Democracy Index

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ผู้เรียบเรียง : เอกวีร์ มีสุข

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต

 

Democracy Index

          ดัชนีประชาธิปไตย (Democracy Index) เป็นตัวชี้วัดความเป็นประชาธิปไตยเพื่อวัดสถานการณ์ประชาธิปไตยประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก จัดทำขึ้นโดย Economist Intelligence Unit (EIU) ซึ่งเป็นหน่วยวิจัยทางเศรษฐกิจของกลุ่มบริษัท The Economist Group เจ้าของหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ The Economist ที่มีชื่อเสียงอย่างยาวนานในเการตีพิมพ์และการนำเสนอข่าวเกี่ยวกับประเด็นทางเศรษฐกิจ ธุรกิจระหว่างประเทศ เทคโนโลยี วัฒนธรรม และการเมือง โดยที่ผลการสำรวจของดัชนีประชาธิปไตยยังได้ถูกตีพิมพ์และเผยแพร่ผ่านหนังสือพิมพ์ The Economist อีกด้วย โดยผลการสำรวจดัชนีประชาธิปไตยตีพิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกใน ค.ศ. 2006 และในช่วงแรกจะจัดทำรายงานผลทุกสองปี คือใน ค.ศ. 2006 ค.ศ. 2008 และ ค.ศ. 2010 แต่ต่อมาใน ค.ศ. 2010 จึงได้เปลี่ยนมาสำรวจและจัดทำรายงานผลเป็นรายปีแทน

          ในการเผยแพร่ผลการสำรวจแต่ละปี นอกจากผลการประเมินตามดัชนีประชาธิปไตยของแต่ละประเทศ/ภูมิภาค ที่นำเสนออย่างละเอียดตามวิธีวิทยาในการประเมินดังที่จะนำเสนอต่อไป แต่ในรายงานจะมีการจัดทำสรุปประเด็นด้านประชาธิปไตยสำคัญในปีดังกล่าว ทั้งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศ/ภูมิภาค ตัวอย่างเช่น ในรายงานของ ค.ศ. 2018 ชื่อ Democracy Index 2018: Me too? ที่บรรยายประเด็นสำคัญในรอบปีเกี่ยวกับความคึกคักของการมีส่วนรวมทางการเมืองในปีดังกล่าวทั้งการเพิ่มขึ้นของผู้ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งและการเข้าเป็นสมาชิกพรรคการเมือง รวมถึงการมีส่วนร่วมทางการเมืองของผู้หญิงที่มีมากขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับอดีต อย่างไรก็ตามความไม่ไว้วางใจต่อการทำหน้าที่ของรัฐบาลและการเสื่อมถอยของในเสรีภาพของพลเมืองก้ยังเป็นสถานการณ์สำคัญในปีดังกล่าว[1] หรือใน ค.ศ. 2020 ในรายงาน ชื่อ Democracy Index 2020: In sickness and in health? เน้นถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโคโรน่าไวรัสหรือ Covid-19 ว่าได้สร้างภาวะทางสองแพร่งที่ไม่อาจเลือกได้ระหว่างการจำกัดการเดินทางและการกักตัวเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของโรคระบาดกับเสรีภาพของพลเมืองที่ถูกจำกัดลงภายใต้การดำเนินงานโดยรัฐ สถานการณ์โรคระบาดได้ส่งผลต่อคะแนนความเชื่อมั่นในประเด็นหน้าที่ของรัฐบาล (the functioning of Government) มีคะแนนลดลงเช่นเดียวกับผลการประเมินเสรีภาพของพลเมือง (civil liberties) ที่ลดลงเนื่องจากมาตรการการป้องกันโรคระบาดดังกล่าว[2]

