ผลต่างระหว่างรุ่นของ "ลงมติและลำดับการลงมติ"
ไม่มีความย่อการแก้ไข |
ไม่มีความย่อการแก้ไข |
||
บรรทัดที่ 1: | บรรทัดที่ 1: | ||
'''ผู้เรียบเรียง''' | '''ผู้เรียบเรียง''' ธนินทร์ พูนศรีสวัสดิ์ | ||
'''ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ''' รองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฏร จเร พันธุ์เปรื่อง | |||
'''ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ''' | |||
---- | ---- |
รุ่นแก้ไขปัจจุบันเมื่อ 18:39, 21 พฤษภาคม 2555
ผู้เรียบเรียง ธนินทร์ พูนศรีสวัสดิ์ ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฏร จเร พันธุ์เปรื่อง
การปกครองในระบอบประชาธิปไตย รัฐสภาเป็นองค์กรที่มีความสำคัญในฐานะฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่งในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 กำหนดให้รัฐสภามีบทบาทหน้าที่สำคัญในการออกกฎหมาย การควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน รวมทั้งการให้ความเห็นชอบในเรื่องสำคัญตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด โดยการดำเนินงานของรัฐสภาที่มีสมาชิกรัฐสภา ซึ่งประกอบด้วยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ต้องอยู่ภายใต้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ข้อบังคับการประชุมสภา กฎหมายและระเบียบปฏิบัติต่างๆ
การประชุมสภาแบ่งออกเป็น การประชุมสภาผู้แทนราษฎร การประชุมวุฒิสภา และการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ซึ่งมีข้อบังคับการประชุมสภาเป็นกติกาสำหรับการประชุมนั้นๆ ในการดำเนินงานประชุมสภาต้องมีทั้งการเตรียมการก่อนประชุม การดำเนินการประชุม และการดำเนินการภายหลังการประชุม[1]เนื่องจากการประชุมสภามีลักษณะพิเศษต่างจากการประชุมโดยทั่วไป ทั้งในเรื่องลักษณะการประชุม ผู้เข้าร่วมประชุม หัวข้อเรื่องในการประชุม การอภิปรายเป็นต้น องค์ประกอบหนึ่งในการประชุมสภาที่มีความสำคัญภายหลังการอภิปรายสิ้นสุดลงคือ การลงมติ เป็นการหาข้อยุติในปัญหาใดปัญหาหนึ่งหรือญัตติใดญัตติหนึ่งในการประชุมสภานั้นๆ ซึ่งโดยปกติการลงมติแต่ละครั้งให้ถือเอาเสียงข้างมากเป็นมติของสภา ทั้งนี้เว้นแต่รัฐธรรมนูญจะได้บัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น
ความหมายของคำว่าลงมติ
มติเป็นภาษาบาลีแปลว่า ความคิด ความเห็น[2] คำว่าลงมติตามความหมายของพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 หมายถึง ลงความเห็นร่วมกันอย่างใดอย่างหนึ่ง[3] นอกจากนั้นมีการให้คำอธิบายของคำว่าลงมติซึ่งใกล้เคียงกัน ดังนี้
การลงมติ คือ การออกเสียงลงคะแนนตามความคิดความเห็น เช่น เห็นชอบด้วย ไม่เห็นชอบด้วย รับหลักการ ไม่รับหลักการ เป็นต้น[4]
