ผลต่างระหว่างรุ่นของ "รัฐธรรมนูญ"
ไม่มีความย่อการแก้ไข |
ไม่มีความย่อการแก้ไข |
||
บรรทัดที่ 17: | บรรทัดที่ 17: | ||
'''1.ประมุขของรัฐเป็นผู้จัดให้มี''' | '''1.ประมุขของรัฐเป็นผู้จัดให้มี''' | ||
เกิดขึ้นโดยการแสดงเจตนาของ[[พระมหากษัตริย์]]แต่ฝ่ายเดียว พระมหากษัตริย์ทรงยอมจำกัดพระราชอำนาจของพระองค์ลงโดยจัดให้มีสภานิติบัญญัติขึ้น รัฐธรรมนูญนี้ยังถือว่าพระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชอำนาจเหนือราษฎรอยู่และไม่ถือว่าเป็นประชาธิปไตยอย่างสมบูรณ์ เช่น รัฐธรรมนูญของประเทศญี่ปุ่น รัฐธรรมนูญของประเทศโมนาโค เป็นต้น<ref>พรชัย เลื่อนฉวี, '''“กฎหมายรัฐธรรมนูญและสถาบันการเมือง”,''' (กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิต), 2550, หน้า 17-18.</ref> | |||
'''2.ผู้ก่อการปฎิวัติหรือรัฐประหารเป็นผู้จัดให้มี''' | '''2.ผู้ก่อการปฎิวัติหรือรัฐประหารเป็นผู้จัดให้มี''' | ||
บรรทัดที่ 28: | บรรทัดที่ 28: | ||
'''4.ประมุขของรัฐและราษฎรหรือคณะบุคคลมีอำนาจร่วมกันจัดให้มี''' | '''4.ประมุขของรัฐและราษฎรหรือคณะบุคคลมีอำนาจร่วมกันจัดให้มี''' | ||
รัฐธรรมนูญชนิดนี้คือข้อตกลงระหว่างกษัตริย์กับราษฎรหรือคณะบุคคลคณะหนึ่ง ซึ่งกระทำหรือถือกันว่ากระทำในนามของราษฎรจัดการร่วมกันให้มีขึ้น จึงมีลักษณะเป็นประชาธิปไตยค่อนข้างมาก | รัฐธรรมนูญชนิดนี้คือข้อตกลงระหว่างกษัตริย์กับราษฎรหรือคณะบุคคลคณะหนึ่ง ซึ่งกระทำหรือถือกันว่ากระทำในนามของราษฎรจัดการร่วมกันให้มีขึ้น จึงมีลักษณะเป็นประชาธิปไตยค่อนข้างมาก มักเกิดจากการปฏิวัติหรือรัฐประหารซึ่งเห็นความสำคัญและความจำเป็นที่จะต้องมี[[พระมหากษัตริย์]]เป็นประมุขต่อไป เพื่อความเจริญและความสงบสุขของประเทศชาติ แต่จำกัดพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ให้อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ และพระมหากษัตริย์ทรงยอมรับรองรัฐธรรมนูญนั้น สำหรับประเทศไทย การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เพื่อใช้บังคับนั้นจะต้องถือว่าเป็นความตกลงร่วมกันระหว่างประมุขของรัฐกับคณะผู้ก่อการปฏิวัติหรือรัฐประหารเสมอ<ref>พรชัย เลื่อนฉวี, '''“กฎหมายรัฐธรรมนูญและสถาบันการเมือง”,''' (กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิต), 2550, หน้า 20.</ref> | ||
'''5.ผู้มีอำนาจจากองค์กรภายนอกในฐานะผู้มีอำนาจจัดให้มี''' | '''5.ผู้มีอำนาจจากองค์กรภายนอกในฐานะผู้มีอำนาจจัดให้มี''' |
รุ่นแก้ไขเมื่อ 12:38, 31 สิงหาคม 2552
ผู้เรียบเรียง ศรันยา สีมา
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร จเร พันธุ์เปรื่อง
