TPP - (Trans-Pacific Partnership)

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ผู้เรียบเรียง : รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.ไชยวัฒน์ ค้ำชู

 

TPP - Trans-Pacific Partnership

          TPP หรือ ข้อตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก เป็นข้อตกลงการค้าเสรีของประเทศในแถบแปซิฟิกที่กำหนดขึ้นเพื่อเพิ่มการค้า การบริการ และการลงทุนในกลุ่มประเทศสมาชิกด้วยกัน อีกทั้งเพื่อสร้างมาตรฐานการค้าและกฎระเบียบร่วมกันในเรื่องการป้องกันทรัพย์สินทางปัญญา มาตรฐานแรงงาน กฎหมายด้านสิ่งแวดล้อม และกลไกแก้ไขข้อพิพาทระหว่างรัฐบาลและนักลงทุนต่างชาติ[1]

          ความคิดในเรื่องการจัดตั้งเขตการค้าเสรีและการลงทุนนั้นมีมานานแล้ว ดังปรากฏในหนังสือชื่อ “ความมั่งคั่งแห่งรัฐ (The Wealth of Nations)” ของ อดัม สมิธ ที่ตีพิมพ์ครั้งแรกใน ค.ศ. 1776 โดยกล่าวว่า ตราบเท่าที่ประเทศหนึ่งมีความได้เปรียบ (ในการผลิตสินค้าบางประเภท) โดยที่สินค้านั้นเป็นที่ต้องการของอีกประเทศหนึ่ง จะเป็นการดีกว่าเสมอสำหรับประเทศฝ่ายหลังที่จะซื้อจากประเทศฝ่ายแรกแทนที่จะทำการผลิตเอง สิ่งนี้เป็นความได้เปรียบที่สามารถหาได้ในกรณีผู้ผลิตฝ่ายหนึ่งมีความได้เปรียบเหนืออีกฝ่ายหนึ่งที่อยู่ในอีกอาชีพหนึ่ง และเป็นประโยชน์ต่อกันและกัน โดยการซื้อสินค้าของกันและกัน แทนที่จะผลิตในสินค้าที่ไม่ได้เป็นความถนัดของตน[2]

          การเปิดเสรีทางการค้านั้น เป็นที่ตระหนักกันในหมู่นักเศรษฐศาสตร์ว่าจะนำมาซึ่งประโยชน์และความมั่งคั่งแก่ทั้ง 2 ฝ่าย ที่มีการค้าขายระหว่างแนวคิดของนักเศรษฐศาสตร์ เรื่องการเปิดเสรีทางการค้านี้ได้รับการยอมรับจนมีการจัดตั้งองค์การค้าโลก (World Trade Organization) ขึ้น ซึ่งได้วิวัฒนาการมาจากความตกลงทั่วไปว่าด้วยภาษีศุลกากรและการค้า (GATT) โดยการผลักดันของสหรัฐในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ที่มีวัตถุประสงค์หลักในการดำเนินงาน คือ การลดอุปสรรคทางการค้าและส่งเสริมเสรีภาพทางการค้าของโลกให้ลื่นไหลคล่องตัว และคาดการณ์ได้ให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้[3]

ความเป็นมาของ ทีพีพี

          การเจรจาจัดตั้ง ทีพีพี เป็นความตกลงที่ต่อยอดมาจากความตกลง Trans-Pacific Strategic Economic Partnership Agreement ระหว่าง 4 ประเทศสมาชิก ได้แก่ บรูไน ชิลี นิวซีแลนด์ และสิงคโปร์ หรือที่เรียกว่า “ข้อตกลง 4 ฝ่าย” (P4 Agreement) ซึ่งเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ พ.ศ. 2549 ต่อมาใน ปี 2551 สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย เปรู และเวียดนาม ได้เข้าร่วมเจรจากับ ข้อตกลง 4 ฝ่าย ดังกล่าว และขยายกรอบการเจรจาออกมาเป็นความตกลง ทีพีพี ซึ่งมีการลงนามกันในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559 (ค.ศ. 2016) ประกอบด้วยสมาชิก 12 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย บรูไน แคนาดา ชิลี มาเลเซีย เม็กซิโก นิวซีแลนด์ เปรู สิงคโปร์ เวียดนาม และญี่ปุ่น[4]

