ผลต่างระหว่างรุ่นของ "เงินกับพรรคการเมือง"

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
Apirom (คุย | ส่วนร่วม)
ไม่มีความย่อการแก้ไข
Apirom (คุย | ส่วนร่วม)
ไม่มีความย่อการแก้ไข
บรรทัดที่ 94: บรรทัดที่ 94:


[[category:แนวคิดและการก่อตั้งพรรคการเมือง|งเงินกับพรรคการเมือง]]
[[category:แนวคิดและการก่อตั้งพรรคการเมือง|งเงินกับพรรคการเมือง]]
[[หมวดหมู่:ชาย ไชยชิต]]

รุ่นแก้ไขเมื่อ 11:45, 4 ตุลาคม 2554

ผู้เรียบเรียง ชาย ไชยชิต และ รศ.ดร.นครินทร์ เมฆไตรรัตน์


ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองศาสตราจารย์นรนิติ เศรษฐบุตร และ รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต


พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2541 ได้กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการเงินของพรรคการเมือง โดยกำหนดให้คณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองมีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการบริหารการเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดของพรรคการเมืองและสาขาพรรคการเมือง ตลอดจนจัดให้มีการทำบัญชีให้ถูกต้องตามความเป็นจริง ในกรณีที่มีการจัดตั้งสาขาพรรคการเมือง ประธานสาขาพรรคการเมืองต้องจัดให้มีการทำบัญชีของสาขาพรรคการเมืองและรับรองความถูกต้องตลอดจนจัดส่งบัญชีของสาขาพรรคการเมืองเพื่อแสดงรวมไว้ในบัญชีของพรรคการเมืองด้วย

บัญชีของพรรคการเมือง

บัญชีของพรรคการเมืองและบัญชีของสาขาพรรคการเมือง ประกอบด้วยรายการบัญชี 4 ประเภท ได้แก่

(1) บัญชีรายวันแสดงรายได้หรือรายรับ และแสดงค่าใช้จ่ายหรือรายจ่าย
(2) บัญชีแสดงรายรับจากการบริจาคตามมาตรา 48 ซึ่งมีการระบุชื่อ ที่อยู่ และรายการทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดที่คำนวณเป็นเงินได้ของผู้บริจาคทุกราย ในกรณีที่เป็นการบริจาคผ่านสมาชิกให้ระบุชื่อสมาชิกผู้รับการบริจาคด้วย นอกจากนี้ยังต้องมีการลงวัน เดือน ปี ที่รับบริจาค และทำสำเนาหลักฐานการรับบริจาค
(3) บัญชีแยกประเภท
(4) บัญชีแสดงสินทรัพย์และหนี้สิน โดยการลงรายการบัญชีต้องมีเอกสารประกอบการลงบัญชีที่ถูกต้องสมบูรณ์โดยครบถ้วน สำหรับบัญชีประเภทที่ (1) และ (2) ต้องลงรายการให้แล้วเสร็จภายใน 15 วัน นับแต่รายการนั้นเกิดขึ้น ส่วนบัญชีประเภท (3) และ (4) ต้องลงรายการให้แล้วเสร็จภายใน 15 วัน นับแต่วันสิ้นเดือนของเดือนที่รายการนั้นเกิดขึ้น


