ผลต่างระหว่างรุ่นของ "เกษตรสังคม"

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
Apirom (คุย | ส่วนร่วม)
ไม่มีความย่อการแก้ไข
Apirom (คุย | ส่วนร่วม)
ไม่มีความย่อการแก้ไข
 
บรรทัดที่ 1: บรรทัดที่ 1:
'''ผู้เรียบเรียง''' นครินทร์ เมฆไตรรัตน์
'''ผู้เรียบเรียง''' รองศาสตราจารย์ ดร.นครินทร์ เมฆไตรรัตน์


----
----
บรรทัดที่ 42: บรรทัดที่ 42:


ปรีชา  หงษ์ไกรเลิศ, พรรคการเมืองและปัญหาพรรคการเมืองไทย, กรุงเทพฯ: ไทยวัฒนาพานิช, 2524
ปรีชา  หงษ์ไกรเลิศ, พรรคการเมืองและปัญหาพรรคการเมืองไทย, กรุงเทพฯ: ไทยวัฒนาพานิช, 2524


[[หมวดหมู่:รายชื่อพรรคการเมืองไทย|กเกษตรสังคม]]
[[หมวดหมู่:รายชื่อพรรคการเมืองไทย|กเกษตรสังคม]]
[[หมวดหมู่:รองศาสตราจารย์ ดร.นครินทร์ เมฆไตรรัตน์]]

รุ่นแก้ไขปัจจุบันเมื่อ 11:26, 4 ตุลาคม 2554

ผู้เรียบเรียง รองศาสตราจารย์ ดร.นครินทร์ เมฆไตรรัตน์


ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองศาสตราจารย์นรนิติ เศรษฐบุตร และ รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต


พรรคเกษตรสังคม

พรรคเกษตรสังคมเป็นพรรคการเมืองที่จดทะเบียนจัดตั้งตามพระราชบัญญัติพรรคการเมือง พ.ศ. 2517 โดยมีนายเสวตร เปี่ยมพงศ์สานต์ เป็นหัวหน้าพรรค นายจารุบุตร เรืองสุวรรณ เป็นเลขาธิการพรรค ต่อมาภายหลังการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2518 นายเสวตร เปี่ยมพงศ์สานต์ ได้ลาออกจากหัวหน้าพรรค นายสวัสดิ์ คำประกอบ จึงเข้าดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคเกษตรสังคมแทน และมีนายประเทือง คำประกอบ เป็นเลขาธิการพรรค คำขวัญของพรรคเกษตรสังคม คือ “เรามุ่งขจัดความอดอยาก เรามุ่งสร้างความเป็นธรรมในสังคม”

นโยบายของพรรคเกษตรสังคม

นโยบายทางการเมือง พรรคเกษตรสังคมเห็นว่า รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2517 เป็นรัฐธรรมนูญที่มีความเป็นประชาธิปไตยมากกว่าทุกฉบับที่เคยมีมา และคิดว่าจะยังคงใช้ได้เหมาะสมต่อไปภายภาคหน้า แต่หากจะมีการปรับแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ พรรคเกษตรสังคมเสนอว่าควรจะยกเลิกวุฒิสภา เพราะไม่มีความจำเป็นในกระบวนการทางการเมืองประชาธิปไตย นอกจากนี้ พรรคเกษตรสังคมยังมุ่งเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ไว้เหนือการเมือง การมีวุฒิสภาอาจเป็นเป้าการโจมตีวิพากษ์วิจารณ์ในประเด็นทางการเมืองได้ ซึ่งหากวุฒิสภาถูกโจมตีก็จะกระทบกระเทือนถึงองคมนตรีและสถาบันพระมหากษัตริย์ได้ ดังนั้น ควรให้สภาผู้แทนราษฎรเป็นกลไกควบคุมการทำงานของรัฐบาลเป็นหลัก ในขณะเดียวกันก็ให้รัฐบาลกำกับถ่วงดุลการออกกฎหมายของสภาผู้แทนได้โดยการมีอำนาจประกาศยุบสภา

นโยบายด้านการปกครอง พรรคเกษตรสังคมถือว่ากระทรวงมหาดไทยเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาบ้านเมือง โดยเฉพาะตำแหน่งข้าหลวง นายอำเภอ ผู้บังคับกอง ผู้กำกับ กระทรวงมหาดไทยต้องคัดสรรคนที่จะมาดำรงตำแหน่งเหล่านี้เป็นอย่างดี สำหรับกลไกการบริหารราชการส่วนภูมิภาคนั้น พรรคเกษตรสังคมจะมุ่งเสริมสร้างอำนาจของสภาจังหวัดให้มีบทบาทหน้าที่มากขึ้น โดยเฉพาะให้สภาจังหวัดมีอำนาจในการพิจารณาเรื่องงบประมาณบริหารจังหวัดและมีสิทธิมีเสียงในการตัดสินใจมากขึ้น ในขณะเดียวกันก็จะมุ่งเพิ่มงบประมาณอุดหนุนเทศบาล เพิ่มอำนาจหน้าที่ของเทศบาลในการดูแลความเป็นอยู่ของประชาชนในท้องถิ่นให้มากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ นอกจากบทบาทของกระทรวงมหาดไทยแล้ว พรรคเกษตรสังคมยังเห็นว่าควรส่งเสริมบทบาทของกระทรวงการคลัง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงพาณิชย์ ในการพัฒนาเศรษฐกิจและชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน

นโยบายด้านการทหาร พรรคเกษตรสังคมจะตัดทอนรายจ่ายภาครัฐ โดยเฉพาะรายจ่ายด้านการทหาร เช่น การเกณฑ์ทหารจากเดิมใช้เวลาในการฝึกทหาร 2 ปี พรรคเกษตรสังคมจะลดลงเหลือเพียง 1 ปี เพื่อให้รัฐบาลสามารถนำงบประมาณที่เสียไปกับการฝึกทหารไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาคุณภาพชีวิต การลดเวลาการฝึกทหารเกณฑ์จะช่วยให้รัฐบาลสามารถประหยัดงบประมาณได้ถึงปีละกว่าร้อยล้าน นอกจากนี้ทหารที่ออกไปก็จะกลับไปประกอบอาชีพช่วยเหลือครอบครัวได้ แทนที่จะเสียเวลาและพลังงานอยู่ในกรมกองต่าง ๆ โดยเปล่าประโยชน์ ในขณะเดียวกันรัฐบาลก็จะต้องตัดลดงบประมาณที่ส่งทหารไปต้อสู้กับผู้ก่อการร้ายลงด้วย เพราะตลอดเวลากว่า 10 ปีที่ผ่านมารัฐบาลไม่สามารถปราบปรามได้สำเร็จ พรรคเกษตรสังคมเห็นว่าวิธีการปราบปราบด้วยกำลังทหารนั้นไม่ถูกต้อง เพราะคนเหล่านั้นก็เป็นเจ้าของชาติบ้านเมืองเหมือนกัน แต่ไม่มีโอกาสได้พูดให้เข้าใจกันทั้งสองฝ่าย แนวทางที่เป็นไปได้ก็คือการนิรโทษกรรมคนเหล่านั้น และรัฐบาลต้องตัดการแทรกแซงของต่างประเทศ รวมทั้งทำความเข้าใจกับญวนเหนือและจีนแดงเกี่ยวกับการดำเนินนโยบายต่างประเทศแบบไม่ยุ่งเกี่ยวกัน

นโยบายด้านการบริหารราชการ พรรคเกษตรสังคมมีนโยบายหลักที่จะแก้ไขโครงสร้างภายในการบริหารราชการ โดยจะต้องปรับปรุงระเบียบบริหารราชการแผ่นดินใหม่ทั้งหมด โดยเร่งสร้างสมรรถภาพในการทำงานของข้าราชการ และเสริมสร้างความสุจริตในการบริหารราชการอย่างเร่งด่วน ปรับปรุงระบบการบรรจุข้าราชการทั่วไปให้เป็นไปตามความรู้ความสามารถและความสุจริต สำหรับข้าราชการที่ปฏิบัติหน้าที่โดยไม่สุจริตต้องมีมาตรการลงโทษอย่างเฉียบขาด โดยพรรคเกษตรสังคมจะตั้งคณะกรรมการปราบคอรัปชั่นภายในเวลาไม่เกิน 6 เดือน หลังจากได้เข้าเป็นรัฐบาล นอกจากนั้น พรรคเกษตรสังคมจะกำหนดมาตรการห้ามมิให้ทหารเข้ามาแทรกแซงและเล่นการเมือง

นโยบายด้านการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ พรรคเกษตรสังคมจะดำเนินการแก้ไขโดยเร่งด่วน เพื่อให้ประชาชนส่วนใหญ่มีภาวะความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยจะเริ่มต้นจากการทุ่มงบประมาณช่วยเหลือภาคการผลิตเกษตรกรรม โดยเร่งจัดทำระบบชลประทาน สร้างคลองส่งน้ำ สร้างประตูน้ำ ทำนบ เหมืองฝาย อ่างเก็บน้ำ ให้ทั่วถึงทุกพื้นที่และมากที่สุด

