Summit for democracy
ผู้เรียบเรียง : เอกวีร์ มีสุข
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต
Summit for Democracy คือ การจัดประชุมนานาชาติของสหรัฐอเมริกาที่ริเริ่มโดย นายโจ ไบเดน (Joe Biden) ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา เพื่อส่งเสริมประชาธิปไตยและต่อต้านการเกิดขึ้นของระบอบอำนาจนิยมทั่วโลกและนำเสนอโครงการการริเริ่มของประธานาธิบดีเพื่อฟื้นฟูประชาธิปไตย (Presidential Initiative for Democratic Renewal)
รูปภาพที่ 1 : ตราสัญลักษณ์การประชุม Summit for democracy

ที่มา : U.S. Department of State
การประชุมจัดขึ้นระหว่าง วันที่ 8-10 ธันวาคม ค.ศ. 2021 ในรูปแบบออนไลน์เสมือนจริงภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อ Covid-19 จากการริเริ่มของประธานธิบดีโจ ไบเดนที่เข้าดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาในเดือนมกราคม ค.ศ. 2021 โดยเชิญผู้นำทั้งภาครัฐ เอกชน และภาคประชาสังคมในประเทศที่เป็นพันธมิตรทางการเมืองและการทูตของสหรัฐอเมริกามาเข้าร่วมประชุมในประเด็นความท้าทายและโอกาสเกี่ยวกับประชาธิปไตย การประชุมมีความมุ่งหมายเพื่อเป็นพื้นที่ให้ผู้นำของทุกภาคส่วนสามารถประกาศความจำนงในการปฏิรูปและริเริ่มการดำเนินงานต่าง ๆ เพื่อปกป้องประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนทั้งภายในประเทศของตนและในระดับสากล[1] สำหรับประเด็นของการจัดประชุมครั้งนี้ที่ถูกนำมาถกเถียงทั้งจากผู้แทนของรัฐบาล องค์กรพหุภาคี ผู้ให้การสนับสนุนทางการเงิน ภาคประชาสังคม และภาคเอกชนใน 3 เรื่องที่สำคัญ คือ หนึ่ง การเสริมสร้างความเข้มแข็งของประชาธิปไตยและกาต่อต้านการปกครองแบบอำนาจนิยม สอง การต่อต้านการทุจริต และสาม การส่งเสริมให้เคารพต่อสิทธิมนุษยชน[2]
การจัดประชุมนี้พยายามจัดวางหลักการและความมุ่งหมายตามหลักการของรัฐธรรมนูญสหรัฐอเมริกาที่มองว่าการประชุมรวมตัวกันของผู้คนที่คล้ายคลึงกับการรวมตัวกันของชาวอเมริกันเมื่อครั้งก่อตั้งประเทศและสถาปนารัฐธรรมนูญสหรัฐอเมริกาขึ้นมาเพื่อ “ก่อร่างสร้างสหพันธ์อันสมบูรณ์ยิ่งขึ้น” (“form a more perfect union”) เนื่องจากการประชุมจะเปิดโอกาสให้เกิดการรับฟัง การเรียนรู้ และการร่วมกันของตัวแสดงที่หลากหลายที่ให้การสนับสนุนและมีความมุ่งมั่นอันเป็นหัวใจสำคัญของการฟื้นฟูประชาธิปไตยในระดับโลก เป็นการแสดงจุดแข็งอันโดดเด่นของประชาธิปไตยอย่างหนึ่ง คือ ความสามารถในการตระหนักรู้ถึงความไม่สมบูรณ์แบบของตัวประชาธิปไตยเองและสามารถเผชิญหน้ากับความไม่สมบูรณ์แบบเหล่านี้อย่างเปิดเผยและโปร่งใส เพื่อให้การสร้างเสริมประชาธิปไตยมีความสมบูรณ์เปรียบเสมือนกับการสร้างชาติให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้นตามที่ระบุในรัฐธรรมนูญสหรัฐอเมริกา[3]
