Gerard K. O'Neill
ผู้เรียบเรียง : รองศาสตราจารย์ ดร.วิชุดา สาธิตพร และธีทัต จันทราพิชิต
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต
เจราร์ด เค. โอนีล (Gerard K. O’Neill) เป็นนักฟิสิกส์และนักเคลื่อนไหวทางด้านอวกาศ โด่งดังจากการนำเสนอแผนสำหรับการตั้งรกรากในอวกาศ โดยโอนีลได้เสนอว่ามนุษย์ไม่ควรตั้งอาณานิคมบนดาวเคราะห์ เพราะมีปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้มากเกินไป แต่ควรจะตั้งอาณานิคมเป็นการสร้างสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่ ที่สามารถควบคุมสภาพแวดล้อมได้ในอวกาศแทน โอนีลนับเป็นนักเคลื่อนไหวเกี่ยวกับกิจกรรมทางอวกาศที่ทรงอิทธิพลคนหนึ่ง ภายหลังจากการสิ้นสุดของโครงการอพอลโล
ประวัติ
เจราร์ด เค. โอนีล เกิดวันที่ 6 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1927 ณ เมืองนิวยอร์ค โดยได้รับการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย ณ วิทยาลัยสวอทมอร์ท ในสาขาฟิสิกส์ ก่อนที่จะได้รับทุนการศึกษาจากคณะกรรมการพลังงานปรมาณู และเข้าศึกษาปริญญาโท สาขาฟิสิกส์ ที่มหาวิทยาลัยคอร์แนล เขาได้รับปริญญาเอกสาขาฟิสิกส์ จากมหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน และรับตำแหน่งอาจารย์ในมหาวิทยาลัยพรินตันในปี ค.ศ. 1954[1]

ภาพ : เจราร์ด เค. โอนีล (Gerard K. O’Neill) [2]
ขณะที่สอนอยู่ ณ มหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน โอนีลได้แรงบันดาลใจและเริ่มเขียนการตั้งอาณานิคมอวกาศ โดยใช้ชื่อบนความ “The Colonization of Space” ลงนิตยสาร Physics Today ในปี 1974 ความสนใจในการตั้งอาณานิคมอวกาศทำให้โอนีลและภรรยาตั้งสถาบันศึกษาอวกาศขึ้น เพื่อสนับสนุนการศึกษาและการเคลื่อนไหวเกี่ยวกับกิจกรรมทางอวกาศ ซึ่งสถาบันดังกล่าวได้มีการพยายามสิ่งที่โอนีลคิดมาปฏิบัติเป็นรูปเป็นร่าง เช่น การพยายามสร้าง Mass Driver ซึ่งจะเป็นอุปกรณ์สำหรับขนถ่ายวัตถุดิบจากอุกกาบาตหรือดวงจันทร์มายังวงโคจรโลก สำหรับสถาบันศึกษาอวกาศ ณ ปัจจุบัน มองว่าการที่โอนีลก่อตั้งสถาบันศึกษาอวกาศแสดงให้เห็นว่าเอกชนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมทางอวกาศได้ และสามารถสร้างอุปกรณ์หรือเตรียมการสำหรับสำรวจอวกาศได้ดีไม่แพ้ภาครัฐ ทั้งยังรวดเร็วกว่า
ข้อเสนอหลักของโอนีลปรากฎในหนังสือ The High Frontier : Human Colonies in Space ซึ่งตีพิมพ์ในปี 1977

ภาพ : หนังสือ The High Frontier : Human Colonies in Space
โดยหนังสือเสนอว่าการตั้งอาณานิคมอวกาศจะเป็นประโยชน์ต่อมนุษยชาติ โดยข้อเสนอในหนังสือเป็นข้อเสนอรูปแบบหนึ่งว่าภายหลังจากโครงการอพอลโล มนุษย์ควรจะทำอย่างไรต่อโครงการอวกาศ ซึ่งโอนีลได้เสนอว่าการสร้างอาณานิคมอวกาศควรจะสร้างอาณานิคมแห่งแรกภายในปี 1991 อิทธิพลของโอนีลนั่นทำให้ในปี 1985 รัฐบาลกลางสหรัฐได้เชิญโอนีลเข้านั่งในคณะกรรมการอวกาศแห่งชาติ ในฐานะผู้ทรงคุณวุฒิภาคเอกชน โอนีลเสียชีวิต ในวันที่ 27 เมษายน ค.ศ. 1992 โดยที่ฝันของเขาไม่เคยถูกนำมาใช้อย่างจริงจัง[3]
การตั้งอาณานิคมอวกาศของโอนีล
ทฤษฎีการตั้งอาณานิคมอวกาศของโอนีลตั้งอยู่บนฐานความคิดเรื่องทรัพยากร โดยโอนีลเสนอว่าทรัพยากรในโลกมีอย่างจำกัด จนเข้าสู่ภาวะประชากรล้นโลก เมื่อประชากรเยอะเกินไปทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของมนุษย์แย่ลง ซึ่งการเพิ่มขึ้นของประชากรนั่นเป็นผลจากวิทยาศาสตร์การแพทย์ที่เจริญก้าวหน้า[4] ขณะที่ชั้นบรรยากาศของโลกก็ปนเปื้อนจากการพัฒนาอุตสาหกรรม[5]
