NASA
ผู้เรียบเรียง : รองศาสตราจารย์ ดร.วิชุดา สาธิตพร และธีทัต จันทราพิชิต
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต
องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ หรือ นาซ่า (NASA) เป็นองค์กรของรัฐบาลกลางสหรัฐอเมริกาที่รับผิดชอบงานการวิจัยทางด้านอวกาศ โดยนาซ่ามีส่วนในการดูแลโครงการอวกาศสำคัญ ๆ ของสหรัฐฯ จำนวนมาก อาทิ โครงการเมอร์คิวรี่ โครงการเจมินี่ โครงการอพอลโล

ที่มา
การวิจัยด้านอวกาศของสหรัฐอเมริกาอยู่ภายใต้หน่วยงานนากา (NACA) หรือ คณะกรรมการที่ปรึกษาเพื่อการบินแห่งชาติ หลังจากการส่งดาวเทียมสปุกนิกขึ้นสู่อวกาศโดยสหภาพโซเวียต ในปลาย ค.ศ. 1957 ทำให้การแข่งขันด้านอวกาศระหว่างสหรัฐอเมริกากับสหภาพโซเวียตเริ่มต้นขึ้น โดยในวันที่ 1 ตุลาคม ค.ศ. 1958 ในสมัยประธานาธิบดี ดไวน์ ไฮเซนฮาว รัฐบาลสหรัฐฯ ได้ออกกฎหมายจัดตั้งนาซ่าขึ้นมาแทนนากาเพื่อให้มีหน้าที่ทำการวิจัยเรื่องอวกาศ[1]
นาซ่ากับการแข่งขันด้านอวกาศ
นาซ่าดูแลโครงการที่มีส่วนสำคัญในการแข่งขันด้านอวกาศระหว่างสหรัฐอเมริกากับสหภาพโซเวียต โดยในช่วงที่การแข่งขันด้านอวกาศของสหรัฐฯ กับโซเวียตเข้มข้นถึงขีดสุดในช่วงทศวรรษที่ 1950-1960 นาซ่ามีโครงการสำคัญที่สร้างขึ้นเพื่อแข่งขันกับสหภาพโซเวียตเป็นการเฉพาะหลายโครงการ ประกอบไปด้วย โครงการเมอร์คิวรี่ โครงการเจมินี่ และโครงการอพอลโล
โครงการเมอร์คิวรี่
โครงการเมอร์คิวรี่ดำเนินงานในช่วง ค.ศ. 1958-1963 มีวัตถุประสงค์ 3 ประการ
1. เพื่อส่งยานอวกาศที่มีมนุษย์โดยสารออกสู่อวกาศ
2. เพื่อทดสอบศักยภาพของมนุษย์ในอวกาศ
3. เพื่อทำให้ยานอวกาศและมนุษย์กลับสู่พื้นโลกโดยปลอดภัย
โดยโครงการเมอร์คิวรี่ได้ส่งมนุษย์ออกสู่อวกาศ แล้วจึงนำมาสู่โครงการเจมินี่เป็นโครงการต่อไป[2]
โครงการเจมินี่
โครงการเจมินี่ดำเนินงานในช่วง ค.ศ. 1965-1966 มีวัตถุประสงค์ 4 ประการได้แก่
1. เพื่อทดลองการบินระยะยาวในอวกาศของมนุษย์โดยในที่นี้คือ การปฏิบัติการในอวกาศนานอย่างน้อยสองสัปดาห์
2. เพื่อสร้างความเข้าใจในเรื่องการเข้าสู่วงโคจรและลงจอดบนโลกและบนดวงจันทร์ของยานอวกาศ
3. หาวิธีลงจอดที่สมบูรณ์แบบ
4. เข้าใจผลของการปฏิบัติการในอวกาศระยะยาวที่เกิดขึ้นกับตัวนักบินอวกาศ
ผลของโครงการเจมินีนำมาสู่การสร้างยานอวกาศเพื่อที่ทำการทดลองในการปฏิบัติการในอวกาศซึ่งยานอวกาศของโครงการเจมินี่มีขนาดใหญ่กว่ายานอวกาศในโครงการเมอร์คิวรี่และสามารถโดยสารได้สองคน[3]
โครงการอพอลโล
