Straw Vote

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ผู้เรียบเรียง : อำนาจ ธนานันทชัย

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : ดร.สติธร ธนานิธิโชติ

 

          การลงคะแนนหยั่งเสียง หรือ Straw Vote เป็นคำศัพท์ที่มักใช้ในการเลือกตั้ง โดยเป็นคำที่เกิดจากการอุปมาอุปไมยของเส้นฟาง (straw) ที่บางเบา หากถือเส้นฟางไว้แล้วปล่อยไปเมื่อมีลมพัดมา มันก็พร้อมที่จากปลิวไปตามแรงลม ทำให้สามารถรับรู้ได้ว่าลมที่เกิดขึ้นพัดพามาจากทิศทางใด หากเปรียบความคิดของคนเป็นเสมือนสายลม ก็จะทำเห็นภาพว่าความคิดเห็นของคน(ส่วนใหญ่)เป็นไปในทิศทางใด (Ammer, 1997) ดังนั้น คำศัพท์คำนี้จึงหมายถึง การลงคะแนนหยั่งเสียงเพื่อสำรวจความคิดเห็นในแบบที่ไม่เป็นทางการ (unofficial) ส่วนใหญ่แล้วมักเป็นการรวบรวมความเห็นของสาธารณชน (public opinion) ในเบื้องต้น เพื่อหาว่าคนส่วนใหญ่มีความคิดเห็นหรือทัศนคติเป็นไปในลักษณะใด

          ในบางกรณีคำศัพท์คำนี้มีความหมายเดียวกันกับคำว่า การทำโพลหยั่งเสียง (straw poll/ straw ballot) ที่ใช้ดูว่า เสียงส่วนใหญ่ (majority opinion) ในขณะนั้นได้เทไปยังพรรคใดหรือผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งคนใด จะว่าไปแล้วนั้นคำว่า straw poll ก็มีความหมายที่คล้ายกับคำว่า opinion poll หรือ โพลสำรวจความคิดเห็น แต่จะมีความแตกต่างกันตรงที่วิธีการเก็บข้อมูล กล่าวคือ opinion poll จะใช้ระเบียบวิธีการเก็บข้อมูลที่เริ่มตั้งแต่ การสุ่มตัวอย่าง (sampling) การรวบรวมข้อมูล (data collection) และการวิเคราะห์ข้อมูล (data analysis) ที่มีการใช้หลักการทางวิทยาศาสตร์ (scientific method) โดยเฉพาะหลักทางคณิตศาสตร์และสถิติที่ถูกนำมาใช้ร่วมกับการเก็บข้อมูล ในขณะที่การทำโพลหยั่งเสียง (straw poll) นั้นมักเป็นการสำรวจความเห็นที่ใช้วิธีการเก็บข้อมูลในแบบที่ไม่เป็นวิทยาศาสตร์ (nonscientific means) ไม่ได้มีหลักเกณฑ์การคำนวณทางสถิติในการสุ่มตัวอย่างจากประชากรกลุ่มเป้าหมายแต่อย่างใด แต่เน้นที่ความเร่งด่วนและความสะดวกในการได้มาซึ่งข้อมูลเบื้องต้นอย่างคร่าว ๆ เพื่อให้ทราบถึงทิศทางของผลการเลือกตั้งในเบื้องต้นเป็นสำคัญ จึงทำให้ข้อมูลที่ได้รับมาในบางครั้งไม่สามารถสะท้อนถึงการเป็นตัวแทนของกลุ่มประชากรที่ศึกษาได้หรืออาจได้รับแค่มุมมองของคนเพียงบางกลุ่มเท่านั้น (Davison, 2023)

