ผลต่างระหว่างรุ่นของ "การยุบสภาผู้แทนราษฎร วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2549"

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
Apirom (คุย | ส่วนร่วม)
ไม่มีความย่อการแก้ไข
Apirom (คุย | ส่วนร่วม)
ไม่มีความย่อการแก้ไข
บรรทัดที่ 102: บรรทัดที่ 102:
[[ภาพ:การยุบสภาผู้แทนราษฎร_วันที่_24_กุมภาพันธ์_2549-6.JPG]]
[[ภาพ:การยุบสภาผู้แทนราษฎร_วันที่_24_กุมภาพันธ์_2549-6.JPG]]


----
[[หมวดหมู่ : การยุบสภา]]
{|cellpadding="2" cellspacing="5" style="vertical-align:top;background-color:#ffffff;color:#000;width:100%"
! style="background-color:#fffff; font-size: 100%; border: 1px solid #afa3bf; text-align: left;  padding-left: 7px;  -moz-border-radius:7px"  |[[หน้าหลัก]] | [[การยุบสภา]] [[หมวดหมู่ : สถาบันนิติบัญญัติ]]

รุ่นแก้ไขเมื่อ 17:17, 6 กันยายน 2553

ผู้เรียบเรียง ชงคชาญ สุวรรณมณี

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร จเร พันธุ์เปรื่อง


การยุบสภาผู้แทนราษฎร เป็นกลไกของระบอบประชาธิปไตย ในระบบรัฐสภาที่นอกจากเป็นเครื่องมือใช้ถ่วงดุลหรือคานอำนาจ ระหว่างฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติเพื่อมิให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีอำนาจเหนือกว่าอีกฝ่ายหนึ่งโดยสิ้นเชิงแล้ว การยุบสภาผู้แทนราษฎรยังเป็นวิธีการที่ให้ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งตัดสินชี้ขาดความขัดแย้งระหว่างฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ ผลการเลือกตั้งเป็นเครื่องมือชี้ขาดเจตจำนงของประชาชน[1]

การยุบสภาผู้แทนราษฎรมีในประเทศที่ปกครองระบบรัฐสภา โดยมีที่มาจากประเทศอังกฤษสำหรับประเทศไทยนับตั้งแต่ได้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นการปกครองระบบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 จนถึงปัจจุบัน รัฐธรรมนูญฉบับแรกของประเทศไทยที่ได้มีการบัญญัติเรื่องการยุบสภาผู้แทนราษฎร ได้แก่ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475 นับแต่นั้นมาก็ได้มีการนำมาบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับต่าง ๆ เรื่อยมา

การยุบสภาผู้แทนราษฎรตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ได้บัญญัติเรื่องการยุบสภาผู้แทนราษฎรไว้ในมาตรา 116 ว่า

มาตรา 116 พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจที่จะยุบสภาผู้แทนราษฎรเพื่อให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่

การยุบสภาผู้แทนราษฎรให้กระทำโดยพระราชกฤษฎีกา ซึ่งต้องกำหนดวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่เป็นการเลือกตั้งทั่วไปภายในหกสิบวัน และวันเลือกตั้งนั้นต้องกำหนดเป็นวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร

การยุบสภาผู้แทนราษฎรจะกระทำได้เพียงครั้งเดียวในเหตุการณ์เดียวกัน

การยุบสภาผู้แทนราษฎรตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญของประเทศไทย ตั้งแต่ฉบับแรกจนถึงรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 จะบัญญัติไว้กว้าง ๆ เพียงมาตราเดียว ครอบคลุมทั้งหลักเกณฑ์ และวิธีการยุบสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมด โดยให้การยุบสภาผู้แทนราษฎรเป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ และกระทำโดยพระราชกฤษฎีกา ซึ่งต้องกำหนดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่ เป็นการเลือกตั้งทั่วไป ภายในหกสิบวันซึ่งต้องเป็นวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร การยุบสภาผู้แทนราษฎรจะกระทำได้เพียงครั้งเดียวในเหตุการณ์เดียวกัน ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้ฝ่ายบริหารใช้อำนาจยุบสภาผู้แทนราษฎรได้อย่างกว้างขวาง

