CPTPP - (Comprehensive and Progressive Agreement for Trans-Pacific Partnership)
ผู้เรียบเรียง : รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.ไชยวัฒน์ ค้ำชู
CPTPP - (Comprehensive and Progressive Agreement for Trans-Pacific Partnership)
CPTPP คือ ความตกลงแบบครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก เป็นความตกลงการค้าเสรีที่ครอบคลุมในเรื่องการค้า การบริการและการลงทุนเพื่อสร้างมาตรฐานและกฎระเบียบร่วมกันระหว่างสมาชิก ทั้งในประเด็นคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา มาตรฐานแรงงาน กฎหมายสิ่งแวดล้อม และกลไกแก้ไขข้อพิพาทระหว่างรัฐบาลและนักลงทุนต่างชาติ[1]
การเกิดขึ้นของ CPTPP สืบเนื่องมาจากการถอนตัวของสหรัฐอเมริกาออกจากการเป็นสมาชิกของ TPP ในเดือนมกราคม ค.ศ. 2017 ทำให้ประเทศสมาชิกที่เหลือ 11 ประเทศ ได้แก่ ญี่ปุ่น แคนาดา เม็กซิโก เปรู ชิลี ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ มาเลเซีย บรูไน และเวียดนาม เกิดความลังเลใจว่าจะคง TPP ไว้ต่อไปหรือไม่ ดังนั้น ในคราวที่ นายชินโซะ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น เดินทางมาประชุม APEC Summit 2017 ที่เวียดนามในเดือนพฤศจิกายน จึงได้หารือกับรัฐบาลเวียดนามเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว โดยญี่ปุ่นเห็นว่าควรที่จะคง TPP ไว้ต่อไป ซึ่งรัฐบาลเวียดนามก็เห็นด้วย และหวังว่าประเทศสมาชิกอื่นจะสามารถยืนยันเรื่องดังกล่าวได้ในคราวประชุม TPP Summit ที่ประเทศชิลี[2] และต่อมาผู้นำประเทศสมาชิกได้มีการประชุมกันที่ประเทศชิลีและลงนามร่วมกันที่จะคงรวมกลุ่มกันต่อไป เมื่อวันที่ 8 มีนาคม ค.ศ. 2018 ทั้งนี้ ภายใต้เงื่อนไขที่มีการแก้ไขข้อบัญญัติบางประการ รวมทั้งการแก้ไขชื่อเรียกเป็น CPTPP ดังนั้น จึงกล่าวได้ว่า CPTPP คือรูปแบบใหม่ของ TPP ที่ไม่มีสหรัฐอเมริกาเป็นสมาชิกและมีการตัดทอนข้อบัญญัติหลายข้อของ TPP ที่มุ่งพิทักษ์ผลประโยชน์ของสหรัฐอเมริกาออกไป
ความแตกต่างที่สำคัญของ CPTPP จาก TPP มีดังนี้
ข้อที่ 1 คือ ขนาดของเศรษฐกิจและการค้ามีขนาดเล็กลงมาก กล่าวคือขนาดเศรษฐกิจจาก 38 เปอร์เซ็นต์ ของเศรษฐกิจโลกลดลงเหลือ 13 เปอร์เซ็นต์ ขนาดการค้าลดจาก 27 เปอร์เซ็นต์ เหลือ 15 เปอร์เซ็นต์
ข้อที่ 2 คือ มีการระงับข้อบัญญัติ 22 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเด็นที่สหรัฐอเมริกาสนับสนุนมาก แต่ประเทศสมาชิกอื่นไม่เห็นว่าเป็นประโยชน์ เช่น การคุ้มครองอุตสาหกรรมยา การขยายเวลาคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาจาก 50 ปี เป็น 70 ปี การให้สิทธินักลงทุนฟ้องร้องรัฐบาลในบางกรณีที่นโยบายรัฐบาลส่งผลกระทบต่อธุรกิจของนักลงทุน[3]
ปัจจุบัน อังกฤษ เกาหลีใต้ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และจีน แสดงท่าทีสนใจที่จะเข้าร่วมเป็นสมาชิก CPTPP [4] รวมทั้งประเทศไทยด้วย ในครั้งที่ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ยังดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ ประกาศในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 (ค.ศ. 2020) ว่าไทยเตรียมตัวเข้าร่วม CPTPP ทำให้ประเด็นดังกล่าวร้อนแรงขึ้นมาในสังคมไทย เพราะมีทั้งฝ่ายสนับสนุนและฝ่ายคัดค้าน