ขนาดเศรษฐกิจและการยกระดับมาตรฐานการค้า

          กลุ่มประเทศสมาชิก ทีพีพี มีมูลค่าจีดีพีรวม ประมาณ 28 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือคิดเป็น ร้อยละ 40 ของจีดีพีโลก มีมูลค่าการค้ารวม 12 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็น ร้อยละ 30 ของมูลค่าการค้าทั้งหมดของโลก และเป็นตลาดที่มีจำนวนประชากรรวมกว่า 800 ล้านคน  ความตกลง ทีพีพี ถือเป็นต้นแบบความตกลงเขตการค้าเสรีภายในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่มีเนื้อหาครอบคลุมและมีมาตรฐานสูง มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการค้าเสรีทางการค้าในสินค้าและบริการเกือบทุกประเภท และยกระดับมาตรฐานการค้าในระบบเศรษฐกิจยุคใหม่ด้วย โดยคุณลักษณะ 5 ประการ ซึ่งทำให้ ทีพีพี เป็นต้นแบบของการเปิดเสรีทางเศรษฐกิจยุคใหม่ในศตวรรษที่ 21 ที่มีมาตรฐานสูง ได้แก่

          1. Comprehensive market access ความตกลงยกเลิกหรือลดภาษีนำเข้า และมาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษีในทุกสาขา ทั้งสินค้าและบริการรวมถึงลดมาตรการกีดกันด้านการลงทุนและธุรกิจบริการ เพื่อสร้างโอกาสและแสวงหาผลประโยชน์ให้กับนักธุรกิจ แรงงาน และผู้บริโภค

          2. Regional approach to commitment ความตกลงส่งเสริมและพัฒนาห่วงโซ่อุปทานและการผลิตที่ครอบคลุมภาคีทุกประเทศ ให้เกิดความเชื่อมโยงย่างมีประสิทธิภาพ สร้างการจ้างงาน ยกระดับมาตรฐานความเป็นอยู่ การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และความสอดคล้องของกฎระเบียบการค้าใน ภูมิภาค 

          3. Addressing new trade challenges ความตกลงสนับสนุนการคิดค้นนวัตกรรมการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและการแข่งขันเสรี ตลอดจนการพัฒนาระบบเศรษฐกิจดิจิตอล และบทบาทของรัฐวิสาหกิจในเศรษฐกิจโลก

          4. Inclusive trade ความตกลงมุ่งหวังให้ประเทศภาคีในภูมิภาคที่มีขนาดและระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่แตกต่างกันได้รับสิทธิประโยชน์ทางการค้าจากความตกลงอย่างเท่าเทียมและเต็มที่ผ่านการสร้างศักยภาพธุรกิจเอสเอมอี ตลอดจนการพัฒนาและสร้างศักยภาพทางการค้า

          5. Platform to regional integration ความตกลงถือเป็นต้นแบบการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจภายในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และได้รับการออกแบบมาเพื่อรองรับการขยายตัวของประเทศภาคีในภูมิภาคในอนาคต[5]

ผลประโยชน์ที่ประเทศสมาชิกจะได้รับ

         ตัวอย่างข้อตกลงใน ทีพีพี คือ ประเทศในกลุ่มสมาชิกจะได้รับการลดภาษีหรือการยกเว้นภาษีการนำเข้าสินค้าต่าง ๆ ตามเงื่อนไขของสินค้าในแต่ละประเภท เช่น รถยนต์และส่วนประกอบ อัตราภาษีการนำเข้าจะลดลงไปอยู่ที่ 0 เปอร์เซ็นต์ โดยจะค่อย ๆ ปรับลงมาภายใน 30 ปี ทั้งนี้ การลดภาษีนำเข้ารถยนต์จะส่งผลดีต่อบริษัทรถยนต์ของญี่ปุ่น เนื่องจากช่วยให้สามารถแข่งขันในตลาดสำคัญอย่างสหรัฐอเมริกาได้ ในขณะที่ผู้ผลิตรถยนต์ในสหรัฐอเมริกาจะต้องเผชิญกับการแข่งขันด้านราคาจากญี่ปุ่น ปัจจุบัน บริษัทรถยนต์ญี่ปุ่นต้องเผชิญกับกำแพงภาษีรถยนต์ค่อนข้างสูงในสหรัฐอเมริกา