          นอกจากนี้ ในรายงานส่วนที่ว่าด้วย บทวิเคราะห์สถานการณ์และ/หรือความท้าทายต่อประชาธิปไตยในแต่ละปีตามประเด็น (theme) ที่กำหนดไว้จะสะท้อนได้จากชื่อของรายงาน รายงานล่าสุดใน ค.ศ. 2021 มีชื่อว่า The China Challenge เพื่อชี้ให้เห็นถึงความท้าทายด้านประชาธิปไตยที่มีต่อโลกตะวันตกและในระดับสากลจากการก้าวขึ้นมาเป็นประเทศมหาอำนาจของสาธารณรัฐประชาชนจีน ที่สามารถพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศได้อย่างก้าวกระโดดจนเป็นคู่แข่งทางเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐอเมริกาผู้นำโลกเสรีประชาธิปไตย การก้าวขึ้นมาของจีนที่มีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องพร้อมกับอิทธิพลในทางภูมิรัฐศาสตร์ ทำให้ตัวแบบการพัฒนาเศรษฐกิจแบบทุนนิยมประชาธิปไตยของโลกตะวันตก ถูกท้าทายจากตัวแบบการพัฒนาแบบทุนนิยมที่มีรัฐชี้นำของจีน และสามารถรักษาระบอบการปกครองในลักษณะอำนาจนิยมไว้อย่างเข้มข้นและยาวนาน ความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจของจีนโดยมิได้นำมาซึ่งการพัฒนาประชาธิปไตยตามมาเหมือนดั่งที่โลกตะวันตกคาดหวังไว้ กล่าวคือระบบของจีนมุ่งเอื้ออำนวยให้เกิดการสร้างการตัดสินใจที่ทรงประสิทธิภาพเพื่อเพิ่มพูนผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของชาติและสร้างเสถียรภาพ/ความมั่นคง ซึ่งหมายถึงการขจัดเอากลไกที่สร้างความรับผิดรับชอบแบบประชาธิปไตย (democratic accountability) ออกไป ข้อเสนอของบทวิเคราะห์นี้ คือ การทำให้โลกตะวันตกจำเป็นต้องพัฒนาตัวแบบทางเลือกที่พึงปรารถนาที่แตกต่างจากจีนผ่านการยกเครื่องระบบการเมืองของตนเองเพื่อฟื้นคืนความเป็นประชาธิปไตยในทางการเมืองของโลกตะวันตก มากกว่าการเผชิญหน้าและเป็นศัตรูกับจีนผ่านการใช้นโยบายที่โดดเดี่ยวหรือป้องปรามจีน[3]

          ผลการสำรวจของดัชนีประชาธิปไตยเป็นที่นิยมใช้ในระดับสากลเพื่อประเมินสถานการณ์ประชาธิปไตยในระดับโลก ระดับภูมิภาค และระดับประเทศ ทั้งในแง่มุมที่ก้าวหน้าและแง่มุมที่เป็นความท้าทายต่อการบั่นทอนเสถียรภาพประชาธิปไตย ความนิยมดังกล่าวสะท้อนทั้งในด้านสื่อมวลชนและในทางวิชาการที่ใช้ผลการสำรวจอย่างกว้างขวาง เช่นเดียวกับกรณีของประเทศไทย ดัชนีประชาธิปไตยได้ถูกนำมาใช้ในด้านการประเมินสถานการณ์ประชาธิปไตยของไทยในแต่ละปีทั้งโดยสื่อมวลชนและนักวิชาการดังที่จะกล่าวต่อไป ทั้งนี้สถาบันพระปกเกล้าได้แปลคู่มือ Democracy Index โดยใช้ชื่อว่าดัชนีชี้วัดประชาธิปไตยออกมาเป็นภาษาไทยขึ้นใน พ.ศ. 2551 เพื่อ “ประโยชน์แก่นิสิต นักศึกษา และประชาชนผู้สนใจ ในการนำไปเป็นกรอบแนวคิดในการวิเคราะห์หรือเป็นเครื่องมือในการวัดความเป็นประชาธิปไตย และนำผลการวิเคราะห์ดังกล่าวมาพัฒนาประชาธิปไตยของสังคมไทยให้ยั่งยืนต่อไป”[4]

การนิยามความหมายและการวัดผลประชาธิปไตย[5]

