ผลต่างระหว่างรุ่นของ "คณะกรรมการการเลือกตั้ง"

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
Panu (คุย | ส่วนร่วม)
ไม่มีความย่อการแก้ไข
Panu (คุย | ส่วนร่วม)
ไม่มีความย่อการแก้ไข
บรรทัดที่ 1: บรรทัดที่ 1:
'''ผู้เรียบเรียง นารีลักษณ์  ศิริวรรณ'''
'''ผู้เรียบเรียง''' นารีลักษณ์  ศิริวรรณ


'''ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร จเร พันธุ์เปรื่อง'''
'''ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ''' รองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร จเร พันธุ์เปรื่อง  


----
----

รุ่นแก้ไขเมื่อ 14:45, 24 กรกฎาคม 2552

ผู้เรียบเรียง นารีลักษณ์ ศิริวรรณ

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร จเร พันธุ์เปรื่อง


แต่เดิมการจัดการเลือกตั้งเป็นหน้าที่ของกองการเลือกตั้ง กรมการปกครอง กระทรวง มหาดไทย ต่อมาในการเลือกตั้งครั้งที่ ๑๖ เมื่อวันที่ ๒๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๓๕ รัฐบาลของนายอานันท์ ปันยารชุน ซึ่งรับผิดชอบดำเนินการเลือกตั้ง ได้ตระหนักถึงปัญหาการซื้อขายเสียงที่มีอยู่ทั่วไป จึงแต่งตั้ง “คณะกรรมการติดตามและสอดส่องดูแลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร” หรือที่รู้จักกันในชื่อ องค์กรกลาง เป็นหน่วยงานอิสระไม่มีผลประโยชน์ใด ๆ กับการเลือกตั้ง ทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเข้าใจถึงความสำคัญของการเลือกตั้ง และตรวจสอบการเลือกตั้งให้บริสุทธิ์ยุติธรรม

ต่อมารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๓๘ มาตรา ๑๑๕ ได้บัญญัติหลักเกณฑ์และวิธีการเลือกตั้งให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ให้มีคณะกรรมการการเลือกตั้ง ซึ่งมีหน้าที่ตามที่กฎหมายบัญญัติ เพื่อกำกับดูแลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรให้บริสุทธิ์ยุติธรรม คุณสมบัติ หลักเกณฑ์ พิธีการแต่งตั้ง และการให้กรรมการการเลือกตั้งจากตำแหน่งให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ

ต่อมารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๔๐ ได้บัญญัติให้จัดตั้งคณะกรรมการการเลือกตั้งขึ้นเป็นองค์กรอิสระ และกำหนดอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง เป็นผู้ควบคุมและดำเนินการจัด หรือจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาท้องถิ่น และผู้บริหารท้องถิ่น รวมทั้งการออกเสียงประชามติให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม [1]

คณะกรรมการการเลือกตั้ง

คณะกรรมการการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญมาตรา ๑๓๖ ประกอบด้วย ประธานกรรมการคนหนึ่งและกรรมการอื่นอีกสี่คน รวมเป็นห้าคน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามคำแนะนำของวุฒิสภา โดยคณะกรรมการสรรหาและที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาเสนอชื่อรวมสิบคนให้วุฒิสภาลงมติเลือกเหลือห้าคน และทั้งห้าคนทำการประชุมเลือกกันเองให้คนหนึ่งเป็นประธานกรรมการการเลือกตั้ง แล้วประธานวุฒิสภาก็นำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงแต่งตั้งและเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการด้วย[2]

ขั้นตอนการได้มาซึ่งคณะกรรมการการเลือกตั้ง

ให้ดำเนินการดังนี้[3]