การประชุมนี้มีผู้เข้าร่วม จำนวน 275 คน อันประกอบด้วยตัวแทนที่หลากหลายจากทุกภาคส่วน อาทิ ผู้แทนของรัฐบาล สมาชิกรัฐสภา ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์การพหุภาคี นักเคลื่อนไหว สื่อมวลชน นักต่อสู้ด้านสิทธิมนุษยชน นักธุรกิจ ผู้นำแรงงาน และบุคลากรที่ทำงานด้านการสร้างความพร้อมรับผิดและความโปร่งใสในการปกครองและหลักนิติรัฐ[4] โดยสหรัฐอเมริกาได้เชิญตัวแทนทั้งหมด 110 ประเทศ รวมถึงประธานคณะมนตรียุโรป (President of the European Council) และเลขาธิการองค์การสหประชาชาติ (United Nations Secretary-General) และมีประเทศที่ส่งผู้แทนเข้าร่วมประชุม จำนวน 100 ประเทศ ทั้งนี้ประเทศที่มิได้ส่งผู้แทนส่วนใหญ่เป็นประเทศในทวีปเอเชียและแอฟริกา ได้แก่ มาเลเซีย มองโกเลีย ปากีสถาน ติมอร์-เลสเต เซเชลส์ อัฟริกาใต้ และประเทศในหมู่เกาะแปซิฟิค เช่นเดียวกับประเทศเยอรมนีที่มิได้ส่งผู้แทนมาเนื่องจากอยู่ในช่วงการเปลี่ยนรัฐบาล ทั้งนี้ประเทศที่ได้รับเชิญมีระดับคุณภาพและความเป็นประชาธิปไตยที่แตกต่างกันโดยมีทั้งประเทศที่ได้รับการประเมินจากหน่วยงานต่าง ๆ ในระดับที่มีประชาธิปไตยสูงและประเทศที่มีสถานการณ์ประชาธิปไตยในระดับน่าเป็นห่วง[5]
ตารางที่ 1 : จำนวนประเทศเข้าร่วมประชุม Summit of Democracy จำแนกตามภูมิภาค
ทวีป |
จำนวนประเทศ |
ยุโรป |
38 |
อเมริกา |
27 |
เอเชียแปซิฟิค |
16 |
แอฟริกา |
15 |
ตะวันออกกลาง |
2 |
ทั้งนี้ในการเปิดการประชุม ประธานาธิบดี โจ ไบเดน ได้กล่าวปาฐกถาเปิดการประชุมโดยเน้นย้ำต่อผู้เข้าร่วมประชุมถึง “การรักษาและความท้าทายต่อประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนสากล" โดยชี้ว่าประชาธิปไตยคือ “การต่อสู้อย่างต่อเนื่องของการมีอุดมคติที่สูงส่งยิ่งขึ้น” และมองว่าการยกระดับประชาธิปไตยคือ “หนทางที่ดีที่สุดของการปลดปล่อยศักยภาพของมนุษย์และปกป้องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และแก้ไขปัญหาสำคัญขนาดใหญ่ได้” และเสนอให้ประเทศต่าง ๆ ต้องยืนหยัดในค่านิยมประชาธิปไตยอันเป็นค่านิยมสำคัญในการสร้างความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของแต่ละประเทศ ที่ต้องยืนหยัดใน “ความยุติธรรมและหลักนิติรัฐ ยืนหยัดเพื่อเสรีภาพในการพูด การชุมนุม เสรีภาพของสื่อ เสรีภาพทางศาสนา และตลอดจนสิทธิของมนุษย์ที่ติดตัวทุกคน”[6] นอกจากนี้ประธานาธิบดีไบเดนได้นำเสนอ โครงการการริเริ่มของประธานาธิบดีเพื่อฟื้นฟูประชาธิปไตยที่มีเป้าหมายเพื่อฟื้นฟูและส่งเสริมประชาธิปไตยทั่วโลกอีกด้วย[7] อย่างไรก็ตามในปาฐกถาเปิดการประชุมประธานาธิบดีไบเดนได้แถลงถึงผลงานของรัฐบาลสหรัฐอเมริกาที่พยายามผลักดันเพื่อสร้างเสริมประชาธิปไตยรวมไปถึงโครงการพัฒนาที่สำคัญอื่น ๆ ด้วย อาทิ การตรากฎหมาย Infrastructure Investment and Jobs Act เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานโดยสภาคองเกรส การเสนอโครงการ Build Back Better plan ที่มุ่งด้านการลงทุนเพื่อขยายการจ้างงาน เป็นต้น