          การชี้วัดประชาธิปไตยเป็นประเด็นที่มีข้อถกเถียงและซับซ้อนเนื่องจากไม่มีฉันทานุมัติจริง ๆ ว่าควรจะจัดทำตัวขี้วัดในลักษณะใด เช่นเดียวกับนิยามประชาธิปไตยที่มีข้อท้าทายและเป็นประเด็นถกเถียงที่ยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน[6] ทำให้ส่งผลต่อการออกแบบตัวชี้วัดประชาธิปไตยของแต่ละองค์กรและการศึกษาลักษณะแตกต่างหลากหลายทั้งในแง่มุมของการนิยามความหมายประชาธิปไตยและความคิดที่เกี่ยวข้องทั้งในระดับข้อถกเถียงทางปรัชญา/ความคิดทางการเมือง จนนำมาสู่นิยามเชิงปฏิบัติการที่จะใช้ในการออกแบบการวิจัย การเลือกใช้คำศัพท์และข้อความต่าง ๆ ในการอธิบายนิยามและการออกแบบวิธีการวิจัย (methodology) ดังที่ ดัชนีประชาธิปไตยของ EIU ชี้ว่าการนิยามคำศัพท์เกี่ยวกับประชาธิปไตยมีความซับซ้อนและยังไม่อาจหาข้อยุติ ตัวอย่างเช่น คำว่า "เสรีภาพ" (freedom) และคำว่า "ประชาธิปไตย" (democracy) ที่พบว่ามักใช้แทนกันเสมอ (ทำให้การกล่าวว่ามีเสรีภาพจึงเท่ากับการมีประชาธิปไตย) เนื่องจากประชาธิปไตยสื่อถึงแนวปฏิบัติและหลักการที่มุ่งหมายเพื่อคุ้มครองเสรีภาพในท้ายที่สุด[7] ด้วยเหตุนี้ การอธิบายเรื่องราวเกี่ยวกับประชาธิปไตยจำเป็นต้องทำความเข้าใจและอธิบายผ่านความหมายของคำ "ประชาธิปไตย" ที่แตกต่างกันในแต่ละช่วงเวลาและสถานที่ ผ่านการพิจารณาถึงประวัติศาสตร์ของการใช้คำโดยตัวของมันเอง ที่ทำให้เราพบว่า "ประชาธิปไตย" เป็นคำที่ถูกใช้อย่างหลากหลาย[8] ทั้งนี้ โดยปกติแล้วมักนิยามความหมายขั้นต่ำของประชาธิปไตยว่าหลักการพื้นฐานของประชาธิปไตยประกอบด้วยการมีรัฐบาลที่มีรากฐานของกฎเสียงข้างมากและมาจากการยินยอมของผู้ถูกปกครอง (government based on majority rule and the consent of the governed) การมีอยู่ของการเลือกตั้งที่อิสระและเป็นธรรม (the existence of free and fair elections) การคุ้มครองสิทธิของคนส่วนน้อย (the protection of minority rights) และการให้ความเคารพต่อสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน (respect for basic human rights)[9]

          อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีข้อจำกัดในการออกแบบการชี้วัดประชาธิปไตยอยู่มาก แต่ความจำเป็นของการชี้วัดประชาธิปไตยเพื่อตอบสนองต่อความต้องการทราบถึงคุณภาพประชาธิปไตย (quality of democracy) ทั้งในระดับภาพรวมและในแต่ละองค์ประกอบ/ประเด็นของประชาธิปไตยที่เกิดขึ้นภายในประเทศหนึ่ง ๆ เป็นเรื่องที่จำเป็นโดยได้รับความสนใจทั้งจากนักวิชาการและองค์กรที่ได้พยายามจัดทำตัวชี้วัดประชาธิปไตย ทั้งนี้ ภายหลังจากการสิ้นสุดของสงครามเย็นใน ค.ศ. 1991 ที่ทำให้ประเทศที่ปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสต์ล่มสลายแล้วเปลี่ยนผ่านระบอบการปกครองมาสู่ประชาธิปไตย ทำให้นับตั้งแต่ทศวรรษที่ 1990 การปกครองแบบประชาธิปไตยกลายเป็นกระแสการเปลี่ยนผ่านการปกครองในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก แม้ว่าในช่วงแรกมีหลายประเทศประสบความสำเร็จในการก่อร่างสร้างประชาธิปไตยแบบตั้งมั่น แต่ในเวลาต่อมาหลายประเทศกลับประสบปัญหา ทั้งนี้ กล่าวได้ว่าแต่ละประเทศมีระดับความสำเร็จและล้มเหลวแตกต่างกัน บางประเทศผ่านกระบวนการพัฒนาประชาธิปไตยจนเข้มแข็งแต่ก็อาจเผชิญกับอุปสรรคที่ทำให้ความเข้มแข็งของประชาธิปไตยลดลง ความไม่แน่นอนของการพัฒนาประชาธิปไตยที่มิได้พัฒนาแบบเส้นตรงจึงทำให้การวัดเพื่อประเมินคุณภาพประชาธิปไตยเป็นสิ่งจำเป็นขึ้นมา[10]

