Syriza
ผู้เรียบเรียง : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วิชุดา สาธิตพร และ ธีทัต จันทราพิชิต
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต
SYRIZA หรือชื่อเต็ม ๆ ว่า กลุ่มพันธมิตรฝ่ายซ้ายหัวรุนแรง (the Coalition of the Radical Left) เป็นพรรคการเมืองของประเทศกรีซที่ก่อตั้งขึ้นใน ค.ศ. 2004 และก่อตั้งอย่างเป็นทางการในปี ค.ศ. 2013 ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเมื่อปี ค.ศ. 2019 SYRIZA ได้ที่นั่งมากเป็นอันดับสองของสภาผู้แทนราษฎร โดยมีผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนให้ถึง 31.53% จากผู้ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งทั้งหมด[1]
ที่มาและการก่อตั้ง
จากการที่สหภาพโซเวียตได้เข้าแทรกแซงสโลวาเกียในปี ค.ศ. 1968[2] ขบวนการแรงงานของกรีซ ได้แตกออกเป็นกลุ่มสนับสนุนโซเวียตและกลุ่มที่มองหาทางเลือกอื่น ซึ่งภายหลังการสิ้นสุดของสงครามเย็นกลุ่มหลังทำการก่อตั้งพรรคการเมืองขึ้นมามีชื่อว่า Synaspismos[3] โดย Synaspismos เป็นพรรคการเมืองฝ่ายซ้ายที่ไม่ใช่คอมมิวนิสต์ และมีความพยายามที่จะเจาะฐานเสียงผู้มีสิทธิเลือกตั้งทุกกลุ่ม โดยการควบรวมกลุ่มอุดมการณ์อื่น ๆ ทั้งกลุ่มสตรีนิยม และกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของพรรค[4]
นับแต่ Synaspismos ก่อตั้งในช่วงทศวรรษที่ 1990 Synaspismos มีฐานเสียงอยู่ที่ประมาณ 200,000 เสียง และในการเลือกตั้งส่วนใหญ่ Synaspismos จะได้รับคะแนนเสียงจากประชาชนผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งอยู่ที่ ประมาณ 3-5%
กระทั่งเมื่อเข้าสู่ปี ค.ศ. 2000 Synaspismos และกลุ่มการเคลื่อนไหว รวมถึงองค์กรฝ่ายซ้ายอีกจำนวนหนึ่งได้ทำการเคลื่อนไหวเพื่อผลักดันประเด็นต่าง ๆ ในสังคม ไม่ว่าจะเป็นสงครามโคโซโว เรื่องการประชุม G8 ที่เมืองเจนัวรวมไปถึงเรื่องการขัดขวางเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมใหม่[5] และในปี ค.ศ. 2004 กลุ่มพันธมิตรนี้ได้มีการตกลงกันที่จะเข้าสู่การเลือกตั้ง และเพื่อให้กลุ่มฝ่ายซ้ายสามารถผ่านกำแพงขั้นต่ำ 3% เพื่อที่จะได้มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในสภา ทำให้เกิดการรวมพลังกันก่อตั้งกลุ่มพันธมิตรฝ่ายซ้ายขั้นสุด หรือ SYRIZA ขึ้น[6]
ในระยะแรก SYRIZA กับ Synaspismos ยังไม่ใช่กลุ่มเดียวกันเสียทีเดียว โดยในส่วนของ SYRIZA ก็ยังไม่ใช่พรรคการเมืองอย่างเป็นทางการ และ Synaspismos นั้นเปรียบได้กับกลุ่มสมาชิกของ SYRIZA ที่มีอำนาจและขนาดองค์กรที่ใหญ่ สถานะเช่นนี้สร้างความสับสนให้กับผู้คนในสังคมค่อนข้างมาก จนกระทั่งในปี ค.ศ. 2013 กลุ่มพันธมิตรฝ่ายซ้ายจึงได้ตัดสินใจให้ SYRIZA เป็นพรรคการเมืองอย่างเป็นทางการ ขณะที่ Synaspismos ถูกบีบให้ล้มเลิกการดำเนินงานไปเพื่อคลายความสับสน[7]
การเลือกตั้งในช่วงปี ค.ศ. 2012 - ค.ศ. 2019