การปกครองของประเทศต่าง ๆ ในโลกแต่เดิมนั้นมักเป็นลักษณะการปกครองโดยผู้ปกครองเพียงคนเดียวเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดและมีสิทธิขาดเพียงผู้เดียวในการปกครองดินแดนนั้น ด้วยเหตุนี้จึงมักเกิดกรณีที่ผู้ปกครองใช้อำนาจของตนตามอำเภอใจ สร้างความไม่พอใจให้กับผู้อยู่ภายใต้การปกครอง จนกระทั่งเกิดการรวมตัวกันเปลี่ยนแปลงการปกครองเสียใหม่โดยการวางระเบียบให้ผู้ปกครองต้องอยู่ภายใต้กฎหมายเช่นเดียวกันกับผู้อยู่ใต้ปกครอง
ความหมายของรัฐธรรมนูญ
“รัฐธรรมนูญ” หมายความถึง กฎหมายขั้นมูลฐานของรัฐ ซึ่งกล่าวถึงกฎเกณฑ์ที่จัดวางระเบียบความสัมพันธ์ระหว่างผู้ปกครองกับผู้อยู่ใต้การปกครอง เป็นกฎหมายที่อยู่ในฐานะสูงกว่ากฎหมายอื่น ๆ ทั้งปวง ซึ่งกฎหมายอื่น ๆ จะมีวิธีการจัดทำหรือมีข้อความที่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญไม่ได้ รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายที่กำหนดถึงกฎเกณฑ์การปกครองทางด้านการเมืองอย่างกว้าง ๆ กำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับการจัดรูปบริหารในทางการเมืองของรัฐหรือประเทศ[1]
อำนาจในการจัดให้มีรัฐธรรมนูญ
อำนาจการจัดให้มีรัฐธรรมนูญ (pouvoir constituent) หรืออำนาจสูงสุดในการก่อตั้งองค์กรทางการเมือง[2] ซึ่งผู้ที่มีอำนาจในการจัดให้มีรัฐธรรมนูญมีดังนี้คือ
1.ประมุขของรัฐเป็นผู้จัดให้มี
เกิดขึ้นโดยการแสดงเจตนาของพระมหากษัตริย์แต่ฝ่ายเดียว พระมหากษัตริย์ทรงยอมจำกัดพระราชอำนาจของพระองค์ลงโดยจัดให้มีสภานิติบัญญัติขึ้น รัฐธรรมนูญนี้ยังถือว่าพระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชอำนาจเหนือราษฎรอยู่และไม่ถือว่าเป็นประชาธิปไตยอย่างสมบูรณ์ เช่น รัฐธรรมนูญของประเทศญี่ปุ่น รัฐธรรมนูญของประเทศโมนาโค เป็นต้น[3]
2.ผู้ก่อการปฎิวัติหรือรัฐประหารเป็นผู้จัดให้มี
ในกรณีที่คณะบุคคลจะกระทำการปฏิวัติหรือรัฐประหาร หากกระทำการได้สำเร็จ ผู้ทำการปฏิวัติหรือรัฐประหารจะเป็นผู้จัดทำรัฐธรรมนูญขึ้น และในบางครั้งก็จะเป็นผู้จัดทำกฎเกณฑ์การปกครองประเทศเสียเองเป็นการชั่วคราวในรูปของประกาศคณะปฏิวัติ และในภายหลังก็อาจจัดให้มีกฎเกณฑ์การปกครองประเทศในรูปของรัฐธรรมนูญต่อไป[4]
3.ราษฎรเป็นผู้จัดให้มี
ราษฎรในที่นี้ หมายถึง ราษฎรที่ร่วมกันก่อการปฏิวัติหรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครองในประเทศได้สำเร็จ ราษฎรทั้งปวงย่อมกลายเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยซึ่งตนช่วงชิงมาได้ แม้แต่หัวหน้าที่ก่อการปฏิวัติก็จะต้องกระทำการอยู่ภายใต้ความประสงค์ของประชาชน เช่น รัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกา ค.ศ. 1787 รัฐธรรมนูญของฝรั่งเศส ค.ศ. 1791 และรัฐธรรมนูญของรัสเซีย ค.ศ. 1918 เป็นต้น[5]