นอกจากนี้ กิจกรรมการประชุมในแต่ละวันยังได้เชิญผู้นำของประเทศต่าง ๆ ทั้งในภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคประชาสังคมเข้ามาในการปาฐกถาและการเสวนา อาทิ ในวันที่ 9 ธันวาคม มีการปาฐกถา เรื่อง Bolstering Democratic Resilience โดย นางจาซินดา อาร์เดิร์น (Jacinda Ardern) นายกรัฐมนตรีประเทศนิวซีแลนด์ และ นางมารี เคย์ เฮนรี่ (Mary Kay Henry) ประธานนานาชาติของ Service Employees International Union หรือในวันที่ 10 ธันวาคมมี Inter-Session Remarks โดย นายนาธาน ลอว์ (Nathan Law) นักศึกษาและนักเคลื่อนไหวด้านประชาธิปไตยของฮ่องกง เป็นต้น[8]
โครงการการริเริ่มของประธานาธิบดีเพื่อฟื้นฟูประชาธิปไตย (Presidential Initiative for Democratic Renewal)
โครงการดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งที่ประธานาธิบดี โจ ไบเดน ได้แถลงในการประชุม Summit for Democracy ที่เป็นการริเริ่มทางด้านนโยบายและการให้ความช่วยเหลือกับต่างประเทศขอรัฐบาลสหรัฐอเมริกาในการส่งเสริมประชาธิปไตยและปกป้องสิทธิมนุษยชนในระดับโลก กล่าวได้ว่าเป็นหนึ่งในโครงการที่ใช้เป็นเครื่องมือทางการทูตของสหรัฐอเมริกาที่ดำเนินนโยบายในการเสริมสร้างประชาธิปไตย และการยกระดับการเคารพต่อสิทธิมนุษยชนมายาวนานและตอบสนองต่อผลประโยชน์ด้านความมั่นคงของสหรัฐอเมริกาผ่านการสร้างเสริมและสร้างเสถียรภาพต่อการปกครองแบบประชาธิปไตย โดยสหรัฐอเมริกาจะมุ่งสร้างพันธมิตรกับประเทศต่าง ๆ เพื่อทำงานร่วมกันภายใต้อุดมการณ์ประชาธิปไตยที่จะเอื้อต่อการสร้างความร่วมมือเพื่อตอบสนองความท้าทายในประเด็นระดับนานาชาติเรื่องอื่น ๆ อาทิ การจัดการการเปลี่ยนแปลงด้านสภาพอากาศและการป้องกันการเกิดโรคระบาด
โครงการการริเริ่มของประธานาธิบดีเพื่อฟื้นฟูประชาธิปไตยได้วางแผนเพื่อจัดทำงบประมาณจากสภาคองเกรสของสหรัฐอเมริกา จำนวน 424.4 ล้านดอลลาห์สหรัฐฯ โดยการดำเนินโครงการจะกระทำผ่านกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา และองค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา (The U.S. Agency for International Development: USAID) เพื่อใช้ในการดำเนินโครงการใน 5 ด้านสำคัญ คือ
