ผลต่างระหว่างรุ่นของ "บุญเท่ง ทองสวัสดิ์"

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
Apirom (คุย | ส่วนร่วม)
สร้างหน้าด้วย " '''ผู้เรียบเรียง''' สุภัทร คำมุงคุณ '''ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบ..."
 
Apirom (คุย | ส่วนร่วม)
 
(ไม่แตกต่าง)

รุ่นแก้ไขปัจจุบันเมื่อ 16:42, 6 พฤษภาคม 2563

ผู้เรียบเรียง สุภัทร คำมุงคุณ

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร จเร พันธุ์เปรื่อง


RTENOTITLE

นายบุญเท่ง ทองสวัสดิ์ เป็นนักการเมืองที่มีชื่อเสียงและประสบความสำเร็จในทางการเมืองเป็นอย่างสูง โดยได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรติดต่อกันหลายสมัย เป็นกรรมาธิการร่างกฎหมาย และกรรมาธิการอื่น ๆ ได้รับการยกย่องและยอมรับอย่างกว้างขวางในหมู่นักการเมืองจนได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร (สภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 13)[1] นอกจากบทบาททางด้านนิติบัญญัติแล้ว ยังมีบทบาทในด้านบริหารโดยดำรงตำแหน่งเป็นรองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม[2] ตลอดเวลาที่ดำรงทางการเมืองนั้น มีบทบาทและผลงานทางการเมืองต่าง ๆ มากมาย ซึ่งก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติโดยส่วนรวม

ประวัติ[3]

การศึกษา

นายบุญเท่ง ทองสวัสดิ์ เกิดเมื่อวันที่ 15 เมษายน 2455 ที่ตำบลล้อมแรด อำเภอเถิน จังหวัดลำปาง ได้รับการศึกษาในระดับประถมศึกษา ที่โรงเรียนบ้านล้อมแรด อำเภอเถิน จังหวัดลำปาง จนถึงชั้นประถมปีที่ 4 ก็ได้รับทุนนักเรียนดี หลังจากนั้นได้เดินทางมาศึกษาต่อที่โรงเรียนบุญวาทย์วิทยาลัย จังหวัดลำปาง ในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-2 แล้วจึงย้ายมาเรียนต่อที่โรงเรียนเคนเน็ตแม็คเคนซี่ ในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3-4 และได้รับทุนเรียนดีจากทางอำเภอให้มาเรียนต่อที่โรงเรียนยุพราชวิทยาลัยจังหวัดเชียงใหม่ในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5-6 และเข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 7-8 เมื่อปี พ.ศ. 2475

ขณะที่ศึกษาอยู่ที่กรุงเทพมหานคร นายบุญเท่ง ทองสวัสดิ์ ได้อาศัยพักอยู่ที่วัดเบญจมบพิตร เวลาว่างจากการเรียนได้ไปสอนหนังสือให้กับพระ เณร ที่มาบวชเรียน จนกระทั่งจบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 8 จึงเข้าศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง ซึ่งในปีสุดท้ายของการเรียนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง ได้ออกมาเช่าบ้านอยู่ข้างนอกร่วมกับ นายทอง กันทาธรรม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดแพร่ในสมัยนั้น ซึ่งนายทอง กันทาธรรม นอกจากจะเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดแพร่แล้ว ยังดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีสั่งราชการกระทรวงมหาดไทยทำให้ได้อาศัยศึกษาเรียนรู้เรื่องราวทางการเมืองต่าง ๆ จาก นายทอง กันทาธรรม ควบคู่กับการเรียนในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง

การเข้ารับราชการ

นายบุญเท่ง ทองสวัสดิ์ ได้เข้ารับราชการครั้งแรก เป็นผู้ฟังคดีประจำศาล หรือโปลีสสภา หรืออัยการตำรวจประจำศาลแขวงนครเหนือ ต่อมาศาลโปลีสสภาเปลี่ยนมาเป็นศาลแขวง ตำแหน่งผู้ฟังคดีประจำศาลได้เปลี่ยนเป็นอัยการตำรวจประจำศาลแขวง และได้ทำงานเป็นอัยการตำรวจประจำศาลแขวง เป็นเวลา 1 ปี

การรับสมัครเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

เมื่อคณะราษฎร ได้เปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อปี 2475 และได้จัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2476 ทำให้นายบุญเท่ง มีความสนใจในการสมัครรับเลือกตั้ง แต่ไม่สามารถลงสมัครรับเลือกตั้งได้ เนื่องจากอายุไม่ครบตามที่กฎหมายกำหนด แต่อย่างไรก็ตาม ก็ได้มีการติดตามการเมืองมาโดยตลอด จนกระทั่งครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2480 มีความตั้งใจที่จะลงสมัครรับเลือกตั้งที่จังหวัดลำปาง และได้มีการเตรียมหาเสียงไว้อย่างเต็มที่ แต่ได้ถอนตัวไม่ลงสมัครรับเลือกตั้งที่จังหวัดลำปาง เนื่องจากไม่ต้องการแข่งขันกับ นายสรอย ณ ลำปาง ด้วยเหตุผลที่มีความผูกพันและเคารพนับถือรู้จักกันเป็นการส่วนตัว จึงลงสมัครรับเลือกตั้งที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนแทน เนื่องจากมีญาติอยู่ที่นั้น และคิดว่าเป็นจังหวัดเล็กการหาเสียงคงไม่ลำบากนัก รวมทั้งพอที่จะพูดสื่อสารกับชาวเขาได้ และผู้สมัครรับเลือกตั้งรายอื่นถูกยื่นคำร้องเกี่ยวกับขนาดของรูปถ่ายไม่ถูกต้องตามที่กฎหมายเลือกตั้งกำหนดไว้ ทำให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งรายอื่นไม่มีสิทธิ์รับเลือกตั้ง[4] จึงเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งเพียงรายเดียว ส่งผลให้นายบุญเท่ง ทองสวัสดิ์ ประสบความสำเร็จ และได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นครั้งแรกเมื่ออายุ 25 ปี หลังจากนั้นจึงได้ย้ายมาลงรับสมัครรับเลือกตั้งที่จังหวัดลำปางแทน

วิธีการหาเสียงนายบุญเท่ง ทองสวัสดิ์[5] จะเป็นการเข้าหาประชาชน พูดจาเรื่องราวให้ชาวบ้านเข้าใจ โดยจะดำเนินการตระเวนหาเสียงจนถึงวันเลือกตั้งจึงจะได้กลับบ้าน ขบวนหาเสียงจะมีคนติดตามประมาณ 4-5 คน ใช้รถจี๊ป 2 คัน ขนสัมภาระ ใบปลิว และที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งขาดไม่ได้คือกระดานดำ นอกจากนั้นยังมีเครื่องนอน และเครื่องทำครัวบรรทุกไปด้วย โดยอาศัยวัดเป็นที่นอน และใช้เป็นสถานที่หาเสียงเป็นจุดนัดพบปะชาวบ้าน โดยไม่ใช้เครื่องขยายเสียงในการปราศรัย แต่ใช้วิธีการพูดไปและเขียนกระดานดำประกอบ เมื่อมีคนสงสัยข้องใจ ก็จะตอบชี้แจง

นายบุญเท่งได้กล่าวว่า “ผมหาเสียงไม่ใช่แบบมาปราศรัยตะโกนป่าว ๆ ผมมาอธิบายสอนให้เขารู้ว่าบ้านเมืองเราปกครองกันอย่างไร ผมเป็นผู้แทนของเขามาก่อน ผมไปทำอะไรบ้าง บ้านเมืองมีปัญหาหรือเรื่องราวอย่างไรก็เล่าให้เขาฟัง เขาไม่เข้าใจหรือไม่รู้เขาก็ถาม ผมก็ตอบชี้แจงเขาไป ชาวบ้านของเราการศึกษายังไม่สูงนัก เราก็ต้องอธิบายสอนเขาบ้างให้รู้เรื่องรู้ราวรู้ทันเหตุการณ์ ผมหาเสียงของผมแบบนี้ ก็ได้เป็นผู้แทนทุกสมัย” โดยทำให้นายบุญเท่ง ทองสวัสดิ์ ได้เป็นสมาชิกผู้แทนราษฎรทุกสมัยติดต่อกัน รวม 18 สมัย[6] จนได้รับฉายาเป็น “ปู่สภา” ในยุคนั้น

การดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร[7]

• สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัด แม่ฮ่องสอน

วันที่ 7 พฤศจิกายน 2480 – 11 กันยายน 2481

• สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัด แม่ฮ่องสอน

วันที่ 12 พฤศจิกายน 2481 – 15 ตุลาคม 2488

• สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัด ลำปาง

วันที่ 6 มกราคม 2489 – 9 พฤศจิกายน 2490

• สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัด ลำปาง

วันที่ 29 มกราคม 2491 – 29 พฤศจิกายน 2494

• สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัด ลำปาง

วันที่ 26 มกราคม 2495 – 25 กุมภาพันธ์ 2500

• สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ลำปาง พรรคประชาธิปัตย์

วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2500 – 16 กันยายน 2500

• สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ลำปาง พรรคประชาธิปัตย์

วันที่ 15 ธันวาคม 2500 – 20 ตุลาคม 2501

• สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ลำปาง พรรคประชาธิปัตย์

วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2512 – 17 พฤศจิกายน 2514

• สมาชิกสภานิติบัญญัติ (ชุดที่ 2)

วันที่ 23 ธันวาคม 2516 – 26 มกราคม 2518

• สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัด ลำปาง พรรคกิจสังคม

วันที่ 26 มกราคม 2518 – 12 มกราคม 2519

• สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัด ลำปาง พรรคกิจสังคม

วันที่ 4 เมษายน 2519 – 6 ตุลาคม 2519

• สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัด ลำปาง พรรคกิจสังคม

วันที่ 22 เมษายน 2522 – 19 มีนาคม 2526

• สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัด ลำปาง พรรคกิจสังคม

วันที่ 18 เมษายน 2526 – 2 พฤษภาคม 2529

• สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัด ลำปาง พรรคสหประชาธิปไตย

วันที่ 27 กรกฎาคม 2529 – 29 เมษายน 2531

• สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัด ลำปาง (พรรครวมไทย) พรรคเอกภาพ

วันที่ 24 กรกฎาคม 2531 – 23 กุมภาพันธ์ 2534

• สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัด ลำปาง พรรคสามัคคีธรรม

วันที่ 22 มีนาคม 2535 – 30 มิถุนายน 2535

• สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดลำปาง พรรคชาติพัฒนา

วันที่ 13 กันยายน 2535 – 19 พฤษภาคม 2538

การดำรงตำแหน่งฝ่ายบริหาร[8]

• ปี 2489 เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตร ในคณะรัฐบาล นายควง อภัยวงศ์

• ปี 2491 เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ในคณะรัฐบาล นายควง อภัยวงศ์

• ปี 2518 เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ในสมัยรัฐบาล ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช

• ปี 2519 เป็นรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในสมัยรัฐบาล ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช

• ปี 2526 เป็นรองนายกรัฐมนตรีในสมัยรัฐบาล พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ รับผิดชอบกำกับการบริหารราชการแทนนายกรัฐมนตรี สำหรับ 4 กระทรวง คือ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงต่างประเทศ และทบวงมหาวิทยาลัย ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 60/2526 ลงวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2526

การแต่งตั้งเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร

หลังจากการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั่วไป ครั้งที่ 13 เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2522 มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ได้รับการเลือกตั้งทั้งหมดจำนวน 301 คน[9] และได้มีพระราชกฤษฎีกาเรียกประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2522 เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2522[10] โดยมีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 1/2522 (สมัยสามัญ) ในวันที่ 9 พฤษภาคม 2522 และได้มีการประชุมเลือกประธาน ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2521 มาตรา 108 ซึ่งบัญญัติให้มีประธานสภาหนึ่งคน โดยนายเกษม ศิริสัมพันธ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กรุงเทพมหานคร ได้เสนอชื่อ นายบุญเท่ง ทองสวัสดิ์ เข้าดำรงตำแหน่งเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร และมีผู้รับรองถูกต้อง (ตามข้อบังคับ ข้อ 4 “ในการเลือกประธานสภา สมาชิกแต่ละคนมีสิทธิเสนอชื่อสมาชิกได้หนึ่งชื่อ การเสนอนั้นต้องมีสมาชิกรับรองไม่น้อยกว่า 5 คน ) และไม่มีผู้ใดเสนอชื่ออื่น ที่ประชุมจึงมีมติให้นายบุญเท่ง ทองสวัสดิ์ ได้รับเลือกเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎรอย่างเป็นเอกฉันท์[11]

