AFTA

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ผู้เรียบเรียง : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พิชญ์อาภา พิศุทธ์เศรณี

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.ไชยวัฒน์ ค้ำชู

 

ความหมาย

          เขตการค้าเสรีอาเซียน (ASEAN Free Trade Area) หรือ AFTA เป็นความตกลง (Agreement) เพื่อจัดตั้งเขตการค้าเสรีระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์สิงคโปร์ ไทย บรูไน เวียดนาม ลาว พม่า และกัมพูชา ทั้งนี้ เขตการค้าเสรี (Free Trade Area) หมายถึง การทำความตกลงทางการค้า ของประเทศอาจเป็น 2 ประเทศ ซึ่งเรียกว่า “เขตการค้าเสรีทวิภาค” หรือเป็นกลุ่มประเทศ ซึ่งเรียกว่า “เขตการค้าเสรีพหุภาคี” เพื่อลดภาษีศุลกากรระหว่างกันภายในเขตการค้าเสรีลงให้เหลือน้อยที่สุด จนเป็น ร้อยละ 0  และใช้อัตราภาษีที่สูงกว่ากับประเทศนอกเขตการค้าเสรี การทำเขตการค้าเสรีในอดีตมุ่งในการเปิดเสรีด้านการค้าสินค้า (trade in goods) โดยการลดอุปสรรคที่เป็นภาษี (tariff barrier) และอุปสรรคที่ไมใช่ภาษี (non-tariff barrier)  แต่เขตการค้าเสรีในระยะหลัง ๆ รวมไปถึง
การเปิดเสรีด้านบริการ (services) และการลงทุนด้วย

 

ความเป็นมา

          เขตการค้าเสรีอาเซียน หรือ AFTA ริเริ่มขึ้นใน ค.ศ. 1992 ทั้งนี้เป็นผลจาก สภาพแวดล้อมทางการเมืองระหว่างประเทศและการเมืองในประเทศของประเทศต่าง ๆ และสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศในเวลานั้น กล่าวคือ การยุติลงของสงครามเย็นใน ค.ศ. 1989 ที่เคยแบ่งโลกออกเป็นขั้วเป็นฝ่าย เพราะความขัดแย้งทางอุดมการณ์ทางการเมืองระหว่างฝ่าย ประชาธิปไตย และ ฝ่ายคอมมิวนิสต์ ได้ยุติลงเพราะการล่มสลายของระบอบคอมมิวนิสต์ในยุโรปตะวันออก ตามมาด้วยการล่มสลายของสหภาพโซเวียตใน ค.ศ.1991 ทำให้อุปสรรคทางอุดมการณ์การเมืองที่ปิดกั้นการค้าระหว่างประเทศได้หายไปด้วย จึงเกิดการขยายตัวของการค้าระหว่างประเทศอย่างกว้างขวางอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน และมิใช่แค่เพียงการค้าระหว่างประเทศเท่านั้นที่ขยายตัว แต่ภาคส่วนอื่น ๆ ของเศรษฐกิจระหว่างประเทศก็เป็นไปอย่างคึกคึก เมื่อประกอบกับการที่มีความยืดเยื้อของการเจรจาในเวทีการประชุมระหว่างประเทศ ที่ชื่อว่า “ความตกลงทั่วไปว่าด้วยภาษีศุลกากรและการค้า” หรือ แกตต์ (General Agreement on Tariffs and Trade: GATT) รอบอูรูกวัยในบรรยากาศที่การแข่งขันในการค้าระหว่างประเทศทวีความรุนแรงขึ้นอย่างมาก ทำให้ประเทศต่าง ๆ หันไปดิ้นรนทำข้อตกลงร่วมมือทางการค้าระหว่างกันเองโดยไม่รอผลการประชุมของแกตต์ ทำให้ประเทศในภูมิภาคต่าง ๆ หันไปร่วมมือกันในระกับภูมิภาคดำเนินการจัดตั้งเขตการค้าเสรีในภูมิภาค[1] 

          ในส่วนของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศภายใต้บริบทของสงครามเย็นได้คลี่คลายลง ประเทศคอมมิวนิสต์ที่เคยต่อต้านทุนนิยมอย่างหนักได้ปรับเปลี่ยนนโยบายของประเทศเพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจและการเมืองระหว่างประเทศ ได้แก่ ลาวได้ดำเนินนโยบายจินตนาการใหม่เปิดกว้างเรื่องการค้าการลงทุน[2] เวียดนามได้ดำเนินนโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจ (Doi Moi) และแม้แต่พม่าที่เคยปิดประเทศก็มีนโยบายเปิดรับการลงทุนและการค้ากับต่างประเทศ[3]

