Blind Trust ในการเมืองไทย
เรียบเรียง:
1.รองศาสตราจารย์ ดร.กตัญญู แก้วหานาม
2.อาจารย์ ดร. นพพล อัคฮาด
3.ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. พิมพ์ลิขิต แก้วหานาม
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ ดร.สติธร ธนานิธิโชติ
Blind Trust ในการเมืองไทย
ในช่วงที่ประกาศพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งทั่วไป ส.ส. พ.ศ. 2562 ได้เป็นข่าวที่โด่งดังในช่วงนั้นเรื่องหนึ่งคือเรื่องของ Blind Trust ที่นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ขณะนั้น ได้ตัดสินใจโอนทรัพย์สินมูลค่าหลายพันล้านบาทให้กับ บริษัท หลักทรัพย์จัดการกองทุนภัทร จำกัด ดูแลและบริหารสินทรัพย์ให้ ซึ่งถือเป็นการสร้างจริยธรรมของนักการเมืองไทยให้สูงขึ้นในเรื่องการขัดกันแห่งผลประโยชน์และความโปร่งใสของนักการเมือง ซึ่งจะได้อธิบายเรื่องของ Blind Trust ดังกล่าวดังต่อไปนี้
1. ความหมาย หรือ แนวคิด
“Blind Trust” ถือเป็นกองทุนอีกรูปแบบหนึ่งที่มีขึ้นเพื่อช่วยแก้ปัญหา “ผลประโยชน์ทับซ้อน”
หรือ “การขัดกันของผลประโยชน์” (Conflict of interest) ที่อาจเกิดขึ้นเมื่อนักธุรกิจหันมาเล่นการเมือง
โดยผู้ดูแลกองทุนจะทำหน้าที่บริหารทรัพย์สินดังกล่าวในระหว่างที่เจ้าของทรัพย์สินอยู่ในตำแหน่งทางการเมือง โดยตลอดช่วงเวลาดังกล่าวเจ้าของทรัพย์สินจะไม่ทราบเลยว่าทรัพย์สินของตนถูกนำไปบริหารจัดการอย่างไร เป็นการเพิ่มความโปร่งใสและลดข้อครหาว่าผู้มีตำแหน่งทางการเมืองออกนโยบายเพื่อผลประโยชน์ของตนเอง ทั้งนี้ ในช่วงก่อนเข้าดำรงตำแหน่งทางการเมือง ทรัพย์สินจะถูกนำไปไว้ในกองทุนทรัสต์ (Trust) ซึ่งมีผู้ดูแลกองทุนมืออาชีพเป็นผู้ดูแลหลังจากนั้นเมื่อนักการเมืองคนดังกล่าวเข้าไปทำหน้าที่ในสภาหรือมีตำแหน่งทางการเมืองใดๆ ผู้จัดการกองทุนจะเป็นผู้ดูแลและบริหารจัดการทรัพย์สินดังกล่าว โดยที่เจ้าของทรัพย์สินซึ่งมีตำแหน่งทางการเมืองจะไม่ทราบว่าทรัพย์สินดังกล่าวถูกบริหารจัดการอย่างไร (Blind) ด้วยเหตุนี้กองทุนจึงถูกเรียกว่า “Blind Trust” เพราะเจ้าของเงินไม่รู้และไม่มีสิทธิ์จัดการทรัพย์สินของตนเอง เมื่อไม่ทราบว่าทรัพย์สินถูกบริหารจัดการอย่างไร เช่น ไม่รู้ว่าเงินของตนถูกนำไปซื้อหุ้นตัวไหน เมื่อเป็นเช่นนั้นเจ้าของทรัพย์สินก็ไม่สามารถออกนโยบายที่จะเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับหุ้นที่ตนเองได้ประโยชน์ได้ ถือเป็นแนวทางการเพิ่มความโปร่งใสของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และเมื่อพ้นจากตำแหน่งทางการเมืองแล้ว ผู้จัดการกองทุนก็จะส่งมอบทรัพย์สินใน“Blind Trust” กลับคืนให้แก่เจ้าของทรัพย์สิน
ซึ่งอาจจะได้ผลงอกเงยขึ้นกว่าเดิมหรือขาดทุนก็ได้[1]