1. การสนับสนุนสื่อเสรีและเป็นอิสระ ประกอบด้วย หนึ่ง การส่งเสริมสื่ออิสระ (Bolstering Independent Media) ผ่านการสนับสนุนเงินทุนให้กับกองทุนนานาชาติเพื่อสื่อสาธารณะ ที่จะเป็นกองทุนเพื่อส่งเสริมความเป็นอิสระ การพัฒนา และความยั่งยืนของสื่ออิสระ รวมถึงจัดสรรเงินทุนให้กับโครงการการเร่งสร้างความสำเร็จของสื่อ เพื่อเพิ่มพูนศักยภาพทางการเงินของสื่ออิสระในประเทศด้อยพัฒนา กับ สอง การคุ้มครองทางด้านร่างกาย ดิจิทัล และกฎหมายของสื่อมวลชน (Protecting Journalists Physically, Digitally, and Legally) โดยมุ่งเป้าให้ความช่วยเหลือสือมวลชนต่อการคุกคามโดยอาศัยกฎหมายเพื่อปิดกั้นการทำงานของสื่อ โดยให้เงินสนับสนุนกองทุนเพื่อต่อสู้ทางกฎหมายแก่สื่อ การฝึกอบรมและให้ความช่วยเหลือเพื่อคุ้มครองทางด้านร่ายกายและทางดิจิทัล และการสร้างพันธมิตรระหว่างประเทศ เพื่ออุทิศการทำงานด้านเสรีภาพของสื่อและความปลอดภัยของสื่อมวลชน
2. การต่อต้านการทุจริต ประกอบไปด้วย หนึ่ง การสร้างผู้นำแห่งการเปลี่ยนแปลงเพื่อต่อต้านการทุจริต (Supporting Anti-corruption Change Agents) เพื่อสนับสนุนและพัฒนาความสัมพันธ์กับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องด้านการต่อต้านการทุจริตในภาคประชาสังคม สื่อมวลชน ภาควิชาการและองค์กรแรงงาน สอง การยับยั้งการทุจริตผ่านการปฏิบัติการเชิงกลยุทธ์และกฎระเบียบ (Curbing Corruption through Strategic and Regulatory Action) ผ่านการวางแผนเชิงกลยุทธ์เพื่อต่อต้านการทุจริตตามแผนยุทธศาสตร์เพื่อต่อต้านการทุจริตของสหรัฐอเมริกา (United States Strategy on Countering Corruption) ที่จะเป็นยุทธศาสตร์สำคัญของการต่อต้านการทุจริตในสหรัฐอเมริกาและประเทศอื่น ๆ โดยแผนดังกล่าวได้มอบหมายให้กระทรวงการคลังสหรัฐอเมริกา (Departments of Treasury) ดำเนินการออกกฎระเบียบยกระดับความโปร่งใสในตลาดอสังหาริมทรัพย์ของสหรัฐอเมริกาเพื่อให้มีการรายงานผลการทำธุรกรรมในการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ และให้กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงการคลัง และกระทรวงยุติธรรมร่วมมือจัดโครงการการริเริ่มเพื่อต่อต้านการปกปิดทรัพย์สิน (Democracies Against Safe Havens Initiative) เพื่อยกระดับความสามารถในการต่อต้านการทุจริตจากการปกปิดทรัพย์สินที่ได้มาโดยมิชอบผ่านมาตรการการต่อต้านการฟอกเงินและการระงับวีซ่าเข้าประเทศ รวมถึงการตรวจจับและแทรกแซงการสมคบคิดในกรณีการทุจริตที่สลับซับซ้อน เป็นต้นสาม การสร้างนวัตกรรมและความร่วมมือเพื่อต่อต้านการทุจริต (Innovating and Partnering to Combat Corruption) ผ่านการพัฒนาการแก้ไขปัญหาดังกล่าวจากภาคธุรกิจ ผู้บริจาครายใหญ่ นักเทคโนโลยี และภาคส่วนต่าง ๆ และ สี่ การเสริมสร้างนิเวศวิทยาเพื่อต่อต้านการทุจริต (Strengthening Anti-Corruption Ecosystems) เพื่อยกระดับความสามารถของประเทศพันธมิตรในการสร้างความยืดหยุ่นเพื่อต่อต้านกลุ่มธนาธิปไตยและการเงินที่ผิดกฎหมาย อาทิ การสนับสนุนการเปิดเผยความเป็นเจ้าของผลประโยช์ทางการเงินและทรัพย์สิน การเสริมสร้างกฎระเบียบว่าด้วยการทำสัญญา และการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ และการปรับปรุงการสืบสวนสอบสวนเพื่อต่อต้านการทุจริต