4.ประมุขของรัฐและราษฎรหรือคณะบุคคลมีอำนาจร่วมกันจัดให้มี รัฐธรรมนูญชนิดนี้คือข้อตกลงระหว่างกษัตริย์กับราษฎรหรือคณะบุคคลคณะหนึ่ง ซึ่งกระทำหรือถือกันว่ากระทำในนามของราษฎรจัดการร่วมกันให้มีขึ้น จึงมีลักษณะเป็นประชาธิปไตยค่อนข้างมาก มักเกิดจากการปฏิวัติหรือรัฐประหารซึ่งเห็นความสำคัญและความจำเป็นที่จะต้องมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขต่อไป เพื่อความเจริญและความสงบสุขของประเทศชาติ แต่จำกัดพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ให้อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ และพระมหากษัตริย์ทรงยอมรับรองรัฐธรรมนูญนั้น สำหรับประเทศไทย การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เพื่อใช้บังคับนั้นจะต้องถือว่าเป็นความตกลงร่วมกันระหว่างประมุขของรัฐกับคณะผู้ก่อการปฏิวัติหรือรัฐประหารเสมอ[6]
5.ผู้มีอำนาจจากองค์กรภายนอกในฐานะผู้มีอำนาจจัดให้มี
ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา ได้มีประเทศเกิดใหม่ขึ้นเป็นจำนวนมาก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเทศที่เพิ่งได้รับเอกราชและต้องการที่จะมีรัฐธรรมนูญเพื่อแสดงฐานะในทางระหว่างประเทศของตน โดยรัฐเจ้าอาณานิคมที่จะให้เอกราชคืนแก่รัฐใต้อาณานิคมนั้นมักจะตกลงเป็นเงื่อนไขประการหนึ่งกับรัฐใต้อาณานิคมก่อนคืนเอกราชให้เสมอว่า รัฐใต้อาณานิคมจะต้องจัดทำรัฐธรรมนูญซึ่งรัฐเจ้าอาณานิคมให้การรับรองแล้วด้วย [7] เพื่อบังคับใช้ภายในรัฐใต้อาณานิคมภายหลังที่ได้รับเอกราชแล้ว
ประเภทของรัฐธรรมนูญ
รัฐธรรมนูญนั้นสามารถแบ่งแยกประเภทได้ในหลายลักษณะขึ้นอยู่กับหลักเกณฑ์ที่ใช้ในการแบ่งประเภท ซึ่งวัตถุประสงค์ในการจำแนกประเภทของรัฐธรรมนูญนั้นก็เพื่อที่จะศึกษาเปรียบเทียบรัฐธรรมนูญเป็นสำคัญ ประเภทของรัฐธรรมนูญนั้นสามารถจำแนกได้ดังต่อไปนี้คือ
1.แบ่งแยกตามวิธีการบัญญัติ
การแบ่งแยกโดยหลักเกณฑ์นี้สามารถแบ่งแยกรัฐธรรมนูญออกได้เป็น 2 ประเภทคือรัฐธรรมนูญที่เป็นลายลักษณ์อักษรและรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษร
รัฐธรรมนูญที่เป็นลายลักษณ์อักษร หมายความถึง รัฐธรรมนูญที่มีบทบัญญัติรวมอยู่ในเอกสารฉบับหนึ่งหรือหลายฉบับ กำหนดถึงระเบียบแห่งอำนาจสูงสุดในรัฐ และความสัมพันธ์ระหว่างอำนาจเช่นว่านี้ต่อกันและกัน[8] กฎเกณฑ์การปกครองประเทศและได้จัดทำด้วยวิธีการที่แตกต่างจากการจัดทำกฎหมายธรรมดา[9]
รัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษร หรือรัฐธรรมนูญจารีตประเพณี หมายความถึง ขนบธรรมเนียม จารีตประเพณี คำพิพากษาของศาลยุติธรรม กฎหมายที่เกี่ยวกับกฎเกณฑ์การปกครองประเทศทางด้านการเมือง ธรรมเนียมปฏิบัติต่าง ๆ ที่ยึดถือติดต่อกันมา รวมกันเข้าเป็นบทบัญญัติที่มีอำนาจเป็นกฎหมายสูงสุด กำหนดรูปแบบการปกครองของรัฐ ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้เขียนรวบรวมไว้เป็นรูปเล่ม[10]
