Belt and Road Initiative
ผู้เรียบเรียง : ณัชชาภัทร อมรกุล
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.ไชยวัฒน์ ค้ำชู
BRI ย่อมาจาก Belt and Road Initiative หรือข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง หรือที่เรียกติดปากในประเทศไทยว่า โครงการเส้นทางสายไหมใหม่ ก่อนหน้านี้เป็นที่รู้จักกันในนาม One Belt One Road Initiative (OBOR) เป็นโครงการพื้นฐานที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์โลก มีจุดมุ่งหมายเพื่อส่งเสริมเส้นทางทางการค้าและภายในประเทศตามเส้นทางสายไหมเดิม เพื่อเชื่อมโยงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ยุโรป และสหรัฐอเมริกา ข้อริเริ่มนี้ได้ถูกกล่าวถึงโดยประธานาธิบดีสีจิ้นผิงมาตั้งแต่ ค.ศ. 2013 โดยการปลุกฟื้นชีพให้กับเส้นทางสายใหม่ ต้องการจัดสรรทรัพยากรที่มีประสิทธิภาพ บูรณาการการตลาดอย่างลึกซึ้ง ประสานงานนโยบายเศรษฐกิจตลอดจนส่งเสริมความร่วมมือระดับภูมิภาคในเชิงลึก โดย BRI นี้มีความสำคัญอย่างยิ่งยวด โดยได้ถูกนำมาใส่ไว้ใน ‘ธรรมนูญพรรคคอมมิวนิสต์จีน’ ตั้งแต่ ค.ศ. 2017 ซึ่งแสดงให้เห็นว่า BRI เป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญที่ผู้นำจีนให้ความสำคัญอย่างที่สุด
โครงการ BRI ประกอบด้วยสองเส้นทางหลัก ได้แก่ เส้นทางสายไหมทางบก และเส้นทางสายไหมทางทะเล โดยเส้นทางสายไหมทางบก เป็นเส้นทางที่เชื่อมโยงจีนกับยุโรป ผ่านเอเชียกลางและตะวันออกกลาง เส้นทางนี้ได้รับแรงบันดาลใจมาจากเส้นทางสายไหมโบราณ ที่เคยใช้ในการค้าและการเดินทางระหว่างตะวันออกและตะวันตก ส่วนเส้นทางสนายไหมทางทะเลเป็นเส้นทางสายไหมที่เชื่อมโยงระหว่างจีนกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียใต้ แอฟริกาและยุโรป ผ่านทางมหาสมุทรอินเดียและทะเลเมดิเตอร์เรเนียน
The Green Finance & Development Center ภายใต้ Fanhai International School of Finance (FISF) at Fudan University, Shanghai, China ได้อธิบายถึงวัตถุประสงค์หลักของ BRI ได้แก่ (The Green Finance and Development Center, 2021)
1. การสร้างความเชื่อมโยงทางนโยบาย (policy coordination) : เพื่อให้ประเทศต่าง ๆ ที่เข้าร่วมโครงการมีการปรับปรุงและประสานนโยบายต่าง ๆ (Ye, 2022) เพื่อให้สอดคล้องและมีประสิทธิภาพในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในระดับนานาชาติ ช่วยลดความขัดแย้งระหว่างประเทศ โดยทำให้มีความเข้าใจที่เหมาะสมและการเสริมสร้างความสามารถในการเรียนรู้ร่วมกัน และช่วยเสริมความเสถียรภาพในระบบนโยบาย โดยการปรับปรุงการทำงานของระบบต่าง ๆ เพื่อให้สามารถรับมือกับความท้าทายที่เกิดขึ้นได้
2. การสร้างความเชื่อมโยงด้านโครงสร้างพื้นฐาน (facilities connectivity) : คือการเชื่อมโยงสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ เพื่อเชื่อมโยงและส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศ โดยมีการเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ท่าเรือ สนามบิน ถนน และระบบขนส่งสาธารณะ ช่วยสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมสำหรับการลงทุนและการพัฒนาเศรษฐกิจ
3. การลดอุปสรรคทางการค้า (unimpeded trade) : ลดอุปสรรคทางการค้า ช่วยเพิ่มการเจรจาทางการค้าระหว่างประเทศ สามารถนำเข้าและส่งออกสินค้าได้โดยสะดวก รวดเร็ว โดยลดทอนกฎหมายที่ซับซ้อนและอุปสรรคอื่น ๆ ช่วยเพิ่มความสะดวกในการทำธุรกิจระหว่างประเทศ ทำให้ลูกค้าและผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ
4. การเสริมสร้างความร่วมมือทางการเงิน (financial integration) : เป็นการสนับสนุนและอำนวยความสะดวกด้านการเงินและการลงทุน เพิ่มความเป็นเอกภาพในการดำเนินธุรกิจและการลงทุนทั้งในระดับประชาชาติและนานาชาติ เป็นการลดความเสี่ยงทางการเงิน ทำให้ประเทศมีความสามารถในการดำเนินการเงินและลงทุนได้มากขึ้น นอกจากนี้ยังสร้างโอกาสในการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยเพิ่มความสะดวกในการเข้าถึงทุนและทรัพยากรทางการเงินต่าง ๆ และเพิ่มความเชื่อมโยงระหว่างตลาดการเงินของประเทศต่าง ๆ