วิธีวิทยาในการประเมิน

          ดัชนีประชาธิปไตยได้กำหนดวิธีการประเมินตัวชี้วัดในประเด็นเกี่ยวกับประชาธิปไตยเป็น 5 กลุ่ม ได้แก่ กระบวนการเลือกตั้งและพหุนิยม (electoral process and pluralism) เสรีภาพของพลเมือง (civil liberties) หน้าที่ของรัฐบาล (the functioning of Government) การมีส่วนร่วมทางการเมือง (political participation) และวัฒนธรรมทางการเมือง (political culture) โดยในแต่กลุ่มจะมีดัชนีชี้วัดย่อยรวมทั้งหมด 60 ดัชนีชี้วัด โดยในส่วนของการคิดค่าคะแนนระดับความเป็นประชาธิปไตยจะพิจารณาจากผลรวมของคะแนนดัชนีชี้วัดในแต่ละประเภทโดยแปลงค่าคะแนนออกเป็น ระดับที่ 1 ถึง 10 ทั้งนี้ ในบางเรื่องที่มีความสำคัญต่อประชาธิปไตยถ้ามีค่าคะแนนไม่ถึง 1 คะแนน จะส่งผลให้คะแนนมีการเปลี่ยนแปลงในประเด็นที่เกี่ยวข้องด้วย โดยเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งระดับชาติเป็นไปอย่างอิสระและมีความยุติธรรม (National elections are free and fair) ความปลอดภัยของผู้ลงคะแนนเสียง (Security of voters) อิทธิพลของอำนาจต่างประเทศต่อรัฐบาล (Influence of foreign powers on government) หากได้ค่าคะแนนเท่ากับ 0 (หรือ 0.5) จะทำให้คะแนนในกลุ่มกระบวนการเลือกตั้งและพหุนิยมและกลุ่มหน้าที่ของรัฐบาลถูกลดลงหนึ่งคะแนน และในเรื่องความสามารถของข้าราชการในการนำนโยบายไปปฏิบัติ (Capability of the civil service to implement policies) หากได้ค่าคะแนนเท่ากับ 0 จะทำให้คะแนนในกลุ่มหน้าที่ของรัฐบาลถูกลดลงหนึ่งคะแนน[11]

          สำหรับคำถามที่ใช้ประเมินตัวชี้วัดในประเด็นประชาธิปไตยทั้ง 5 กลุ่ม รวม 60 ดัชนี จะใช้ระบบการนับคะแนนในสองรูปแบบ คือ ระบบสองหน่วย (dichotomous) ที่แบ่งออกเป็น ‘ใช่’ กับ ‘ไม่ใช่’ และ ระบบสามหน่วย ที่แบ่งออกเป็น 1 – 0.5 – 0[12] 

ตัวอย่างดัชนีที่ใช้ระบบการนับคะแนนแบบสองหน่วย[13]

          กลุ่มหน้าที่ของรัฐบาล

          14) สภานิติบัญญัติแห่งชาติซึ่งเป็นองค์กรสูงสุดทางการเมือง มีอำนาจสูงกว่าฝ่ายอื่นในรัฐบาลอย่างเห็นได้ชัดหรือไม่

1 :

ใช่

0 :

ไม่ใช่

 

ตัวอย่างดัชนีที่ใช้ระบบการนับคะแนนแบบสามหน่วย[14]

          กลุ่มกระบวนการเลือกตั้งและพหุนิยม

          3) การเลือกตั้งระดับเทศบาลมีความเป็นอิสระและยุติธรรมหรือไม่

1 :

ทั้งอิสระและยุติธรรม

0.5 :

อิสระแต่ไม่ยุติธรรม

0 :

ไม่มีความเป็นอิสระและไม่ยุติ

 

          ทั้งนี้ในแต่ละดัชนีมีที่มาของผู้ให้ข้อมูล/แหล่งข้อมูลแตกต่างกัน บางดัชนีจะมาจากการตอบแบบสอบถามของผู้เชี่ยวชาญ แต่บางดัชนีอาศัยข้อมูลจากการสำรวจความคิดเห็นหรือข้อมูลทางสถิติที่มีการจัดเก็บแล้วนำมาประเมินและแปลงตามระบบการนับคะแนน อาทิ ข้อมูลของ the World Values Survey, Euro barometer surveys, Gallup polls, Latin American Barometer และ national surveys[15]

 

ตัวอย่างดัชนีที่ใช้ข้อมูลจากการสำรวจความคิดเห็น[16]

          กลุ่มการมีส่วนร่วมทางการเมือง

          31) การเกี่ยวข้องของประชาชนทางด้านการเมือง

1 :

สูง

0.5 :

ปานกลาง

0 :

น้อย

          (เกณฑ์ของ World Values Survey เปอร์เซ็นต์ของประชาชนที่สนใจทางการเมืองมากหรือสนในทางการเมืองบ้าง 1 ถ้ามากกว่า 60 % 0.5 ถ้าอยู่ระหว่าง 40 – 60 % 0 ถ้าน้อยกว่า 40 %)

 

          ทั้งนี้ เมื่อมีการประเมิตตามตัวชี้วัดจนได้ค่าคะแนนของแต่ละประเทศแล้ว จะมีการให้นิยามว่าค่าคะแนนดังกล่าวสะท้อนสภาวะของระบอบการปกครองใน 4 ระบอบ คือ