การลงมติ คือ การหาข้อยุติในปัญหาใดปัญหาหนึ่ง หรือญัตติใดญัตติหนึ่ง หรืออีกนัยหนึ่งเป็นการถามความเห็นของที่ประชุมสภาต่อปัญหาใดปัญหาหนึ่ง หรือญัตติใดญัตติหนึ่ง ในที่ประชุมสภานั้นเมื่อจะต้องมีมติของสภา ประธานในที่ประชุมจะขอให้ที่ประชุมลงมติ โดยสมาชิกคนหนึ่งมีสิทธิออกเสียงได้หนึ่งเสียง มติของสภาดังกล่าวต้องเป็นไปตามเสียงข้างมาก[5]
การลงมติ คือการหาข้อยุติในปัญหาใดปัญหาหนึ่งหรือญัตติใดญัตติหนึ่ง การหาข้อยุติในการประชุมสภานั้น โดยทั่วไปข้อบังคับการประชุมสภาได้กำหนดไว้ว่าให้มีการลงมติดังกล่าวภายหลังการอภิปรายได้สิ้นสุดลง โดยประธานสภาจะถามความเห็นและให้ที่ประชุมลงมติ ซึ่งสมาชิกคนหนึ่งมีสิทธิออกเสียงได้หนึ่งเสียง[6]
การลงมติในข้อบังคับการประชุม
การลงมติในเรื่องใดๆ ของที่ประชุมเพื่อหาข้อยุติในปัญหาใดปัญหาหนึ่งหรือญัตติใดญัตติหนึ่ง โดยทั่วไปข้อบังคับการประชุมของสภานั้นๆ จะกำหนดวิธีการไว้ ซึ่งในข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2551 กำหนดว่า
ข้อ 70 ในกรณีที่จะต้องมีมติของสภา ให้ประธานมีสัญญาณให้สมาชิกทราบก่อนลงมติ ประธานมีอำนาจสั่งให้รวมหรือแยกประเด็นพิจารณาหรือลงมติ เว้นแต่ที่ประชุมจะมีมติเป็นอย่างอื่น
ข้อ 71 เสียงข้างมากตามมาตรา 126 วรรคสองของรัฐธรรมนูญนั้น[7] ถ้าความเห็นของที่ประชุมมีตั้งแต่สองฝ่ายขึ้นไป ให้ถือเอาจำนวนคะแนนเสียงฝ่ายที่มากที่สุด ในกรณีที่มีคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ประธานออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด
ในข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา พ.ศ. 2551 กำหนดว่า
ข้อ 64 ในกรณีที่จะต้องมีมติของวุฒิสภา ให้ประธานของที่ประชุมขอให้ที่ประชุมวุฒิสภาลงมติ การลงมติต้องมีสมาชิกครบองค์ประชุม โดยให้ถือเอาเสียงข้างมากเป็นประมาณ เว้นแต่ที่มีกฎหมายหรือข้อบังคับนี้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่น
ข้อ 65 เสียงข้างมากตามมาตรา 126 วรรคสองของรัฐธรรมนูญ ในกรณีความเห็นของที่ประชุมวุฒิสภามีสองฝ่าย ให้ถือเอาจำนวนคะแนนเสียงฝ่ายที่มากกว่า และในกรณีความเห็นของที่วุฒิสภามีเกินสองฝ่าย ให้ถือเอาจำนวนคะแนนเสียงฝ่ายที่มากที่สุด การออกเสียงชี้ขาดของประธานของที่ประชุมให้กระทำเป็นการเปิดเผยโดยจะให้เหตุผลหรือไม่ก็ได้
การลงมติของสภา กระทำโดยการออกเสียงลงคะแนน การออกเสียงลงคะแนนแบ่งเป็น 2 กรณี คือการออกเสียงลงคะแนนเปิดเผยและการออกเสียงลงคะแนนลับ โดยทั่วไปการออกเสียงลงคะแนนมักจะเป็นการออกเสียงลงคะแนนโดยเปิดเผย เว้นแต่รัฐธรรมนูญและข้อบังคับการประชุมจะได้กำหนดให้ลงคะแนนลับ ซึ่งข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2551 ข้อ 72 กำหนดว่า เมื่อสมาชิกเสนอญัตติโดยมีผู้รับรองไม่น้อยกว่ายี่สิบคนขอให้กระทำเป็นการลับ จึงให้ลงคะแนนลับ หากสมาชิกเสนอญัตติให้ลงคะแนนลับ ถ้ามีสมาชิกคัดค้านและมีผู้รับรองไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของสมาชิกในที่ประชุม ให้ถือเป็นเอกสิทธิ์ที่จะลงคะแนนโดยเปิดเผย ส่วนในข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา พ.