ในการเลือกตั้งของกรีซในเดือนพฤษภาคมปี ค.ศ. 2012 SYRIZA ได้คะแนนเสียงประมาณ 17% ของผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งทั้งหมด นับเป็นพรรคการเมืองที่ได้รับความนิยมสูงเป็นอันดับสองในสภารองจากพรรค New Democracy ที่ได้คะแนนเสียงทั้งหมด 19%[8] แต่การเลือกตั้งครั้งดังกล่าวนับว่าล้มเหลวเนื่องจากไม่มีผู้สามารถจัดตั้งรัฐบาลภายหลังการเลือกตั้ง เหตุผลสำคัญคือตกลงกันไม่ได้ข้อเกี่ยวกับเหตุการณ์วิกฤตค่าเงินยูโร[9] ทำให้กรีซต้องจัดการเลือกตั้งใหม่อีกครั้งในเดือนมิถุนายนของปีเดียวกัน (ค.ศ. 2012)
การเลือกตั้งในเดือนมิถุนนายน ค.ศ. 2012 SYRIZA ได้คะแนนเสียงถึง 26.89% และเป็นพรรคการเมืองที่ครองที่นั่งมากเป็นอันดับที่สองในสภา
ความสำเร็จของ SYRIZA ในช่วงเวลาดังกล่าวเป็นผลมาจากการแสดงท่าทีที่สุดโต่ง โดยเฉพาะท่าทีและการใช้โวหารที่แสดงการต่อต้านเสรีนิยมใหม่และต่อต้านระบบอย่างชัดเจน พร้อมกันนั้นก็ออกตัวสนับสนุนผู้ที่ไม่มีสิทธิมีเสียง พร้อมกับเสนอแนวทางที่พลิกโฉมระเบียบทางสังคม อีกทั้ง SYRIZA ยังได้ออกมาเคลื่อนไหวพร้อม ๆ กับกลุ่มนักเคลื่อนไหวทางสังคมอื่น ๆ[10] อย่างไรก็ตาม ในระยะเวลาหลังจากที่ SYRIZA ประสบความสำเร็จในสนามเลือกตั้ง จนสามารถเป็นพรรคแกนนำของฝ่ายค้านในสภาได้เป็นผลสำเร็จ ท่าทีที่สุดโต่งนั้นก็ค่อย ๆ ถูกลดระดับลง[11]
ในการเลือกตั้งเมื่อเดือนมกราคมปี ค.ศ. 2015 SYRIZA ได้ออกรณรงค์คำขวัญในลักษณะที่ต้องการบอกแก่ประชาชนว่า “ความหวังกำลังจะไปหา” โดยได้มีการอธิบายเรื่องระบบใหม่ ความยุติธรรมแบบใหม่ และการเริ่มต้นใหม่ที่นำมาสู่ความเท่าเทียมกันมากยิ่งขึ้น[12] โดยการเลือกตั้งครั้งนี้ SYRIZA ได้รับชัยชนะและเป็นพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาล[13] โดยได้คะแนนเสียงประมาณ 36.3% คิดเป็นที่นั่ง 149 ที่นั่ง มากกว่าพรรคอันดับสองคือพรรค New Democracy ที่ได้คะแนนเสียงราว 27.8% และได้ที่นั่งในสภา 76 ที่นั่ง[14]
อย่างไรก็ตาม สมัยการเป็นรัฐบาลของ SYRIZA ต้องสิ้นสุดลงในเวลาไม่นานเมื่อพรรค SYRIZA ไม่สามารถครองเสียงข้างมากในสภาได้[15] จนนำมาสู่การลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ Alexis Tsipras ซึ่งเป็นหัวหน้าพรรค SYRIZA และมีจัดการเลือกตั้งใหม่ในเดือนกันยายนปี ค.ศ. 2015[16] ถึงกระนั้นก็ตาม SYRIZA ยังได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งและกลับมาก่อตั้งรัฐบาลได้อีกเป็นครั้งที่สอง ด้วยคะแนนเสียงกว่า 35%[17]
ในการเลือกตั้งเมื่อปี ค.ศ. 2019 SYRIZA พ่ายแพ้ให้กับพรรค New Democracy โดย SYRIZA ทำคะแนนได้เป็นอันดับสองโดยได้คะแนนเสียงจากผู้ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งทั้งสิ้น 31.5% ขณะที่พรรค New Democracy ได้คะแนนเสียงไปทั้งสิ้น 39.85% และเป็นพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาลผสมขวากลาง[18]
ผลการเลือกตั้งของพรรค SYRIZA ในช่วงปี ค.ศ. 2012 - ค.ศ. 2019
ปีที่เลือกตั้ง |
คะแนนเสียง |
% |
จำนวนที่นั่งที่ได้/ทั้งหมด |
อันดับ |
สถานะหลังการเลือกตั้ง |
2012 (พฤษภาคม) |
1,061,265 |
16.80 |
52 / 300 |
2 |
ฝ่ายค้าน |
2012 (มิถุนายน) |
1,655,022 |
26.90 |
71 / 300 |
2 |
ฝ่ายค้าน |
2015 (มกราคม) |
2,245,978 |
36.30 |
149 / 300 |
1 |
จัดตั้งรัฐบาลผสม |
2015 (กันยายน) |
1,925,904 |
35.50 |