การปิดบัญชีของพรรคการเมือง

การปิดบัญชีของพรรคการเมือง มีแนวทางในการดำเนินคือ พรรคการเมืองและสาขาพรรคการเมืองต้องปิดบัญชีครั้งแรกภายในวันสิ้นปีปฏิทินที่ได้จดแจ้งการจัดตั้งขึ้น และครั้งต่อไปเป็นประจำทุกปีในวันสิ้นปีปฏิทิน การปิดบัญชีให้จัดทำงบการเงิน ซึ่งอย่างน้อยต้องประกอบด้วยงบดุลรายได้และค่าใช้จ่ายของพรรคการเมือง กรณีมีสาขาพรรคการเมือง งบการเงินให้รวมถึงงบการเงินของสาขาพรรคการเมืองทุกสาขาด้วย ในกรณีของงบดุล ต้องแสดงรายการสินทรัพย์ หนี้สิน และทุนของพรรคการเมือง โดยการจัดทำบัญชีงบดุลจะต้องมีผู้สอบบัญชีรับอนุญาตตรวจสอบและรับรองการสอบบัญชีเป็นผู้ดำเนินการด้วย ส่วนกรณีของงบรายได้และค่าใช้จ่าย อย่างน้อยต้องแสดงที่มาของรายได้ซึ่งได้รับเงินบริจาค เงินสนับสนุนจากรัฐ รวมทั้งรายได้อื่นที่มี และช่องทางค่าใช้จ่ายดำเนินการของพรรคการเมือง โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งต้องแสดงไว้อย่างชัดเจน

การอนุมัติงบการเงินของพรรคการเมือง

การอนุมัติงบการเงินของพรรคการเมืองมีแนวทางการดำเนินการคือ งบการเงินที่ผู้สอบบัญชีรับอนุญาตได้ตรวจสอบและรับรองแล้วต้องเสนอที่ประชุมใหญของพรรคการเมืองอนุมัติภายในเดือนเมษายนของทุกปี โดยต้องแจ้งให้สมาชิกทราบล่วงหน้า และปิดประกาศไว้ ณ ที่ตั้งสำนักงานของพรรคการเมือง และสาขาพรรคการเมืองไม่น้อยกว่า 15 วัน งบการเงินซึ่งที่ประชุมใหญ่ของพรรคการเมืองอนุมัติแล้ว หัวหน้าพรรคการเมืองต้องรับรองความถูกต้องร่วมกับเหรัญญิกของพรรคการเมือง และหัวหน้าพรรคการเมืองต้องส่งงบการเงินต่อนายทะเบียนพรรคการเมืองภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ที่ประชุมใหญ่ของพรรคการเมืองอนุมัติพร้อมทั้งสำเนาบัญชี เมื่อนายทะเบียนพรรคการเมืองได้รับงบการเงินและสำเนาบัญชีแล้ว นายทะเบียนพรรคการเมืองต้องเสนอต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งเพื่อตรวจสอบและประกาศให้สาธารณชนทราบ

การยกเว้นภาษีให้แก่พรรคการเมือง

แม้พรรคการเมืองจะมีฐานะเป็นนิติบุคคลซึ่งมีรายได้และต้องเสียภาษีตามกฎหมาย แต่เนื่องจากโดยลักษณะของพรรคการเมืองนั้นแตกต่างจากนิติบุคคลอื่น ๆ ตรงที่พรรคการเมืองเป็นนิติบุคคลที่มิได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไรในเชิงพาณิชย์ ดังนั้นกฎหมายจึงกำหนดว่า รายได้และทรัพย์สินที่พรรคการเมืองได้รับตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีตามประมวลรัษฎากร ซึ่งมีเจตนารมณ์เพื่อส่งเสริมระบบพรรคการเมือง

การยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน

กฎหมายได้กำหนดให้มีกลไกการตรวจสอบความโปร่งใสของผู้ที่ได้เข้ามามีส่วนดำเนินการในพรรคการเมือง โดยกำหนดให้หัวหน้าพรรคการเมือง กรรมการบริหารพรรคการเมือง และกรรมกาสาขาพรรคการเมือง มีหน้าที่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของตน คู่สมรส และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะต่อนายทะเบียนพรรคการเมืองภายใน 30 วัน นับแต่วันที่เข้าดำรงตำแหน่ง และภายใน 30 วัน นับแต่วันที่พ้นจากตำแหน่ง บัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินดังกล่าวเป็นไปตามแบบที่คณะกรมการการเลือกตั้งกำหนด หลักการดังกล่าวนี้เช่นเดียวกับหลักการในรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองยื่นบัญชีแสดงทรัพย์สินและหนี้สิน บุคคลเดียวกันจึงอาจต้องยื่นบัญชีแสดงทรัพย์สินตามกฎหมายหลายฉบับ ด้วยเหตุนี้ กฎหมายพรรคการเมืองจึงได้กำหนดไว้ว่า ในกรณีที่บุคคลใดได้ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของตน คู่สมรส และบุตรที่ยังไม่บรรลุนินติภาวะตามกฎหมายอื่นแล้ว บุคคลนั้นอาจส่งสำเนาบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินที่ยื่นไว้ตามกฎหมายอื่นนั้นต่อนายทะเบียนพรรคการเมืองแทนก็ได้

