Soft Power
ผู้เรียบเรียง : ณัชชาภัทร อมรกุล
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.ไชยวัฒน์ ค้ำชู
"Soft Power" หมายถึง "อำนาจ ที่มาจากอิทธิพลทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรม” ผู้ที่ใช้ soft power ไม่ได้ใช้โดยการบีบบังคับหรือจ่ายค่าจ้าง หรือใช้อาวุธยุทโธปกรณ์ทางการทหาร แนวคิดนี้ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายจากหนังสือเรื่อง “Bound to Lead : The Changing Nature of American Power” (Nye, 1990) โดย Joseph Nye ที่เขียนไว้ว่า soft power สามารถทำให้ประเทศใดประเทศหนึ่งทำให้ประเทศอื่นทำตามสิ่งที่ตนต้องการโดยไม่จำเป็นต้องใช้การสั่งการหรืออำนาจที่แข็งกร้าว และเขาได้พัฒนาแนวคิดนี้เพิ่มเติมมาในหนังสือเรื่อง “Soft Power : The Means to Success in World Politics” (Nye, Soft power : The Means to Success in World Politics, 2005) ทำให้ความคิดเกี่ยวกับ "soft power" ได้รับความนิยมในการใช้อธิบายความสัมพันธ์ระหว่างประเทศตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
เพื่อที่จะทำความเข้าใจคำว่า soft power เราขอเริ่มอธิบายคำว่า power ก่อน ซึ่งอ้างอิงจากคำจำกัดความของคำว่า power โดย Nye ได้ให้คำจำกัดความคำว่าอำนาจไว้ว่า คือ ความสามารถในการส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมของผู้อื่นเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ตามที่ต้องการ หากพูดถึง “อำนาจ” เฉย ๆ นั้น จะเห็นได้ว่า มีหลายวิธีที่รัฐใดรัฐหนึ่งจะสามารถทำกับรัฐอื่นได้ เช่น การบีบบังคับ ขู่เข็ญ การมอบอามิสสินจ้าง หรือการสร้างพันธมิตรเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจ แต่ soft power ในคำจำกัดความของ Nye จะหมายถึงการใช้ทรัพยากรที่ไม่ใช่การกดขี่บังคัง เพื่อทำให้ผู้อื่นต้องการผลลัพธ์ตามที่เราต้องการ
Joseph Nye ได้อธิบายคำนี้ในบริบทที่ว่า หลังจากสหรัฐอเมริกาได้ใช้พลังอำนาจแข็ง (hard power) ในการพิชิตสงครามโลกครั้งที่สองแล้ว สหรัฐอเมริกาได้ใช้พลังอำนาจอีกด้านหนึ่ง (soft power) ในการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเป็นเวลาต่อมา เห็นได้ว่าสหรัฐอเมริกาไม่ได้ไปครอบครองชาติใดในยุโรปเลย มีแต่การให้ความช่วยเหลือผ่านแผน Marshall ซึ่งเป็นแผนการฟื้นฟูประเทศต่าง ๆ ในยามสงคราม นอกจากนี้ หลังเหตุการณ์ 9/11 สหรัฐอเมรากาก็ใช้ soft power ร่วมไปกับ hard power คือ ใช้ soft power ในการสร้างพันธมิตร
การบัญญัติคำว่า soft power นี้ จริง ๆ แล้วเป็นคำอธิบายของ Nye เพื่อโต้เถียง/โต้ตอบ กับนักวิชาการกระแสสัจนิยม (Realism/Neorealism) ที่ในยุคปลาย 80 มักจะชอบพูดว่า สมัยนี้อำนาจของสหรัฐอเมริกาเสื่อมโทรมลง โดยอ้างอิงจากการลดลงของอำนาจสหรัฐอเมริกาที่เคยเฟื่องฟูอย่างมากในช่วง 2 ทศวรรษหลังสงครามโลกครั้งที่สอง แนวคิดกลุ่มนี้คือแนวคิดของกลุ่ม Declinist นำโดย Paul Kennedy ที่ใช้อธิบายการขึ้นและลงของอิทธิพลมหาอำนาจโลกตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันว่า สหรัฐอเมริกากำลังสูญเสียอำนาจของตัวเองเหมือนที่อังกฤษได้สูญเสียอำนาจไปก่อนหน้านั้นหรือไม่ Nye ผู้ที่ปฏิเสธแนวคิดของ Declinist จึงนำเสนอว่า สหรัฐอเมริกาไม่ได้กำลังสูญเสียอำนาจ เพราะอำนาจไม่ได้ถูกมองว่าเป็นการใช้พลังการกดขี่ บีบบังคับ หรือการใช้อำนาจทางการทหารเสมอไป แต่อำนาจอาจถูกมองว่าเป็น soft power ก็ได้ โดยมีศักยภาพเพื่อจูงใจ หรือชักนำให้ประเทศอื่นทำในสิ่งที่ตนเองต้องการ หรือเป็นการใช้อำนาจเหมือนกับอำนาจแบบดั้งเดิมได้นั่นแหล่ะ เพียงแต่มาแบบนุ่มนวลกว่า แอบซ่อนกว่า ไม่โดดเด่นชี้ชัด ไม่ได้ทำให้รู้สึกไม่สบายใจ ซึ่งนั่นก็คือพลังอำนาจของสหรัฐอเมริกาที่มาพร้อมกับค่านิยมทางการเมืองแบบประชาธิปไตย สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคนั่นเอง
