คณะกรรมการผู้แทนถาวรประจำอาเซียน

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ผู้เรียบเรียง พัชร์ นิยมศิลป


ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ ศาสตราจารย์ ดร. ไชยวัฒน์ ค้ำชู


ข้อมูลพื้นฐาน

เมื่อพิจารณาถึงหน่วยงานที่ทำหน้าที่ประสานงานและติดตามผลการดำเนินงานตามความตกลงของอาเซียนแล้วจะพบว่า หน่วยงานหลักๆประกอบด้วยสามหน่วยงานคือ สำนักเลขาธิการอาเซียน สำนักงานเลขาธิการอาเซียนแห่งชาติ กรมอาเซียนและคณะกรรมการผู้แทนถาวรประจำอาเซียน

1)สำนักเลขาธิการอาเซียน (ASEAN Secretariat) ที่กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย เป็นศูนย์กลางในการติดต่อระหว่างประเทศสมาชิก โดยมี[เลขาธิการอาเซียน]] (Secretary-General of ASEAN) เป็นหัวหน้าสำนักงาน โดยที่ประชุมสุดยอดอาเซียนจะเป็นผู้แต่งตั้งเลขาธิการอาเซียนจากคนชาติของรัฐสมาชิกอาเซียนบนพื้นฐานของการหมุนเวียนตามลำดับตัวอักษร โดยคำนึงถึงความซื่อสัตย์สุจริต ความสามารถ รวมถึงประสบการณ์ทางวิชาชีพและความเท่าเทียมกันทางเพศ เลขาธิการอาเซียนมีวาระการดำรงตำแหน่งห้าปีเท่านั้นไม่สามารถต่ออายุได้ ที่ผ่านมาผู้แทนจากประเทศไทยดำรงตำแหน่งเลขาธิการอาเซียนแล้ว 2 ท่าน คือนายแผน วรรณเมธี ระหว่างค.ศ. 1982-1986และ ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ ระหว่าง ค.ศ.2008-2012

2)สำนักงานเลขาธิการแห่งชาติ(ASEAN National Secretariat)เป็นหน่วยงานระดับกรมในกระทรวงการต่างประเทศของประเทศสมาชิกอาเซียนมี หน้าที่ประสานกิจการอาเซียนและติดตามผลการดำเนินงานในประเทศนั้น

3)คณะกรรมการผู้แทนถาวรประจำอาเซียน (Committee of Permanent Representatives-CPR) ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนระดับเอกอัครราชทูตที่ได้รับการแต่งตั้งมาจากประเทศ สมาชิก มีภารกิจในการสนับสนุนการทำงานของคณะมนตรีประชาคมอาเซียนและองค์กรระดับ รัฐมนตรีอาเซียนเฉพาะสาขา รวมทั้งประสานงานกับสำนักเลขาธิการอาเซียนและสำนักเลขาธิการอาเซียนแห่งชาติ ตลอดจนดูแลความร่วมมือของอาเซียนกับหุ้นส่วนภายนอก ประเทศไทยได้แต่งตั้งเอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรประจำอาเซียนและมีคณะผู้แทน ถาวรไทยประจำอาเซียน ณ กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนิเซียคณะกรรมการผู้แทนถาวรประจำอาเซียนได้รับบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการทำงานของคณะมนตรีประชาคมอาเซียน (The Community Councils) องค์กรระดับรัฐมนตรีอาเซียนเฉพาะสาขา (Sectoral Ministerial Bodies) สำนักงานเลขาธิการอาเซียน และ สำนักงานเลขาธิการอาเซียนแห่งชาติ โดยคณะกรรมการผู้แทนถาวรประจำอาเซียนตามกฎบัตรอาเซียนจะเข้าทำหน้าที่แทนที่คณะกรรมการถาวรอาเซียน (ASEAN Standing Committee)

โครงสร้างและอำนาจหน้าที่

กฎบัตรอาเซียน ข้อ 12 ได้กำหนดให้อาเซียนมีคณะกรรมการผู้แทนถาวรประจำอาเซียน โดยรัฐสมาชิกอาเซียนแต่ละรัฐแต่งตั้งผู้แทนถาวรประจำอาเซียนหนึ่งคนในระดับเอกอัครราชทูตที่มีถิ่นพำนักณกรุงจาการ์ตา ผู้แทนถาวรที่รัฐสมาชิกร่วมกันตั้งขึ้นนี้จะมีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้

(ก) สนับสนุนการทำงานของคณะมนตรีประชาคมอาเซียนและองค์กรระดับรัฐมนตรีอาเซียนเฉพาะสาขา

(ข) ประสานงานกับสำนักเลขาธิการอาเซียนแห่งชาติและองค์กรระดับรัฐมนตรีอาเซียนเฉพาะสาขาอื่นๆ

(ค) ติดต่อประสานงานกับเลขาธิการอาเซียนและสำนักเลขาธิการอาเซียนในทุกเรื่องที่เกี่ยวกับงานของตน

(ง) อำนวยความสะดวกความร่วมมือของอาเซียนกับหุ้นส่วนภายนอกและ

(จ) ปฏิบัติหน้าที่อื่นๆที่อาจกำหนดโดยคณะมนตรีประสานงานอาเซียน

กรอบการดำเนินงานคณะกรรมการผู้แทนถาวรอาเซียนในปัจจุบัน(ค.ศ. 2014)

คณะกรรมการผู้แทนถาวรอาเซียนในการประชุมครั้งแรก ณ กรุงเนปิดอว์ ประเทศเมียนมาร์ ได้กำหนดแผนการปฏิบัติงานสำหรับปี ค.ศ. 2014 คณะกรรมการได้ให้ความสำคัญกับ 13 ประเด็น ดังนี้

