ริบราชบาตร
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รศ.ดร.นิยม รัฐอมฤต
เรียบเรียงโดย : ภาณุพงศ์ สิทธิสาร
ริบราชบาตร
ริบราชบาตร ริบราชบาต หรือริบราชบาทว์ คือ การยึดทรัพย์สมบัติข้าทาสบริวารทั้งหมดในครอบครองของผู้ต้องโทษถูกริบให้ตกเป็นของหลวง [1] ส่วนคำว่า ราชบาตร หมายถึง คำสั่งหลวง [2] การริบราชบาตรนับเป็นรายได้อย่างหนึ่งของหลวง ส่วยประเภท พัทธยา คือการริบเอาสมบัติทรัพย์สินของเอกชนเข้าเป็นของกษัตริย์ [3] ดังจะพบได้จากหลายมาตราในพระอัยการกบฏศึก และพระอัยการอาชญาหลวง ของกฎหมายตราสามดวง
ประวัติความเป็นมา
พระอัยการกบฏศึก นอกจากระบุถึงลักษณะอันเป็นการก่อกบฏยึดอำนาจการปกครองจากกษัตริย์แล้ว ยังกล่าวถึงการกระทำผิดลักษณะร้ายแรงต่าง ๆ ทั้งที่มีผลต่อความมั่นคงภายในพระราชอาณาจักร หรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดี การลงโทษจึงมีความร้ายแรง มุ่งให้เกิดความทรมานแก่ผู้กระทำผิดเป็นสำคัญ [4] เช่น ผู้ใดมักใหญ่ใฝ่สูงจนเกินศักดิ์ ประทุษร้ายต่อกษัตริย์ ผู้นั้นเข้าข่ายฐานกบฏ ให้ริบราชบาตรแล้วฆ่าเสียทั้งโคตร [5]
พระอัยการอาชญาหลวง เป็นบทบัญญัติเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดของขุนนางหรือราษฎรที่ละเมิดพระราชโองการของกษัตริย์ การเบียดบังทรัพย์ของหลวง และภาษีค่าธรรมเนียมต่าง ๆ หรือการกระทำความผิดต่อความมั่นคงของรัฐ และเป็นภัยอันตรายต่ออาณาประชาราษฎร [6] อาทิ ผู้ใดใจโลภกระทำเกินกว่าศักดิ์ ริอ่านนำของไม่ควรทำเป็นเครื่องประดับมาประดับตน หรือแอบอ้างเบื้องสูงข่มเหงเอาทรัพย์ราษฎร ให้ริบราชบาตรแล้วเอาตัวลงหญ้าช้าง [7]
การริบราชบาตรที่ปรากฏในวรรณคดี
วรรณคดีหรือวรรณกรรมในแต่ละยุคสมัยไม่ได้เกิดจากจินตภาพของผู้เขียนที่อยู่เหนือความเป็นจริงของสภาพทางการเมือง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม ในสมัยกรุงศรีอยุธยาก็เช่นกัน วรรณคดีราษฎร์ที่มีชื่อเสียงอย่างเสภาเรื่อง ขุนช้างขุนแผน ในตอนที่ขุนไกรผู้เป็นบิดาของขุนแผน (ตัวเอกของเรื่อง) รับราชการต้องออกไปเป็นแม่กองต้อนกระบือ ครั้นกระบือที่ต้อนมานั้นเกิดตื่นจึงไล่ขวิดผู้คน ขุนไกรจึงไล่ต้อนจนกระบือหนีเข้าป่า เป็นเหตุให้พระพันวัสสาทรงกริ้ว [8] จนถึงสั่งให้ประหารชีวิตขุนไกรและริบราชบาตรตกเป็นของหลวง ความว่า
เหม่ ๆ ดูดูอ้ายขุนไกร แทงกระบือน้อยใหญ่เสียนักหนา
แกล้งแทงเล่นกูเห็นอยู่กับตา ให้กระบือหนีเข้าป่าพนาไลย
เหวย ๆ เร่งเร็วอ้ายเพ็ชฆาฏ ฟันให้หัวขาดไม่เลี้ยงได้
เสียบใส่ขาอย่างขึ้นถ่างไว้ ลูกเมียข้าไทยให้ริบมา [9]
เหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์
อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาจนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ การริบราชบาตรยังคงเป็นบทลงโทษขั้นร้ายแรงสำหรับผู้กระทำผิดทั้งฐานเป็นกบฏ และ/หรือทุจริตในหน้าที่ ดังปรากฏว่าสมัยพระเจ้าปราสาททองก็หาทางเพิ่มพูนทรัพย์สมบัติของหลวงด้วยการริบราชบาตรจากศัตรูทางการเมือง ดังปรากฏในวันวลิต
หรือกรณีวิกฤตการณ์วังหน้าใน พ.ศ. 2416 สมัยต้นรัชกาลที่ 5 ซึ่งหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้อ้างถึง หม่อมเจ้าหญิงฉวีวาด ลอบหนีไปกัมพูชาในระหว่างเกิดวิกฤตการณ์ ถือเป็นความผิดอุกฤษฏ์โทษ ที่ข้าราชสำนักฝ่ายในออกจากพระนครไปโดยไม่ได้รับพระบรมราชานุญาต ส่งผลให้คนในราชสกุลปราโมชถูกริบราชบาตร [10] หรือคดีของ พระปรีชากลการ (สำอาง อมาตยกุล) ว่าด้วยการฆ่าคนตายและทารุณกรรมแก่คนไทยที่เมืองกบินทร์บุรี เหตุเกิดในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เช่นเดียวกับวิกฤตการณ์วังหน้า และมีทั้งเหตุผลทางการเมืองระหว่างไทยกับอังกฤษ และการละเมิดกฎหมายอาญาบ้านเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย พระปรีชากลการมีฐานะเป็นลูกเขยของกงสุลอังกฤษประจำสยามในเวลานั้น ซึ่งไม่ลงรอยกันกับสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ผู้สำเร็จราชการ ท้ายที่สุดพระปรีชากลการถูกประหารชีวิต และคนในครอบครัวออมาตยกุลถูกริบราชบาตร [11]
บรรณานุกรม
คริส เบเคอร์; และ ผาสุก พงษ์ไพจิตร บรรณาธิการ, ขุนช้างขุนแผน ฉบับวัดเกาะ, เชียงใหม่: ซิลค์เวอร์ม, 2556.