รัฐธรรมนูญที่เป็นลายลักษณ์อักษรนี้จะมีความชัดเจนเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการปกครองรัฐ ความมั่นคงมากกว่ารัฐธรรมนูญจารีตประเพณี เมื่อมีการฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญย่อมเห็นได้ชัดเจนกว่ารัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษร และรัฐธรรมนูญที่เป็นลายลักษณ์อักษรนั้นมีความยืดหยุ่นน้อยกว่ารัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษร
2.แบ่งแยกตามเนื้อหาและตามแบบพิธี[11]
การแบ่งแยกโดยหลักเกณฑ์นี้สามารถแบ่งแยกรัฐธรรมนูญออกได้เป็น 2 ประเภทคือรัฐธรรมนูญตามเนื้อหาและรัฐธรรมนูญตามแบบพิธี
รัฐธรรมนูญตามเนื้อหา หมายความถึง รัฐธรรมนูญซึ่งมีบทบัญญัติบัญญัติถึงข้อความที่เป็นเรื่องของรัฐธรรรมนูญโดยตรง โดยไม่ต้องคำนึงว่าเรียกชื่อกฎหมายนั้นว่าเป็นรัฐธรรมนูญหรือไม่ เช่น Parliament Act 1911 ของสหราชอาณาจักร ซึ่งรูปแบบและลักษณะของกฎหมายฉบับนี้เป็นพระราชบัญญัติ แต่แท้ที่จริงแล้วเป็นรัฐธรรมนูญ
รัฐธรรมนูญตามแบบพิธี หมายถึง รัฐธรรมนูญซึ่งได้บัญญัติโดยวิธีการบัญญัติรัฐธรรมนูญ โดยไม่ต้องคำนึงถึงว่าเนื้อหาของบทบัญญัตินั้นเป็นเรื่องของรัฐธรรมนูญหรือไม่
3.แบ่งแยกตามวิธีการแก้ไข[12]
การแบ่งแยกโดยหลักเกณฑ์นี้สามารถแบ่งแยกรัฐธรรมนูญออกได้เป็น 2 ประเภทคือรัฐธรรมนูญที่แก้ไขยากและรัฐธรรมนูญที่แก้ไขง่าย
รัฐธรรมนูญที่แก้ไขยาก หมายถึง รัฐธรรมนูญที่การแก้ไขเพิ่มเติมกระทำได้ยากกว่าการบัญญัติกฎหมายธรรมดา กระบวนการแก้ไขเพิ่มเติมมีความซับซ้อนกว่าการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายธรรมดา เช่น รัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกา และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เป็นต้น
รัฐธรรมนูญที่แก้ไขง่าย หมายถึง รัฐธรรมนูญที่การแก้ไขเพิ่มเติมกระทำได้โดยวิธีการเดียวกับการแก้ไขกฎหมายธรรมดา กล่าวคือ การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญสามารถกระทำได้โดยการตราพระราชบัญญัติ เช่น รัฐธรรมนูญของสหราชอาณาจักร อิสราเอล และนิวซีแลนด์ เป็นต้น
4.แบ่งแยกตามกำหนดเวลาในการบังคับใช้[13]
การแบ่งแยกโดยหลักเกณฑ์นี้สามารถแบ่งแยกรัฐธรรมนูญออกได้เป็น 2 ประเภทคือรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวและรัฐธรรมนูญฉบับถาวร
รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว เป็นรัฐธรรมนูญที่ประกาศใช้เป็นการฉุกเฉินหรือเป็นการล่วงหน้าในบางสถานการณ์ เช่น ภายหลังจากที่มีการปฎิวัติรัฐประหาร มักมีข้อความน้อยมาตราหรือไม่มีบทประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชน
รัฐธรรมนูญฉบับถาวร เป็นรัฐธรรมนูญที่ร่างขึ้นให้มีความสมบูรณ์ที่สุดเพื่อให้บังคับใช้ได้ตลอดไป
อำนาจในการจัดทำรัฐธรรมนูญ
ผู้มีอำนาจในการจัดทำรัฐธรรมนูญคือผู้ที่ได้รับมอบอำนาจมาจากรัฎฐาธิปัตย์ให้เป็นผู้มีอำนาจในการจัดทำรัฐธรรมนูญ แต่ในบางกรณีผู้มีอำนาจในการจัดทำรัฐธรรมนูญก็คือบุคคลที่บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญกำหนดให้มีหน้าที่จัดทำรัฐธรรมนูญ ซึ่งสามารถจำแนกได้ดังต่อไปนี้ คือ