          ดังนั้น การประเมินหรือตีความผลของโพลดังกล่าวจึงเป็นสิ่งที่ต้องระมัดระวังและพึงระลึกถึงข้อจำกัดในการอนุมานกลับไปยังกลุ่มประชากรเสมอ นั่นเพราะหลายครั้งที่การทำโพลชนิดนี้ถูกใช้เป็นเครื่องมือเพื่อ ‘ปั่น’ กระแสทางการเมืองเพียงเท่านั้น หรือที่เรียกกันว่าการสร้างโพลปลอม (voodoo poll หรือ pseudo-poll) เพื่อสร้างความนิยมทางการเมืองให้แก่พรรคหรือผู้สมัครรับเลือกตั้งบางฝ่าย อย่างไรก็ตาม การทำโพลถือเป็นเครื่องมือที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง โดยเฉพาะต่อกลุ่มการเมือง นั่นเพราะหากฝ่ายการเมืองใดรู้จักวิธีการใช้ข้อมูลที่ได้จากการทำโพลหยั่งเสียงในเบื้องต้นนี้ไปประยุกต์ใช้ในการวาง/ปรับ/เปลี่ยนกลยุทธ์ในการหาเสียง ก็จะช่วยสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันเลือกตั้งให้กับฝ่ายตนได้

          เมื่อคำนึงถึงที่มาที่ไปของคำ ต้นกำเนิดของการโหวตลงคะแนนหยั่งเสียง (straw vote หรือ straw poll) เกิดขึ้นครั้งแรกในประเทศสหรัฐอเมริกา แม้ว่าจะมีงานเขียนที่ได้การกล่าวถึงเรื่องการลงคะแนนหยั่งเสียงในสหรัฐฯไว้อย่างมากมายหลากหลาย แต่หนี่งในงานเขียนที่ได้อรรถาธิบายอย่างละเอียดเพื่อที่จะชี้ให้เห็นถึงจุดเริ่มต้นของเรื่องดังกล่าวได้อยู่ในงานเขียนของ Tom W. Smith (1990) เรื่อง The First Straw ? : A Study of the Origins of Election Polls ซึ่งได้อธิบายไว้ว่า จุดเริ่มต้นของการทำโพลหยั่งเสียง (straw poll) ในสหรัฐฯ ได้เกิดขึ้นในราวปี ค.ศ. 1824 ภายหลังการล่มสลายของระบบพรรคการเมืองในยุคแรกของอเมริกา (ระหว่างพรรค Federalist และพรรค Democratic-Republicans) ครั้งเมื่อพรรคเฟดเดอรัลลิสต์ (Federalist party) ที่เคยยิ่งใหญ่มากว่า 35 ปี หลังจากที่มีบทบาทสำคัญในช่วงการปฏิวัติเพื่อเรียกร้องเอกราชจากเจ้าอาณานิคมอังกฤษได้เสื่อมถอยและสิ้นบทบาทลง ทำให้พรรคเดโมเครติกรีพับลิกัน (Democratic-Republicans party) ได้ก้าวขึ้นมาโลดแล่นในวงการเมืองและครองที่นั่งส่วนใหญ่ในสภาคองเกรสในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐถึง 6 สมัย ซึ่งเกิดขึ้นในคาบการดำรงตำแหน่งของประธานาธิบดีที่มาจากพรรคนี้ ได้แก่ Thomas Jefferson, James Medison และ James Monroe (ซึ่งทั้ง 3 ท่านครองตำแหน่งต่อเนื่องกันในช่วงระหว่าง ค.ศ. 1800-1824)

          ในช่วงเวลาดังกล่าวตั้งแต่ปี ค.ศ. 1800 เมื่อไร้ซึ่งคู่แข่งอย่างพรรค Federalist เหล่าบรรดาสมาชิกจากพรรค Democratic-Republicans จึงหันมาแข่งกันเองเพื่อให้ได้เป็นผู้ถูกเสนอชื่อเป็นตัวแทนพรรคลงสมัครในการเลือกตั้ง เมื่อเวลาได้ล่วงเลยนานวันเข้า การแข่งขันกันระหว่างสมาชิกภายในพรรคยิ่งทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี ค.ศ. 1824 เมื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งทั้งหมดต่างมาจากพรรค Democratic-Republicans เพียงพรรคเดียวซึ่งถือเป็นการเปลี่ยนโฉมหน้าระบบการเลือกตั้งในแบบ 2 พรรค ที่เคยมีมา จากการที่พรรค Federalist หมดความนิยมลงดังที่ได้กล่าวมาข้างต้น จึงทำให้ระบบ caucus ที่เป็นการประชุมเสนอชื่อตัวแทนพรรคเพื่อเฟ้นหาผู้ชิงตำแหน่งประธานาธิบดี ในระบบ 2 พรรคล่มสลายลง เหลือเพียง Democratic-Republicans พรรคเดียวที่แข่งขันในเวทีเลือกตั้ง ด้วยเหตุนี้จึงมีความพยายามที่จะใช้การเสนอชื่อตัวแทนผู้ที่จะเข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีแบบใหม่ที่มีผู้ลงแข่งขันจากพรรคเดียวกัน จึงเป็นที่มาซึ่งนำมาสู่การประชุมลงคะแนนเพื่อหยั่งเสียง (straw vote) หาตัวแทน (candidate) ในที่ประชุมพรรคเพื่อเสนอชื่อตัวแทนที่จะเข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีซึ่งอาจมีได้มากกว่า 1 คน