จากนั้นพลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น จึงได้ทูลเกล้าฯ ถวายรายนามประธานและรองประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยโปรดเกล้าแต่งตั้ง โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระบรมราชโองการแต่งตั้ง นายบุญเท่ง ทองสวัสดิ์ เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร ประกาศ ณ วันที่ 9 พฤษภาคม 2522[12] ภายหลังจากมีพระบรมราชโองการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎรแล้ว นายบุญเท่ง ทองสวัสดิ์ ได้กล่าวต่อขอบคุณสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และให้คำมั่นจะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความสุจริต ด้วยความเที่ยงธรรม เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย คือ ความสุขของประชาชนและความมั่นคงของประเทศชาติและราชบัลลังก์ ในคราวประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 2/2522 ในวันที่ 17 พฤษภาคม 2522[13]

นายบุญเท่ง ทองสวัสดิ์ ได้ดำรงตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร ระหว่างวันที่ 9 พฤษภาคม 2522 - 19 มีนาคม 2526 และสิ้นสุดการดำรงตำแหน่ง เนื่องจากมีพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2526[14] ด้วยสาเหตุจากการขอแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อเปลี่ยนแปลงวิธีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร อันอาจนำไปสู่ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย[15] รวมระยะเวลาการดำรงตำแหน่ง 3 ปี 10 เดือน 27 วัน[16]

บทบาททางการเมือง

นายบุญเท่ง ทองสวัสดิ์ เป็นบุคคลที่มีความสนใจทางการเมือง และประสบการณ์ทางการเมืองสูง ได้รับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหลายสมัยติดต่อกัน นอกจากนั้นยังมีตำแหน่งในฝ่ายบริหารของรัฐบาลหลายสมัย อีกทั้งมีบทบาทและผลงานที่สำคัญทั้งในประเทศ และต่างประเทศ ได้แก่

งานทางการเมือง[17]

• เป็นผู้ร่วมก่อตั้งพรรคประชาธิปัตย์ โดย การรวมกันระหว่างพรรคก้าวหน้ากับพรรคประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2489[18]

• เป็นผู้ริเริ่มการก่อตั้งพรรคกิจสังคม และดำรงตำแหน่งรองหัวหน้าพรรค ในปี 2516

• เป็นประธานคณะกรรมการเงินผัน ในคณะรัฐบาล ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ในปี 2518

• เป็นผู้ริเริ่มโครงการสร้างงานในชนบท และการจัดตั้งสภาตำบลในพรรคกิจสังคมร่วมกับหัวหน้าพรรคและสมาชิกของพรรคกิจสังคม ซึ่งเป็นแนวทางในการพัฒนาการปกครองระบอบประชาธิปไตยในระดับท้องถิ่น

• เป็นผู้ริเริ่มการจัดเก็บค่าพรีเมียมข้าว เพื่อกระจายรายได้จากการค้าข้าวมาสู่ชาวนาในสมัยที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรเป็นครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. 2489

• เป็นผู้ริเริ่มและส่งเสริมความคิดเห็นให้มีการจัดตั้งมหาวิทยาลัยส่วนภูมิภาคทั้งของเอกชนและของรัฐ จนประสบความสำเร็จตามความต้องการของประชาชน

• มีบทบาทในการโค่นล้มรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม โดยวิธีทางรัฐสภา เมื่อ พ.ศ. 2487 ด้วยการลงมติไม่อนุมัติพระราชกำหนดของรัฐบาล 2 ฉบับ คือ พระราชกำหนดบริหารนครเพชรบูรณ์ และพระราชกำหนดพุทธบุรีมณฑล

