Political Correctness (PC)
ผู้เรียบเรียง : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วิชุดา สาธิตพร และ ธีทัต จันทราพิชิต
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.ไชยวัฒน์ ค้ำชู
Political Correctness หรือ ความถูกต้องทางการเมือง มีตัวอักษรย่อว่า PC เป็นแนวคิดทางการเมืองที่หมายถึงการใช้ภาษาเพื่อที่จะลดความรุนแรงหรือทำร้ายจิตใจของผู้รับสารให้น้อยที่สุด โดยเฉพาะกลุ่มอัตลักษณ์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะชาติพันธุ์หรือเพศวิถี โดย Political Correctness ได้กลายเป็นประเด็นในการถกเถียงของสังคมเป็นวงกว้าง ทั้งผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย
ที่มา
ในทางภาษาศาสตร์ Political correctness หมายถึง “ทัศนคติ นโยบาย หรือพฤติกรรมที่ไม่ก่อให้เกิดความรู้สึกว่าเป็นการเหยียดเชื้อชาติ เพศ สติปัญญา ความบกพร่องทางร่างกาย ฯลฯ โดยหลีกเลี่ยงการใช้คำที่อาจก่อให้เกิดความรู้สึกดังกล่าว"[1] แม้ว่าจะมีทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและคัดค้านการใช้ภาษาในลักษณะดังกล่าวมาโดยตลอด แต่ก็ยังมีการสร้างคำ PC ใหม่ ๆ ออกมาอย่างต่อเนื่อง จนหลายคำเป็นที่ยอมรับและมีการใช้เป็นคำทั่วไปมากขึ้น เช่น การใช้คำว่า law enforcement officer (เจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย) แทนคำว่า policeman (นายตำรวจ) ใช้คำว่า flight attendant (พนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน) แทนคำว่า steward, stewardess (สจ๊วต, แอร์โฮสเตส) หรือใช้ survivor (ผู้รอดชีวิต) แทนคำว่า victim (เหยื่อผู้เคราะห์ร้าย) เป็นต้น[2]
อย่างไรก็ตาม ความถูกต้องทางการเมืองมีความเป็นมาอย่างยาวนาน และเป็นที่ถกเถียงว่ามีจุดเริ่มต้นที่ตรงไหนกันแน่ จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์การใช้ภาษาด้วยความระมัดระวังมีมาตลอด ไม่ว่าจะกลุ่มขั้วการเมืองไหน แม้แต่ในฝ่ายซ้ายสุดโต่งตอนสมัยศตวรรษที่ 20 หลายกลุ่มก็มีการบังคับในการใช้ภาษาให้มีลักษณะเป็นไปในทางเดียวกัน[3] หากแต่ความถูกต้องทางการเมืองที่เป็นปรากฏการณ์ในปัจจุบันนั่นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมานับว่าใหม่มาก โดยความถูกต้องทางการเมืองเริ่มกลายเป็นประเด็นในโลกตะวันตกในช่วงทศวรรษที่ 1980 ซึ่งเป็นช่วงที่ประชาชนเกือบ ร้อยละ 50 ของชาวอเมริกันได้เข้าเรียนในระดับอุดมศึกษา และเริ่มเป็นที่นิยมกว้างขวางขึ้นในช่วงเวลาเดียวกันนี้[4]
โดยจุดที่ทำให้ความถูกต้องทางการเมืองเป็นปรากฏการณ์ใหม่ที่แตกต่างจากการระมัดระวังในการใช้ภาษาทางการเมืองนั่นประกอบไปด้วย 3 ลักษณะ ได้แก่
1. ความถูกต้องทางการเมืองจะไม่ถูกบังคับใช้โดยสถาบันทางการเมืองที่เป็นทางการซึ่งมีอำนาจทางการเมืองที่ชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นวัดคาทอลิก วังหรือสถาบันพระมหากษัตริย์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ หรือว่าคณะบุคคลที่ปกครองรัฐเช่น โปลิตบูโรของรัฐที่ปกครองโดยพรรคคอมมิวนิสต์
2. ไม่เฉพาะเจาะจงกับอุดมการณ์แบบหนึ่งแบบใดทั้งสิ้น แม้ว่าส่วนใหญ่ความถูกต้องทางการเมืองมักจะเจาะจงไปที่กลุ่มคนเปราะบางในสังคมก็ตาม
3. การบังคับใช้ภาษาแบบถูกต้องทางการเมืองมีลักษณะระบุผู้ใช้หรือประดิษฐ์ได้ยากกว่ามาก[5]
โดยปรากฏการณ์ความถูกต้องทางการเมืองนั่นจะเกิดมาในสังคมที่มีลักษณะเปิดมากกว่าปิด โดยในประเทศที่ปรากฏการณ์ความถูกต้องทางการเมืองเป็นปรากฏการณ์ที่ถูกกล่าวถึงในวงกว้างนั่นจะพบในมหาวิทยาลัยมากกว่าที่อื่น[6] โดยเฉพาะในมหาวิทยาลัยที่มีภาพลักษณ์ก้าวหน้าทางความคิด[7]
อะไรที่ไม่ถูกต้องทางการเมือง
