New Voter หรือ First Time Voter

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ผู้เรียบเรียง:      1. รองศาสตราจารย์ ดร.กตัญญู แก้วหานาม

                         2. อาจารย์ ดร. นพพล อัคฮาด

                         3. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. พิมพ์ลิขิต แก้วหานาม

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย


          การเลือกตั้งถูกบัญญัติให้เป็นหน้าที่ของบุคคลชาวไทยตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ และหากบุคคลใดมีสิทธิเลือกตั้งแล้วไม่ออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งก็จะต้องมีการลงโทษด้วยการเสียสิทธิทางการเมืองตามที่กฎหมายกำหนด โดยคุณสมบัติเบื้องต้นของผู้ที่จะมีสิทธิเลือกตั้งได้คือเป็นบุคคลผู้มีสัญชาติไทยและมีอายุ 18 ปีบริบูณ์ในวันเลือกตั้ง ซึ่งการเลือกตั้งในวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2562 ถือเป็นการเลือกตั้งครั้งแรกภายหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2560 โดยมีระยะห่างจากการเลือกตั้งครั้งก่อนที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 เป็นเวลาเกือบ 8 ปี ทำให้การเลือกตั้งครั้งนี้จะมีผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ได้ใช้สิทธิเลือกตั้งเป็นครั้งแรกจำนวนมากซึ่งกลายเป็นกลุ่มคนที่จะเป็นตัวแปรผลการเลือกตั้งในการเมืองไทยได้ไม่มากก็น้อย จึงมีการเรียกคนกลุ่มนี้ว่า “New Voter หรือ First Time Voter”

 

1. ความหมาย หรือ แนวคิด

             ผู้ออกเสียงลงคะแนน (Voter) หมายถึง บุคคลผู้มีคุณสมบัติครบถ้วนตามกฎหมาย สามารถออกเสียง หรือแสดงเจตนาของตนในการเลือกตั้งหรือลงประชามติได้[1]

          การเลือกตั้ง (Election) หมายถึง กระบวนการเลือกผู้แทนโดยพลเมืองผู้มีสิทธิเลือกตั้งเพื่อไปปฏิบัติหน้าที่แทนประชาชนในองค์กรต่าง ๆ การเลือกตั้งเป็นกระบวนการของการมีส่วนร่วมในการปกครองประเทศตามวิถีทางการปกครองระบอบประชาธิปไตยโดยทางผู้แทน เพื่อให้ผู้แทนทำหน้าที่ในองค์การฝ่ายนิติบัญญัติ องค์การฝ่ายบริหาร ในบางประเทศมีการเลือกผู้แทนไปทำหน้าที่ตุลาการด้วย[2]

             สำหรับในการเลือกตั้งทั่วไป พ.ศ. 2562 ของไทยนั้นมีการกล่าวถึง New Voter หรือ First Time Voter หมายถึง ผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งครั้งแรกในการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2562 ซึ่งกลุ่มบุคคลดังกล่าวถูกจับตามองเป็นพิเศษ เนื่องจากนับตั้งแต่การเลือกตั้งทั่วไปครั้งก่อนเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 จากนั้นประเทศไทยไม่ได้มีการจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมาจนกระทั่งถึงวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2562 ซึ่งนับเป็นเวลานานเกือบ 8 ปีที่ว่างเว้นจากการใช้สิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง และทำให้กลุ่ม New Voter หรือกลุ่มผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งครั้งแรก กลายเป็นกลุ่มประชากรตัวแปรทางการเมืองที่สำคัญ เพราะไม่อาจคาดการณ์ได้ว่ากลุ่มบุคคลเหล่านี้จะออกเสียงลงคะแนนภายใต้กติกาของรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2560 ไปในทิศทางใด ซึ่งบุคคลดังกล่าวจากข้อมูลของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย (ธันวาคม 2561) ระบุว่าบุคคลผู้มีสัญชาติไทยที่เกิดระหว่างปี พ.ศ. 2537 – พ.ศ. 2544 ซึ่งเป็นผู้ที่มีอายุระหว่าง 18 ปี – 26 ปี มีจำนวนกว่า 6.4 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 14 ของจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งประเทศ หรือเฉพาะคะแนนของผู้มีสิทธิเลือกตั้งกลุ่มนี้ก็สามารถกำหนดที่นั่งของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้กว่า 60 คนจากสมาชิกทั้งสภาผู้แทนราษฎรที่มีจำนวน 500 คน ดังนั้น การเกิดขึ้นของกระแส New Voter จึงเป็นสิ่งที่ท้าทายความคิดในการเมืองไทยแบบเดิมๆ เพราะความคิดและทัศนคติทางการเมืองของกลุ่มคนที่มีสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งครั้งแรกนี้มีความแตกต่างไปจากคนรุ่นก่อนอย่างชัดเจน โดยเฉพาะกระแสการเรียกร้องภาพของนักการเมืองแบบใหม่ วิธีคิดและการทำงานการเมืองแบบใหม่ มีภาพการเมืองที่อยู่ตรงข้ามกับนักการเมืองแบบเก่าที่เน้นการทุจริตคอร์รัปชัน หรือการทำงานการเมืองเพื่อหวังผลประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้อง รวมทั้งการทำให้เกิดการเมืองที่สร้างสรรค์ มีเหตุผล สามารถผลักดันความหวังและความฝันของเพื่อนร่วมชาติไปสู่ความเจริญก้าวหน้าและศิวิไลซ์กว่าที่เป็นมาในอดีต