ประโยชน์ที่ไทยจะได้รับ
1. การส่งออก การเข้าเป็นสมาชิกจะเพิ่มโอกาสการส่งออกของไทยไปยังประเทศสมาชิก CPTPP โดยเฉพาะตลาดแคนาดาและเม็กซิโก ซึ่งไม่มีข้อตกลงการค้าเสรีกับประเทศไทยในปี 2017 ประเทศไทยมีสัดส่วนการส่งออกไปแคนาดา และเม็กซิโกรวมกันอยู่ที่ 2 เปอร์เซ็นต์ สินค้าหลักที่ไทยส่งไปแคนาดา ได้แก่ อาหารทะเลแปรรูป ข้าว ผลิตภัณฑ์ยาง สินค้าหลักที่ส่งไปเม็กซิโก ได้แก่ รถยนต์ ส่วนประกอบรถยนต์ อุปกรณ์อีเล็กทรอนิกส์
2. การลงทุนจากต่างประเทศ การเข้าเป็นสมาชิกจะช่วยดึงดูดการลงทุนของบริษัทที่ต้องการใช้ไทยเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออกไปยังประเทศสมาชิก CPTPP คู่แข่งของไทยในด้านนี้ คือ ประเทศมาเลเซีย และประเทศเวียดนาม
3. ความสามารถในด้านการแข่งขัน การเข้าเป็นสมาชิกจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในด้านการแข่งขันของไทย เพราะจะถูกบังคับให้ต้องปรับปรุงแก้ไขกฎหมายและระเบียบต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับมาตรฐานของ CPTPP ได้แก่ กฎหมายสิทธิแรงงาน การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การแข่งขันอย่างเท่าเทียมกันระหว่างธุรกิจท้องถิ่นกับธุรกิจต่างประเทศและอื่น ๆ ซึ่งจะเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจของไทยในระยะยาว
4. การเปิดเสรีในการเคลื่อนย้ายบุคลากรในทุกประเภทธุรกิจ ได้แก่ นักธุรกิจ พนักงานบริษัท นักลงทุน นักวิชาชีพอิสระ และผู้ให้บริการตามสัญญา
ผลเสียที่ไทยจะได้รับ
1. ธุรกิจบริการ จะเปิดเสรีให้มีการแข่งขันที่เป็นข้อยกเว้นไม่เปิดเสรีต้องระบุรายการ หรือที่เรียกว่าเป็นการเจรจาแบบ Negative List กล่าวคือ ประเทศสมาชิกสามารถเจรจาต่อรองขอไม่เปิดเสรีในธุรกิจบริการบางหมวดบางสาขาได้ แต่ส่วนบริการอื่น ๆ ที่ไม่ได้ระบุจะต้องเปิดเสรีให้กับนักลงทุนต่างชาติทั้งหมด ซึ่งอาจทำให้ธุรกิจบริการในประเทศที่ค่อนข้างปิดเสียหายได้
2. อุตสาหกรรมการเกษตร จะเผชิญกับกานแข่งขันมากขึ้น โดยเฉพาะสินค้าเกษตรจากแคนาดา เช่น ปุ๋ย ถั่วเหลือง จะเข้ามาตีตลาดไทย มีข้อบัญญัติให้ประเทศสมาชิกต้องเข้าร่วมใน อนุสัญญาการคุ้มครองพันธุ์พืช หรือ UPOV (International Union for the Protection of New Varieties of Plants) ที่จะเปิดให้ต่างชาติสามารถนำพันธุ์พืชพื้นเมืองของไทยไปทำการวิจัยเพื่อสร้างพันธุ์พืชใหม่ แล้วจดสิทธิบัตรได้ ข้อนี้ส่งผลเสียต่อเกษตรกรไทยโดยตรง เพราะถ้านำพันธุ์พืชใหม่นี้มาปลูกแล้วจะไม่สามารถเก็บเมล็ดไปปลูกต่อได้เหมือนเมื่อก่อน ต้องซื้อเมล็ดพันธุ์ใหม่เท่านั้น ทำให้ต้นทุนการเกษตรสูงขึ้น
3. การฟ้องร้องรัฐ ความตกลงที่เกี่ยวกับการคุ้มครองนักลงทุนจะเปิดช่องทางให้นักลงทุนฟ้องรัฐได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะเมื่อรัฐออกมาตรการปกป้องผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนและสิ่งแวดล้อม เช่น การห้ามนำเข้าพืชและผลิตภัณฑ์ตัดแต่งพันธุ์กรรม (GMO)[5]
ข้อห่วงใยบางประการ