การควบคุมค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการเลือกตั้ง

สำหรับการควบคุมค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งนั้น ในอดีตกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งมีข้อกำหนดเกี่ยวกับวงเงินค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งซึ่งผู้สมัครรับเลือกตั้งแต่ละคนจะต้องใช้จ่ายเท่านั้น โดยไม่มีการจำกัดค่าใช้จ่ายที่พรรคการเมืองใช้จ่ายเพื่อโฆษณาภาพลักษณ์ของพรรคการเมือง เช่น พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2522 บัญญัติไว้ในมาตรา 32 วรรคหนึ่ง แต่เพียงว่า


“มาตรา 32 เมื่อได้ประกาศพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในเขตเลือกตั้งใด ผู้สมัครแต่ละคนจะใช้จ่ายเกี่ยวกับการเลือกตั้งทั้งหมดเกินหนึ่งล้านบาทไม่ได้ ทั้งนี้ไม่รวมค่าธรรมเนียมการสมัคร”


ดังนั้น ในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2538 จึงเกิดปัญหาที่พรรคการเมืองใช้จ่ายเงินสร้างภาพลักษณ์ของพรรคเป็นจำนวนมาก ซึ่งส่งผลโดยอ้อมให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งที่สังกัดพรรคการเมืองดังกล่าวได้รับเลือกตั้งมากขึ้น เรื่องดังกล่าวนี้ได้มีการขอคำปรึกษาไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาและคณะกรรมการ่างกฎหมาย โดยที่ประชุมใหญ่ได้มีความเห็นในเรื่องนี้ไว้ในเรื่องเสร็จที่ 323/2538 ทั้งนี้ คำว่า “เรื่องเสร็จที่” เป็นระบบการการจัดทำเอกสารของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เมื่อพิจารณาเรื่องใดแล้วเสร็จก็จะมีการจัดลำดับหมายเลขของเรื่องนั้น โดยใช้คำว่า “เรื่องเสร็จที่...” ในกรณีเรื่องดังกล่าว ที่ประชุมใหญ่คณะกรรมการกฤษฎีกาได้มีข้อสรุป ดังความบางตอน ดังนี้


ประเด็นที่ 1 การใช้จ่ายเกี่ยวกับการเลือกตั้งเพื่อการโฆษณาพรรคการเมืองจะถือเป็นการใช้จ่ายตามมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2535 หรือไม่ หรือถือเป็นค่าใช้จ่ายส่วนใดและของผู้สมัครคนใด หรือจะเป็นค่าใช้จ่ายถัวเฉลี่ยกันระหว่างผู้สมัครับเลือกตั้งของพรรคทุกคนที่ได้ประโยชน์จากการโฆษณาหาเสียงนั้น เข้าใจว่าปัญหาที่หารือนี้มุ่งโดยตรงในข้อเท็จจริงที่เป็นการโฆษณาของพรรคการเมือง กล่าวคือ ค่าใช้จ่ายเป็นของพรรคและข้อความโฆษณาเป็นเรื่องทั่ว ๆ ไปเกี่ยวกับพรรคการเมือง โดยไม่มีลักษณะมุ่งเน้นให้เกิดผลในการหาเสียงเลือกตั้งโดยเฉพาะแก่ผู้สมัครคนใดคนหนึ่งโดยตรง เช่น การโฆษณาชื่อของพรรค นโยบายของพรรค สัญลักษณ์ของพรรค หรือคำขวัญของพรรค เป็นต้น โดยที่บทบัญญัติในมาตรา 32 เป็นเรื่องการใช้จ่ายเกี่ยวกับการเลือกตั้งของ “ผู้สมัครแต่ละคน” ค่าใช้จ่ายในการโฆษณาพรรคการเมืองที่พรรคการเมืองจ่ายดังกล่าวจึงไม่ถือว่าเป็นค่าใช้จ่ายของผู้สมัครตามมาตรา 32 ดังนั้น ในปัญหาต่อไปที่ว่าจะเป็นค่าใช้จ่ายของผู้สมัครคนใดเพียงใด หรือจะเป็นค่าใช้จ่ายที่ถัวเฉลี่ยกันอย่างไรจึงไม่จำต้องพิจารณา