กิจกรรมด้านต่างประเทศ[19]

• ปี 2518 เป็นประธานร่วม (ฝ่ายไทย) ในการประชุมคณะกรรมการชายแดนระหว่างประเทศไทยกับมาเลเซีย

• ปี 2522 เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนส่งเสริมมิตรภาพไทยในการประชุมร่วมสาธารณรัฐประชาชนประชาธิปไตยเกาหลี และเป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยไปประชุมสหภาพรัฐสภาที่ญี่ปุ่น

• ปี 2523 เป็นรองประธานคณะกรรมการบริหารหน่วยงานประจำชาติไทย (องค์การระหว่างรัฐสภาประเทศสมาชิกสมาคมอาเซียน)

• ปี 2523 เป็นรองประธานคณะกรรมการการบริหารของหน่วยงานประจำชาติไทย

• ปี 2523 เป็นรองประธานคณะกรรมการบริหารหน่วยรัฐสภาไทย

• ปี 2523 เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยในการเดินทางไปเยือนสาธารณรัฐฟิลิปปินส์

• ปี 2523 เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยในการเดินทางไปเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีน ตามคำเชิญของคณะกรรมาธิการสามัญประจำรัฐสภาประชาชนจีน

• ปี 2524 เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเดินทางไปเยือนประเทศอิสราเอล

• ปี 2525 เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยในการเดินทางไปเยือนสหราชอาณาจักรอังกฤษ

นายบุญเท่ง ทองสวัสดิ์ เป็นนักการเมืองที่มีประสบการณ์ทางการเมืองมานาน ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีในรัฐบาลหลายสมัย อีกทั้งได้รับเลือกตั้งให้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหลายครั้งติดต่อกัน มีผลงานต่าง ๆ ในทางการเมืองอยู่มากมาย ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติ อันนำมาซึ่งเกียรติประวัติดีเด่นในฐานะที่ประสบความสำเร็จยอดเยี่ยมในการเป็นนักการเมือง ได้รับเกียรติคุณต่าง ๆ เช่น รัฐศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่[20] เมื่อปี 2525-2526 ตลอดจนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก และถึงแก่อสัญกรรม เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2542[21]

อ้างอิง

  1. สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. 2538. เอกสารเผยแพร่ประกอบการจัดแสดงนิทรรศการย้อนอดีต มองปัจจุบัน : สภาผู้แทนราษฎร เรื่อง สภาผู้แทนราษฎร ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน. หน้า 35.
  2. บุญเท่ง ทองสวัสดิ์. [ข้อมูลออนไลน์]. สืบค้นจาก http://th.wikipedia.org/wiki/ [25 สิงหาคม 2552]
  3. ธวัช คำธิตา. (2541). กลยุทธ์และแนวทางในการดำเนินงานทางการเมืองของนายบุญเท่ง ทองสวัสดิ์. วิทยานิพนธ์รัฐศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. หน้า 27-31.
  4. คุณบุญเท่ง ทองสวัสดิ์ [ข้อมูลออนไลน์] สืบค้นจาก http://www.siamrath.co.th/uifont/ArticleDetail.aspx?acid=4059 [25 สิงหาคม 2552]
  5. ดร.เกษม ศิริสัมพันธ์. (2544). จุดตัดทางประวัติศาสตร์. หน้า 74-76. กรุงเทพฯ : ภัคธรรศ.
  6. “บุญเท่ง” ปู่สภา. [ข้อมูลออนไลน์] สืบค้นจาก http://olparticle.blogspot.com/2008/12/blog-post_2195.html [25 สิงหาคม 2552]
  7. สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. (2542). 67 ปี รัฐสภาไทย พ.ศ. 2475-2542. หน้า 255.
  8. ธวัช คำธิตา, อ้างแล้ว, หน้า 32.
  9. สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, อ้างแล้ว, หน้า 13.
  10. สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. (2522). รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 1/2522 (สมัยสามัญ) วันพุธที่ 9 พฤษภาคม พุทธศักราช 2522. หน้า 2.
  11. เรื่องเดียวกัน, หน้า 28.
  12. ประกาศ แต่งตั้งประธานและรองประธานสภาผู้แทนราษฎร. ราชกิจจานุเบกษา ฉบับพิเศษ วันที่ 12 พฤษภาคม 2522 เล่มที่ 96 ตอนที่ 78 หน้า 3-4.
  13. สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. (2522). รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 2/2522 (สมัยสามัญ) วันพฤหัสบดีที่ 17 พฤษภาคม พุทธศักราช 2522. หน้า 74.
  14. พระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2526. ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 100 ตอนที่ 39 วันที่ 19 มีนาคม 2526. หน้า 7.
  15. สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. เอกสารเผยแพร่ประกอบการจัดแสดงนิทรรศการ ย้อนอดีต มองปัจจุบัน : สภาผู้แทนราษฎร เรื่อง สภาผู้แทนราษฎร ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน, อ้างแล้ว, หน้า 13.
  16. สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. 2550. 75 ปี รัฐสภาไทย. กรุงเทพ. หน้า 25.
  17. ธวัช คำธิตา,อ้างแล้ว, หน้า 33.
  18. บุญเท่ง ทองสวัสดิ์, อ้างแล้ว, [ข้อมูลออนไลน์]. สืบค้นจาก http://th.wikipedia.org/wiki
  19. ธวัช คำธิตา, อ้างแล้ว, หน้า 33-34.
  20. เรื่องเดียวกัน, หน้า 95.
  21. บุญเท่ง ทองสวัสดิ์, อ้างแล้ว, [ข้อมูลออนไลน์]. สืบค้นจาก http://th.wikipedia.org/wiki