โครงการอพอลโลเป็นโครงการที่ดำเนินงานระหว่างปี 1968-1972 มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อส่งมนุษย์ไปยังดวงจันทร์ โดยโครงการอพอลโลได้ส่งมนุษย์ไปเหยียบดวงจันทร์ได้สำเร็จ ในวันที่ 20 กรกฎาคม ค.ศ. 1969 และทำให้ชาวอเมริกันรู้สึกว่าได้รับชัยชนะในการแข่งขันด้านอวกาศ โครงการอพอลโลส่งยานอวกาศไปยังดวงจันทร์อีกหลายครั้งจนถึงภารกิจของยานอพอลโลที่ 17
นาซ่าหลังจากโครงการอพอลโล
ภายหลังจากโครงการอพอลโล สหรัฐฯ สามารถส่งมนุษย์ไปเหยียบพื้นผิวดวงจันทร์ก่อนสิ้นสุดทศวรรษที่ 1960 ตามคำประกาศของประธานาธิบดี จอห์น เอฟ. เคนเนดี้ ใน ค.ศ. 1961 ทว่าด้วยผลทางการเมืองทั้งในประเทศและระหว่างประเทศทำให้การพัฒนาโครงการอวกาศเริ่มที่จะถูกลดความสำคัญลง
ภายหลังจากที่โครงการอพอลโลประสบความสำเร็จ ได้มีการเสนอว่าสหรัฐฯ ควรจะตั้งเป้าหมายเช่นไรในการพัฒนาด้านเทคโนโลยีอวกาศต่อไป โดยทางทีมวิจัยของนาซ่าได้มีการเสนอต่อประธานาธิบดี ริชาร์ด นิกสัน ในวันที่ 15 กันยายน ค.ศ. 1969 ให้มีการตั้งเป้าหมายส่งคนไปดาวอังคารในปลายศตวรรษที่ 20 ซึ่งข้อเสนอนั้น มีด้วยกัน 3 ตัวเลือก
1. เพิ่มงบประมาณการสำรวจอวกาศเป็นจำนวนเท่าตัวจากที่นาซ่าได้รับ เพื่อทำให้ภารกิจไปดาวอังคารสำเร็จในทศวรรษที่ 1980 โดยต้องมีการสร้างสถานีอวกาศบนวงโคจรโลกและฐานบนดวงจันทร์ โดยต้องสามารถอยู่อาศัยได้ 50 คน ตัวเลือกนี้จะต้องสร้างสถานีอวกาศให้สำเร็จใน ค.ศ. 1971 และต้องมีการพัฒนาระบบขนส่ง และเทคโนโลยีหุ่นยนต์เพื่อใช้ในการสำรวจ
2. คงงบประมาณไว้ที่จำนวนเท่าเดิมในช่วงปีแรก ก่อนจะเพิ่มงบประมาณในช่วงปีหลัง ตัวเลือกนี้จะชะลอภารกิจส่งมนุษย์ไปดาวอังคารเป็น ค.ศ. 1986
3. คงงบประมาณที่จำนวนเท่าเดิม แต่เพิ่มขึ้นตามเหตุผลความจำเป็น คล้ายตัวเลือกที่สองหากแต่ไม่กำหนดกรอบระยะเวลาในการส่งมนุษย์ไปยังดาวอังคาร
ทั้งนี้ ทีมผู้วิจัยแนะนำให้ประธานาธิบดีนิกสันเลือกตัวเลือกที่สอง แต่ประธานาธิบดีนิกสันตัดสินใจไม่ทำตามคำแนะนำข้อไหนทั้งสิ้น เนืองจากสหรัฐฯ กำลังเผชิญปัญหาภายในประเทศและต่างประเทศนำมาสู่การตัดงบประมาณ ทำให้โครงการอพอลโลถูกยกเลิก ภารกิจสุดท้ายคือภารกิจอพอลโล 17 จากที่วางแผนไว้ว่าจะส่งมนุษย์ไปกับยานอวกาศจนถึงภารกิจอพอลโล 20 ในภายหลังนาซ่าก็ได้ดำเนินการสร้างสถานีอวกาศใน ค.ศ. 1973 และยังคงทำการวิจัยพร้อมลงทุนทำโครงการเกี่ยวกับอวกาศต่อไปจนถึงปัจจุบัน[4]
NASA กับการเมืองไทย
โครงการของ NASA เคยเป็นประเด็นที่มีการถกเถียงในประเทศไทยอยู่หลายครั้ง กรณีที่น่าสนใจครั้งหนึ่งเกิดในช่วงรัฐบาล นางสาวยิ่งลักษณ์_ชินวัตร โดยในวันที่ 2 ตุลาคม 2555 ที่ประชุมรัฐสภาได้มีการเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อพิจารณาเรื่อง “การอนุญาตนาซ่าเข้ามาศึกษาการก่อตัวของเมฆ” โดยขอใช้สนามบินอู่ตะเภาเป็นฐานภาคพื้นดิน แต่โครงการถูกฝ่ายค้านและประชาชนบางกลุ่มโจมตีว่าเป็นการชักศึกเข้าบ้าน