ศ. 2551 ข้อ 66 กำหนดว่า เมื่อสมาชิกเสนอญัตติโดยมีผู้รับรองไม่น้อยกว่ายี่สิบคนขอให้กระทำเป็นการลับ จึงให้ลงคะแนนลับ แต่ถ้ามีสมาชิกคัดค้านและมีผู้รับรองมากกว่าหนึ่งในสามของจำนวนสมาชิกในที่ประชุมวุฒิสภา ก็ให้ลงคะแนนโดยเปิดเผย
1. การออกเสียงลงคะแนนโดยเปิดเผย
ตามข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2551 ข้อ 75 กำหนดวิธีปฏิบัติดังต่อไปนี้
(1) ใช้เครื่องออกเสียงลงคะแนนตามที่ประธานกำหนด
(2) เรียกชื่อสมาชิกตามหมายเลขประจำตัวสมาชิกให้ออกเสียงลงคะแนนเป็นรายคนตามวิธีที่ประธานกำหนด
(3) วิธีอื่นใดที่ประชุมเห็นสมควรเฉพาะกรณี
ตามข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา พ.ศ. 2551 ข้อ 67 กำหนดวิธีปฏิบัติดังต่อไปนี้
(1) ใช้เครื่องออกเสียงลงคะแนนตามที่ประธานวุฒิสภากำหนด
(2) ยกมือขึ้นพ้นศีรษะพร้อมกับแสดงบัตรลงคะแนน ผู้เห็นด้วยให้แสดงบัตรลงคะแนนสีน้ำเงิน ผู้ไม่เห็นด้วยให้แสดงบัตรลงคะแนนสีแดง ส่วนผู้ไม่ออกเสียงให้แสดงบัตรลงคะแนนสีขาว โดยบัตรลงคะแนนดังกล่าวให้สมาชิกลงลายมือชื่อและหมายเลขประจำตัวสมาชิกกำกับไว้ด้วย
(3) เรียกชื่อสมาชิกตามลำดับอักษรให้ออกเสียงลงคะแนนเป็นรายคนตามวิธีที่ประธานของที่ประชุมกำหนด
(4) วิธีอื่นใดซึ่งที่ประชุมวุฒิสภาเห็นสมควรเฉพาะกรณี
การออกเสียงลงคะแนนโดยเปิดเผยมักจะมีวิธีปฏิบัติที่ใกล้เคียงกันตามข้อบังคับการประชุมสภาของสภานั้นๆ นอกจากวิธีต่างๆ ที่กำหนดไว้ในข้อบังคับการประชุมของทั้งสองสภาดังกล่าวแล้ว ในอดีตยังมีวิธีปฏิบัติอื่น อาทิ ยกมือขึ้นพ้นศีรษะ ยืนขึ้น การแบ่งพวก (พวกเห็นด้วยให้อยู่ทางขวามือของประธาน พวกไม่เห็นด้วยให้อยู่ทางซ้ายมือของประธาน และพวกไม่ออกเสียงให้อยู่ตรงหน้าของประธาน) กดปุ่มลงคะแนน (สัญญาณไฟจะปรากฏบนแผงแสดงตำแหน่งที่นั่ง)
2. การออกเสียงลงคะแนนลับ
ตามข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2551 ข้อ 76 กำหนดวิธีปฏิบัติดังต่อไปนี้
(1) เขียนเครื่องหมายบนแผ่นกระดาษใส่ซองที่เจ้าหน้าที่จัดให้ ผู้เห็นด้วยให้เขียนเครื่องหมายถูก ผู้ไม่เห็นด้วยให้เขียนเครื่องหมายกากบาท x ส่วนผู้ไม่ออกเสียงให้เขียนเครื่องหมายวงกลม
(2) วิธีอื่นใดซึ่งที่ประชุมเห็นสมควรเฉพาะกรณี
ตามข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา พ.ศ. 2551 ข้อ 68 กำหนดวิธีปฏิบัติดังต่อไปนี้
(1) ใช้เครื่องออกเสียงลงคะแนนตามที่ประธานวุฒิสภากำหนด
(2) เขียนเครื่องหมายบนแผ่นกระดาษใส่ซองที่เจ้าหน้าที่จัดให้ ผู้เห็นด้วยให้เขียนเครื่องหมายถูก ผู้ไม่เห็นด้วยให้เขียนเครื่องหมายกากบาท (x) ส่วนผู้ไม่ออกเสียงให้เขียนเครื่องหมายวงกลม (O)
