Gentrification

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ผู้เรียบเรียง : อำนาจ ธนานันทชัย

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : ดร.สติธร ธนานิธิโชติ

 

          Gentrification หมายถึง การปรับเปลี่ยนพื้นที่เมืองให้กลายเป็นย่านที่มั่งคั่งและรุ่มรวยไปด้วยความเจริญและทันสมัยทั้งในทางกายภาพ (physical) สังคม (social) และเศรษฐกิจ (economic) ซึ่งศัพท์คำนี้มีที่มาจากรากศัพท์ภาษาฝรั่งเศสคำว่า gentry หรือ gentries ที่แปลว่า ความสูงส่งของลำดับศักดิ์หรือชาติกำเนิด (nobility of rank or birth) โดยทั่วไปแล้ว ศัพท์คำนี้มักใช้สื่อถึงกระบวนการเปลี่ยนแปลงของย่านพื้นที่ที่มีลักษณะของการปรับปรุงสภาพแวดล้อมทางกายภาพให้ดีขึ้นและยังสะท้อนถึงลักษณะของการเลื่อนระดับทางชนชั้นทางสังคม (social mobility) เข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะ การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้ส่งผลให้เกิดการเพิ่มมูลค่าที่ดินและทรัพย์สินภายในพื้นที่ให้มีมูลค่ามากขึ้นกว่าเดิม (higher value) (Picardo, 2022) เกิดการเข้ามาอยู่ใหม่ของกลุ่มคนรวยหรือกลุ่มผู้มีรายได้สูงแทนที่กลุ่มผู้มีรายได้น้อยที่เป็นผู้อยู่อาศัยเดิม จนกลายเป็นพื้นที่ "ย่านผู้ดี" ที่เหนี่ยวนำให้เกิดการลงทุนยกระดับในด้านต่าง ๆ ไม่ว่าเป็นด้านระบบสาธารณูปโภคและระบบสาธารณูปการที่เป็นโครงสร้างพื้นฐาน โครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ สิ่งอำนวยความสะดวกสาธารณะ ตลอดจนไปถึงสิ่งสร้างทางกายภาพที่แวดล้อมอยู่ภายในพื้นที่ซึ่งนำไปสู่การเจริญเติบโตของย่านพื้นที่นั้นจนคับคั่งไปด้วยแหล่งงานและที่อยู่อาศัยของชุมชนที่มีฐานะดี

          การกำเนิดขึ้นของคำดังกล่าวมีที่มาจาก รูธ กลาส (Ruth Glass) นักสังคมวิทยาชาวอังกฤษได้เป็นผู้ประดิษฐ์คำนี้ขึ้นมา เมื่อปี ค.ศ. 1964 ซึ่งปรากฏอยู่ในหนังสือชื่อ London : Aspect of Change โดยงานเขียนดังกล่าวได้ใช้คำว่า gentrification มาบรรยายถึงปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ของมหานครลอนดอนว่า เป็นกระบวนการหลั่งไหลของกลุ่มชนชั้นกลาง (middle class) เข้าไปอยู่อาศัยหรือทำประโยชน์ในพื้นที่ของกลุ่มชนชั้นล่าง (lower working class) และเมื่อกระบวนการนี้เกิดขึ้นแล้ว กลุ่มชนชั้นล่างเหล่านั้นก็จะถูกเบียดขับออกไปจากพื้นที่ของตนและถูกแทนที่ด้วยกลุ่มชนชั้นที่มีสถานะที่สูงกว่า เกิดการเปลี่ยนแปลงละแวกถิ่นที่อยู่ที่แต่เดิมเป็นย่านเมืองเก่าที่มีแต่ตึกรามบ้านช่องซอมซ่อเป็นบ่อเกิดของทัศนะอุจาดกลายมาสู่ย่านพื้นที่หรูหรามีอาคารที่มีรูปลักษณ์สวยงามสร้างความเจริญหูเจริญตาแก่ผู้ผ่านไปมาทั่วไป หากพิจารณาความที่กล่าวมานี้จะเห็นได้ว่า กระบวนการดังกล่าวมีองค์ประกอบอยู่ด้วยกัน 3 ประการ คือ

                    1) การผลักไสชนกลุ่มล่างของสังคมให้อออกไปจากที่ดินเดิม

                    2) การเปลี่ยนแปลงสภาวะทางกายภาพของพื้นที่ให้มีความเจริญมากขึ้น

                    3) การเปลี่ยนแปลงทางด้านสังคมและวัฒนธรรมภายในพื้นที่ซึ่งสืบเนื่องมาจากการเข้ามาแทนที่ของประชากรกลุ่มใหม่ที่มีสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมที่ดีกว่า