          สถานการณ์เช่นนั้น ทำให้กลุ่มสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ อาเซียน ซึ่งเดิมมีสมาชิก 6 ประเทศ คือ ไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ บรูไน ดารุสซาลาม มีนโยบายที่ต้องการยกระดับความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกด้วยการจัดตั้งเขตการค้าเสรี และดำเนินการขยายจำนวนสมาชิกโดยเปิดรับ พม่า ลาว เวียดนาม และกัมพูชา เข้าร่วมอาเซียน เพื่อให้อาเซียนเป็นกลุ่มที่ครอบคลุมทั้งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างแท้จริง[4]

          AFTA มีเป้าหมายเพื่อมุ่งยกระดับและขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจการค้าระหว่างประเทศสมาชิก โดยมุ่งเน้นการส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศสมาชิกในอาเซียน เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน เพิ่มอำนาจต่อรองในระดับโลกและดึงดูดการลงทุนจากประเทศต่าง ๆ นอกอาเซียน และมีเป้าหมายเพื่อลดอุปสรรคทางการค้า (tariff barrier) ระหว่างประเทศสมาชิก AFTA โดยความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) มีผลบังคับใช้ เมื่อวันที่ 1 มกราคม ค.ศ.1993 โดยประเทศอาเซียนผู้ร่วมก่อตั้ง 6 ประเทศ (บรูไน อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์สิงคโปร์ และไทย) มีข้อผูกพันทางภาษีคือต้องลดภาษีสินค้าในบัญชีลดภาษี (inclusion list) คือรายการสินค้าที่นำมาทยอยลดภาษีให้เหลือ ร้อยละ 0-5 ใน ค.ศ. 2003 และลดเหลือ ร้อยละ 0 ใน ค.ศ. 2010 สำหรับสินค้าในบัญชีอ่อนไหว (sensitive list) และบัญชีอ่อนไหวสูง (highly sensitive list) จะไม่ลดภาษีเป็น ร้อยละ 0 เพื่อปกปองผู้ผลิตภายในประเทศและสินค้าในบัญชียกเว้นทั่วไป (general exception list) ไม่ต้องนำมาลดภาษี ส่วนประเทศอาเซียนใหม่ (กัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม) มีข้อผูกพันทางภาษีคือต้องลดภาษีศุลกากรสินค้าในบัญชีลดภาษี (inclusion list) ทยอยลดเหลือ ร้อยละ 0-5 ภายในกำหนดเวลา ดังนี้ เวียดนาม ค.ศ. 2006 พม่า ค.ศ. 2009 กัมพูชา ค.ศ. 2010 ต้องลดภาษีศุลกากรสินค้าในบัญชีอ่อนไหว (sensitive list) โดยเวียดนามทยอยลดภาษีใน ค.ศ. 2004 และให้เหลืออัตรา ร้อยละ 0 ภายในค.ศ. 2013 ส่วนลาวและพม่าจะเริ่มจาก ค.ศ. 2006 และจะลดเหลือ ร้อยละ 0 ใน ค.ศ. 2015 กัมพูชาเริ่มทยอยลดภาษีใน ค.ศ. 2008 และจะเหลือ ร้อยละ 0 ใน ค.ศ. 2017[5]

          ใน ค.ศ. 2018 ได้มีการจัดการประชุมคณะมนตรีเขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA Council) ครั้งที่ 32 มีประเทศสิงคโปร์เป็นเจ้าภาพ ซึ่งรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนได้ติดตามผลการดำเนินการด้านการค้าสินค้าของอาเซียนภายใต้แผนประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน โดยในส่วนการค้าสินค้าของสมาชิกนั้น พบว่าใน ค.ศ. 2017 การค้าโดยรวมของอาเซียนมีมูลค่ากว่า 2.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งได้เพิ่มขึ้น ร้อยละ 14 จากปีก่อนหน้า และสามารถจัดเป็นสัดส่วนการค้าระหว่างสมาชิกมากกว่า ร้อยละ 23 ซึ่งในปัจจุบันสินค้าของประเทศสมาชิกมากกว่า ร้อยละ 98.7 ของรายการทั้งหมดมีอัตราภาษีนำเข้าระหว่างกันเป็น ร้อยละ 0 อีกทั้งได้มอบหมายให้สมาชิกทบทวนความตกลงการค้าสินค้าของอาเซียน (ATIGA) เพื่อขยายสิทธิประโยชน์ที่ดีกว่าให้แก่สมาชิกอาเซียนโดยอัตโนมัติ ในกรณีที่สมาชิกอาเซียนบางประเทศได้ทำความตกลงการค้าเสรีกับประเทศอื่นภายนอกอาเซียนและให้สิทธิประโยชน์ประเทศอื่นนอกอาเซียนดีกว่าให้แก่สมาชิกอาเซียน[6]