จากคำอธิบายข้างต้นจะเห็นได้ว่า Blind Trust คือ กองทุนทรัสต์ (Trust) รูปแบบหนึ่ง โดยการจัดตั้งกองทุนทรัสต์ เป็นเหมือนการมอบทรัพย์สินของเราไปให้ผู้อื่นบริหารจัดการแทน ซึ่งก็คือ นักบริหารกองทุนมืออาชีพนั่นเอง และโดยปกติแล้วคนดูแลกองทรัสต์ จะต้องคอยรายงานเจ้าของทรัพย์สินว่าใช้เงินลงทุนไปกับอะไรบ้าง เช่น ซื้อหุ้น ซื้อกองทุนรวมอะไร เดือนนี้มีกำไร-ขาดทุนจากตัวไหน แต่ Blind Trust แตกต่างออกไป เนื่องจากผู้ที่โอนทรัพย์สินเข้ากองทรัสต์นี้ จะไม่สามารถควบคุม สั่งการ มองเห็น แนวทางการลงทุนของผู้จัดการกองทรัสต์ได้ เช่นเดียวกันในส่วนของผู้บริหารกองทรัสต์ ก็จะไม่ทราบด้วยว่ากำลังบริหารทรัพย์สินของใครอยู่ ทั้งนี้ เจ้าของทรัพย์สินจะเห็นมูลค่าทรัพย์สินของตัวเอง ก็ต่อเมื่อสิ้นสุดสัญญาหรือพ้นตำแหน่งทางการเมืองแล้วเท่านั้น ซึ่งอาจจะงอกเงยหรือขาดทุนก็ได้ เพราะว่า Blind Trust ออกแบบมาให้เจ้าของทรัพย์สินและผู้ดูแลทรัพย์สินเป็นอิสระต่อกัน เพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนต่าง ๆ และการออกกฎหมายเอื้อผลประโยชน์ต่อกัน ซึ่งมักจะเกิดขึ้นในกลุ่มผู้มีอำนาจทางการเมือง แต่อย่างไรก็ตาม Blind Trust ยังไม่มีกฎหมายไทยรองรับ เพราะแม้ Blind Trust จะเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นในแวดวงการเมืองต่างประเทศ
แต่สำหรับประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายรองรับการทำ Blind Trust โดยเฉพาะ รวมถึงยังไม่มีกฎหมายบังคับให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต้องทำ Blind Trust ระบุเพียงแต่ว่า ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต้องไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนในการถือหุ้นบริษัทที่รับสัมปทานจากรัฐ และรัฐมนตรีจะต้องโอนทรัพย์สินให้บริษัทจัดการทรัพย์สินเป็นผู้ดูแล ดังนั้น นักการเมืองไทยส่วนใหญ่จึงนิยมจัดการทรัพย์สินของตัวเองในรูปแบบกองทุนส่วนบุคคล หรือ "Private Fund" มากกว่า โดยเป็นการโอนทรัพย์สินให้บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนเป็นผู้ดูแล แต่ก็ยังคงมีสิทธิ์ในการมองเห็น หรือกำหนดทิศทางการลงทุนอยู่
2. ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น
เมื่อวันที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2562 ผู้สื่อข่าวรายงานเรื่อง blind trust จากการที่นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ในขณะนั้น ได้ลงนามมอบหมายให้บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนแห่งหนึ่งเข้าไปบริหารสินทรัพย์ของตนเอง โดยไม่มีอำนาจสั่งการ และมองไม่เห็น โดยระบุว่า เพื่อต้องการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ด้วยความซื่อสัตย์และสุจริต ไม่เบียดบังเวลาราชการไปประกอบธุรกิจ
