ผลต่างระหว่างรุ่นของ "นาย ทวี บุณยเกตุ"

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
สร้างหน้าด้วย " '''ผู้เรียบเรียง''' วิชาญ ทรายอ่อน '''ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบท..."
 
Apirom (คุย | ส่วนร่วม)
Apirom ย้ายหน้า ทวี บุณยเกตุ (วิชาญ ทรายอ่อน) ไปยัง นาย ทวี บุณยเกตุ โดยไม่สร้างหน้าเปลี่ยนทา...
 
(ไม่แตกต่าง)

รุ่นแก้ไขปัจจุบันเมื่อ 16:48, 8 กุมภาพันธ์ 2564

ผู้เรียบเรียง วิชาญ ทรายอ่อน

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร จเร พันธุ์เปรื่อง


RTENOTITLE

นายกรัฐมนตรี” เป็นตำแหน่งหัวหน้ารัฐบาลของประเทศไทย ซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยบัญญัติให้ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงจะขึ้นดำรงตำแหน่งได้ นายกรัฐมนตรีจึงเป็นบุคคลสำคัญทางประวัติศาสตร์ที่ควรค่าแก่การศึกษาอัตชีวประวัติในแง่มุมต่างๆ

จากทำเนียบผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของไทย นายทวี บุณยเกตุ นับเป็นบุคคลสำคัญ ซึ่งดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 5 ในคณะรัฐมนตรีชุดที่ 12 ดำรงตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 31 สิงหาคม 2488-17 กันยายน 2488 รวม 18 วัน ท่านลาออกโดยเปิดทางให้กับผู้ที่เหมาะสมกว่าขึ้นมาดำรงตำแหน่ง นับว่าเป็นบุคคลทางการเมืองที่ไม่ยึดติดกับอำนาจบริหาร นอกจากนี้ท่านยังเป็นหนึ่งในคณะราษฎรสายพลเรือน และขบวนการเสรีไทยจึงนับได้ว่าท่านเป็นบุคคลทางประวัติศาสตร์ไทย ที่ควรค่าแก่การศึกษาและจารึกไว้

ชีวประวัติส่วนตัว

นายทวี บุณยเกตุ เกิดเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2447 เวลา 13.20 นาฬิกา เป็นบุตรของพระยารณชัยชาญยุทธ (ถนอม บุณยเกตุ) กับคุณหญิงรณชัยชาญยุทธ (ทับทิม) โดยชื่อ ทวี มาจากการที่บิดาและมารดาสมรสกันในวันทวีธาภิเษก บุคคลที่เข้าร่วมงานดังกล่าวเมื่อเลิกจากงานจึงมาในงานสมรสโดยไม่ได้ผลัดเปลี่ยนเสื้อผ้า ติดเหรียญตราทวีธาภิเษกเข้าร่วมงานเลย

นายทวีสมรสกับคุณหญิงอำภาศรี บุณยเกตุ และถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2514 รวมอายุได้ 67 ปี[1]

การศึกษา

ได้รับการศึกษาชั้นต้น ที่โรงเรียนเบญจมราชูทิศ จังหวัดจันทบุรี โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย และโรงเรียนราชวิทยาลัยเมื่อ พ.ศ. 2458 จนสำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมปีที่ 7 แล้วไปศึกษาต่อคิงส์คอลเลจ ประเทศอังกฤษ และไปศึกษาต่อวิชากสิกรรมภาคตะวันตก ที่มหาวิทยาลัยกรีนยอง ที่ประเทศฝรั่งเศส โดยทุนรัฐบาล เมื่อ พ.ศ. 2464 เป็นเวลา 3 ปี จึงสำเร็จหลักสูตร

ในระหว่างศึกษาที่ประเทศฝรั่งเศส นายทวี มีโอกาสได้พบปะกับผู้นำความคิด ทั้งชาวฝรั่งเศสและชาวไทยที่อาศัยและดำเนินกิจกรรมทางการเมืองอยู่ที่นั่น จึงคุ้นเคยกับบรรดานักคิดเรื่องการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เช่น นายปรีดี พนมยงค์ ร้อยโทแปลก ขีตตะสังคะ และได้เข้าร่วมเป็นแกนนำคนหนึ่งของคณะราษฎร

