ผลต่างระหว่างรุ่นของ "พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2518"

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
Trikao (คุย | ส่วนร่วม)
ไม่มีความย่อการแก้ไข
Trikao (คุย | ส่วนร่วม)
ไม่มีความย่อการแก้ไข
 
บรรทัดที่ 54: บรรทัดที่ 54:
          ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครต้องมาจากการเลือกตั้งโดยตรงและลับ กฎหมายกำหนดให้การลงสมัครรับเลือกตั้งในรูปของคณะและประชาชนต้องเลือกเป็นคณะด้วย[[#_ftn10|[10]]] มีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ 4 ปี นับแต่วันเลือกตั้ง[[#_ftn11|[11]]] ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครมีอำนาจและหน้าที่ต้องกำหนดนโยบาย ตลอดจนหน้าที่บริหารราชการและปฏิบัติตามกฎหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับกรุงเทพมหานคร
          ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครต้องมาจากการเลือกตั้งโดยตรงและลับ กฎหมายกำหนดให้การลงสมัครรับเลือกตั้งในรูปของคณะและประชาชนต้องเลือกเป็นคณะด้วย[[#_ftn10|[10]]] มีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ 4 ปี นับแต่วันเลือกตั้ง[[#_ftn11|[11]]] ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครมีอำนาจและหน้าที่ต้องกำหนดนโยบาย ตลอดจนหน้าที่บริหารราชการและปฏิบัติตามกฎหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับกรุงเทพมหานคร


          '''ข้อสังเกต'''
&nbsp;&nbsp;&nbsp;&nbsp;&nbsp;&nbsp;&nbsp;&nbsp;&nbsp; <u>ข้อสังเกต</u>


&nbsp;&nbsp;&nbsp;&nbsp;&nbsp;&nbsp;&nbsp;&nbsp;&nbsp; กฎหมายฉบับนี้กำหนดให้ประชาชนสามารถออกเสียงประชามติให้ถอดถอนผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้&nbsp;(มาตรา 27 วรรคสอง ประกอบมาตรา 32) ลักษณะเช่นนี้นับเป็นหลักการใหม่ที่นำมาใช้ครั้งแรกในประเทศไทย[[#_ftn12|[12]]]&nbsp;นอกจากนี้ ยังกำหนดให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครต้องไม่ดำรงตำแหน่งซ้ำซ้อนหรือสวมหมวกสองใบอันจะทำให้เกิดความไม่โปร่งใสในการบริหารราชการ ทั้งยังกำหนดให้ต้องไม่รับเงินหรือประโยชน์ใด ๆ[[#_ftn13|[13]]]&nbsp;อันเป็นคุณสมบัติของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ควรจะประพฤติปฏิบัติให้มีธรรมาภิบาลในการบริหารราชการแผ่นดิน
&nbsp;&nbsp;&nbsp;&nbsp;&nbsp;&nbsp;&nbsp;&nbsp;&nbsp; กฎหมายฉบับนี้กำหนดให้ประชาชนสามารถออกเสียงประชามติให้ถอดถอนผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้&nbsp;(มาตรา 27 วรรคสอง ประกอบมาตรา 32) ลักษณะเช่นนี้นับเป็นหลักการใหม่ที่นำมาใช้ครั้งแรกในประเทศไทย[[#_ftn12|[12]]]&nbsp;นอกจากนี้ ยังกำหนดให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครต้องไม่ดำรงตำแหน่งซ้ำซ้อนหรือสวมหมวกสองใบอันจะทำให้เกิดความไม่โปร่งใสในการบริหารราชการ ทั้งยังกำหนดให้ต้องไม่รับเงินหรือประโยชน์ใด ๆ[[#_ftn13|[13]]]&nbsp;อันเป็นคุณสมบัติของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ควรจะประพฤติปฏิบัติให้มีธรรมาภิบาลในการบริหารราชการแผ่นดิน

รุ่นแก้ไขปัจจุบันเมื่อ 15:36, 21 กรกฎาคม 2565

ผู้เรียบเรียง : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พนารัตน์ มาศฉมาดล

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : ศาสตราจารย์ ดร.บรรเจิด สิงคะเนติ

 