         ข้อตกลงที่จะยกเว้นภาษีนำเข้าสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องจักรกล ซึ่งจะส่งผลดีต่อมาเลเซียและเวียดนามที่มีสัดส่วนการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ไปสหรัฐกว่า 47 เปอร์เซ็นต์ และ 12 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับของมูลค่าการส่งออกไปสหรัฐอเมริกาทั้งหมด ด้านภาษีการนำเข้าเครื่องจักรที่ลดลงยังช่วยส่งเสริมการลงทุนในประเทศ และขยายการลงทุนภายในกลุ่มประเทศทีพีพีด้วยกันเองอีกด้วย

         การลดภาษีการนำเข้าเครื่องนุ่งห่มจากประเทศสมาชิกทีพีพี ที่จะเป็นผลดีต่อบริษัทข้ามชาติหลายแห่งในการส่งสินค้ากลับประเทศ หลังจากได้ย้ายฐานการผลิตออกไปยังประเทศกำลังพัฒนาอื่น ๆ อย่างเวียดนามและเม็กซิโกเพื่อลดต้นทุนการผลิต

         สินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรที่มีการกีดกันทางการค้าค่อนข้างสูงในหลายประเทศ ประเทศญี่ปุ่นตกลงที่จะค่อย ๆ เพิ่มโควตาการนำเข้าข้าวจากประเทศสมาชิกในกลุ่ม ที่พีพี ในแต่ละปีให้มากขึ้น การเพิ่มโควตาการนำเข้าข้าวนี้จะส่งผลกระทบให้ราคาข้าวในญี่ปุ่นลดลง นอกจากนี้ยังได้ลดภาษีการนำเข้าสินค้าเกษตรอื่น ๆ อีก เช่น น้ำมันปาล์ม ซึ่งจะเป็นผลดีต่อมาเลเซียที่มีการส่งออกน้ำมันปาล์มปริมาณมาก

         ข้อตกลงยังครอบคลุมในเรื่องการสร้างกฎระเบียบการค้า และการป้องกันทรัพย์สินทางปัญญา แรงงาน และสิ่งแวดล้อม ให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน โดยประเทศสมาชิกในกลุ่ม ทีพีพี ต้องนำมาตรฐานแรงงานตามอนุสัญญาแรงงานระหว่างประเทศมาบังคับใช้ ซึ่งข้อตกลงดังกล่าวนี้จะกดดันประเทศกำลังพัฒนาอย่าง เวียดนาม เม็กซิโก และมาเลเซีย ที่ยังคงมีปัญหาด้านการค้ามนุษย์   

         ด้านการป้องกันทรัพย์สินทางปัญญา ได้มีการพูดถึงสิทธิบัตรยา โดยในข้อตกลง ทีพีพี คาดว่าระยะเวลาการห้ามไม่ให้เปิดเผยข้อมูลการทดลองยาในกลุ่มชีวภาพตัวใหม่จะลดลงเหลือ 8 ปี ในขณะที่สหรัฐอเมริกาต้องการให้เป็น 12 ปี ทำให้บริษัทยาในสหรัฐอเมริกา ต้องเผชิญกับการแข่งขันมากขึ้นและอาจทำให้ราคายาถูกลง ในขณะที่ราคายาในประเทศกำลังพัฒนาซึ่งเป็นประเทศกลุ่มสมาชิกที่ไม่เคยมีเงื่อนไขดังกล่าวมาก่อน จะต้องเผชิญกับราคายาที่แพงขึ้นและอาจเข้าถึงยาได้ช้าลง 

         ข้อตกลงเกี่ยวกับกลไกแก้ไขข้อพิพาทระหว่างรัฐบาลกับนักลงทุนต่างชาติ เช่น ห้ามไม่ให้บริษัทบุหรี่ฟ้องร้องรัฐบาลในกลุ่มประเทศ ทีพีพี ในส่วนของกฎหมายด้านการป้องกันการสูบบุหรี่

ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย

         อาจทำให้ไทยสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน ทั้งในด้านการส่งออกและด้านการดึงดูดนักลงทุนจากต่างชาติ โดยผลกระทบจากการส่งออกนั้น ไทยมีการส่งออกไปยังประเทศสมาชิก ทีพีพี ราว 40 เปอร์เซ็นต์ ของการส่งออกทั้งหมด อย่างไรก็ดีไทยได้มีการทำข้อตกลงเขตการค้าเสรีกับประเทศในกลุ่มทีพีพี แล้ว 9 ประเทศ ยกเว้น สหรัฐอเมริกา แคนาดา และเม็กซิโก[6] ใน 3 ประเทศนี้ ไทยมีการส่งออกไปสหรัฐอเมริกามาก ดังนั้น อุตสาหกรรมที่จะเสียผลประโยชน์ คือ อุตสาหกรรมที่พึ่งพาการส่งออกไปตลาดสหรัฐอเมริกา ได้แก่ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ตลอดจนเครื่องนุ่งห่ม อาหารทะเลแปรรูป ผลไม้แปรรูป เป็นต้น นอกจากนี้ สินค้าส่งออกเหล่านี้ของไทยยังมีคู่แข่งสำคัญเป็นมาเลเซีย และเวียดนามอีกด้วย

         รถยนต์และส่วนประกอบของไทยเป็นอีกสินค้าหนึ่งที่มีการพึ่งพาการส่งออกไปยังประเทศสมาชิก ทีพีพี อยู่มาก[7] แต่ทว่าผลกระทบในระยะสั้นจะยังอยู่ในวงจำกัด เนื่องจากประเทศไทยได้ทำข้อตกลงการค้าเสรีไว้กับคู่ค้าหลักหลายประเทศ

         ด้านผลกระทบด้านการลงทุนจากต่างชาตินั้น ไทยจะเสียเปรียบคู่แข่งที่เป็นสมาชิก ทีพีพี อย่างเวียดนาม และมาเลเซีย ในการดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ เนื่องจากไม่ได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีการค้าระหว่างกลุ่มประเทศ ทีพีพี อีกทั้งในข้อตกลงของ ที่พีพี มีการคุ้มครองผู้ลงทุนต่างชาติผ่านกลไกระงับข้อพิพาทระหว่างผู้ลงทุนกับภาครัฐ โดยปัจจุบันการลงทุนจากต่างชาติที่เข้ามาในไทยค่อนข้างทรงตัว ต่างจากเวียดนามที่การลงทุนจากต่างชาติเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ไทยอาจจำเป็นต้องพิจารณาการเข้าร่วมเป็นสมาชิก ทีพีพี โดยต้องศึกษาข้อดีและข้อเสียในการเข้าเป็นสมาชิกอย่างละเอียด[8]

         ทั้งนี้ มีข้อสังเกตว่าการที่ประเทศต่าง ๆ ต้องหาทางทำข้อตกลงระหว่างกัน เป็นลักษณะทวิภาคีหรือพหุภาคี มีสาเหตุมาจากองค์การค้าโลก (WTO) ประกอบด้วยสมาชิกนับร้อยประเทศ เจรจากันในเรื่องสินค้านับพันรายการ ทำให้ประสบปัญหาในการหาข้อสรุป และการยอมรับจากสมาชิกโดยรวม ทำให้การเจรจาขององค์การค้าโลกเกิดการชะงักงัน การเจรจาที่โดฮาในปี 2001 ก็ไม่มีความคืบหน้าอย่างเป็นรูปธรรม จึงได้มีความพยายามแยกเจรจา เป็นระดับทวิภาคี หรือระดับภูมิภาคแทนข้อตกลงขององค์การค้าโลก