 

2. ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น

             สติธร ธนานิธิโชติ (2561) นักวิชาการผู้ชำนาญการจากสถาบันพระปกเกล้า ซึ่งถือเป็นนักวิจัยรุ่นใหม่ที่เฝ้าติดตามการเมืองไทยมาอย่างใกล้ชิด ได้อธิบายภาพรวม มุมมอง และบทบาทของคนกลุ่มรุ่นใหม่ที่เป็น New Voter นี้ไว้อย่างน่าสนในดังนี้[3]

             ถ้าแบ่งประเภทกลุ่มคนในสังคม ออกเป็นเจนเนอเรชัน (Generation) ต่างๆ ได้แก่ เจนเนอเรชัน Baby Boomer (เกิดปี พ.ศ.2489-2507) เจนเนอเรชัน X (เกิดปี พ.ศ.2508-2522) เจนเนอเรชัน Y (เกิดปี พ.ศ.2523 - 2543) จะพบว่า คนรุ่นใหม่ที่มีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้งเป็นครั้งแรกจะอยู่ในคนรุ่น Gen Y เป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นการใช้สื่อออนไลน์หรือโซเชียลมีเดียน่าจะมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของคนกลุ่มนี้  ส่วนคนรุ่น Baby Boomer ในทางการเมือง จะมีแนวคิดหรือทัศนคติที่ชื่นชอบถ้อยคำที่ดูเป็นหลักการใหญ่ๆ อย่างเช่น คำว่า ปฏิรูป ประเทศชาติ ความเจริญก้าวหน้าวัฒนาสถาพร มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นคำที่บ่งบอกเป้าหมายและอุดมการณ์ คนรุ่นนี้ถ้ามาทำงานเป็นนักการเมือง ก็จะมีสโลแกนในการหาเสียงเป็นคำกว้างๆ แต่วิธีการยังไม่ชัดเจน ไม่ได้บ่งบอกขั้นตอนว่าต้องทำอย่างไร เช่น จะทำการเมืองอย่างไร ก็อยากจะปฏิรูปการเมือง อยากพัฒนาประเทศ อยากพัฒนาเศรษฐกิจ อยากแก้ปัญหาความยากจน ซึ่งแตกต่างจากคนรุ่น Gen Y ในทางการเมือง จะมีลักษณะชอบตั้งคำถาม เช่น ปฏิรูปคืออะไร ปฏิรูปอย่างไร อยากได้รายละเอียดและความชัดเจน ชอบซักไซ้ไล่เลียง ต้องการสิ่งที่กระชับและเข้าใจง่าย ไม่ชอบสิ่งที่เป็นนามธรรม ต้องการความเป็นรูปธรรมมากกว่า มีแต่คำพูดที่สวยหรูอย่างเดียวไม่พอ ต้องแสดงวิธีการด้วย

