยการไทย,  กรุงเทพฯ: ศยาม,  2537.

ราชบัณฑิตยสถาน,  กฎหมายตราสามดวง ฉบับราชบัณฑิตยสถาน เล่ม '2',  กรุงเทพฯ:         ราชบัณฑิตยสถาน,  2550.

_______,  พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.'2554',  พิมพ์ครั้งที่ 2,  กรุงเทพฯ:         ราชบัณฑิตยสถาน,  2556.

สำนักงานอัยการสูงสุด,  พิพิธภัณฑ์อัยการไทย,  กรุงเทพฯ: สำนักงานอัยการสูงสุด,  2546.

_______,  อัยการไทย,  กรุงเทพฯ: สำนักอัยการสูงสุด,  2539.

         

อ้างอิง

          [1] ราชบัณฑิตยสถาน,  พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.'2554',  (พิมพ์ครั้งที่ 2,  กรุงเทพฯ: ราชบัณฑิตยสถาน,  2556),  หน้า 938.

          [2] ราชบัณฑิตยสถาน,  กฎหมายตราสามดวง ฉบับราชบัณฑิตยสถาน เล่ม '2',  (กรุงเทพฯ: ราชบัณฑิตยสถาน,  2550),  หน้า 42.

          [3] สมเด็จฯ กรมพระดำรงราชานุภาพ,  ลักษณะการปกครองประเทศไทยแต่โบราณ,  (พระนคร: ธนาคารออมสิน,  2498),  หน้า 25.

          [4] สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี,  บันทึกเรื่องการปกครองของไทยสมัยอยุธยาและต้นรัตนโกสินทร์,  (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,  2549),  หน้า 15.

          [5] ยืนหยัด ใจสมุทร,  ต้นตระกูลอัยการไทย,  (กรุงเทพฯ: ศยาม,  2537),  หน้า 26.

          [6] สำนักงานอัยการสูงสุด,  อัยการไทย,  (กรุงเทพฯ: สำนักอัยการสูงสุด,  2539),  หน้า 6 – 7.

          [7] สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี,  บันทึกเรื่องการปกครองของไทยสมัยอยุธยาและต้นรัตนโกสินทร์,  (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,  2549),  หน้า 49 – 50.

          [8] ราชบัณฑิตยสถาน,  กฎหมายตราสามดวง ฉบับราชบัณฑิตยสถาน เล่ม '2',  (กรุงเทพฯ: ราชบัณฑิตยสถาน,  2550),  หน้า 45.

          [9] พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์,  เจ้าชีวิต,  (พิมพ์ครั้งที่ 6,  กรุงเทพฯ: ริเวอร์ บุ๊คส์,  2554),  หน้า 67.

          [10] สำนักงานอัยการสูงสุด,  พิพิธภัณฑ์อัยการไทย,  (กรุงเทพฯ: สำนักงานอัยการสูงสุด,  2546),  หน้า 16.