สุ่มเสี่ยงต่อความมั่นคงของประเทศ จน NASA ต้องประกาศยกเลิกไป เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2555 ทั้งนี้ การขออนุญาตดังกล่าวถือเป็นส่วนหนึ่งของ "โครงการศึกษาการก่อตัวของเมฆที่มีผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้" Southeast Asia Composition, Cloud, Climate Coupling Regional Study (SEAC4RS) ซึ่งได้มีการประชุมร่วมกันระหว่างนักวิทยาศาสตร์จากทั่วโลกเมื่อ 2 ปีก่อนหน้านั้น ก่อนที่จะมีการตัดสินใจให้ประเทศไทยเป็นฐานภาคพื้นดิน โดยจะนำเครื่องบิน NASA 3 ลำ คือ NASA DC-8 NASA ER-2 และ GV ที่มีการติดตั้งอุปกรณ์ไฮเทคมาบินสำรวจส่วนประกอบทางเคมีของเมฆ อุณหภูมิ และความชื้นในชั้นบรรยากาศ ฯลฯ ร่วมกับเครื่องบินจากโครงการฝนหลวง BRRAA KING AIR 550 มูลค่าโครงการสูงถึง 1,000 ล้านบาท และช่วงบินสำรวจที่กำหนดไว้คือ เดือนสิงหาคม-กันยายน 2555 แต่ประเทศไทยไม่พร้อม โครงการนี้จึงถูกยกเลิกไป สร้างความผิดหวังให้แก่นักวิชาการด้านนี้จากทั่วโลก[5]
บรรณานุกรม
ปมขัดแย้ง'นาซ่า'วิทย์หรือการเมือง. คม ชัด ลึก, 9 ตุลาคม 2555. Retrieved from https://www.komchadluek.net/kom-lifestyle/141871
NASA. (2019). 50 Years Ago: After Apollo, What? Space Task Group Report to President Nixon. Retrieved from https://www.nasa.gov/feature/50-years-ago-after-apollo-what-space-task-group-report-to-president-nixon
NASA. (n.d.). About Project Mercury. Retrieved from https://www.nasa.gov/mission_pages/mercury/missions/program-toc.html
NASA. (n.d.). Bridge to The Moon. Retrieved from https://www.nasa.gov/specials/gemini_gallery/
NASA. (n.d.). NASA History Overview. Retrieved from https://www.nasa.gov/content/nasa-history-overview
อ้างอิง
[1] NASA. (n.d.). NASA History Overview. Retrieved from https://www.nasa.gov/content/nasa-history-overview
[2] NASA. (n.d.). About Project Mercury. Retrieved from https://www.nasa.gov/mission_pages/mercury/missions/program-toc.html
[3] NASA. (n.d.). Bridge to The Moon. Retrieved from https://www.nasa.gov/specials/gemini_gallery/
[4] NASA. (2019). 50 Years Ago: After Apollo, What? Space Task Group Report to President Nixon. Retrieved from https://www.nasa.gov/feature/50-years-ago-after-apollo-what-space-task-group-report-to-president-nixon
[5] ปมขัดแย้ง'นาซ่า'วิทย์หรือการเมือง. คม ชัด ลึก, 9 ตุลาคม 2555. Retrieved from https://www.komchadluek.net/kom-lifestyle/141871