ผลต่างระหว่างรุ่นของ "เกษตรกรไทย พ.ศ.2547"

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
Apirom (คุย | ส่วนร่วม)
ไม่มีความย่อการแก้ไข
Apirom (คุย | ส่วนร่วม)
ไม่มีความย่อการแก้ไข
 
บรรทัดที่ 1: บรรทัดที่ 1:
'''ผู้เรียบเรียง''' นครินทร์ เมฆไตรรัตน์
'''ผู้เรียบเรียง'''รองศาสตราจารย์ ดร.นครินทร์ เมฆไตรรัตน์


----
----
บรรทัดที่ 78: บรรทัดที่ 78:


[[หมวดหมู่:รายชื่อพรรคการเมืองไทย|กเกษตรกรไทย พ.ศ.2547]]
[[หมวดหมู่:รายชื่อพรรคการเมืองไทย|กเกษตรกรไทย พ.ศ.2547]]
[[หมวดหมู่:รองศาสตราจารย์ ดร.นครินทร์ เมฆไตรรัตน์]]

รุ่นแก้ไขปัจจุบันเมื่อ 10:51, 4 ตุลาคม 2554

ผู้เรียบเรียงรองศาสตราจารย์ ดร.นครินทร์ เมฆไตรรัตน์


ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองศาสตราจารย์นรนิติ เศรษฐบุตร และ รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต


พรรคเกษตรกรไทย พ.ศ.2547

พรรคเกษตรกรไทยได้จดแจ้งการจัดตั้งพรรคการเมืองต่อนายทะเบียนพรรคการเมืองไว้ในทะเบียนพรรคการเมือง เลขที่ 1/2547 ตั้งแต่วันที่ 14 มกราคม พ.ศ.2547 มีนายสมัน สมันเลาะ ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรค ซึ่งพรรคเกษตรกรไทยที่ได้จดแจ้งการจัดตั้งพรรคขึ้นใหม่นี้ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับพรรคเกษตรกรไทยที่เคยดำเนินกิจกรรมทางการเมืองในช่วงปี พ.ศ.2535-2536 แต่อย่างใด โดยทางพรรคเองได้มีรายชื่อคณะกรรมการบริหารพรรคในตำแหน่งต่างๆที่สำคัญ ดังนี้

1. นายสมัน สมันเลาะ หัวหน้าพรรค

2. นายประสิทธิ์ จันทสาร รองหัวหน้าพรรค

3. นายประดิษฐ ธารเจือ รองหัวหน้าพรรค

4. นายพนัส เพ็ชรใต้ รองหัวหน้าพรรค

5. นางจงจิต ทองสอดแสง เลขาธิการพรรค

6. นายธงชัย รัตนประภา รองเลขาธิการพรรค

7. นางเพียรทรัพย์ ทุมรินทร์ เหรัญญิกพรรค

8. นายพรวรรไชย ทุมรินทร์ โฆษกพรรค

พรรคเกษตรกรไทยมีนโยบายหลักของพรรค คือ รวบรวมผู้คนเข้าเป็นหนึ่งเดียว กำหนดทิศทางประวัติศาสตร์ใหม่ ฟื้นฟูบูรณาการประเทศทุกภาคส่วนที่ล้าหลัง อ่อนแอ ปรับปรุงเปลี่ยนแปลง แก้ไข และยกเลิกกิจการการประกอบกิจกรรมที่ล้าหลัง ทั้งภาคเอกชนและวิสาหกิจของรัฐ ปฏิรูปการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม โดยประชาชนเป็นผู้กำหนดผดุงไว้ซึ่งวัฒนธรรมอันดีงามของชุมชน ปฏิเสธวัฒนธรรมต่างชาติที่เป็นบ่อนทำลายศิลปวัฒนธรรม ประเพณี วิธีการดำเนินชีวิตอย่างไทยไทยตามวิถีทางรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540

โดยพรรคได้อาศัยแนวคิดใหม่มาใช้ในการกำหนดนโยบายของพรรค โดยที่ “กระบวนการการบริหารงานของประเทศเน้นเอาความคิดของประชาชนเป็นหลัก ปลุกระดมความคิดของประชาชนให้เป็นความคิดของมหาชนไปสู่การร่วมมือในการแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม และเป็นวิทยาศาสตร์จากพื้นฐานความเป็นจริง สร้างบุคคลให้เป็นผู้นำขึ้นในเขตการจัดตั้งสาขาพรรค เน้นการดำเนินการในศูนย์การจัดตั้งให้เป็นประชาธิปไตย ดำเนินงานอาชีพโดยการจัดตั้งกลุ่มอาชีพ อาศัยแนวความคิดจากธรรมชาติ ภูมิศาสตร์ เศรษฐกิจ ครอบคลุมกระบวนการการผลิต การแปรรูป อุตสาหกรรม การตลาด และการให้การบริการอย่างครบวงจรพร้อมความสมดุลยั่งยืน”