 

ความขัดแย้งระหว่างประเทศสมาชิก  AFTA

          ความร่วมมือในกรอบ AFTA ไม่ได้มีความราบรื่นอย่างที่คาดหวัง ด้วยเหตุผลหลายประการ ได้แก่

          1. ประเทศสมาชิกมีสินค้าที่ใกล้เคียงกันมาก กล่าวคือ มีสภาพภูมิศาสตร์คล้ายคลึงกันจึงมีสินค้าเกษตรหรือแร่ธาตุที่คล้ายคลึงกัน จึงมีการแย่งตลาดกันเองและสินค้าส่วนใหญ่เป็นผลผลิตทางการเกษตรที่ยังไม่ได้แปรรูปทำให้ราคาสินค้าตกต่ำ นโยบายเขตการค้าเสรีในภูมิภาคนี้จึงดำเนินไปอย่างช้ามากจะแก้ไขปัญหานี้ได้จะต้องมีการแบ่งการผลิตตาม นอกจากนี้ สินค้าอุตสาหกรรมใน AFTA นั้นก็เป็นอุตสาหกรรมประเภทเดียวกัน แต่ละประเทศต่างก็มุ่งจะพัฒนาประเทศให้เป็นประเทศที่พัฒนาแล้วตามแบบอย่างตะวันตก จึงต้องมีการจัดซื้อเทคโนโลยีชั้นสูง ประเทศในกลุ่มอาเซียนที่พอจะผลิตสินค้าเทคโนโลยีได้ก็คือสิงคโปร์ แต่ประเทศสมาชิกก็เกี่ยงกันว่ายังไม่มีคุณภาพจึงจำเป็นทีจะต้องพึ่งพาสินค้าจากประเทศอุตสาหกรรมนอกกลุ่มอาเซียน ท้าให้การค้าขายระหว่างกันในกลุ่มอาเซียนทำได้ยาก วิธีการแก้ไขจะต้องมีการแบ่งงานกันทำและยอมรับสินค้าประเทศในภูมิภาคเดียวกันรวมทั้งจะต้องมีการพัฒนาคุณภาพสินค้าภายในประเทศอาเซียนให้ดีขึ้น[7]

          2. ประเทศสมาชิกปกป้องผลประโยชน์ภายในประเทศของตนเป็นหลัก  คือ แต่ละประเทศพยายามส่งเสริมพัฒนาและคุ้มครองอุตสาหกรรมในประเทศตน โดยการใช้กำแพงภาษีหรือกำหนดโควตาซึ่งสวนทางกับหลักการในการรวมกลุ่มและตลาดการค้าเสรี ซึ่งประเทศสมาชิกมารวมกลุ่มกันต้องยกเลิกข้อเลือกปฏิบัติทางการค้าระหว่างประเทศเพื่อก่อให้เกิดการค้าเสรี (Free Trade) ดังนั้นข้อตกลงใน AFTA ของอาเซียนหลายข้อจึงยังไม่ได้รับการปฏิบัติ นอกจากนี้ การที่รายได้หลักของประเทศมาจากการเก็บภาษีศุลกากรสินค้าขาเข้าและขาออกซึ่ง AFTA ให้ยกเลิกการเก็บภาษีระหว่างกันหรือการเก็บภาษีให้น้อยลง แต่ประเทศสมาชิกกลับไม่สามารถสละรายได้ในส่วนนี้ได้เนื่องจากเป็นเงินที่ต้องรายได้หลักของประเทศ ดังนั้น การรวมกลุ่มเพื่อให้เกิดการค้าเสรีระหว่างประเทศจึงยังทำให้สมบูรณ์ได้ยาก[8]

 