จากการที่รัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดว่าพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎรจะออกได้ในกรณีใดบ้าง เหมือนกับการออกพระราชกำหนดที่ให้ออกได้ในกรณีเพื่อประโยชน์ในอันที่จะรักษาความปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือ ป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะและเป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้ กรณีมีความจำเป็นต้องมีกฎหมายเกี่ยวด้วยภาษีอากรหรือเงินตรา ซึ่งจะต้องได้รับการพิจารณาโดยด่วนและลับ เพื่อประชาชนของแผ่นดินหรือเพื่อมิให้มีการออกพระราชกำหนดในกรณีอันนอกเหนือจากที่รัฐธรรมนูญกำหนด ทำให้ฝ่ายบริหารยุบสภาผู้แทนราษฎรได้ทุกกรณีโดยอ้างสาเหตุใด ๆ ก็ได้[2]

สำหรับประเทศไทยได้มีการยุบสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนรวม 11 ครั้ง นอกจากนี้ยังมีการยุบสภานิติบัญญัติแห่งชาติและการปิดสภาผู้แทนราษฎรที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งรวม 2 ครั้ง ซึ่งการยุบสภาผู้แทนราษฎรที่ผ่านมามักเกิดจากสาเหตุใหญ่ ๆ 3 ประเภท คือ[3]

1. ความขัดแย้งระหว่างฝ่ายบริหารกับฝ่ายนิติบัญญัติ

2. ความขัดแย้งภายในพรรคการเมืองร่วมรัฐบาล

3. ปัญหาทางการเมืองหรือวิกฤตการณ์ทางการเมืองเพื่อหาทางออกหรือแก้ปัญหาทางการเมือง

ส่วนการกำหนดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่ ภายในหกสิบวันนั้น เป็นดุลพินิจของฝ่ายบริหารที่จะกำหนดวันเลือกตั้งเมื่อใดก็ได้ แต่ต้องไม่เกินหกสิบวัน นับแต่วันที่มีพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร เช่น สมัยพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี ในปี พ.ศ. 2526 ได้มีพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2526 และกำหนดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2526[4] ซึ่งมีระยะเวลาในการจัดการเลือกตั้งเพียงสามสิบวัน ถือว่าไม่เกินหกสิบวันก็สามารถทำได้

การยุบสภาผู้แทนราษฎร วันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2549

ในสมัยพันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี เป็นการยุบสภาผู้แทนราษฎรครั้งล่าสุดตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540

มีสาเหตุมาจากกลุ่มบุคคลบางกลุ่มไม่พอใจการบริหารราชการแผ่นดินของพันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวหาว่า มีการใช้อำนาจเอื้อประโยชน์ให้กับธุรกิจของครอบครัวตนเอง แทรกแซงการทำงานขององค์กรอิสระ การขายหุ้นของครอบครัวให้กับบริษัทต่างชาติและมีผลประโยชน์ทับซ้อน จึงได้มีการชุมนุมเรียกร้องบีบบังคับให้นายกรัฐมนตรีลาออกจากตำแหน่งเพื่อยุติบทบาททางการเมือง โดยไม่มีเงื่อนไขใดๆ ทั้งสิ้น ขณะเดียวกันมีกลุ่มคนอีกจำนวนหนึ่งรวมตัวกันชุมนุมเพื่อสนับสนุนรัฐบาลจนเหตุการณ์ทำท่าจะบานปลาย เนื่องจากฝ่ายต่อต้านและฝ่ายสนับสนุนมีแนวโน้มที่จะออกมาปะทะกัน เหตุการณ์เริ่มส่อเค้าจะรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ไม่มีทีท่าจะสงบแม้รัฐบาลจะได้ดำเนินการขอให้เปิดอภิปรายทั่วไปในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาโดยไม่มีการลงมติในวันแรกที่มีการเปิดประชุมรัฐสภาสมัยสามัญทั่วไป ในวันที่ 8 - 9 มีนาคม พ.ศ. 2549 แต่ก็ไม่อาจแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้