          ปรากฏการณ์ gentrification เป็นสิ่งที่มาพร้อมกับกระบวนการในการปรับปรุงฟื้นฟูและพัฒนาเมือง (urban renewal and urban development) ที่ฟื้นคืนความมีชีวิตชีวาให้กับพื้นที่ ซึ่งครอบคลุมในหลายบริบทและเกี่ยวพันกับปัจจัยหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาเชิงพื้นที่ซึ่งเกี่ยวข้องกับเรื่องของโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาทางเศรษฐกิจในเมือง บริการทางสังคม การจ้างงาน การให้บริการสาธารณะ ระบบการนำส่งที่อยู่อาศัย เป็นต้น แน่นอนว่า gentrification นำมาซึ่งการเพิ่มมูลค่าของพื้นที่ในย่านดังกล่าวให้สูงขึ้น เพราะสภาพแวดล้อมและชุมชนที่อยู่อาศัยในพื้นที่นั้นถูกยกระดับให้ดีขึ้น ดังเช่น กรณีตัวอย่างของย่านคานารี่วาร์ฟ (Canary Wharf) พื้นที่ในเขตโซน 2 ที่ตั้งอยู่ถัดมาทางตะวันออกจากเขตโซนชั้นในของกรุงลอนดอน ที่ซึ่งแต่เดิมเป็นย่านท่าเรือ West India Docks ที่เต็มไปด้วยอุตสาหกรรมขนถ่ายสินค้าจากเรือและคราค่ำไปด้วยชนชั้นแรงงานที่เข้ามาทำงาน ต่อมาย่านดังกล่าวได้รับความเสียหายอย่างมากจากการทิ้งระเบิดของฝ่ายนาซีเยอรมันในช่วงสงครามโลกครั้งที่_2 ทำให้ย่านอุตสาหกรรมต่อเรือที่เคยรุ่งเรืองต้องปิดตัวลงกลายเป็นย่านที่ถูกทอดทิ้ง เสื่อมโทรม กลายเป็นถิ่นของชุมชนคนจนเมือง ในช่วงทศวรรษที่ 1980 รัฐบาลอังกฤษได้จัดตั้งบรรษัทพัฒนาท่าเรือลอนดอน (London Docklands Development Corporation: LDDC) ขึ้นเพื่อพัฒนาฟื้นฟูย่านคานารี่วาร์ฟ (London’s Royal Docks, n.d.) ซึ่งได้รับการส่งเสริมจากรัฐให้เป็นเขตส่งเสริมการลงทุน (enterprise zone) ดึงดูดภาคเอกชนให้เข้ามาลงทุนพัฒนาในย่านพื้นที่ไม่ว่าจะเป็นห้างร้านต่าง ๆ ศูนย์การค้า ธนาคาร โรงแรม ที่อยู่อาศัย รวมถึงระบบขนส่งมวลชนรถไฟฟ้ารางเบาอย่าง Docklands Light Railway หรือที่รู้จักกันในชื่อย่อว่า DLR แผนพัฒนาปรับปรุงย่านคานารี่วาร์ฟที่เกิดขึ้นได้เป็นเสมือนแม่เหล็กดึงดูดให้คนหลั่งไหลเข้ามาทำประโยชน์ในย่านนี้ เพราะ คานารี่วาร์ฟนั้นตั้งอยู่ในชัยภูมิที่ดีซึ่งอยู่ใกล้กับตัวเมืองชั้นใน อีกทั้งการมีทิวทัศน์ที่มีเสน่ห์อันเนื่องมาจากอยู่ติดกับแม่น้ำเทมส์โดยอีกฝากตรงข้าม คือ ย่านกรีนิช (Greenwich) ซึ่งเป็นพื้นที่สีเขียวที่ทำหน้าที่เสมือนเป็นปอดให้กับกรุงลอนดอนให้ชาวเมืองมาพักผ่อนหย่อนใจสูดอากาศบริสุทธิ์พบปะสังสรรค์ในหมู่เพื่อนและครอบครัว การปรับปรุงฟื้นฟูในครั้งนี้ได้เปลี่ยนโฉมหน้าของย่านคานารี่วาร์ฟไปอย่างสิ้นเชิง ซึ่งย่านคานารี่วาร์ฟที่ทุกคนต่างคุ้นชินในปัจจุบัน คือ ย่านเมืองใหม่ที่ทันสมัยเต็มไปด้วยตึกสูงระฟ้า เป็นที่ตั้งของอาคารสำนักงานจำนวนมาก โดยเฉพาะกลุ่มธนาคารธุรกิจด้านการเงิน ผู้ที่อยู่อาศัยในย่านนี้จะถูกมองว่ามีฐานะค่อนข้างดี เนื่องด้วยย่านดังกล่าวมีราคาที่ดินและอัตราค่าเช่าที่ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับพื้นที่ในย่านอื่นของตัวเมืองลอนดอน