การรับราชการ

12 มกราคม 2476 เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตราธิการ
1 พฤศจิกายน 2478 ผู้ช่วยอธิบดีกรมประมง
7 กุมภาพันธ์ 2482 ผู้ช่วยเลขาธิการคณะรัฐมนตรีและรองเลขาธิการ รัฐมนตรี
25 พฤษภาคม 2485 รัฐมนตรีในรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม เมื่อขัดแย้งในปัญหาหลักการ จึงลาออก
2 สิงหาคม 2487 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการในรัฐบาล นายควง อภัยวงศ์และเป็นรัฐมนตรีสั่งราชการแทนนายกฯ อีกตำแหน่ง
31 สิงหาคม 2488 นายกรัฐมนตรี คนที่ 5
12 มีนาคม 2489 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตราธิการในรัฐบาล นายปรีดี พนมยงค์
พ.ศ. 2488-2489 อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คนที่ 2 ของมหาวิทยาลัย (ต่อจากพลเรือเอกสินธุ์ กมลนาวิน)

ภายหลังนายทวี บุณยเกตุจบปริญญาจากมหาวิทยาลัยกรีนยอง ที่ประเทศฝรั่งเศสแล้ว ได้กลับมารับราชการเป็นข้าราชการบำรุงพันธุ์สัตว์ชั้น 2 กรมเพาะปลูก กระทรวงเกษตราธิการ และปฏิบัติหน้าที่การงานก้าวหน้าขึ้นจนได้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยอธิบดีกรมประมง เมื่อ พ.ศ. 2478 จากนั้นย้ายมาเป็นผู้ช่วยเลขาธิการคณะรัฐมนตรี รองเลขาธิการรัฐมนตรี รัฐมนตรีในรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม 2487 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการในรัฐบาลนายควง อภัยวงศ์ตามลำดับ และดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี คนที่ 5 ในวันที่ 31 สิงหาคม 2488 และต่อมาได้ลาออกในวันที่ 17 สิงหาคม 2488 หลังจากดำรงตำแหน่งได้เพียง 18 วันด้วยเหตุผลว่าได้พิจารณาเห็นว่าภารกิจอันเร่งด่วนที่คณะรัฐมนตรีคณะนี้พึงปฏิบัติได้สำเร็จลุล่วงไปแล้ว ต่อไปนี้เรื่องปัญหาการเมืองและการทำความเข้าใจอันดีกับฝ่ายสหประชาชาติ จึงควรเปิดโอกาสให้ผู้ที่เหมาะสมได้เข้ามาบริหารราชการสืบแทนต่อไป

ผลงานทางการเมือง

นายทวี บุณยเกตุ มีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง โดยได้รับมอบหมายให้คุมกำลังเข้าควบคุมค่ายทหาร ที่บางซื่อ ในวันที่ 24 มิถุนายน 2475 จากนั้นได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชุดแรก จำนวน 70 คน เมื่อสิ้นสุดอายุของสภาชุดนี้ ได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกประเภทที่สอง

ในรัฐบาลพระยามโนปกรณ์นิติธาดา นายทวีได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการพิจารณาร่างเค้าโครงเศรษฐกิจแห่งชาติ เป็นผู้หนึ่งที่มีแนวความคิดสอดคล้องกับนายปรีดี พนมยงค์ นอกจากนี้ยังสนิทสนมและได้รับความไว้วางใจจากนายควง อภัยวงศ์ เป็นอย่างมาก

ในช่วงรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม นายทวี และนายควง ได้รับเลือกเป็นประธานและรองประธานสภาผู้แทนราษฎร ในวันที่ 26 มิถุนายน 2486 แต่เนื่องจากความขัดแย้งส่วนตัวกับจอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งไม่ยอมลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ นายทวีและนายควง จึงลาออกจากตำแหน่งทั้งคู่

ภายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง นายควง อภัยวงศ์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี นายทวี บุณยเกตุได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในช่วงเวลานั้น นายทวียังได้รับมอบอำนาจเป็นผู้สั่งการแทนนายกรัฐมนตรีในหลายโอกาส ทั้งยังเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการในประกาศพระบรมราชโองการว่าการประกาศสงครามกับสหราชอาณาจักรและสหรัฐอเมริกาเป็นโมฆะ เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2488 และวันนี้ทางการกำหนดให้เป็นวันสันติภาพของประเทศไทย

