Davos
ผู้เรียบเรียง : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พิชญ์อาภา พิศุทธ์เศรณี
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.ไชยวัฒน์ ค้ำชู
การประชุมดาวอส (Davos) เป็นฉายานามที่ใช้เรียก “สภาเศรษฐกิจโลก” (World Economic Forum: WEF) ซึ่งเป็นการประชุมที่มีฐานะเป็นองค์การระหว่างประเทศที่ไม่ใช่ระดับรัฐบาล (an international non-governmental organization) เป็นองค์การระหว่างประเทศในด้านความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน (International Organization for Public-Private Cooperation) โดยสมาชิกขององค์การมีหลากหลายระดับและหลากหลายบทบาท ไม่ว่าจะเป็นผู้บริหารสูงสุดของบริษัทชั้นนำของโลก ผู้นำของรัฐ รัฐมนตรีและผู้กำหนดนโยบาย ผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ องค์กรนานาชาติ เยาวชน ผู้คิดค้นนวัตกรรมเทคโนโลยี และตัวแทนประชาสังคม โดยสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในนครโคโลจนี (Cologny) รัฐเจนีวา สมาพันธรัฐสวิสเซอร์แลนด์
ความเป็นมา
ในปี 1971 เคลาส์ ชวอบ (Klaus Schwab) ผู้เป็นทั้งวิศวกรและนักเศรษฐศาสตร์คนสำคัญของสวิสเซอร์แลนด์ ซึ่งถือสัญชาติเยอรมัน ได้ก่อตั้งองค์การระหว่างประเทศที่ไม่ใช่ระดับรัฐบาล ชื่อ “สภาการบริหารยุโรป” (European Management Forum: EMF) มีสมาชิกเป็นองค์กรธุรกิจภาคเอกชนต่างๆ มากกว่าพันแห่งจากทั่วโลกเข้าร่วม ทั้งนี้ องค์กรธุรกิจภาคเอกชนเหล่านี้ล้วนเป็นกิจการระดับโลกที่มีมูลค่าผลประกอบการมากกว่า 5 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ขึ้นไป โดย EMF มีวัตถุประสงค์เพื่อทำเศรษฐกิจยุโรปให้ดีขึ้นด้วยการประสานความร่วมมืออย่างสร้างสรรค์หลายฝ่าย คือ ชนชั้นนำทางธุรกิจ ชนชั้นนำทางการเมือง ชนชั้นนำทางการศึกษา และชนชั้นนำทางสังคม มาร่วมกันตั้งประเด็นปรึกษาหารือ บนพื้นฐานอุดมการณ์ว่าการทำให้โลกดีขึ้นต้องอาศัยความร่วมมือและความเห็นจากบรรดาผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลายฝ่าย ไม่ใช่ปล่อยให้บรรดาผู้นำทางการเมืองการปกครองของประเทศต่าง ๆ กำหนดนโยบายและดำเนินการไปตามลำพัง ต่อมาในปี 1987 ได้เปลี่ยนชื่อของ “สภาการบริหารยุโรป” (European Management Forum: EMF) มาเป็น “สภาเศรษฐกิจโลก” (World Economic Forum: WEF)[1]
ปัจจุบัน WEF ขยายวัตถุประสงค์จากเพื่อทำเศรษฐกิจยุโรปให้ดีขึ้นไปสู่เพื่อทำเศรษฐกิจโลกให้ดีขึ้น ด้วยการประสานความร่วมมืออย่างสร้างสรรค์หลายฝ่ายจากทั่วโลก คือ ชนชั้นนำทางธุรกิจจากทั่วโลก ชนชั้นนำทางการเมืองจากทั่วโลก ชนชั้นนำทางการศึกษาจากทั่วโลก และชนชั้นนำทางสังคมจากทั่วโลก รวมทั้งบรรดาผู้คิดค้นนวัตกรรมใหม่ ๆ เทคโนโลยีใหม่ ๆ จากทั่วโลกมาร่วมประชุมหารือกัน นอกจากนี้ WEF ยังเป็นเวทีระดับโลกในการจัดกิจกรรมเพื่อเสนอแนวทางในการกำหนดนโยบายด้านเศรษฐกิจ สังคม และการพัฒนา รวมทั้งเพื่อแก้ไขความขัดแย้งที่เกิดขึ้นระหว่างประเทศ ไม่เพียงเท่านั้น WEF ยังสนับสนุนการเปลี่ยนที่จะเกิดขึ้นกับโลกอย่างสร้างสรรค์และไม่มีอคติเกี่ยวกับอุดมการณ์แต่อย่างใด ความมุ่งมั่นในการเปลี่ยนแปลงของโลกให้ดีขึ้นของ WEF นั้น ต้องดำเนินไปพร้อมกับวัตถุประสงค์ที่ชัดเจนสามารถวัดผลได้ รวมทั้งต้องเป็นการแก้ไขปัญอย่างยั่งยืนไม่ใช่เพียงแก้ไขปัญหาในระยะเวลาสั้นๆ ดังนั้น WEF จึงให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลงโลกให้ไปในทางที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องและยั่งยืนมากกว่าการแก้ไขเฉพาะหน้า[2]