(3) วิธีอื่นใดซึ่งที่ประชุมวุฒิสภาเห็นสมควรเฉพาะกรณี
การออกเสียงลงคะแนนลับก็เช่นเดียวกับการออกเสียงลงคะแนนโดยเปิดเผยที่มักจะมีวิธีปฏิบัติที่ใกล้เคียงกันตามข้อบังคับการประชุมสภาของสภานั้นๆ นอกจากวิธีต่างๆ ที่กำหนดไว้ในข้อบังคับการประชุมของทั้งสองสภาดังกล่าวแล้ว ในอดีตยังมีวิธีปฏิบัติอื่น อาทิ ลงเบี้ยในตู้ทึบ (โดยส่วนใหญ่เบี้ยจะมีสามสีคือ สีน้ำเงิน สีแดง และสีขาว การลงเบี้ยจะเรียกชื่อสมาชิกออกมาลงเบี้ยในหีบต่อหน้าประธานหรือกรรมการ สีของเบี้ยที่ใช้ขึ้นอยู่กับข้อบังคับการประชุมนั้นๆ จะกำหนดให้ใช้สีใดที่แสดงถึงผู้เห็นด้วย ผู้ไม่เห็นด้วย และผู้ไม่ออกเสียง) กดปุ่มลงคะแนน (สัญญาณไฟไม่ปรากฏบนแผงแสดงตำแหน่งที่นั่ง)
เมื่อมีการออกเสียงลงคะแนนแล้ว คะแนนเสียงที่ได้จะเป็นผลการลงมติหรือการตัดสินใจของสมาชิกสภาแต่ละคนที่มีต่อปัญหาหรือมาตรการหรือญัตติใดญัตติหนึ่ง ซึ่งเมื่อรวมคะแนนของสมาชิกแต่ละคนเข้าด้วยกันแล้วก็จะเป็นมติคือผลขั้นสุดท้ายของสภา[8] แต่ถ้ามีการขอให้นับคะแนนใหม่ วิธีการนับคะแนนเสียงใหม่นั้นจะต้องเปลี่ยนวิธีการลงคะแนนในลำดับถัดไป โดย ข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2551 กำหนดว่า
ข้อ 77 เมื่อมีการออกเสียงลงคะแนนตามข้อ 75 (1) แล้ว(คือใช้เครื่องออกเสียงลงคะแนน) ถ้าสมาชิกร้องขอให้มีการนับใหม่โดยมีผู้รับรองไม่น้อยกว่ายี่สิบคน ก็ให้มีการนับคะแนนเสียงใหม่และให้เปลี่ยนวิธีการลงคะแนนเป็นวิธีตามข้อ 75 (2) (คือเรียกชื่อสมาชิกตามหมายเลขประจำตัวสมาชิกให้ออกเสียงลงคะแนนเป็นรายคน) เว้นแต่คะแนนเสียงต่างกันเกินกว่ายี่สิบห้าคะแนนจะขอให้มีการนับคะแนนเสียงใหม่ไม่ได้ เมื่อได้มีการออกเสียงลงคะแนนตามข้อ 75 (2) แล้ว จะขอให้มีการนับคะแนนเสียงใหม่ไม่ได้
ข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา พ.ศ. 2551 กำหนดว่า
ข้อ 74 ในการนับคะแนนเสียงครั้งใด ถ้าสมาชิกเสนอญัตติโดยมีผู้รับรองไม่น้อยกว่าสิบคนให้มีการนับคะแนนเสียงใหม่ ก็ให้มีการนับใหม่เว้นแต่คะแนนเสียงมีความต่างกันเกินกว่าสิบคะแนนจะขอให้มีการนับคะแนนเสียงใหม่มิได้ การนับคะแนนเสียงใหม่ตามวรรคหนึ่งให้เปลี่ยนวิธีลงคะแนนเป็นวิธีตามข้อ 67 หรือข้อ 68 ซึ่งอยู่ในลำดับถัดไปแล้วแต่กรณี เว้นแต่รัฐธรรมนูญหรือข้อบังคับนี้กำหนดวิธีลงคะแนนไว้โดยเฉพาะเป็นอย่างอื่น การนับคะแนนเสียงโดยวิธีตามข้อ 67 (3) หรือ ข้อ 68 (2) จะขอให้มีการนับคะแนนเสียงใหม่อีกมิได้
เมื่อนับคะแนนเสียงเสร็จแล้วประธานในที่ประชุมจะประกาศมติต่อที่ประชุมทันที ถ้าเรื่องใดที่รัฐธรรมนูญ กฎหมายหรือข้อบังคับนี้กำหนดไว้ว่ามติจะต้องประกอบด้วยคะแนนเสียงถึงจำนวนเท่าใด ก็ให้ประกาศด้วยว่าคะแนนเสียงข้างมากถึงจำนวนที่กำหนดไว้นั้นหรือไม่ เช่น กรณีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล มติไม่ไว้วางใจต้องมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร[9] เป็นต้น