ต่อมารัฐบาลได้แถลงการณ์ถึงเหตุผลของการยุบสภาผู้แทนราษฎรในครั้งนี้ว่า

1. การยุบสภาผู้แทนราษฎรเป็นกระบวนการปกติของการปกครองในระบบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา กล่าวคือ เมื่อใดที่มีความขัดแย้งหรือเกิดปัญหาการเมืองอันอาจนำมาซึ่งวิกฤตการณ์ต่าง ๆ จนการบริหารราชการแผ่นดินไม่อาจดำเนินไปได้ หากปล่อยไว้ความขัดแย้งและปัญหาอาจบานปลายถึงขั้นกระทบต่อเสถียรภาพของระบอบประชาธิปไตย วิธีการสุดท้ายที่มักนำมาใช้อยู่เสมอคือการยุบสภาผู้แทนราษฎรเป็นการคืนอำนาจตัดสินทางการเมืองกลับไปให้ประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยที่แท้จริงเป็นผู้ตัดสิน

2. การยุบสภาผู้แทนราษฎรครั้งนี้เกิดจากรัฐบาลพิจารณาเห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยปัจจุบัน ได้ใช้บังคับมา 9 ปีแล้ว ทำให้การปกครองระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภาพัฒนามีความเข้มแข็งตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ แต่ขณะนี้ได้มีความสับสนทางการเมืองเกิดขึ้น เนื่องจากมีกลุ่มบุคคลบางกลุ่มไม่พอใจในตัวผู้นำรัฐบาล และได้มีการชุมนุมสาธารณะตั้งข้อเรียกร้องในทางการเมืองเชิงบีบบังคับ ซึ่งแม้ในระยะแรกจะอยู่ในกรอบของกฎหมายแต่เมื่อนานวันเข้า การชุมนุมเรียกร้องได้ขยายตัวไปในทางที่กว้างขวางและอาจรุนแรงขึ้น ร่วมทั้งส่อเค้าว่าจะมีการเผชิญหน้าจนอาจปะทะกับฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยและอาจมีการสอดแทรกฉวยโอกาสจากผู้ที่ประสงค์จะเห็นความไม่สงบเรียบร้อยในบ้านเมืองจุดชนวนให้เกิดความรู้สึกที่เป็นปฏิปักษ์ต่อกัน จนลุกลามถึงขั้นก่อการจลาจลวุ่นวายสร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินได้ แม้ทางรัฐบาลจะใช้อำนาจเจ้าหน้าที่ฝ่ายบ้านเมืองเข้าควบคุมดูแลอย่างเข้มงวดหรือพยายามดำเนินการตามวิถีทางรัฐธรรมนูญด้วยการขอเปิดอภิปรายทั่วไปในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาแล้ว ก็ไม่สามารถยุตปัญหาดังกล่าวได้

3. รัฐบาลได้หารือกับประธานกรรมการการเลือกตั้งโดยมีความเห็นร่วมกันว่า แม้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยจะกำหนดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปภายใน 60 วันนับแต่วันยุบสภาผู้แทนราษฎร แต่ตามกฎหมายและในความเป็นจริง คณะกรรมการการเลือกตั้งพร้อมที่จะดำเนินการเลือกตั้ง ตั้งแต่วันครบ 30 วันนับแต่วันยุบสภาผู้แทนราษฎร ดังนั้น จึงได้กำหนดในวันอาทิตย์ที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2549 เป็นวันเลือกตั้งทั่วไป ทั้งนี้ เพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยเร็ว

4. เมื่อยุบสภาผู้แทนราษฎรแล้ว ทำให้คณะรัฐมนตรีต้องสิ้นสุดลง แต่สามารถอยู่ปฏิบัติหน้าที่ได้ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 215 ทั้งนี้ เพื่อดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยของประเทศและบริหารราชการแผ่นดินพร้อมทั้งดูแลการเลือกตั้งให้มีความสุจริตและเที่ยงธรรม

5. ขอให้ประชาชนทั้งหลายให้ความสำคัญกับการเลือกตั้ง ด้วยการไปใช้สิทธิเลือกตั้ง

เหตุการณ์ทางการเมืองภายหลังการประกาศพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2549