          เรื่องดังกล่าวได้ยิ่งโหมความคุกรุ่นภายในพรรคที่มีมากว่าสองทศวรรษจนนำไปสู่การแตกแยกระหว่างสมาชิกภายในพรรคที่ต่างต้องมาแข่งขันชิงตำแหน่งประธานาธิบดีกันเอง ในเวลานั้นมี 4 ผู้สมัครตัวเต็งที่ถูกเลือกให้เข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดี ได้แก่ วิลเลียม ลาวน์ (William Lowndes) จากมลรัฐเซาท์แคโรไลนา เฮนรี่ เคลย์ (Henry Clay) จากรัฐเคนทักกี้ แอนดรู แจคสัน (Andrew Jackson) จากรัฐเทนเนสซี่ (Tennessee) และ จอห์น ควินซี่ แอดัมส์ (John Quincy Adams) จากรัฐแมสซาชูเซตส์ ในเวลาต่อมาวิลเลียม ลาวน์ได้เสียชีวิตอย่างปัจจุบันทันด่วนเนื่องจากปัญหาสุขภาพ ความตายของลาวน์ได้ส่งผลให้รัฐเซาท์แคโรไลนาต้องหันมาสนับสนุน จอห์น ซี คาฮาน (John C. Calhoun) ในฐานะตัวแทนคนใหม่ (ซึ่งในเวลาต่อมาได้ถอนตัวเองออกจากผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีและลงชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดีแทน) และยังส่งผลให้ วิลเลียม แฮริส ครอฟอร์ด (William Harris Crawford) จากรัฐจอร์เจียได้ก้าวขึ้นมามีบทบาททางการเมืองในฐานะตัวแทนรัฐในการเลือกตั้งประธานาธิบดี

          นอกจากพรรคการเมืองแล้วนั้น ในช่วงเวลาเดียวกัน การโหวตลงคะแนนเพื่อหยั่งเสียง (straw poll) ยังได้เกิดขึ้นในแวดวงสื่อมวลชนอีกด้วยเช่นกัน เมื่อหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นอย่าง Harrisburg Pennsylvanian ได้ทำการสำรวจความคิดเห็นจากผู้อ่านหนังสือพิมพ์ที่เป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเมืองวิลมิงตัน (Wilmington) ในรัฐเดลาแวร์ (Delaware) ว่าจะเลือกผู้สมัครคนใดในการเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี ค.ศ. 1824 ซึ่งเสียงของผู้ตอบคำถามส่วนใหญ่ 70% คิดว่าจะโหวตลงคะแนนให้กับ แอนดรู แจคสัน (Andrew Jackson) ในเวลานั้น (Rhodes, 2022) แต่เมื่อได้มีการประกาศผลการเลือกตั้งออกมา แม้ว่า แอนดรู แจคสัน จะชนะคะแนนโหวตจากประชาชน (popular vote) ราว 151,271 เสียงหรือ คิดเป็น 41.4% จากผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมด(ซึ่งในตอนนั้นผู้มีสิทธิเลือกตั้งถูกจำกัดอยู่ในเฉพาะกลุ่มที่เป็นชายผิวขาวเท่านั้น) แต่คะแนนที่เขาได้รับจากคณะผู้เลือกตั้ง (electoral vote) มีเพียง 99 เสียง ซึ่งยังต่ำกว่าหลักการเสียงข้างมากเกินครึ่งหนึ่ง (majority) ในขณะที่คู่แข่งอีก 3 คน คือ จอห์น ควินซี่ แอดัมส์, วิลเลียม แฮริส ครอฟอร์ด และ เฮนรี่ เคลย์ จะมีคะแนน electoral vote ที่ต่ำกว่า คือ 84, 41 และ 37 เสียงตามลำดับ (Smith, 1990) ทำให้ต้องส่งเรื่องนี้ให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาเพื่อเลือกหาประธานาธิบดีแทน โดยสภาฯ จะทำการเลือกผู้สมัครที่ได้รับคะแนนเสียงมากที่สุด 3 อันดับแรกมาพิจารณา ซึ่งก็คือ แจคสัน, แอดัมส์ และครอฟอร์ด โดยในท้ายที่สุด สภาฯได้ลงมติมีความเห็นเลือก จอห์น ควินซี่ แอดัมส์ ผู้ที่มีคะแนน ลำดับที่ 2 ขึ้นมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีคนที่ 6 แห่งสหรัฐอเมริกา