ประเด็นที่ 2 การใช้จ่ายตามประเด็นที่ 1 (ซึ่งเข้าใจว่ามุ่งถึงการใช้จ่ายโดยพรรคการเมือง) หากเป็นการใช้จ่ายเพื่อเป็นการโฆษณาหัวหน้าพรรคหรือผู้สมัครของพรรคทุกคนในเขตเลือกตั้งนั้น หรือผู้สมัครของพรรคคนใดคนหนึ่งจะถือว่าเป็นค่าใช้จ่ายเฉพาะของบุคคลดังกล่าวหรือไม่ และในกรณีนี้จะเป็นประการใดถ้าบุคคลที่ได้รับประโยชน์จากการโฆษณานั้นอ้างว่าพรรคได้ทำไปโดยตนไม่รู้หรือไม่ได้ยินยอมด้วย

2.1 ค่าใช้จ่ายในการโฆษณาของพรรคการเมืองเพื่อโฆษณาหัวหน้าพรรคก็ดี หรือโฆษณาผู้สมัครคนใดคนหนึ่งก็ดี จะถือว่าเป็นค่าใช้จ่ายในการหาเสียงเลือกตั้งของหัวหน้าพรรค หรือผู้สมัครตามมาตรา ๓๒ ได้หรือไม่นั้น ย่อมเป็นไปตามหลักในประเด็นที่ 1 กล่าวคือ ถ้าพรรคการเมืองเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายและการโฆษณาไม่มีลักษณะมุ่งเน้นให้เกิดผลในการหาเสียงในการเลือกตั้งโดยเฉพาะแก่ผู้สมัครคนใดคนหนึ่งโดยตรงก็ไม่ถือว่าเป็นค่าใช้จ่ายของผู้สมัคร โดยปกติพรรคการเมืองย่อมประกอบด้วยหัวหน้าพรรค กรรมการบริหารพรรค และสมาชิกพรรค การที่บุคคลต่าง ๆ ของพรรคเข้ามามีส่วนในการโฆษณาด้วยด้วยแต่เป็นไปในลักษณะกลาง ๆ ที่มิได้ก่อให้เกิดประโยชน์ในการหาเสียงเลือกตั้งเป็นเฉพาะของตนโดยตรง เช่น การร่วมกันแถลงนโยบายของพรรคการโดยการโฆษณาทางวิทยุ โทรทัศน์ หรือการโฆษณาในหนังสือพิมพ์ เป็นต้น ดังนี้ไม่ถือว่าเป็นค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการหาเสียงของผู้สมัครตามมาตรา 32 แต่ถ้าโฆษณามีผลเกิดเป็นประโยชน์ในการหาเสียงเลือกตั้งโดยเฉพาะตนของผู้สมัครคนใดโดยตรงด้วยก็ย่อมถือว่าเป็นค่าใช้จ่ายในการหาเสียงเลือกตั้งของผู้สมัครคนนั้นได้