การตัดสินใจยุบสภาผู้แทนราษฎรของนายกรัฐมนตรีเพื่อเป็นทางออกในการแก้ไขปัญหาวิกฤติการณ์ของประเทศในขณะนั้น ถูกพรรคฝ่ายค้านมองว่านายกรัฐมนตรีตัดสินใจผิดพลาดที่ยุบสภาผู้แทนราษฎร เพราะสภาผู้แทนราษฎรไม่ได้มีความผิดอะไรและฝ่ายนิติบัญญัติมิได้มีความขัดแย้งอย่างรุนแรงกับฝ่ายบริหารจนเป็นเหตุให้มีการยุบสภาผู้แทนราษฎร แต่มีเจตนาหลีกเลี่ยงการตรวจสอบจากฝ่ายนิติบัญญัติทำให้นายกรัฐมนตรีขาดความชอบธรรมในการบริหารประเทศอีกต่อไป รวมทั้งการกำหนดวันเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2549 นั้นก็ไม่ชอบธรรมไม่เสมอภาคต่อพรรคการเมืองอื่น ทั้ง ๆ ที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้อย่างชัดเจนว่าในกรณีที่มีการยุบสภาผู้แทนราษฎร คณะกรรมการการเลือกตั้งจะต้องจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ภายใน 60 วัน ซึ่งเป็นระยะเวลาที่เหมาะสม เพราะจะทำให้ทุกฝ่ายมีเวลาเตรียมความพร้อมในการเลือกตั้งครั้งต่อไป แต่คณะกรรมการการเลือกตั้งกับเสนอให้รัฐบาลออกพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งใหม่ ภายใน 37 วัน ซึ่งเป็นเวลาที่กระชั้นชิดเกินไปไม่เป็นธรรมต่อพรรคฝ่ายค้าน ทำให้พรรคฝ่ายค้านทั้ง 3 พรรคการเมือง คือ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติไทย และพรรคมหาชน ไม่ส่งสมาชิกลงสมัครรับเลือกตั้ง ในวันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2549 เป็นผลให้พรรคไทยรักไทยต้องส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งเพียงพรรคเดียวในหลายเขตเลือกตั้ง ในที่สุดนำมาซึ่งการร้องขอให้การเลือกตั้งในวันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2549 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ต่อมาในวันที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2549 ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยให้การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2549 เป็นการเลือกตั้งที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ กำหนดให้มีวันเลือกตั้งทั่วไปใหม่ในวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2549 แต่ยังไม่ทันได้จัดการเลือกตั้ง ในวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 คณะทหารได้ทำการยึดอำนาจการปกครองประเทศจากรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เสียก่อน[5]

ต่อมาวันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2550 ตุลาการรัฐธรรมนูญ ได้มีคำสั่งให้ยุบพรรคไทยรักไทย และให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคจำนวน 111 คน มีกำหนดห้าปี ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ที่ถูกพรรคไทยรักไทยกล่าวหาว่าให้สินบนกับพรรคเล็กเพื่อให้คว่ำบาตรการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2549 ตุลาการรัฐธรรมนูญได้ตัดสินให้พ้นความผิด


ผลทางกฎหมายที่เกิดจากการยุบสภาผู้แทนราษฎร[6]

ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 เมื่อมีการยุบสภาผู้แทนราษฎรก่อให้เกิดผลทางกฎหมายดังต่อไปนี้

1. ทำให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพ้นจากตำแหน่งทันที จะปฏิบัติหน้าที่ต่อไปไม่ได้เพราะไม่มีสภาผู้แทนราษฎรแล้วตามมาตรา 118 ที่บัญญัติว่า “สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลงเมื่อ (1)...ถึงคราวออกตามอายุของสภาผู้แทนราษฎรหรือมีการยุบสภาผู้แทนราษฎร...” ส่วนสมาชิกวุฒิสภายังคงอยู่ในตำแหน่งต่อไปจนกว่าจะครบวาระ

2. ทำให้คณะรัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่งเพราะไม่มีสภาผู้แทนราษฎรไว้ควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินต่อไปแล้ว[7]