หนังสือแนะนำให้อ่านต่อ

หนังสือพระราชทานเพลิงศพนายบุญเท่ง ทองสวัสดิ์. (2522).

ธวัช คำธิตา. (2541). กลยุทธ์และแนวทางในการดำเนินงานทางการเมืองของนายบุญเท่ง ทองสวัสดิ์. วิทยานิพนธ์รัฐศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. (2538). เอกสารเผยแพร่ประกอบการจัดแสดงนิทรรศการย้อนอดีต มองปัจจุบัน: สภาผู้แทนราษฎร เรื่อง สภาผู้แทนราษฎร ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน.

บรรณานุกรม

เกษม ศิริสัมพันธ์. (2544). จุดตัดทางประวัติศาสตร์. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ภัคธรรศ.

ธวัช คำธิตา. (2541). กลยุทธ์และแนวทางในการดำเนินงานทางการเมืองของนายบญเท่ง ทองสวัสดิ์. วิทยานิพนธ์รัฐศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. หน้า 27-31.

บุญเท่ง ทองสวัสดิ์. [ข้อมูลออนไลน์]. สืบค้นจาก http://th.wikipedia.org/wiki/ [25 สิงหาคม 2552]

“บุญเท่ง” ปู่สภา. [ข้อมูลออนน์] สืบค้นจาก http://olparticle.blogspot.com/2008/12/blog-post_2195.html [25 สิงหาคม 2552]

ประกาศ แต่งตั้งประธานและรองประธานสภาผู้แทนราษฎร. ราชกิจจานุเบกษา ฉบับพิเศษ วันที่ 12 พฤษภาคม 2522 เล่มที่ 96 ตอนที่ 78

พระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2526. ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 100 ตอนที่ 39 วันที่ 19 มีนาคม 2526.

สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. (2538). เอกสารเผยแพร่ประกอบการจัดแสดงนิทรรศการ ย้อนอดีต มองปัจจุบัน : สภาผู้แทนราษฎร เรื่อง สภาผู้แทนราษฎร ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน.

สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. (2550). 75 ปี รัฐสภาไทย. กรุงเทพฯ.

สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. (2542). 67 ปี รัฐสภาไทย พ.ศ. 2475-2542. กรุงเทพฯ

สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. (2522). รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 1/2522 (สมัยสามัญ) วันพุธที่ 9 พฤษภาคม พุทธศักราช 2522.

สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. (2522). รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 2/2522 (สมัยสามัญ) วันพฤหัสบดีที่ 17 พฤษภาคม พุทธศักราช 2522.