1. แผนงานหลักในการติดต่อสื่อสารอาเซียน ASEAN Communication Master Plan

2. กิจกรรมต้อนรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน 2015 Activities to celebrate ASEAN Community 2015

3. คู่มือกฎระเบียบและข้อปฏิบัติของอาเซียน Handbook on ASEAN Protocol and Practices

4.ข้อบังคับและเงื่อนไขในการติดต่อองค์กรที่มีความสัมพันธ์กับอาเซียน Rules of Procedures and criteria for engagement with entities associated with ASEAN

5.เอกสารอ้างอิงสำหรับคณะทำงานศูนย์อาเซียนจีน ฉบับหลัง ประชาคมอาเซียน 2015 Terms of Reference for ACC Working Group on ASEAN Community’s post 2015 Vision

6.แผนปฏิบัติการในการดำเนินการตามข้อตกลงหุ้นส่วนอาเซียน-ออสเตรเลีย 2014-2018 Plan of Action to implement the ASEAN-Australia Comprehensive Partnership (2014-2018

7. ติดตามรายงานและข้อเสนอแนะจากกลุ่มวิสัยทัศน์เอเชียตะวันออก กลุ่มสอง (the East Asia Vision Group II Report and Recommendations)

8.แนวทางในการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการอาเซียนบวกสาม (Guidelines to implement the APT Cooperation Work Plan)

9. กรอบความตกลงความร่วมมือระหว่างอาเซียน-ยูนิเซฟ Framework Agreement for Cooperation between ASEAN-UNICEF

10. คำปฏิญญาร่วมมือระหว่าง อาเซียน-นอร์เวย์ Joint Declaration/Statement on ASEAN-Norway Cooperation

11. แผนปฏิบัติการอาเซียน-คณะมนตรีความร่วมมืออ่าวอาหรับ ASEAN-GCC Plan of Action;

12.บันทึกความเข้าใจศูนย์อาเซียน-อินเดีย MOU of the ASEAN-India Centre

13.เอกสารอ้างอิงสำหรับคณะกรรมการเตรียมการประชุมโครงการอาเซียน-สหรัฐอเมริกา (TOR for ASEAN-US Project Steering Committee

คณะกรรมการผู้แทนถาวรประจำอาเซียนของประเทศไทย

คณะรัฐมนตรีได้มีมติการเปิดคณะผู้แทนถาวรไทยประจำอาเซียน ณ กรุงจาการ์ตา เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2551 โดยมีรายละเอียดดังนี้

1. อนุมัติการจัดตั้งคณะผู้แทนถาวรไทยประจำอาเซียน ณ กรุงจาการ์ตา สาธารณรัฐอินโดนีเซีย มีภารกิจหลักด้านการดูแล ปกป้อง และส่งเสริมผลประโยชน์ของประเทศไทยในอาเซียน ประสานเกี่ยวกับกิจกรรม โครงการด้านความร่วมมือต่าง ๆ ของอาเซียน สนับสนุนการปฏิบัติงานของกลไกต่าง ๆ ภายในอาเซียน โดยมีบุคลากรจากหน่วยงานด้านการต่างประเทศ ด้านเศรษฐกิจ และด้านกฎหมาย ไปประจำการตามที่กระทรวงการต่างประเทศเสนอ

2. สำหรับกรอบอัตรากำลังให้กระทรวงการต่างประเทศพิจารณาเกลี่ยอัตรากำลังข้าราชการในภาพรวม และนำอัตราว่างที่มีอยู่มาใช้ก่อน หากอัตรากำลังยังไม่เพียงพอ จึงขอรับการจัดสรรตำแหน่งว่างจากผลการเกษียณอายุราชการจากคณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐตามความ เห็นของสำนักงาน ก.พ.

3. ในส่วนของค่าตอบแทน สิทธิประโยชน์ และการเบิกค่าใช้จ่ายอื่นๆ ของข้าราชการที่จะไปปฏิบัติราชการที่คณะผู้แทนถาวรไทยประจำอาเซียน ให้กระทรวงการต่างประเทศดำเนินการตามความเห็นของกระทรวงการคลัง

4. ภาระค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นในปีงบประมาณ พ.ศ. 2552 ให้กระทรวงการต่างประเทศเบิกจ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2552 แผนงานดำเนินนโยบายของประเทศและเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ผลผลิต การดำเนินการต่อต่างประเทศ เพื่อช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของไทย รายการค่าใช้จ่ายในการเปิดสถานทูต สถานกงสุล ซึ่งได้จัดสรรงบประมาณไว้จำนวน 45,000,000 บาท ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ

เอกสารอ้างอิง

ASEAN Charter

Koh, Tommy T B, Rosario G Manalo, and Walter C M Woon, eds. The Making of the Asean Charter. Singapore ; Hackensack, NJ: World Scientific, 2009.

The Philippine Mission to ASEAN, “Committee of Permanent Representatives sets 2014 Work Plan Priorities at Bagan Meeting”, <http://www.jakartapm.dfa.gov.ph/index.php/sample-sites/announcement/88-committee-of-permanent-representatives-sets-2014-work-plan-priorities-at-bagan-meeting>.

มติคณะรัฐมนตรี เรื่องการเปิดคณะผู้แทนถาวรไทยประจำอาเซียน ณ กรุงจาการ์ตา ลงวันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2551.

สำนักหอสมุดมหาวิทยาลัยบูรพา, ความเป็นมาของอาเซียน ,<http://www.lib.buu.ac.th/webnew2/?page_id=1286>.