3. การส่งเสริมและสนับสนุนนักปฏิรูปประชาธิปไตย ประกอบด้วย หนึ่ง การเสริมพลังให้กับกลุ่มที่มีภูมิหลังเป็นคนชายขอบและทำให้พวกเขามีสิทธิมีเสียงในระบอบประชาธิปไตย (Empowering Historically Marginalized Groups and Ensuring All Have a Say in Democracy) ผ่านการส่งเสริมภาวะผู้นำทางการเมืองและพลเมืองแก่ผู้หญิงและกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQI+) สอง การสนับสนุนนักเคลื่อนไหว คนงาน และผู้นำที่มีหัวคิดด้านการปฏิรูป (Supporting Activists, Workers, and Reform-Minded Leaders) เพื่อตอบโต้ภัยคุกคามที่กระทำต่อนักสิทธิมนุษยชนและนักเคลื่อนไหวที่มีมากขึ้นทั่วโลก อาทิ การส่งเสริมการทำงานขององค์กรภาคประชาสังคมที่ถูกคุกคาม การส่งเสริมการเคลื่อนไหวแบบไร้ความรุนแรงเพื่อบ่มเพาะเยาวชนให้มีความคิดสนับสนุนประชาธิปไตยและการสนับสนุนแรงงานทั่วโลก เพื่อเรียบร้องสิทธิและการยกระดับค่าแรงและสภาพการทำงานผ่านการจัดตั้งองค์กรด้านแรงงานที่เป็นประชาธิปไตยและอิสระ
4. การยกระดับเทคโนโลยีเพื่อประชาธิปไตย ประกอบด้วย หนึ่ง การยกระดับการใช้อินเทอร์เน็ตที่เปิดกว้าง ทำงานร่วมกันได้ มีความเสถียร และปลอดภัย (Advancing an Open, Interoperable, Reliable, and Secure Internet) และยืนยันถึงความมุ่งมั่นในการคุ้มครองและเคารพต่อสิทธิมนุษยชนทางออนไลน์และในระบบนิเวศวิทยาดิจิทัล การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลควรเป็นไปเพื่อส่งเสริมประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน และควรเปิดโอกาศทางด้านนวัตกรรมในระบบนิเวศวิทยาดิจิทัลทั้งให้ภาคธุรกิจสามารถรักษาการเชื่อมต่อกับสังคม สอง การขยายโครงการประชาธิปไตยดิจิทัล (Expanding Digital Democracy Programming) เพื่อส่งเสริมให้รัฐบาล ภาคประชาสังคม ภาคเอกชน และนักพัฒนาเทคโนโลยีของแต่ละประเทศใช้พัฒนา และสร้างการบริหารทางด้านเทคโนโลยีที่ส่งเสริมประชาธิปไตย สาม การยกระดับการส่งเสริมเทคโนโลยีที่เป็นประชาธิปไตย ('Advancing Democracy-Affirming Technologies) ผ่านการสร้างแรงจูงใจทางด้านนวัตกรรมในเทคโนโลยีที่จะช่วยส่งเสริมค่านิยมประชาธิปไตยและการบริหารการปกครอง และ สี่ การปกป้องเพื่อต่อต้านอำนาจนิยมดิจิทัล(Defending against Digital Authoritarianism) เพื่อลดการละเมิดด้านสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นจากเทคโนโลยี รวมถึงการต่อต้านการเซนเซอร์ในระบบอินเทอร์เน็ต