          ในเวลาต่อมา การโหวตหยั่งเสียง (straw poll) ได้เป็นที่นิยมกันในหมู่สำนักพิมพ์ทั้งหลายที่ต่างมีการออกมาทำการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วไปในเรื่องต่าง ๆ แต่ประเด็นที่นิยมทำการสำรวจมักอยู่ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง ประวัติอันโด่งดังในเรื่อง straw poll ที่เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายในหมู่ชนชาวอเมริกัน คือ กรณีของนิตยสารรายสัปดาห์ที่ทรงอิทธิพลในแวดวงสื่อสังคมอเมริกันอย่าง Literary Digest ที่ได้มีการสำรวจความคิดเห็นจากผู้อ่านนิตยสารในเรื่องของการคาดการณ์ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ซึ่งทุกคนต่างเชื่อมั่นในผลการสำรวจของ Literary Digest เป็นอย่างยิ่งเนื่องจากนิตยสารฉบับดังกล่าวตั้งแต่ได้เริ่มทำโพลโหวตสำรวจผลการเลือกตั้งตั้งแต่ปี ค.ศ.1916 เป็นต้นมา ก็ไม่เคยไม่ครั้งใดที่ผลของโพลจะผิดพลาดเลยสักครั้ง เพราะในการทำโพลสำรวจความเห็นในแต่ละครั้ง ทางนิตยสารได้มีการเก็บข้อมูลที่ละจำนวนมากจากการส่งจดหมายตอบกลับเป็นล้านฉบับแจกจ่ายไปยังกลุ่มผู้อ่านนิตยสารที่เป็นฐานข้อมูลของสำนักพิมพ์ (Norman, n.d.)

          โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำโพลในการเลือกตั้งชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยที่ 2 ของประธานาธิบดี วูดโรว์ วิลสัน (Woodrow Wilson) ในปี ค.ศ. 1916 ซึ่งเป็นคู่ชิงชัยระหว่าง วูดโรว์ วิลสัน (Woodrow Wilson) ตัวแทนจากพรรคเดโมแครตและ ชาร์ล อีวานส์ ฮิวจ์ (Charles Evans Hughes) ผู้ท้าชิงจากพรรครีพับลิกัน โดยผลโพลของ Literary Digest ได้ทำนายไว้อย่างถูกต้องว่า วิลสันจะเป็นผู้ชนะการเลือกตั้งและได้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีอีกสมัยในครั้งนั้น และนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา การทำโพลหยั่งเสียงสำรวจความคิดเห็นในการเลือกตั้งประธานาธิบดีของ Literary Digest ก็ยิ่งได้เป็นที่กล่าวขานกันอย่างมากที่สามารถคาดการณ์ได้ว่าใครจะเป็นผู้ชนะในการเลือกตั้งอีก 4 สมัยถัดมาติดต่อกันคือ การเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี ค.ศ. 1920, 1924, 1928, และ 1932