ความเชื่อมโยงกับการเมืองภายในของประเทศสมาชิก

          AFTA ส่งผลต่อการเมืองภายในของประเทศสมาชิก เพราะทำให้เกิดการแตกออกเป็นสองฝ่าย คือฝ่ายที่ต่อต้านการเปิดเสรีและฝ่ายที่สนับสนุนการเปิดเสรี และการวิพากษ์วิจารณ์ผลกระทบจาก AFTA ได้ปรากฏใน 2 แนวทาง

          ฝ่ายที่ต่อต้านการเปิดเสรีวิจารณ์ว่า การเปิดเสรีการค้าควรเกิดจากการตัดสินใจที่รับฟังเสียงจากคนในประเทศมากกว่าเป็นการที่ภาครัฐไปทำสัญญาแล้วนำมาบังคับคนในประเทศ เพราะการเปิดเสรีย่อมก่อให้เกิดผลกระทบอย่างหนักต่ออุตสาหกรรมและการบริการในบางสาขาที่เปราะบางมีความสามารถในการแข่งขันต่ำเมื่อเทียบกับกิจการจากต่างประเทศ และการปรับตัวก็มิใช่ว่าทุกกิจการมีขีดความสามารถในการปรับตัวได้ง่ายเท่าเทียมกันหมด นอกจากนี้ ผลกระทบที่สำคัญในการเปิดเสรีการค้าอย่างเต็มรูปแบบ เมื่อ ค.ศ. 2015 ที่มีการเปิดเสรีทางการค้า โดยให้มีการเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ การลงทุน เงินทุน รวมถึงแรงงานฝีมืออย่างเสรีการเคลื่อนย้ายแรงงานฝีมือ ทําให้มีการเดินทางไปมาของประชาชนในประเทศสมาชิกได้โดยง่าย ก่อให้เกิดปัญหาต่าง ๆ ตามมา[9] ได้แก่ ปัญหาความมั่นคงรูปแบบใหม่ (non-traditional security) เช่น ปัญหายาเสพติด อาชญากรรมข้ามชาติ การค้ามนุษย์ และโรคระบาด การลักลอบนำเข้าหรือเคลื่อนย้ายสินค้าผิดกฎหมาย ซึ่งเป็นปัญหาที่สามารถแอบแฝงมากับการลงทุนหรือการทำการค้ากับต่างประเทศ นอกจากนี้ การพัฒนาทางเศรษฐกิจย่อมมีผลกระทบต่อสังคมในด้านอื่น ๆ เช่น สิ่งแวดล้อม วิถีชีวิตชุมชนทำให้โครงการพัฒนาที่จะเกิดขึ้นถูกต่อต้านจากประชาชนที่ได้รับผลกระทบในพื้นที่ก่อนการก่อสร้างหรือประชาชนที่ได้รับผลกระทบภายหลังจากโครงการที่มีการดำเนินการแล้วเสร็จ เช่น จากโรงงานหรือสถานประกอบการ จากนิคมอุตสาหกรรม เป็นต้น ดังนั้น กลไกการจัดความขัดแย้งระหว่างภาครัฐหรือภาคเอกชนกับประชาชน หรือระหว่างประชาชนด้วยกันเอง ต้องมีการเตรียมการการกำหนดแนวทางการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท หรือแนวทางการจัดการทรัพยากรธรรมชาติในท้องถิ่นอย่างมีส่วนร่วม[10]

          ฝ่ายที่สนับสนุนการเปิดเสรี กล่าวว่าการลดอัตราภาษีศุลกากรจะทำให้เกิดการว่าจ้างแรงงานเพิ่มมากขึ้นและยังสร้างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ เนื่องจากการลดอัตราภาษีศุลกากรทำให้ต้นทุนในการนำเข้าสินค้าต่าง ๆ เพื่อนำมาผลิตมีราคาที่ถูกลงจึงส่งผลให้อุตสาหกรรมการผลิตนั้นสามารถขยายตัวได้[11] และการลดอัตราอากรขาเข้าตามข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียนได้สนับสนุนหลักความประหยัดหรือหลักความมีประสิทธิภาพในการจัดเก็บภาษีที่ต้องการให้มีต้นทุนต่ำ[12]

          นอกจากนี้ การที่ประเทศสมาชิก AFTA มีระบอบการเมืองการปกครองภายในประเทศที่แตกต่างหลากหลายนำไปสู่ความแตกต่างต่อวิธีคิดและกระบวนการในการตีความบทบัญญัติและพันธกรณีของ AFTA และกระบวนการภายในประเทศในการทำตามบทบัญญัติและพันธกรณีของ AFTA โดยเฉพาะเรื่องกฎหมายภายในประเทศที่เกี่ยวกับมาตรการที่ไม่ใช่ภาษีศุลกากร[13] เช่น มาตรฐานสุขอนามัย ข้อกำหนดเรื่องใบอนุญาตทำงานสำหรับวิชาชีพเฉพาะทางเป็นต้น ทำให้มีความขัดแย้งในทางปฏิบัติอยู่มาก

