5 สิงหาคม พ.ศ. 2478
ผู้เรียบเรียง ศาสตราจารย์พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต
วันที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2478 เป็นวันที่คณะนายทหารชั้นประทวนระดับ “นายสิบ” จำนวนหนึ่งในหน่วยทหารในพระนคร กำหนดจะลงมือปฏิบัติการยึดอำนาจล้มรัฐบาลที่มีนายพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนาเป็นนายกรัฐมนตรี แต่ไม่ได้ทำการตามกำหนด เพราะทางฝ่ายผู้บังคับบัญชาระดับบนทราบถึงแผนการจึงสั่งให้ผู้บังคับกองพันทหารราบที่ 2 และ 3 ซึ่งนายสิบผู้ก่อการสังกัดอยู่ นำกำลังเข้าจับกุมตัวนายสิบทหารที่เป็นเป้าหมายว่าจะก่อการยึดอำนาจเสีย ตั้งแต่วันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2478 ดังนั้น การยึดอำนาจจึงไม่เกิดขึ้นและเรียกเหตุการณ์นี้ว่า “กบฏนายสิบ”
การจับกุมตัวผู้ที่ถูกสงสัยว่าจะก่อการกบฏที่ถูกจับกุมตัวในเช้า วันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2478 มีอยู่ด้วยกัน 5 คน คือ สิบโทแผ้ว แสงส่งสูง สิบเอกถม เกตุอำไพ สิบเอกเท้ง แซ่ซิ้ม สิบเอกตะเข็บ สายสุวรรณ และสิบโทหม่อมหลวงทวีวงศ์ วัชรีวงศ์
ตกตอนบ่ายวันที่ 3 สิงหาคมนั่นเองก็จับกุมผู้ต้องสงสัยเพิ่มได้อีก 5 คน มีจ่านายสิบสาคร ภูมิทัต สิบเอกสวัสดิ์ มหะหมัด จ่านายสิบ สวัสดิ์ ภักดี สิบเอกสวัสดิ์ ดิษยบุตร และสิบโทสาสน์ คชกุล อีกสองวันต่อมาก็ได้จับผู้ต้องสงสัยเพิ่มเติม มีสิบเอก เข็ม เฉลยทิศ สิบเอก แช่ม บัวปลื้ม และสิบเอกกวย สินธุวงศ์
การจับกุมผู้ต้องสงสัยได้มีต่อมาจนถึงวันที่ 7 สิงหาคม ปีเดียวกันนั้น ได้ผู้ต้องหาเพิ่มอีก 10 คน คือ สิบโทเลียบ คหินทพวงศ์ นายนุ่ม ณ พัทลุง สิบโทชื้น ชะเอมพันธ์ สิบโทปลอด พุ่มวัน จ่านายสิบแฉ่ง ฉลาดรบ จ่านายสิบริ้ว รัตนกุล สิบโทเหมือน พงษ์เผือก พลทหารจินดา พันธ์เอี่ยม สิบเอกเกิด สีเขียว และพลทหารฮก เซ่ง
ในวันที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2478 นั่นเองสภาก็ได้ผ่านกฎหมายพิเศษออกมาใช้ในคดีกบฏนายสิบนี้ โดยการแก้ไขกฎหมายตั้งศาลพิเศษ พ.ศ. 2476 เป็นพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลพิเศษ พ.ศ. 2476 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2478 ที่ทำให้ศาลพิจารณาคดีกบฏนายสิบได้
คดีกบฏนายสิบนี้ ท้ายที่สุดมีจำเลยถูกฟ้องคดีรวมทั้งหมด 13 คน เป็นทหารจำนวน 12 คน เป็นพลเรือนคนเดียว คือ นายนุ่ม ณ พัทลุง การดำเนินคดีพิเศษนี้รวดเร็วมาก ในวันที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2478 ก็ได้มีการตัดสินคดี โดย สิบเอกสวัสดิ์ มหะหมัด ที่ปฏิเสธไม่ยอมรับสารภาพถูกตัดสินประหารชีวิต ส่วนอีก 1 2 คนนั้น รับสารภาพถูกตัดสินให้จำคุก ที่มีทั้งจำคุกตลอดชีวิตและจำคุก 20 ปี กับนายพุ่ม ณ พัทลุง คนเดียวที่ถูกตัดสินให้จำคุก 16 ปี ผู้ที่ถูกจำคุกนี้ต่อมาในสมัย นายควง อภัยวงศ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ก็ได้รับการอภัยโทษ