          แต่แล้วชื่อเสียงเรื่องความแม่นตรงของผลโพลที่ผงาดในสังคมอเมริกันชนที่มีมากว่าสองทศวรรษกลับต้องพังทลายลงในการทำนายผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีปี ค.ศ. 1936 ระหว่าง แฟรงคลิน เดลาโน โรเซอเวลต์ (Franklin Delano Roosevelt) ตัวแทนจากพรรคเดโมแครต และ อัลเฟรด มอสแมน แลนดอน (Alfred Mossman Landon) จากพรรครีพับลิกัน โดยที่ผลโพลการสำรวจความคิดเห็นของ Literary Digest ในครั้งนั้นได้ออกมาว่า แลนดอนจะสามารถเอาชนะโรเซอเวลต์อย่างง่ายดายและเป็นผู้ชนะการเลือกตั้งในครั้งนี้ แต่เรื่องที่เหนือความคาดหมายที่สร้างความงุนงงให้กับหมู่อเมริกันชนก็ได้เกิดขึ้น เมื่อโรเซอเวลต์กลับเป็นฝ่ายที่ได้รับชัยชนะอย่างถล่มทลายโดยได้ชัยชนะในทุกมลรัฐ ยกเว้นเพียงแค่ 2 มลรัฐ คือ เมน (Maine) และเวอร์มอนต์ (Vermont) และได้กลับมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีในสมัยที่ 2 อีกครั้ง (Hillygus, 2011) ความผิดพลาดของผลโพลในครั้งนี้ได้ทำลายชื่อเสียงและความน่าเชื่อถือที่สั่งสมมานานของนิตยสารอย่างสิ้นเชิง ท้ายที่สุดแล้วเพียงแค่ 2 ปี ถัดมา Literary Digest เองก็ก็ต้องปิดตัวลงในปี ค.ศ. 1938 เป็นการปิดตำนานนิตยสารที่ครั้งหนึ่งเคยได้รับความนิยมเป็นอย่างสูงลำดับแรก ๆ ในสหรัฐอเมริกา

          เหตุแห่งการล่มสลายของนิตยสาร Literary Digest มีมูลเหตุที่เกิดขึ้นจากความผิดพลาดในการสุ่มกลุ่มตัวอย่าง (sampling) เป็นสำคัญ (Glynn, Herbst, Lindeman, O’Keefe, and Shapiro, 2016) แม้ว่า straw poll ของนิตยสาร Literary Digest จะมีการเก็บข้อมูลขนาดใหญ่ในทุกครั้งที่ทำการสำรวจและในการเลือกตั้งในปี ค.ศ. 1936 ครั้งล่าสุดที่ได้รับผลโหวตจากแบบสอบถามเป็นจำนวนมากถึง 2 ล้านกว่าฉบับที่ส่งตอบกลับมา แต่จุดผิดพลาดครั้งใหญ่ของเรื่องนี้ที่ทำให้ผลโหวตของโพลไม่สามารถเป็นสิ่งที่สะท้อนถึงเสียงของประชาชนโดยทั่วไปได้นั้น คือ การที่ Literary Digest ใช้แต่เพียงฐานข้อมูลผู้อ่านนิตยสารของสำนักพิมพ์เท่านั้น ซึ่งส่วนใหญ่นั้น กลุ่มผู้อ่านนิตยสารฉบับนี้เป็นกลุ่มผู้สนับสนุนพรรครีพับลิกัน ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่มีรายได้สูงที่สามารถใช้จ่ายเงินไปกับสินค้าฟุ่มเฟือยได้ อย่างเช่น การซื้อหรือสมัครเป็นสมาชิกรับนิตยสารในยุคภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ของสหรัฐอเมริกา (the Great Depression) ที่เกิดขึ้นช่วงปลายทศวรรษที่ 30 และลากยาวไปจนถึงปลายทศวรรษที่ 40 (1929-1939) ดังนั้น การเลือกใช้กลุ่มตัวอย่างจากฐานข้อมูลผู้อ่านนิตยสารจึงเป็นเรื่องผิดพลาดอย่างยิ่ง เพราะจะทำให้ได้เพียงคำตอบจากผู้ตอบแบบสอบถามเพียงแค่กลุ่มเดียวเท่านั้น ทำให้ขาดคำตอบของคนกลุ่มอื่น เพราะแบบสอบถามไม่เกิดการกระจายตัวไปในกลุ่มต่าง ๆ อย่างทั่วถึง กล่าวคือทำให้เกิดความคลาดเคลื่อนที่เกิดจากความเอนเอียงของกลุ่มตัวอย่าง (sampling bias) จนผลหรือคำตอบที่ได้ไม่สามารถเป็นตัวแทนของประชากรได้