และปฏิเสธการใช้ช่องว่างของบทบัญญัติแห่งกฎหมายในการกระทำอันเป็นการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนตนกับผลประโยชน์ส่วนรวม จึงเกิดปรากฏการณ์ที่ผู้คนในสังคมให้ความสนใจกับเรื่อง blind trust อย่างมากซึ่งได้มีความเห็นของผู้รู้ในวงการทางด้านการเงินและการลงทุนได้ให้ความเห็นไว้ดังนี้
นางวรวรรณ ธาราภูมิ ประธานกรรมการบริหาร บริษัทหลักทรัพย์การจัดการกองทุนรวม บัวหลวง จำกัด โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก ระบุว่า ที่นายธนาธรระบุทั้งหมดนั้น เป็นเรื่องที่ดีมาก และสมควรชื่นชม
แต่ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ เพราะนักการเมืองหลายคนเขาก็ทำ ซึ่งไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบ blind trust
หรือ private fund ต่างก็สามารถระบุเจตจำนงในสัญญาบริการได้ทั้งหมด โดยนางวรวรรณยังระบุอีกว่า เราก็เคยบริหาร private fund ให้อดีตรัฐมนตรีบางท่าน ซึ่งปัจจุบันกำลังลงเลือกตั้งในยุคนี้ สัญญาจัดการ private fund ก็ไม่ต่างจากที่นายธนาธรระบุ นอกจากนี้ ยังครอบคลุมไปถึงหุ้นบริษัทนอกตลาดอีกด้วย โดยที่ในระหว่างบริหาร private funds เหล่านี้ รัฐมนตรีและบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้องก็มิได้เข้ามาบงการหรือยุ่งเกี่ยวอะไรเลย นายธนาธรทำในสิ่งที่ถูกต้องแล้ว เพียงแต่ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่อะไร เพราะมีนักการเมืองและรัฐมนตรีหลายคนเขาทำกันอยู่แล้ว ถึงจะไม่ได้ทำในรูปแบบ blind trust แต่เนื้อหามิได้ต่างกันและบางท่านก็ทำเข้มงวดกว่า
ด้านนางสาวสฤณี อาชวานันทกุล นักเขียน นักแปล และนักวิชาการอิสระด้านการเงิน โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กระบุถึงกรณีเดียวกันนี้ว่า การจัดการป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อนเป็นเรื่องใหญ่และเรื่องสำคัญที่นักการเมืองผู้มาจากภาคธุรกิจควรใส่ใจ เพื่อไม่ให้เกิดข้อครหาว่ามุ่งคอร์รัปชันเชิงนโยบาย หรือใช้ข้อมูลภายในไปซื้อหุ้นทำกำไร เรื่องนี้ รัฐธรรมนูญและกฎหมายไทยก็ให้ความสำคัญมาตลอด โดยนางสาวสฤณี ยังระบุด้วยว่า การโอนหุ้นให้คนอื่นบริหารแทนนี้ กฎหมายไทยก็เปิดช่องให้ทำได้ โดย พระราชบัญญัติการจัดการหุ้นส่วนและหุ้นของรัฐมนตรี ซึ่งออกบังคับใช้ตั้งแต่ พ.ศ. 2543 แต่กฎหมายนี้กำหนดเฉพาะระดับรัฐมนตรีเท่านั้น
ไม่รวม ส.ส. และ ส.ว. และไม่ได้ระบุว่าต้องเป็น blind trust ระบุแค่หลวมๆ ว่า ให้โอนให้กองทุนส่วนบุคคลบริหารได้ ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 184 ระบุว่าห้ามไม่ให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทที่ได้รับสัมปทานจากภาครัฐหรือเป็นคู่สัญญากับรัฐ ไม่ว่าจะโดยทางตรงหรือทางอ้อม รวมทั้งไม่ขัดขวางหรือแทรกแซงการใช้สิทธิหรือเสรีภาพของหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนโดยมิชอบ[2]