นอกจากนั้นเมื่อมีมติของสภา จะมีการบันทึกและปิดประกาศการออกเสียงลงคะแนนหรือบันทึกการลงมติ ซึ่งในข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2551 ข้อ 81 กำหนดว่า ให้เลขาธิการจัดทำบันทึกการออกเสียงลงคะแนนของสมาชิกแต่ละคนและปิดประกาศบันทึกดังกล่าวไว้ ณ บริเวณสภาที่ประชาชนเข้าไปตรวจสอบได้ เว้นแต่การออกเสียงลงคะแนนเป็นการลับตามข้อ 76 และในข้อการประชุมวุฒิสภา พ.ศ. 2551 ข้อ 76 กำหนดว่า ให้เลขาธิการวุฒิสภาจัดทำบันทึกการลงมติการออกเสียงลงคะแนนของสมาชิกแต่ละคน และเปิดเผยบันทึกการลงมติดังกล่าวไว้ ณ สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาเพื่อให้ประชาชนเข้าไปตรวจสอบได้ เว้นแต่กรณีการออกเสียงลงคะแนนเป็นการลับ
ลำดับการลงมติ
ลำดับการลงมติ หมายถึง การลงมติของสมาชิกในกรณีที่ญัตติมีหลายประเด็น หรือกรณีพิจารณาญัตติที่มีหลายฉบับรวมกันแต่ลงมติทีละฉบับ ลำดับการลงมตินั้นจะต้องให้สมาชิกลงมติในญัตติที่เสนอมาลำดับสุดท้ายก่อน แล้วย้อนเป็นลำดับไปลงมติในญัตติต้น[10]
โดยส่วนใหญ่ข้อบังคับการประชุมสภาที่ผ่านมามักจะกำหนดในเรื่องของลำดับการลงมติไว้ด้วย ซึ่งลำดับการลงมติได้ถูกกำหนดไว้ในข้อบังคับการประชุมสภา ตั้งแต่ข้อบังคับการประชุมและปรึกษาของสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2476 อย่างไรก็ดีในข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2551 ไม่ได้กำหนดเรื่องของลำดับการลงมติไว้แต่อย่างใด ในขณะที่ ข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา พ.ศ. 2551 กำหนดไว้ว่า
ข้อ 70 ลำดับการลงมตินั้น ให้ลงมติในญัตติสุดท้ายก่อนแล้วย้อนเป็นลำดับไปหาญัตติต้น แต่มิให้ถือว่าความผิดพลาดในการเรียงลำดับดังกล่าวมานี้ เป็นเหตุให้มติที่ได้ลงคะแนนและนับคะแนนเสร็จแล้วเป็นอันเสียไป
สรุป
การลงมติ เป็นส่วนหนึ่งของการประชุมสภา ในกระบวนการพิจารณาเรื่องต่างๆ ของสภาเช่น การพิจารณาญัตติ การเสนอและพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ การเสนอและพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ การพิจารณาให้ความเห็นชอบนายกรัฐมนตรี การพิจารณาในขั้นกรรมาธิการ เป็นต้น โดยมติของสภาจะกระทำโดยการออกเสียงลงคะแนน ซึ่งข้อบังคับการประชุมได้กำหนดวิธีการไว้ สมาชิกคนหนึ่งมีสิทธิออกเสียงได้หนึ่งเสียง และมติของสภาให้เป็นไปตามเสียงข้างมาก ทั้งนี้ เพื่อให้ได้ข้อยุติของปัญหา และเพื่อให้ได้แนวทางที่สภาจะต้องดำเนินการต่อไป
อ้างอิง
- ↑ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, ระบบงานรัฐสภา. (กรุงเทพฯ : สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, ม.ป.ป.), 35.