             ส่วนในทางอุดมการณ์นั้น คนรุ่น Baby Boomer จะมีแนวโน้มเป็นพวกอนุรักษ์นิยมที่มองโลกแบบสวยงามตามครรลองครองธรรม ชอบสิ่งที่เป็นนามธรรมและเป็นอุดมคติ แต่คนรุ่น Gen Y จะมีแนวโน้มเป็นพวกเสรีนิยมที่อยู่กับปัจจุบัน อยู่กับโลกแห่งความเป็นจริง เป็นปัจเจกชน ต้องการความเป็นรูปธรรมและปฏิบัติได้ ส่วนคนรุ่น Gen X จะเป็นคนที่อยู่ตรงกลาง เป็นรอยต่อระหว่าง Baby Boomer กับ Gen Y รวมทั้งคนรุ่น Gen X จะมีลักษณะทำงานตามที่สั่ง เช่น คนรุ่น Baby Boomer จะบอกหลักการหรืออุดมการณ์มาให้ และส่งต่อให้คนรุ่น Gen X ไปบริหารจัดการและทำให้ถึงเป้าหมาย ที่สำคัญคนกลุ่มนี้จะต้องอธิบายให้คนรุ่น Baby Boomer ฟังว่า เหตุผลที่ต้องทำแบบนี้คืออะไร ทำไมต้องเลือกวิธีการแบบนี้ นักการเมือง Gen X จะเป็นคนที่ชอบเล่าเรื่องอธิบายขยายความ มีวาทศิลป์ ชอบการโน้มน้าวจูงใจ หรือแจกแจงรายละเอียด แต่เมื่อมาเปรียบเทียบกับคนรุ่น Gen Y เช่น เมื่อนักการเมือง Gen X ขึ้นเวทีปราศรัย คนรุ่น Gen Y จะมองว่า คนพวกนี้พูดเยอะ เวิ่นเว้อ แต่คนรุ่น Gen Y จะชอบสิ่งที่ชัดเจน ตรงไปตรงมา ดังนั้นวิธีการหาเสียงหรือการสื่อสารก็ต้องเปลี่ยนไปด้วย เพราะวิธีการแบบเดิมจะไม่ประสบผลสำเร็จ เช่น ใช้วิธีหาเสียงแบบป้ายสีสาดโคลน การติดโปสเตอร์ การขึ้นเวทีปราศรัย อาจเข้าไม่ถึงคนรุ่น Gen Y ดังนั้นพรรคที่ทำการเมืองแบบเก่าจะไม่ได้คะแนนเสียงจากคนกลุ่มนี้เลย แต่ถึงแม้จะรู้ว่าคนรุ่น Gen Y ชื่นชอบช่องทางโซเชียลมีเดีย แต่ถ้าข้อความหรือสารที่ส่งออกไปไม่โดนใจ ก็จะเข้าไม่ถึงเช่นกัน เนื่องจากวิถีชีวิตของคนรุ่น Gen Y จะเติบโตขึ้นมาท่ามกลางข้อมูลข่าวสารเป็นจำนวนมาก จึงมีทักษะในการคัดกรองข้อมูลให้เข้ากับจริตของตนเอง ดังนั้นสิ่งที่ไม่จำเป็นหรือไม่ถูกจริตก็จะปล่อยผ่านไป หรืออาจกล่าวได้ว่า จะเลือกรับเฉพาะแต่สิ่งที่ถูกจริตเท่านั้น