1.บุคคลคนเดียวเป็นผู้จัดทำรัฐธรรมนูญ
กรณีที่บุคคลคนเดียวเป็นผู้จัดทำรัฐธรรมนูญนี้ มักเกิดขึ้นจากการกระทำปฏิวัติหรือรัฐประหาร โดยผู้ทำการปฏิวัติหรือรัฐประหารได้จัดทำร่างรัฐธรรมนูญไว้ก่อนล่วงหน้าแล้ว ลักษณะของรัฐธรรมนูญที่จัดทำโดยบุคคลคนเดียวนี้จะมีลักษณะเป็นรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว มีบทบัญญัติเพียงไม่กี่มาตราเท่านั้น[14]
2.คณะบุคคลเป็นผู้จัดทำรัฐธรรมนูญ
การจัดทำรัฐธรรมนูญโดยคณะบุคคลนี้มักเกิดขึ้นในประเทศที่มีเพิ่งมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองหรือเพิ่งได้รับเอกราช โดยตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นยกร่างและพิจารณารัฐธรรมนูญ คณะกรรมาธิการนั้นคัดเลือกมาจากผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาวิชาต่าง ๆ ประเทศที่จัดทำรัฐธรรมนูญในลักษณะนี้ได้แก่ รัฐธรรมนูญของประเทศอินโดนีเซีย พ.ศ. 2487 รัฐธรรมนูญญี่ปุ่น พ.ศ. 2490 และรัฐธรรมนูญของสหพันธรัฐมาเลเซีย พ.ศ. 2500 เป็นต้น[15]
3.สภานิติบัญญัติเป็นผู้จัดทำรัฐธรรมนูญ[16]
การจัดทำรัฐธรรมนูญโดยสภานิติบัญญัตินั้นมักเป็นกรณีที่ต้องการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่เพื่อยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับเก่าทั้งฉบับ การกำหนดให้สภานิติบัญญัติเป็นผู้จัดทำรัฐธรรมนูญนี้มีข้อดีคือประหยัดค่าใช้จ่ายในการจัดทำรัฐธรรมนูญ เพราะสภานิติบัญญัติเป็นสภาที่ใช้อำนาจในการดำเนินการทางกฎหมายอยู่แล้ว แต่ก็อาจทำงานได้ล่าช้าเพราะต้องปฎิบัติหน้าที่นิติบัญญัติไปด้วยในเวลาเดียวกัน สภานิติบัญญัติจะทำหน้าที่จัดทำรัฐธรรมนูญได้ก็ต่อเมื่อมีบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญบัญญัติให้อำนาจไว้
4.สภาร่างรัฐธรรมนูญ[17]
สภาร่างรัฐธรรมนูญ หมายถึง สภาที่ประกอบไปด้วยสมาชิกที่ราษฎรทั่วทั้งประเทศได้ออกเสียงเลือกตั้งเข้ามาทำหน้าที่เป็นผู้ร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใช้โดยเฉพาะ และโดยปกติสภานี้จะถูกยุบไปทันที เมื่อรัฐธรรมนูญที่ตนร่างขึ้นนั้นได้รับการประกาศใช้แล้ว เพื่อให้ราษฎรทำการเลือกตั้งสมาชิกเข้ามาทำหน้าที่ในสภานิติบัญญัติตามรัฐธรรมนูญใหม่ แต่ในบางกรณีก็มีความจำเป็นที่สภาร่างรัฐธรรมนูญจะยุบเลิกทันทีไม่ได้ ต้องอยู่ปฏิบัติหน้าที่สภานิติบัญญัติต่อไปจนกว่าจะถึงเวลามีการเลือกตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติขึ้น การจัดทำรัฐธรรมนูญโดยสภาร่างรัฐธรรมนูญนี้มีข้อดีคือสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญมาจากบุคคลหลายอาชีพ ทำให้ได้ความเห็นหลากหลายแตกต่างกันออกไป สามารถทุ่มเทเวลาให้กับการจัดทำรัฐธรรมนูญได้อย่างเต็มที่
ประวัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
หลังจากสมัยพ่อขุนรามคำแหงเป็นต้นมาจนถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประเทศไทยสมัยกรุงศรีอยุธยา กรุงธนบุรี หรือกรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานีต่างมีกฎหมายสำคัญหลายฉบับซึ่งอาจจัดได้ว่าเป็นรัฐธรรมนูญประเภทหนึ่ง แต่กฎหมายเหล่านั้นกระจัดกระจายอยู่ในหลายแห่งไม่เป็นหมวดหมู่เรียบร้อย นอกจากนี้กฎหมายดังกล่าวมีลักษณะเกี่ยวกับองค์พระมหากษัตริย์ การปกครองแผ่นดิน พระราชอำนาจในการตรากฎหมาย กฎหมายเกี่ยวกับขุนศาลตระลาการมากกว่าจะมีลักษณะเป็นรัฐธรรมนูญตามความเข้าใจในปัจจุบัน คือไม่มีบทจำกัดพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ไว้[18]
ต่อมาในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สืบเนื่องมาจากเหตุการณ์ที่กองกำลังของอังกฤษเข้ายึดเมืองมัณฑะเลย์ของพม่า เพื่อป้องกันอันตรายที่จะเกิดขึ้นกับประเทศไทย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าให้พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ อัครราชทูตประจำกรุงปารีส ถวายรายงานและความเห็นต่อประเด็นปัญหานี้ พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ได้เรียกประชุมพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ในสถานทูตในกรุงลอนดอนและกรุงปารีสเพื่อระดมความเห็น และได้จัดทำคำกราบบังคมทูลโดยมีเนื้อหาว่า ประเทศไทยควรเปลี่ยนหลักการพื้นฐานของการปกครองจาก “แอโสลูดโมนากี” มาเป็น “คอนสติตูชาแนลโมนากี” ควรสร้างระบบคาบิเนต คือคณะรัฐบาลที่ประกอบด้วยคณะรัฐมนตรีประจำกระทรวงต่าง ๆ เพื่อให้รัฐบาลมีประสิทธิภาพในการรักษากฎหมายให้เกิดความสงบเรียบร้อย ควรปรับปรุงกฎหมายบ้านเมือง และให้มีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชหัตถเลขาถึงคณะผู้จัดทำคำกราบบังคมทูลว่าทรงขอบพระราชหฤทัย การทั้งหลายที่ได้กราบบังคมทูลมานั้นล้วนแต่เป็นสิ่งที่ทรงมีพระราชดำริแล้วทั้งสิ้นแต่ยังไม่อาจดำเนินการให้ลุล่วงได้ เนื่องมาจากความไม่พร้อมของบุคคลกรที่จะเข้ามารับภารกิจต่าง ๆ นั่นเอง[19]
ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงจัดให้มีการตั้งดุสิตธานีขึ้นเพื่อทดลองเกี่ยวกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตยในระดับท้องถิ่น ซึ่งเทียบได้กับการปกครองจังหวัด โดยได้ทรงประกาศใช้ธรรมนูญลักษณะปกครองคณะนคราภิบาล (ดุสิตธานี)พระพุทธศักราช 2461[20] ขึ้นใช้บังคับในเขตจังหวัดดุสิตธานีด้วย