สำหรับกรณีของนักการเมืองไทยโดยส่วนใหญ่แล้วจะใช้บริการบริหารกองทุนส่วนบุคคล หรือที่เรียกว่า Private Fund ในการบริหารทรัพย์สินของตัวเองผ่านบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ซึ่งมีกฎหมายรองรับคือ พระราชบัญญัติการจัดการหุ้นส่วนและหุ้นของรัฐมนตรี โดยในรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาในขณะนั้นมีผู้ที่ใช้บริการ เช่น นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ นายณรงค์ชัย อัครเศรณี และหม่อมราชวงศ์ปรีดิยาธร เทวกุล หรือก่อนหน้านี้รัฐบาลของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร หรือแม้แต่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็มีนักการเมืองที่ใช้บริการกองทุนส่วนบุคคล จากบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนต่างๆ เช่นกัน นอกจากนี้ยังมีนักการเมืองไทยที่ออกมากล่าวว่าเขาเองก็ใช้ Blind Trust ของต่างประเทศคือนายกรณ์ จาติกวณิช แต่ปัจจุบันได้เลิกใช้ไปแล้ว เนื่องจากต้องการความโปร่งใส
สำหรับกรณีของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ในขณะนั้น อย่างที่ได้กล่าวไปว่า ในประเทศไทยไม่มีกฎหมายรองรับตรงนี้ สิ่งที่หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ทำนั้นคือการตั้ง Private Fund โดยได้ให้ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนภัทร จำกัด เป็นผู้บริหารทรัพย์สินให้ แต่สิ่งที่แตกต่างของกรณีของนายธนาธร กับนักการเมืองคนอื่นๆ คือเรื่องของ MOU ที่จัดทำระหว่างอดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ กับบริษัท หลักทรัพย์จัดการกองทุนภัทร จำกัด นั้นเป็นการเปิดเผยเงื่อนไขให้ประชาชนได้รับทราบถึงเรื่องนี้
ซึ่งโครงสร้างสัญญาเหมือนกับ Blind Trust ได้แก่
1) นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ จะไม่สามารถกระทำการใดๆ ที่มีลักษณะเป็นการเข้าไปบริหาร ครอบงำ หรือออกคำสั่งเกี่ยวกับการจัดการทรัพย์สินทั้งหมดของตนเองได้
2) เพื่อป้องกันปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อน บริษัทจะต้องไม่เปิดเผยข้อมูลรายละเอียดให้นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หรือบุคคลอื่นใดได้รับทราบถึงรายละเอียดการบริหารจัดการทรัพย์สินทั้งหมด
3) บริษัทจะต้องไม่เข้าไปลงทุนเป็นหุ้นส่วนในบริษัทที่เป็นคู่ค้ากับรัฐบาล รัฐวิสาหกิจ หน่วยงานราชการ หรือหน่วยงานรัฐใดๆ
นอกจากนี้ถ้าหากนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ในขณะนั้น วางมือจากทางการเมืองแล้ว อีก 3 ปีถัดไปถึงจะสามารถไถ่ถอนสินทรัพย์ทั้งหมดออกมาได้
จากเจตจำนงของนายธนาธรดังกล่าว ทางด้านนายบรรยง พงษ์พานิช ประธานบริษัทหลักทรัพย์ภัทร จำกัด (มหาชน) ได้โพสต์ถึงเรื่องนี้ว่า “ผมขอขอบคุณความไว้วางใจที่มอบให้ครับ เราจะทำหน้าที่ให้ดีที่สุดภายใต้เงื่อนไขที่ตกลงกันทุกประการ เพื่อให้แยกผลประโยชน์ส่วนตัวออกจากการทำงานด้านการเมือง