5. การปกป้องการเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรมและกระบวนการทางการเมือง ประกอบด้วย หนึ่ง การเสริมสร้างการเลือกตั้งที่ซื่อตรง (Strengthening Electoral Integrity) ในระดับโลกโดยสร้างพันธมิตรระหว่างภาครัฐกับภาคส่วนที่ไม่ใช่รัฐในการสร้างชุมชนนานาชาติเพื่อสร้างความซื่อตรงในการเลือกตั้ง ผ่านการพัฒนาบรรทัดฐาน หลักปฏิบัติ และประมวลจริยธรรมที่ให้ความสำคัญต่อประเด็นความซื่อตรงในการเลือกตั้ง และ สอง การนำร่องและให้น้ำหนักกับวิธีทางเชิงนวัตกรรมในการปกป้องการเลือกตั้งที่เป็นประชาธิปไตย (Piloting and Scaling Innovative Approaches to Defend Democratic Elections) ผ่านการพัฒนากองทุนที่ช่วยนำร่อง วัดผล และประยุกต์ใช้การตอบโต้ด้วยหลักฐานเชิงประจักษ์ที่มีต่อภัยคุกคามต่อความซื่อตรงในการเลือกตั้งและกระบวนการทางการเมืองที่เกี่ยวข้อง อาทิ ความมั่นคงทางไซเบอร์ การครอบงำการเลือกตั้งทั้งจากภายในประเทศและจากต่างประเทศ ความรุนแรงจากการเลือกตั้ง การบิดเบือนข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง และการมีข้อจำกัดในการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนที่เป็นคนชายขอบ[9]
ข้อวิพากษ์ต่อการประชุม Summit for Democracy
อย่างไรก็ตาม มีข้อวิพากษ์ต่อการจัดการประชุมว่าประเทศที่เข้าร่วมจำนวนมาก ทำให้มีประเทศที่มีระดับการพัฒนาประชาธิปไตยแตกต่างหลากหลายมากทั้งประเทศที่มีระดับความเป็นประชาธิปไตยสูงจนถึงประเทศที่อาจกล่าวได้ว่ามีสภาวะ "เกือบ" ไม่เป็นประชาธิปไตย รวมไปถึงความแตกต่างทางด้านเศรษฐกิจที่มีทั้ง ประเทศมีรายได้สูง รายได้ปานกลาง และรายได้ต่ำ จากการสำรวจของ International IDEA พบว่ามีทั้งหมด 17 ประเทศ รวมถึงประเทศสหรัฐอเมริการที่มีระดับแสดงถึงความเป็นประชาธิปไตยสูง 50 ประเทศ ที่มีระดับความเป็นประชาธิปไตยปานกลาง และอีก 16 ประเทศ จัดได้ว่ามีประชาธิปไตยที่อ่อนแอ นอกจากนี้ประเทศส่วนใหญ่ที่เข้าร่วมประชุมกว่า ร้อยละ 81 จัดได้ว่าเป็นประเทศที่เพิ่งเปลี่ยนผ่านสู่การเป็นประชาธิปไตยไม่นาน กล่าวคือสามารถเปลี่ยนผ่านมาเป็นระบอบประชาธิปไตยภายหลัง ค.ศ. 1975 หรือช่วงของการเกิด "ประชาธิปไตยคลื่นลูกที่สาม" อย่างไรก็ตาม ร้อยละ 40 ของประเทศที่เข้าร่วมประชุมกลับมีประสบการณ์การเผชิญสภาวะประชาธิปไตยถดถอยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา และมีความถดถอยของประชาธิปไตยในบางมิติ อาทิ ประเทศบราซิล อินเดีย สโลวีเนีย ฟิลิปปินส์ และโปแลนด์ ทำให้มีข้อวิพากษ์ถึงการเชิญประเทศที่มีความบกพร่องทางด้านประชาธิปไตยเข้าร่วมการประชุม[10]
แต่ในอีกด้าน ประเทศที่มิได้รับเชิญเข้าร่วมการประชุมส่วนใหญ่เป็นประเทศที่สภาวะประชาธิปไตยถดถอยอย่างรุนแรง เป็นประเทศที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดสภาวะประชาธิปไตยถดถอย (เช่น เอล ซาวาดอร์ และศรีลังกา) หรือเป็นประเทศที่ประชาธิปไตยยังอ่อนแอหรือเป็นประชาธิปไตยใหม่ (เช่น บูกินาร์ฟาโซ แกมเบีย เลบานอน