(๑) ให้มีคณะกรรมการสรรหากรรมการการเลือกตั้ง จำนวน ๑๐ คน ซึ่งประกอบด้วยประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานศาลปกครองสูงสุด อธิการบดีของสถาบันอุดมศึกษาของรัฐที่เป็นนิติบุคคลทุกแห่งซึ่งเลือกกันเองให้เหลือ ๔ คน ผู้แทนพรรคการเมืองทุกพรรคที่มีสมาชิกเป็นสมาชิกสภา ผู้แทนราษฎรพรรคละ ๑ คน ซึ่งเลือกกันเองให้เหลือ ๔ คน ทำหน้าที่พิจารณาสรรหาผู้มีคุณสมบัติตามมาตรา ๑๓๗ ซึ่งสมควรเป็นกรรมการการเลือกตั้ง จำนวน ๕ คน เสนอต่อประธานวุฒิสภา โดยต้องเสนอพร้อมความยินยอมของผู้ได้รับการเสนอชื่อนั้น มติในการเสนอชื่อดังกล่าวต้องมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสามในสี่ของจำนวนกรรมการสรรหาทั้งหมดเท่าที่มีอยู่

(๒) ให้ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาพิจารณาสรรหาผู้สัมครเป็นกรรมการการเลือกตั้งจำนวน ๕ คน เสนอต่อประธานวุฒิสภา โดยต้องเสนอพร้อมความยินยอมของผู้ได้รับการเสนอชื่อนั้น

(๓) การเสนอชื่อตาม (๑) และ (๒) ให้กระทำภายในสามสิบวัน นับแต่วันที่มีเหตุที่ทำให้ต้องมีการเลือกบุคคลให้ดำรงตำแหน่งดังกล่าว ในกรณีที่คณะกรรมการสรรหาตาม (๑) ไม่อาจเสนอชื่อได้ภายในเวลาที่กำหนด หรือไม่อาจเสนอชื่อได้ครบจำนวนภายในเวลาที่กำหนด ให้ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาพิจารณาเสนอชื่อแทนจนครบจำนวนภายในสิบห้าวัน นับแต่วันที่ครบกำหนดต้องเสนอชื่อตาม (๑)

(๔) ให้ประธานวุฒิสภาเรียกประชุมวุฒิสภา เพื่อมีมติเลือกผู้ได้รับการเสนอชื่อตาม (๑) (๒) และ (๓) ซึ่งต้องกระทำโดยวิธีลงคะแนนลับ ในการนี้ ให้ห้าคนแรกซึ่งได้รับคะแนนสูงสุดและมีคะแนนมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภา เป็นผู้ได้รับเลือกเป็นกรรมการการเลือกตั้ง แต่ถ้าจำนวนผู้ได้รับเลือกดังกล่าวมีไม่ครบ ๕ คน ให้นำรายชื่อผู้ไม่ได้รับเลือกในคราวแรกนั้นมาให้สมาชิกวุฒิสภาออกเสียงลงคะแนนเลือกอีกครั้งหนึ่งต่อเนื่องกันไป และในกรณีนี้ให้ถือว่าผู้ได้รับคะแนนเสียงสูงสุดเรียงลงไปตามลำดับจนครบห้าคน เป็นผู้ได้รับเลือกให้เป็นกรรมการการเลือกตั้ง ในครั้งนี้ถ้ามีผู้ได้คะแนนเสียงเท่ากันในลำดับใด อันเป็นเหตุให้มีผู้ได้รับเลือกเกินห้าคน ให้ประธานวุฒิสภาจับสลากว่าผู้ใดเป็นผู้ได้รับเลือก

(๕) ให้ผู้ได้รับเลือกตาม (๔) ประชุมและเลือกกันเองให้คนหนึ่งเป็นประธานกรรมการการเลือกตั้ง และแจ้งผลให้ประธานวุฒิสภาทราบ และให้ประธานวุฒิสภานำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงแต่งตั้งต่อไป

คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของกรรมการการเลือกตั้ง

กรรมการการเลือกตั้งต้องมีคุณสมบัติ ดังต่อไปนี้

(๑) มีสัญชาติไทยโดยการเกิด

(๒) มีอายุไม่ต่ำกว่าสี่สิบปีบริบูรณ์ในวันเสนอชื่อ

(๓) สำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า

กรรมการการเลือกตั้งต้องไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้

(๑) วิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ

(๒) เป็นภิกษุ สามเณร นักพรค หรือนักบวช

(๓) ต้องคุมขังอยู่โดยหมายของศาลหรือโดยคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย

(๔) อยู่ในระหว่างถูกเพิกเฉยถอนสิทธิเลือกตั้ง

(๕) ติดยาเสพติดให้โทษ

(๖) เป็นบุคคลล้มละลายที่ศาลยังไม่สั่งให้พ้นจากคดี

(๗) เคยต้องคำพิพากษาให้จำคุกตั้งแต่สองปีขึ้นไป โดยได้พ้นโทษมายังไม่ถึงห้าปีในวันได้รับการเสนอเชื่อโดยคณะกรรมการสรรหา เว้นแต่ความผิดอันได้กระทำโดยประมาท

(๘) เคยถูกไล่ออก ปลดออก หรือให้ออกจากราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ เพราะทุจริตต่อหน้าที่ หรือถือว่าการกระทำการทุจริตหรือประพฤติมิชอบในวงราชการ

(๙) เคยต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน เพราะร่ำรวยผิดปกติ หรือมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติ

(๑๐) อยู่ในระหว่างต้องห้ามมิให้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตามมาตรา ๒๙๕ ของรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย

(๑๑) เคยถูกวุฒิสภามีมติตามมาตรา ๓๐๗ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ให้ถอดถอนออกจากตำแหน่งและยังไม่พ้นกำหนดห้าปี นับแต่วันที่วุฒิสภามีมติจนถึงวันที่ได้รับการเสนอชื่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง

(๑๒) เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ข้าราชการการเมือง สมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น

(๑๓) เป็นหรือเคยเป็นสมาชิกผู้ดำรงตำแหน่งอื่นของพรรคการเมืองไทยในระยะห้าปี

(๑๔) เป็นผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ตุลาการศาลปกครอง กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน

อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง

คณะกรรมการการเลือกตั้งมีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้

(๑) ควบคุมและดำเนินการจัดหรือจัดให้มีการเลือกตั้งและการออกเสียงประชามติตามที่กำหนดให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม

(๒) ออกประกาศกำหนดการทั้งหลายอันจำเป็นแก่การปฏิบัติตามกฎหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง

(๓) มีคำสั่งให้ข้าราชการ พนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยงาน หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือข้าราชการส่วนท้องถิ่น หรือเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ ปฏิบัติการทั้งหลายอันจำเป็นตามกฎหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง

(๔) ออกข้อกำหนดเป็นแนวทางการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ที่ได้รับแต่งตั้งให้มีอำนาจหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งหรือการอกเสียงประชามติ

(๕) สืบสวนสอบสวนเพื่อหาข้อเท็จจริง และวินิจฉัยชี้ขาดปัญหา หรือข้อโต้แย้งที่เกิดขึ้นตามกฎหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง

(๖) สั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่หรือออกเสียงประชามติใหม่ในหน่วยเลือกตั้งใดหน่วยเลือกตั้งหนึ่ง หรือทุกหน่วยเลือกตั้ง เมื่อมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าการเลือกตั้งหรือการออกเสียงประชามติในหน่วยเลือกตั้งนั้น ๆ มิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม

(๗) ดำเนินการหรือประสานงานกับหน่วยราชการ ราชการส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานอื่นของรัฐ หรือสนับสนุนองค์การเอกชนในการให้การศึกษาแก่ประชาชนเกี่ยวกับการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