สถานการณ์ทีพีพีในปัจจุบัน

         ในระหว่างที่ข้อตกลง ทีพีพี เพิ่งมีการลงนามกันได้ไม่นานและอยู่ในขั้นตอนการให้สัตยาบันของประเทศสมาชิก และหลายประเทศกำลังจะมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล ความไม่แน่นอนของข้อตกลงมีอยู่พอสมควร ในเดือนมกราคม ค.ศ. 2017 สหรัฐอเมริกาภายใต้ประธานาธิบดีคนใหม่ โดนัล ทรัมป์ ถอนตัวออกจากข้อตกลง ทีพีพี เนื่องจากเห็นว่าข้อตกลงดังกล่าวจะนำภัยพิบัติมาสู่สหรัฐอเมริกา เพราะการเปิดเสรีทางการค้าจะทำให้คนอเมริกันตกงาน ปัญหาสังคมจะตามมา รัฐบาลใหม่ต่อต้านการค้าเสรี และต้องการดึงนักลงทุนกลับสู่อเมริกา สร้างโรงงานในสหรัฐอเมริกา และสร้างงานให้กับคนอเมริกัน[9] เมื่อสหรัฐอเมริกาถอนตัวออกจาก ทีพีพี ทำให้ ทีพีพี ปั่นป่วนไประยะหนึ่งว่าจะดำเนินการกันอย่างไรต่อไป เพราะขาดสหรัฐอเมริกาเป็นสมาชิก ความสำคัญของ ทีพีพี ลดน้อยลงไปมาก อย่างไรก็ดี ในที่สุดประเทศสมาชิกที่เหลือ 11 ประเทศ โดยการนำของญี่ปุ่น ตกลงที่จะยืนหยัดต่อไปแม้ไม่มีสหรัฐอเมริกาเป็นสมาชิก ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 2017 ประเทศสมาชิกตกลงที่จะแก้ไขเงื่อนไขบางประการของ ทีพีพี ต่อมาในเดือนมีนาคม ค.ศ. 2018 ได้มีการลงนามในข้อตกลงที่แก้ไขเพิ่มเติม รวมทั้งเปลี่ยนชื่อเป็น Comprehensive and Progressive Agreement for Trans-Pacific Partnership (CPTPP)[10]

อ้างอิง

[1] Trans-Pacific Partnership (TPP): การเจรจาเขตการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลก (วรดา ตันติสุนทร นิตยสารการเงินธนาคาร พฤศจิกายน 2015) (scbeic.com)  และดู ทีพีพีไม่ใช่เรื่องใหม่ เขตเสรีการค้าและการลงทุนมีมานานแล้ว (https://www.fpri.or.th

[2]Adam Smith, The Wealth of Nations , edited by Bruce Mazlish (New York: The Library of Liberal Arts, 1961), pp. 169-170

[3] The WTO in brief (https://www.wto.org,inbr_e)

[4] https://en.m.wikipedia.org>wiki , 2021/06/10

[5] Trans-Pacific Partnership (TPP): การเจรจาเขตการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลก (วรดา ตันติสุนทร นิตยสารการเงินธนาคาร พฤศจิกายน 2015) (scbeic.com)

[6] การส่งออกของไทยไปสหรัฐอเมริกา คิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 10 เปอร์เซ็นต์ ของการส่งออกทั้งหมดของไทย ในขณะที่แคนาดาและเม็กซิโกมีสัดส่วนการส่งออกอยู่ที่เพียง 1.6 และ 0.001 เปอร์เซ็นต์ตามลำดับ

[7]ปริมาณการส่งออกรถยนต์และชิ้นส่วนไปออสเตรเลีย (16.2 เปอร์เซ็นต์) มาเลเซีย (6.5 เปอร์เซ็นต์) ญี่ปุ่น (5.4 เปอร์เซ็นต์) สหรัฐ (2.6 เปอร์เซ็นต์) เวียดนาม (2.1 เปอร์เซ็นต์)

[8] Trans-Pacific Partnership (TPP): การเจรจาเขตการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลก (วรดา ตันติสุนทร นิตยสารการเงินธนาคาร พฤศจิกายน 2015) (scbeic.com)

[9] Inside=Story-Why is US President Donald Trump against the TPP deal, Al Jazeera English, searched 2021/06/10

[10] Trans-Pacific Partnership (https://en.m.wikipedia.org)