เลโซโท) ก็ก่อให้เกิดข้อวิจารณ์ว่าเป็นการส่งสัญญาที่ไม่ถูกต้องต่อประเทศที่กำลังอยู่ในสภาวะยากลำบากต่อการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย[11] และถูกตั้งข้อสังเกตว่าประเทศที่ได้รับการประเมินว่ามีระดับประชาธิปไตยที่สูงกว่ากลับไม่ได้รับเชิญ แต่ประเทศที่ได้คะแนนต่ำกว่ากลับได้รับเชิญ อาทิ ประเทศศรีลังกาที่ไม่ได้รับเชิญเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศปากีสถานที่ได้รับเชิญ (แม้ว่าภายหลังปากีสถานจะไม่ได้เข้าร่วมประชุมในเวลาต่อมา)[12]
ขณะเดียวกัน การที่สหรัฐอเมริกาเลือกที่จะเชิญ/ไม่เชิญประเทศที่เข้าร่วมการประชุม จึงเป็นการส่งสัญญาณถึงวิสัยทัศน์นโยบายการต่างประเทศที่ต้องการสร้างพันธมิตรของประเทศประชาธิปไตยเพื่อช่วยในการจัดสมดุลต่อระเบียบโลกให้ไปในทิศทางที่เอื้อต่อการปกครองแบบเสรีประชาธิปไตยให้เหนือกว่าการปกครองแบบอำนาจนิยม โดยเสนอให้ระบบประชาธิปไตยเป็นทางเลือกที่ดีกว่าในการตอบสนองความต้องการขั้นพื้นฐานและตระหนักในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์มากกว่าตัวแบบของการปกครองแบบอำนาจนิยม โดยเฉพาะตัวแบบอำนาจนิยมของประเทศจีนที่สามารถตอบสนองต่อความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจแบบก้าวกระโดดจนสามารถยกระดับฐานะความเป็นอยู่ของประชาชนจีนควบคู่ไปกับการกดปราบกระบวนการและกลไกประชาธิปไตยได้ จนทำให้จีนถูกประเมินจากโลกตะวันตกว่าเป็นภัยคุกคามต่อระบอบเสรีประชาธิปไตย[13] โดย นายเค่อ อี่ว์เฉิง รัฐมนตรีช่วยว่าการต่างประเทศจีน ทั้งนี้ จีนเป็นประเทศที่ไม่ได้รับเชิญเข้าประชุมกล่าวว่าการแบ่งแยกทำให้ “เป็นการแบ่งแยกประเทศไปตามลำดับชั้น เป็นการแปะป้ายว่าประเทศใดเป็นประชาธิปไตยและประเทศใดมิได้เป็นประชาธิปไตย”[14]
บรรณานุกรม
Economic Intellegence Unit. Democracy Index 2021: The China Challenge: Economist Intelligence Unit Limited, 2022.
International IDEA. "Summit for Democracy 2021 – Taking Stock One Month Later." 2022. Accessed 10 May, 2022. https://www.idea.int/news-media/news/summit-democracy-2021-%E2%80%93-taking-stock-one-month-later.
Piccone, Ted. "The Awkward Guests: Parsing the Summit for Democracy Invitation List." 7 December 2021. Accessed 10 May, 2022. https://www.brookings.edu/blog/order-from-chaos/2021/12/07/the-awkward-guests-parsing-the-summit-for-democracy-invitation-list/.
The White House. "Fact Sheet: Announcing the Presidential Initiative for Democratic Renewal." 9 December 2021. Accessed 10 May, 2022. https://www.whitehouse.gov/briefing-room/statements-releases/2021/12/09/fact-sheet-announcing-the-presidential-initiative-for-democratic-renewal/.