             ด้วยเหตุความแตกต่างกันของกลุ่มคนดังกล่าว พรรคการเมืองบางพรรคจึงต้องการเข้าถึง New Voter หรือคนรุ่นใหม่ที่เป็น New Voter ซึ่งต่างมีการพูดถึงในฐานะที่เป็นฐานคะแนนเสียงที่ใหญ่ เนื่องจากประเทศไทยไม่มีการเลือกตั้งมานานหลายปี คนกลุ่มนี้จึงเกิดการสะสมไว้ ถ้านับตั้งแต่ปี 2554 จนถึงปี 2562 ก็จะมีคนกลุ่มนี้จำนวน 8 รุ่น พรรคการเมืองต่าง ๆ จึงให้ความสนใจกับเสียงของคนรุ่นใหม่เป็นพิเศษ เพราะเชื่อว่าคนเหล่านี้ยังไม่มีรสนิยมทางการเมืองในแบบที่มีความผูกพันเป็นพิเศษกับพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งหรือผู้นำทางการเมืองคนใดคนหนึ่ง ซึ่งแตกต่างจากคนที่เคยเลือกตั้งมาก่อนแล้วที่อาจจะมีพรรคการเมืองหรือนักการเมืองในดวงใจอยู่แล้ว ซึ่งพรรคการเมืองที่มีการจัดตั้งขึ้นหรือปรับบทบาทของกลุ่มการเมืองภายในพรรคเพื่อหาเสียงกับกลุ่ม New Voter ในการเลือกตั้งทั่วไป พ.ศ. 2562 มีดังนี้

             1. การก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อ 15 มีนาคม พ.ศ. 2561 โดย นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อายุ 41 ปี อดีตรองประธานบริหารกลุ่มบริษัทไทยซัมมิท หัวหน้าพรรค และ รองศาสตราจารย์ ดร. ปิยบุตร แสงกนกกุล อายุ 40 ปี อดีตอาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เลขาธิการพรรคจากจุดเริ่มต้นที่มองไม่เห็นว่าจะมีพรรคการเมืองใดในเวลานั้นที่จะสามารถตอบสนองความคาดหวังต่ออนาคตสังคมไทยได้ ทำให้พวกเขารวบรวมคนหลากหลายกลุ่มเข้ามาร่วมกันทำพรรคการเมือง มุ่งทำพรรคการเมืองแบบใหม่ที่ผู้สมัคร ส.ส. ของพรรคไม่จำเป็นต้องพึ่งพานายทุน แต่ผู้สมัครเป็นคนธรรมดาที่เป็นตัวแทนของทุกคนในสังคม และการหาเงินระดมทุนทำการเมืองมาจากการขายของและการเปิดรับค่าบำรุงสมาชิกพรรค ซึ่งมีนโยบายที่ชัดเจนว่า ไม่เอารัฐประหารและไม่ร่วมทุกอณูของเผด็จการผ่าน 3 นโยบายฐานรากคือ
             (1) ยุติระบบราชการรวมศูนย์ กระจายอำนาจ กระจายคน กระจายงบประมาณ (2) ไทยเท่าเทียม สวัสดิการถ้วนหน้าครบวงจร (3) ปฏิวัติการศึกษา ลงทุนให้ถูกจุด ลดความเหลื่อมล้ำ และ 8 นโยบายเสาหลัก เช่น เกษตรก้าวหน้า ยกระดับเศรษฐกิจฐานรากด้วยเทคโนโลยี แก้ปัญหาเอกสารสิทธิ์ที่ดิน ปลดหนี้เกษตรกร สิ่งแวดล้อมยั่งยืน ลดใช้พลาสติก สร้างเศรษฐกิจจากขยะ ปฏิรูปกองทัพ ลดนายพล ละอาวุธ ซึ่งจากผลการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2562 พรรคอนาคตใหม่สามารถคว้าที่นั่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ถึงจำนวน 80 ที่นั่ง แบ่งเป็น ส.ส. แบบเขตจำนวน 30 ที่นั่ง และ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อจำนวน 50 ที่นั่ง
             รวมคะแนนเสียงทั้งประเทศที่พรรคได้รับมีมากถึง  6,265,950 คะแนน ทำให้สภาผู้แทนราษฎรของไทยได้ ส.ส. หน้าใหม่ที่เป็นเข้าสภาได้เป็นครั้งแรกจากการสังกัดพรรคอนาคตใหม่ถึง 80 คน[4] แต่ต่อมาเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2562 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติให้ยุบพรรคอนาคตใหม่ เนื่องจากเห็นว่าเป็นการกระทำอันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 72 ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 และมีมติให้สั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรค เป็นเวลา 10 ปี ทำให้เวลาต่อมานายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ อายุ 41 ปี ส.ส. บัญชีรายชื่ออดีตพรรคอนาคตใหม่ ประกาศเป็นหัวหน้าพรรคการเมืองใหม่ในนามว่า “พรรคก้าวไกล” เพื่อนำ 55 ส.ส. อดีตพรรคอนาคตใหม่ ย้ายสังกัดพรรคก้าวไกล ซึ่งยังคงเดินหน้าในอุดมการณ์ของอดีตพรรคอนาคตใหม่ ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนนโยบาย รวมถึงการต่อต้านระบอบเผด็จการ