หลังจากนายควง อภัยวงศ์ ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2488 และอยู่ระหว่างรอ หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช เดินทางกลับจากสหรัฐอเมริกา นายปรีดี พนมยงค์ ในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ได้แต่งตั้งนายทวี บุณยเกตุ เป็นนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 31 สิงหาคม 2488 และลาออกเมื่อ 17 กันยายน 2488 ระยะเวลาในการบริหารประเทศของท่านจึงสั้นเพียง 18 วัน นับเป็นนายกรัฐมนตรีที่มีระยะเวลาดำรงตำแหน่งสั้นที่สุด

นายทวี บุณยเกตุปฏิบัติราชการตำแหน่งต่างๆ อย่างดียิ่งเป็นผู้ไม่ยึดติดในตำแหน่ง ตลอดระยะเวลาแห่งการรับราชการไม่พบว่านายทวี บุณยเกตุ ได้มีความบกพร่องด้วยประการใด เป็นพื้นฐานอย่างดีของการศึกษาการเมืองภาคปฏิบัติ และเป็นเงื่อนไขให้สามารถแสดงบทบาททางการเมืองได้อย่างดียิ่ง

การเปลี่ยนชื่อประเทศจากไทยเป็นสยาม[2]

หลังจากที่จอมพล ป.พิบูลสงคราม เปลี่ยนชื่อประเทศจากสยามเป็นไทย ขณะนายทวี บุณยเกตุ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ได้มีประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 กันยายน 2488 ให้เรียกชื่อประเทศว่า สยาม เช่นเดิม แต่เมื่อจอมพล ป.พิบูลสงคราม กลับมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง หลังรัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2490 จึงได้เปลี่ยนชื่อประเทศเป็นประเทศไทยอีกครั้ง และใช้ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

ลี้ภัยออกนอกประเทศ

วันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 คณะทหารเข้ายึดอำนาจจากปกครองจากรัฐบาล พลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นายทวี บุณยเกตุ ได้ลี้ภัยออกนอกประเทศพร้อมกับภริยา ไปใช้ชีวิตที่ปีนัง ประเทศมาเลเซีย และเดินทางกลับประเทศไทยหลังจากจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก่อรัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2500 ยึดอำนาจจากจอมพล ป.พิบูลสงคราม นายทวีได้รับแต่งตั้งเป็นประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2511 ใช้เวลาร่างถึง 10 ปี

นายทวี บุณยเกตุ ได้ก่อตั้งมูลนิธิทางการศึกษาชื่อ มูลนิธิ ทวี บุณยเกตุ เพื่อช่วยเหลือสมาชิกคุรุสภา ผู้ประสบอัคคีภัยและภัยธรรมชาติ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ใช้ชื่อท่านเป็นห้องประชุม ทวี บุณยเกตุ ตั้งอยู่ที่ ชั้น 6 อาคารสำนักงานอธิการบดี

อ้างอิง

  1. “นายทวี บุณยเกตุ”, [ข้อมูลออนไลน์] วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี จากเว็บไซต์ http://th.wikipedia.org/wiki/ทวี_บุณยเกตุ
  2. “นายกรัฐมนตรี คนที่ 5 “มีสิทธิเป็นนายกฯ ที่ดีแต่ไม่มีโอกาส”, [ข้อมูลออนไลน์] จากเว็บไซต์ http://www.oknation.net/blog/print.php?id=279459

หนังสือแนะนำให้อ่านต่อ (ผลงานของนายทวี บุณยเกตุ)

  • พ่อสอนลูก
  • การสังคม (พ.ศ. 2543)
  • การครองเรือน (พ.ศ. 2543)

บรรณานุกรม

“นายทวี บุณยเกตุ”, [ข้อมูลออนไลน์] วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี จากเว็บไซต์ http://th.wikipedia.org/wiki/ทวี_บุณยเกตุ

“นายกรัฐมนตรี คนที่ 5 “มีสิทธิเป็นนายกฯ ที่ดีแต่ไม่มีโอกาส” , [ข้อมูลออนไลน์] จากเว็บไซต์ http://www.oknation.net/blog/print.php?id=279459

ดูเพิ่มเติม

  • ชีวประวัติจากเว็บศิษย์เก่าสวนกุหลาบเน็ตเวิร์ก
  • หนังสือ “ศิลปวัฒนธรรม” ฉบับ ที่ 1 มิถุนายน 2547
  • ประวัตินายกรัฐมนตรีไทย
  • หนังสือตรัง โดย ยืนหยัด ใจสมุทร สำนักพิมพ์มติชน พ.ศ. 2539
  • วีรชาติ ชุ่มสนิท, 24 นายกรัฐมนตรีไทย, ออลบุ๊คส์พับลิสชิ่ง, 2549