Hackathon กับการเมืองไทย

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ผู้เรียบเรียง : อภิรมย์ สุวรรณชาติ

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : ดร.สติธร ธนานิธิโชติ

 

Hackathon คืออะไร 

          Hackathon เริ่มมาจากกลุ่มโปรแกรมเมอร์ที่มาร่วมชุมนุมกันในการเจาะทดสอบระบบคอมพิวเตอร์ว่ามีจุดอ่อนหรือควรแก้ไขอย่างไรบ้าง มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อการศึกษาพัฒนาซอฟต์แวร์ โดยใช้คำว่า “Hack (แฮก)” ท่าจากคำว่า Hacker ที่หมายถึงทางลัดหรือวิธีแก้ปัญหา และคำว่า “Marathon (มาราธอน)” ที่หมายถึง การทำงานอย่างต่อเนื่องโดยไม่หยุดพักเหมือนกับการแข่งขันวิ่งมาราธอน ซึ่งในปัจจุบัน Hackathon ไม่ได้ใช้ในทางคอมพิวเตอร์เพียงอย่างเดียวอีกต่อไป Hackathon หมายถึง การสร้างสิ่งใหม่อย่างต่อเนื่อง กล่าวคือ เป็นกิจกรรมการแข่งขันเพื่อระดมความคิดสร้างสรรค์และพัฒนานวัตกรรมใหม่ภายใต้โจทย์ที่ได้รับ (Themes) ภายในระยะเวลาจำกัดตามที่ผู้จัดงานกำหนด เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ตรงกับโจทย์ที่ต้องการ ไม่ว่าจะเป็นการระดมความคิดเพื่อแก้ปัญหาทางธุรกิจขององค์กร หรือการระดมความคิดด้านการศึกษาพัฒนาต่อยอดนวัตกรรม หรือแนวคิดทางการเมืองก็ได้

 

รูปแบบการจัดงาน Hackathon

          Hackathon เป็นรูปแบบของการแข่งขัน[1] รูปแบบการจัดงานโดยทั่วไปของงาน Hackathon จะต้องมีการกำหนดข้อมูลดังต่อไปนี้

          1. กำหนดวัตถุประสงค์ กำหนดวัตถุประสงค์ของงาน Hackathon ให้ชัดเจน เช่น การพัฒนาแอปพลิเคชันที่มีประโยชน์ต่อองค์กรหรือสังคมอย่างไร หรือทำเพื่อส่งเสริมนวัตกรรมในด้านใดบ้าง อยากแก้ไขหรือปรับปรุงคือเรื่องอะไรขององค์กรหรือสังคม

          2. ประกาศประเด็นของงานหรือความต้องการที่ชัดเจน ระบุประเด็นที่ต้องการแข่งขันหรือความต้องการของงานที่ต้องการให้ทีมแก้ไข ตั้งคำถาม หรือต้องการพัฒนาในการจัดงาน Hackathon เพื่อให้ทีมผู้เข้าแข่งขันมีแนวทางและความเข้าใจชัดเจน

          3. กำหนดระยะเวลา กำหนดระยะเวลาที่ทีมจะต้องทำงาน ซึ่งอาจเป็น 12 ชั่วโมง, 24 ชั่วโมง, 48 ชั่วโมง, หรือระยะเวลาอื่น ๆ ตามที่ผู้จัดงานกำหนด

          4. การลงทะเบียนและคัดเลือกทีม เปิดรับการลงทะเบียนสำหรับทีมที่สนใจเข้าแข่งขัน Hackathon คัดเลือกทีมตามเกณฑ์ที่กำหนด เช่น จำนวนสมาชิกในทีม ความสามารถในการพัฒนาซอฟต์แวร์ หรือความสนใจในประเด็นที่ระบุไว้

          5. สร้างสภาพแวดล้อม ระบบเครื่องมือและทรัพยากร จัดสถานที่สำหรับการจัด Hackathon ที่มีอินเทอร์เน็ตและสิ่งอำนวยความสะดวกที่เหมาะสม ให้ทีมผู้เข้าแข่งขันมีการเข้าถึงระบบเครื่องมือและทรัพยากรที่เหมาะสม เช่น แพลตฟอร์มพัฒนาซอฟต์แวร์ ข้อมูลและเครื่องมือพัฒนา

          6. การสนับสนุนและการความช่วยเหลือ จัดทีมคุมการแข่งขันและผู้เชี่ยวชาญในตัวประเด็นเพื่อช่วยและให้คำแนะนำในระหว่าง Hackathon ติดต่อกับทีมผู้เข้าแข่งขันเพื่อให้ข้อมูลและคำแนะนำที่เกี่ยวกับการแข่งขันรวมถึงการติดตามความคืบหน้า