หลังจากแนวคิด soft power ของ Nye ทำให้การวิเคราะห์ระบบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเปลี่ยนแปลงไป จากการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศดั้งเดิม ที่วิเคราะห์พลังของชาติมหาอำนาจด้วยพลังที่จะทำลายล้างเท่านั้น แต่มีปัจจัยอื่น ๆ ที่เข้ามาเกี่ยวข้อง ทำให้การมีอำนาจจะต้องมีปัจจัยหลายประการเข้ามาเกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นอุดมการณ์ทางการเมือง วัฒนธรรม หรือปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจ ซึ่งสิ่งเหล่านี้สอดคล้องกับคำนิยามของ soft power ของ Nye ซึ่งถูกขนานนามว่าเป็นหนึ่งในนักคิดของลัทธิ neoliberalism ซึ่งมองว่าการติดต่อของรัฐต่าง ๆ ในมิติต่าง ๆ ที่หลากหลายในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศทำให้ลดโอกาสที่จะเกิดการใช้ความรุนแรงจากความขุ่นข้องหมองใจกัน เพราะค่าใช้จ่ายในการทำสงครามอาจไม่คุ้มค่า หากประเทศต่าง ๆ มีความสัมพันธ์กันทางการค้า และความร่วมมือต่าง ๆ ที่แตกต่างหลากหลาย
อย่างไรก็ดี สำหรับนักวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศสายสัจจนิยมและสัจนิยมใหม่มองว่า แนวคิดเรื่อง soft power เป็นแนวคิดที่ใช้ไม่ได้ พวกเขามองว่า ตัวแสดงในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศตอบสนองกับสิ่งจูงใจทางเศรษฐกิจและการใช้กำลังทางการทหารเท่านั้น นอกจากนี้ การแยกความแตกต่างระหว่าง soft และ hard power ก็เป็นเรื่องที่ไม่ได้ทำได้อย่างเด็ดขาด เช่นในช่วงที่สหรัฐอเมริกาประกาศสงครามต่อต้านการก่อการร้าย ก็ได้มีการใช้ทั้ง hard power กับ soft power ไปพร้อมกัน นอกจากนี้ soft power ที่ไม่มี hard power คอยสนับสนุนช่วยเหลืออยู่ข้างหลัง ก็อาจทำงานของตนเองไม่ได้อย่างเต็มที่
สำหรับประเทศไทยช่วง พ.ศ. 2566 เป็นต้นมา ยังมีการเข้าใจผิดในเรื่องของ soft power เนื่องจากรัฐบาลได้ประกาศเรื่อง soft power และคำว่า soft power กลายเป็นคำที่อยู่ในความสนใจของคนจำนวนมาก เช่น การบอกว่า วัฒนธรรม อาหาร การแต่งกาย เศรษฐกิจ ฯลฯ ของไทยเป็น soft power ซึ่งจริง ๆ แล้วไม่ใช่ เวลาเราจะพูดเรื่อง soft power เราต้องคิดว่า เราจะไปใช้ soft power อย่างนั้นกับใคร เช่น หากเราต้องการสนับสนุนสิ่งเหล่านั้นเพื่อให้ประเทศไทยได้ยืนหยัดในเวทีโลก ก็คือการทำให้วัฒนธรรม อาหาร การแต่งกาย เศรษฐกิจ ฯลฯ กลายเป็นเครื่องมือในการทำให้ประเทศอื่นทำตามที่ประเทศเราต้องการ เป็นเช่นนี้ถึงจะเรียกว่า soft power ไม่เช่นนั้นเราก็เรียกว่า วัฒนธรรม อาหาร การแต่งกาย เศรษฐกิจ ฯลฯ อะไรต่อไป คือ สิ่งต่าง ๆ ใด ๆ ถ้ามันยังไม่อาจทำให้ประเทศอื่นคล้อยตามเรา เห็นว่าเรามีความเข้มแข็งกว่า หรือมีอำนาจมากกว่าได้สิ่งนั้นก็ยังไม่ใช่ soft power เพียงแต่มีศักยภาพในการทำให้เป็น soft power ได้
อ้างอิง
Nye, J. S. (1990). Bound to Lead: The Changing Nature of American Power. New York: Basic Books.
Nye, J. S. (2005). Soft Power: The Means to Success in World Politics. New York: Public Affairs.