คณะรัฐมนตรีจะอยู่ในตำแหน่งต่อไปไม่ได้ แต่คณะรัฐมนตรียังคงปฏิบัติหน้าที่ในฐานะคณะรัฐมนตรีรักษาการได้ต่อไปจนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่ เพื่อมิให้การบริหารราชการแผ่นดินต้องหยุดชะงัก[8] มาตรา 215 ที่บัญญัติว่า “รัฐมนตรีทั้งคณะพ้นจากตำแหน่งเมื่อ...(2)...มีการยุบสภาผู้แทนราษฎร...คณะรัฐมนตรีที่พ้นจากตำแหน่งต้องอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่”

3. ร่างพระราชบัญญัติที่ค้างการพิจารณาอยู่ในสภาผู้แทนราษฎร หรือค้างการพิจารณาในวุฒิสภาเป็นอันตกไป แต่อาจมีการหยิบยกขึ้นมาพิจารณาต่อไปได้ตามยมาตรา 178 วรรคสองที่บัญญัติว่า “ในกรณีที่อายุของสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลงหรือมีการยุบสภาผู้แทนราษฎร ภายหลังการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอันเป็นการเลือกตั้งทั่วไป รัฐสภา สภาผู้แทนราษฎร หรือวุฒิสภา แล้วแต่กรณีจะพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม หรือร่างพระราชบัญญัติหรือร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญที่รัฐสภายังมิได้ให้ความเห็นชอบต่อไปได้ ถ้าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปร้องขอภายในหกสิบวันนับแต่วันเรียกประชุมรัฐสภาครั้งแรกหลังการเลือกตั้งทั่วไป และรัฐสภามีมติเห็นชอบด้วย แต่ถ้าคณะรัฐมนตรีมิได้ร้องขอภายในกำหนดเวลาดังกล่าวให้ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ร่างพระราชบัญญัติ หรือร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนั้นเป็นอันตกไป”

อ้างอิง

  1. ตวงรัตน์ เลาหัตถพงษ์ภูริ, “ปัญหาทางกฎหมายของการยุบสภาผู้แทนราษฎรในประเทศไทย”, (วิทยานิพนธ์นิติศาสตรมหาบัณฑิต, มหาวิทยาลัยรามคำแหง, 2542) : หน้า 38
  2. เรื่องเดียวกัน, หน้า 98-99.
  3. เรื่องเดียวกัน, หน้า 71.
  4. เรื่องเดียวกัน, หน้า 85.
  5. วิกิพีเดีย. “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” [ออนไลน์] แหล่งที่มา : http://th.wikipedia.org/wiki. ( 18 ตุลาคม 2552) หน้า 3.
  6. ตวงรัตน์, เรื่องเดิม, หน้า 63-67.
  7. หยุด แสงอุทัย, คำอธิบายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2511 (กรุงเทพฯ : น่ำเซียการพิมพ์, 2512, หน้า 238.
  8. วิษณุ เครืองาม, กฎหมายรัฐธรรมนูญ (กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์แสวงการพิมพ์, 2530), หน้า 603.

บรรณานุกรม

คำแถลงการณ์สำนักนายกรัฐมนตรี. ราชกิจจานุเบกษา 123 ตอนที่ 20 ก, (24 กุมภาพันธ์ 2549)

ตวงรัตน์ เลาหัตถพงษ์ภูริ, ปัญหาทางกฎหมายของการยุบสภาผู้แทนราษฎรในประเทศไทย, วิทยานิพนธ์นิติศาสตรมหาบัณฑิต,มหาวิทยาลัยรามคำแหง, 2542.

พระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2549. ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 123 ตอนที่ 20 ก (24 กุมภาพันธ์ 2549)

วิษณุ เครืองาม. กฎหมายรัฐธรรมนูญ, กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์แสวงการพิมพ์, 2530.

วิกิพีเดีย. “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” [ออนไลน์] แหล่งที่มา : http://th.wikipedia.org/wiki. 18 ตุลาคม 2552

สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร : กองการประชาสัมพันธ์. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540. กรุงเทพมหานคร : กองการพิมพ์, 2540.

ภาคผนวก