ผลที่ได้นั้นจะทำให้เกิดการ “ปรับเปลี่ยนบทบาทภาคส่วนของรัฐ เน้นที่การเปลี่ยนโครงสร้างของรัฐให้เกิดประสิทธิภาพ รับใช้ประชาชน ปรับปรุงกลไกของการทำงานให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน ข้าราชการจะต้องเป็นบุคคลที่ประชาชนให้ความยอมรับนับถือโดยมีผลงานเป็นที่ประจักษ์ เป็นบุคคลที่ขยันขันแข็งเอาการเอางาน ประสานประโยชน์แก่ประชาชนทั้งโดยตรงและโดยอ้อม รู้จักการวิพากษ์วิจารณ์ตนเองต่อสาธารณชน วิสัยทัศน์ ทัศนคติ วิธีคิด วิธีการกระทำของภาครัฐจะต้องหลีกเลี่ยงหรือวิธีควบคุมมาเป็นการให้ความสนับสนุนและเอื้อประโยชน์แก่องค์กรเอกชนของมหาชน เน้นการบริการสาธารณะ ส่งเสริมพัฒนาอย่างรอบด้านและต่อเนื่อง และปรับเปลี่ยนบทบาทภาคเอกชน เปลี่ยนทัศนคติ วิธีคิดในการผลิตเพื่อรับใช้ประชาชน เพิ่มอัตรากำลังการผลิตสินค้าให้มากเพื่อประชาชนได้ใช้อย่างเพียงพอ การผลิตสินค้ามากขึ้นเท่าใดเท่ากับเป็นการลดต้นทุนผู้บริโภคสามารถซื้อได้ในราคาต่ำ และให้แปรรูปโครงสร้างกิจการเป็นบริษัทมหาชน ให้ประชาชนมีส่วนร่วมและตรวจสอบกิจการ” ซึ่งพรรคเกษตรกรไทยจะใช้แนวนโยบายดังกล่าวเป็นหลักเพื่อดำเนินการพร้อมกับนำความคิดของประชาชน กำหนดทิศทางปรับเปลี่ยนแผนและโครงสร้างให้สอดคล้องอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ เพื่อพัฒนาประชาชน พัฒนาชาติ บูรณาการประเทศไปสู่ความเจริญก้าวหน้าทันสมัย โดยแนวนโยบายของพรรคในด้านต่างๆนั้น มีดังนี้

นโยบายการเมืองจะเน้นการให้การศึกษาทางด้านการเมืองแก่ประชาชนทุกหมู่เหล่าให้ฟื้นฟูตื่นตัวขึ้นเห็นความสำคัญของการร่วมกลุ่ม ร่วมกิจกรรมอันจะนำไปสู่ความมีเสถียรภาพ เอกภาพ เป็นไทยอันเป็นรากฐานในการปกครองตามระบอบประชาธิปไตย ส่งเสริมองค์กรจัดตั้งกลุ่มจัดตั้ง ตามลักษณะของอาชีพในชนบท หมู่บ้านและเขตเมืองจนสามารถรวบรวมเป็นองค์กรขนาดใหญ่แล้ว ชี้นำเพื่อความก้าวหน้าในวิชาชีพและสามารถสร้างเกราะป้องกันผลประโยชน์ของตนเองมิให้ถูกเอารัดเอาเปรียบ กดขี่ข่มเหง โดยตรงหรือโดยอ้อมและไม่อยู่ในฐานะเป็นฝ่ายถูกกระทำต่อไป ให้ความสำคัญต่อการกระจายอำนาจในการปกครองตนเองในท้องถิ่นของประชาชนชนบท พร้อมเอาใจใส่ส่งเสริมจัดตั้งกลุ่มการเมืองในรูปแบบต่างๆ ให้เป็นประชาธิปไตย และจะปฏิรูปการเมืองให้ประชาชนมีส่วนร่วมเข้าตรวจสอบในการใช้อำนาจรัฐไปในทางทุจริต ประพฤติมิชอบ การแสวงหาผลประโยชน์จากอำนาจหน้าที่อันเป็นลาภมิควรได้ของผู้ดำรงตำแหน่ง ให้คุณให้โทษต่อการบริการประชาชน และจะออกกฎหมายขั้นเด็ดขาดลงโทษแก่ผู้กระทำการริดรอนสิทธิเสรีภาพบุคคล ตลอดถึงกระทำการนำพาความเสื่อมทรามเข้ามาสู่สังคมชุมชน การกดขี่ การทารุณ เอารัดเอาเปรียบอย่างขาดจริยธรรมต่อประชาชนคนในชาติ ตลอดถึงผู้ที่ขัดขวางความเจริญก้าวหน้าองค์กรการเกษตรชาวไร่ ชาวนาในภาคเกษตรกรรม