145 / 300 |
1 |
จัดตั้งรัฐบาลผสม |
2019 |
1,781,174 |
31.50 |
86 / 300 |
2 |
ฝ่ายค้าน |
อุดมการณ์
SYRIZA เป็นพรรคการเมืองฝ่ายซ้าย ที่มีกลุ่มอุดมการณ์ฝ่ายซ้ายหลาย ๆ กลุ่ม รวมอยู่ในพรรค กล่าวคือ มีตั้งแต่อุดมการณ์สังคมนิยมประชาธิปไตย ไปจนถึงอุดมการณ์มาร์กซิสต์หลาย ๆ กลุ่ม ซึ่งในระยะแรกนั้นมีผู้ที่มาเข้าร่วมกับพรรคตั้งแต่ผู้นิยมทรอตสกี้และผู้สมาทานลัทธิเหมา
SYRIZA เป็นพรรคการเมืองที่ให้ความสนใจในการปฏิรูปทางสังคม ส่วนในทางกิจการระหว่างประเทศ SYRIZA นั้นเป็นพรรคฝ่ายซ้ายที่สนับสนุน EU ขณะที่อุดมการณ์ทางเศรฐกิจ SYRIZA มีลักษณะต่อต้านแนวคิดเสรีนิยมใหม่ ไม่เห็นด้วยกับการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ (privatization) และมองว่ารัฐควรมีการลดภาษี โดยเฉพาะภาษีทางอ้อม[19]
SYRIZA มีภาพลักษณ์ของความเป็นพรรคการเมืองประชานิยมฝ่ายซ้าย ทำให้ลักษณะสุดโต่งถูกลดทอนลงเพื่อให้พรรคสามารถเข้าถึงกลุ่มผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนมากได้ ซึ่งรวมไปถึงกลุ่มฝ่ายขวาจำนวนหนึ่งด้วย[20]
อ้างอิง
[1] BBC, 2019. “Greece elections: Centre-right regains power under Kyriakos Mitsotakis”. Retrieved from https://www.bbc.com/news/world-48902766
[2] Yiannos Katsourides, 2016. Radical Left Parties in Government. Palgrave Macmillan. p.46
[3] Nicholas Toloudis, 2015. The Greek Inquisition: International Finance, Syriza, and the Greek Labor Movement. New Labor Forum, 24(3), 52–60. http://www.jstor.org/stable/24718622 p.53
[4] Ibid. p.54
[5] Yiannos Katsourides, 2016. Radical Left Parties in Government. Palgrave Macmillan. p.53
[6] Ibid. p.54
[7] Ibid. p.54-55
[8] Ibid. p.97
[9] BBC, 2012. “Greece to hold new election on 17 June”.Retrieved from https://www.bbc.com/news/world-europe-18082552
[10] Yiannos Katsourides, 2016. Radical Left Parties in Government. Palgrave Macmillan. p.98-100
[11] Ibid. p.100 - 101
[12] Ibid. p.103
[13] BBC, 2015. “Greece election: Alexis Tsipras hails 'victory of the people'”.Retrieved from https://www.bbc.com/news/world-europe-34307795
[14] Yiannos Katsourides, 2016. Radical Left Parties in Government. Palgrave Macmillan. p.104
[15] Ibid. p.118
[16] BBC, 2015. “Greece crisis: PM Alexis Tsipras quits and calls early polls”.Retrieved from https://www.bbc.com/news/world-europe-34007859
[17] Reuters, 2015. “Greece's Syriza wins with 35.5 pct of vote - 99.4 pct counted”.Retrieved from https://www.reuters.com/article/eurozone-greece-election-projection-idINL5N11Q0RB20150921
[18] BBC, 2019. “Greece elections: Centre-right regains power under Kyriakos Mitsotakis”. Retrieved from https://www.bbc.com/news/world-48902766
[19] Yiannos Katsourides, 2016. Radical Left Parties in Government. Palgrave Macmillan. p.64
[20] เรื่องเดียวกัน หน้า 99-100