WEF มีการจัดประชุมหลายระดับ หลายรอบในหลายสถานที่ แต่การประชุมของ WTF ที่โด่งดังที่สุดและเป็นสัญลักษณ์ของ WEF คือ การประชุมที่เมืองดาวอส (Davos) ตั้งอยู่ในแคว้นเพรททิเกา (Prättigau) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของรัฐเกราบุนเดน (Graubünden) อยู่ทางตอนเหนือของเมืองซานต์มอริตซ์ (St. Moritz) เมืองตากอากาศอันงดงามบริเวณเทือกเขาแอลป์ สมาพันธรัฐสวิสเซอร์แลนด์ เป็นที่มาของการเรียกฉายาการประชุม WEF ว่า “ดาวอส” หรือ “การประชุมดาวอส”
การประชุมที่เกิดขึ้นภายใต้กรอบความร่วมมือ WEF ที่สำคัญ ได้แก่ การประชุมหลักประจำปี จำนวน 5 การประชุม ประกอบด้วย
1. การประชุมประจำปีสภาเศรษฐกิจโลก (The World Economic Forum Annual Meeting) กำหนดวาระการประชุมระดับโลก ระดับภูมิภาค และภาคอุตสาหกรรมในช่วงต้นปี จัดขึ้น การประชุมที่เมืองดาวอส (Davos) สมาพันธรัฐสวิสเซอร์แลนด์
2. การประชุมประจำปีของผู้เป็นเลิศใหม่ (The Annual Meeting of the New Champions) เป็นการประชุมแบบสภา (Forum) โดยหารือเกี่ยวกับ นวัตกรรม วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จัดขึ้นณ สาธารณรัฐประชาชนจีน
3. การประชุมประจำปีของคณะกรรมาธิการโลก (The Annual Meeting of the Global Future Councils) เป็นการประชุมเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับความท้าทายที่โลกกำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน จัดขึ้น ณ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
4. การประชุมยุทธศาสตร์ทางอุตสาหกรรม (The Industry Strategy Meeting) เป็นการประชุมระหว่างนักวางยุทธศาสตร์อุตสาหกรรม โดยกำหนดวาระการประชุมภาคอุตสาหกรรมและค้นหาว่าอุตสาหกรรมสามารถปรับยุทธศาสตร์จากการวางแผนรับมือกับความเปลี่ยนแปลงสู่การการริเริ่มสิ่งใหม่ ๆ ได้อย่างไรบ้าง
5. การจัดประชุมสุดยอดว่าด้วยผลกระทบด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Impact Summit) การประชุมนี้จัดขึ้นครั้งแรกในปี 2017 ที่มหานครนิวยอร์ค สหรัฐฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้การสนับสนุนการบรรลุผลของเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ และพันธกรณีของความตกลงปารีส (Paris Agreement)[3]
การประชุมดาวอสกับการเมือง
ด้วยเหตุที่ WEF ประกอบด้วยการประชุมหลายเวทีและบรรดาสมาชิกมีที่มาที่หลากหลาย ดังนั้นการประชุมดาวอสจึงสะท้อนถึงความต้องการของตัวแสดงต่าง ๆ ทุกภาคส่วน อย่างชัดเจนยิ่งกว่าเวทีการประชุมที่สมาชิกเป็นรัฐหรือผู้แทนรัฐบาลของรัฐซึ่งภาคเอกชนทำได้เพียงไปวิ่งเต้นผ่านกระบวนการทางการเมืองในประเทศของตนเท่านั้น