สำหรับนโยบายด้านการบริหาร พรรคเกษตรกรไทยจะดำเนินการปฏิรูปในด้านการจัดการปรับปรุงระบบงานทางราชการให้เอื้อประโยชน์ต่อประชาชนให้มากที่สุด โดยกระตุ้นแนวความคิด อุดมการณ์ วิธีการ การดำเนินการให้เป็นการบริการ เพื่อสนับสนุนกิจการแก่ประชาชนและเร่งรีบการดำเนินการกระจายอำนาจทางการจัดการลงสู่ประชาชน เพื่อให้ได้รับความก้าวหน้าและพึ่งตัวเองได้ สร้างจิตสำนึกข้าราชการจากความเคยเป็นนายเหมือนประชาชนจากที่เคยเป็นผู้ใช้อำนาจแต่ผู้เดียวมาเป็นผู้ร่วมวิเคราะห์

ด้านนโยบายต่อกระบวนการยุติธรรม จะถือความสมเหตุสมผลที่มนุษย์ประพฤติปฏิบัติตนต่อบุคคลอื่นในความเป็นมนุษย์เช่นเดียวกัน ถือเอาความเป็นอยู่อย่างเป็นธรรมชาติ ถือเอาความเอื้ออาทรแบ่งปันในทรัพยากรนั้นอย่างเท่าเทียมให้มนุษย์ดำรงอยู่ด้วยกันอย่างสันติ สงบ และความปรองดอง อบอุ่น การสนับสนุนให้โอกาส ปฏิเสธการขูดรีด ข่มเหง และการเอารัดเอาเปรียบทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ส่งเสริมเสรีภาพเชิดชูสิทธิมนุษยชน จะดำเนินการปฏิรูปเปลี่ยนแปลงแก้ไขเพิ่มเติมหรือยกเลิกกฎหมาย กฎระเบียบ ข้อปฏิบัติการใช้กฎหมายต่อประชาชนและยกเลิกกฎหมายทั้งปวงที่ไม่เอื้อประโยชน์ต่อประชาชน พลเมือง

ด้านนโยบายเศรษฐกิจนั้น พรรคเกษตรกรไทยจะดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจภายใต้ปรัชญาทางเศรษฐกิจของพรรค โดยพรรคยึดหลักเป้าหมายพื้นฐานการผลิต การแปรรูป อุตสาหกรรม การตลาด และการให้บริการ เน้นที่ภาคเกษตรกรรมอย่างครบวงจรเพื่อฟื้นฟูโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศ นโยบายต่อธุรกิจภาคเอกชน จะต้องถูกตรวจสอบคัดเลือกกิจกรรมเพื่อให้ได้รับการส่งเสริมจากกองทุนอย่างเต็มกำลัง จัดสรรงบประมาณให้เป็นพิเศษถ้ากิจกรรมนั้นๆ สามารถแปรรูปธุรกิจของตัวเองเป็นกิจการโดยมหาชนเข้าไปมีหุ้นส่วนจำนวนมากและก่อให้เกิดรายได้อย่างสม่ำเสมอต่อเนื่องต่อประชาชนผู้ถือหุ้นของมหาชนนั้น และสำหรับนโยบายการเงินการคลัง จะต้องถูกตรวจสอบอย่างละเอียดและมีระบบการจัดการอย่างแจ่มชัด และโปร่งใสเป็นหลัก