(๘) ประกาศผลการเลือกตั้งและการออกเสียงประชามติ

(๙) จัดทำรายงานผลการปฏิบัติงานประจำปีและข้อสังเกตเสนอต่อรัฐสภา

(๑๐) ดำเนินการอื่นตามกฎหมายบัญญัติ

กรรมการการเลือกตั้งมีวาระการดำรงตำแหน่งเจ็ดปี นับแต่วันที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง และให้ดำรงตำแหน่งได้เพียงวาระเดียว กรรมการการเลือกตั้งซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระต้องอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่ากรรมการการเลือกตั้งซึ่งได้รับแต่งตั้งใหม่จะเข้ารับหน้าที่กรรมการการเลือกตั้งตามคำแนะนำของวุฒิสภา

วาระการดำรงตำแหน่งของคณะกรรมการการเลือกตั้ง

คณะกรรมการการเลือกตั้งชุดแรก[4]

วาระการดำรงตำแหน่ง ๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๔๐ – ๒๖ พฤษภาคม ๒๕๔๔

๑. นายธีรศักดิ์ กรรณสูต ประธานกรรมการการเลือกตั้ง
๒. นายโคทม อารียา กรรมการการเลือกตั้ง
๓. นายยุวรัตน์ กมลเวชช กรรมการการเลือกตั้ง
๔. นายจิระ บุญพจนสุนทร กรรมการการเลือกตั้ง (แทนนายวิสุทธิ์ โพธิแท่น)
๕. นายสวัสดิ์ โชติพานิช กรรมการการเลือกตั้ง

คณะกรรมการการเลือกตั้งชุดที่สอง

(วาระการดำรงตำแหน่ง ๒๑ ตุลาคม ๒๕๔๔ – ๒๕ กรกฎาคม ๒๕๔๕)

๑. พล.ต.อ.วาสนา เพิ่มลาภ ประธานกรรมการการเลือกตั้ง
๒. นายจรัล บูรณพันธุ์ศรี กรรมการการเลือกตั้ง เสียชีวิตเมื่อเดือนพฤศจิกายน ๒๕๔๘)
๓. พลเอกจารุภัทร เรืองสุวรรณ กรรมการการเลือกตั้ง(แทนพลเอกศิรินทร์ ธูปกล่ำ ที่พ้นจากตำแหน่งตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ)
๔. นายวีระชัย แนวบุญเนียร กรรมการการเลือกตั้ง
๕. นายปริญญา นาคฉัตรีย์ กรรมการการเลือกตั้ง

ต่อมาเมื่อวันที่ ๒๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๙ ศาลอาญาได้ตัดสินตามคำฟ้องของโจทย์ คือ นายถาวร เสนเนียม ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ในข้อหาปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบของคณะกรรมการการเลือกตั้ง โดยการเอื้อประโยชน์ให้กับพรรคไทยรักไทย ตามมาตรา ๒๔ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. ๒๕๔๑ มีโทษตามมาตรา ๔๒ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญฉบับเดียวกัน (ไม่ได้ลงโทษตามมาตรา ๑๕๗ แห่งประมวลกฎหมายอาญา) ศาลได้มีคำตัดสินว่าให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง ๓ คน ได้แก่ พลเอกวาสนา เพิ่มลาภ นายปริญญา นาคฉัตรีย์ และนายวีระชัย แนวบุญเนียร ต้องคำพิพากษาศาลอาญา ให้จำคุก ๔ ปี โดยไม่รอลงอาญา ส่งผลให้ต้องพ้นจากตำแหน่งคณะกรรมการการเลือกตั้ง เนื่องจากขาดคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญ

คณะกรรมการการเลือกตั้งชุดที่สาม

(วาระการดำรงตำแหน่ง ๒๐ กันยายน ๒๕๔๙ – ปัจจุบัน)

๑. นายอภิชาติ สุชัคคานนท์ ประธานกรรมการการเลือกตั้ง
๒. นายประพันธ์ นัยโกวิท กรรมการการเลือกตั้ง
๓. นางสดศรี สัตยธรรม กรรมการการเลือกตั้ง
๔. นายสมชัย จึงประเสริฐ กรรมการการเลือกตั้ง
๕. นายสุเมธ อุปนิสากร กรรมการการเลือกตั้ง