เมื่อเริ่มก่อตั้งการประชุมในปี 1971 การประชุมหารือยังมีเพียงเรื่องเศรษฐกิจเท่านั้น แต่หลังจากปี 2000 เป็นต้นมา ประเด็นที่ถูกผลักดันเข้าสู่การประชุมได้ขยายไปสู่หลากหลายมิติ ทั้งเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และนับตั้งแต่ปี 2017 ภาคเอกชนได้ผลักดันให้นำเรื่องสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาที่ยั่งยืนให้กลายเป็นประเด็นที่ต้องประชุมกันเป็นประจำทุกปีนับแต่นั้นเป็นต้นไป นอกจากนี้ ปี 2017 ยังมีการนำประเด็นเรื่องการค้าขายออนไลน์ (e-commerce) มาหารือกันเป็นครั้งแรก โดยเชิญ นายแจ็ค หม่า (Jack Ma) ประธานกรรมการบริหาร “Alibaba” กลุ่มธุรกิจออนไลน์ยักษ์ใหญ่จากจีน ซึ่งเป็นครั้งแรกที่นักธุรกิจยักษ์ใหญ่ของจีนเข้าร่วมการประชุม โดยได้อยู่ในฐานะองค์ปาฐกผู้ขึ้นเวทีแสดงวิสัยทัศน์[4]
ในการประชุม WEF ครั้งที่ 48 หรือ ดาวอส 2018 (DAVOS 2018) ได้ใช้ชื่อหัวข้อการประชุมว่า “การสร้างอนาคตร่วมกันบนโลกที่แตกแยก” (Creating a Shared Future in a Fractured World) มีวัตถุประสงค์เพื่อ เสริมสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนควบคู่กับการลดความเหลื่อมล้ำ ทั้งทางเศรษฐกิจและทางสังคม และมุ่งมั่นที่จะแก้ไขความขัดแย้งระหว่างประเทศต่าง ๆ ในการประชุมมีผู้นำประเทศเข้าร่วมมากกว่า 70 ประเทศ และมีบุคคลสำคัญในวงการนักธุรกิจ วงการวิชาการ และวงการสิ่งแวดล้อม เข้าร่วมการประชุมกว่า 2,500 คน ทั้งนี้ ประเด็นสำคัญในการประชุมประกอบด้วย 4 เรื่อง ได้แก่
1. ภัยคุกคามต่อความเจริญ 3 ประการ ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change) การก่อการร้าย (terrorism) และการต่อต้านกระแสโลกาภิวัตน์ (the backlash against globalization)
2. การสร้างความร่วมมือ (collaboration) ให้เกิดขึ้นระหว่างประเทศและทุกภาคส่วนในสังคมเพื่อแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ให้ทุกคนเติบโตไปพร้อมกัน โดยไม่กีดกันใครออกไป ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง (inclusive growth)
3. ลดความเหลื่อมล้ำ (inequality) เรียกร้องให้ผู้นำของโลกทั้งภาครัฐและเอกชนควรลงมือเปลี่ยนแปลงระบบเศรษฐกิจอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อ แก้ไขปัญหานี้ร่วมกันอย่างจริงจัง
4. การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 (the fourth industrial revolution) คือปรับตัวในยุคที่ อินเทอร์เน็ตและปัญญาประดิษฐ์ (artificial intelligence: AI) มีแนวโน้มจะเข้ามาทำงานแทนที่มนุษย์[5]
การประชุมดาวอส 2019 (Davos 2019) ซบเซามากเพราะสหรัฐฯกับจีนกำลังดำเนินสงครามการค้าต่อกัน นอกจากนี้ ดาวอส 2019 จัดขึ้นท่ามกลางกระแสวิตกกังวลเกี่ยวกับแรงกดดันในทิศทางขาลงของเศรษฐกิจโลก[6] การประชุมดาวอส 2020 เน้นเรื่องภาวะโลกร้อนและความยั่งยืนเป็นหลัก ผู้ภายใต้หัวข้อการประชุมว่า “ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของโลกที่ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมและยั่งยืน” (stakeholders for cohesive and sustainable world) ในการประชุมปีนี้ ได้มีการเชิญ เกรตา ธันเบิร์ก (greta thunberg) เด็กสาวชาวสวีเดนอายุ 16 ปี นักกิจกรรมชื่อดังผู้รณรงค์ต้านต่อสู้กับสภาวะโลกร้อน ในการประชุมครั้งนั้น เกรตา ธันเบิร์ก ได้ขึ้นเวทีเป็นองค์ปาฐกและเรียกร้องให้รัฐบาลของประเทศต่าง ๆ รวมทั้งบริษัทเอกชนชั้นนำทั้งหลายของโลกดำเนินมาตรการที่จริงจังยิ่งขึ้นในการต่อสู้กับภาวะโลกร้อน[7] ซึ่งได้ทำให้ผู้บริหารของบริษัทชั้นนำประกาศมาตรการต่อสู้กับโลกร้อน เช่น microsoft สัญญาว่าจะพัฒนาการทำธุรกิจของตนไปสู่การเป็นธูรกิจแบบปลอดการปล่อยคาร์บอนให้สำเร็จภายในปี 2030[8]