ความเป็นมา

          ในช่วงรัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร ได้ออกประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 24 ลงวันที่ 21 ธันวาคม พุทธศักราช 2514 ให้รวมจังหวัดพระนครและจังหวัดธนบุรีเข้าเป็นจังหวัดเดียว โดยเรียกชื่อใหม่ว่า “นครหลวงกรุงเทพธนบุรี” ต่อมาได้มีประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 335 เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2515 กำหนดให้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น กรุงเทพมหานคร และจัดให้มีระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานครใหม่ ให้มีผู้ว่าราชการและรองผู้ว่าราชการเป็นผู้ปกครองดูแลในเขตจังหวัด

          พัฒนาการในการปกครองส่วนท้องถิ่นในรูปแบบพิเศษของกรุงเทพมหานครได้ถูกให้ความสำคัญอีกครั้งในฐานะที่เป็นหน่วยงานในการเสริมสร้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยมากยิ่งขึ้นภายหลังเหตุการณ์ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2516[1] เป็นผลให้รัฐบาลเผด็จการของจอมพลถนอม กิตติขจร ต้องลาออกและยุติบทบาททางการเมืองลงไป จนกระทั่งได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย_พุทธศักราช_2517 ขึ้น โดยมีสาระสำคัญในการปกครองส่วนท้องถิ่นระบุให้สภาท้องถิ่น ผู้บริหารท้องถิ่นหรือคณะผู้บริหารท้องถิ่นต้องมาจากการเลือกตั้ง[2] ส่งผลให้ใน วันที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2518 ได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติระเบียบบริหารกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2518 ขึ้นใช้เพื่อให้มีการเลือกตั้งผู้บริหารส่วนท้องถิ่นให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ

          พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2518 กำหนดให้ยกเลิกประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 335 เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2515 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประชาชนของกรุงเทพมหานครได้มีส่วนเข้ามารับผิดชอบในการบริหารกรุงเทพมหานครโดยตรง เพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการแก่ประชาชนกรุงเทพมหานครให้ดียิ่งขึ้น และเป็นตัวอย่างของการปกครองท้องถิ่นโดยประชาชนของท้องถิ่นโดยตรงเพื่อให้สอดคล้องกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตยของประเทศต่อไป กฎหมายฉบับนี้มีทั้งสิ้น จำนวน 92 มาตรา จัดแบ่งโครงสร้างออกเป็น 7 หมวด รวมถึงบทเฉพาะกาลและการรักษาการตามพระราชบัญญัติ ดังนี้

               - คำปรารถและส่วนนำของกฎหมายอันประกอบด้วยชื่อกฎหมาย วันที่มีผลใช้บังคับการกำหนดให้กฎหมายอื่นที่มีเนื้อหาขัดหรือแย้งกับกฎหมายนี้ให้ใช้กฎหมายนี้ รวมถึงคำนิยาม

               - หมวด 1 การจัดระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร

                    ส่วนที่ 1 การจัดระเบียบราชการในกรุงเทพมหานคร

                    ส่วนที่ 2 เขต

               - หมวด 2 ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

               - หมวด 3 สภากรุงเทพมหานคร

               - หมวด 4 อำนาจหน้าที่ของกรุงเทพมหานคร

               - หมวด 5 ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร

               - หมวด 6 การคลังและทรัพย์สินของกรุงเทพมหานคร

               - หมวด 7 ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลกับกรุงเทพมหานคร

               - บทเฉพาะกาล

               - การรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

 

สาระสำคัญของพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2518

          1. การจัดระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร

          กรุงเทพมหานครเป็นทบวงการเมือง มีฐานะเป็นราชการส่วนท้องถิ่นนครหลวง แบ่งเขตพื้นที่ปกครองของกรุงเทพมหานครออกเป็นเขตและแขวงตามลำดับ[3] จัดแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ

               ส่วนที่ 1 การจัดระเบียบราชการในกรุงเทพมหานคร ประกอบด้วยผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และสภากรุงเทพมหานคร[4] ให้มีผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร 1 คน รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร 4 คน[5] และปลัดกรุงเทพมหานคร 1 คน ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายและตามคำสั่งของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร[6]

               ส่วนที่ 2 เขต ให้มีหัวหน้าเขต 1 คน และผู้ช่วยหัวหน้าเขตรับผิดชอบการปฏิบัติราชการภายในเขต[7] ถ้าเห็นสมควรอาจแบ่งเขตออกเป็นแขวงขึ้นตรงต่อหัวหน้าเขตก็ได้[8] ทั้งนี้ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครมีอำนาจที่จะรวมเขตพื้นที่เข้าด้วยกันโดยออกเป็นประกาศรวมอำนาจหน้าที่ในกรุงเทพกิจจานุเบกษาได้[9]