             2. การเปิดตัวสมาชิกกลุ่มที่มีชื่อว่า ‘New Dem’ ของพรรคประชาธิปัตย์  เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2561 ได้มีการประชุมคณะกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ โดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค โดยมีวาระเพื่อเตรียมความพร้อมในการทำกิจกรรมให้ทันปฏิทินเลือกตั้ง และมีกลุ่มคนรุ่นใหม่ (NEW DEM ) มานำเสนอแนวคิด และประเด็นที่ต้องการขับเคลื่อนทางสังคม และสิ่งที่ต้องการให้เกิดขึ้นในบ้านเมือง ซึ่ง กลุ่ม NEW DEM นี้ไม่ได้มีแต่ลูกหลานนักการเมือง เหมือนที่มีการตั้งข้อสังเกต แต่มีตัวแทนจากหลายจังหวัด ทุกภูมิภาค มีสัดส่วนผู้ชายและผู้หญิงใกล้เคียงกัน ทำให้มีความหลากหลายทางความคิด และพรรคยังพร้อมรับคนรุ่นใหม่ที่สนใจการเมืองมาร่วมงาน อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่กลุ่มนี้ทุกคนจะเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้ง เพราะบางคนยังไม่คิดที่จะสมัครในตอนนี้ แต่ก็มีบางคนที่พร้อมจะลงสมัครรับเลือกตั้ง ซึ่งพรรคก็จะเปิดโอกาสให้ ด้านนายพริษฐ์ วัชรสินธุ อายุ 24 ปี สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นหลานชาย นายอภิสิทธิ์ ได้เปิดตัวคนรุ่นใหม่ "New Dem ก้าวนอกกรอบ" โดยกล่าวว่า องค์กรนี้ไม่ต้องการนิยามว่า กรอบเดิม ผิดหรือถูก แต่อยากชวนให้ทุกคนตั้งคำถามกับแนวคิด ค่านิยมเดิมๆ ที่ทำมาจนคุ้นเคย ตนต้องการให้ New Dem เป็นสะพานเชื่อมคนรุ่นใหม่ทั้งในพรรคและนอกพรรค ซึ่งต้องขอบคุณผู้ใหญ่ในพรรค ที่กล้าให้พวกตนแสดงความคิดเห็น ตนเชื่อว่าปัญหาบ้านเมืองและปากท้องของประชาชน ต้องการคนรุ่นใหม่มาช่วยคิดหาคำตอบ เพราะหลายเรื่องคนรุ่นใหม่อาจเชี่ยวชาญ หรือมีความสนใจมากกว่า เช่น เทคโนโลยี หรือความหลากหลายในสังคม
             ทั้งนี้ New Dem ไม่ใช่แค่ยุทธศาสตร์การหาเสียงของพรรค แต่จะเป็นพื้นที่ของคนรุ่นใหม่ เพื่อให้พรรคประชาธิปัตย์มีความใหม่และทันยุคสมัยตลอดเวลา และจะนำเสนอแนวความคิดจากคนรุ่นใหม่ ให้กับพรรคเพื่อทำเป็นนโยบายต่อไป ซึ่งกลุ่มคนรุ่นใหม่ของประชาธิปัตย์ จะแตกต่างจากคนรุ่นใหม่ของพรรคอื่น คือ ไม่จำเป็นต้องลูกหลานของนักการเมือง หรือสืบทอดอำนาจ และคนรุ่นใหม่ของพรรค พร้อมจะรับฟัง และทำงานกับคนทุกรุ่น ซึ่งกลุ่มของพวกตน ต้องการทำการเมืองที่สร้างสรรค์ ไม่ใช่ความขัดแย้ง หลังจากนั้น มีการเปิดตัวคนรุ่นใหม่ 21 คนใน ทีม New Dem พร้อมนโยบายที่แต่ละคนสนใจและต้องการจะขับเคลื่อน เช่น นายพริษฐ์ วัชรสินธุ ชูแนวคิด ยกเลิกการเกณฑ์ทหาร และเปลี่ยนเป็นการเกณฑ์แบบสมัครใจ 100% นายแพทย์คณวัฒน์ จันทรลาวัลย์ สนใจการเปิดการค้ากัญชา เพื่อบรรเทาความเจ็บปวด เพราะตอนนี้กัญชา กำลังกลายเป็นพืชเศรษฐกิจที่เป็นที่ต้องการของตลาด พร้อมเรียกร้องให้รัฐเปิดโอกาสให้ประชาชนผลิต และสกัดสารของกัญชาออกมา รัฐควบคุมมาตรฐาน และความปลอดภัย ส่งเสริมสายพันธุ์กัญชาใหม่ๆ ปกป้องสิทธิบัตร และเปิดตลาดกัญชาโลกให้ไทยมีมาตรฐานทัดเทียม นายสุรบถ หลีกภัย ชูแนวคิดการผลักดัน E-Sport ที่ปัจจุบันทำรายได้เกือบหนึ่งหมื่นล้านบาท และจะเติบโตอีกในอนาคต พร้อมทั้งยังสร้างอาชีพ เช่น นักกีฬา E-Sport, แคสเตอร์, และนักพากย์เกมส์ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีแนวคิดอื่นๆ ของคนรุ่นใหม่ ได้แก่ การลดการใช้ถุงพลาสติก ด้วยการคิดราคาถุง และโครงการคืนขวด, E-Government ใช้เทคโนโลยีจองคิวการให้บริการของรัฐ  ดึงข้อมูลออนไลน์ มาใช้แทนเอกสารสำคัญ และใช้มือถือแสกนข้อมูลที่เกี่ยวข้องและจำเป็น ติดตามสถานะพัสดุ แนวคิด Universal Design สร้างตึกและสิ่งอำนวยความสาธารณะให้คนทุกคนใช้งานได้ เพื่อเอื้อให้คนพิการทำงานและเรียนได้เหมือนคนปกติ เป็นต้น[5] แต่ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไป พ.ศ. 2562
             เมื่อพรรคประชาธิปัตย์เลือกจัดตั้งรัฐบาลร่วมกับพรรคพลังประชารัฐและสนับสนุนพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีสืบต่ออำนาจคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (คสช.) ทำให้นายพริษฐ์ วัชรสินธุ
ไม่พอใจและลาออกจากสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์จนนำไปสู่การประกาศยุบกลุ่ม New Dem ในที่สุด