- ↑ สำนักงานเลขาธิการรัฐสภา, ข้อบังคับการประชุมสภาเปรียบเทียบ 2476-2517 (กรุงเทพฯ : สำนักงานเลขาธิการรัฐสภา, ม.ป.ป.), 108/1.
- ↑ ราชบัณฑิตยสถาน, พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 (กรุงเทพฯ : นานมีบุ๊คส์พับลิเคชั่นส์, 2546), 985.
- ↑ สำนักงานเลขาธิการรัฐสภา, ข้อบังคับการประชุมสภาเปรียบเทียบ 2476-2517, 108/1.
- ↑ คณิน บุญสุวรรณ, ภาษาการเมืองในระบอบรัฐสภา. (กรุงเทพฯ : โอ.เอส. พริ้นติ้งเฮ้าส์, 2533), 261.
- ↑ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร,ระบบงานรัฐสภา, 42.
- ↑ ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 126 วรรคสอง กำหนดว่า การลงมติวินิจฉัยข้อปรึกษาให้ถือเอาเสียงข้างมากเป็นประมาณ เว้นแต่ที่มีบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น
- ↑ อุมาสีว์ สอาดเอี่ยม, “ลักษณะการประชุมสภา,” รัฐสภาสาร 34,4 (เมษายน 2529) : 22.
- ↑ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 (กรุงเทพฯ : สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร,2550), 117-118.
- ↑ คณิน บุญสุวรรณ, ภาษาการเมืองในระบอบรัฐสภา, 272.
หนังสือแนะนำให้อ่านต่อ
สำนักงานเลขาธิการรัฐสภา. ข้อบังคับการประชุมสภาเปรียบเทียบ 2476-2517. (กรุงเทพมหานคร : สำนักงานเลขาธิการรัฐสภา), ม.ป.ป.
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. ระบบงานรัฐสภา. (กรุงเทพมหานคร : สำนักงานเลขาธิการ สภาผู้แทนราษฎร),ม.ป.ป.
บรรณานุกรม
คณิน บุญสุวรรณ, ภาษาการเมืองในระบอบรัฐสภา (กรุงเทพมหานคร : โอ.เอส. พริ้นติ้งเฮ้าส์), 2533.
ราชบัณฑิตยสถาน, พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 (กรุงเทพมหานคร : นานมีบุ๊คส์พับลิเคชั่นส์), 2546.
สำนักงานเลขาธิการรัฐสภา, ข้อบังคับการประชุมสภาเปรียบเทียบ 2476-2517 (กรุงเทพมหานคร : สำนักงานเลขาธิการรัฐสภา), ม.ป.ป.
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, ข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2551 และข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา พ.ศ. 2551 (กรุงเทพมหานคร : สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร), ม.ป.ป.
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. ระบบงานรัฐสภา. (กรุงเทพมหานคร : สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร),ม.ป.ป.
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 (กรุงเทพมหานคร : สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร), 2550.
อุมาสีว์ สอาดเอี่ยม, “ลักษณะการประชุมสภา,” รัฐสภาสาร 34,4 (เมษายน 2529) : 5-33.
ดูเพิ่มเติม
สำนักงานเลขาธิการรัฐสภา. ข้อบังคับการประชุมสภาเปรียบเทียบ 2476-2517. (กรุงเทพมหานคร : สำนักงานเลขาธิการรัฐสภา), ม.ป.ป.
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550. (กรุงเทพมหานคร : สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร), 2550.
อาสา ทรัพย์อนันต์. “การออกเสียงโดยการกดปุ่มลงคะแนน.” รัฐสภาสาร 25,7 (กรกฎาคม 2520) : 1-17.
อุมาสีว์ สะอาดเอี่ยม. “ลักษณะการประชุมสภา.” รัฐสภาสาร 34,4 (เมษายน 2529) : 5-33.