          1. ประเทศที่มีความเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ (Full democracies) จะได้ระดับคะแนน ตั้งแต่ 8 ถึง 10 คะแนน หมายถึง ประเทศที่ให้ความเคารพต่อเสรีภาพทางการเมืองขั้นพื้นฐานและเสรีภาพของพลเมือง รวมถึงมีวัฒนธรรมทางการเมืองที่เกื้อหนุนต่อประชาธิปไตย มีรัฐบาลทำหน้าที่ได้อย่างน่าพึงพอใจ มีสื่อมวลชนที่เป็นอิสระและหลากหลาย มีระบบการตรวจสอบและถ่วงดุลอันมีประสิทธิผล มีระบบตุลาการที่เป็นอิสระและมีการบังคับตามคำพิพากษา

          2. ประเทศที่มีประชาธิปไตยที่บกพร่อง (Flawed democracies) จะได้ระดับคะแนน ตั้งแต่ 6 ถึง 7.9 คะแนน หมายถึง ประเทศที่มีการจัดการเลือกตั้งอย่างเสรีและเป็นธรรมแม้ว่าจะเกิดปัญหาในบางด้านภายในระบอบประชาธิปไตยอยู่บ้าง และยังให้ความเคารพต่อเสรีภาพพื้นฐานของพลเมือง อย่างไรก็ตามประเทศเหล่านี้มีความอ่อนแอทางด้านประชาธิปไตยในแง่มุมอื่นที่สำคัญ อาทิ ปัญหาด้านการปกครอง การขาดการพัฒนาวัฒนธรรมทางการเมืองที่เป็นประชาธิปไตย และการมีส่วนร่วมทางการเมืองในระดับต่ำ

          3. ประเทศที่มีการปกครองแบบผสม (Hybrid regimes) จะได้ระดับคะแนนตั้งแต่ 4 ถึง 5.9 คะแนน หมายถึง ประเทศที่มีการจัดการเลือกตั้งอยู่ก็จริงแต่มักจัดการเลือกตั้งอย่างไม่สม่ำเสมอและบ่อยครั้งเป็นการเลือกตั้งที่ขาดความเสรีและเป็นธรรม รัฐบาลมักสร้างแรงกดดันต่อพรรคการเมืองและผู้สมัครฝ่ายตรงข้ามอยู่เสมอ นอกจากนี้ยังพบความอ่อนแอทางด้านประชาธิปไตยในมิติอื่นที่ร้ายแรงและกว้างขวางกว่าประเทศที่มีประชาธิปไตยที่บกพร่องทั้งในเรื่องวัฒนธรรมทางการเมือง การทำหน้าที่ของรัฐบาล และการมีส่วนร่วมทางการเมือง ประเทศที่มีการปกครองแบบผสมมีแนวโน้มเกิดการทุจริตอย่างกว้างขวาง มีนิติรัฐและภาคประชาสังคมที่อ่อนแอ มีการคุกคามสื่อมวลชน และระบบตุลาการขาดความเป็นอิสระ

          4. ประเทศที่มีการปกครองแบบเผด็จการ (Authoritarian regimes) จะได้ระดับคะแนนต่ำกว่า 4 คะแนน หมายถึง ประเทศที่ปราศจากลักษณะการเมืองแบบพหุนิยม (political pluralism) และปกครองด้วยระบอบเผด็จการอย่างสิ้นเชิง แม้ว่าประเทศเหล่านี้จะยังคงมีสถาบันทางการเมืองแบบประชาธิปไตยแต่มักไม่ใช่สถาบันทางการเมืองที่สำคัญนัก หากมีการเลือกตั้งก็มักจัดขึ้นโดยขาดความเสรีและอิสระ เสรีภาพความเป็นพลเมืองมักถูกละเมิดและรุกล้ำอยู่เสมอ มีการปราบปรามความคิดเห็นที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลและมีการเซนเซอร์อย่างกว้างขวาง รวมถึงมีระบบตุลาการที่ขาดความเป็นอิสระ[17]