หนึ่งในปัญหาทรัพยากรที่สำคัญที่มาพร้อมกับปัญหาประชากรสำหรับโอนีลก็คือ ปัญหาพลังงาน เนื่องจากพลังงานนิวเคลียร์มีการใช้น้อย ส่วนพลังงานฟอสซิลก็มีปริมาณลดน้อยลง ทำให้ปัญหาพลังงานจะกลายเป็นปัญหาใหญ่ในสังคม โดยเฉพาะพลังงานสะอาดซึ่งโอนีล เสนอว่าแม้จะสามารถวิจัยพลังงานนิวเคลียร์ฟิวชั่นได้ แต่พลังงานนิวเคลียร์ฟิวชั่นก็จะไม่สะอาดอย่างที่คนคาดหวังกันเอาไว้[6]
การแก้ปัญหาพลังงานที่ยั่งยืนที่สุด จึงเป็นการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ซึ่งเป็นพลังที่เข้าถึงยากไม่พอใช้ ทำให้การจะแก้ปัญหาดังกล่าวทั้งเรื่องของพลังงานและทรัพยากรเพื่อที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตของประชากรมนุษย์ได้นั่นต้องขยายออกไปตั้งอาณานิคมในอวกาศ ซึ่งอาณานิคมอวกาศในที่นี้ไม่ใช่การตั้งอาณานิคมบนดาวเคราะห์ หากแต่เป็นการสร้างสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่ โดยสิ่งก่อสร้างที่เป็นอาณานิคมอวกาศมีความยาว 20 ไมล์ และมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 5 ไมล์ โดยมีจุดเด่น คือ สามารถปรับสภาพแวดล้อมให้เป็นไปได้ดังต้องการ ซึ่งสภาพแวดล้อมเป็นปัจจัยสำคัญที่โอนีลเสนอว่าไม่ควรจะตั้งอาณานิคมบนดาวเคราะห์ เพราะสภาพแวดล้อมต่างจากโลกเกินไป จนอาจมีปัญหาด้านสุขภาพ โดยการตั้งอาณานิคมบนอวกาศจะใช้พลังงานแสงอาทิตย์เป็นพลังงานหลัก ทำให้ปัญหาขาดแคลนพลังงานหมดไป และเนืองจากสามารถทำการขุดแร่ทรัพยากรจากทั้งแถบดาวเคราะห์น้อยและดวงจันทร์ได้ทำให้ไม่มีปัญหาเรื่องการขาดแคลนทรัพยากร เมื่อการขาดแคลนพลังงานและทรัพยากรหมดลงก็ไม่มีเหตุให้ต้องมีการทำสงครามหรืออะไรอีก โดยโอนีลเสนอว่าเมื่อทำตามข้อเสนอของเขาสุดท้ายมนุษย์จะเข้าถึงทรัพยากรที่ไม่มีขีดจำกัด และคุณภาพชีวิตก็จะเหมือนอาศัยอยู่บนสวรรค์
อิทธิพล
แม้ว่าข้อเสนอของโอนีลจะไม่ได้รับการนำไปปฏิบัติแต่ก็ส่งอิทธิพลถึงนักธุรกิจ นักเคลื่อนไหวทางอวกาศ และวัฒนธรรมมวลชน โดยในปี 2019 เจฟฟ์ เบโซส ได้กล่าวถึงแนวคิดการตั้งอาณานิคมอวกาศของโอนีลในการนำเสนองานของ Blue Origin ส่วนในสื่อบันเทิงได้มีการหยิบยกแนวคิดเรื่องอาณานิคมอวกาศของโอนีลมาใช้เป็นส่วนประกอบ เช่น Interstellar ก็ได้หยิบเอาการสร้างสเปซโคโลนีขึ้นมาเป็นการหาทางรอดของมนุษย์หรืออนิเมะแฟรนไชส์กันดั้ม โดยเฉพาะยุคเริ่มแรกก็ได้รับอิทธิพลจากงานเขียนของโอนีลในการใช้เป็นฉากหลังของสงครามยุคอวกาศ
อ้างอิง
Gale Power Search. (2001). Gerard K. O'Neill. Retrieved from https://go.gale.com/ps/i.do?p=GPS&u=wikipedia&id=GALE|K1619002437&v=2.1&it=r&sid=GPS&asid=238b7d9d
George Tyler Crock. 2022. Dreaming Big with Gerard K. O’Neill. Retrieved from https://airandspace.si.edu/stories/editorial/dreaming-big-gerard-k-oneill.
Gerard K. O’Neill. (1974). The colonization of Space. Physics Today, 27(9), 32–40. https://doi.org/10.1063/1.3128863
Gerard K. O’Neill. (1978). The High Frontier : Human Colonies in Space (3rd ed.). Bantam Book: New York .
Space Studies Institute. (n.d.). Life of Gerard K. O’Neill. Retrieved from https://ssi.org/the-life-of-gerard-k-oneill/
เชิงอรรถ
[1] Gale Power Search. (2001). Gerard K. O'Neill. Retrieved from https://go.gale.com/ps/i.do?p=GPS&u=wikipedia&id=GALE%7CK1619002437&v=2.1&it=r&sid=GPS&asid=238b7d9d
[2] https://www.facebook.com/NSS/posts/gerard-k-oneill-inspired-the-formation-of-the-l5-society-which-merged-with-the-n/10158035592747140/
[3] Space Studies Institute. (n.d.). Life of Gerard K. O’Neill. Retrieved from https://ssi.org/the-life-of-gerard-k-oneill/
[4] Gerard K. O’Neill. (1978). The High Frontier : Human Colonies in Space (3rd ed.). Bantam Book: New York . p.14
[5] Ibid. p.15
[6] Ibid. p.23