          7. การส่งผลงานและการตัดสิน ให้ทีมผู้เข้าแข่งขันส่งผลงานตามเวลาที่กำหนด ให้คณะกรรมการที่มีความรู้คุณภาพตรวจสอบและตัดสินผลงาน จัดพิธีพิจารณาผลงานของทีมผู้เข้าแข่งขัน มอบรางวัลและของรางวัลให้กับทีมผู้ชนะ

          8. การแชร์ประสบการณ์และการพัฒนาต่อยอด สร้างโอกาสให้ทีมผู้เข้าแข่งขันและผู้เข้าชมแชร์ประสบการณ์และไอเดียที่ได้รับจาก Hackathon ต่อสาธารณะ เพื่อเป็นการพัฒนาต่อยอดงานสู่สังคมภายนอก และส่งเสริมการพัฒนาการทำงานต่อจากไอเดียและโครงการที่แข่งขัน

 

Hackathon กับการเมืองไทย

          งาน Hackathon ในประเทศไทยเป็นกิจกรรมที่มีความนิยมและเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงปี 2010 ถึงปัจจุบัน ได้รับความนิยมมากขึ้นตามพัฒนาการด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมในประเทศ งาน Hackathon ในประเทศไทยมักมีลักษณะที่คล้ายคลึงกับ Hackathon ในต่างประเทศ มีวัตถุประสงค์หลักในการส่งเสริมนวัตกรรมและพัฒนาซอฟต์แวร์ใหม่ ๆ หลายหน่วยงานที่นำไปใช้เป็นเวทีที่นอกจากพัฒนาซอฟต์แวร์แล้วยังเป็นเวทีที่ประชาชนสามารถมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาของประเทศ และนำไปสู่การออกกฎหมายหรือนโยบายใหม่ ๆ ที่เป็นการเสนอแนวคิดทางการเมือง

 

          ตัวอย่างของหน่วยงานที่มีการจัดงาน Hackathon

          1. สำนักงาน กพร. และ สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) สพร. โดย Open Government Thailand, Young Good Governace และ Hackathon Thailand ร่วมกับ สำนักงาน กพร. จัดงาน Hackathon เพื่อหาแนวทางปรับปรุงการใช้บริการอิเล็กทรอนิกส์ E-Service ภาครัฐให้ไฉไล ใช้งานง่ายกว่าเดิม

 

Hackathon and Thai politics (1).jpg
Hackathon and Thai politics (1).jpg

ภาพ : จากเว็บต์ https://hackathonthailand.com/news/post/448137/my-better-country-hackathon-5-redesign-e-governance-service

 

          2. คณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชนสภาแทนราษฎร จัดการแข่งขัน Parliament Hackathon : Participation Platform ร่วมกันออกแบบ Platform กลางเพิ่มการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยประชาชนเริ่มจัดงานในปี 2562 เป็นการแข่งขันออกแบบแพลตฟอร์มการมีส่วนร่วมของประชาชนในรูปแบบออนไลน์ ที่จัดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชน นิสิต นักศึกษา ได้แสดงไอเดียการออกแบบแพลตฟอร์มต่าง ๆ ในรูปแบบออนไลน์ประกอบไปด้วย เรื่องกฎหมาย (Law Platform) เรื่องงบประมาณ (Budget Platform) และเรื่องร้องเรียน (Complaint Platform) เพื่อจุดประกายแนวคิดใหม่ ๆ รวมไปถึงการสร้างพื้นที่ในการช่วยเหลือสังคมและสร้างประโยชน์กับให้กับประเทศชาติ

 

Hackathon and Thai politics (2).jpg
Hackathon and Thai politics (2).jpg

ภาพ : จากเว็บไซต์ https://www.it.kmitl.ac.th/th/achievement/7169/

 

          3. เทศบาลนครยะลา มีเป้าหมายที่จะพัฒนานครยะลาสู่เมืองอัจฉริยะ โดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนและเสริมสร้างศักยภาพด้านการแข่งขันของพื้นที่สู่การเป็นเมืองศูนย์กลางการลงทุนของจังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงได้มีแนวคิดในการจัดทำโครงการ Yala Hackathon ด้วยการระดมความคิดคนรุ่นใหม่ โดยใช้นวัตกรรมไอเดียการพัฒนาเมือง

 