5. การสร้างความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล (people-to-people bonds) : กิจกรรมและนโยบายที่ส่งเสริมความเข้าใจและความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างประชาชนของประเทศต่าง ๆ ช่วยสร้างสัมพันธภาพและความสัมพันธ์ที่เข้มแข็งขึ้น ทำให้เกิดการร่วมมือกันในหลากหลายด้าน เช่น การศึกษา วัฒนธรรม การท่องเที่ยว และการพัฒนาเศรษฐกิจ เพื่อช่วยส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในระยะยาว
ในอดีตเส้นทางสายไหมมีบทบาทสำคัญในการสร้างความเชื่อมโยงและการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมและเศรษฐกิจระหว่างอารยธรรมต่าง ๆ ตลอดหลายพันปี และยังคงมีอิทธิพลต่อการพัฒนาและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในยุคปัจจุบัน
BRI เป็นโครงการที่มีค่าใช้จ่ายสูงมาก และยังมีขอบเขตทางภูมิศาสตร์ที่กว้างขวาง เนื่องจากกินอาณาเขตครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วโลก โครงการ BRI จึงเป็นโครงการที่เพิ่มความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับประเทศหลาย ๆ ประเทศมากขึ้น และถูกมองว่าเป็นโครงการที่ส่งผลกระทบให้เครือข่ายพันธมิตรระดับโลกเปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะเครือข่ายพันธมิตรที่นำโดยสหรัฐอเมริกาที่มีมาตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สอง โดยทำให้เครือข่ายพันธมิตรดั้งเดิมหันมาใกล้ชิดสนิทสนมกับจีนมากขึ้น (Lourdes Casanova, 2020)
ตามข้อมูลอย่างเป็นทางการของจีน ณ เดือนมิถุนายน 2023 จีนได้ลงนามในข้อตกลงความร่วมมือโครงการเส้นทางสายไหมใหม่กว่า 200 ฉบับกับ 152 ประเทศ และ 32 องค์กรระหว่างประเทศ โดยโครงการ BRI มีการเข้าร่วมรวมกันมากกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ตั้งแต่เริ่มในปี 2013 ทั้งนี้โครงการนี้ไม่ได้เป็นโครงการทางเศรษฐกิจเท่านั้น ถือว่าเป็นโครงการที่ส่งผลกระทบต่อระบบภูมิรัฐศาสตร์ของโลกอย่างเห็นได้ชัด และประสบความสำเร็จอีกด้วย เนื่องจากเป็นโครงการที่ขยายถึงแอฟริกา อเมริกากลาง และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงเกาะในมหาสมุทรแปซิฟิกใต้ โดยเปลี่ยนจากการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานในช่วงแรกเป็นการควบคุมพลังงาน และกลายเป็นฐานทัพสำคัญ จีนหวังที่จะขยายอิทธิพลทางการทูต ทหาร และการเมืองผ่านความพยายามของชาติ
แม้ว่าโครงการนี้จะช่วยประเทศกำลังพัฒนาในหลายๆ ด้าน แต่โครงการนี้ก็มีอุปสรรคอยู่บ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับข้อกล่าวหาในเรื่องการทำกับดักหนี้ผ่านทาง BRI ตัวอย่างที่มักอ้างอิงบ่อยคือศรีลังกา ซึ่งประกาศล้มละลายในปี 2022 จีนเป็นเจ้าหนี้ใหญ่ของศรีลังกา ร้อยเปอร์เซ็นต์ของหนี้รวมประมาณ 52 เปอร์เซ็นต์ หรือประมาณ 7.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ ศรีลังกากู้ยืมจากจีนเพื่อสร้างท่าเรือฮัมบันโตตา แต่ไม่สามารถชำระหนี้ได้ ในปี 2017 ท่าเรือลึกน้ำนี้จึงต้องให้จีนเช่าเป็นเวลา 99 ปี
นักวิชาการตะวันตกบางคนมองว่า โครงการ BRI ของจีนที่กำเนิดมาใน ค.ศ. 2013 อยู่ท่ามกลางบริบททางการทูตและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่มีปัญหาบางประการ นั่นก็คือ ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งในเรื่องดินแดนและการทหารในทะเลจีนตะวันออกและทะเลจีนใต้ พวกเขาจึงมองว่า โครงการ BRI เป็นส่วนหนึ่งของโครงการที่จีนหันหน้าไปทางตะวันตก เพื่อลดความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในเอเชียทะเลจีนด้วยการเสริมความเชื่อมโยงบนที่ดินยูเรเชียนและในช่วงนั้นจีนต้องเผชิญกับการขยายพื้นที่ทางเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาด้วยโครงการพันธมิตรทางการค้าทวีปแปซิฟิค (TPP) (Ye, 2022)
อ้างอิง
Lourdes Casanova, A. M. (2020). The Era of Chinese Multinationals: Competing for Global Dominance. Academic Press.
The Green Finance and Development Center. (2021). Green Finance & Development Center, FISF Fudan University. Retrieved from About the Belt and Road Initiative (BRI): https://greenfdc.org/belt-and-road-initiative-about/
Ye, M. (2022, September 6). Global Development Policy Center. (T. B. Center, Producer) Retrieved March 15, 2024, from Ten Years of the Belt and Road: Reflections and Recent Trends: https://www.bu.edu/gdp/2022/09/06/ten-years-of-the-belt-and-road-reflections-and-recent-trends/