สำหรับนโยบายด้านเกษตรกรรมนั้น เป็นส่วนที่พรรคเกษตรกรไทยให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก โดยจะเห็นได้ว่านโยบายของพรรคนั้นผลักดันให้ประชาชนได้ตระหนักในภารกิจของตน ชี้นำการพัฒนาให้เกิดความก้าวหน้าฟื้นฟูเกษตรกรให้สามารถฟื้นคืนชีพอย่างมีความมั่นคง มีหลักประกันในการดำรงชีวิต มีธุรกิจของกลุ่มตนเองอย่างครบวงจรทั้งทางการผลิต การแปรรูป/อุตสาหกรรม การจัดจำหน่ายทั้งภายในและต่างประเทศ การบริการทุกชนิดอยู่ภายใต้การควบคุมขององค์กรของตนเองและสามารถพัฒนาตนเองอย่างครบครัน สามารถกำหนดอนาคตของตนเองอย่างแท้จริง โดยทางพรรคได้แบ่งการดำเนินงานในการพัฒนาด้านเกษตรกรรมออกเป็น 3 ขั้นตอนด้วยกัน คือ

ขั้นตอนแรก จะเป็นการวางรากฐานในการพัฒนาภาคเกษตรกรรมของประเทศ โดยที่รัฐที่สนับสนุนด้านปัจจัยการผลิตและเงินทุน ตลอดจนเผยแพร่ความรู้และเทคโนโลยีการเกษตรให้แก่เกษตรกร เพื่อเสริมสร้างศักยภาพในการผลิตให้แก่เกษตรกรในระยะยาว

ขั้นตอนที่สอง รัฐจะสร้างการรวมกลุ่มของเกษตรกรให้มีความเข้มแข็ง กำหนดพื้นที่เพาะปลูกให้ชัดเจน จัดตั้งศูนย์กลางการตลาดและอุตสาหกรรมแปรรูปสินค้าเกษตร ตลอดจนปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจัดเก็บภาษีจากเกษตรกร เพื่อรักษาผลประโยชน์ให้แก่กลุ่มเกษตรกร

ส่วนขั้นตอนที่สามนั้น จะมุ่งไปที่การสร้างการรวมกลุ่มขนาดใหญ่ขึ้นเป็นบริษัทมหาชน เพื่อให้ทุกกลุ่มมีสิทธิควบคุมการบริหารในองค์กรของตนเอง โดยมีส่วนแนะนำการจัดตั้งเข้าร่วมคณะกรรมการบริหารกำหนดทิศทางเป้าหมาย นโยบาย และวิธีการการดำเนินการอย่างรอบด้าน

นโยบายด้านการพัฒนาสังคมนั้น พรรคเกษตรกรไทยเชื่อว่ามนุษย์จะอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขได้นั้นจะต้องสร้างความเข้าอกเข้าใจ มีเป้าหมายในการบูรณาการประเทศชาติเป็นไปในทิศทางเดียวกันทุกภาค ทุกส่วน และจะต้องมีการปฏิบัติให้สอดคล้องต้องกันให้บรรลุในสิ่งเดียวกัน แม้ว่าต่างลัทธิปกครองต่างความเชื่อถือทางศาสนา เชื่อว่ามนุษย์ทุกคนมีความดีเป็นพื้นฐานในจิตสำนึกปัญหาอยู่ที่ว่าบทบาทในสังคมโดยรวมมีโอกาสได้แสดงศักยภาพและความสามารถที่มีอยู่ให้เป็นประโยชน์ต่อสังคม พรรคจึงส่งเสริมเปิดโอกาสให้กับบุคคล กลุ่มชน นิติบุคคล สถาบันอื่นใด ให้ทุกภาคทุกส่วนในสังคมได้แสดงคุณค่าความดี แสดงพลังสติปัญญาอย่างเสมอภาค โดยสังคมทั้งมวลเป็นฝ่ายตัดสิน แนะนำ ชี้นำรับเอาสิ่งที่เป็นประโยชน์นั้น โดยส่วนนี้พรรคจะสนับสนุนให้เกิดสภาความคิดของประชาชนในทุกกลุ่มเพื่อกลั่นกรองความเรียกร้องต้องการของมหาชนอันจะเป็นแนวทางเพื่อการพัฒนาบูรณาการสร้างสังคมให้เกิดความเจริญก้าวหน้าในทิศทางและเป้าหมายเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ซึ่งจะส่งผลต่อการพัฒนาประเทศชาติในที่สุด