3. หลักการสำคัญ / ความสำคัญ

             เมื่อการเลือกตั้งถูกบัญญัติให้เป็นหน้าที่ของบุคคลชาวไทยและกำหนดคุณสมบัติของมีสิทธิเลือกตั้งไว้ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 95[6] บุคคลผู้มีคุณสมบัติดังต่อไปนี้ เป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้ง

                        (1) มีสัญชาติไทย แต่บุคคลผู้มีสัญชาติไทยโดยการแปลงสัญชาติ ต้องได้สัญชาติไทยมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปี

                        (2) มีอายุไม่ต่ำกว่าสิบแปดปีในวันเลือกตั้ง

                        (3) มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตเลือกตั้งมาแล้วเป็นเวลาไม่น้อยกว่าเก้าสิบวันนับถึงวันเลือกตั้ง และเมื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่ออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งก็จะต้องมีการลงโทษด้วยการเสียสิทธิทางการเมืองตามที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 มาตรา 35[7] กำหนดไว้ว่า ผู้มีสิทธิเลือกตั้งผู้ใดไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งและมิได้แจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งหรือแจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งแล้วแต่เหตุนั้นมิใช่เหตุอันสมควร ผู้นั้นถูกจำกัดสิทธิ ดังต่อไปนี้