ต่อมาในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชปณิธานอยู่แต่เดิมที่จะพระราชทานรัฐธรรมนูญให้แก่ประชาชนชาวไทยในวันที่ 6 เมษายน 2475 แต่เมื่อถึงเวลาก็มิได้พระราชทานเนื่องจากอภิรัฐมนตรีสภากราบบังคมทูลทัดทานไว้ว่ายังไม่ถึงเวลาอันสมควร เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 คณะราษฎรจึงได้ทำการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชเป็นระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ[21] และได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475 เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2475[22] ถือเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกของประเทศไทย ต่อมาเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2475 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475[23] ซึ่งถือเป็นรัฐธรรมนูญฉบับถาวรฉบับแรกของประเทศไทย
นับจากวันที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว ประเทศไทยได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญมาแล้วทั้งสิ้น 18 ฉบับ ฉบับปัจจุบันคือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 จำนวน 309 มาตรา ประกาศใช้เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2550[24]
อ้างอิง
- ↑ พรชัย เลื่อนฉวี, “กฎหมายรัฐธรรมนูญและสถาบันการเมือง”, (กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิต), 2550, หน้า 4-5.
- ↑ บวรศักดิ์ อุวรรณโณ,“กฎหมายมหาชน เล่ม 3 ที่มาและนิติวิธี”, (กรุงเทพฯ : นิติธรรม, 2538, หน้า 19.
- ↑ พรชัย เลื่อนฉวี, “กฎหมายรัฐธรรมนูญและสถาบันการเมือง”, (กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิต), 2550, หน้า 17-18.
- ↑ พรชัย เลื่อนฉวี, “กฎหมายรัฐธรรมนูญและสถาบันการเมือง”, (กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิต), 2550, หน้า 19.
- ↑ พรชัย เลื่อนฉวี, “กฎหมายรัฐธรรมนูญและสถาบันการเมือง”, (กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิต), 2550, หน้า 19.
- ↑ พรชัย เลื่อนฉวี, “กฎหมายรัฐธรรมนูญและสถาบันการเมือง”, (กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิต), 2550, หน้า 20.
- ↑ พรชัย เลื่อนฉวี, “กฎหมายรัฐธรรมนูญและสถาบันการเมือง”, (กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิต), 2550, หน้า 20.
- ↑ หยุด แสงอุทัย, “หลักรัฐธรรมนูญทั่วไป”, (กรุงเทพฯ : วิญญูชน), 2538, หน้า 44.
- ↑ พรชัย เลื่อนฉวี, “กฎหมายรัฐธรรมนูญและสถาบันการเมือง”, (กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิต), 2550, หน้า 28.
- ↑ พรชัย เลื่อนฉวี, “กฎหมายรัฐธรรมนูญและสถาบันการเมือง”, (กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิต), 2550, หน้า 29-30.
- ↑ หยุด แสงอุทัย, “หลักรัฐธรรมนูญทั่วไป”, (กรุงเทพฯ : วิญญูชน), 2538, หน้า 49.
- ↑ พรชัย เลื่อนฉวี, “กฎหมายรัฐธรรมนูญและสถาบันการเมือง”, (กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิต), 2550, หน้า 45.
- ↑ วิษณุ เครืองาม, “กฎหมายรัฐธรรมนูญ”, (กรุงเทพฯ : นิติบรรณาการ), 2530, หน้า 54-55.