พรรคเกษตรสังคมมองว่า ปัญหาเศรษฐกิจเป็นปัจจัยหลักที่ก่อให้เกิดความวุ่นวายขึ้นภายในประเทศ เนื่องจากรัฐบาลไม่สามารถสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจให้ประชาชนอยู่อย่างมั่นคงได้ เมื่อประชาชนไม่กล้าลงทุนประกอบธุรกิจ ก็ส่งผลให้เศรษฐกิจหยุดชะงัก เมื่อเศรษฐกิจย่ำแย่ผู้คนก็ออกมาเดินขบวนประท้วงรัฐบาล ดังนั้น พรรคเกษตรสังคมจะเสนอว่า แนวทางการแก้ปัญหาความวุ่นวายอันเนื่องมาจากความเดือดร้อนทางเศรษฐกิจก็คือ รัฐบาลจะต้องเด็ดขาดในการรักษากฎหมาย ต้องทำความเข้าใจกับนิสิตนักศึกษา และชักนำเยาวชนเหล่านั้นไปในทิศทางที่ถูกต้อง มีการส่งเสริมกิจกรรมทางสังคมต่าง ๆ เพื่อให้นิสิตนักศึกษามีบทบาทในสังคม รัฐบาลจะต้องใช้กฎหมายอย่างเด็ดขาดในการปราบปรามโจรผู้ร้ายและสร้างความสงบให้เกิดขึ้นในสังคม

นโยบายด้านการปฏิรูปที่ดิน พรรคเกษตรสังคมมีแนวคิดที่จะปฏิรูปที่ดิน โดยจัดสรรที่ดินทำกินให้แก่เกษตรกรที่ไม่มีที่ดินทำกิน โดยจะส่งเสริมให้สามารถปลูกพืชผลได้ปีละ 2-3 ครั้ง อีกทั้งจะเร่งเพิ่มผลผลิตให้ได้ตลอดปีทุกฤดูกาล โดยรัฐบาลจะสนับสนุนงบประมาณส่งเสริมการเกษตรประมาณ 5 พันล้านบาท และจะตั้งงบประมาณสำหรับจัดซื้อที่ดินจากนายทุนที่มีที่นาตั้งแต่ 500 ไร่ขึ้นไป เพื่อนำมาจัดสรรให้ชาวนาเช่าทำกิน

นโยบายด้านการศึกษา พรรคเกษตรสังคม จะแก้ไขปัญหาด้านการศึกษา โดยเริ่มต้นจากการแก้ไขเรื่องระเบียบวินัย ความเคารพ การเชื่อฟังครูบาอาจารย์ นอกจากนี้จะมุ่งสร้างงานรองรับนักศึกษาจบใหม่ให้มีงานทำกันอย่างทั่วถึง รวมทั้งจะส่งเสริมระบบอาชีวศึกษา การจัดตั้งวิทยาลัยเกษตรกรรม เพื่อให้นักเรียนนักศึกษาได้รับการฝึกฝนอบรมความรู้ในด้านการประกอบอาชีพ มากกว่าการมุ่งเข้ารับราชการเพียงอย่างเดียว โดยเฉพาะการเกษตร การประมง การป่าไม้ การเหมืองแร่ และปศุสัตว์ ทั้งนี้รัฐบาลจะต้องจัดการศึกษาแบบให้เปล่า

นโยบายด้านสังคม พรรคเกษตรสังคมจะสร้างมาตรการให้หลักประกันการรักษาพยาบาลฟรีสำหรับคนไข้อนาถา เร่งผลิตแพทย์ชนบทและพยาบาลให้มากที่สุด เพิ่มจำนวนโรงพยาบาล นอกจากนั้น จะจัดให้มีสถานที่พักผ่อนหย่อนใจให้มากและทั่วถึง จะเร่งสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีในเมืองหลวง โดยขยายหน่วยงานราชการออกไปอยู่ตามชานพระนครเพื่อลดความแออัดคลาคล่ำในเมืองหลวง และย้ายโรงงานอุตสาหกรรมให้ออกไปอยู่นอกเมือง เช่น ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี สระบุรี เป็นต้น เพื่อไม่ให้เกิดการใช้ก๊าซต่าง ๆ ที่สร้างความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนที่อาศัยอยู่ในเมือง

ในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2518 พรรคเกษตรสังคมส่งผู้สมัครของพรรคลงแข่งขันการเลือกตั้งในเขตต่าง ๆ ทั่วประเทศรวม 52 คน และได้รับการเลือกตั้งจำนวน 19 คน พรรคเกษตรสังคม และพรรคการเมืองที่จดทะเบียนจัดตั้งตามพระราชบัญญัติพรรคการเมือง พ.ศ. 2517 ต้องสิ้นสุดบทบาทการเมืองลง เมื่อเกิดการรัฐประหารโดยคณะทหารเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519

ที่มา

สุจิต บุญบงการ, การพัฒนาการเมืองของไทย: ปฏิสัมพันธ์ระหว่างทหาร สถาบันทางการเมือง และการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน, กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2531

เสริมศักดิ์ พงษ์พานิช, การสมัครรับเลือกตั้งในนามของพรรคการเมืองในประเทศไทย, วิทยานิพนธ์หลักสูตรชั้นปริญญาโท ภาค 2 ทางรัฐศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2519

วสันต์ หงสกุล, 37 พรรคการเมือง ปัจจัยพิจารณาเปรียบเทียบ, กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ตะวันนา, 2518

ปรีชา หงษ์ไกรเลิศ, พรรคการเมืองและปัญหาพรรคการเมืองไทย, กรุงเทพฯ: ไทยวัฒนาพานิช, 2524