คึกฤทธิ์ ปราโมช, ม.ร.ว., โครงกระดูกในตู้, พิมพ์ครั้งที่ 9, กรุงเทพฯ: ดอกหญ้า, 2548.
จิระนันท์ พิตรปรีชา, ลูกผู้ชายชื่อนายหลุยส์, พิมพ์ครั้งที่ 3, กรุงเทพฯ: ประพันธ์สาส์น, 2542.
ราชบัณฑิตยสถาน, กฎหมายตราสามดวง ฉบับราชบัณฑิตยสถาน เล่ม '1', กรุงเทพฯ: ราชบัณฑิตยสถาน, 2550.
_______, กฎหมายตราสามดวง ฉบับราชบัณฑิตยสถาน เล่ม '2', กรุงเทพฯ: ราชบัณฑิตยสถาน, 2550.
_______, พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.'2554', พิมพ์ครั้งที่ 2, กรุงเทพฯ: ราชบัณฑิตยสถาน, 2556.
สมสมัย ศรีศูทรพรรณ, โฉมหน้าศักดินาไทย, พิมพ์ครั้งที่ 9, นนทบุรี: ศรีปัญญา, 2550.
[1] ราชบัณฑิตยสถาน, พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.'2554', (พิมพ์ครั้งที่ 2, กรุงเทพฯ: ราชบัณฑิตยสถาน, 2556), หน้า 1003.
[2] เพิ่งอ้าง, หน้า 995.
[3] สมสมัย ศรีศูทรพรรณ, โฉมหน้าศักดินาไทย, (พิมพ์ครั้งที่ 9, นนทบุรี: ศรีปัญญา, 2550), หน้า 173.
[4] ราชบัณฑิตยสถาน, กฎหมายตราสามดวง ฉบับราชบัณฑิตยสถาน เล่ม '1', (กรุงเทพฯ: ราชบัณฑิตยสถาน, 2550), หน้า 18.
[5] เพิ่งอ้าง, หน้า 930 – 931.
[6] ราชบัณฑิตยสถาน, กฎหมายตราสามดวง ฉบับราชบัณฑิตยสถาน เล่ม '2', (กรุงเทพฯ: ราชบัณฑิตยสถาน, 2550), หน้า 20.
[7] เพิ่งอ้าง', หน้า 379 – 380. คำว่า เอาตัวลงหญ้าช้าง หมายถึง คนที่ต้องพระราชอาญาลักษณะหนึ่งเป็นนักโทษเกี่ยวหญ้าให้ช้างหลวงหรือม้าหลวงกิน โปรดดูคำว่า ตะพุ่น ใน ราชบัณฑิตยสถาน, พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.'2554, (พิมพ์ครั้งที่ 2, กรุงเทพฯ: ราชบัณฑิตยสถาน, 2556), หน้า 479.
[8] สมสมัย ศรีศูทรพรรณ, โฉมหน้าศักดินาไทย, (พิมพ์ครั้งที่ 9, นนทบุรี: ศรีปัญญา, 2550), หน้า 175.
[9] คริส เบเคอร์; และ ผาสุก พงษ์ไพจิตร บรรณาธิการ, ขุนช้างขุนแผน ฉบับวัดเกาะ, (เชียงใหม่: ซิลค์เวอร์ม, 2556), หน้า 24.
[10] ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช, โครงกระดูกในตู้, (พิมพ์ครั้งที่ 9, กรุงเทพฯ: ดอกหญ้า, 2548).
[11] จิระนันท์ พิตรปรีชา, ลูกผู้ชายชื่อนายหลุยส์, (พิมพ์ครั้งที่ 3, กรุงเทพฯ: ประพันธ์สาส์น, 2542).