The White House. "Remarks by President Biden at the Summit for Democracy Opening Session." 9 December 2021. Accessed 10 May, 2022. https://www.whitehouse.gov/briefing-room/speeches-remarks/2021/12/09/remarks-by-president-biden-at-the-summit-for-democracy-opening-session/.
The White House. "Summit for Democracy Summary of Proceedings." 23 December 2021. Accessed 10 May, 2022. https://www.state.gov/further-information-the-summit-for-democracy/.
U.S. Department of State. "Further Information." 2022. Accessed 10 May, 2022. https://www.state.gov/further-information-the-summit-for-democracy/.
U.S. Department of State. "Schedule." 2022. Accessed 10 May, 2022. https://www.state.gov/schedule-the-summit-for-democracy/.
วีโอเอ. "สหรัฐฯเปิด “ประชุมสุดยอดประเทศประชาธิปไตย” จีนโต้ “บั่นทอนความเป็นปึกแผ่น”." 10 ธันวาคม 2564. เข้าถึงเมื่อ 8 พฤษภาคม, 2565. https://www.voathai.com/a/us-hosts-summit-for-democracy-china-reacts-/6348103.html.
อ้างอิง
[1] U.S. Department of State, "Further Information," 2022, accessed 10 May, 2022, https://www.state.gov/further-information-the-summit-for-democracy/.
[2] The White House, "Summit for Democracy Summary of Proceedings," 23 December 2021, accessed 10 May, 2022, https://www.state.gov/further-information-the-summit-for-democracy/.
[3] ดูการอธิบายที่เชื่อมโยงการประชุมกับรัฐธรรมนูญอเมริกันใน U.S. Department of State.
[4] The White House.
[5] International IDEA, "Summit for Democracy 2021 – Taking Stock One Month Later," 2022, accessed 10 May, 2022, https://www.idea.int/news-media/news/summit-democracy-2021-%E2%80%93-taking-stock-one-month-later.
[6] ดูปาฐกถาของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ใน The White House, "Remarks by President Biden at the Summit for Democracy Opening Session," 9 December 2021, accessed 10 May, 2022, https://www.whitehouse.gov/briefing-room/speeches-remarks/2021/12/09/remarks-by-president-biden-at-the-summit-for-democracy-opening-session/.
[7] The White House, "Summit for Democracy Summary of Proceedings."
[8] U.S. Department of State, "Schedule," 2022, accessed 10 May, 2022, https://www.state.gov/schedule-the-summit-for-democracy/.
[9] The White House, "Fact Sheet: Announcing the Presidential Initiative for Democratic Renewal," 9 December 2021, accessed 10 May, 2022, https://www.whitehouse.gov/briefing-room/statements-releases/2021/12/09/fact-sheet-announcing-the-presidential-initiative-for-democratic-renewal/.
[10] International IDEA.
[11] International IDEA.
[12] วีโอเอ, "สหรัฐฯเปิด “ประชุมสุดยอดประเทศประชาธิปไตย” จีนโต้ “บั่นทอนความเป็นปึกแผ่น”," 10 ธันวาคม 2564, เข้าถึงเมื่อ 8 พฤษภาคม, 2565, https://www.voathai.com/a/us-hosts-summit-for-democracy-china-reacts-/6348103.html.
[13] Ted Piccone, "The Awkward Guests: Parsing the Summit for Democracy Invitation List," 7 December 2021, accessed 10 May, 2022, https://www.brookings.edu/blog/order-from-chaos/2021/12/07/the-awkward-guests-parsing-the-summit-for-democracy-invitation-list/. และดูการวิเคราะห์เกี่ยวกับสถานะของจีนในฐานะมหาอำนาจที่ส่งผลเชิงลบต่อประชาธิปไตยใน Economic Intellegence Unit, Democracy Index 2021: The China Challenge (Economist Intelligence Unit Limited, 2022).
[14] วีโอเอ.