นอกจากนี้ พรรคเกษตรกรไทยยังให้ความสำคัญต่อการพัฒนาในด้านอื่นๆ โดยได้มีการกำหนดนโยบายการพัฒนาด้านการศึกษาและศิลปวัฒนธรรม นโยบายการให้การศึกษาทางการเมือง นโยบายสาธารณสุข นโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม เพื่อ “กำหนดทิศทางประวัติศาสตร์ใหม่ ฟื้นฟูบูรณาการประเทศทุกภาคส่วนที่ล้าหลัง อ่อนแอ ปรับปรุงเปลี่ยนแปลง แก้ไข และยกเลิกกิจการการประกอบกิจที่ล้าหลัง ทั้งภาคเอกชนและวิสาหกิจของรัฐ ปฏิรูปการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม โดยประชาชนเป็นผู้กำหนดผดุงไว้ซึ่งวัฒนธรรมอันดีงามของชุมชน ปฏิเสธวัฒนธรรมต่างชาติที่เป็นบ่อนทำลายศิลปวัฒนธรรม ประเพณี...” ให้สำเร็จดังอุดมการณ์หลักของพรรคที่ได้ประกาศไว้

สำหรับการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองของพรรคเกษตรกรไทยนั้น พบว่าพรรคเกษตรกรไทยได้มีการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ.2550 ทั้งในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขต และการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบสัดส่วน โดยในการสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบสัดส่วนนั้น พรรคเกษตรกรไทยได้รับหมายเลข 8 เป็นหมายเลขประจำพรรค โดยมีการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบสัดส่วนใน 5 กลุ่มจังหวัด เป็นจำนวนรวมทั้งสิ้น 50 คน ซึ่งประกอบด้วย

กลุ่มจังหวัดที่ 3 รวมทั้งสิ้น 10 คน (1. จังหวัดอำนาจเจริญ 2. จังหวัดมุกดาหาร 3. จังหวัดนครพนม 4. จังหวัดสกลนคร 5. จังหวัดกาฬสินธุ์ 6. จังหวัดมหาสารคาม 7. จังหวัดหนองคาย 8. จังหวัดอุดรธานี 9. จังหวัดหนองบัวลำภู 10. จังหวัดเลย)

กลุ่มจังหวัดที่ 4 รวมทั้งสิ้น 10 คน (1. จังหวัดบุรีรัมย์ 2. จังหวัดสุรินทร์ 3. จังหวัดศรีสะเกษ 4. จังหวัดอุบลราชธานี 5. จังหวัดยโสธร 6. จังหวัดร้อยเอ็ด)

กลุ่มจังหวัดที่ 5 รวมทั้งสิ้น 10 คน (1. จังหวัดสระแก้ว 2. จังหวัดนครราชสีมา 3. จังหวัดปทุมธานี 4. จังหวัดนครนายก 5. จังหวัดปราจีนบุรี 6. จังหวัดฉะเชิงเทรา 7. จังหวัดชลบุรี 8. จังหวัดระยอง 9. จังหวัดจันทบุรี 10. จังหวัดตราด)

กลุ่มจังหวัดที่ 6 รวมทั้งสิ้น 10 คน (1. กรุงเทพมหานคร 2. จังหวัดนนทบุรี 3. จังหวัดสมุทรปราการ)

กลุ่มจังหวัดที่ 7 รวมทั้งสิ้น 10 คน (1. จังหวัดระนอง 2. จังหวัดชุมพร 3. จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ 4. จังหวัดเพชรบุรี 5. จังหวัดราชบุรี 6. จังหวัดสมุทรสงคราม 7. จังหวัดสมุทรสาคร 8. จังหวัดนครปฐม 9. จังหวัดกาญจนบุรี 10. จังหวัดสุพรรณบุรี 11. จังหวัดชัยนาท 12. จังหวัดสิงห์บุรี 13. จังหวัดอ่างทอง 14. จังหวัดพระนครศรีอยุธยา 15. จังหวัดสระบุรี)

อย่างไรก็ตาม ผลการเลือกตั้งครั้งดังกล่าวไม่ปรากฏว่ามีผู้สมัครจากพรรคเกษตรกรไทยทั้งในแบบแบ่งเขต และแบบสัดส่วน ได้รับการเลือกตั้งเข้าเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแต่อย่างใด ซึ่งในปัจจุบัน พรรคเกษตรกรไทยยังคงดำรงฐานะเป็นพรรคการเมือง และดำเนินกิจการของพรรคอยู่เป็นปกติ

ที่มา

ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 121 ตอนพิเศษ 9 ง หน้า 15-99

ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 124 ตอนที่ 93 ก หน้า 53-58

ประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง กำหนดเขตเลือกตั้งสำหรับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบสัดส่วน, ประกาศ ณ วันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ.2550