- ↑ พรชัย เลื่อนฉวี, “กฎหมายรัฐธรรมนูญและสถาบันการเมือง”, (กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิต), 2550, หน้า 22.
- ↑ พรชัย เลื่อนฉวี, “กฎหมายรัฐธรรมนูญและสถาบันการเมือง”, (กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิต), 2550, หน้า 22.
- ↑ พรชัย เลื่อนฉวี, “กฎหมายรัฐธรรมนูญและสถาบันการเมือง”, (กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิต), 2550, หน้า 23.
- ↑ พรชัย เลื่อนฉวี, “กฎหมายรัฐธรรมนูญและสถาบันการเมือง”, (กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิต), 2550, หน้า 23.
- ↑ วิษณุ เครืองาม, “กฎหมายรัฐธรรมนูญ”, (กรุงเทพฯ : นิติบรรณาการ), 2530, หน้า 172.
- ↑ บุญศรี มีวงศ์อุโฆษ, “กฎหมายรัฐธรรมนูญ”, (กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์), 2551, หน้า 198-206.
- ↑ บุญศรี มีวงศ์อุโฆษ, “กฎหมายรัฐธรรมนูญ”, (กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์), 2551, หน้า 206-207.
- ↑ วิษณุ เครืองาม, “กฎหมายรัฐธรรมนูญ”, (กรุงเทพฯ : นิติบรรณาการ), 2530, หน้า 191.
- ↑ พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475, ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม 49, 27 มิถุนายน 2475, หน้า 166-179.
- ↑ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม, ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 49, 10 ธันวาคม 2475, หน้า 529-551.
- ↑ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550, ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 124 ตอนที่ 47 ก , 24 สิงหาคม 2550, หน้า 1-127.
หนังสือแนะนำให้อ่านต่อ
คณะอนุกรรมการจัดทำหนังสือรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สรรสาระรัฐธรรมนูญไทย. (กรุงเทพฯ : สำนักการพิมพ์ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร). 2548.
บุญศรี มีวงษ์อุโฆษ. กฎหมายรัฐธรรมนูญ. (กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์). 2551.
พรชัย เลื่อนฉวี. กฎหมายรัฐธรรมนูญและสถาบันการเมือง. (กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิต). 2550.
วิษณุ เครืองาม. กฎหมายรัฐธรรมนูญ. (กรุงเทพฯ : นิติบรรณาการ). 2530.
หยุด แสงอุทัย. หลักรัฐธรรมนูญทั่วไป. กรุงเทพฯ : วิญญูชน. 2538.
บรรณานุกรม
กาญจนารัตน์ ลีวิโรจน์. สารานุกรมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. 2540) หมวดรัฐธรรมนูญและกฎหมาย เรื่อง 4 การจัดทำและแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ. (กรุงเทพฯ : องค์การค้าของคุรุสภา). 2544.
คณะอนุกรรมการจัดทำหนังสือรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สรรสาระรัฐธรรมนูญไทย. (กรุงเทพฯ : สำนักการพิมพ์ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร). 2548.
บวรศักดิ์ อุวรรณโณ. กฎหมายมหาชน เล่ม 3 ที่มาและนิติวิธี. (กรุงเทพฯ : นิติธรรม). 2538.
บุญศรี มีวงษ์อุโฆษ. กฎหมายรัฐธรรมนูญ. (กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์). 2551.
พรชัย เลื่อนฉวี. กฎหมายรัฐธรรมนูญและสถาบันการเมือง. (กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิต). 2550.
พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475. ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 49. 27 มิถุนายน 2475.
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม, ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 49, 10 ธันวาคม 2475.
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550. ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 124 ตอนที่ 47 ก. 24 สิงหาคม 2550.
วิษณุ เครืองาม. กฎหมายรัฐธรรมนูญ. กรุงเทพฯ : นิติบรรณาการ, 2530.
หยุด แสงอุทัย. หลักรัฐธรรมนูญทั่วไป. กรุงเทพฯ : วิญญูชน. 2538.