          แม้ว่า gentrification จะนำมาซึ่งความเจริญของย่านอันเนื่องมาจากการขจัดพื้นที่เสื่อมโทรม (urban blight) ออกไป แต่ในขณะเดียวกันนั้น ปรากฏการณ์ "การกลายเป็นผู้ดี" ดังกล่าว ก็ได้ก่อให้เกิดประเด็นปัญหาที่เป็นข้อวิพากษ์วิจารณ์กันว่า พื้นที่เมืองได้ถูกทำให้กลายเป็นสินค้า (commodification) ที่สามารถเข้าถึงได้เฉพาะกลุ่มคนบางกลุ่มที่มีกำลังทรัพย์มากพอที่จะได้ครอบครองเป็นเจ้าของและอาศัยอยู่ในพื้นที่ย่านนั้น การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากการพัฒนาดังกล่าว ได้กลายเป็นแรงผลักให้เหล่าคนจนผู้มีรายได้น้อยตกเป็นกลุ่มชายขอบ (marginalised group) ทำให้พวกเขาเหล่านี้รู้สึกแปลกแยกทางชนชั้นและเกิดความรู้สึกกลายเป็นพลเมืองชั้นสองที่ไม่สามารถตะกายขึ้นจากหล่มของชนชั้นที่ถูกสร้างจากวาทกรรมการพัฒนา ด้วยเหตุนี้ จึงไม่น่าแปลกใจมากนักที่ gentrification และการพัฒนาจึงแทบไม่สามารถออกจากกันได้และถูกนำมาพูดหรือนำเสนอเสมือนเป็นเรื่องเดียวกัน และเปิดช่องให้ระบบทุนนิยมเข้ามาเปลี่ยนพื้นที่ต่าง ๆ ของเมืองให้กลายเป็นย่านผู้ดี โดยคนกลุ่มดั้งเดิมที่อาศัยอยู่ในพื้นที่หากไม่ปรับตัวให้สามารถใช้ชีวิตภายใต้สภาพการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปไม่ว่าจะในทางเศรษฐกิจหรือสังคม คนเหล่านี้ก็จะถูกปลดเปลื้องให้ออกไปจากพื้นที่โดยปริยาย เพราะ เป็นเรื่องยากที่จะอยู่อาศัยหรือดำเนินชีวิตให้สัมพันธ์กับย่านพื้นที่ที่ถูกทำให้แพงขึ้น วิถีชีวิตความเป็นอยู่ในแบบดั้งเดิมได้ถูกทำลายลงจากสถานการณ์ที่คนกลุ่มใหม่ได้รุกเข้ามาถือครองพื้นที่ หากจะอธิบายให้เห็นภาพมากขึ้น เวิ้งนาครเขษม เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของกรณีศึกษาที่สะท้อนถึงผลกระทบเชิงลบที่เกิดจากกระบวนการ gentrification ได้อย่างดี เมื่อกลุ่มผู้เช่าพื้นที่เดิมได้หมดสัญญาเช่า และพยายามเจรจาขอซื้อที่จากเจ้าของที่ดิน ในขณะเดียวกันนั้น พื้นที่เวิ้งนาครเขษมได้ถูกกำหนดในผังเมืองรวมให้เป็นพื้นที่สีแดง พ.3 หรือเป็นที่ดินที่ทำประโยชน์เชิงพาณิชยกรรม ซึ่งมีมูลค่าสูงที่สุดเหมือนเทียบกับพื้นที่สีอื่น ๆ ที่อยู่ในผังเมือง เพราะสามารถนำมาพัฒนาเป็นโครงการอสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์ได้หลายรูปแบบ ทำให้เป็นที่สนใจของกลุ่มทุนใหญ่ที่หวังครอบครองพื้นที่ "ไข่แดง" ผืนนี้ จนท้ายที่สุดการเจรจาของผู้เช่าเดิมก็ไม่สำเร็จและที่ดินผืนดังกล่าวก็ได้ตกเป็นของกลุ่มทุนใหญ่แทน เรื่องราวดังกล่าวได้กลายเป็นประเด็นในสังคมขึ้นมาหลังข่าวการเสียชีวิตของนายห้างย่งเส็ง ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มผู้เช่าเดิมที่ถูกโยงเข้ากับเรื่องความผิดหวังจากการเจรจาขอซื้อที่ดิน (เจนจิรา, 2566) เรื่องนี้ได้สะท้อนให้เห็นว่า gentrification ไม่ได้เบียดขับแต่เพียงกลุ่มของคนจนหรือผู้ด้อยโอกาสเท่านั้น แต่ยังดีดกลุ่มชนชั้นกลางที่มีสถานะทางเศรษฐกิจพอประมาณไม่ได้มีปัญหาเรื่องปากท้องให้ออกไปจากพื้นที่ไปด้วย         

 

อ้างอิง

ภาษาไทย

เจนจิรา สิริพรรณยศ. (2566). Gentrification: เมื่อทุนนิยมเปลี่ยนเมืองให้กลายเป็นย่านผู้ดี เบียดขับผู้คน

ออกจากพื้นที่. WAY. สืบค้นจาก https://waymagazine.org/gentrification-push-the-movie/

ภาษาต่างประเทศ

Glass, R. (1964). London: Aspect of change. London: MacGibbon&Kee.

London’s Royal Docks. (n.d.). London’s Royal Docks History. Retrieved from https://londonsroyaldocks.com/londons-royal-docks-history/

Picardo, E. (2022). Gentrification: Definition, causes, pros & cons. Investopedia. Retrieved from https://www.investopedia.com/terms/g/gentrification.asp