ความถูกต้องทางการเมืองนั่นเป็นเรื่องของภาษาที่ขึ้นอยู่กับบริบททางการเมือง และรูปแบบของภาษาที่ใช้ รวมไปถึงความเปลี่ยนแปลงอื่น ๆ ในกรณีของภาษาอังกฤษ การสบถบางกรณีอาจกลายเป็นความไม่ถูกต้องทางการเมืองได้ ในทางกลับกันการสบถบางอย่างอาจได้รับข้อยกเว้น เช่น การใช้คำสบถในทางศาสนาอย่าง พระเจ้า (Jesus) ไม่นับว่าเป็นความไม่ถูกต้องทางการเมือง หากเป็นคำสบถเรื่องเพศก็ขึ้นอยู่กับบริบทหรือคำที่ใช้ เช่น fuck หลายครั้งไม่ได้กลายเป็นความไม่ถูกต้องทางการเมือง แต่ถ้าเป็นคำสบถที่มีการกล่าวถึงเพศบางเพศชัดเจนจะถือว่าเป็นเรื่องไม่ถูกต้องทางการเมืองทันที[8] หรือบางครั้งคำบางคำก็มีความไม่ชัดเจนจนเกิดข้อถกเถียงได้เช่นกัน
ข้อวิพากษ์
ความถูกต้องทางการเมืองนั่นเป็นที่วิพากษ์ของคนหลายกลุ่มการเมืองในทศวรรษที่ 1990 ได้มีการวิพากษ์ความถูกต้องทางการเมืองว่าเป็นการเคลื่อนไหวที่ปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น บางครั้งก็มีการนำไปเปรียบเทียบกับกลุ่ม เช่น ฟาสซิสต์ สตาลินนิสต์ ยุวชนฮิตเลอร์ กลุ่มเคร่งศาสนาชาวคริสเตียน เหมาอิสต์ มาร์กซิสต์[9] โดยในวันที่ 28 ตุลาคม 1990 ทางหนังสือพิมพ์ The New York Times ได้ออกบทความrพูดถึงความถูกต้องทางการเมืองในชื่อ “IDEAS & TRENDS; The Rising Hegemony of the Politically Correct” [10] โดยพูดถึงกลุ่มที่มีแนวคิดอนุรักษ์นิยมโจมตีความถูกต้องทางการเมืองว่าเป็นการปิดกั้นทางความคิดเห็น ขณะที่แสดงภาพของกลุ่มชนกลุ่มน้อยที่เห็นว่าตนไม่มีสิทธิเท่าที่ควรจึงควรได้รับความยุติธรรมทางสังคมเพิ่มมากขึ้น
ต่อมาใน ปี 2001 Stephen Morris ได้ออกงาน ชื่อ Political Correctness ได้มีข้อสรุปว่าที่ปรึกษาที่คำนึงถึงความถูกต้องทางการเมืองเป็นหลักมีแนวโน้มจะชักจูงผู้ตัดสินใจในนโยบายนั้น ๆ ได้น้อยลง[11] ขณะที่บางกลุ่มพยายามบอกว่าความถูกต้องทางการเมืองเป็นวาทกรรมที่ผลิตขึ้นมาเพื่อด้อยค่าการเคลื่อนไหวประเด็นต่าง ๆ ให้เป็นเรื่องไม่สำคัญ[12] และมีบางกลุ่มที่มองว่าความถูกต้องทางการเมืองนั่นเป็นการปกป้องสิทธิและเสรีภาพให้เกิดขึ้นในสังคม[13]
อ้างอิง
[1] https://www.culi.chula.ac.th/salc/images/ENG%20Today%20PDF/Eng.-40%20(Politically%20correct%20terms%20and%20phrases).pdf
[2] เรื่องเดียวกัน.
[3] Geoffrey Hughes, 2010, Political Correctness: A History of Semantics and Culture. P. 5-6
[4] เรื่องเดียวกัน. P.3
[5] เรื่องเดียวกัน, p.8
[6] เรืองเดียวกัน, p.8
[7] Isaac Chotiner, 2021, The Purpose of Political Correctness, The New Yorker. เข้าถึงจาก https://www.newyorker.com/news/q-and-a/the-purpose-of-political-correctness
[8] Geoffrey Hughes, 2010, Political Correctness: A History of Semantics and Culture. P. 12
[9] The Guardian, 2016, Political correctness: how the right invented a phantom enemy. เข้าถึงจาก https://www.theguardian.com/us-news/2016/nov/30/political-correctness-how-the-right-invented-phantom-enemy-donald-trump
[10] The New York Times, 1990, IDEAS & TRENDS; The Rising Hegemony of the Politically Correct. เข้าถึงจาก https://www.nytimes.com/1990/10/28/weekinreview/ideas-trends-the-rising-hegemony-of-the-politically-correct.html?pagewanted=all
[11] Stephen Morris, 2001, Political Correctness. P.235
[12] Vox, 2015, The truth about "political correctness" is that it doesn't actually exist. เข้าถึงจาก https://www.vox.com/2015/1/28/7930845/political-correctness-doesnt-exist
[13] Sandra Dzenis and Filipe Nobre Faria, 2020, Political Correctness: the Twofold Protection of Liberalism. P.110-111