 

อ้างอิง

[1]จุลชีพ ชินวรรโณ. สู่สหัสวรรษที่ 3 กระแสเศรษฐกิจการเมืองโลกที่ไร้พรมแดน. กรุงเทพมหานคร: ชวนการพิมพ์. 2544. หน้า 78-79.

[2] สุรชัย ศิริไกร. “นโยบายต่างประเทศของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว.” ใน เอเชียตะวันออกเฉียงใต้: นโยบายต่างประเทศในยุคโลกกาภิวัตน์. สีดา สอนศรี. บรรณาธิการ. กรุงเทพมหานคร: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย. 2538. หน้า 272.

[3] ศรีประภา เพชรมีศรี. “นโยบายต่างประเทศของสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม.” ใน เอเชียตะวันออกเฉียงใต้: นโยบายต่างประเทศในยุคโลกกาภิวัตน์. สีดา สอนศรี. บรรณาธิการ. กรุงเทพมหานคร: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย. 2538. หน้า 318.

[4] จุลชีพ ชินวรรโณ. สู่สหัสวรรษที่ 3 กระแสเศรษฐกิจการเมืองโลกที่ไร้พรมแดน. กรุงเทพมหานคร: ชวนการพิมพ์. 2544. หน้า 177.

[5] กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ. “ยุทธศาสตร์การค้าการลงทุนเพื่อมุ่งสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน.” สืบค้นเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม, 2022, https://www.ditp.go.th/contents_attach/78586/78586.pdf

[6] ไทยรัฐออนไลน์. “อาเซียนคึกหลังลดภาษีเหลือ 0% ยอดขายพุ่ง 2.5 ล้านล้านเหรียญ,” สืบค้นเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม, 2022, https://www.thairath.co.th/business/economics/1365002

[7] ธานี สุขเกษม. “อาเซียน: อดีตปัจจุบันและอนาคต สู่ประชาคมอาเซียนปี 2015.” วารสารรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏกาฬสินธุ์ ปีที่ 1 เล่มที่ 2 (ก.ค.-ธ.ค. 2555). หน้า 38.

[8] ธานี สุขเกษม. “อาเซียน: อดีตปัจจุบันและอนาคต สู่ประชาคมอาเซียนปี 2015.” วารสารรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏกาฬสินธุ์ ปีที่ 1 เล่มที่ 2 (ก.ค.-ธ.ค. 2555). หน้า 39.

[9] กลุ่มงานคณะกรรมาธิการการพาณิชย์และทรัพย์สินทางปัญญา รัฐสภา. “เขตการค้าเสรีอาเซียน : ผลกระทบต่อไทย,”, สืบค้นเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2565. https://www.parliament.go.th/ewtcommittee/ewt/25_intellectual/ewt_dl_link.php?nid=336&filename=index

[10] สํานักนโยบายและแผน สํานักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย. “โอกาสและผลกระทบของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนต่อกระทรวงมหาดไทย.” สืบค้นเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม, 2022. https://www.led.go.th/asean/pdf/5/5-7.pdf

[11] กลุ่มงานคณะกรรมาธิการการพาณิชย์และทรัพย์สินทางปัญญา รัฐสภา. “เขตการค้าเสรีอาเซียน : ผลกระทบต่อไทย,”, สืบค้นเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2565. https://www.parliament.go.th/ewtcommittee/ewt/25_intellectual/ewt_dl_link.php?nid=336&filename=index

[12] จิรศักดิ์ รอดจันทร์. “ข้อดีและข้อเสียของความร่วมมือทางกฎหมายภาษีของประเทศไทยกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชีย: ศึกษากรณีการลดภาษีศุลกากรตามข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน.” สุทธิปริทัศน์ 28, ฉบับที่ 85 (มกราคม - มีนาคม 2557): 327-329.

[13] กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ. “ASEAN Trade in Goods Agreement: ATIGA.”  สืบค้นเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2565.

https://api.dtn.go.th/files/v3/5cff75471ac9ee073b7bd6fc/download