ในปี 2021 การประชุมดาวอส 2021 จัดแบบ new normal คือ ใช้การประชุมระบบออนไลน์เพื่อให้สะดวกกับผู้ที่ต้องการหลีกเลี่ยงการระบาดของโรคโควิด-19 และเรื่องหลักที่การประชุมดาวอสให้ความสนใจคือการระบาดของโรคโควิด-19 ทั้งนี้ เลขาธิการองค์การสหประชาชาติเรียกร้องให้ทุกฝ่ายเร่งลงมือจัดการกับปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมที่เลวร้ายเพิ่มขึ้นเพราะการระบาดครั้งใหญ่ ซึ่งหมายรวมถึงการเพิ่มสภาพคล่องเพื่อเลี่ยงปัญหาการผิดนัดชำระหนี้ในกลุ่มประเทศผู้มีรายได้ปานกลางและประเทศด้อยพัฒนา การจัดทำโครงการผ่อนผันการชำระหนี้ให้แก่ประเทศที่จำเป็นต้องใช้ การจัดทำโครงการ special drawing rights ระลอกใหม่ เพื่อประโยชน์ต่อกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา และจัดเตรียมมาตรการเพื่อจัดการกับปัญหาค่าแรง ตลอดจนการเปิดทางให้ชาติกำลังพัฒนาได้มีส่วนร่วมกับสถาบันและองค์กรระหว่างประเทศเพิ่มมากขึ้น[9]
ในการประชุมดาวอสครั้งล่าสุด ในปี 2022 ได้มีประเด็นที่น่าสนใจมากมายหลายประเด็นไม่ว่าจะเป็นประเด็นวิกฤตการณ์ยูเครน วิกฤตการณ์อาหาร และวิกฤตการณ์สิ่งแวดล้อม โดยมีการมองร่วมมองกันถึงปัญหาทางด้านเศรษฐกิจที่โลกกำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน เนื่องจากการเกิดขึ้นของการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ส่งผลอย่างมาเศรษฐกิจระดับโลกไม่เพียงเท่านั้น การฟื้นฟูทางเศรษฐกิจยังเป็นไปได้ยากเนื่องจากการเกิดขึ้นของสงครามในยูเครน ทั้งนี้ ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นระหว่างยูเครนและรัสเซียส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจไปทั่วโลก ที่ประชุมดาวอสต้องการให้สงครามที่เกิดขึ้นยุติลงโดยเร็วเพื่อที่จะสามารฟื้นฟูเศรษฐกิจโลก[10]
ในการประชุมครั้งล่าสุดยังมีการกล่าวถึงภัยบนโลกไซเบอร์ที่เกิดขึ้นจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด -19 ที่ได้ผลักดันให้เกิดการใช้เทคโนโลยีออนไลน์มากขึ้น ได้ทำให้เกิดความเสี่ยงบนโลกไซเบอร์ที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นอย่างมาก อย่างไรก็ตามภัยบนโลกไซเบอร์ยังถูกมองเป็นปัญหาที่ไม่ใหญ่นักซึ่งก็ถือว่าเป็นหนึ่งในสิ่งที่ทั้งภาครัฐและเอกชนยังคงมองข้าม รวมทั้งปัญหาการแข่งขันทางด้านอวกาศยังถูกแสดงให้เห็นถึงความกังวลเนื่องจากกรแข่งขันทางอวกาศในปัจจุบันใช้ต้นทุนค่อนข้างน้อยและเป็นเทคโนโลยีที่ต้องการค่อนข้างมากทำให้เกิดความกังวลว่าจะทำให้เกิดปัญหาที่ตามมาอย่างปัญหาขยะอวกาศและการใช้ทรัพยากรเกินความจำเป็น ในขณะที่โลกยังมองข้ามประเด็นนี้ไปอยู่ ปัญหาที่ถูกมองว่าเป็นปัญหาระยะยาวที่ยังคงต้องได้รับความแก้ไขคือภาวะโลกร้อน แม้ว่าจะมีความพยายามที่จะแก้ไขมาโดยตลอดแต่ก็ยังคงเป็นปัญหาที่ต้องการแก้ไขต่อไป[11]
จากที่กล่าวมาจะพบว่าในการประชุม world economic forum (WEF) ในปี 2022 ณ เมืองดาวอส ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ได้ให้ความสำคัญกับปัญหาของเศรษฐกิจที่กำลังเผชิญกับปัญหาอย่างมากเนื่องจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด - 19 และการเกิดสงครามขึ้นในยูเครน อย่างไรก็ตามก็ยังคงมีก็กล่าวถึงประเด็นปัญหาที่ไม่ได้รับความสนใจอย่างภัยบนโลกไซเบอร์และการแข่งขันทางอวกาศ ในขณะที่ประเด็นโลกร้อนก็ยังคงเป็นเป็นปัญหาสำคัญที่ควรได้รับการแก้ไขเนื่องจากเป็นปัญหาระยะยาว