ต่อมานายสุเมธ ได้หมดวาระไปเพราะอายุครบ ๗๐ ปี เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๒ ในวันที่ ๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๒ ที่ประชุมวุฒิสภาลงมติคัดเลือกนายวิสุทธิ์ โพธิ์แท่น ดำรงตำแหน่งแทน


อ้างอิง

  1. คณิน บุญสุวรรณ, ปทานุกรมศัพท์รัฐสภาและการเมืองไทยฉบับสมบูรณ์, กรุงเทพฯ : บริษัทตถาตา พับลิเคชั่น, ๒๕๔๘, หน้า ๑๕ – ๑๖.
  2. คณิน บุญสุวรรณ, ปทานุกรมศัพท์รัฐสภาและการเมืองไทยฉบับสมบูรณ์, กรุงเทพฯ : บริษัทตถาตา พับลิเคชั่น, ๒๕๔๘, หน้า ๑๕.
  3. โคทม อารียา, สารานุกรมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. ๒๕๔๐). คณะกรรมการการเลือกตั้ง, กรุงเทพฯ : องค์การค้าคุรุสภา, ๒๕๔๔, หน้า ๙ – ๒๕.
  4. สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง, คณะกรรมการการเลือกตั้ง, (ระบบออนไลน์) http://www.ect.go.th/newweb/th/ect (สืบค้น ณ วันที่ ๒๙ พฤษภาคม ๒๕๕๒)

บรรณานุกรม

คณิน บุญสุวรรณ, (๒๕๔๘) “ปทานุกรมศัพท์รัฐสภาและการเมืองไทยฉบับสมบูรณ์”. กรุงเทพฯ : บริษัทตถาตา พับลิเคชั่น, หน้า ๑๕ – ๑๖.

โคทม อารียา, (๒๕๔๔) “สารานุกรมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. ๒๕๔๐)”. คณะกรรมการการเลือกตั้ง, กรุงเทพฯ : องค์การค้าคุรุสภา, หน้า ๙ – ๒๕.

สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, (๒๕๔๗) “รัฐสภาไทย ปี ๒๕๔๓ – ๒๕๔๗ (หมวดองค์กรอิสระ)”. กรุงเทพฯ : สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, หน้า ๑ – ๔.

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐. (หมวด ๖ รัฐสภา ส่วนที่ ๒ คณะกรรมการการเลือกตั้ง มาตรา ๑๓๖ – ๑๔๗)

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐. (หมวด ๑๑ องค์กรตามรัฐธรรมนูญ ส่วนที่ ๑ คณะกรรมการการเลือกตั้ง มาตรา ๒๒๙ – ๒๓๖)

ระบบออนไลน์

สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง, “คณะกรรมการการเลือกตั้ง”. (ระบบออนไลน์) http://www.ect.go.th/newweb/th/ect (สืบค้น ณ วันที่ ๒๙ พฤษภาคม ๒๕๕๒)

สถาบันนโยบายศึกษา, “ติดตามประชาธิปไตย.” (ระบบออนไลน์) http://www.fpps.or.th/news-printversion.phd.news (สืบค้น ณ วันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๕๕๒)


เอกสารแนะนำให้อ่านต่อ

กองบรรณาธิการ คุณธัม วศินเกษม, (๒๕๔๕) “องค์กรอิสระของประเทศไทยและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง”. นนทบุรี : สถาบันพระปกเกล้า.

สถาบันพระปกเกล้า, (๒๕๔๕) “คณะกรรมการการเลือกตั้งกับการใช้อำนาจหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง”. เอกสารวิชาการส่วนบุคคล (หลักสูตรการบริหารงานภาครัฐ และกฎหมายมหาชน) รุ่นที่ ๓ (๒๕๔๒).