การนำไปใช้

          การนำดัชนีประชาธิปไตยไปใช้เพื่อประเมินสถานะประชาธิปไตยของแต่ละประเทศทั่วโลก โดยทั่วไปพบว่าสื่อมวลชนได้นำเสนอผลของดัชนีประชาธิปไตยที่เกิดขึ้นในแต่ละประเทศ เพื่อสะท้อนและวิพากษ์การปกครองของรัฐและรวมถึงรัฐบาลที่มีอำนาจในช่วงเวลาดังกล่าว อาทิ ผลการประเมินของประเทศเบลเยี่ยมใน ค.ศ. 2021 ได้อันดับที่ 36 จาก 167 ประเทศและถูกประเมินว่าเป็นประเทศ (failing democracy) ทำให้ถูกวิจารณ์จากสื่อมวลชนว่าเบลเยี่ยมมีผลงานที่ไม่ดีตามเกณฑ์การประเมินดังกล่าว (Belgium performed poorly by their metrics.)[18] ขณะเดียวกันดัชนีประชาธิปไตยยังถูกนำไปใช้ส่งเสริมสถานะและภาพลักษณ์ของประเทศที่ได้คะแนนตามดัชนีสูงเมื่อเปรียบเทียบตามคะแนนในเกณฑ์ชี้วัดและเมื่อเปรียบเทียบกับผลคะแนนของประเทศอื่น ตัวอย่างเช่น ไต้หวันใน ค.ศ. 2021 ได้รับการประเมินตามเกณฑ์ว่าเป็นประเทศ (full democracy) และเป็นหนึ่งในห้าประเทศของทวีปเอเชียและออสเตรเลียที่ได้ประเมินในระดับนี้เพื่อสะท้อนสถานะประชาธิปไตยของไต้หวันที่สูงกว่าโดยเปรียบเทียบกับประเทศอื่นทั่วโลก[19] เช่น เดียวกับในประเทศไทยที่สื่อมวลชนและนักวิชาการนิยมใช้ผลของดัชนีประชาธิปไตยมาใช้อธิบายสถานการณ์ประชาธิปไตยทั้งคะแนนในระดับภาพรวมและในดัชนีย่อย รวมถึงการวิพากษ์สถานการณ์ประชาธิปไตยในประเทศไทยที่มีแนวโน้มการเกิดระบอบอำนาจนิยมจากการเกิดรัฐประหารว่ามีความสัมพันธ์กับค่าคะแนนตามดัชนีและการจัดอันดับที่ตกต่ำลง[20]

          นอกจากนี้ การนำดัชนีประชาธิปไตยไปใช้อธิบายและวิพากษ์ระดับประชาธิปไตยในทางวิชาการทำให้พบว่าดัชนีประชาธิปไตยชุดนี้ถือเป็นงานสำคัญที่ถูกนำมาใช้ในการทบทวนวรรณกรรมเพื่อนำไปสู่การออกแบบตัวชี้วัดประชาธิปไตยชุดใหม่ที่มีลักษณะเฉพาะและมีการให้คำนิยามประชาธิปไตย/วิธีการวิจัยที่แตกต่างจากดัชนีประชาธิปไตยของ EIU ตัวอย่าง เช่น สถาบันพระปกเกล้าที่ได้จัดทำดัชนีชี้วัดประชาธิปไตยของประเทศไทยที่มีความมุ่งหมายเพื่อให้ได้เครื่องมือชี้วัดที่ “เหมาะสมกับบริบททางสังคมและการเมืองการปกครองไทย”[21] ก็ได้นำเอางานดัชนีประชาธิปไตยของ EIU มากล่าวถึงในบทนำเพื่อชี้ให้เห็นถึงความหลากหลายของตัวชี้วัดประชาธิปไตยที่ใช้ในระดับโลกแต่ยังมีตัวชี้วัดที่สอดคล้องกับประเทศไทย[22] ทั้งนี้ ในภาพรวมดัชนีชี้วัดประชาธิปไตยของสถาบันพระปกเกล้ามีประเด็นการชี้วัดที่แตกต่างจากดัชนีประชาธิปไตยของ EIU แต่ก็มีบางประเด็นที่มีลักษณะร่วมกัน อาทิ ประเด็นเกี่ยวกับหน้าที่ของรัฐบาลในดัชนีประชาธิปไตยของ EIU เป็นประเด็นที่สถาบันพระปกเกล้าใช้วัดในมิติการเชื่อมั่นในสถาบันต่าง ๆ ทั้งสองตัวชี้วัดมีการประเมินความเชื่อมั่นที่ประชาชนมีต่อองค์กรของรัฐที่ใช้อำนาจอธิปไตยที่สำคัญอย่างรัฐสภาและรัฐบาล แต่มีความแตกต่างในรายละเอียดที่ดัชนีประชาธิปไตยของ EIU จะวัดเพิ่มเติมในเรื่องความเชื่อมั่นของกลุ่มในทางเศรษฐกิจ ศาสนา หรือผู้มีอำนาจ และมีการวัดในมิติหน้าที่และกระบวนการขององค์กรภาครัฐต่าง ๆ ที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่น อาทิ การวัดอิทธิพลของต่างประเทศที่ครอบงำการกำหนดนโยบายของรัฐบาล) โดยแตกต่างจากดัชนีชี้วัดประชาธิปไตยของสถาบันพระปกเกล้าที่วัดในมิติขององค์กรว่าประชาชนมีความเชื่อมั่นต่อองค์กรมากน้อยเพียงใด อีกทั้งยังได้เพิ่มการประเมินความเชื่อมั่นต่อองค์กรอิสระที่เป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญในบริบทของไทยด้วย[23]