อย่างไรก็ตาม การประชุมดาวอสเคยถูกวิจารณ์ว่าเป็นเวทีของพวกชนชั้นสูงที่เกี่ยวกับภาคการเงิน อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ กลุ่มขุนนางวิชาการ (เทคโนแครต) อีกทั้งยังถูกมองว่าเป็นพื้นที่ทางการเมืองระหว่างประเทศที่นักการเมืองต้องการเข้ามาใช้โอกาสจากพื้นที่นี้เพื่อให้ตัวเองได้ผลประโยชน์อีกด้วย จนนำไปสู่การประท้วงอยู่หลายครั้ง ที่เห็นได้ชัดคือการประท้วงที่กรุงเบิร์นของชาวทิเบตและชาวอุยกูร์ในตอนที่ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง เข้าร่วมประชุมในปี 2017[12]
อ้างอิง
[1] World Economic Forum. “About Us.” Retrived 6 May 2022 https://www.weforum.org/about/world-economic-forum/
[2] World Economic Forum. “Why does our work matter?.” Retrived 6 May 2022 https://www.weforum.org/about/why-does-our-work-matter
[3] International Institute for Sustainable Development. “Sustainable Development Impact Summit 2017.” Retrived 30 May 2022. http://sdg.iisd.org/events/sustainable-development-impact-summit-2017/
[4]China Daily. “Jack Ma bangs the drum for small business at Davos.” Retrived 30 May 2022. https://www.chinadaily.com.cn/business/2017wef/2017-01/19/content_27999954.htm
[5] CNBC.“Everything you need to know about the Fourth Industrial Revolution.” Retrived 6 May 2022. https://www.cnbc.com/2019/01/16/fourth-industrial-revolution-explained-davos-2019.html
[6] CNBC. “The World Economic Forum in Davos opens with US-China contest as ‘the key problem of our time’.” Retrived 6 May 2022. https://www.cnbc.com/2019/01/20/davos-opens-with-us-china-contest-as-the-key-problem-of-our-time.html
[7] New York Time. “Greta Thunberg’s Remarks at the Davos Economic Forum.” Retrived 6 May 2022. https://www.nytimes.com/2020/01/21/climate/greta-thunberg-davos-transcript.html
[8] CNN. “Microsoft wants to eradicate its carbon footprint by going emissions 'negative' by 2030.” Retrived 6 May 2022. https://edition.cnn.com/2020/01/16/tech/microsoft-climate-pledge-2030/index.html
[9] United Nations. “In Davos speech, UN chief highlights private sector role in pandemic recovery.” Retrived 30 May 2022. https://news.un.org/en/story/2021/01/1082862
[10] ฐานเศรษฐกิจ. “ปิดฉากการประชุมเวิลด์ อิโคโนมิก ฟอรั่ม (WEF) ผู้ว่าฯแบงก์ชาติร่วมถกวาระโลก.” สืบค้นข้อมูล: 30 พฤษภาคม 2565. https://www.thansettakij.com/world/526527
[11] VOV. เวิลด์ อีโคโนมิค ฟอรัม ส่องปัจจัยเสี่ยงโลกในปี 2022. [ออนไลน์]. จากVOV เวปไซต์:https://www.voathai.com/a/world-economic-forum-warns-cyber-risks-add-to-climate-threat-01112022/6392650.html (สืบค้นข้อมูล: 30 พฤษภาคม 2565)
[12] มนต์ชัย วงษ์กิตติไกรวัล. มอง World Economic Forum ในมุมที่มากกว่า เกรตา-ทรัมป์ และความยั่งยืนที่ถูกพูดซ้ำซาก. [ออนไลน์]. จากThe Standard เวปไซต์:https://thestandard.co/world-economic-forum/ (สืบค้นข้อมูล: 30 พฤษภาคม 2565)