                        (1) ยื่นคำร้องคัดค้านการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

                        (2) สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น
หรือสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภา

                        (3) สมัครรับเลือกเป็นกำนันและผู้ใหญ่บ้านตามกฎหมายว่าด้วยลักษณะปกครองท้องที่

                        (4) ดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมืองตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการการเมือง และข้าราชการรัฐสภาฝ่ายการเมืองตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการรัฐสภา

                        (5) ดำรงตำแหน่งรองผู้บริหารท้องถิ่น เลขานุการผู้บริหารท้องถิ่น ผู้ช่วยเลขานุการผู้บริหารท้องถิ่น ประธานที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น ที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น หรือคณะที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น

             การจำกัดสิทธิตามวรรคหนึ่งให้มีกำหนดเวลาครั้งละสองปีนับแต่วันเลือกตั้งครั้งที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง และหากในการเลือกตั้งครั้งต่อไปผู้นั้นไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งอีกให้นับเวลาการจำกัดสิทธิครั้งหลังนี้โดยนับจากวันที่มิได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งครั้งใหม่ หากกำหนดเวลาการจำกัดสิทธิครั้งก่อนยังเหลืออยู่เท่าใดให้กำหนดเวลาการจำกัดสิทธินั้นสิ้นสุดลง

             ด้วยเหตุนี้การเลือกตั้งจึงมีความสำคัญต่อการทำหน้าที่พลเมืองที่พึงประสงค์ของไทย และสิทธิการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นกับบุคคลผู้มีสัญชาติไทยและมีอายุ 18 ปีบริบูณ์ในวันเลือกตั้งในวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2562 นั้นยิ่งมีความสำคัญมากขึ้น เพราะถือเป็นการเลือกตั้งครั้งแรกภายหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2560 โดยมีระยะห่างจากการเลือกตั้งครั้งก่อนที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 เป็นเวลาเกือบ 8 ปี ทำให้การเลือกตั้งครั้งนี้จะมีผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ได้ใช้สิทธิเลือกตั้งเป็นครั้งแรกจำนวนมากซึ่งกลายเป็นกลุ่มคนที่จะเป็นตัวแปรผลการเลือกตั้งในการเมืองไทยได้ไม่มากก็น้อย จึงมีการเรียกคนกลุ่มนี้ว่า “New Voter หรือ First Time Voter” และก็เป็นไปตามที่คาดการณ์เมื่อพรรคการเมืองจัดตั้งขึ้นเพื่อหาเสียงสนับสนุนจากนโยบายที่ตรงตามรสนิยมของคนรุ่นใหม่ที่เป็น New Voter ปรากฏเป็นคะแนนเสียงที่ได้รับจากผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั่วประเทศและจำนวนที่นั่ง ส.ส. ที่เป็นคนหน้าใหม่ในสภาผู้แทนราษฎรคิดเป็นสัดส่วนเท่ากับที่มีการคาดการณ์ล่วงหน้าที่จะเกิดขึ้นในการเลือกตั้งครั้งนี้อยู่ที่ 15 – 20 % นั่นเอง

4. สรุป

          ในการเลือกตั้ง ส.ส. ทั่วไป เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2562 ได้มีการกล่าวถึงกระแส New Voter หรือ First Time Voter ซึ่งหมายถึง กลุ่มผู้ที่มีสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งครั้งแรกในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งดังกล่าว  ซึ่งกลุ่มบุคคลดังกล่าวถูกจับตามองเป็นพิเศษ เนื่องจากนับตั้งแต่การเลือกตั้งทั่วไปครั้งก่อนเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 จากนั้นประเทศไทยไม่ได้มีการจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมาจนกระทั่งถึงวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2562 ซึ่งนับเป็นเวลานานเกือบ 8 ปีที่ว่างเว้นจากการใช้สิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง และทำให้กลุ่ม New Voter หรือกลุ่มผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งครั้งแรก กลายเป็นกลุ่มประชากรตัวแปรทางการเมืองที่สำคัญ เพราะไม่อาจคาดการณ์ได้ว่ากลุ่มบุคคลเหล่านี้จะออกเสียงลงคะแนนภายใต้กติกาของรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2560 ไปในทิศทางใด และการเกิดขึ้นของกระแส New Voter ได้เป็นสิ่งที่ท้าทายความคิดในการเมืองไทยแบบเดิมๆ เพราะมีการพยากรณ์ถึงความคิดและทัศนคติทางการเมืองของกลุ่มดังกล่าวว่ามีความแตกต่างไปจากคนรุ่นก่อนอย่างชัดเจน โดยเฉพาะกระแสการเรียกร้องภาพของนักการเมืองแบบใหม่ วิธีคิดและการทำงานการเมืองแบบใหม่ จึงทำให้พรรคการเมืองหลายพรรคพยายามจัดตั้งพรรคขึ้นหรือนำเสนอนโยบายและรูปแบบการบริหารพรรคโดยหวังดึงคะแนนเสียงจากกลุ่ม New Voter ขึ้นตามมาด้วย