          ผลการสำรวจตามดัชนีประชาธิปไตยยังถูกนำไปใช้เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาและเปรียบเทียบสถานการณ์ของระบอบการเมืองการปกครองว่าระดับความเป็นประชาธิปไตย/ไม่เป็นประชาธิปไตยที่สัมพันธ์กับประเด็นทางการเมืองและสังคมอื่นด้วย อาทิ การศึกษาของสถาบันวิจัยพิว (Pew Research Center: PEW) ที่ได้ศึกษาในประเด็นการจำกัดเสรีภาพทางศาสนาในระดับนานาชาติจากการสำรวจสถานการณ์ด้านศาสนาและการคุกคามทางสังคมใน 198 ประเทศทั่วโลกเมื่อ ค.ศ. 2018 ได้จัดทำดัชนีชี้วัดขึ้นมาสองชุด คือ ดัชนีการจำกัดเสรีภาพทางศาสนาโดยรัฐ (Government Restriction Index: GRI) เพื่อวัดมาตรการทางกฎหมายและนโยบายที่จำกัดความเชื่อและวัตรปฏิบัติทางศาสนา กับดัชนีความเป็นปรปักษ์ทางสังคม (Social Hostilities Index: SHI) เพื่อวัดความเป็นปรปักษ์ทางศาสนาของปัจเจกบุคคลและกลุ่ม/องค์กรในสังคม [24] ทั้งนี้ผลการประเมินที่ได้ในสองดัชนีชี้วัดนี้ถูกนำมาใช้เปรียบเทียบผลการประเมินระดับความเป็นประชาธิปไตย/ไม่เป็นประชาธิปไตยของดัชนีประชาธิปไตย เพื่อดูว่าระดับความเกลียดชังทางศาสนาและมาตรการการจำกัดเสรีภาพทางศาสนาในแต่ละประเทศมีความสอดรับกับระดับความเป็นประชาธิปไตยหรือไม่[25] เป็นต้น

บรรณานุกรม

Economic Intellegence Unit. Democracy Index 2018: Me Too?: Economist Intelligence Unit Limited, 2018.

Economic Intellegence Unit. Democracy Index 2020: In Sickness and in Health? : Economist Intelligence Unit Limited, 2021.

Economic Intellegence Unit. Democracy Index 2021: The China Challenge: Economist Intelligence Unit Limited, 2022.

Focus Taiwan. "Taiwan Ranked as Top 'Full Democracy' in Asia, 8th Globally." Focus Taiwan. 10 February 2022. https://focustaiwan.tw/politics/202202100029.

Lyons, Helen. "Belgium Labelled ‘Failing Democracy’ in Democracy Index." The Brussels Times. 11 February 2022. https://www.brusselstimes.com/205831/belgium-called-a-failing-democracy-in-democracy-index.

Majumdar, Samirah, and Virginia Villa. In 2018, Government Restrictions on Religion Reach Highest Level Globally in More Than a Decade. Pew Research Cente, 2020.

Miller, James. Can Democracy Work?: A Short History of a Radical Idea. From Ancient Athens to Our World. London: Oneworld Publications, 2018.

ชัยวัฒน์ ม่านศรีสุข. "หน่วยที่ 12 การเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยเปรียบเทียบ." ใน เอกสารการสอนชุดวิชา 82202 การเมืองเปรียบเทียบ นนทบุรี: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, 2563.

ถวิลวดี บุรีกุล, and รัชวดี แสงมหะหมัด. การประเมินสถานการณ์ความเป็นประชาธิปไตยของประเทศไทย : จับชีพจรประชาธิปไตยไทย พ.ศ. 2563. กรุงเทพมหานคร: สถาบันพระปกเกล้า, 2564.

ประชาไท. "ดัชนีเผยไทยเป็น 'ประชาธิปไตยบกพร่อง' เกือบกลับไปเป็น 'ระบอบผสม' 3 ปีซ้อน." 19 กุมภาพันธ์ 2565. https://prachatai.com/journal/2022/02/97327.

พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์. "ประเทศไทยกับประชาธิปไตยแบบมีตำหนิ." มติชนออนไลน์. 15 กุมภาพันธ์ 2565. https://www.matichon.co.th/columnists/news_3182333.