2.2 เมื่อพิจารณาบทบัญญัติมาตรา 32 วรรคหนึ่งและวรรคสองประกอบกันแล้วย่อมเป็นที่เข้าใจได้ว่า บทบัญญัติวรรคสองต้องเป็นกรณีที่ผู้สมัครรู้เห็นหรือยินยอมเพื่อประโยชน์ในการหาเสียงเลือกตั้งของตน โดยพรรคการเมืองหรือบุคคลอื่นเป็นผู้จ่ายหรือรับว่าจะจ่ายแทนหรือนำทรัพย์สินมให้ใช้โดยไม่คิดค่าตอบแทน ซึ่งเมื่อผู้สมัครรู้เห็นหรือยินยอมไม่ว่าจะโดยชัดแจ้งหรือโดยปริยายก็ตาม ก็ย่อมนำมารวมเป็นค่าใช้จ่ายของผู้สมัครแลผู้สมัครจะมีหน้าที่นำมารวมคำนวณเป็นค่าใช้จ่ายที่จะต้องยื่นรายการต่อไปตามมาตรา 34 แห่งพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2522 ดังนั้น ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นโดยผู้สมัครมิได้รู้เห็นหรือมิได้ยินยอมไม่ว่าจะโดยชัดแจ้งหรือโดยปริยายตามที่หารือจะนำมารวมคำนวณเป็นค่าใช้จ่ายของผู้สมัครมิได้”


ด้วยเหตุดังกล่าว พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2541 จึงได้กำหนดให้มีการจำกัดวงเงินที่พรรคการเมืองจะใช้จ่ายสำหรับสร้างภาพลักษณ์ไว้ โดยเมื่อได้มีการประกาศพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร คณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองต้องควบคุมพรรคการเมืองมิให้ใช้จ่ายเกี่ยวกับการเลือกตั้งของพรรคการเมืองนั้นเกินวงเงินที่นายทะเบียนพรรคการเมืองกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการการเลือกตั้ง และควบคุมมิให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรคการเมือง ใช้จ่ายเกี่ยวกับการเลือกตั้งเกินวงเงินตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา หากคณะกรรมการบริหารพรรคไม่กระทำการดำเนิน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิด 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

การจัดสรรเงินเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการเลือกตั้ง

คณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองต้องจัดสรรเงินเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการเลือกตั้งของผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรคการเมือง ดังนี้

(1) ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ ให้จัดสรรเป็นจำนวนรวมโดยพิจารณาตามจำนวนผู้สมัครรับเลือกตั้งที่พรรคการเมืองเสนอไว้ในบัญชีรายชื่อที่ยื่นต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง

(2) ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ให้จัดสรรให้แก่ผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรคการเมืองเป็นรายบุคคล โดยค่าใช้จ่ายที่จะจัดสรรทั้งสองรายการดังกล่าว ให้เป็นไปตามมติของที่ประชุมคณะกรรมการบริหารพรรคการเมือง โดยกฎหมายห้ามมิให้คณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองจัดสรรเงิน เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการเลือกตั้งของผู้สมัครรับเลือกตั้งทั้งสองประเภทเกินกว่าจำนวนที่กำหนดไว้ในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา ถ้าหากฝ่าฝืนคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิด 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

การสนับสนุนเงินแก่พรรคการเมือง

พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองได้กำหนดหลักการในการสนับสุนนพรรคการเมือง 2 ประการ คือ ประการแรก การบริจาคทรัพย์สินให้แก่พรรคการเมือง และประการที่สอง การสนับสนุนพรรคการเมืองโดยรัฐ


สำหรับการบริจาคทรัพย์สินให้แก่พรรคการเมืองนั้น กฎหมายได้นิยามความหมายของคำว่า “บริจาค” หมายถึง การให้เงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดที่คำนวณเป็นเงินได้แก่พรรคการเมืองหรือสมาชิก เพื่อดำเนินกิจการของพรรคการเมือง หรือเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายของพรรคการเมืองในการเลือกตั้ง นอกเหนือจากค่าธรรมเนียมและค่าบำรุงพรรคการเมืองตามข้อบังคับของพรรคการเมือง การสนับสนุนเงินแก่พรรคการเมืองในกรณีนี้จึงมักปรากฏในลักษณะของการที่พรรคการเมืองดำเนินการระดมทุนหาเงินสนับสนุนการดำเนินกิจการของพรรคจากกลุ่มทุนหรือกลุ่มธุรกิจ หรือการบริจาคเงินให้พรรคการเมืองโดยผู้บริจาคเป็นรายบุคคล ทั้งนี้การรับบริจาคเงินสนับสนุนพรรคการเมืองต้องมิได้เป็นไปเพื่อกระทำการอันเป็นการบ่อนทำลายความมั่นคงของราชอาณาจักร ราชบัลลังก์ เศรษฐกิจของประเทศ หรือราชการแผ่นดิน หรือการกระทำอันเป็นการก่อกวนความสงบสุขเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน


นอกจากนี้ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2541 ยังห้ามมิให้พรรคการเมืองหรือสมาชิกพรรคการเมืองผู้ใดรับเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดเพื่อดำเนินกิจการของพรรคการเมืองหรือดำเนินกิจการในทางการเมืองจาก

(1) บุคคลผู้ไม่มีสัญชาติไทย

(2) นิติบุคคลตามกฎหมายต่างประเทศที่ประกอบธุรกิจหรือกิจการหรือจดทะเบียนสาขาอยู่ในหรือนอกราชอาณาจักร

(3) นิติบุคคลที่จดทะเบียนในราชอาณาจักร ซึ่งมีบุคคลผู้ไม่มีสัญชาติไทยมีทุนหรือเป็นผู้ถือหุ้นเกินร้อยละยี่สิบห้า

(4) องค์กรหรือนิติบุคคลที่ได้รับทุนหรือได้รับเงินอุดหนุนจากต่างประเทศซึ่งมีวัตถุประสงค์ดำเนินกิจการเพื่อประโยชน์ของบุคคล ผู้ไม่มีสัญชาติไทย หรือมีผู้จัดการหรือกรรมการเป็นบุคคลผู้ไม่มีสัญชาติไทย

(5) บุคคล องค์กร หรือนิติบุคคลตามที่ได้รับเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดเพื่อดำเนินกิจการของพรรคการเมือง หรือเพื่อดำเนินกิจการในทางการเมืองจากบุคคล องค์กร หรือนิติบุคคลตามที่กล่าวมาทั้งหมด

(6) บุคคล องค์กร หรือนิติบุคคลตามที่กำหนดในประกาศของคณะกรรมการการเลือกตั้ง


ส่วนการสนับสนุนทางการเงินที่พรรคการเมืองได้รับจากรัฐนั้น รัฐธรรมนูญได้กำหนดรัฐต้องจัดสรรเงินสนับสนุนแก่พรรคการเมือง พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2541 จึงเป็นกฎหมายที่ได้บัญญัติเกี่ยวกับแหล่งเงินได้ของพรรคการเมืองซึ่งได้รับจากรัฐเป็นครั้งแรก โดยกำหนดให้มี “กองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมือง” ในสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง เพื่อใช้เป็นทุนหมุนเวียนและใช้จ่ายในการสนับสนุนพรรคการเมืองและการดำเนินการอื่นใดที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาพรรคการเมืองตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด ทั้งนี้ อำนาจในการจัดสรรเงินสนับสนุนเป็นของคณะกรรมการการเลือกตั้ง โดยจะมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นคณะหนึ่งเพื่อทำหน้าที่ดังกล่าวโดยเฉพาะ


สำหรับการจัดสรรเงินสนับสนุนแก่พรรคการเมือง จะจัดสรรเป็นรายปีตามโครงการและแผนงานในการดำเนินกิจการของแต่ละพรรคการเมืองที่ยื่นต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง ทั้งนี้การจัดสรรจะต้องคำนึงถึงจำนวนสมาชิกซึ่งดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคการเมือง จำนวนคะแนนเสียงจากบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองที่พรรคการเมืองได้รับในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งล่าสุด จำนวนสมาชิกของพรรคการเมือง และจำนวนสาขาพรรคการเมือง ตามลำดับ

ที่มา

พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2541

มานิตย์ จุมปา, สารานุกรมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. ๒๕๔๐) เรื่อง ๑๓ พรรคการเมือง, กรุงเทพฯ : องค์การค้าของคุรุสภา, ๒๕๔๔

ดูเพิ่มเติม