Hackathon and Thai politics (3).jpg
Hackathon and Thai politics (3).jpg
Hackathon and Thai politics (4).jpg
Hackathon and Thai politics (4).jpg

ภาพ : จาก Facebook ยะลาแฮคกะตอน - Yala Hackathon  https://www.facebook.com/yalahackathon/

 

          4. สำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า ร่วมกับ สถานทูตสวิสเซอร์แลนด์ประจำประเทศไทย Konrad-Adenauer-Stiftung Thailand สถาบันศึกษาพัฒนาประชาธิปไตย คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดกิจกรรม “การแข่งขัน Hackathon : Smart Voter Application” (แอปพลิเคชั่นเพื่อการโหวตอย่างมีคุณภาพ) เพื่อออกแบบและสร้างสรรค์แอปพลิเคชั่นการลงคะแนนเสียง โดยใช้นวัตกรรมการส่งเสริมและช่วยเหลือผู้เลือกตั้งในการตัดสินใจลงคะแนนเสียง เพื่ออำนวยความสะดวกและสนับสนุนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในการเข้าถึงข้อมูลเพื่อการตัดสินใจ ซึ่งเป็นผลงานการสร้างสรรค์แอปพลิเคชั่นจากกลุ่มคนรุ่นใหม่และสามารถนำไปปฏิบัติได้จริง

 

Hackathon and Thai politics (5).jpg
Hackathon and Thai politics (5).jpg

ภาพ : จากเว็บไซต์ https://www.kpi.ac.th/news/gallery/data/1248

 

          5. พรรคก้าวไกล เป็นหนึ่งในพรรคการเมืองที่มีการจัดงาน “Hackathon งบ 66” ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ให้ประชาชนร่วมตรวจสอบงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2566 และให้ประชาชนได้ศึกษาเอกสารงบประมาณจำนวนมาก มี 4 คำถาม ที่ทุกคนสามารถใช้เป็นแนวทางในการประเมินความเหมาะสมของงบประมาณที่ถูกเสนอมาโดยรัฐบาลได้

               1. ขนาดงบประมาณ

               2. สัดส่วนงบประมาณที่ถูกจัดสรรไปแต่ละกระทรวงหรือภารกิจ

               3. โครงการที่เกินความจำเป็นหรือควรได้รับงบประมาณน้อยลง

               4. โครงการที่ยังตกหล่นหรือควรได้รับงบประมาณเพิ่มขึ้น

          โดยเป็นการศึกษาและร่มกันออกแบบงบประมาณฉบับพรรคก้าวไกล โดยมีผู้ให้ความสนใจเข้าร่วมกิจกรรมเป็นจำนวนมาก

 

Hackathon and Thai politics (6).jpg
Hackathon and Thai politics (6).jpg
Hackathon and Thai politics (7).jpg
Hackathon and Thai politics (7).jpg

ภาพ : จากเว็บไซต์ พรรคก้าวไกล https://www.moveforwardparty.org/hackathon/hack-66/

         

          จะเห็นได้ว่า Hackathon ที่ใช้กับการวางแนวคิดทางการเมือง โดยส่วนใหญจะมุ่งเน้น

          1. กระตุ้นความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม Hackathon เป็นเวทีที่เปิดโอกาสให้ผู้คนจากทุกสาขาอาชีพมาร่วมกันคิดไอเดียใหม่ ๆ เพื่อแก้ปัญหาของประเทศ ซึ่งอาจนำไปสู่การสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม

          2. ส่งเสริมความมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการทางการเมือง Hackathon เป็นเวทีที่ประชาชนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาของประเทศได้โดยตรง โดยผู้เข้าร่วม Hackathon จะได้มีโอกาสแสดงความคิดเห็นและเสนอแนวทางการแก้ปัญหา สร้างการมีส่วนร่วม ซึ่งอาจนำไปสู่การออกกฎหมายหรือนโยบายใหม่ ๆ

          จะเห็นได้ว่าประชาชนสามารถมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาของประเทศได้โดยตรง ซึ่งจะช่วยพัฒนาระบบการเมืองของประเทศให้ดีขึ้น Hackathon จึงเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการทางการเมืองและการพัฒนาประเทศ ประเทศไทยควรส่งเสริมให้มีการจัด Hackathon มากขึ้น เพื่อส่งเสริมความมีส่วนร่วมของประชาชนและการพัฒนาประเทศต่อไป

 

อ้างอิง

[1] How to run a successful Hackathon A step-by-step guide by Joshua Tauberer สืบค้นจาก https://hackathon.guide/