ยุวดี เทพยสุวรรณ. ดัชนีชี้วัดประชาธิปไตย. นนทบุรี: สถาบันพระปกเกล้า, 2551.

อ้างอิง

[1] Economic Intellegence Unit, Democracy Index 2018: Me Too? (Economist Intelligence Unit Limited, 2018), 7.

[2] Economic Intellegence Unit, Democracy Index 2020: In Sickness and in Health? (Economist Intelligence Unit Limited, 2021), 6.

[3] Economic Intellegence Unit, Democracy Index 2021: The China Challenge (Economist Intelligence Unit Limited, 2022), 17-21.

[4] ยุวดี เทพยสุวรรณ, ดัชนีชี้วัดประชาธิปไตย (นนทบุรี: สถาบันพระปกเกล้า, 2551).

[5] Economic Intellegence Unit, Democracy Index 2021: The China Challenge. ทั้งนี้ในการอธิบายนิยามความหมายการวัดผลตามดัชนีประชาธิปไตยของ EIU ผู้เขียนจะอิงกับข้อมูลในรายงาน Democracy Index 2021 ซึ่งเป็นปีล่าสุด ขณะที่การถอดนิยามศัพท์เป็นคำแปลภาษาไทย ผู้เขียนจะใช้คำแปลจากงานที่สถาบันพระปกเกล้าทำไว้เป็นหลัก ดูใน ยุวดี เทพยสุวรรณ, อ้างแล้ว.

[6] Economic Intellegence Unit, Democracy Index 2021: The China Challenge, 65.

[7] Economic Intellegence Unit, Democracy Index 2021: The China Challenge, 65.

[8] James Miller, Can Democracy Work?: A Short History of a Radical Idea. From Ancient Athens to Our World (London: Oneworld Publications, 2018), 11-12.

[9] Economic Intellegence Unit, Democracy Index 2021: The China Challenge, 65.

[10] ชัยวัฒน์ ม่านศรีสุข, "หน่วยที่ 12 การเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยเปรียบเทียบ," ใน เอกสารการสอนชุดวิชา 82202 การเมืองเปรียบเทียบ (นนทบุรี: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, 2563), 81.

[11] Economic Intellegence Unit, Democracy Index 2021: The China Challenge, 67.

[12] Economic Intellegence Unit, Democracy Index 2021: The China Challenge, 68.

[13] ใช้คำแปลข้อคำถามจาก ยุวดี เทพยสุวรรณ, 10.

[14] ใช้คำแปลข้อคำถามจาก ยุวดี เทพยสุวรรณ, 7.

[15] Economic Intellegence Unit, Democracy Index 2021: The China Challenge, 69.

[16] ใช้คำแปลข้อคำถามจาก ยุวดี เทพยสุวรรณ, 15.

[17] Economic Intellegence Unit, Democracy Index 2021: The China Challenge, 68.

[18] Helen Lyons, "Belgium Labelled ‘Failing Democracy’ in Democracy Index," The Brussels Times, 11 February 2022, https://www.brusselstimes.com/205831/belgium-called-a-failing-democracy-in-democracy-index.

[19] Focus Taiwan, "Taiwan Ranked as Top 'Full Democracy' in Asia, 8th Globally," Focus Taiwan, 10 February 2022, https://focustaiwan.tw/politics/202202100029.

[20] พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์, "ประเทศไทยกับประชาธิปไตยแบบมีตำหนิ," มติชนออนไลน์, 15 กุมภาพันธ์ 2565, https://www.matichon.co.th/columnists/news_3182333. และ ประชาไท, "ดัชนีเผยไทยเป็น 'ประชาธิปไตยบกพร่อง' เกือบกลับไปเป็น 'ระบอบผสม' 3 ปีซ้อน," 19 กุมภาพันธ์ 2565, https://prachatai.com/journal/2022/02/97327.

[21] ถวิลวดี บุรีกุล, and รัชวดี แสงมหะหมัด, การประเมินสถานการณ์ความเป็นประชาธิปไตยของประเทศไทย : จับชีพจรประชาธิปไตยไทย พ.ศ. 2563 (กรุงเทพมหานคร: สถาบันพระปกเกล้า, 2564), 5.

[22] ถวิลวดี บุรีกุล, and รัชวดี แสงมหะหมัด, 27-31.

[23] Economic Intellegence Unit, Democracy Index 2021: The China Challenge, 71-72. ถวิลวดี บุรีกุล, and รัชวดี แสงมหะหมัด, 91-99.

[24] Samirah Majumdar, and Virginia Villa, In 2018, Government Restrictions on Religion Reach Highest Level Globally in More Than a Decade (Pew Research Cente, 2020), 3.

[25] Majumdar, and Villa, 92.