          2. ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

          ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครต้องมาจากการเลือกตั้งโดยตรงและลับ กฎหมายกำหนดให้การลงสมัครรับเลือกตั้งในรูปของคณะและประชาชนต้องเลือกเป็นคณะด้วย[10] มีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ 4 ปี นับแต่วันเลือกตั้ง[11] ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครมีอำนาจและหน้าที่ต้องกำหนดนโยบาย ตลอดจนหน้าที่บริหารราชการและปฏิบัติตามกฎหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับกรุงเทพมหานคร

          ข้อสังเกต

          กฎหมายฉบับนี้กำหนดให้ประชาชนสามารถออกเสียงประชามติให้ถอดถอนผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้ (มาตรา 27 วรรคสอง ประกอบมาตรา 32) ลักษณะเช่นนี้นับเป็นหลักการใหม่ที่นำมาใช้ครั้งแรกในประเทศไทย[12] นอกจากนี้ ยังกำหนดให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครต้องไม่ดำรงตำแหน่งซ้ำซ้อนหรือสวมหมวกสองใบอันจะทำให้เกิดความไม่โปร่งใสในการบริหารราชการ ทั้งยังกำหนดให้ต้องไม่รับเงินหรือประโยชน์ใด ๆ[13] อันเป็นคุณสมบัติของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ควรจะประพฤติปฏิบัติให้มีธรรมาภิบาลในการบริหารราชการแผ่นดิน

          3. สภากรุงเทพมหานคร

          สภากรุงเทพมหานครประกอบด้วยสมาชิกที่มาจากการเลือกตั้งคำนวนตามสัดส่วนประชากรในเขตกรุงเทพมหานคร[14] เพื่อทำหน้าที่เป็นผู้แทนของประชาชนภายในเขตกรุงเทพมหานคร มีอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ไม่ตกอยู่ในอาณัติใด ๆ[15] มีวาระคราวละ 4 ปี นับแต่วันเลือกตั้ง[16]

          สภากรุงเทพมหานครจะต้องเลือกประธานสภาและรองประธานสภาไม่เกิน 2 คน[17] เพื่อทำหน้าที่ดำเนินกิจการของสภากรุงเทพมหานครให้เป็นไปตามระเบียบ[18] โดยสภากรุงเทพมหานครอาจถูกยุบสภาได้โดยคำสั่งยุบสภาที่ออกโดยรัฐมนตรีโดยคำแนะนำของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร[19]

          การประชุมสภากรุงเทพมหานครเป็นไปตามข้อบังคับว่าด้วยการประชุมสภากรุงเทพมหานคร[20] ซึ่งต้องมีการเรียกประชุมสภากรุงเทพมหานครเป็นครั้งแรกภายใน 30 วัน นับแต่วันเลือกตั้งสมาชิกสภากรุงเทพมหานครแล้วเสร็จ และในหนึ่งปีต้องมีการประชุมสามัญไม่น้อยกว่า 2 สมัย แต่ต้องไม่เกิน 4 สมัย[21] องค์ประชุมของการประชุมสภากรุงเทพมหานครแต่ละครั้งต้องมีสมาชิกไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมด[22] ใช้เสียงข้างมากในการลงมติ[23] โดยสมาชิกย่อมมีสิทธิตั้งกระทู้ถามการทำงานของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้[24] และสมาชิกไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของจำนวนสมาชิกทั้งหมดมีสิทธิเข้าชื่อเสนอญัตติขอให้เปิดอภิปรายทั่วไปผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเกี่ยวกับการบริหารราชการกรุงเทพมหานครได้[25] นอกจากนี้ สภากรุงเทพมหานครยังมีอำนาจเลือกสมาชิกสภากรุงเทพมหานครเพื่อแต่งตั้งเป็น “คณะกรรมการสามัญ” และมีอำนาจเลือกสมาชิกสภากรุงเทพมหานครหรือบุคคลภายนอกเพื่อแต่งตั้งเป็น “คณะกรรมการวิสามัญ” เพื่อให้ทำหน้าที่พิจารณาสอบสวน หรือศึกษาเรื่องใด ๆ ที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของกรุงเทพมหานคร[26]

          4. อำนาจหน้าที่ของกรุงเทพมหานคร

          กรุงเทพมหานครมีอำนาจหน้าที่ในการดำเนินกิจการในเขตกรุงเทพมหานครเกี่ยวกับการให้บริการสาธารณะด้านต่าง ๆ เช่น การรักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชน จัดให้มีตำรวจกรุงเทพมหานคร หน้าที่รักษาความสะอาดเรียบร้อยของบ้านเมือง ด้านสาธารณสุข ด้านสาธารณูปโภค ด้านการศึกษา ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ด้านวิศวกรรมจราจร ควบคุมสุสานและฌาปนสถาน ด้านกีฬา การพาณิชย์ และหน้าที่อื่น ๆ[27]

          5. ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร

          กรุงเทพมหานครมีอำนาจตรา “ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร” โดยความเห็นชอบของสภากรุงเทพมหานครเพื่อปฏิบัติให้เป็นไปตามหน้าที่ของกรุงเทพมหานคร[28] การเสนอร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครสมารถเสนอได้โดย[29]

               - ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร หรือ

               - สมาชิกสภากรุงเทพมหานครจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจำนวนสมาชิกสภากรุงเทพมหานครทั้งหมด

          เมื่อสภากรุงเทพมหานครมีมติเห็นชอบร่างข้อบัญญัติให้ประธานสภากรุงเทพมหานครส่งให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครลงนามและประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษาและกรุงเทพกิจจานุเบกษา[30] หากร่างข้อบัญญัติใดที่ผู้ว่าราชการไม่เห็นชอบด้วยกับสภากรุงเทพมหานคร ให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครส่งร่างข้อบัญญัติพร้อมเหตุผลให้สภากรุงเทพมหานครพิจารณาใหม่ และต้องได้คะแนนเสียงยืนยันไม่น้อยกว่าสามในสี่ของจำนวนสมาชิกสภากรุงเทพมหานครทั้งหมด หากผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครยังคงไม่เห็นด้วยให้ประธานสภากรุงเทพมหานครลงนามในร่างข้อบัญญัตินั้นแทนผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แล้วประกาศในราชกิจจานุเบกษาและกรุงเทพกิจจานุเบกษาเพื่อใช้บังคับเป็นกฎหมาย[31]

          ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครสามารถกำหนดโทษของผู้ละเมิดข้อบัญญัติเป็นโทษจำคุกได้ไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ[32]

          6. การคลังและทรัพย์สินของกรุงเทพมหานคร

          งบประมาณรายจ่ายของกรุงเทพมหานครให้ทำเป็น “ข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี” หากงบประมาณไม่พอให้ตราขึ้นเป็น “ข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม”[33] กรุงเทพมหานครยังมีรายรับจากทรัพย์สินของกรุงเทพมหานคร รายได้จากสาธารณูปโภค รายได้จากพาณิชย์ของกรุงเทพมหานคร ภาษีอากร ค่าธรรมเนียม ค่าบริการต่าง ๆ เงินกู้ เงินอุดหนุนจากรัฐบาล เงินช่วยเหลือจากต่างประเทศ และองค์การระหว่างประเทศ เงินและทรัพย์สินอย่างอื่นที่มีผู้อุทิศให้ เป็นต้น[34]

          ให้มี “คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน” เป็นผู้ตรวจสอบการรับเงิน การจ่ายเงิน การบัญชี การเงิน และทรัพย์สินอื่น ๆ ของกรุงเทพมหานคร[35]

          7. ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลกับกรุงเทพมหานคร

          ความสัมพันธ์ด้านบุคลากร กระทรวง ทบวง และกรมสามารถส่งข้าราชการให้มาประจำกรุงเทพมหานครเพื่อปฏิบัติหน้าที่ของกระทรวง ทบวง กรมนั้น ๆ ได้โดยทำความตกลงกับกรุงเทพมหานคร[36]

          ความสัมพันธ์ด้านการควบคุมดูแลการปฏิบัติราชการของกรุงเทพมหานคร รัฐมนตรีมีอำนาจกำกับดูแลกรุงเทพมหานครในการสอบสวนข้อเท็จจริง สั่งให้กรุงเทพมหานครแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการปฏิบัติราชการของกรุงเทพมหานคร และมีอำนาจยับยั้งการปฏิบัติราชการของกรุงเทพมหานครที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายได้[37]

          ความสัมพันธ์ด้านงบประมาณ ให้รัฐบาลตั้งงบประมาณเป็นเงินอุดหนุนให้แก่กรุงเทพมหานครโดยตรง[38]

 