 

5. บรรณานุกรม

เดอะสแตนดาร์ด. (2562). ข้อมูลพรรคการเมือง : พรรคอนาคตใหม่. สืบค้นจาก

https://thestandard.co/thailandelection2019party/, เข้าถึงเมื่อ 6 เมษายน 2563

บุญศรี มีวงศ์อุโฆษ. (2530). กฎหมายเลือกตั้งเยอรมัน. วารสารนิติศาสตร์ 17 (3): 14 – 20.

ประชาไท. (2561) บทบาทคนรุ่นใหม่กับประชาธิปไตยช่วงเปลี่ยนผ่าน – ความหวังหรือความฝัน สืบค้นจาก

https://prachatai.com/journal/2018/10/79100, เข้าถึงเมื่อ 6 เมษายน 2563

ผู้จัดการออนไลน์. (2561). ปชป.เปิดตัวกลุ่ม"NEW DEM" คนรุ่นใหม่ร่วมทำนโยบายสู้ศึกเลือกตั้ง. สืบค้นจาก

https://mgronline.com/daily/detail/9610000113436, เข้าถึงเมื่อ 6 เมษายน 2563

พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561,

ราชกิจจานุเบกษา, เล่มที่135 ตอนที่ 68 ก วันที่ 12 กันยายน 2561, หน้า 81 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 สืบค้นจาก

http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2560/A/040/1.PDF, เข้าถึงเมื่อ 6 เมษายน 2563

ราชบัณฑิตยสถาน. (2556). พจนานุกรมศัพท์รัฐศาสตร์ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ :

ราชบัณฑิตยสถาน.

 

อ้างอิง

[1]ราชบัณฑิตยสถาน. (2556). พจนานุกรมศัพท์รัฐศาสตร์ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : ราชบัณฑิตยสถาน. น.279

[2] ราชบัณฑิตยสถาน. (2556). พจนานุกรมศัพท์รัฐศาสตร์ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ :

ราชบัณฑิตยสถาน. น.105

[3] อ้างถึงในประชาไท (2561) บทบาทคนรุ่นใหม่กับประชาธิปไตยช่วงเปลี่ยนผ่าน – ความหวังหรือความฝัน สืบค้นจาก https://prachatai.com/journal/2018/10/79100, เข้าถึงเมื่อ 6 เมษายน 2563

[4] เดอะสแตนดาร์ด. (2562). ข้อมูลพรรคการเมือง : พรรคอนาคตใหม่. สืบค้นจาก

https://thestandard.co/thailandelection2019party/, เข้าถึงเมื่อ 6 เมษายน 2563

[5] ผู้จัดการออนไลน์. (2561). ปชป.เปิดตัวกลุ่ม"NEW DEM" คนรุ่นใหม่ร่วมทำนโยบายสู้ศึกเลือกตั้ง. สืบค้นจาก

https://mgronline.com/daily/detail/9610000113436, เข้าถึงเมื่อ 6 เมษายน 2563

[6] รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 สืบค้นจาก

http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2560/A/040/1.PDF, เข้าถึงเมื่อ 6 เมษายน 2563

[7] พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561,

ราชกิจจานุเบกษา, เล่มที่135 ตอนที่ 68 ก วันที่ 12 กันยายน 2561, หน้า 81