1. การเข้าถึงยา ประเด็นที่ถูกยกมาโจมตีอยู่บ่อย ๆ คือ การอ้างว่าการเข้า CPTPP จะถูกจำกัดการใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรยา (Compulsory Licensing) หรือที่เรียกโดยย่อว่า CL ในประเด็นนี้ ข้อบัญญัติ 18.41 กำหนดไว้ชัดว่าไม่มีข้อบัญญัติใดจำกีดสิทธิของสมาชิกในการใช้มาตรการ CL
2. การจัดซื้อจัดจ้างโดยภาครัฐ ในเรื่องนี้มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อดี คือ ผู้ประกอบการรายอื่นสามารถเข้าร่วมแข่งขันในโครงการจัดซื้อจัดจ้างต่าง ๆ ของรัฐได้ อันจะทำให้รัฐสามารถประหยัดงบประมาณรายจ่ายหรือได้งานที่มีคุณภาพสูงขึ้น ส่วนข้อเสีย คือ รัฐบาลไม่สามารถสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของเอกชนได้ อีกทั้งภาคเอกชนจะต้องเป็นกังวลในเรื่องมาตรฐานแรงงาน เพราะเป็นการเพิ่มอำนาจต่อรองให้แรงงานต่างด้าว อย่างไรก็ตามแนวทางนี้เป็นทิศทางของสิทธิมนุษยชน ที่มุ่งจะสนับสนุนให้แรงงานได้รับการคุ้มครองและเป็นเรื่องที่ถูกพูดถึงในข้อตกลงการค้าทุกฉบับ ในอนาคตถ้าประเทศใดไม่ปรับตัวตามแนวทางสิทธิมนุษยชนก็จะไม่ได้รับการยอมรับในระดับโลกและจะไม่เกิดการจ้างงานในที่สุด และด้วยเหตุผลข้างต้นจึงมีหลายประเทศข้างต้นแสดงความสนใจที่จะเข้าร่วมเป็นสมาชิกของ CPTPP
3. การผูกขาดเมล็ดพันธุ์พืชโดยบริษัทเอกชน เรื่องนี้นักวิจัยภาครัฐ นักปรับปรุงพันธุ์พืชอิสระ บุคคลทั่วไปก็สามารถทำได้ ไม่จำกัดเฉพาะบริษัทเอกชน เพียงแต่บริษัทเอกชนที่มีทุนมากจะสามารถทำเรื่องนี้ได้มากกว่า
4. การห้ามเกษตรกรเก็บเมล็ดพันธุ์พืชไปปลูกต่อ ไม่เป็นความจริงทั้งหมด เกษตรกรสามารถเก็บเมล็ดพันธุ์พืชพื้นเมือง พันธุ์ดั้งเดิม พืชป่าทุกชนิด พืชการค้าที่ไม่ได้รับการคุ้มครองไปปลูกต่อได้เหมือนเดิม ส่วนพันธ์พืชใหม่ที่ได้รับการจดทะเบียนคุ้มครอง มีข้อยกเว้นโดยอนุญาตให้เกษตรกรสามารถนำพันธุ์พืชใหม่ไว้ใช้เพาะปลูกต่อในพื้นที่ของตนได้[6]
โดยสรุป การเข้าเป็นสมาชิก CPTPP เป็นเรื่องท้าทายความสามารถและสติปัญญาของประเทศ มีทั้งได้ทั้งเสีย ทั้งนี้ การแข่งขันทางการค้าและการลงทุนในระบบเศรษฐกิจเสรี ผู้ที่แข็งแรงกว่าในด้านสมอง เงินทุน ประสบการณ์ และความมุ่งมั่นย่อมอยู่ในฐานะได้เปรียบผู้ที่อ่อนแอกว่า
อีกประการหนึ่ง เรื่องการจัดตั้งกลุ่มในทางเศรษฐกิจ บางครั้งก็มีเรื่องการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เช่น กรณีของ TPP ที่เป็นต้นกำเนิดของ CPTPP เดิมทีเป็นความพยายามของสหรัฐอเมริกาสมัยรัฐบาลโอบามา ต้องการจะกีดกันจีนออกจากเขตเศรษฐกิจในประเทศทุนนิยมเสรี แต่บังเอิญผู้นำคนต่อมาของสหรัฐอเมริกามีนโยบายต่อต้านระบบโลกาภิวัตน์ จึงได้ถอนตัวออกจากการเป็นสมาชิก TPP
อ้างอิง
[1] SCB EIC “ไทยจะได้ประโยชน์อะไรจากการเข้าร่วม CPTPP” นิตยสารการเงินธนาคาร พฤษภาคม 2018 . SCB.com (2021/06/11)
[2] Japan-Vietnam Summit Meeting, November 10,2017 (mofa.go.jp), 2021/06/11
[3] SCB EIC “ไทยจะได้ประโยชน์อะไรจากการเข้าร่วม CPTPP”
[4] ไทยเข้าร่วม CPTPP ได้หรือเสีย (mreport.co.th)
[5]SCB EIC “ไทยจะได้ประโยชน์อะไรจากการเข้าร่วม CPTPP” และดู รีบรู้ก่อนสาย CPTPP คืออะไร wongnai.com , 6 พฤษภาคม 2021/ ค้นหา 12/06/2564
[6] พาณิชย์ขอสยบดราม่า ชี้แจง 10 ข้อกังวล หวังสังคมเข้าใจอย่างถูกต้อง 27 เมษายน 2563 (sanook.com), 12/10/2563