ซึ่งสำหรับเราเป็นการทำหน้าที่ตามวิชาชีพการจัดการการลงทุนตามปกติ ไม่ได้เป็นการเลือกข้าง เลือกพรรค เราสนับสนุนการสร้างบรรทัดฐานที่ดีเช่นนี้ในการเมืองไทย และยินดีที่จะทำหน้าที่ดังกล่าวให้กับทุกคน
ทุกพรรค ที่มีเจตนาและความตั้งใจจะดำเนินการในลักษณะเดียวกันนะครับ”
นอกจากนี้ในเรื่องของภาษีนั้น ต่อมากรมสรรพากรได้ออกมาชี้แจงในกรณีที่มีข้อครหาถึงเรื่อง Blind Trust ของอดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ที่มีการโอนทรัพย์สินให้ บริษัทหลักทรัพย์ภัทร จำกัด (มหาชน)
ดูแลเหมือนเป็นการหลีกเลี่ยงภาษีนั้น อธิบดีกรมสรรพากรได้ชี้แจงว่า เรื่องดังกล่าวสามารถตรวจสอบได้และต้องเสียภาษีเช่นกัน[3]
3. หลักการสำคัญ / ความสำคัญ
“Blind Trust” ถือเป็นกองทุนอีกรูปแบบหนึ่งที่มีขึ้นเพื่อช่วยแก้ปัญหา “ผลประโยชน์ทับซ้อน”
หรือ “การขัดกันของผลประโยชน์” (Conflict of interest) ที่อาจเกิดขึ้นเมื่อนักธุรกิจหันมาเล่นการเมือง
โดยผู้ดูแลกองทุนจะทำหน้าที่บริหารทรัพย์สินดังกล่าวในระหว่างที่เจ้าของทรัพย์สินอยู่ในตำแหน่งทางการเมือง โดยตลอดช่วงเวลาดังกล่าวเจ้าของทรัพย์สินจะไม่ทราบเลยว่าทรัพย์สินของตนถูกนำไปบริหารจัดการอย่างไร เป็นการเพิ่มความโปร่งใสและลดข้อครหาว่าผู้มีตำแหน่งทางการเมืองออกนโยบายเพื่อผลประโยชน์ของตนเอง ทั้งนี้ ในช่วงก่อนเข้าดำรงตำแหน่งทางการเมือง ทรัพย์สินจะถูกนำไปไว้ในกองทุนทรัสต์ (Trust) ซึ่งมีผู้ดูแลกองทุนมืออาชีพเป็นผู้ดูแลหลังจากนั้นเมื่อนักการเมืองคนดังกล่าวเข้าไปทำหน้าที่ในสภาหรือมีตำแหน่งทางการเมืองใดๆ ผู้จัดการกองทุนจะเป็นผู้ดูแลและบริหารจัดการทรัพย์สินดังกล่าว โดยที่เจ้าของทรัพย์สินซึ่งมีตำแหน่งทางการเมืองจะไม่ทราบว่าทรัพย์สินดังกล่าวถูกบริหารจัดการอย่างไร (Blind) ด้วยเหตุนี้กองทุนจึงถูกเรียกว่า “Blind Trust” เพราะเจ้าของเงินไม่รู้และไม่มีสิทธิ์จัดการทรัพย์สินของตนเอง เมื่อไม่ทราบว่าทรัพย์สินถูกบริหารจัดการอย่างไร เช่น ไม่รู้ว่าเงินของตนถูกนำไปซื้อหุ้นตัวไหน เมื่อเป็นเช่นนั้นเจ้าของทรัพย์สินก็ไม่สามารถออกนโยบายที่จะเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับหุ้นที่ตนเองได้ประโยชน์ได้ ถือเป็นแนวทางการเพิ่มความโปร่งใสของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และเมื่อพ้นจากตำแหน่งทางการเมืองแล้ว ผู้จัดการกองทุนก็จะส่งมอบทรัพย์สินใน“Blind Trust” กลับคืนให้แก่เจ้าของทรัพย์สิน
ซึ่งอาจจะได้ผลงอกเงยขึ้นกว่าเดิมหรือขาดทุนก็ได้[4]
สำหรับกรณีของ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เนื่องจากไทยไม่มีกฎหมายรองรับโดยตรงในส่วนนี้นี้ เขาจึงเลือกใช้วิธีตั้ง Private Fund โดยให้บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ภัทร จำกัด เป็นผู้บริหารทรัพย์สินแทน