          อย่างไรก็ตาม ความล้มเหลวในผลโพลของ Literary Digest ได้กลายเป็นสิ่งที่แผ้วถางทางให้กับ จอร์จ กัลลอป (George Gallup) ผู้ที่ได้จัดทำโพลสำรวจการเลือกตั้งประธานาธิบดีในช่วงเวลาดังกล่าวด้วยเช่นกัน ซึ่งผลโพลของเขานั้นเป็นไปทางตรงกันข้ามกับทาง Literary Digest อย่างชัดเจน โดยเขาได้คาดการณ์ว่า โรเซอเวลต์จะเป็นผู้ที่สามารถคว้าชัยเหนือแลนดอน ความแม่นตรงในผลโพลของเขาเป็นที่ประหลาดใจของทุกฝ่าย เนื่องด้วยเขาได้ใช้ข้อมูลจากแบบสอบถามในจำนวนที่น้อยกว่าทาง Literary Digest เป็นอย่างมากในแบบที่เทียบกันไม่ได้ เพราะกัลลอปใช้กลุ่มตัวอย่างเพียงแค่ 50,000 คน ในขณะที่ Literary Digest ใช้กลุ่มตัวอย่างมากถึง 2 ล้านกว่าคน คำตอบของเรื่องดังกล่าวอยู่ที่วิธีการสุ่มตัวอย่าง (sampling method) โดยที่กัลลอปได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั่วไปโดยใช้วิธีการคัดเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบสุ่ม (random selection) จึงทำให้ได้ผลโพลที่มีความใกล้เคียงกับผลของการเลือกตั้งมากกว่าของทาง Literary Digest ที่ไม่ได้ใช้หลักทางสถิติมาทำการสุ่มกลุ่มตัวอย่างแต่อย่างใด แต่กลับเลือกใช้กลุ่มตัวอย่างจากฐานข้อมูลที่เป็นตัวแทนเฉพาะของคนบางกลุ่มเพียงเท่านั้น จึงทำให้ผลโหวตของโพลที่ทำขึ้นนั้นไม่สามารถนิยามกลับไปได้ว่าผลที่ได้มานั้นเป็นตัวแทนความเห็นของคนส่วนใหญ่ในสังคม เรื่องการทำโพลสำรวจของกัลลอปในครั้งนี้เองได้เปลี่ยนโฉมหน้าการทำโพลสำรวจต่าง ๆ ในสหรัฐอเมริกาที่ต่างหันมาให้ความสำคัญกับวิธีการในคัดเลือกตัวอย่าง (sampling) มากยิ่งขึ้น โดยมีการนำหลักทางคณิตศาสตร์และสถิติมาประยุกต์ใช้ในการสุ่มกลุ่มตัวอย่างกันอย่างแพร่หลายนับแต่นั้นเป็นต้นมา (Hillygus, 2011; Glynnet et al., 2016)   

    

อ้างอิง

Ammer, C. (1997). The American heritage dictionary of idioms. New York: Houghton Mifflin Company. Retrieved from https://library.wbi.ac.id/repository/293.pdf

Davison, W.P. (2023). Public opinion. In Encyclopedia Britannica. Retrieved from https://www.britannica.com/topic/public-opinion/Public-opinion-and-government

Glynn, C.J., Herbst, S., Lindeman, M., O’Keefe, G.R., and Shapiro, R.Y. (2016). Public opinion. 3rd edition. New York: Routedge.

Hillygus, D.S. (2011). The evolution of election polling in the United States. The Public Opinion Quarterly, 75(5), 962-981.

Norman, J.M. (n.d.). The “Literary Digest” straw poll correctly predicts the election of Woodrow Wilson. Jeremy Norman’s HistoryofInformation.com. Retrieved from The "Literary Digest" Straw Poll Correctly Predicts the Election of Woodrow Wilson : History of Information

Rhodes, C. (2022). A brief history of opinion polls. Museum of Australian Democracy at Old Parliament House. Retrieved fromhttps://www.moadoph.gov.au/explore/stories/history/a-brief-history-of-opinion-polls

Smith, T.W. (1990). The first straw?: A study of the origins of election polls. The Public Opinion Quarterly, 54(1), 21-36.