บทส่งท้าย

          กฎหมายกำหนดให้ดำเนินการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร รองผู้ว่ากรุงเทพมหานครและสมาชิกสภากรุงเทพมหานครภายใน 180 วัน นับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ คือ วันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2518[39] เป็นผลให้มีการจัดการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร รองผู้ว่ากรุงเทพมหานครและสมาชิกสภากรุงเทพมหานครขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2518 ผลการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครมี นายธรรมนูญ_เทียนเงิน เป็นผู้ชนะการเลือกตั้งว่าราชการกรุงเทพมหานคร จึงถือเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครที่มาจากการเลือกตั้งเป็นคนแรก[40]

          พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2518 ถูกยกเลิกโดยพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 เมื่อวันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2528 ตามความใน มาตรา 2 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 ที่กำหนดให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ทั้งนี้ วันที่ประกาศใช้กฎหมายฉบับนี้ คือ วันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2528

 

บรรณานุกรม

ชโลธร ผาโคตร, การพัฒนาการปกครองท้องถิ่นไทยในระยะ พ.ศ. 2517-2519: ศึกษาในด้านนโยบายการกระจายอำนาจ, วิทยานิพนธ์ปริญญารัฐศาสตรมหาบัณฑิต สาขาการปกครอง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2521.

ธเนศวร์ เจริญเมือง, 100 ปี การปกครองท้องถิ่นไทย พ.ศ. 2440-2540, กรุงเทพ: สำนักพิมพ์คบไฟ, 2540.

ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 92/ตอนที่ 42/20 กุมภาพันธ์ 2518. พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2518

ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 102/ตอนที่ 115/ฉบับพิเศษ หน้า 1/31 สิงหาคม 2528. พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528

วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี. ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร. จาก https://th.wikipedia.org/wiki/ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร.

สถาบันพระปกเกล้า, สารานุกรมการปกครองท้องถิ่นไทย หมวดที่ 3 พัฒนาการและรูปแบบการปกครองท้องถิ่นไทย ลำดับที่ 1 เรื่อง ประวัติการปกครองท้องถิ่นไทย. ตุลาคม 2547.

 

อ้างอิง

[1] ชโลธร ผาโคตร, การพัฒนาการปกครองท้องถิ่นไทยในระยะ พ.ศ. 2517-2519: ศึกษาในด้านนโยบายการกระจายอำนาจ, วิทยานิพนธ์ปริญญารัฐศาสตรมหาบัณฑิต สาขาการปกครอง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2521.

[2] สถาบันพระปกเกล้า, สารานุกรมการปกครองท้องถิ่นไทย หมวดที่ 3 พัฒนาการและรูปแบบการปกครองท้องถิ่นไทย ลำดับที่ 1 เรื่อง ประวัติการปกครองท้องถิ่นไทย, ตุลาคม 2547, หน้า 39.

[3] มาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2518

[4] มาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2518

[5] มาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2518

[6] มาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2518

[7] มาตรา 14 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2518

[8] มาตรา 15 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2518

[9] มาตรา 18 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2518

[10] มาตรา 21 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2518

[11] มาตรา 27 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2518

[12] ธเนศวร์ เจริญเมือง, 100 ปี การปกครองท้องถิ่นไทย พ.ศ. 2440-2540, กรุงเทพ: สำนักพิมพ์คบไฟ, 2540, หน้า 187.

[13] มาตรา 29 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2518

[14] มาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2518

[15] มาตรา 44 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2518

[16] มาตรา 41 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2518

[17] มาตรา 47 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2518

[18] มาตรา 49 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2518

[19] มาตรา 43 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2518

[20] มาตรา 50 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2518

[21] มาตรา 51 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2518

[22] มาตรา 54 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2518

[23] มาตรา 55 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2518

[24] มาตรา 58 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2518

[25] มาตรา 59 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2518

[26] มาตรา 60 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2518

[27] มาตรา 66 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2518

[28] มาตรา 67 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2518

[29] มาตรา 72 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2518

[30] มาตรา 74 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2518

[31] มาตา 75 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2518

[32] มาตรา 70 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2518

[33] มาตรา 80 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2518

[34] มาตรา 81 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2518

[35] มาตรา 84 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2518

[36] มาตรา 85 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2518

[37] มาตรา 87 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2518

[38] มาตรา 86 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2518

[39] มาตรา 88 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2518

[40] วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี, ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร, จาก https://th.wikipedia.org/wiki/ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร, เข้าถึงเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2565.