จากนั้นจึงประกาศทำ MOU เปิดเผยต่อสาธารณะให้ประชาชนรับทราบร่วมกัน ว่ารูปแบบการบริหาร Private Fund ก้อนนี้ จะมีเงื่อนไขต่าง ๆ เหมือน Blind Trust เพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ใจ โดยเงื่อนไขระหว่างนายธนาธร กับบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ภัทร มีดังนี้
1. นายธนาธรจะไม่สามารถกระทำการใด ๆ ที่มีลักษณะเป็นการเข้าไปบริหาร ครอบงำ หรือออกคำสั่งเกี่ยวกับการจัดการทรัพย์สินทั้งหมดของตนเองได้
2. เพื่อป้องกันปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อน บริษัทจะต้องไม่เปิดเผยข้อมูลรายละเอียดให้นายธนาธรหรือบุคคลอื่นใดได้รับทราบถึงรายละเอียดการบริหารจัดการทรัพย์สินทั้งหมด
3. บริษัทจะต้องไม่เข้าไปลงทุนเป็นหุ้นส่วนในบริษัทที่เป็นคู่ค้ากับรัฐบาล รัฐวิสาหกิจ หน่วยงานราชการ หรือหน่วยงานรัฐใด ๆ
4. บริษัทจะต้องไม่เข้าไปลงทุนในตลาดหุ้นไทยทุกตัว หรือหากจะลงทุนในหุ้น ต้องเป็นตลาดหุ้นต่างประเทศเท่านั้น เพื่อจำกัดข้อครหาทุกกรณี
5. นายธนาธรจะได้กรรมสิทธิ์การบริหารจัดการทรัพย์สินกลับมาเป็นของตัวเอง จนกว่าจะพ้นตำแหน่งการเมืองไปแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี
อย่างไรก็ตาม นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร ได้ให้ข้อมูลว่า การโอนทรัพย์สินไว้ใน Blind Trust ถือเป็นการบริหารจัดการทรัพย์สินปกติเหมือนกองทุนต่าง ๆ ต้องขออนุญาตจากทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ซึ่งผู้จัดการกองทุนต้องทำหน้าที่ส่งข้อมูล ทั้งเรื่องของภาษี เงินปันผล และผลตอบแทนทุกประเภทให้กรมสรรพากร ดังนั้น การตั้ง Blind Trust จึงไม่ใช่วิธีที่จะหลบเลี่ยงภาษีได้ โดยผู้ที่โอนทรัพย์สิน ไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดา หรือนิติบุคคล ยังมีภาระหน้าที่เสียภาษีอยู่เหมือนเดิม ไม่สามารถละเว้นได้ และถ้าไม่เสียภาษีให้ถูกต้อง ทางกรมสรรพากรก็ต้องเข้าไปตรวจสอบ[5]
4. สรุป
“Blind trust หรือ บลายด์ ทรัสต์ คือการที่นักการเมืองนำทรัพย์สินของตนเองไปให้นิติบุคคล
หรือบริษัทจัดการทรัพย์สินทำหน้าที่ดูแลผลประโยชน์ โดยที่นักการเมืองไม่สามารถควบคุม หรือรับรู้ข้อมูลระหว่างดำรงตำแหน่งทางการเมือง จนกว่าจะพ้นตำแหน่ง เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดผลประโยชน์ทับซ้อน นอกจากนี้ บริษัทจะไม่เปิดเผยข้อมูลรายละเอียดให้นักการเมืองหรือบุคคลอื่นใดได้รับทราบถึงรายละเอียดการบริหารจัดการทรัพย์สินทั้งหมด ด้วยเหตุนี้ "Blind trust" จึงเป็นเครื่องมือการจัดการทรัพย์สินของนักการเมืองที่นำทรัพย์สินตนเองไปให้บริษัทจัดการทรัพย์สินดูแล โดยไม่เข้าไปบริหารหรือครอบงำ ซึ่งในต่างประเทศที่เป็นประชาธิปไตยส่วนใหญ่แล้ว นักการเมืองจะยึดถือเป็นธรรมเนียมและจริยธรรมที่ต้องปฏิบัติ และในประเทศไทยได้เป็นข่าวที่โด่งดังในช่วงที่ผ่านมาคือเรื่องของ Blind Trust ที่นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ขณะนั้น ได้ตัดสินใจโอนทรัพย์สินมูลค่าหลายพันล้านบาทให้กับ บริษัท หลักทรัพย์จัดการกองทุนภัทร จำกัด ดูแลและบริหารสินทรัพย์ให้ โดยเจ้าตัวไม่สามารถสั่งการ หรือยุ่งเกี่ยว จนจะพ้นจากตำแหน่งการเมือง 3 ปีไปแล้ว ซึ่งถือเป็นการสร้างจริยธรรมของนักการเมืองไทยให้สูงขึ้นในเรื่องการขัดกันแห่งผลประโยชน์และความโปร่งใสของนักการเมืองขึ้นอีกรูปแบบหนึ่งนั่นเอง
5. บรรณานุกรม
“มาทำความรู้จัก Blind Trust ซึ่ง ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ โอนทรัพย์สินให้ดูแลและจัดการ”, สืบค้นจาก
https://brandinside.asia/bi-knowledge-blind-trust/?fbclid=IwAR29HATCRruduQyBawYy-vR38koc085lFf3lC3fRBpdw8PHeoQs-IVuzgBI, เข้าถึงเมื่อ 1 กรกฎาคม 2563
“รู้จัก "blind trust" แนวทางจัดการทรัพย์สินของนักการเมือง”,สืบค้นจาก
https://news.thaipbs.or.th/content/278493?fbclid=IwAR0rkWgs0Lv8QNDxEz8HOUkyjaUTKv_tepDpnZIdfK3UtEXt06oofr3kajk, เข้าถึงเมื่อ 1 กรกฎาคม 2563
“รู้จัก Blind Trust อีกหนึ่งมาตรฐานป้องกันนักการเมืองหาประโยชน์ใส่ตัว”. สืบค้นจาก
http://workpointnews.com/2019/03/18/รู้จัก-blind-trust-อีกหนึ่งมาตรฐาน/, เข้าถึงเมื่อ 1 กรกฎาคม 2563
“Blind Trust คืออะไร ? มารู้จักวิธีจัดการทรัพย์สินของนักการเมือง”, สืบค้นจาก
https://money.kapook.com/view207753.html?fbclid=IwAR3kUtMGQQnUOSx2eZfwTzXv0XzRMJ4tyoS1iBU-sVBAQG-JbN_mfnZdBd0, เข้าถึงเมื่อ 1 กรกฎาคม 2563
[1]“รู้จัก Blind Trust อีกหนึ่งมาตรฐานป้องกันนักการเมืองหาประโยชน์ใส่ตัว”. สืบค้นจาก http://workpointnews.com/2019/03/18/รู้จัก-blind-trust-อีกหนึ่งมาตรฐาน/, เข้าถึงเมื่อ 1 กรกฎาคม 2563
[2]“รู้จัก "blind trust" แนวทางจัดการทรัพย์สินของนักการเมือง”,สืบค้นจาก
https://news.thaipbs.or.th/content/278493?fbclid=IwAR0rkWgs0Lv8QNDxEz8HOUkyjaUTKv_tepDpnZIdfK3UtEXt06oofr3kajk, เข้าถึงเมื่อ 1 กรกฎาคม 2563
[3]“มาทำความรู้จัก Blind Trust ซึ่ง ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ โอนทรัพย์สินให้ดูแลและจัดการ”, สืบค้นจาก
https://brandinside.asia/bi-knowledge-blind-trust/?fbclid=IwAR29HATCRruduQyBawYy-vR38koc085lFf3lC3fRBpdw8PHeoQs-IVuzgBI, เข้าถึงเมื่อ 1 กรกฎาคม 2563
[4]“รู้จัก Blind Trust อีกหนึ่งมาตรฐานป้องกันนักการเมืองหาประโยชน์ใส่ตัว”. สืบค้นจาก http://workpointnews.com/2019/03/18/รู้จัก-blind-trust-อีกหนึ่งมาตรฐาน/, เข้าถึงเมื่อ 1 กรกฎาคม 2563
[5]“Blind Trust คืออะไร ? มารู้จักวิธีจัดการทรัพย์สินของนักการเมือง”, สืบค้นจาก
https://money.kapook.com/view207753.html?fbclid=IwAR3kUtMGQQnUOSx2eZfwTzXv0XzRMJ4tyoS1iBU-sVBAQG-JbN_mfnZdBd0, เข้าถึงเมื่อ 1 กรกฎาคม 2563